ผู้เขียน หัวข้อ: สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมของคนดีที่ควรรู้) ตอนที่ ๑  (อ่าน 1558 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                     
 
สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมของคนดีที่ควรรู้)
ตอนที่ ๑

         พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนเราต้อง "รู้" 7 อย่าง เพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต นั่นคือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล และรู้ชุมชน ซึ่งรวมเรียกว่า "สัปปุริสธรรม" คือ ธรรมะของคนดีหรือธรรมะของคนที่มีปัญญา 7 ประการ ที่หากผู้ใดประพฤติได้อย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมเชื่อว่าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น "สัตบุรุษ" หรือ "คนดีแท้" หรือ "มนุษย์โดยสมบูรณ์" ประกอบด้วย :-

         1. รู้เหตุ : ธัมมัญญู หรือ รู้ธรรมะ ก็คือ รู้เหตุ รู้หลักการ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้มันมีเหตุ มีหลักการ มีที่มา เช่น เรามีความสุขเพราะอะไร เราต้องรู้ สุขเพราะอะไร ทุกข์เพราะอะไร นี่คือ รู้ธรรม
แต่คนทุกวันนี้ รู้ไม่จริง รู้ไม่ถูก และที่สำคัญ คือ รู้แล้วไม่ทำด้วย ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่า คนเรานี่ถ้าให้พูดธรรมะ พูดได้หมด พูดดี พูดถูก สิ่งที่พูดเป็นธรรมะ แต่สิ่งที่ลงมือทำ กลับไม่เป็นธรรมะเลย

           ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เราทุกคนรักสุขแต่เกลียดทุกข์ ซึ่งหากเกลียดทุกข์ก็ย่อมต้องเกลียดกิเลส ต้องพากันละกิเลส ละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง แต่มีใครบ้างที่ละความโลภ ความตระหนี่ ความโกรธ ความหลงผิด ละความง่วงเหงาหาวนอน ละความมึนเมา ไม่มีเลย..... ตรงกันข้ามกลับยังสะสมกิเลสต่อไป แล้วถามว่า เราจะพ้นจากความทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่ละสาเหตุ อย่างนี้เรียกว่า เกลียดแต่ปาก แต่การกระทำหรือหัวใจเรายังไม่เกลียดจริง เพราะยังไม่พยายามละทิ้ง หรือ ถอยห่าง

           พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข" แต่พอมีคนมาชวนเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ไปไหม คำตอบคือ  ไม่ไป เพราะมีเรื่องอื่นที่สนุกสนานมากกว่า

           ถามต่อว่า เมื่อเราไปเที่ยวเล่นนั้น เหนื่อยไหม สิ้นเปลืองไหม เสี่ยงภัยไหม เสี่ยงอุบัติเหตุไหม หลายคนรู้คำตอบดี แต่ให้หยุดอยู่กับบ้าน อ่านหนังสือ นั่งภาวนา ดูแลลูกหลาน ซ่อมแซมบ้านเรือน เอาไหม คำตอบ คือ ไม่เอา !
           จะเห็นได้ว่า อะไรที่ทำให้เกิดสุข พ้นทุกข์ เช่น การปฏิบัติธรรม เรามักจะขอผลัดไปก่อน ยังไม่แก่ ยังไม่เจ็บ ยังไม่ใกล้ตาย ก็ยังไม่ทำหรอก แต่ถ้าจะรอให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตาย แล้วค่อยปฏิบัติธรรม บอกได้เลยว่า ไม่ทันหรอก !

           หากอยากมีความสุข ต้องรู้ธรรมหรือธรรมชาติว่า ของทุกอย่างเกิดขึ้นมานั้น ย่อมมีเหตุมีผล มีที่มา เช่น คนเราจะรวยก็ต้องมีเหตุ จะจนก็ต้องมีเหตุ ถ้าเป็นมหาเศรษฐีขนาดไหน แต่หากติดการพนันงอมแงม รับรองได้ว่าไม่นานก็จนได้ จนทั้งทรัพย์ จนทั้งปัญญา ตรงกันข้ามหากเราขยันหมั่นเพียร คบเพื่อนดี รู้จักเรียนรู้เพิ่มพูน จนแป็บเดียวก็สามารถตั้งหลักได้ ร่ำรวยได้ในวันข้างหน้า

           หากทำไม่สม่ำเสมอ เช่น ขยันบ้าง ขี้เกียจบ้าง ก็รวยไม่ทน จนไม่นาน คำว่า รวยไม่ทน ก็คือ รวยไม่เท่าไหร่ก็ตกต่ำ ขาดทุนหมดตัวเหมือนเดิม แต่ถ้าขาดทุนแล้ว สู้ต่อ ไม่ท้อแท้ ไม่ฆ่าตัวตาย เดี๋ยวก็รวยใหม่ได้ เรียกว่า จนไม่นาน นี่คือ หลักธรรมะ ถ้าเรารู้หลักธรรมะนี้ และพยายามประกอบเหตุและปัจจัยได้ดี ก็มีความสุข ได้ไม่ยาก
           ทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย นี้เป็นหลักธรรมะที่เราควรที่จะต้องรู้

           ความแก่ ทำให้เราเห็นอนิจจัง ว่าคนเราเกิดมาแล้วไม่เที่ยง
           ความเจ็บ ทำให้เราเห็นทุกขัง เพราะคงไม่มีใครที่เจ็บแล้วสนุก เมื่อเจ็บแล้วก็ต้องทุกข์ทุกคน
           ความตาย ทำให้เราเห็นอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน

           จะเห็นได้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นแฝงอยู่ในชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิดมาแล้ว เมื่อใดที่เรามองเห็น นั่นคือ เราเห็นธรรมะ หรือการยอมรับว่า ชีวิตของเรานั้นเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ และมีตาย พอตายแล้วก็ไม่ได้ตายเปล่า.....
           ถ้าตายด้วยจิตใจที่หลงผิด เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ไปเกิดใหม่ ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายต่อไป วนเวียนเป็นวัฏสงสาร
           เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว แสดงว่า เรารู้ธรรมะ รู้หลักการ รู้ว่าทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็ไม่จำเป็นต้องไปบนบานศาลกล่าว หรือนอนรอคอยโชคชะตาไปวัน ๆ

         2. รู้ผล : อัตถัญญู คือ รู้ที่ไป หรือ รู้ผล เมื่อรู้ที่มาหรือเหตุแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ที่ไปหรือผล กล่าวคือ เราทำสิ่งใดย่อมต้องรู้จุดมุ่งหมาย เช่น นั่งฟังธรรมกันเพื่ออะไร หวังเลขสามตัวท้ายหรือเปล่า หรือเพื่อให้เกิดปัญญา ความรู้ และกำลังใจเพื่อนำไปปฏิบัติต่อ เป็นต้น

           แต่คำถามใหญ่ที่สุดของข้อนี้ก็คือว่า คนเราเกิดมาทำไม ถ้าเราทุกคนรู้ว่าเกิดมาทำไมนั้น จะไม่มีใครที่ทุกข์เลย แต่คนส่วนใหญ่นั้นไม่รู้ พอเกิดมาจึงหาความสุขใส่ตัวกันเลย พอความสุขหายไป หรือผิดหวัง พ่ายแพ้ ก็เป็นทุกข์ คิดท้อไปว่า "เรามันเกิดมาอาภัพ" หรือ "เราเกิดมาใช้หนี้กรรม" คิดได้เท่านี้ ก็ย่ำอยู่กับที่

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า "คนเราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่" ดังจะเห็นในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ได้กล่าวถึงการทำหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนยิ่ง ความว่า
           "ทุกบุคคล จะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์ หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น"

           หรือพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นย้ำถึงหน้าที่ของบุคคล แม้แต่เด็กก็มีหน้าที่ ไว้ว่า
           "คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก"

           คนเราไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็มีหน้าที่ แทนที่จะเพียรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เกิดมาแล้ว ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง อยากเป็นอย่างนั้น อยากมีอย่างนี้ ไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเอง ทำให้เกิดผิดพลาด เสียหาย ไม่ประสบความสำเร็จ

           ต่างจากคนที่รู้ที่ไปว่า เกิดมาทำไม ก็จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด เกิดผลประโยชน์งอกเงยขึ้นมา ไปสู่ที่ดี ไปในทางสูงที่สุด คำว่า สูงที่สุด ก็คือ ใจสูงสุด ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร หากเป็นคนที่มีใจสูง ก็ย่อมให้อภัยคน ไม่ถือสา ไม่อาฆาตพยาบาทใคร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนอื่น เมื่อตายไปแล้ว แน่นอนว่าย่อมไปเกิดดี เพราะคนเรานั้นเกิดมาเพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นไปตามลำดับของแต่ละภพ แต่ละชาติ

อมรา เส้นทางสู่ธรรม
Shared publicly  -  Yesterday 1:15 PM
มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                   

*สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมของคนดีที่ควรรู้)*
ตอนที่ 2

         3. รู้ตน : อัตตัญญู คือ การรู้จักตนเอง ถือเป็นข้อ "รู้" ที่ยากที่สุด
เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และมักเข้าข้างตัวเอง ทำให้คนส่วนใหญ่จึงมองตัวเองไม่ออก บางครั้งต้องอาศัยคนใกล้ชิดเป็นกระจกช่วยสะท้อนตัวเรา ฉะนั้นคำเตือนของเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่อง หรือมีข้อดี หรือมีข้อด้อยอย่างไร จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขได้

           ฉะนั้น คนที่อยากรู้ตน จำเป็นที่จะต้องรู้จักสังเกตตัวเอง โดยใช้วิธี "ปิดตานอก เปิดตาใน" ดังคำกลอนที่ว่า :-
                          *โลกภายนอก  กว้างไกล  ใคร ๆ รู้
                           โลกภายใน  ลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม
                         จะมองโลก  ภายนอก  มองออกไป
                            จะมองโลก  ภายใน  ให้มองตน*

           ฉะนั้น อย่ามัวคิดเอาเองว่า ตัวเองเก่ง ! ตัวเองแน่ ! ตัวเองดี !
โดยยังไม่ได้เจอปัญหาและอุปสรรคอะไรเลย ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ นั้นจะทำให้เราเรียนรู้และมองเห็นตัวเองได้อย่างขัดเจนว่า เรามีความสามารถแค่ไหน และอดทนได้มากเพียงไร

           เมื่อรู้ตนแล้ว เราก็จะเห็นว่าชีวิตของเรานั้นยังไม่สงบ ยังมีเรื่องวุ่นวายติดยึด ขัดเคืองอะไรบ้างที่ต้องจัดการ ขณะเดียวกัน ในแง่ความสัมพันธ์กับคนอื่น เราก็จะรู้ "ฐานะ" และ "หน้าที่" ของตัวเอง วางตัวเองได้อย่างเหมาะสม อย่างนี้เรียกว่า "รู้ตน" หรือรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เมื่อรู้แล้ว จะสามารถพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น

           แต่ถ้าหากเราหลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่า ฉันเป็นคนดี ทุกคนต้องชื่นชมฉัน เมื่อเจอปัญหาในโลกของความเป็นจริง เช่น มีคนด่าว่า ไม่เข้าใจ ไม่ชื่นชม ก็จะเกิดความทุกข์หนัก บางคนก็ไปโทษโชคชะตา ว่า
"เรานี่เป็นคนที่อาภัพ ทำคุณกับคนไม่ขึ้น" คิดไปต่าง ๆ นานา กลายเป็นความทุกข์ซ้ำกรรมซัด

           ต่างจากคนที่ชอบความท้าทาย เรื่องง่าย ๆ ก็ปล่อยให้คนอื่นเขาทำไป แต่ถ้าเรื่องไหนยาก เรื่องไหนลำบาก ขอให้บอกเลย ชอบมาก เพราะคิดว่ามันท้าทายสติปัญญา เรียกว่า "เห็นทุกข์...สนุกดี"
อย่างนี้เราก็ไม่กลัวความทุกข์ ไม่กลัวปัญหาอีกต่อไป

           ความทุกข์และปัญหาเหล่านั้นก็ยังช่วยลับสมอง ทำให้เรามีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรับภาระหนัก และทนความเครียดได้ ขณะเดียวกันเราก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้น เช่น เมื่อผ่านปัญหาหนัก ๆ เราก็รู้ว่าอะไรที่เหมาะกับตัวเรา ความเครียดขนาดไหนที่เรายังทนได้ หรือความเครียดขนาดไหนที่จะทำให้เราทุกข์หรือเจ็บป่วยได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่น เมื่อเราต้องเลือกสถานที่ทำงาน เราก็จะรู้ว่าที่ไหนที่เราพอจะทำประโยชน์ได้และไม่ทุกข์มาก
           สิ่งเหล่านี้ คือ อานิสสงฆ์จากการ "รู้ตน" คือ เรารู้จักตัวเอง

         4. รู้ประมาณ : มัตตัญญู คือ รู้จักประมาณ รู้จักความพอดี พอเพียง พอเหมาะ คำว่า "พอ" นี้สำคัญมาก ดังคำกลอนที่ว่า :-
                                 *รู้จักพอ  ก่อสุข ทุกสถาน
                                   รู้จักกาล  เวลา  พาสดใส
                                   รู้จักตน  พ้นทุกข์  มีสุขใจ
                                   รู้จักใคร  ไม่สู้  เท่ารู้ตัว*


           ประโยคที่ว่า "รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน" คำว่า "พอ" หมายถึง
"หยุด" และเมื่อเรารู้จักหยุด มันก็หมดปัญหา แต่ส่วนใหญ่นั้น ยังโลภไม่หยุด หลงไม่หยุด โกรธไม่หยุด ทำให้ยังไม่หมดปัญหาเสียที ฉะนั้น ถ้าเราอยากหมดปัญหา เราก็แค่รู้จักพอ ไม่ว่าจะเป็นพอที พอเถอะ พอแล้ว พอใช้ได้ พอสมควร พอเพียง พอใจ พอดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ไม่เกิดปัญหา

           ถามว่า "ความพอคืออะไร ?"
           ความพอ ก็ตือ "ทางสายกลาง" อะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็ก่อปัญหาได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ จากการกินอาหารทุกวันของคนเรา ถ้ากินน้อยเกินไป ก็กลายเป็นคนขาดอาหาร แต่ถ้ากินมากเกินไป ก็เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา
           หากเรายังไม่รู้พอ รู้ประมาณ ก็ย่อมเจอปัญหาเรื่อยไป...


         5. รู้กาล : กาลัญญู คือ รู้จักกาล หรือรู้จักเวลานั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์" ถ้าคนเข้าใจเรื่องกาลอย่างถ่องแท้ เขาจะเข้าใจ "อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท" แล้วจะพ้นจากกิเลสทั้งหลายได้

           กล่าวคือ เมื่อกาลเวลาผ่านไปแล้วย่อมบดขยี้ ล้างผลาญทุกอย่างให้วอดวาย พินาศ หายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ บ้านเมือง หรือ ราชวังที่แข็งแรงปานใด หรือแม้แต่ดวงอาทิตย์ ย่อมก็ต้องดับ เพราะทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดแล้ว ย่อมมีดับ เมื่อกาลเวลาผ่านไป

           นอกจากกาลเวลาจะทำให้วัตถุใด ๆ เสื่อมสลายหายไปแล้ว กาลเวลายังสัมพันธ์กับ "กิเลส" ของคนเรา เช่น เมื่อใดที่คนเราเกิดกิเลส กาลเวลาจะทรมานเราให้เป็นทุกข์ แต่เมื่อใดที่เรามีธรรมะ มีสติ กาลเวลาก็จะผ่านไปตามปกติ ไม่ทุกข์ แต่กลับพลิดเพลิน สนุกสนาน มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน และไม่มีตัวตน
          * เมื่อตัวตนของเราไม่มี กาลเวลาก็ทำอะไรเราไม่ได้ *

           แต่นั่นหมายความว่า เราต้องทำให้ถูกเวลา ทันเวลา และบางครั้งก็ต้องทำก่อนเวลา จะได้ไม่เกิดอาการกระหืดกระหอบ รีบร้อน ร้อนรน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราลืม "สติ" ไม่ว่าจะตกบันได ลืมปิดแก๊ส ลืมกุญแจไว้ในรถ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการลืมสติ หรือที่เราเรียกกันว่า "ขาดสติ" นั่นเอง

           สิ่งสำคัญ คือ เราต้อง "รู้จักกาลวลาก่อนหลัง" เช่น ตอนเด็กอยู่ในวัยเรียน ก็ต้องทำหน้าที่เรียนหนังสือไป พอโตเป็นวัยทำงาน ก็ควรตั้งใจทำงาน หรือเมื่อวัยร่วงโรยมาถึง ก็ควรจะต้องดูแลถนอมสุขภาพตัวเอง ไม่ใช่วัยเรียนก็ริรัก หรือวัยร่วงโรยกลับมุทำงานหนัก

อย่างนี้ก็คงจะไม่ไหว นี่เรียกว่าไม่เป็น "กาลัญญู" หรือเป็นผู้ไม่รู้กาลนั่นเอง เมื่อถึงคราวที่ควรทำกลับไม่ทำ ที่ไม่ควรทำกลับทำ ย่อมคลาดจากประโยชน์ที่ควรจะได้ ควรถึง ซ้ำร้ายภัยอันตรายก็ได้ช่องที่จะเกิด...

         6. รู้ชุมชน : ปริสัญญู คือ รู้จักสังคม หรือรู้จักชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรม
กฎ กติกา และมารยาททางสังคม ฯลฯ หากเรารู้สิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็จะอยู่ได้ในทุกสังคม ไม่ทำอะไรที่ขัดเคือง เช่น วัฒนธรรมไทย ยกย่องผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไปลามาไหว้ ทักทายด้วยคำที่สุภาพ หากเราไม่รู้ เกิดพูดจาหยาบคาย เดินไปขากเสลดไป ถ่มน้ำลายไป ถอดเสื้อเดินตามใจชอบ ฯลฯ ถามว่า สังคมหรือชุมชนนั้นจะต้อนรับคุณไหม ?

           ตอบว่า "ไม่ต้อนรับแน่นอน" เพราะฉะนั้นเราควรที่จะต้องรู้จักกาลเทศะ ซึ่ง "กาล" ก็คือ "เวลา" ส่วน "เทศะ" ก็คือ "สถานที่" เราต้องรู้ว่าเวลาใด และสถานที่ใด ควรที่จะต้องทำตัวอย่างไร

         7. รู้บุคคล : ปุคคสัญญู คือ รู้จักบุคคล เนื่องมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรานั้นมีความแตกต่างกัน ร้อยคนก็ร้อยอย่าง ถ้าเรารู้จักนิสัยคน รู้ข้อดี รู้ข้อด้อยของเขา เราก็จะสามารถควบคุมดูแล สื่อสาร ใช้งาน และอยู่ร่วมกับเขาได้อย่างไม่เกิดความขัดแย้งไม่มีปัญหา แม้ว่าจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันก็ตาม

           แต่คนเราทุกวันนี้ มักจะไม่พยายามทำความรู้จักกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พ่อแม่ทุกวันนี้ มักจะบังคับลูกให้ทำนั่น ให้ทำนี่ โดยให้เหตุผลว่า "ฉันเกิดมาก่อนแก" จึงเชื่อว่าตัวเองนั้นตัดสินใจแทนลูกได้ดีกว่า
           ลืมไปว่าเด็ก ๆ เขาก็มีหัวใจ ซึ่งควรจะให้โอกาสแก่เขาได้ "เลือก" หรือ "ตัดสินใจ" ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เพียงให้คำแนะนำ สอนสิ่งที่เขาควรจะรู้ และส่งเสริมให้ลูกทุกคนงอกงามตามแบบของเขา น่าจะดีกว่า
           สังคมที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะพวกที่ถือวิสาสะตัดสินแทนคนอื่นอยู่มากมาย คือ ฉันว่าสิ่งนี้ดี คนอื่นก็ต้องว่าสิ่งนี้ดีด้วย ถ้าใครที่คิดต่าง นั่นคือ ศัตรู ทันที เกิดเป็นความแตกแยกในสังคม แบ่งพรรค แบ่งสี

           พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า "ทุกอย่างต้องมีความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างนั้น ทำให้เกิดความหลากหลาย แต่ความแตกแยกนั้น ทำให้แหลกสลาย" ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า หลายครอบครัวที่ไม่เคารพในความแตกต่าง พยายามให้ลูกเดินตามทางที่ตัวเองขีดไว้ เช่น พ่อเป็นทหาร ก็บังคับให้ลูกเป็นทหาร สุดท้ายก็อยู่กันไม่ได้ ลูกต้องหนีออกจากบ้าน ทิ้งครอบครัว เพื่อไปอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก ตัวเองถนัด
           แม้แต่คู่ครอง เมื่อเรารักก็ดูเหมือนจะเข้ากันได้หมด แต่เมื่อแต่งงานไปแล้ว อะไร ๆ ก็ดูจะแตกต่าง ขัดแย้งกันตลอดเวลา เหตุผลเดียวก็คือ เราไม่รู้บุคคล ไม่รู้ข้อดี และไม่ยอมรับข้อด้อยด้วย ที่สำคัญคือ ไม่เคารพในความแตกต่างของอีกฝ่าย

           พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า หากคนเรามีคุณอันวิเศษ 3 ประการ หรือที่เรียกว่า "พุทธคุณ 3" อันได้แก่ :-
           หนึ่ง : "มีปัญญา" รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร และปล่อยให้ปัญญานั้นชำระกิเลส ความเห็นผิด ความหลงผิดของเรา จนเกิดเป็น "บริสุทธิคุณ" เป็นอย่างที่สอง และสาม คือ "กรุณาธิคุณ" คือ รู้แล้วกรุณา
รู้แล้วรัก รู้แล้วเกื้อกูล ให้อภัย รู้แล้วช่วยเหลือเขา ยิ่งรู้มาก ยิ่งช่วยเขามาก ยิ่งมีความสุข อย่างนี้เรียกว่า "รู้แล้ว...ไม่ทุกข์"

           แต่ถ้าเรารู้แล้ว ไม่รัก ยิ่งรู้ ยิ่งเจ็บแค้น ยิ่งรู้ ยิ่งซ้ำเติมเขา ยิ่งรู้ ยิ่งเอาเขาไปเปรียบกับคนอื่นให้เจ็บช้ำ อย่างนี้เรียกว่า "รู้แล้ว...ทุกข์"
เพราะรู้แบบไม่มีสติ รู้แบบไม่มีปัญญากำกับ จึงทำให้เกิดทุกข์...

ข้อมูลจาก +sakchai kongmaneepran
>>> G+ อมรา เส้นทางสู่ธรรม