แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
No teacher can do for you.
ฐิตา:
นิทานเซน :อยู่อย่างมีความสุข
วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านอู๋เต๋อทำงานง่วนอยู่ในลานวัด ก็มีญาติโยม 3 คนเดินเข้ามาคารวะท่าน แล้วถามว่า “อาจารย์ พวกเรามีปัญหาอยากจะขอคำชี้แนะจากท่าน พวกเรานับถือศาสนาพุทธมาหลายปีแล้ว แต่ทำไมจิตใจจึงยังไม่มีความสุขสักที” ท่านอู๋เต๋อวางจอบลง กล่าวว่า “อยากมีความสุขไม่ยากดอก แต่พวกท่านต้องตอบอาตมามาก่อนว่า คนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” ครู่ใหญ่ๆ ต่อมา
นาย ก. จึงตอบว่า “ที่มีชีวิตอยู่ ก็เพราะไม่อยากตาย”
นาย ข. ตอบว่า “ที่กระผมทำงานหนักในทุกวันนี้ ก็เพราะหวังไว้ว่า เมื่อแก่ตัวลง จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกหลาน ไม่ต้องห่วงเรื่องกินเรื่องอยู่ สามารถใช้ชีวิตสบายๆ ไปจนตาย”
นาย ค. ตอบว่า “กระผมไม่ได้หวังอะไรเลย แต่ที่มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อเลี้ยงครอบครัวให้มีกินมีใช้”
ท่านอู๋เต๋อยิ้ม แล้วกล่าวว่า “มิน่าเล่า พวกท่านถึงไม่มีความสุขก็สิ่งที่พวกท่านคิดถึงนั้นมีแต่คำว่า แก่ คำว่า ตาย คำว่าถูกบังคับให้ทำงานหนัก พวกท่านมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีอุดมการณ์ ขาดศรัทธา ขาดความรับผิดชอบ ขาดความเชื่อมั่น มันจะมีความสุขได้อย่างไร” นาย ข. แย้งว่า “อุดมการณ์ ศรัทธา ความรับผิดชอบ กินแทนข้าวได้อย่างนั้นหรือ ?” นาย ค. เร่งเร้าว่า “ท่านอาจารย์ช่วยบอกพวกเราทีเถิดว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่อย่างมีความสุขได้” ท่านอู๋เต๋อถามว่า “พวกท่านคิดว่าชีวิตต้องมีอะไรบ้างล่ะถึงจะมีความสุข” นาย ก. ตอบว่า “ถ้ามีชื่อเสียงก็จะมีทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมีความสุขก็จะตามมา” นาย ข. พูดว่า “ต้องมีความรัก ถึงจะมีความสุข” นาย ค. ตอบว่า “ต้องมีเงิน ถึงจะมีความสุข” ท่านอู๋เต๋อถามว่า “ถ้าเช่นนั้น อาตมาขอถามพวกท่านหน่อยเถิดว่า ทำไมคนมีชื่อเสียงแล้วจึงมียิ่งทุกข์ คนมีความรักแล้วกลับเจ็บปวด คนมีเงินมีทองแล้วกลับกังวล” ชายทั้งสามตอบไม่ได้
ท่านอู๋เต๋อพูดต่อไปว่า “อุดมการณ์ ศรัทธา และความรับผิดชอบไม่ใช่สิ่งว่างเปล่า แต่แสดงออกในทุกอณูของชีวิต ต้องเปลี่ยนแปลงคติชีวิต เปลี่ยนแปลงท่าทีเสียก่อน ชีวิตจึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ชื่อเสียงที่ทำให้คนเรามีความสุขนั้น ต้องเนชื่อเสียงที่เกิดจากการรับใช้คนส่วนใหญ่ ความรักที่ทำให้คนเราสุขใจอย่างแท้จริงนั้นต้องความรักที่รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน เงินทองจะมีค่าก็ต่อเมื่อรู้จักบริจาค รู้จักช่วยเหลือคนยากจนคนจน ถ้าพวกท่านดำเนินชีวิตไปตามครรลองเช่นนี้ ชีวิตก็จะพบกับความสุขอย่างแท้จริง”
แง่คิด ใครขโมยความสุขของเราไป คนบางคนประสบความสำเร็จในทุกด้าน แต่เขาก็ยังไม่มีความสุข ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ความสุขทิ้งเราไป หรือเราทิ้งความสุขไป ? เงินทอง ความรัก เชื่อเสียง ตำแหน่งฐานะ ไม่ได้หมายถึงความสุขเสมอไป เราคิดว่า นับเงินจนมือหงิกแสดงว่ามีความสุขมากที่สุด หากเป็นเช่นนั้นจริง มหาเศรษฐีก็ต้องมีความสุขมากที่สุดสินะ และขอทานก็ต้องทุกข์ที่สุด จริงๆแล้วขอทานก็มีความสุขประสาขอทาน เผลอๆ อาจมีความสุขมากกว่าพวกชนชั้นกลางที่ทำงานงกๆ ยุ่งวุ่นวายทั้งวันเสียอีก เพราะพวกเขาไม่มีความคาดหวังที่มากมายก็ได้วันไหนขอทานได้เงินสัก 2000 บาท ก็ดีใจมีความสุข รู้สึกว่ารวยล้นฟ้าแล้ว ความสุขเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง เกิดจากใจ ความคิดแวบหนึ่งก็ทำให้เราขึ้นสวรรค์หรือตกนรกก็ได้.
4 กันยายน 2013
ฐิตา:
นิทานเซน :พื้นผิวของชีวิต
ฟ้าเพิ่งสาง นาย ก.ผู้ถือศีลกินเจถือช่อดอกไม้สดกับผลไม้ถาดหนึ่ง กุลีกุจอมาไหว้พระแต่เช้า เพิ่งย่างเท้าเข้ามาในโบสถ์เท่านั้นก็มีคนคนหนึ่งวิ่งพรวดออกมาชนปะทะกันจังๆ ทำเอาถาดผลไม้พลิกคว่ำ ผลไม้หกเกลื่อนกระจายไปทั่วพื้น นาย ก. โกรธมาก ตวาดว่า “ดูสิ ทะเล่อทะล่าวิ่งมาชนผลไม้ไหว้เจ้าของข้าหกกระจาย ทีนี้จะว่าอย่างไร” ผู้วิ่งมาชนกล่าวอย่างไม่พอใจนักว่า “ก็มันชนเข้าให้แล้วนี่ ข้าก็พูดได้คำเดียวว่า ขอโทษ คนถือศีลกินเจ ทำไม่ต้องดุขนาดนี้ด้วย” นาย ก. โกรธยิ่งกว่าเดิม กล่าวว่า “อะไรกัน ตัวเองทำผิด ยังจะโทษคนอื่นอีก”
พูดจบ ผู้ถือศีลกินเจทั้งสองก็ทะเลาะกันใหญ่ ท่านอาจารย์ก่วงหวี่เดินผ่านมาพอดี จึงสอนว่า “เดินทะเล่อทะล่าเป็นเรื่องไม่สมควร แต่ว่าไม่ยอมรับคำขอโทษของผู้อื่นก็ไม่ถูกเช่นกัน การยอมรับผิดอย่างจริงใจกับการยอมรับคำขอโทษจากผู้อื่นอย่างมีเมตตาจิต เป็นพฤติกรรมของผู้มีปัญญา” การมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ จะต้องรู้จักปรับพื้นผิวชีวิตของตัวเอง อย่างเช่นในทางสังคม เราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างปรองดองได้อย่างไร ในทางเศรษฐกิจ เราจะใช้จ่ายให้รายรับกับรายจ่ายสมดุลกันได้อย่างไร ในทางสุขภาพเราจะฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงได้อย่างไร ในทางจิตวิญญาณเราจะเลือกวิถีชีวิตให้กับตัวเองอย่างไรจึงจะไม่ทำให้รู้สึกเสียชาติเกิด ลองคิดดูนะว่า เป็นเพราะเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง เราก็ทะเลาะกันแต่เช้า เสียอารมณ์ หงุดหงิด จิตใจไม่สงบ เสียศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ มันคุ้มค่าไหม?
วิธีแก้ไข นาย ข. ข้าสำนึกผิด กล่าวจากใจจริง “ข้าผิดไปแล้ว ข้าขาดสติไปหน่อย จึงเดินทะเล่อทะล่าไปชนท่าน ข้าขอโทษ” นาย ก. ใจอ่อนลง พูดอย่างซาบซึ้งใจว่า “ข้าก็ไม่ถูกเหมือนกัน ไม่ควรโมโหโทโส เอ็ดตะโรใส่ท่าน ข้าขอโทษ”
แง่คิด รู้จัก “ขอโทษ” กันบ้าง การไม่ยอมขอโทษมี 2 กรณี แรกเกิดจากเราผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ไม่รู้จริงๆว่าตัวเองทำความเสียหายแก่ผู้อื่นเข้าแล้ว จึงไม่ขอโทษ กรณีที่ 2 เป็นปัญหาเกี่ยวกับศักดิ์ศรีหน้าตา รู้สึกว่าใครถูกใครผิดก็ช่าง แต่ถ้าใครขอโทษก่อน คนนั้นเสียหน้า จะให้พ่อแม่ไปขอโทษลูกนั้นก็ทำไม่ได้ ขอโทษเพื่อนก็เหมือนกันเสียหน้าออกจะตาย
เกิดเป็นคน ย่อมทำถูกทำผิดกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าหากเรามีความกล้าหาญพอที่จะยอมรับผิด ยอมอภัยให้คนอื่น โลกนี้ก็จะเต็มไปด้วยความเมตตาปราณี น่าอยู่น่าอาศัยยิ่งขึ้น เรื่องนี้ยังสอนถึง รูปแบบที่ดีย่อมสร้างความประทับใจเป็นที่ต้อนรับของคนทั่วไป คนที่คิดดี พูดดี ทำดี ย่อมมีภาษีมากกว่าคนที่คิดดี ทำดี แต่พูดไม่ดี
3 กันยายน 2013
ฐิตา:
นิทานเซน :สัตบุรุษกับคนถ่อย
ศิษย์ถามอาจารย์ว่า “สัตบุรุษทำผิดอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ถูกคนตำหนิ ติเตียน แต่คนถ่อยทำผิดคิดชั่วสารพัด ทำไมคนเขาไม่รู้สึกอะไร” อาจารย์ตอบว่า “สัตบุรุษเปรียบประดุจดังหยกชิ้นงาม เนื้อหยกหากมีตำหนิแม้เพียงเส้นเท่าขนแมว คนเขาก็มองเห็น และลงคะแนนว่าเป็นหยกที่มีตำหนิ ส่วนคนถ่อยที่ทำเลวทำชั่วทุกวี่วัน ชั่วจนชินตา ชั่วทุกตารางนิ้ว ชั่วจนหาที่ดีไม่เจอ จึงไม่มีใครนึกอยากจะตำหนิติเตียน”
แง่คิด เป็นคนดี มันยากนะ ทั้งหนักทั้งเหนื่อยทั้งถูกจับจ้องคาดหวัง
“สัตบุรุษ” แปลว่า คนดี คนสงบ คนที่พร้อมมูลด้วยธรรม นิทานเซนเรื่องนี้ บอกว่า “สัตบุรุษ” เป็นกันยาก เรามาดูกันหน่อยว่า สัตบุรุษ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ในทางปฏิบัติคือคนที่ประกอบธรรม 7 ประการ คือ
- เป็นคนที่มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก มีความเพียร มีสติมั่นคง
- ไม่ปรึกษาอะไรที่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
- ไม่คิดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
- ไม่พูดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
- ไม่ทำอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
- มีความเห็นชอบ เป็นสัมมาทิฐิ
- ให้ทานโดยความเคารพ ไม่ให้แบบทิ้งขว้าง
กล่าวกันว่า เป็นคนนั้นยาก เป็นสัตบุรุษก็ยิ่งยาก ธรรมชาติก็ได้โปรแกรมให้เราต้องเป็นสัตบุรุษอยู่แล้ว ยังไงๆ เราก็ไม่เลือกที่จะเป็นคนถ่อย แม้คนถ่อยจะเป็นง่ายกว่าสัตบุรุษหลายพันหลายหมื่นเท่าก็ตาม เมื่อธรรมชาติแห่งจิตพุทธะในตัวคนสำแดงเดชให้มนุษย์ต้องเป็นคนดี ยามเจอเงื่อนไขหนักเหนื่อย จงเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมอย่าได้ท้อแท้ทุกข์ตรมไปเลย เพราะนี่คือธรรมชาติ
ขงจื้อสอนไว้ว่า ความผิดพลาดของสัตบุรุษนั้น เปรียบประดุจดังสุริยุปราคา ใครๆก็มองเห็น แต่หลังจากที่เขาแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นแล้ว ทุกคนก็ยังคงเคารพนับถือเขา
10 กันยายน 2013
ฐิตา:
พระอาจารย์หย่าศึก
วันหนึ่ง ท่านเซียนหยาออกบิณฑบาต พบสามีภรรยาคู่หนึงกำลังทะเลาะกัน ภรรยาเอามือเท้าสะเอว ด่าสามีดังต่อหน้าธารกำนัลว่า “แกเป็นผัวประสาอะไร ไม่ให้ตังค์แต่งตัวฉันไม่ว่า แม้แต่เงินค่าเล่าเรียนลูก ก็ยังไม่ให้อีก แกนี่ไม่เอาไหนจริงๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้าไม่มีอะไรเหมือนผู้ชายเลย” สามีถูกด่าต่อหน้าสาธารณชน ก็รู้สึกเสียหน้ามาก ถึงกับถลกแขนเสื้อ แล้วชี้หน้าด่ากลับไปว่า “นังแพศยา ด่าอีกที พ่อจะตบเสียให้กลิ้งเลย” ภรรยาไม่ลดราวาศอก ด่าตอบว่า “ไม่ต้องท้า ข้าด่าแน่ แกมันไม่ใช่ลูกผู้ชาย”
ท่านเซียนหยาแหวกฝูกชนเข้ามาร้องตะโกนว่า “พี่ป้าน้าอาทั้งหลาย มาดูคนกัดกันเร็วเข้า ปกติดูชนไก่ ชนวัว ต้องเสียตังค์ แต่คนกัดกัน ไม่ต้องซื้อตั๋ว นานทีปีหนถึงจะได้เจอของดีๆแบบนี้ รีบเร่เข้ามาดูเร็วเข้า” สองผัวเมียไม่สนใจ ยังคงทะเลาะกันต่อไป สามีตวาดว่า “แกลองด่าข้าอีกทีสิว่าไม่ใช้ลูกผู้ชาย ข้าจะฆ่าแกเสียทันที” ภรรยาไม่ยี่หระ ด่าว่า “แกมันไม่ใช่ลูกผู้ชาย เอาสิ...ฆ่าเลย...ฆ่าเลย”
ท่านเซียนหยาตะโกนว่า “ฉากบู๊นองเลือดกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว กำลังจะฆ่ากันแล้ว หาดูที่ไหนไม่ได้เทียวนะทุกท่าน รีบเร่มาดูเร็วเข้า” ชาวบ้านที่เดินผ่านมา เห็นท่านเซียนหยาส่งเสียงเชียร์แบบนี้ ก็ทนไม่ได้ ตำหนิท่านว่า “พระสงฆ์ ผัวเมียทะเลาะกัน ท่านไม่ห้าม พวกเราไม่ว่า แต่ยังยุส่งอีก มีประโยชน์อะไร”
ท่านเซียนหยาตอบอย่างสะใจว่า “มีสิ ประโยชน์เยอะแยะ พวกเขาบอกว่าจะฆ่ากันตาย พอมีคนตาย พระก็มีงานทำ ได้เงินทำบุญ อาตมาก็มีเงินใช้ ไม่ดีได้อย่างไร”
ชาวบ้านได้ยินเช่นนั้นก็สิ้นศรัทธา ด่าพระเสียงดังลั่นว่า “เพื่อเงินเล็กๆน้อยๆ พระเจ้าถึงกับลุ้นให้คนเขาฆ่ากันตายเชียวหรือ” เสียงเอะอะโวยวายของชาวบ้านที่ทุ่มถียงกับพระสงฆ์ ทำให้สามี ภรรยาที่กำลังทะเลาะกันต้องหันกลับไปดูพระโดยมิได้นัดหมาย เลิกทะเลาะกันชั่วคราว พอท่านเซียนหยาเห็นว่าเบี่ยงเบนความสนใจได้แล้ว จึงพูดยิ้มๆ ว่า “ไม่อยากเห็นคนฆ่ากันตาย ฟังอาตมาเทศน์สักหน่อย” ผัวเมียกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความอบอุ่นแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ทำความคิดของอีกฝ่ายให้สุกงอม คนที่จะครองคู่เป็นผัวเมียกันนั้น มันต้องเคยทำบุญร่วมกันมาก่อน ผัวเมียจะต้องเคารพซึ่งกันและกัน สองสามีภรรยาจึงรู้ตัวว่าตัวเองปล่อยให้โมหะจริตเข้าครอบงำจนเสียผู้เสียคนไปแล้ว จึงขอขมาซึ่งกันและกัน
แง่คิด ใช้วิธีไม่ปกติในเวลาที่ไม่ปกติ ชาวจีนบอกว่า ปัญญาเกิดเมื่อเจอเหตุคับขัน ดังนั้นคนที่เจอปัญหาบ่อยๆ ต้องแก้ปัญหาด่วนๆ อยู่เสมอ จึงมักจะมีปณิธานไหวพริบเฉียบไว มีปัญญาอันหลากหลาย ผิดจากคนที่ไม่เคยเจอปัญหามาก่อน คนประเภทนี้ ถ้าเจอปัญหามักจะลนลานทำอะไรไม่ถูก กลายเป็นคนเงอะงะเบาปัญญาในบัดดล
3 กันยายน 2013
ฐิตา:
Time to Die
Ikkyu, the Zen master, was very clever even as a boy. His teacher had a precious teacup, a rare antique. Ikkyu happened to break this cup and was greatly perplexed. Hearing the footsteps of his teacher, he held the pieces of the cup behind him. When the master appeared, Ikkyu asked: "Why do people have to die?"
"This is natural," explained the older man. "Everything has to die and has just so long to live."
Ikkyu, producing the shattered cup, added: "It was time for your cup to die."
19 สิงหาคม 2013
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version