อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > มาลาบูชาครู
รวม พระธรรมเทศนา พระอาจารย์ชยสาโร
ฐิตา:
พระอาจารย์ชยสาโร
การพัฒนาชีวิตของเรา ต้องดำเนินทั้งภายนอกด้วย ทั้งภายในด้วย
ถ้าหากว่าเรามัวพัฒนาแต่เรื่องภายนอกโดยไม่คำนึงหรือละเลยสิ่งภายใน
การพัฒนานั้นจะขาดความสมดุล แล้วในที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จ
************
เราพึ่งพระรัตนตรัยตลอดชีวิตได้โดย ไม่ต้องสงสัย
ที่พึ่งนอกจากนั้น เป็นที่พึ่งที่ทรยศ จะช่วยเราจริง ๆ ไม่ได้
แม้ว่าเราจะพึ่งมันได้เป็นบางครั้งบางคราว
แต่ว่าถึงที่สุดแล้วมันก็จะหนีจากเรา มันจะพลัดพรากจากเราไป
เพราะมันเป็น “สังขาร” หมด
เราจึงพยายามปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “วิสังขาร”
สิ่งที่อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
*******************
เพราะเรากลัวตัวเอง กลัวอยู่กับตัวเอง ก็ต้องเดินออกนอกอยู่ตลอดเวลา
ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา
เลยเป็นทาสของสิ่งภายนอกอยู่ร่ำไป สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ เราก็ขึ้นๆ ลงๆ
ตามความเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้น
จิตใจของเราก็ ไหวกระเพื่อม อยู่ตลอดเวลา
ไหวกระเพื่อมจนกระทั่ง เราถือความวุ่นวายว่าเป็นความปกติ
******************
บางทีการเคลื่อนไหวและการกระทำการงานต่าง ๆ
เป็นสิ่งที่สมควร แต่บางคราว
การอยู่นิ่งและการงดเว้นจากการกระทำก็เหมาะสมกว่า
****************
ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า
“การปฏิบัติชอบ”
ก็อย่างน้อยที่สุด ขอให้เรา “ชอบปฏิบัติ” เสียก่อน
*****************
เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมะก็เป็นแค่ปรัชญาอันลึกซึ้งที่น่าสนใจ
แต่ในโลกที่เป็นจริง พอกิเลสเกิดขึ้น
เราก็ทนต่อกิเลสไม่ได้ มันฉุดลากไปเลย ความรู้ของเรามันหายไปไหนก็ไม่รู้
****************
การจะฆ่ากิเลสหรือนิวรณ์นั้นต้องเข้าใจคำว่า “ฆ่า” นั้นว่า..
หมายถึง การรู้เท่าทัน ฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน
**************
การปฏิบัติทุกขั้นตอน อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเป็นเพื่อจะเอา
เพราะจะเป็นการปฏิบัติที่..
เป็นการพายเรือในอ่าง ไม่เป็นการปฏิบัติที่จะข้ามไปฝั่งโน้น
*********************
ถ้าจะฟังเทศน์แต่ความจริงล้วน ๆ พระจะต้องขึ้นธรรมาสน์พูดแต่คำว่า
“เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ” คงไม่มีใครอยากฟัง
ฟังไม่กี่ครั้งก็เบื่อ ผู้แสดงธรรมจึงต้องชูรสบ้าง หาอะไรมาประกอบการอธิบาย
เพื่อให้มันน่าฟัง แต่แท้จริงแล้วความรู้เกี่ยวกับโลกที่ลึกซึ้งที่สุด
ก็สักแต่ว่าความเข้าใจในเรื่อง การเกิด และ การดับ
นักปฏิบัติผู้สามารถรู้แจ้งในการเกิดและการดับของสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย
และย่อมน้อมจิตไปเพื่อสิ่งที่อยู่เหนือการแตกสลาย
******************
เมื่อเราเห็นด้วยตนเองและเข้าใจเรื่องกิเลสแล้ว เราจะเห็น
ความทุกข์หลายๆ อย่างในชีวิตเรานี้ ไม่จำเป็นเลย มันไม่ได้เกิดเพราะ
ดวงไม่ดี หรือเพราะกรรมเก่า
แต่เกิดเพราะความคิดผิดของเราต่างหาก
******************
เราต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อ
อยากเอา อยากเด่นไหม
หลวงพ่อชาท่านก็สอนเสมอว่า อย่าปฏิบัติเพื่อจะเอาอะไร
อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร อย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์
อย่าเป็นพระอนาคามี อย่าเป็นพระสกิทาคามี
อย่าเป็นพระโสดาบัน อย่าเป็นอะไรเลย เป็นแล้วมันเป็นทุกข์
**********************
อย่าเป็นอะไรเลย สบาย ความสบายอยู่ตรงที่ เราไม่ต้องเป็นอะไร
เราไม่ต้องเอาอะไร ภาวนาจนไม่มีความรู้สึกว่า
ได้กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติ มีความรู้สึกราบรื่น
สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ แต่เราก็ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ตาม
เราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่าทัน อาการแห่งความสุข
ก็มีอยู่ แต่มันอยู่ข้างนอกมันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา
*******************
จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก
ท้องฟ้าไม่ใช่เครื่องบิน เครื่องบินไม่ใช่ท้องฟ้า
ท้องฟ้าก็อยู่อย่างนั้นแหละ เมฆก็ผ่านไปผ่านมา เครื่องบินก็
ผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว
อันนี้เป็นอากาศ แต่ว่าอากาศไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าไม่ใช่อากาศ
************************
จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ
เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ อันนี้ก็เป็นอารมณ์
แต่อารมณ์ไม่ใช่ใจ ที่ว่าวันนี้ใจไม่ดี ใจไม่สบาย ความจริง
ไม่ใช่เรื่องของใจนี่ ใจมันนิ่ง ความยินดีและความยินร้าย ความพอใจ
และความไม่พอใจเป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก
ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์
ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้
*********************
การภาวนาคือ การลดความโง่ของตัวเอง ผู้ที่หาว่า..
ไม่มีเวลาภาวนา คือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง
*****************
ผู้ที่มีสติกำหนดรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นผู้ที่รู้สึกสดใสและเป็น
ผู้ไม่กระสับกระส่าย กระวนกระวายที่จะแสวงหา
ความสุขและความมั่นคงจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
หรือจะเป็นความรักความเคารพจากคนอื่น
ทีนี้ เราไม่มีความรู้สึกว่าเราขาดอะไร ไม่ต้องการอะไรจากใครในโลก
เราไม่มีความรู้สึกว่าเรามีอะไรเกิน
จะมีแต่ความรู้สึกว่ามันพอดี ตรงนี้แหละจิตเป็นธรรม
***********************
เราไม่ต้องไปแสวงหาความแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ให้มารู้จัก มาตระหนักกับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมดา ๆ นั่นแหละ
ปัญญาไม่ได้เกิดจากสิ่งผิดปกติ
แต่มันเกิดจากการรับรู้อย่างทะลุปรุโปร่งต่อสิ่งปกติ
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
Post By... Butsaya
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คัดลอกและนำมาเผยแผ่โดย คุณธารน้ำใส :
: dhammajak.net วันที่ 12 ก.พ 2555
: tamdee.net/พระอาจารย์ชยสาโร-ท่านเว่ยหลาง-10-28-152
ฐิตา:
ทุกคนเกลียดทุกข์ และรักสุข
ทุกคนจึงควรสนใจว่า ทุกข์เกิดอย่างไร ดับอย่างไร
สุขเกิดอย่างไร ดับอย่างไร
สมมุติฐานของพระพุทธศาสนาคือทุกข์
เกิดเพราะกิเลสเกิด ดับเพราะกิเลสดับ
สุขเกิดเพราะคุณธรรมเกิด ดับเพราะคุณธรรมดับ
ใครยอมรับในหลักการนี้ จึงมีปัญหาชีวิตสี่ข้อ :
๑. ทำอย่างไร กิเลสจะไม่เกิด
๒. ทำอย่างไร จะดับกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ทำอย่างไร คุณธรรมจึงจะเกิด
๔. ทำอย่างไร คุณธรรมที่เกิดขึ้นแล้วจะดียิ่งขึ้นๆไป
นักภาวนาในพระพุทธศาสนา คือผู้ที่เพียร
พยายาม แก้ปัญหาสี่ข้อเหล่านี้
พระอาจารย์ชยสาโร
***************************
สมาธิทําให้จิตเป็นกลาง
ไม่ยินดียินร้าย
พร้อมที่จะเห็นสิ่งทั้งหลาย
ตรงตามความเป็นจริง
- พระอาจารย์ชยสาโร
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
samadhi brings equanimity
neither swaying towards nor away from experience
the mind is ready to see all things
in their true light
- Ajahn Jayasaro
*******************
สัมมาทิฐิในเบื้องต้น
คือมีอุดมการณ์
ค่านิยม
ความเชื่อถือ
ที่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ
เข้าใจในกฎแห่งกรรม
การเวียนว่ายตายเกิด
บุญและบาป
ความทุกข์และความสุข
ศักยภาพของมนุษย์
ตรงตามความเป็นจริง
- พระอาจารย์ชยสาโร
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
mundane right view:
ideals
values
beliefs
in tune with the truth
an accurate grasp
of the law of kamma
the process of rebirth
wholesome and unwholesome qualities
suffering and happiness
the potential of a human birth
- Ajahn Jayasaro
******************
ความเสมอต้นเสมอปลายไม่ต้องดีเสมอไป
ความเสมอต้นเสมอปลายของผู้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น
ระหว่างการทำสิ่งที่ถูกต้อง นับว่าดี เป็นคุณธรรมของผู้มีวุฒิภาวะ
ส่วนการอ้างความเสมอต้นเสมอปลาย
เมื่อฝืนกระทำในสิ่งที่รู้ว่าผิด เพียงเพราะเสียดายเงิน
หรือเวลาที่ลงทุนไปแล้ว นั่นคือกิเลส ไม่ใช่คุณธรรม
พระอาจารย์ชยสาโร
******************
แรกๆ ยังพร่ามัวอยู่
ก็ลังเลใจ
ในช่วงนี้ต้องพึ่งศรัทธาความเชื่อมั่นว่า
การหลุดพ้นจากกิเลสเท่านั้น
ที่สามารถตอบสนองความต้องการแท้จริงของชีวิต
และ ข้าพเจ้าสามารถละกิเลสได้
ด้วยความเพียร
- พระอาจารย์ชยสาโร
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
in the beginning the way ahead is indistinct
we doubt and hesitate
but faith sustains us
confidence that nothing but freedom from defilement
can answer the deepest needs of the human heart
and that this ultimate freedom truly can be ours
through wise effort
- Ajahn Jayasaro
ธรรมชาติพร้อมตลอดเวลา
ที่จะสอนผู้ที่พร้อมตลอดเวลาที่จะศึกษา
บทเรียนใหญ่ที่สอนคือ
ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
โดยไม่มีใครสร้าง
ไม่มีเจ้าของ
ธรรมชาติสอนให้เราฉลาด
ในเรื่องการกระทํา
และผลการกระทํา
- พระอาจารย์ชยสาโร
จากบท 'อริยสัจคือมรรค ควรทำให้มีขึ้น' ในหนังสือตามความเป็นจริง
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
nature is constantly ready
to teach those who are constantly ready
to learn from it
nature’s biggest lesson
is that everything occurs
appears and disappears
through causes and conditions
with no creator
and no director
nature instructs us
in the intricate play
of cause and effect
- Ajahn Jayasaro
From the chapter on 'the path should be cultivated' seen in their true light
..
..
คำสรรเสริญใครๆ ก็ชอบ แต่อย่าเพิ่งชอบมากเพราะมันเป็นของอันตราย
ยิ่งชอบยิ่งติดใจกับคำสรรเสริญ จะยิ่งไม่ชอบคำนินทาหรือคำวิพากษ์วิจารณ์
อยู่ไปอยู่มาบางสิ่งที่ควรทำก็ไม่ทำเพราะกลัวว่าจะไม่มีใครชม
หรือกลัวจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความชอบคำสรรเสริญกับความไม่ชอบคำนินทา
กลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจในหัวใจเหนือความรู้สึกว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
สิ่งใดมีหวังว่าจะมีคนชมมากก็ขยันทำ สิ่งใดกลัวว่าจะไม่มีใครชมก็ขี้เกียจทำ
ผู้ใหญ่ชอบคำสรรเสริญมากจะดึงดูดคนประจบประแจง
ผู้ใหญ่รังเกียจคำนินทาหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ ผู้น้อยจะไม่กล้าให้ข้อมูลบางอย่าง
ผู้ใหญ่จึงจะขาดข้อมูลในการทำงาน
พระอาจารย์ชยสาโร
จิตที่ไม่ตั้งมั่นไม่สามารถเห็นอะไรตามความเป็นจริงได้
ทั้งนี้เพราะจิตที่ขาดการฝึกอบรมย่อมมีคราบกิเลสต่างๆติดแน่นอยู่
เป็นเปลือกหุ้มจิตเอาไว้ตลอดเวลา รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง
คำสอนของพระพุทธองค์
จึงไม่ใช่เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิดใจในเวลามีทุกข์
คำสอนของพระพุทธองค์ให้วิธีการฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เพื่อมีกำลังสลัดคราบกิเลสออกไป ด้วยการรู้ เห็น
สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
เมื่อจิตมีคุณสมบัติพอที่จะดูชีวิตของตนอย่างเป็นกลางได้
เราจึงจะจับหลักได้ว่า สิ่งใดยิ่งมองยิ่งชัด สิ่งนั้นเป็นของจริง
สิ่งใดยิ่งมองยิ่งไม่ชัดสิ่งนั้นเป็นของปลอม
เพราะดู เพราะรู้ เพราะเห็น นั่นแหละ มนุษย์เราจึงมีโอกาส
เป็นที่พึ่งแห่งตน
พระอาจารย์ชยสาโร
สมัยนี้คนนิยมลดน้ำหนักกันทั้งกายและวาจา การลดน้ำหนักทางกายอาจจะมีผลดีต่อชีวิต แต่การลดน้ำหนักของคำพูดไม่เคยดีเลย
วีธีทำให้คำพูดมีน้ำหนักน้อยลงก็ง่ายมากคือโกหกบ่อยๆ ไม่นานก็ไม่มีใครอยากเชื่อเราเลย แต่ข้อเสียไม่ได้จบอยู่แค่นี้ เพราะขณะเดียวกันกับที่เรากลายเป็นที่ระแวงของคนรอบข้าง เราเองก็กลายเป็นคนขี้ระแวง พร้อมที่จะแปลคำพูดและกิริยาท่าทางของคนอื่นว่าเป็นเท็จหรือเสแสร้ง โดยสรุปว่าเราเป็นอย่างไรเขาก็คงเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
พระอาจารย์ชยสาโร
ฐิตา:
คนดีที่ยังมีกิเลสเป็นคนดีตลอดเวลาไม่ได้ คนที่ยังไม่ถึงดี ก็ไม่ต้องพูดถึง ความต้องการสุขเวทนามีอำนาจเหนือจิตใจคนเรามากเหลือเกิน หลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ว่าไม่ดี แต่ก็ปล่อยไม่ได้เพราะเสียดายความสุขที่เราได้จากมัน การแก้ไขจึงไม่ได้อยู่ที่การยอมรับว่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายมีโทษอย่างเดียว ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรเราจึงจะยอมหาความสุขที่ดีกว่าจากสิ่งเสพติดที่มีมากมายก่ายกอง แต่มีจุดรวมอยู่ที่สุขเวทนา ไม่มีใครที่ไหนติดเฮโรอีน ยาบ้า ฯลฯ หรอก สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่สื่อเท่านั้น สิ่งที่คนเราติดอย่างเหนียวแน่นคือความสุขที่ได้จากมัน
- พระอาจารย์ชยสาโร
จากหนังสือ หลับตาทำไม
โดย มูลนิธิปัญญาประทีป และโรงเรียนทอสี
**************
บทนี้มีข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวร้ายคือ กิเลสสิ่งที่ก่อทุกข์อยู่ในใจของเรามีเยอะเหลือเกิน (ขอโทษ ถ้าเป็นข่าวเก่ามากแล้วสำหรับผู้อ่าน) ข่าวดีคือ ไม่มีกิเลสตัวไหนที่สู้ธรรมที่เป็นคู่ปรับของมันได้
เมื่อเทียบกับการรักษาร่างกายก็น่าจะต้องยอมรับว่าในบางแง่การรักษาจิตใจสบายกว่า โรคทางกายบางโรคไม่มียารักษาเลย เป็นแล้วได้แต่บรรเทาเวทนาความเจ็บปวดจนผู้ป่วยหมดบุญ บางโรคมียารักษาอยู่ แต่รักษาคนไม่ได้ผลทุกคน เพราะยาจะดีขนาดไหนก็ยังเป็นของไม่แน่นอน
ส่วนยาของพระพุทธเจ้านั้น ผู้ใดใช้ถูกต้องตามที่พระองค์ทรงแนะนำ และใช้จนหมดชุด ผู้นั้นย่อมหายแน่ ยิ่งกว่านั้นการหายจากกิเลสคือหายตลอดไป ไม่ใช่หายชั่วคราว หรือหายจากโรคหนึ่งแล้วเป็นอีกโรคหนึ่งเพราะผลข้างเคียงของยาที่เพิ่งทาน ธรรมะไม่มีผลข้างเคียงเป็นโทษ
จากหนังสือ ๖ พระสูตร
จัดทำโดย มูลนิธิปัญญาประทีป และโรงเรียนทอสี
*******************
ถ้ากำลังรักแม่ วันนี้ขอให้ความรักของเราปรากฏด้วยการกระทำและการพูด ถ้ากำลังโกรธหรือน้อยใจแม่ ขอให้อภัยท่าน และวันนี้ตั้งใจทำอะไรสักอย่างให้แม่มีความสุข อย่าเป็นทุกข์เพราะการคาดหวัง แม่ไม่ใช่พระอรหันต์อยู่ในบ้าน แม่เป็นคนธรรมดา พยายามเอาใจท่านใส่ใจเรา และทำให้ความสัมพันธ์กับแม่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะอยู่ด้วยกันอีกสักนานเท่าไร
พระอาจารย์ชยสาโร
********************
...คนก็เป็นอย่างนี้ เพราะเขามีความคิดอย่างนี้เพราะเขามีกิเลสอย่างนี้ ถ้าเราบอกว่าเขาไม่น่าเป็นอย่างนั้นเลย เขาไม่น่าทำอย่างนั้นเลย เหมือนกับว่าเขาไม่ควรเป็นเขา เขาควรจะเป็นอีกคนหนึ่ง หรือเหมือนกับบอกว่าเขาไม่น่ามีกิเลส อ้าว ถ้าเขาไม่มีกิเลสเขาก็เป็นพระอรหันต์เสียแล้ว ปุถุชนก็ต้องมีกิเลส ทำไมเขาจะไม่มี
มันไม่ยุติธรรม อ้าวทำไมมันต้องยุติธรรม ปุถุชนด้วยกันมันจะยุติธรรมได้อย่างไร ถ้ายุติธรรมก็ต้องหมู่พระอริยเจ้านั่นแหละถึงจะยุติธรรม...
จากธรรมเทศนาเรื่อง เห็นแก่ตัวกิเลส
วันที่ 25 มกราคม 2555 ณ บ้านพอ แม่ริม เชียงใหม่
******************
...ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่เป็นที่เกิดอคติ เกิดความรำคาญ เกิดความหงุดหงิดได้ ถ้าเราไม่เห็นโทษของความรำคาญ ความหงุดหงิด คือมีความคิดผิดหรือมิจฉาทิฏฐิอยู่เบื้องหลัง เห็นว่ามันสมควรจะหงุดหงิด มันสมควรจะรำคาญ มันสมควรจะไม่พอใจในเรื่องนี้ ถ้าถามว่าสมควรทำไหม สมควรจริงหรือ
เราต้องเด็ดขาดกับตัวเอง ไม่มีสิ่งใดเลยที่สมควรจะโกรธ สมควรจะหงุดหงิด สมควรจะรำคาญ เพราะความรำคาญเป็นกิเลส ความหงุดหงิดเป็นกิเลส ความโกรธก็เป็นกิเลส อย่าไปยุ่งเรื่องเหตุผล แต่ แต่ มันไม่น่า มันไม่ถูก มันไม่ใช่ อย่าไปทางโน้นเลย หยุดแล้วกลับมาดูที่ประสบการณ์ เดี๋ยวนี้จิตใจเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตใจเราเบิกบานหรือเศร้าหมอง ดูที่ประสบการณ์ตรง พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ 84,000 พระธรรมขันธ์ คำสั่งสอนพระพุทธองค์มากมายก่ายกอง แต่สรุปแล้วมีแต่สองเรื่องเท่านั้น ทุกข์กับดับทุกข์ ด้วยความคิดอย่างนี้ การพูดอย่างนี้ มองอย่างนี้ กำลังสร้างทุกข์หรือกำลังดับทุกข์ เราอยู่ตรงนี้มันง่ายดี...
จากธรรมเทศนาเรื่อง ภาวนาคิอเรียนรู้
ณ บ้านพอ วันที่ 22 มกราคม 2555 แม่ริม เชียงใหม่
*******************
พูดอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีเหตุผล แต่เราเชื่อว่ามีเหตุผลเพราะอะไร เพราะความรู้สึกขณะที่พูดไม่ใช่เพราะเนื้อหา เพราะในขณะที่พูดเรารู้สึกเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นเป็นสังขารแล้วเป็นสังขารที่เสี่ยงต่ออันตราย เสี่ยงต่ออันตรายว่าถ้าเราเป็นคนพูดเก่งพูดด้วยความเชื่อมั่น คนรอบข้างที่ขาดความเชื่อมั่นซึ่งมีจำนวนมากก็จะเชื่อเราง่าย อ้าว จะไม่ดีเหรอ อ้าว อาจจะดีก็ได้ ถ้าเราเป็นผู้มีศีลธรรม แต่ก็ชวนให้เราประมาทก็ได้ ชวนให้เราใช้ความสามารถนี้เอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้ ซึ่งในระยะยาวก็เป็นผลเสียกับตัวเราเองเพราะกรรมที่ทำไว้...
ความคิดเห็นไม่ตรงกันถึงจะถึงกับเถียงกันไม่เป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำไป เพราะถ้าทุกคนมีความเห็นตรงกัน พูดในสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วยอยู่แล้ว นี่จะนำไปสู่ความเสื่อม แต่ถ้าใครมีอะไรก็พูดออกไปจะบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนตนมันก็เสื่อม
ตามหลักประชาธิปไตยเราก็ต้องสร้างกรอบ ต้องรักษาสิทธิมนุษยชนเป็นหลักประกันความปลอดภัยของผู้ที่จะแสดงความคิดเป็นออกมา และจะต้องพัฒนาจิตใจของคน เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ด่วนสรุปว่าเพราะเราเชื่อมั่นว่าเราถูกเพราะฉะนั้นเขาต้องผิด เพราะเราเชื่อมั่นว่าตัวเองบริสุทธิ์ใจเพราะฉะนั้นคนที่มีความเห็นไม่เหมือนกับเราต้องไม่บริสุทธิ์ใจ อันนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผล อาจจะมองจากคนละแง่มุมก็ได้…
จากธรรมเทศนาเรื่อง ภาวนาหาข่าวตัวเอง
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ บ้านบุญ ปากช่อง นครราชสีมา
*******************
สมมุติว่าเถรวาท สมมุติว่ามหายาน
สมมุติว่าภิกษุ สมมุติว่าภิกษุณี
สมมุติว่าผู้ชาย สมมุติว่าผู้หญิง
ความจริงระดับสมมุติต้องเคารพเอาไว้
แต่ในขณะเดียวกัน
นักบวชเราต้องเข้าถึงความจริงเหนือภาษา เหนือความคิด
ด้วยการปฏิบัติถูกต้องตรงตามแนวทาง
ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
พระอาจารย์ชยสาโร
ฐิตา:
สิ่งที่องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีเเล้วนั้น
ไม่ได้เกิดจากนิมิตในสมาธิของท่าน แต่เกิดจากวิชชา
พระอาจารย์ชยสาโร
***********************
life’s not an easy thing
it’s no smooth run
sometimes it weighs us down
so much
life taxes us
with more than we’d choose ...
ชีวิตนี้ไม่ง่าย
ชีวิตนี้ไม่ราบรื่น
ชีวิตนี้โอ๊ยหนัก
ชีวิตนี้ท้าทาย
ชีวิตนี้ไหวหวั่น
ชีวิตนี้เหมือนฝัน
เหมือนฝันสั้น แสนสั้น
- พระอาจารย์ชยสาโร
********************
งานนำจิตออกจากความหลง
ออกจากการวกวนของกิเลส
ไม่เหลือวิสัย
แต่เป็นงานที่ไม่มีใครทําให้เราได้
ต้องทําเอง
ถ้ายังไม่เริ่มจะเริ่มเมื่อไรดี
วันนี้ไม่ดีหรือ?
ขออย่าอ้างคําว่า “จะ”
ไม่ต้องรอฟังเสียงระฆังวัดเรียกหรอก
(น่ากลัวหูจะตึงเสียก่อน แล้วไม่ได้ยิน)
- พระอาจารย์ชยสาโร
................................
the task of leading the mind
out of its sleep and dreams
is not beyond us
but it is work
work that no earthly or unearthly power can do for us
it is our own responsibility
and if we haven’t yet started on this path
when should we start?
why not today?
may the urgency of our condition
ring within your heart
like a monastery bell!
- Ajahn Jayasaro
*********************
ในภาคปฏิบัติ เราถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ด้วยการเอาหลักธรรมเป็นหลักดําเนินชีวิต
ไม่ลืมธรรม ไม่หลงโลก
- พระอาจารย์ชยสาโร
..............................
in our practice
we go to the Dhamma as our refuge
guiding our life by the light of the teachings
not forgetting the Dhamma
not turning our back on the Dhamma
dwelling undeluded by the world
- Ajahn Jayasaro
**********************
ในการทําบุญ
ผู้ให้ก็รับ
ผู้รับก็ให้
ทั้งสองฝ่าย
ก็ชื่นใจ
in every generous act
the one who gives receives
the one who receives gives
both feel refreshed and restored
- Ajahn Jayasaro
ฐิตา:
พระสงฆ์เราถือว่าต้องเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม
เมื่อมารวมกันเยอะๆ เราจึงพยายามให้เป็นในลักษณะชุ่มนุ่ม
คือทุกรูป ชุ่มชื่น ชุ่มใจ ด้วยการบริหารจิตให้เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ให้สิ่งเศร้าหมอง ครอบงำได้ และ นุ่มนวล ด้วยการสำรวม กาย วาจา รักษากิริยามารยาทให้อ่อนโยนและงดงาม
พระอาจารย์ชยสาโร
**************************
คำว่า "พุทธะ" แปลว่า ตื่น…ตื่นจากหลับ
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายดำเนินชีวิตเหมือนอยู่ในความฝัน และพระอริยเจ้าทั้งหลายเริ่มด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเป็นผู้ตื่น
แล้วก็เป็นธรรมดาว่าปกติเราฝัน ในขณะที่ฝันเราก็ไม่รู้สึกว่าฝัน น้อยมากแล้วก็น้อยคนที่จะรู้ตัว ในขณะที่ฝันมันรู้สึกเหมือนเป็นโลกที่เป็นจริงของเราอยู่ในเวลานั้น ถ้าตื่นจากฝันแล้วทบทวนที่ฝันเมื่อกี้นี้แล้วมันจะรู้สึกว่ามันแปลกๆ มันไม่ค่อยเหมือนโลกธรรมดาของเรา มันมีเหตุผลอะไรของมันเองเฉพาะโลกนั้นที่เราอยู่ในขณะที่ฝัน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าโลกที่คนเราอยู่ซึ่งรู้สึกเป็นของจริงของจังนั้นเหมือนความฝัน แต่มีแต่พระอริยเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ได้
ในขณะที่เรากำลังฝันอยู่ เราก็ยังสามารถได้ประโยชน์จากความคิดแนวนี้ว่า สิ่งนี้สิ่งที่เราสำคัญมั่นหมาย สิ่งที่เราให้น้ำหนักมากเหลือเกินนั้น ในสายตาของผู้รู้เห็นตามความเป็นจริงนี่ก็เป็นแค่ความฝัน เราจะได้ไม่เอาจริงเอาจังกับมันจนเกินไป
หลายสิ่งหลายอย่างที่เราถือว่าสามัญสำนึกถือว่าชัดเจนแล้ว โดยด้วยสายตาของจิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น
จากธรรมเทศนา เรื่อง อัศจรรย์แปดอย่าง
วันที่ 16 กันยายน 2555 ณ บ้านบุญ ปากช่อง นครราชสีมา
*******************************
เมื่อเราเห็นความเกิดขึ้นของกิเลส ความตั้งอยู่ของกิเลส เสน่ห์ของกิเลส ความยากในการที่จะปล่อยวางกิเลสได้ชัดเจนแล้ว เราก็ต้องให้อภัยตัวเองบ้างและในขณะเดียวกันเราก็ต้องเอาใจเขาใส่ใจเราว่าเราเป็นยังไงเขาก็เป็นอย่างนั้น เราไม่ต้องการมีกิเลส ตรงกันข้ามอยากจะฝึกให้ไม่มีกิเลสแต่มันยังทำไม่ค่อยได้ มันยากมาก ดังนั้นเราก็ควรจะคิดต่อว่าขนาดเราตั้งอกตั้งใจมากถึงขนาดนี้มันยังไม่ค่อยได้ผล นับประสาอะไรกับคนทั่วไปที่ไม่เคยคิดจะปฏิบัติ ไม่อยู่ในสมองเลย เราจะไปหวังอะไรกับเขาได้ กิเลสเป็นสิ่งที่มันฝังรากลึกมากในจิตใจของมนุษย์ จะถอนได้นี่เป็นเรื่องใหญ่ มันไม่ใช่ว่า 3 วัน 7 วัน 1 เดือน 1 ปี มันต้องข้ามภพข้ามชาติ
ในการปฏิบัติธรรม ญาติโยมมักจะใจร้อนและเข้าใจผิดว่าควรจะได้แล้ว เข้าคอร์สหลายคอร์สแล้วแล้วยังไม่เข้าฌานสักทีมันยังไม่เกิดวิปัสสนาสักที มันจะเร็วขนาดนั้นเชียวหรือ มันต้องใช้เวลา อันนี้ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตรนะเป็นวิ่งมาราธอน ไม่ใช่มาราธอนเป็นไตรแอตตาลอน และไม่ใช่ไตรแอตตาลอนหนี่งไตรแอตตาลอนเป็นไตรแอตตาลอนเป็นร้อยๆต่อกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปหาความสบายใจที่ผลงาน ถ้าจะต้องการความสบายใจในระหว่างการปฏิบัติก็ควรจะอยู่ที่มั่นใจว่าเราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ถ้าเราทำตรงตามนี้วันใดวันหนึ่งต้องถึง บางช่วงที่เรารู้สึกมีกำลังมากเราก็วิ่งได้เลย วันไหนเหนื่อยหน่อยก็เดิน เดินไม่ไหวก็คลาน เพียงแต่ว่าอย่าลงจากทางเท่านั้นเองวันใดวันหนึ่งจะถึง ชาติใดชาติหนึ่งจะถึง
จากธรรมเทศนา เรื่อง เดินไม่ได้ก็คลาน
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 บ้านพอ แม่ริม เชียงใหม่
***************************
เมื่อสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นในจิตใจของเราขอให้สังเกตว่าการพยายามไล่สิ่งนี้ออกจากจิตใจจะไม่ได้ผลการพยายามไล่สิ่งที่ไม่ดีออกจากจิตใจจะกลับทำให้สิ่งนั้นกำเริบเป็นการสำคัญมั่นหมายในสิ่งนั้นซึ่งจะทำให้สิ่งนั้นมีกำลังมากขึ้นพระพุทธองค์จึงให้เรากำหนดรู้ตัวปัญหาแต่ให้เราละด้วยการปล่อยวางตัวสาเหตุนี่คือความฉลาดในความคิด
พระอาจารย์ชยสาโร จากหนังสือ โกรธทำไม
โดย มูลนิธิปัญญาประทีป และโรงเรียนทอสี
*********************************
เมื่อเรารู้ว่าความโกรธเป็นผลเกิดจากการไม่ยอมรับความจริง เช่น ไม่ได้สิ่งที่อยากได้ คนรอบข้างไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เราก็มีทางแก้ไขคือ ฝึกยอมรับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาที่เกิดขึ้น ไม่เอาเป็นเอาตายกับความอยากได้ ไม่หมายมั่นปั้นมือจนเกินไป สำหรับผู้กล้าลืมหูลืมตาต่อการเกิดดับภายในจิต การผ่านไปแห่งเวลาจะสอนความจริงของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา
- พระอาจารย์ชยสาโร
จากหนังสือ กระโถน กระถาง โดย มูลนิธิปัญญาประทีป และโรงเรียนทอสี
*****************
การมองคนที่เรารักด้วยความคาดหวังบางอย่างเป็นเหตุให้ผิดหวังได้ง่าย เมื่อมีเรื่องไม่พอใจกันเกิดขึ้น ความเสียใจและขัดข้องใจว่าเขาไม่เป็นอย่างที่เขาควรจะเป็น (คืออย่างที่เราต้องการให้เขาเป็น) ความขมขื่นก็ทวีขึ้น พระพุทธเจ้าชี้ให้เราเห็นว่าทุกข์เพราะตัณหาความอยาก
อย่างไรก็ตาม การรักใครไม่น่าจะต้องหมายความว่ามีหน้าที่หลับหูหลับตาต่อข้อบกพร่องของเขา และเข้าข้างเขาในทุกๆเรื่อง เพราะจะขาดความเป็นเพื่อนที่ดี แต่จะช่วยใครได้ต้องใจเย็น ไม่ท้อแท้ ด้วยความเคารพและยอมรับภาวะปัจจุบันไว้ก่อน
- พระอาจารย์ชยสาโร
จากหนังสือ หลักรัก จัดทำโดย มูลนิธิปัญญาประทีป และโรงเรียนทอสี
**************************
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version