อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต
แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ
sithiphong:
4 เทคนิคง่ายๆ ป้องกันภาวะสมองเสื่อม
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2556 10:16 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000128166-
สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2593 ไทยจะมีผู้สูงอายุล้นเมือง คือมีมากถึงร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งปัญหาสำคัญคือ นอกจากขาดแคลนแรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในการดูแลร่างกายวัยปลดเกษียณคงบานปลายจนเกินกว่าภาครัฐจะรับได้ไหว
เพราะต้องยอมรับว่า ผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมโทรมและสึกหรอไปตามวัย คงไม่สามารถคงสภาพความแข็งแรงไว้ได้ดังเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพจิต ที่เป็นปัญหามากก็คือ 20% ของผู้สูงอายุ มักต้อวทนทุกข์ทรมานอยู่กับปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาทางระบบประสาท โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อม!!
ซึ่งภาวะดังกล่าว นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เป็นความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่ได้รับผลกระทบจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการความจำเสื่อม มีความถดถอยของพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เกิดอาการสับสน และอาการผิดปกติด้านการพูดและความเข้าใจ อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบกระเทือนกับการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมของผู้ป่วย
"คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 35.6 ล้านคน ทุก 20 ปี จะมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และภายในปี ค.ศ. 2050 จะมียอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรวมกว่า 115.4 ล้านคน โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดร้อยละ 60-80 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไว้ประมาณ 229,000 คน ในปี 2005 และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยโรคอัลไซเมอร์ มีร้อยละ 40-70 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด"
นพ.เจษฎา บอกว่า บางกลุ่มอาการรักษาไม่ได้ แต่ก็มีบางกลุ่มอาการที่สามารถรักษาได้ ถ้าค้นพบสาเหตุได้ชัดเจน การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วและแม่นยำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่คงไม่เท่าการป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 เทคนิคด้วยกันคือ
1.บริหารสมอง โดยฝึกทักษะการใช้มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สามารถรับรู้และเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ให้ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น เต้นรำ เล่นหมากรุก หมากล้อม โยคะ รำมวยจีน ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานบ้านหรืองานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น
2.บริโภคอาหาร โดยรับประทานอาหารครบหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัดหรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสมอง เช่น ธัญพืชหรือถั่ว ผักใบเขียวทุกชนิด ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผลไม้รสเปรี้ยว ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทูน่า เป็นต้น
3.รักษาร่างกาย โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ หากมีอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ที่สำคัญ ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
และ 4.ผ่อนคลายความเครียด โดยการหารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุดและสามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ การฝึกสมาธิ การพูดคุย หรือพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
sithiphong:
เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง - X-RAY สุขภาพ
-http://www.dailynews.co.th/article/1490/239792-
แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน จะออกจากโรงพยาบาลรามาธิบดีไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังเข้ารับการรักษา “ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง” ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 4 ต.ค. แต่สิ่งที่หลายคนยังให้ความสนใจอยากรู้ คือ ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง แล้วมีวิธีการรักษาอย่างไร ไปฟังคำตอบจาก นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
นพ.เมธี อธิบายว่า เยื่อหุ้มสมองมี 3 ชั้น คือ ชั้นนอกสุด ชั้นกลาง และชั้นในสุด ที่เจอปัญหา คือ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกสุด และชั้นกลาง โดยเฉพาะชั้นกลางถือเป็นเรื่องใหญ่ มักเกิดจากเส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนกรณีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกสุดเมื่อทำการผ่าตัดระบายเลือดออกก็จบ
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกสุด เกิดจากเส้นเลือดดำฉีก เลือดจะออกแบบค่อยเป็นค่อยไป มักกินเวลานานโดยจะเริ่มจากปริมาณเลือดน้อย ๆ และขยายตัวขึ้นในเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ พบได้ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ สมองฝ่อตัว จะมีช่องว่างอยู่ในสมอง ทำให้เส้นเลือดฉีกได้ง่าย เวลามีการกระแทกล้ม พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยชราตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีการเสื่อมของสมอง หรือหากพบในกลุ่มที่มีอายุน้อยหรืออายุมากแต่ไม่ถึงกับวัยชรา ก็มักเป็นกลุ่มที่มีประวัติดื่มเหล้าต่อเนื่อง เป็น “แอลกอฮอล์ลิซึ่ม” มีประวัติได้รับยากันการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ในรายที่เกิดจากการฝ่อของสมอง อาจได้รับประวัติอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนมีอาการประมาณ 2-4 สัปดาห์
ถ้าพูดในทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง คือ คนแก่ คนที่มีภาวะเลือดออกง่าย ดื่มสุราต่อเนื่อง ซึ่งกรณีที่เกิดจากพิษสุราจะมีอุบัติการณ์สูง นอกเหนือจากนี้ไม่ค่อยเจอ เช่น คนอายุน้อย ๆ ยกเว้นเป็นโรคตับอาจเจอได้ เพราะโรคตับส่วนใหญ่ก็สัมพันธ์กับเหล้า
คนไข้ที่มีอาการแล้วมาโรงพยาบาลแสดงว่าเป็นมานานแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ คือ เลือดออกวันแรก ๆ ไม่มีอาการอะไร แต่ถ้าทิ้งไว้สัก 1-2 สัปดาห์จะเริ่มมีอาการ
อาการที่เด่นชัด คือ ปวดหัวเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ รู้สึกมึน ๆ ตื้อ ๆ สมองไม่โปร่ง คิดอ่านช้าลง การตัดสินใจผิดปกติไม่สมเหตุสมผล ตอบสนองช้าลง แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ล้มง่าย หรือพูดไม่ชัด ความจำไม่ปกติ ลืมง่าย
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คนที่เป็นส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเร็วกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่ในคนที่ดื่มสุรา ปัญหา คือ ต้องเลิกเหล้า ถ้าไม่เลิกมักจะเป็นกลับมาอีกเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อรักษาคนไข้แล้วแพทย์มักจะแนะนำให้หยุดเหล้า
การรักษาภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก คนไข้กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาเลือดที่คั่งในสมองออก โดยการเจาะรูระบายเลือดออก หรือบางแห่งอาจโกนศีรษะผ่าตัดเอาเลือดออกซึ่งแล้วแต่เทคนิคของแพทย์แต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจในการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์
ท้ายนี้ นพ.เมธี ยังได้ฝากท่านผู้อ่านที่สนใจ อยากรู้โรคทางสมอง ไขสันหลัง ระบบประสาท กระดูกสันหลัง การผ่าตัดผ่านกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.drmethee.com
นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
-------------------------------------------------------------
เส้นเลือดหัวใจตีบไม่มีอาการ-จะทำอย่างไร? - มองคุณภาพชีวิต
วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/article/1490/239791-
โรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่ทุกวันนี้มีหลายรูปแบบ บางรายเป็นน้อย เป็นมาก ทั้งมีอาการและไม่มีอาการ ทำให้บางครั้งคนไข้สับสนจะทำอย่างไรดี ผู้ที่มีความรู้ก็มักจะไปตามผู้รู้หรือไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา ผู้ที่ไม่เข้าใจเห็นไม่มีอาการบางท่านก็จะปล่อยดูไปเรื่อย บางครั้งก็ปล่อยนานเกินไปจนสายเกินแก้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งที่อยากคุยวันนี้
ร่างกายเรามีหลายโรคหลายอวัยวะที่อาจเกิดเป็นโรค เกิดการอักเสบ เจ็บป่วยขึ้นมา แล้วอยู่ ๆ ก็หายไป เป็น ๆ หาย ๆ เป็นธรรมชาติของโรค บางครั้งป่วยแล้วอาการหายไปเอง ก็ทำให้เกิดความต้านทานมาป่วยใหม่เป็นครั้งที่ 2 ก็จะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนเก่า บางท่านกลัวพบแพทย์แล้วจะต้องมีการรักษาอาจให้ยาหรือผ่าตัด ความกลัวพอโรคทุเลาหรือหายก็ลืม ๆ ไป โชคดีโรคนั้นสงบก็มีชีวิตไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องไปทำอะไรกับอวัยวะนั้น ๆ ต่อไป
ตัวอย่างของโรค : ต่อมทอนซิลอักเสบ บางคนเวลาเกิดอาการอักเสบ ทรมานมาก ผู้ที่เป็นบ่อย อักเสบบ่อย พอค่อยหายดีมักไปพบแพทย์เพื่อต้องการให้ผ่าตัดออก บางท่านกลัวผ่าตัด อักเสบคราวใดกินยาไปก็หายเลยไม่ได้ผ่าตัด อยู่ไปเรื่อยก็สบายดี ไส้ติ่งอักเสบ รายที่เกิดอักเสบฉุกเฉิน มักถูกผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกทันที พวกที่อยู่ไกลหน่อยบางครั้งกินยาระงับอักเสบจนอาการดีขึ้น ก็รอ ๆ ไปก่อน บางรายกลัวว่าอาจเกิดอักเสบอีกเมื่อไรก็ได้ ก็มาทำผ่าตัดเอาออก พวกที่กลัวก็ปล่อยไปเรื่อย ๆ อักเสบใหม่อีกค่อยมาทำผ่าตัดก็มี
นิ่วในถุงน้ำดี : พบบ่อยบางท่านก็มีอาการถุงน้ำดีอักเสบ หรือปล่อยทิ้งไว้จนเป็นหนองก็ได้ถูกผ่าตัดออก ทั้งนิ่วและถุงน้ำดีถูกตัดออกไปพร้อมกัน บางรายมีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี อาจก้อนเดียวหรือหลายก้อน ไม่มีอาการ ชีวิตอยู่เป็นปกติดีก็ไม่ได้ตัดออก อยู่ไปจนวันหนึ่งเกิดปวดขึ้นมา จึงค่อยถูกผ่าตัดออก รายที่ไม่มีอาการพบนานเกิน 10 ปีก็มีอยู่มาก จึงอยู่ที่เหตุผลและความจำเป็นของแต่ละบุคคลไป
ก้อนตามตัว : พบบ่อยทั้งมีอาการและไม่มีอาการ ที่สำคัญต้องสังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าก้อนโตเร็ว สีเปลี่ยนไปก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดออกทันที อาจกลายเป็นเนื้องอกแบบมีพิษได้ โดยเฉพาะก้อนที่เต้านม คลำพบได้เมื่อใดต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเอาออกแต่เนิ่น ๆ ทีเดียว
ในภาพรวมโรคในร่างกายมีหลายรูปแบบ แต่ละคนแต่ละโรคไม่เหมือนกัน จะเอาเป็นบรรทัดฐานแบบใช้ทั่ว ๆ ไปไม่ได้ ตัวอย่างอีกหนึ่งอย่างที่จะขอคุยวันนี้ คือ เส้นเลือดหัวใจ เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าตีบลง แต่อาการเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะตัดสินใจอย่างไรดี
คนไข้ชายอายุ 82 ปี ชีวิตประจำวันเป็นปกติดี ไม่เจ็บอก ไม่เหนื่อย ขึ้นบันได 2-3 ชั้นช้า ๆ ได้ เห็นเขาตรวจเดินสายพานกัน ลองไปตรวจดูบ้าง แพทย์ดูจากกราฟตรวจหัวใจบอกว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ แนะนำให้พบแพทย์หัวใจเพื่อดำเนินการฉีดสีดูต่อ
คนไข้รายนี้มีความรู้ดีคิดว่าหากทิ้งไว้นานเวลามีอาการเกรงจะมากขึ้น จึงอยากตรวจและแก้ไขสิ่งผิดปกติไปเลย วันที่แพทย์นัดฉีดสีเข้าหลอดเลือดเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อดูว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจถูกอุดตันมากน้อยเพียงใด ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูด้วยที่ห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด รพ.ศิริราช ทีมแพทย์คนไข้รายนี้ นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล, นพ.สำรวย กริดกระโทก, ชัชญาภา ศรีพรม และ สุรีย์ โพธาราม ด้วยการประสานงาน นพ.ยงยุทธ และ พญ.จิราศรี วัชรดุลย์ ร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย
แพทย์ได้พบจุดที่อุดตันของหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ได้ใช้บอลลูนขยายและใส่ขดลวดชุบน้ำยาคาไว้บริเวณที่ตีบคนไข้รู้สึกตัวดีตลอด เพียงใช้ยาชาเฉพาะที่ราว 2 ชั่วโมงก็เสร็จเรียบร้อย อยู่โรงพยาบาลหลังทำ 1 คืนก็กลับบ้านได้
ที่คุยมาเป็นตัวอย่างของเรื่องเจ็บป่วย แม้จะไม่มีอาการหากได้ตรวจพบก็ควรให้การรักษาให้เรียบร้อย รอมีอาการจะยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัยควรตรวจดูเรื่องหัวใจไว้ด้วย.
นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี
suvit.kiatisevi@gmail.com
sithiphong:
บิ๊ก อย.เตือนกินเจระวัง "สารเคมีตกค้างในผัก" ชี้ระยะยาวเสี่ยงความจำเสื่อม-เป็นหมัน-มะเร็งลำไส้
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380877529&grpid=&catid=09&subcatid=0902-
อย. แนะนำ วิธีการเลือกซื้อและล้างผักผลไม้ให้ปราศจากสารพิษตกค้างจากสารฆ่าแมลงในช่วงเทศกาลกินเจ เพราะหากผู้บริโภคได้รับสารฆ่าแมลงเข้าไปในร่างกายเป็นเวลานานจะทำให้การทำงานของระบบอวัยวะภายในร่างกายผิดปกติ อาจถึงขั้นเป็นมะเร็งได้
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ มีผู้นิยมรับประทานอาหารเจเป็นจำนวนมาก โดยผักผลไม้ เป็นส่วนประกอบ ที่สำคัญของอาหารเจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยจากการรับประทานผักผลไม้ เนื่องจากที่ผ่านมามักพบปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือสารฆ่าแมลง ดังนั้น จึงขอแนะนำให้เลือกซื้อผักที่มีสภาพสดใหม่ สะอาด ไม่มีลักษณะแข็งหรือกรอบจนเกินไป ไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก ไม่มีเชื้อรา ไม่มีสีผิดจากธรรมชาติ ไม่มีเศษดินหรือสิ่งสกปรกเกาะเป็นคราบติดอยู่ และที่สำคัญต้องไม่มีคราบสีขาวของสารฆ่าแมลงตกค้างอยู่
นอกจากนี้ควรเลือกซื้อผักที่มีรูพรุนจากการเจาะของแมลง ซึ่งอาจแสดงว่าผักนี้ไม่ใช้สารฆ่าแมลง ส่วนการเลือกซื้อผลไม้ ต้องดูที่ผิวสดใหม่ ขั้วหรือก้านยังเขียวและแข็งเปลือกไม่ช้ำหรือดำ ที่สำคัญหลังจากที่ซื้อผักผลไม้มาแล้วนั้น ควรทำความสะอาดก่อนนำไปรับประทานหรือนำไปปรุงอาหาร เพื่อลดสารพิษตกค้าง จากสารฆ่าแมลง โดยวิธีการล้างผักผลไม้มีหลายวิธีที่จะแนะนำ ดังนี้ ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบ็คกิ้งโซดา) 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 20 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้ 80-95%หรือเด็ดผักเป็นใบ ใช้น้ำสะอาดไหลผ่านหลายๆครั้ง จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้ 54-63% หรืออาจจะใช้ด่างทับทิม 20-30 เกร็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดปริมาณสารตกค้างลงได้ 35-43% หรือใช้น้ำส้มสายชูที่มี 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด จะสามารถช่วยลดปริมาณสารพิษลงได้ 29-38% หรือใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้ 27-38%อย่างไรก็ตามผักผลไม้ที่จะต้องปอกเปลือก ควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนปอกเปลือก
รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกซื้อและล้างผักผลไม้ หากเลือกซื้อหรือล้างผักผลไม้อย่างไม่ถูกวิธี อาจได้รับอันตรายจากสารเคมีตกค้างได้โดยถ้าได้รับในปริมาณมาก อาจแสดงอาการภายใน 2-3 ชั่วโมง อาการที่พบได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องร่วง เป็นต้น แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง เป็นเวลานานในระยะยาวอาจทำให้เกิดอาการผิวหนังแห้ง ความจำเสื่อม เป็นหมัน มะเร็งลำไส้ เป็นต้น
ฉะนั้น จึงขอย้ำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อและล้างผักผลไม้ให้ถูกวิธี เพราะนอกจากจะลดสารพิษที่ตกค้างอยู่ได้แล้วยังจะคงคุณค่าสารอาหารทั้งวิตามินและแร่ธาตุได้อย่างครบถ้วนอีกด้วย
sithiphong:
วางแผนสู่"วัยทอง" ความสุขหลังเกษียณ
-http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1UTXdNalF3TlE9PQ==&subcatid=-
รายงานพิเศษ
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดการณ์ว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในไม่ช้า คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าในวัยเกษียณน่าจะเป็นวัยที่ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข แต่ความเป็นจริงผู้สูงอายุกลับต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยาก เพราะไม่ได้เตรียมพร้อมกับชีวิตวัยสูงอายุไว้ล่วงหน้า
พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ร.พ.มนารมย์ อธิบายว่า เมื่ออายุมากขึ้นหรือแก่ขึ้นก็มักจะเกิดความเจ็บป่วย เช่น ปัญหาความจำ ปัญหาเกี่ยวกับไขข้อและกระดูก ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น-ได้ยิน การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ส่งผลต่อภาวะจิตใจจนอาจกลายเป็นปัญหาทางอารมณ์ได้
"สังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะไม่จ้างคนอายุ 45 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน จึงพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ในที่สุดจึงถูกมองว่าเป็นภาระของครอบครัวและสังคม ประกอบกับการสูญเสียเพื่อนวัยเดียวกัน และความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน"
สำหรับครอบครัวที่ยังมีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ ลูกหลานควรให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด สังคมควรมองผู้สูงอายุด้วยความเมตตาและให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บอกด้วยว่า วัยหนุ่มสาวที่ชีวิตเป็นช่วงขาขึ้น ต้องฝึกวางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตให้ดี เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข เริ่มต้นจากวางแผนการเงินในอนาคต และเรื่องที่อยู่อาศัย ทำงานอดิเรกที่ชอบ พร้อมพัฒนาอารมณ์ให้มั่นคง รู้จักหาความสุขและความสนุกสนานได้เสมอจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น กับเพื่อนฝูง กับครอบครัว กับอาชีพการงานที่ทำอยู่ เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ประนีประนอมและยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น จะปรับตัวในวัยสูงอายุ ได้ดีขึ้น
"เมื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้ตนเองแล้ว ก็ควรเผื่อแผ่สู่สังคมด้วยการช่วยกันรณรงค์เรื่องปัญหาผู้สูงอายุ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุเสียใหม่แทนที่จะมองว่าเป็นภาระครอบครัวและสังคม แล้วหันมาให้ความเห็นอกเห็นใจและ ทำกิจกรรมที่สนุกสนานและเป็นประโยชน์ร่วมกัน" จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
สำหรับผู้ที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ปฏิบัติตนให้มีความสุขได้ ด้วยการยอมรับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน ค้นหาเพื่อนใหม่ๆ ปรับความคิดให้รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตามยุคสมัย ลดการบ่นหรือการตำหนิติเตียนลูกหลานหรือคนรุ่นใหม่ รักษาอารมณ์ให้สดชื่นอยู่เสมอ
sithiphong:
5 เคล็ดลับบอกลา "เบาหวาน"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 ตุลาคม 2556 18:32 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000131238-
โดย : สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่องในประชากรทั่วโลก และการรักษาที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้ในปี 2534 สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อเชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมรณรงค์ปัญหาโรคเบาหวาน มีการจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลกทุกปีต่อเนื่องมาตลอด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของปัญหากลับทวีมากขึ้น ไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดหรือชะลอลง ทั้งนี้ IDF และประเทศสมาชิกกว่า 150 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้เห็นพ้องว่าโรคเบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระทางเศรษฐกิจและสังคม จึงร่วมกันนำประเด็นโรคเบาหวานเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติและสมัชชาได้ผ่านญัตติ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2549 (UNR 61/225) ให้โรคเบาหวานเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ ให้มีการดำเนินนโยบายจัดการและควบคุมโรคในระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง และให้วันที่ 14 พ.ย. เป็นวันเบาหวานโลกที่เป็นทางการขององค์การสหประชาชาติด้วย
แม้มีการรณรงค์อย่างแพร่หลาย แต่ข้อมูลล่าสุดของ IDF พบว่า ขณะนี้ผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 371 ล้านคน หากไม่ดำเนินการใดๆ คาดว่าใน พ.ศ.2573 ผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 552 ล้านคน โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดเป็นประชากรในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มองเห็นถึงภัยเงียบของโรคเบาหวานซึ่งกำลังคุกคามสุขภาพประชาชนไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงภัยคุกคามจากโรคเบาหวาน
เพื่อให้การรณรงค์มีน้ำหนักและสอดคล้องกันทั่วโลก ในแต่ละปี IDF จะกำหนดหัวข้อ คำขวัญ ข้อมูลและภาพที่ต้องการสื่อสาร ส่งให้ประเทศสมาชิกนำไปสื่อสารสู่สาธารณะในบริบทของตน ให้มีการรับรู้อย่างทั่วถึงและสร้างความตื่นตัว ใน 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี พ.ศ.2552 - พ.ศ.2556 เรื่องที่รณรงค์คือ “Diabetes Education and Prevention” หรือ “การให้ความรู้และป้องกันโรคเบาหวาน” คำขวัญสำหรับปี 2556 คือ “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” ข้อความที่ต้องการสื่อสาร คือ จำนวนประชากรที่เป็นเบาหวานในขณะนี้ ผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคอยู่ ผลร้ายที่เกิดจากโรคเบาหวาน และ คนที่เป็นเบาหวานไม่ต่างจากคนทั่วไปต้องไม่แบ่งแยกออกจากสังคม
โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์และถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ดังนั้น การที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากกว่าปกติ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ในระยะยาวจะทำลายเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย หลอดเลือด ระบบประสาทส่วนปลาย และอวัยวะอื่นๆ นำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ตา ไต เส้นประสาทและสมอง หัวใจ หรือเกิดปัญหาที่เท้า รวมทั้งแผลเรื้อรังที่เกิดจากโรคเบาหวาน
สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันโรคเบาหวานได้เองง่ายๆ โดยใช้เคล็ดลับ “ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส. ต้านโรคเบาหวาน” ประกอบด้วย ใส่ใจ 3 อ. ได้แก่ 1.อาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารไม่หวานจัด มันน้อย เค็มน้อย รับประทานปริมาณเหมาะสม มีผักและผลไม้พอเหมาะ 2.ออกกำลังกาย ประมาณ 50-60 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ หรือให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ และ 3.อารมณ์ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม บอกลา 2 ส. ได้แก่ 1.งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงจากสถานที่ที่มีควันบุหรี่ และ 2.งดดื่มสุรา
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถทำความรู้จักและเข้าใจโรค เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้โดยใช้เคล็ดลับเดียวกัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียง และลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยรับคำแนะนำ / การรักษาโดยตรงกับแพทย์และทีมงาน ทำให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยารักษา ควรเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ การกินยาบางชนิดหรือยาสมุนไพรอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเลือกผลิตภัณฑ์หรือยาเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาว การรักษาที่ได้ผลตามเป้าหมายจะลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ความพิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
การเกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เกิดความพิการทางด้านร่างกาย และกระทบต่อการประกอบอาชีพ รายได้ของผู้ป่วยและครอบครัว ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทุก ๆ 100 คนจะมีผู้เป็นเบาหวานถึง 7 คน ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จึงมีความจำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องรู้จักโรคเบาหวาน ตระหนักถึงปัญหาและภัยของโรคเบาหวาน มีความตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง รู้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น มีการตรวจค้นหาและวินิจฉัยโรคเบาหวานให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลรักษาโรค ซึ่งจะช่วยลดอัตราความพิการ การเสียชีวิตที่เกิดจากโรคเบาหวาน ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไป
---------------------------------------------------------------------------------------
ออกกำลังกายอย่างไร ลดโรคกระดูกพรุน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 ตุลาคม 2556 09:40 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000130972-
“การออกกำลังกาย” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน นอกจากเป็นการสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรงแล้ว ยังสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระดูกได้อีกด้วย
นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ รองประธาน มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ อธิบายถึงการออกกำลังกายที่ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อความแข็งแรงของกระดูก ว่า วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดี คือ การรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการสร้างเนื้อกระดูก และวิตามินดี ที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม และต้องทำร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกต้องอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อกระดูก การออกกำลังกายที่ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันโรคกระดูกพรุน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก คือ การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก โดยเฉพาะการลงน้ำหนักต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งชนิดของการออกกำลังกายและระดับความหนักเบาในการกระแทกหรือการลงน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับช่วงวัยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
2. การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะกระดูกและกล้ามเนื้อมีความสัมพันธ์กัน กล้ามเนื้อจะทำหน้าที่ช่วยพยุงกระดูกส่วนต่างๆ รวมถึงการทรงตัวของร่างกาย และถึงแม้กระดูกจะแข็งแรง หากถูกกระแทกจากการหกล้มบ่อยๆ ก็ส่งผลเสียกับกระดูกเช่นเดียวกัน
“เพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรงในระยะยาว การดื่มนมเป็นประจำทุกวัน เลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีสูงควบคู่กับการออกกำลังกายที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสร้างพฤติกรรมเสริมสุขภาพที่ดีให้กับตัวเองด้วยการ ลด ละ เลี่ยง พฤติกรรมที่ส่งผลร้ายทำลายกระดูก เช่น ลดหรือเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินซ้ำๆ ไม่หลากหลาย หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูง การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียว และควรให้ร่างกายได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดี” นพ.อรรถฤทธิ์ กล่าว
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version