อาพาธสูตรพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๔
อาพาธสูตร บางทีก็นิยมเรียกกันไปว่าคิริมานนทสูตร เนื่องจากเป็นพระสูตรที่แสดงแก่พระอานนท์เพื่อให้ท่านนำไปแสดงแก่พระคิริมานนท์ที่กำลังอาพาธทนทุกข์ทรมานอยู่ เป็นพระสูตรที่แสดงสัญญา ๑๐ ที่มีอานิสงส์ทําให้หายจากการอาพาธเจ็บป่วย, สงบระงับความเจ็บป่วย เป็นฐานะที่จะมีได้ คือเกิดขึ้นได้, การเจริญในสัญญา ๑๐ ก็คือการเจริญวิปัสสนาอันดีงามยิ่งอย่างหนึ่งนั่นเอง อันยังให้จิตสงบระงับไม่ฟุ้งซ่านเสียจนเร่าร้อนเผาลนจนยิ่งเจ็บป่วยยิ่งอีก และยังให้เกิดนิพพิทาญาณ ซึ่งยังให้เกิดอานิสงส์ในทางสงบระงับโรคภัยไข้เจ็บได้ดียิ่ง (อ่านคำแนะนำในการนำไปปฏิบัติเพื่อรักษาโรคภัยด้านล่าง จึงไม่ใช่แต่การสวดมนต์ท่องบ่นหรือรักษาด้วยอิทธิฤทธิ์เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บแบบโลกิยะ, ส่วนการเจริญในสัญญา๑๐ตามพระสูตรนี้ เป็นการปฏิบัติแบบโลกุตระ)
อาพาธสูตร [๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก
ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่าน พระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่คิริมานันทภิกษุไซร้
ข้อที่อาพาธของคิริมานันทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้
สัญญา ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑
อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑
ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑
นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ๑
สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑ ฯ
ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
รูปไม่เที่ยง
เวทนาไม่เที่ยง
สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
วิญญาณไม่เที่ยง
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ (แสดงอุปมาของขันธ์ ๕)
ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา,
หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา,
จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา,
ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา,
กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา,
ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา
ย่อมพิจารณาเห็น โดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา ฯ
(ทั้งอนิจจสัญญาและอนัตตสัญญา ควรอ่านพระไตรลักษณ์ประกอบการพิจารณา จึงยังประโยชน์สูงสุด)
ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่าในกายนี้มี
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง) (ทั้ง ๒๐ นี้จัดเป็นปฐวีธาตุหรือธาตุดินนั่นเอง)
ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ทั้ง๑๒ จัดเป็นอาโปธาตุหรือธาตุน้ำด้วยเช่นกัน)
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ (ปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็เรียก, หรือทวัตติงสาการ)
ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
กาย(พึงเข้าใจด้วยว่า ทุกบุคคล เขา เรา ไม่มียกเว้นใดๆทั้งสิ้น)นี้ มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้นอาพาธต่างๆ จึง(อาจ)เกิดขึ้น(กับทุกบุคคลได้)ในกายนี้ คือ
โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละออง บวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง
อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
(กายย่อมอาจมีโรคภัย ที่เป็นทุกข์และโทษอันเป็นธรรมหรือธรรมชาติของกาย และย่อมต้องเกิดความรู้สึกรับรู้ในทุกข์ต่างๆ(ทุกขเวทนา)เป็นธรรมดาจากการผัสสะ ดังเช่นเมื่อมีการกระทบใน เย็น ร้อน
อ่อน แข็ง กล่าวคือย่อมเกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติหรือเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของกายเป็นธรรมดานั่นเอง)
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ
ดูกรอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าปหานสัญญา ฯ
ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา
ธรรมเป็นที่(ทำให้)สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ
ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา
ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ
ดูกรอานนท์ สัพพโลเก อนภิรตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้
ละอุบาย และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น
(ดังเช่นโลกธรรม ๘ จึงหลงวนเวียน ยินดียินร้ายอยู่ในโลกธรรมทั้ง ๘, อีกทั้งโลกที่หมายถึงตัวตน )
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเก อนภิรตสัญญา ฯ
ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้
ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (เพราะพิจารณาแล้ว รู้เห็นในความจริงของสังขารทั้งปวง ทั้งสังขารกายดังข้างต้น ดังสังขารทั้งปวงในไตรลักษณ์)
(ฝ่ายสังขารร่างกายนั้น ก็ล้วนต้องดูแลรักษา ต้องหาอาหารต้องหมั่นเติมให้เต็มให้อิ่มทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นภาระเวร,เป็นภาระกรรมที่ต้องคอยดูแลต้องรักษาไปตลอดกาลนานจนสิ้นกาละ ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมาก็แสนปฏิกูลเหลือกำลัง เป็นอาทีนวะคือเป็นทุกข์เป็นโทษของสังขารกายที่ย่อมต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จึงมีการเจ็บป่วยอาพาธเป็นธรรมดา มีแก่เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาจึงย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง ย่อมหน่ายจึงคลายกำหนัดในสังขารต่างๆ เมื่อรู้ความจริงดังนี้ เสมอๆ เนืองๆ เป็นอเนกฯลฯ.)
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา ฯ
ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า,
เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า,
(พึงระลึกเข้าใจด้วยว่า เป็นการดำรงอยู่กับสติ เพื่อมิให้ดำริพล่าน มิได้มีเจตนาเอาลมหายใจเป็นอารมณ์หรือวิตกเพื่อกระทำฌานหรือสมาธิเป็นสำคัญแต่อย่างใด
เพียงแต่บางครั้งสติอาจขาด จึงอาจเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิบ้างเป็นเป็นครั้งคราว ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา)
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น,
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง(ลมหายใจ) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวงหายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร(ลมหายใจ) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร(เวทนา) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า
ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขาร หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักเป็น ผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความดับสนิท หายใจเข้า,
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจเข้า
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ ฯ (อานาปานสติ ก็เขียน)
ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่ คิริมานนทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ
ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ในสำนักของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าว สัญญา ๑๐ ประการแก่ท่านพระคิริมานนท์ ครั้งนั้นแล อาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น ก็แลอาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้ว ด้วยประการนั้นแล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐