วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม

อเหตุกจิต

(1/2) > >>

ฐิตา:





บทที่ 8  อเหตุกจิต


  ถ้าต้องการที่จะรู้จักตัวเอง   ก็ไม่ควรที่จะรู้เพียงขณะที่เป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิตเท่านั้น   
แต่ควรรู้ขณะจิตอื่นๆด้วย   
เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีก็ไม่ชอบสิ่งนั้น ขณะที่ไม่พอใจนั้นเป็นอกุศลจิตที่มีโทสะเป็นมูล     
ก่อนไม่พอใจก็ต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางตา   จิตเหล่านี้ไม่ใช่อกุศลจิต   แต่เป็น จิตที่ปราศจากเหตุ
เจตสิกที่เป็นเหตุมี 6 ดวง   เจตสิก 3 ดวง เป็น อกุศลเหคุ   คือ โลภะ  โทสะ  และ โมหะ   
เจตสิก อีก 3 ดวง   เป็นโสภณเหตุ  คือ  อโลภะ อโทสะ  และอโมหะ   

จิตหรือเจตสิกที่มี เหตุเกิดร่วมด้วยเป็นสเหตุกะ เช่น โทสมูลจิตเป็นสเหตุกะ
โทสมูลจิตมีโมหะและโทสะเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็น อเหตุกจิต   
วันหนึ่งๆมีอเหตุกจิตเกิดมากมาย   ขณะที่เห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ลิ้มรส   หรือกระทบสัมผัสกายนั้น   
อเหตุกจิตเกิดก่อนสเหตุกจิต (กุศลหรืออกุศลจิต)   เรามักจะสนใจขณะที่พอใจหรือไม่พอใจ   
แต่ก็ควรรู้ขณะจิตอื่นๆด้วย   เราควรรู้ อเหตุกจิต


"จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกจิต"


ฐิตา:





อเหตุกจิตมี 18 ดวง   เป็นวิบากจิต 15 ดวง   

เป็นกิริยาจิต  (จิตที่เป็นกิริยา   ไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล)  3 ดวง
อเหตุกวิบากจิต 7 ดวงเป็นอกุศลวิบากจิต  (ผลของอกุศลกรรม)   
และอเหตุกวิบากจิต 8 ดวงเป็นกุศลวิบากจิต  (ผลของกุศลกรรม)   

ขณะที่รูปารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจกระทบจักขุปสาท   จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์เท่านั้น   
ยังไม่มีความไม่พอใจในรูปารมณ์นั้น     
จักขุวิญาณเป็นอเหตุกวิบากจิต   จิตที่ไม่ชอบรูปารมณ์นั้น   ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง
เป็น สเหตุกจิต (จิตที่ประกอบด้วยเหตุ)   

จิตเห็นไม่ใช่จิตที่คิดนึกถึงรูปารมณ์   จิตที่รู้รูปพรรณสัณฐานของรูปารมณ์และรู้ว่าเป็นอะไรนั้น   
ไม่รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร   แต่รู้ทางมโนทวาร   เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง   

เมื่อพูดว่า "เห็น" ก็มักหมายถึงการรู้รูปพรรณสัณฐาน   และรู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร   
แต่ก็ต้องมีจิตชนิดหนึ่งที่เพียงเห็นรูปารมณ์   และจิตดวงนี้ไม่รู้อะไรอื่นเลย (นอกจากเห็น)   
สิ่งที่เราเห็นนั้นอาจจะเรียกว่า"รูปารมณ์" หรือ "สี"   แต่ก็หมายถึงสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเอง   

ขณะที่กำลังได้ยิน   เรารู้ได้ว่าได้ยินต่างกับเห็น   จิตได้ยินเสียงทางหู   
การรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมทั้งหลายบ่อยๆเนืองๆ   จะทำให้รู้สภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง   
บางคนคิดว่ามีตัวตนที่เห็นและได้ยินพร้อมกันในขณะเดียวกัน แต่จะ รู้ ตัวตนได้ทางทวารไหน   
การยึดถือสภาพธรรมต่างๆว่าเป็นตัวตนเป็นความเห็นผิด

จิตเห็น  จิตได้ยิน   จิตได้กลิ่น  จิตลิ้มรส   จิตรู้โผฏฐัพพะ   ไม่เกิดเมื่อไม่มีเหตุปัจจัย   
สภาพธรรมเหล่านี้เป็นวิบาก   
จักขุปสาท  โสตปสาท ฆานปสาท  ชิวหาปสาท   และกายปสาทก็เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม
(รูปเหล่านี้) เป็นผลของกรรม
 
ผลของกรรมที่เป็น นามธรรม เท่านั้นที่เป็น วิบาก   ฉะนั้น จิตและเจตสิก (นามธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต) เท่านั้น
ที่เป็นวิบากได้   รูปไม่ใช่วิบาก


"อเหตุกจิต เกิดก่อน สเหตุกจิต(กุศลหรืออกุศลจิต)"

ฐิตา:



พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีเหตุปัจจัย   ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจนั้นก็ต้องมีเหตุปัจจัย   ขณะนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากจะเป็นผลของกุศลกรรมไม่ได้   ขณะเห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม   วิบากจิตที่เกิดขึ้นเมื่ออารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจกระทบกับปสาทหนึ่งในปสาท 5 นั้นเป็น อเหตุกะ    ขณะนั้นไม่มีอกุศลเหตุ (เหตุที่ไม่ดีงาม) หรือโสภณเหตุ (เหตุที่ดีงาม)   เกิดร่วมกับจิต

อเหตุกวิบากจิตที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจหรือสิ่งที่น่าพอใจทางตาเป็น จักขุวิญญาณ (จักขุ คือตา)

อเหตุกวิบากจิตที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจหรือเสียงที่น่าพอใจทางหูเป็น โสตวิญาณ (โสต คือหู)

อเหตุกวิบากจิตที่ได้กลิ่นไม่น่าพอใจหรือกลิ่นที่น่ายินดีทางจมูกเป็น ฆานวิญญาณ (ฆาน คือจมูก)

อเหตุกวิบากจิตที่ลิ้มรสที่ไม่น่ายินดีหรือรสที่น่ายินดีทางลิ้นเป็น ชิวหาวิญญาณ (ชิวหา คือลิ้น)

อเหตุกวิบากจิตที่รู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่น่าพอใจหรือที่น่าพอใจทางกายเป็น กายวิญญาณ

อเหตุกวิบากจิตที่รู้อารมณ์ทางทวาร 5 นั้นมี 2 อย่าง คือ  อกุศลวิบาก 1  และ กุศลวิบาก 1 ฉะนั้นจึงมีอเหตุกวิบากจิต 5 คู่   ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยทวาร 5   ยังมีอเหตุกวิบากจิตประเภทอื่นอีกซึ่งจะกล่าวต่อไป อเหตุกวิบากจิต 10 ดวง  ซึ่งเป็น 5 คู่นั้น  ภาษาบาลีเรียกว่า  ทวิปัญจวิญญาณ นั้นมีดังนี้  คือ

1. จักขุวิญญาณ (จิตเห็น)   เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง   เป็นกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง
2. โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน)   เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง   เป็นกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง
3. ฆานวิญญาณ (จิตได้กลิ่น)   เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง   เป็นกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง
4. ชิวหาวิญญาณ (จิตลิ้มรส)   เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง   เป็นกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา 1 ดวง
5. กายวิญญาณ เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับทุกขเวทนา 1 ดวง   เป็นกุศลวิบากเกิดร่วมกับสุขเวทนา 1 ดวง


"อเหตุกจิต  มี 18 ดวง  เป็นวิบากจิต  15 ดวง เป็นกิริยาจิต 3 ดวง"

ฐิตา:




อเหตุกวิบากจิตซึ่งเห็น   ได้ยิน  ได้กลิ่น  และลิ้มรส เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา   ไม่ว่าจะเป็นอกุศลวิบากจิตหรือกุศลวิบากจิต   จิตที่ไม่พอใจในอารมณ์นั้นอาจเกิดขึ้นทีหลัง   จิตที่ไม่พอใจอารมณ์เป็นสเหตุกะ (ประกอบด้วยเหตุ)   และมีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย   หรือจิตที่ชอบใจอารมณ์นั้นอาจเกิดขึ้นเป็นสเหตุกจิต   มีโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย    เรามักคิดว่าทวิปัญจวิญญาณเกิดพร้อมกับความชอบหรือความไม่ชอบในอารมณ์   แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น   จิตชนิดหนึ่งๆเกิดขึ้นต่างขณะกันและเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะก็เกิดร่วมด้วย   ไม่ควรเลยที่จะยึดถือสภาพธรรมเหล่านี้ว่าเป็นตัวตน

เวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณ จิตซึ่งรู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายปสาทนั้นเป็นอุเบกขาเวทนาไม่ได้   จิตดวงนี้เกิดร่วมกับทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา   เมื่ออนิฏฐารมณ์กระทบกาย   เวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณก็เป็นทุกขเวทนา (ความรู้สึกไม่สบายทางกาย)    เมื่ออิฏฐารมณ์กระทบกาย   เวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณก็เป็นสุขเวทนา (ความรู้สึกสบายทางกาย)  ทุกขเวทนาและสุขเวทนา เป็น นามธรรม   ซึ่งเกิดกับ กายวิญญาณ 2 ดวง  ที่รู้อารมณ์ ทางกาย    ทั้งเวทนาทางกายและเวทนาทางใจเป็นนามธรรม   แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ต่างกันและต่างขณะกันด้วย   เช่น   เราอาจรู้สึกสบายกายเมื่ออยู่ในที่ๆสะดวกสบาย   แต่แม้กระนั้นเราก็อาจกังวลใจและไม่สบายใจ    ความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นในขณะต่างกัน   สุขเวทนาทางกายเป็นผลของกุศลกรรม   ขณะที่ไม่สุขใจนั้นโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นจากการสะสมของโทสะ   โทมนัสเวทนาเป็นอกุศล

มีรูปซึ่งเป็นโผฏฐัพพะกระทบกายปสาททั้งวัน   โผฏฐัพพารมณ์กระทบกายได้ทั่วตัว   ฉะนั้นทุกส่วนของร่างกายเป็นกายทวาร   ขณะใดที่กระทบวัตถุที่แข็งหรืออ่อน   เย็นหรือร้อนกระทบกาย   ขณะที่เคลื่อนไหว   คู้หรือเหยียด   จะมีโผฏฐัพพารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์กระทบกายปสาท   บางคนอาจสงสัยว่า   ทุกขณะที่มีการกระทบสัมผัสทางกายนั้น   สุขเวทนาหรือทุกขเวทนาเกิดหรือไม่

บางคนอาจสังเกตุรู้เวทนาทางกายอย่างหยาบ   แต่ไม่ได้สังเกตุเวทนาอย่างละเอียด   เช่น   เวลาที่วัตถุนั้นแข็งไป   เย็นไปหรือร้อนไปหน่อย   ทุกขเวทนาก็เกิดกับกายวิญญาณจิตซึ่งรู้อารมณ์ทางกายทวาร   แต่อาจไม่ได้สังเกตุทุกขเวทนาอย่างบางเบาที่เกิดขึ้น   ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน


"สิ่งที่เราเห็นนั้น อาจจะเรียกว่า รูปารมณ์หรือ สี
แต่ก็หมายถึงสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเอง"


"ผลของกรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้นที่เป็นวิบาก 
ฉะนั้น จิตและเจตสิกเท่านั้นที่เป็นวิบากได้
รูปไม่ใช่วิบาก"

ฐิตา:




เมื่อพระอรหันต์รู้โผฏฐัพพารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์ที่กระทบกาย   ก็จะมีแต่ทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาเกิดร่วมกับกายวิญญาณจิตเท่านั้น   พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิตหรือกุศลจิตเกิดต่อจากวิบากจิตเลย   ท่านมีแต่กิริยาจิต (จิตที่ไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล)    ในสังยุตตนิกาย   สฬายตนวรรค  สัลลัตถสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว   ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง   ทุกขเวทนาบ้าง   อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง   ทุกขเวทนาบ้าง   อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ในชน 2 จำพวกนั้น  อะไรเป็นความพิเศษ   เป็นความแปลก   เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐานฯ"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับอันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมเศร้าโศก  รํ่าไร  รำพัน   ทุบอก  ครํ่าครวญ   ย่อมถึงความงมงาย   เขาย่อมเสวยเวทนา 2 อย่าง  คือ   เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ ... อนึ่งเขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น   ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น   ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา    เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว   ย่อมเพลิดเพลินกามสุข   ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ   ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข   และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่   ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง ... "



"ไม่ใช่แต่สุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาเท่านั้นที่เป็นปัจจัย ให้เกิดตัณหา
ทุกขเวทนาก็เป็นปัจจัย ให้เกิดตัณหาด้วย"

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version