ผู้เขียน หัวข้อ: สาธูการีธรรมากร ( ตอนที่ 77)อริยสัจจกถา  (อ่าน 1976 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

สาธูการีธรรมากร ( ตอนที่ 77)
อริยสัจจกถา

คำเทศนาของ พระโพธิวงศาจารย์ กับ พระเทพโมลีแสดง อริยสัจจกถา
ณ ศาลาวัดบรมนิวาส
วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๖

นโม ตสส ภควโต อรหโต สมมาสมพุทธสส
 พระโพธิวงศาจารย์ให้ไตรสรณคมน์และศีล ๘ พระเทพโมลีบอกศักราช
 ศุภมัศตุพระพุทธศาสนากาล จำเดิมแต่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้ล่วงแล้วได้ ๒๔๖๖ พรรษา ปัจจุบันสมัย มกรามาส สุรทินที่ ๖ อาทิตยวาร พระพุทธศาสนายุกาลแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีนัยอันพึงกำหนดนับ ด้วยประการฉะนี้

พระโพธิวงศาจารย์ เริ่มอารัมภกถา 
นโม ตสส ภควโต อรหโต สมมาสมพุทธสส ฯ
   กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ กิจฉํ มจจาน ชีวิตํ
   กิจฉํ สทธมมสวนํ กิจโฉ พุทธานมุปปาโท ติ.


บัดนี้จะเริ่มอารัมภกถา อันจักแสดงพระธรรมเทศนา โดยปุจฉาแลวิสัชชนาซึ่งกันแลกันต่อไป  เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในการฟังธรรมแก่พุทธบริษัทที่ได้มาประชุมพรักพร้อมกันในธรรมสวนณฑลนี้ ด้วยเจ้าภาพมาปรารภถึงพุทธโอวาทว่าเปน   สาระเปนประโยชน์   เปนอุบายที่จะนำตนให้พ้นจากกองทุกข์ได้   มีประสงค์จะทรงจำพุทธโอวาทนั้นไว้ด้วยตน แลมีประสงค์จะบันทึกพุทธโอวาทนั้นไว้สำหรับลงพิมพ์แจกจ่ายให้สำเร็จเปนสารประโยชน์ต่อไป เห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลอย่างนี้จึงได้นิมนต์เจ้าคุณเทพโมลี วัดประยูรวงศาวาสมาแสดง   เพื่อจะได้โต้ตอบกับอาตมาภาพเพราะเขาล่ำลือว่านักเทศน์คู่นี้ดีนัก แต่ความจริงไม่ดีอะไรนัก ดีแก่ท่านที่ฟังเข้าใจเท่านั้น

 เมื่อฟังไม่เข้าใจแล้วถึงจักวิเศษวิโสสักเท่าใดก็ไม่ดีหมดทั้งนั้น ส่วนอาตมาภาพนี้เมื่อได้รับเชื่อเชิญ ก็มีความยินดีคิดว่าจะตั้งอกตั้งใจแสดงตามความประสงค์ของเจ้าภาพ   ด้วยเจ้าภาพอาราธนาให้แสดงอริยสัจจ ๔ ด้วยเห็นว่าพระอริยสัจจเปนสามุกกํสิกถาธรรมเทศนา เปนธรรมอันพระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วทรงแสดงด้วยพระองค์เองพระเบญจวัคคีย์เปนผู้ฟังครั้งแรก ต่อแต่นั้นพระสาวกทั้งหลายจึงได้ฟังตามๆ  กันมาจนบัดนี้ แต่พระอริยสัจจธรรมนี้เปนธรรมที่ลึกลับยากนักยากหนาที่จะถือเอาเนื้อความให้แจ่มแจ้งได้ ความจิรงพระอริยสัจจนั้นย่อมเปนธรรมแพร่หลายในพระพุทธศาสนาแต่ต่างคนต่างจำตามตำราว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่การถือเอาเนื้อความนั้นไม่ตรงกัน เห็นไปคนละอย่างสองอย่างจึงเปนเหตุให้ขัดข้องอยู่เปนธรรมดา    เพราะพระธรรมนั้นเปนของกลางใครเห็นอย่างไรก็ถูกของผู้นั้น ส่วนผู้เทศน์ก็เทศน์ตามความเข้าใจ ส่วนผู้ฟังก็ฟังตามผู้เทศน์

แต่อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่า ธรรมเปนของลี้ลับยากที่จะฟังได้ความแลเข้าใจ เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสแก่พระยาเอรกปัตตนาคราชด้วยของหายาก ๔ ประการ ว่า กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ กิจฉํ มจจาน ชีวิตํ กิจฉํ สทธมมสวนํ กิจโฉ พุทธานมุปปาโท ดังนี้ แปลว่า การที่จักได้อัตตภาพเปนมนุษย์เปนของได้ด้วยยาก ๑ เกิดมาเปนมนุษย์แล้วแลจะมีอายุยืนก็เปนของได้ด้วยยาก ๑ แลจะได้ฟังธรรมของนักปราชญ์ก็เปนของได้ด้วยยาก ๑ พุทธบุคคลทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นในโลกก็เปนของได้ด้วยยาก ๑ บัดนี้องค์หายากทั้ง ๔ อย่าง เราได้ประสบแล้ว นับว่าเปนบุญลาภสำเร็จด้วยบุญญาภินิหารทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นการที่จะครองชีวิตนี้ยังต้องได้รับทุกข์โทษมาตามลำดับฝ่าอันตรายต่างๆ มาไม่น้อย ความจริงการที่เราจะเกิดมาเปนมนุษย์นี้ต้องอาศัยมนุษยธรรม คือกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ พรักพร้อมบริบูรณ์ จึงจะเกิดมาเปนมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่ากุศลกรรมบถองค์ใดองค์หนึ่งวิการ อาการของอัตตภาพร่างกายก็วิการ อาการของใจก็วิการ มีคนใบ้ บ้า บอด หนวก เสียจริตเปนพยาน ส่วนตัวของเรายังพรักพร้อมด้วยรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ ทรัพย์สมบัติก็ต้องนับว่าเปนลาภอันสำคัญทีเดียวแลให้เข้าใจว่าการที่ตนเราพรักพร้อมด้วยคุณสมบัตินี้

 สำเร็จด้วยบุพเพกตปุญญตามาแต่ชาติปางก่อนด้วย ทั้งอัตตสัมมาปณิธิในปัจจุบันด้วย เมื่อเช่นนั้นต้องเข้าใจว่าบุญของเราที่มีมาแล้วเท่ากับว่าเรามีทุนมาค้าขาย ๑๐ ชั่ง คือกุศลกรรมบถหนึ่งๆ ให้ถือว่าเท่ากับทุนชั่งหนึ่งๆ การที่เราเกิดมาเปนมนุษย์ก็เท่ากับมาค้าขายหากำไรคือบุญกุศลนั่นเอง ได้แก่ ทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้าง สุดแท้แต่ว่าส่วนใดเปนบุญกุศลก็กระทำร่ำไป อันนี้เปนกำไรบ้าง สุดแท้แต่ว่าส่วนใดเปนบุญกุศลก็กระทำร่ำไป อันนี้เปนกำไรถ้าหากว่ารักษาทุน ๑๐ ชั่ง คือกุศลกรรมบถให้พรักพร้อมทั้งกำไรคือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เจริญงอกงามขึ้นๆ ท่านว่าเปนผู้มีบุญกุศลอันตนให้เจริญแล้ว ถ้าว่ารักษาทุนเดิมไม่ได้ทั้งกำไรก็ไม่มีชื่อว่าสิ้นทุนสูญกำไร จะเอาบุญกุศลที่ไหนมาเล่า ที่ได้อัตตภาพเปนมนุษย์นี้ก็เพราะบุญกุศลที่อบรมมาทั้งนั้น 

และอย่าเข้าใจว่าอัตตภาพที่เปนมนุษย์นี้เปนที่อยู่ของตนจริงจัง    ให้เข้าใจว่าเปนสถานที่ตนมาอาศัยชั่วคราวแล้วก็จักกลับบ้านเก่าของตน เท่ากับนักเรียนที่ไปเล่าเรียนในต่างประเทศเขาก็มิได้เข้าใจว่าต่างประเทศเปนบ้านเกิดเมืองบิดรของเขา เมื่อเรียนวิชาสำเร็จก็มุ่งแต่จะกลับคืนบ้านเมืองของเขาเท่านั้น มนุษย์เราก็ต้องกลับไปบ้านเก่าของตนเท่านั้น ก็บ้านเก่าอยู่ที่ไหนเล่า บ้านเก่าของเราอยู่ที่ฟากเกิดฟากตายทางโน้น ในอัตตภาพมนุษย์นี้เราอยู่ไม่ได้เปนแน่นอน อย่างดีก็เพียง ๗๐ ปี ๘๐ ปี เขาก็ไล่กลับไปเท่านั้น ถึงผู้เทศน์นี้เขาก็ไม่ให้อยู่เหมือนกัน เมื่อเข้าใจตามที่พรรณนามานี้ ในระหว่างที่ยังไม่ถูกไล่กลับควรต้องหากำไรอย่างเต็มที่ ถ้าหากว่าเราขาดทุนยากจนกลับไปจะมิอายเขาหรือ ใครจะมารับรองเราถ้าเรามีกำไรร่ำรวยกลับไปคงมีพวกญาติมาต้อนรับอย่างครึกครื้นไม่ต้องสงสัย การที่นำชีวิตมาได้ถึงวัยนี้ขัยนี้ก็ไม่ใช่ของง่ายผ่านพ้นอุปสรรคมาเท่าไร โรคภายในแลอันตรายภายนอกมากระทบหลายๆ ครั้ง เมื่อผ่านพ้นอันตรายมาได้ก็ควรต้องทำชีวิตให้เปนไปกับด้วยประโยชน์เปนการสมควรแท้

ข้อที่ว่าฟังธรรมเปนของได้ด้วยยาก ถ้าเฉพาะแต่การฟังก็ไม่สู้ยากอะไรนักเพราะว่าวัดในกรุงเทพฯ มีมาก แวะเข้าวัดไหนก็ฟังได้ มีเทศน์กันทุกวัดทุกวาไปที่ว่าฟังได้ด้วยยากนั้นเพราะขาดศรัทธา ไม่เชื่อไม่เลื่อมใสไปฟังไม่ได้ บางทีมีศรัทธาไปแต่ฟังไม่เข้าใจ บางทีก็เข้าใจแต่ปฏิบัติตามไม่ได้ ข้อนี้เปนจริงอย่างนั้น เพราะพุทธโอวาทเปนของลึกซึ้งหนักหนายากที่จะรู้ตามเห็นตามได้ ด้วยพวกเราเปนคนชั้นต่ำด้วยปัญญา ต้องอาศัยมนสิการมากๆ จึงจะเข้าใจได้ ทั้งกาลสมัยก็เปลี่ยนแปลง โดยกาลที่ล่วงมานานภาษาย่อมเปลี่ยนแปลงเปนธรรมดา การฟังจึงเปนของได้ด้วยยาก

ข้อที่ว่าความบังเกิดขึ้น       แห่งพุทธบุคคลทั้งหลายเปนของได้ด้วยยากนั้นเพราะพุทธบุคคลมีขึ้นได้เปนครั้งเปนคราวไม่มีอยู่เสมอ การที่พวกเราเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนาก็เท่ากับว่าได้พบพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เพราะพระพุทธเจ้าเปนผู้สั่งสอนทางดี ทางชอบ ทางสวรรค์ ทางนิพพาน ผู้ใดทำตามก็ได้สำเร็จ ผู้ไม่ทำตามก็ไม่สำเร็จ ถึงพระองค์ท่านนิพพานแล้วโอวาทเหล่านั้นก็ยังมีผู้นำมาแสดงได้เต็มที่ ผู้ใดมีความเชื่อทำตามก็ได้สำเร็จตามความประสงค์ ผู้ไม่ทำตามก็ไม่สำเร็จเท่านั้น อีกนัยหนึ่งข้อที่ว่าความบังเกิดขึ้นในโลกแห่งพุทธบุคคลทั้งหลายเปนของได้ด้วยยาก ควรถือเอาเนื้อความดังนี้ คำว่าโลกนั้นหมายถึง สัตว์โลก อีกมนุษย์เรานี้คนหนึ่งก็ชื่อว่าโลกอันหนึ่งๆ พุทธคือพุทธคุณมาเกิดขึ้นในโลก คืออัตตภาพของคนหนึ่งๆ นี่แหละเปนของได้ด้วยยาก ถ้าพุทธเกิดขึ้นได้แก่ผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมได้สรณะอย่างสูงสุด การฟังธรรมก็เพื่อจะเข้าใจในทางสรณะที่พึ่งของตนเท่านั้น

บัดนี้จักเริ่มปุจฉาวิสัชชนาในพระอริยมรรคทั้ง ๔ ตามความประสงค์ของเจ้าภาพ แต่วิธีปุจฉาวิสัชชนานี้ตามแบบโบราณาจารย์ท่านสมมติซึ่งกันและกันเสียก่อน ฝ่ายหนึ่งเปนพระสกวาทีผู้ถาม ฝ่ายหนึ่งเปนปรวาทีผู้แก้ เหตุนั้นบัดนี้จักสมมติตนของอาตมาเปนฝ่ายปรวาทีผู้แก่ ขอสมมติพระผู้เปนเจ้าอันสถิตย์ ณ ธรรมาสน์ตรงหน้าอาตมาที่อ้วนๆ หนุ่มๆ โน้นให้ว่าที่พระสกวาทีผู้ถาม เพราะท่านทรงปรีชาญาณอาจที่จักนำข้อสงสัยมาถามได้โดยคล่องแคล่ว เพราะผู้ถามต้องเปนผู้นำเท่ากับนายท้ายเรือ แต่วันนี้เปนวันสำคัญ บรรดาท่านผู้มาฟังล้วนแต่พหูสูตโดยมาก อย่าพูดถลากไถลให้ถือว่าเราทั้งสองเปรียบเหมือนแม่กาตกเข้าไปอยู่ในระหว่างสุวรรณหงษ์ ค่อยๆ ถามค่อยๆ แก้ ทั้งเจ้าภาพจะบันทึกเอาด้วย วิธีอริยสัจจเปนสองคืออริยสัจจบ้านอย่างหนึ่ง อริยสัจจเถื่อนอย่างหนึ่ง ส่วนข้าพเจ้าผู้เปนปรวาทยาจารย์ชอบวิสัชชนาอริยสัจจเถื่อนมาก เพราะอริยสัจจบ้านมีผู้จำทรงพูดจาสนทนากันดื่นดาษอยู่แล้ว

แต่บัดนี้จักขอแสดงตามสำนวน ธัมมจักกัปปวัตนสูตรพอได้ใจความเสียก่อน กันความฟั่นเฝือของพุทธบริษัท ใจความในธัมมจักกัปปวัตนสูตรอันพระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ท่านเบญจวัคคีย์ คือทรงแสดงทางผิดสองอย่างคือกามสุขัลลิกานุโยคประกอบตนให้อยู่เนื่องด้วยกามสุข อัตตกิลมถานุโยค ประกอบตนให้ลำบากเหน็ดเหนื่อยโดยทางใช่ประโยชน์ ว่าเปนทางผิดทางอ้อมใช่ อริยมรรคา แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาทางกลาง ไม่แวะเวียนไปสู่ทางผิดสองทางนั้นเปนทางตรงต่อพระนิพพาน มีสัมมาทิฏฐิเปนต้น มีสัมมาสมาธิเปนปริโยสาน แล้วทรงแสดงอริยมรรคทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยสัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ เปนปริวัฏเวียนไปละสามๆ มีอาการ ๑๒ ส่วน ทุกขอริยสัจจ ยกชาติ ชรา มรณะ เปนต้น ย่นลงในเบญจุปาทานขันธ์ ส่วนสมุทัย ยกกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ว่าเปนเหตุยังทุกข์ให้เกิดขึ้นพร้อม ส่วนนิโรธ ยกความดับแห่งตัณหาว่าเปนอันดับทุกข์คือดับเหตุ ส่วนมรรคยกสัมมาทิฏฐิเปนต้นจนถึงสัมมาสมาธิว่าเปนมรรค กลายเปนตัวเหตุให้ถึงทุกขนิโรธ มีเนื้อความย่นย่อเพียงเท่านี้  ส่วนนี้ต้องนับว่าเปน อริยสัจจบ้าน ขอท่านสกวาทีพึงกำหนดไว้เปนกระทู้ทางที่จะพึงถามต่อไป เมื่อได้ความโดยนัยนี้แล้ว ขออาราธนาพระผู้เปนเจ้า สกวาทีเริ่มอารัมภกถา แล้วถามอย่างไรก็จงถามไปตามประสงค์ ณ กาลบัดนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาธูการีธรรมากร ( ตอนที่ 77)อริยสัจจกถา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 29, 2014, 07:30:20 pm »

อารัมภกถา ของพระเทพโมลี วัดประยุรวงศาวาส
นมตถุ รตนตตยสส
 อปปมตโต อุโภ อตเถ อธิคณหาติ ปณฑิโต
 ทิฏเฐ ธมเม จโย อตโถ สมปรายิโก
 อตถาภิสมยา ธีโร ปณฑิโต ปวุจจตีติฯ


บัดนี้อาตมาภาพ ซึ่งได้รับหน้าที่เปนสกวาทยาจารย์ตามเจตนาของเจ้าภาพซึ่งได้ปรารภมานาน เพื่อต้องการจะให้เทศน์อริยสัจจโดยปุจฉาวิสัชชนา อาตมาก็อยู่วัดไกล แต่ตั้งใจมาในวันนี้ก็เพื่อพุทธบริษัทจะได้สดับเกิดความเลือมใสโสมนัสยินดีอันจะมีขึ้นในตน เพราะว่าธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเปนของลึกซึ้งละเอียด พ้นวิสัยสามารถของเอกชนจะตรึกตรองตามลำพังได้ ซึ่งบางแห่งตนเข้าใจบางแห่งยังไม่เข้าใจ กิจทั้งสองประการนี้เปนข้อสำคัญของพุทธบริษัทผู้สนใจในทางนี้ เหตุนั้นบัดนี้สาธุชนซึ่งมีท่านซึ่งเปนหัวหน้าเปนต้น อันพากันมาปรารภเพื่อจะสดับอริยสัจจโดยปุจฉาวิสัชชนา ในเวลาวันนี้ ที่พากันมานี้บางท่านก็ได้รับเชิญจากเจ้าภาพบ้าง ที่มาโดยเลื่อมใสด้วยตนเองเพราะได้ทราบข่าวบ้าง แต่เมื่อมาแล้วก็ควรประกอบกิจให้เปนมรรคผล เพราะตนไม่ประมาทยึดประโยชน์ทั้งสองประการไว้ ตามพุทธบรรหารซึ่งได้ยกไว้ ณ เบื้องต้นว่า

อปปมตโต อุโภ อตเถ อธิคณหาติ ปณฑิโต ทิฏเฐ ธมเม จ โย อตโถ สมปรายิโก อตถาภิสมยา ธีโร ปณฑิโต ปวิจจตีติฯ

ความว่าบัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดถือประโยชน์ไว้ได้ทั้งสองประการ คือ ประโยชน์ในทิฏฐธรรมทันตาเห็น แลประโยชน์ซึ่งเปนไปในภพหน้า ตั้งแต่กระทำกาลกิริยาแล้วไปเพราะได้มาถึงซึ่งประโยชน์ทั้งสองสถาน ท่านจึงขนานนามว่าเปนบัณฑิตเพราะดำเนินประโยชน์ในกิจด้วยปรีชา

อธิบายความว่าบุคคลซึ่งมีนามว่าบัณฑิตนั้นไม่มีใครแต่งตั้งญาติมิตรสหายหรือใคร ๆ ก็ไม่ได้แต่งตั้งได้ โดยคุณสมบัติบัณฑิตนั้นคือท่านที่ประพฤติตนดำเนินในประโยชน์ภพนี้ภพหน้า หรืออีกอย่างหนึ่งหมายเอารู้ประโยชน์ด้วยปัญญา ตั้งต้นแต่รู้บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และใช่ประโยชน์ จะทำอะไรย่อมมีปัญญาสอดส่องเสียก่อนแล้วจึงได้กระทำ บัณฑิตนั้นท่านไม่ประมาทคืออยู่ไม่ปราศจากสติได้แก่ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะคิดว่าหายากทั้งไม่มีอะไรมารับรองป้องกัน ในระหว่างที่ชีวิตยังดำรงอยู่เพียงใดก็ตั้งใจทำให้เปนสาระ ไม่ปล่อยชีวิตให้เปนหมันโดยเปล่าปราศจากประโยชน์ แลไม่มัวเมาในวัยเพราะรู้สึกว่าบรรดาเด็ก ผู้ใหญ่ พาล บัณฑิต ชนิดใดที่สุดต้องตายหมด แต่นั้นตั้งหน้าทำความดีเสียในเวลาที่มีกำลังวัยอันสามารถประกอบกิจซึ่งเปนประโยชน์นั้นๆ ทุกประการ ทั้งไม่มัวเมาในความไม่มีโรคคือก่อนแต่โรคภัยไข้เจ็บยังไม่มารบกวน

 ร่างกายยังมีความสุขสบายดี เปนโอกาสที่จะประพฤติความดีได้เต็มความสามารถก็รีบทำเสียในเวลาที่เปนโอกาสนั้นๆ ด้วย ไม่ทราบว่าโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเปนอุปสรรคแก่การประพฤติธรรมจะมีมาถึงแต่วันใด บัณฑิตท่านไม่มัวเมาใน ๓ สถานด้วยประการดังนี้ หรืออีกอย่างหนึ่งซึ่งท่านเปนผู้ไม่ประมาทเหมือนเปนผู้ไม่ตายได้ ในพุทธภาษิตว่า อปปมตตา น มียนติ ผู้ไม่ประมาทเหมือนผู้ไม่ตาย จริงอยู่ผู้เกิดมาในโลกซึ่งจักไม่แก่ ไม่ตายย่อมไม่มี แต่ท่านไม่ประมาท พุทธาทิบัณฑิตได้พยากรณ์ไว้ว่าจะมีทางที่จะบรรลุอมตธรรมได้สักครั้งโดยไม่ต้องสงสัย ผู้ประมาทถูกติว่าเหมือนผู้ตายแล้ว ตรงกับพุทธภาษิตว่า เย ปมตตา ยถา มตา ผู้ใดประมาทเหมือนผู้ตายแล้ว คนตายแล้วคิดจะทำความดีสักขณะจิตต์หนึ่งไม่ได้ฉันใด ผู้ประมาทมัวเมาเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆ ก็คงไม่คิดทำความดีได้เหมือนกันฉันนั้น ฉะนั้นท่านจึงติโทษว่าเท่ากับคนตาย ฝ่ายบัณฑิตคิดเห็นความไม่ประมาทแลความประมาทว่าตรงกันข้าม จึงพยายามตั้งตนอยู่ในพระอัปปมาทธรรมให้ประจำอยู่ในสันดาน แต่นั้นย่อมยึดประโยชน์ไว้ได้ทั้ง ๒ ประการคือ ประโยชน์ในปัตยุบัน ได้แก่ ตั้งตนอยู่ในความหมั่นความเพียรเปนต้น แลประโยชน์ในภพหน้าได้แก่ตั้งตนอยู่ด้วยศรัทธาความเชื่อเปนอาทิ

หรืออีกอย่างหนึ่งโดยมัตยาธิบายบัณฑิตนั้น ทำอะไรย่อมเห็นเปนประโยชน์ที่ตนจะพึงถึงในปัจจุบันทันตานี้เอง เช่นให้ทานก็รู้ว่าทำสมบัติของตนให้มีประโยชน์เพราะได้จ่ายให้เปนสาระ รักษาศีลก็รู้สึกว่าแก้มารยาทความประพฤติทางกายทางวาจา ให้ดีขึ้นแลห้ามกันกิเลสหยาบซึ่งจะรั่วออกมาทางกายวาจา เหมือนรั้วเหมือนกำแพงกั้นอันตรายภายนอกฉะนั้น การเจริญภาวนาก็รู้สึกว่าแก้จิตต์ให้มั่นคงมิให้ฟุ้งซ่าน เพราะจิตต์ไม่ได้อบรมในการภาวนาย่อมไม่แน่นอน เหมือนต้นไม้ไม่มีแก่นโค่นง่าย ล้มง่าย บุคคลขาดอบรมทางภาวนาก็ไม่แน่นแฟ้น บกพร่องในกุศลธรรมจิตต์ ซึ่งจะสำเร็จกิจเปนอธิจิตตภาวนาก็ต่อเมื่อสนใจในทางนี้จึงจะได้ผล ทำจิตต์ของตนให้สงบระงับซึ่งนับว่าเปนสุขอย่างสำคัญต้องตามวจนประพันธ์ว่า นตถิ สนติ  ปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มีคือนอกจากสันติสุข สุขที่เกิดจากความสงบระงับนับว่าเปนนิรามิสสุข สุขห่างทุกข์ซึ่งอย่างสูงคือนิพพานนั่นเอง การสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา ก็เห็นอานิสงส์ในขณะที่ฟัง เช่น เมื่อตนอยู่บ้านหรือที่อื่นจิตต์ใจก็เปนอย่างหนึ่ง ครั้นมาถึงโรงธรรมสภาหรือที่ธรรมสวนมณฑล จิตต์ของเราก็เปนอีกอย่างหนึ่ง ดีขึ้นโปร่งอกโปร่งใจ ได้รับความรู้ความฉลาดขึ้นเนื่องจากการฟัง เพราะการฟังเท่ากับถ่ายวิชาความรู้แห่งกันแลกัน

เหตุนั้นการสดับจึงนับว่าเปนประโยชน์ด้วยเปนที่ตั้งของปัญญา สมตามพุทธภาษิตว่า สุสสูสํ ลภเต ปญญํ ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ทั้งการฟังยังมีอานิสงส์ถึง ๕ ประการดังนี้คือ ได้ฟังธรรมที่ยังไม่ได้ฟัง ๑ ธรรมที่ฟังแล้วหลงลืมไปกลับจำได้ ๑ หายสงสัย ๑ จิตต์ของผู้ฟังผ่องใส ๑ ทำความเห็นให้ถูกต้อง ๑ อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้เฉพาะมีแก่ผู้ฟังตั้งใจ ย่อมได้ในขณะที่ฟังธรรมนี่แหละ ส่วนประโยชน์ภพหน้าไม่ต้องกล่าวถึง เมื่อตนสมบูรณ์ด้วยประโยชน์ปัตยุบันนี้แล้วเปนอันต้องได้ต้องถึงประโยชน์ในสัมปรายภพต่อไป เพราะเปนเหตุเปนปัจจัยอาศัยซึ่งกันแลกัน ที่ท่านบรรลุประโยชน์ ทั้ง ๒ ประการจึงได้นามว่าเปนบัณฑิตเพราะดำเนินประโยชน์กิจด้วยปรีชา ดังวิสัชชนามาด้วยประการฉะนี้

บัดนี้จักเริ่มธรรมกถาวิสัชชนาอริยสัจจโดยปุจฉาวิสัชชนาต่อไป แต่วันนี้เสียใจอยู่หน่อยเกรงว่าเวลาจะไม่พอเพราะธุระอื่นๆ ยังมีอีก ท่านปราวาทยาจารย์ได้แต่งตั้งให้อาตมาเปนฝ่ายสกวาทยาจารย์ผู้ถามตามความประสงค์ของพุทธบริษัท จะใคร่สดับอริยสัจจ อริยสัจจนั้นท่านหมายเอาของจริงของพระอริยบุคคล ต่อเมื่อรู้ของจริงแจ้งชัด จึงจัดเปนพระอริยเจ้า แต่พวกเรามีปัญญาเปนโลกีย์จะรู้จะเห็นก็เปนไปตามแบบตามแผนตามภูมิพระปริยัติ ถึงกระนั้นก็อาจเปนภูมิแก่ปฏิบัติแลปฏิเวธเพราะต้องอาศัยภูมิเปนชั้นกันขึ้นไปเหมือนขึ้นบันไดฉะนั้น ต่อนี้อาตมาซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ว่าที่สกวาทีผู้ถาม พุทธบริษัทจงคอยตั้งใจฟังสกวาทีปราวาทีที่จะไต่ถามซึ่งกันแลกันต่อไปนะ แต่ท่านเจ้าคุณปรวาที ท่านเปนผู้ใหญ่ผู้เฒ่าควรแก่การเคารพกราบไหว้ทั้งมีผู้นิยมชมเชย ท่านชำนิชำนาญเข้าอกเข้าใจในการเทศนาจนรู้ว่าอริยสัจจเถื่อนก็เข้าใจ อริยสัจจบ้านก็เข้าใจ ก็เมื่อท่านเข้าอกเข้าใจตลอดแล้ว จะเริ่มปุจฉาวิสัชชนากันต่อไป ณ กาลบัดนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาธูการีธรรมากร ( ตอนที่ 77)อริยสัจจกถา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 29, 2014, 07:36:41 pm »

(การแสดงอริยสัจจโดยปุจฉาวิสัชชนา คงเก็บเอาแต่ใจความได้ดังต่อไปนี้)

สกวาที   อริยสัจจ ๔ คืออะไรบ้าง
ปรวาที   อริยสัจจ ๔ คือ ทุกข์ ๑  สมุทัย ๑  นิโรธ ๑  มรรค ๑
สกวาที   ทุกข์นั้นหมายถึงทุกข์ประเภทไหน

ปราวาที   ตามนัยพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร ท่านหมายชาติความเกิด ๑ ชราความแก่ ๑ มรณะความตาย ๑ โสกะความเศร้าใจ ๑ ปริเทวความบ่นเพ้อร่ำไร ๑ ทุกข์เจ็บปวดเกิดขึ้นในกาย ๑ โทมนัสความต่ำใจน้อยใจ ๑ อุปายาสความคับแค้นใจ ๑ อัปปิเยหิสัมปโยคทุกข์คือรักกันแล้วพลัดพรากจากกัน ๑ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามประสงค์ ๑ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ว่าโดยย่อก็คือขันธ์ ๕ ที่มีอุปาทานนี้เองเปนทุกข์ อันนี้เปนเนื้อความในธรรมจักกัปปวัตนสูตร

สกวาที   ส่วนสมุทัยนั้น ท่านประสงค์ความอย่างไร
ปรวาที   ท่านหมายความว่าเหตุยังทุกข์ให้เกิดขึ้น
สกวาที   ได้แก่ธรรมประเภทไหน
ปรวาที   ได้แก่ธรรมประเภทตัณหาคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
สกวาที   ตัณหาทั้ง ๓ นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร

ปรวาที  ต่างกันอย่างนี้กามตัณหาความปรารถนาในกามารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ส่วนภวตัณหานั้นปรารถนาในภพคือความมีความเปน หมายความว่า บรรดาสิ่งที่มีอยู่อยากให้มีอยู่ร่ำไปเปนลักษณะ ส่วนวิภวตัณหานั้นปรารถนาในความไม่มีไม่เปน หมายความว่าบรรดาสิ่งที่มีอยู่นั้นแหละแต่เปนอารมณ์ที่ไม่พอใจอยากให้ปราศจากพ้นไป

สกวาที   นิโรธสัจจนั้น ท่านหมายความว่าอย่างไร
ปรวาที   ท่านหมายความว่าดับโดยไม่เหลือ
สกวาที   ดับอะไรไม่เหลือ
ปรวาที  ดับเหตุ คือสมุทัยได้แก่ดับกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานั้นเองเปนลักษณะของนิโรธ
สกวาที   ส่วนมรรคสัจจนั้นมีเนื้อความอย่างไร ได้แก่ ธรรมประเภทไหน

ปรวาที  มรรคอริยสัจจนั้นมีเนื้อความว่าเปนทางดำเนินของกายของใจ แต่ไม่ใช่ทางไปด้วยเท้าด้วยพาหนะ ได้แก่ ธรรมประเภทศีล สมาธิ ปัญญา  ว่าโดยที่มาได้แก่  สัมมาทิฏฐิเปนต้น  สัมมาสมาธิเปนที่สุด องค์อวัยวะทั้ง ๘ นี้ชื่อว่ามรรค  เปนทางดำเนินของกาย วาจา ใจ  ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง ขอพระคุณเจ้าสกวาทีจงเข้าใจ โดยนัยดังบรรยายมานี้ อริยสัจจนี้แสดงตามแบบแผนอ้างหลักบานที่มาได้จึงควรนับว่าเปนอริยสัจจในบ้านในเมือง  แต่อริยสัจจเถื่อนยังมีเนื้อความพิศดารไปอีก  ท่านสกวาทีต้องการฟังก็จงถามไป แต่ท่านต้องทำใจเย็นๆ ค่อยถามไปเปนข้อๆ อย่าคิดจะไล่ให้จน ถ้าคนจนแล้วเขาจะไม่แต่งตัวสวยๆ เข้ามานั่งในที่ประชุมคนมากๆ อย่างนี้เลย จะถามอย่างไรก็ถามไป ท่านสกวาที

ตทนนตรํ  ในลำดับนั้นฝ่ายท่าน สกวาที ได้โอกาสจากท่าน ปรวาทีแล้ว จึงเริ่มถามอริยสัจจเถื่อนต่อไปว่า ภนเต ปรวาทยาจริยํ  ข้าแต่ท่านปราวาทยาจารย์ เมื่อข้าพเจ้าโอกาสมีความปลื้มใจนัก ขอถามว่าข้อที่ว่าอริยสัจจเถื่อนนั้นประสงค์เนื้อความอย่างไร ไม่ใช่พุทธภาษิตหรือเจ้าข้า

ปรวาที   อ๋อคำที่ว่าเถื่อนนั้น หมายความว่าผู้ที่เห็นอริยสัจจนั้นมักเปน คนชอบอยู่ตามถ้ำตามรุกขมูลโดยมากทั้งในพุทธกาลหรือนอกพุทธกาล ผู้ที่ได้ในบ้านในเมืองก็มีถมไป แต่ว่าองค์ที่ยอดเยี่ยมดังองค์สมเด็จพระบรมศาสดาหรือพระโมคคัลลานะพระสารีบุตรผู้อัครสาวกท่านก็ได้เห็นอริยสัจจในป่า จึงขนานนามว่าอริยสัจจเถื่อน เถื่อนแปลว่าป่า คำที่ถามว่าไม่ใช่พุทธภาษิตหรือ คำว่าเถื่อนนั้นขอตอบว่าคำใดที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสนั้นเปนอันหาได้ด้วยยาก ว่าโดยทางศาสนาถ้าทางอื่นนอกพระพุทธศาสนาไม่เข้าใจ อริยสัจจนี้ทางในพระพุทธศาสนาแท้

สกวาที   ถ้าอย่างนั้น ส่วนอริยสัจจตามแบบท่านปราวาทีก็ได้วิสัชชนามาแล้ว คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ส่วนทุกข์ก็หมาย ชาติ ชรา มรณะ เปนต้น ส่วนสมุทัยก็หมายกามตัณหาเปนต้น ส่วนริโรธก็หมายดับตัณหาเปนต้น ส่วนมรรคก็หมายสัมมาทิฏฐิเปนต้น ก็ฝ่ายอริยสัจจเถื่อนนั้นหมายอะไรกัน มี ๔ เหมือนกันหรือ

ปรวาที   หมายอันเดียวกันกับอริยสัจจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเดียวนั้นเอง
สกวาที   ทุกข์หมายอะไร สมุทัย นิโรธ มรรค หมายอะไรมีอาการต่างกันอย่างไร
ปรวาที   ทุกข์ก็หมายชาติ ชรา มรณะ สมุทัยหมายตัณหา ๓ นิโรธก็หมายดับตัณหา ๓ มรรคก็หมายอริยมรรคเหมือนกัน ต่างแต่อาการแห่งความรู้ความเห็น เท่านั้น
สกวาที   ความรู้ความเห็นต่างกันอย่างไร ขออธิบายให้แจ่มแจ้ง

ปรวาที   พูดกันแต่ย่อๆ พอได้ใจความจะพูดมากเวลาก็ไม่พอ วันนี้เปนวันอุโบสถเทศน์หลายแห่งด้วยกัน เวลามีน้อย คนแก่เพลียมากความคิดก็ไม่สู้จะเดิน  ความรู้จักทุกขออริยสัจจของพวกมากมักเห็นชาติความเกิดหมายคลอดจากครรภ์มารดาชื่อว่าชาติทุกข์ตามนัยแห่งเทวสูตร ส่วนชราความแก่ก็มักถือเอาความแก่ของผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัยมีผมหงอกฟันหักเปนต้นตามนัยแห่งเทวสูตร  ส่วนมรณะความตายก็ถือเอาตายที่ขาดลมหายใจต้องเข้าโลงกันตามนัยแห่งเทวสูตรเหมือนกัน กำหนดเอาอัปปฏิจฉันนชาติ อัปปฏิจฉันนชรา อัปปฏิจฉันนมรณะอย่างนี้เปนทุกขสัจจ

ฝ่ายที่ถือว่าเถื่อนนั้นท่านเห็นชาติความเกิดโดยกำเนิด ๔ ซึ่งเปนปฏิจฉันนชาติขณะยังเปน กลละ อัมพุทะ อยู่ชื่อว่าสังเสทชชาติ ขณะเปนฆนะเปสิอยู่ชื่อว่าอัณฑชชาติ ขณะเปนปัญจสาขามีศีรษะมือเท้าบริบูรณ์ชื่อว่า ชลามพุชชาติ ขณะคลอดออกมาชื่อว่า อุปปาติกชาติ เบื้องหน้าแต่คลอดออกไปแล้วก็ชื่อว่าอุปปาติกชาติเรื่อยไปจนถึงวันตาย ท่านเห็นชาติความเกิดเปนปัจจุบันอยู่เสมอๆ ส่วนชราความแก่ท่านกำหนดปฏิจฉันนชราความแก่กำบังลี้ลับคือแก่มาแต่เกิด เกิดขึ้นวันใดก็แก่เรื่อยมาแต่วันนั้น คือความขยายให้มีอาการผิดเก่าร่ำไปนั่นเองเปนอาการของความแก่ ส่วนมรณะท่านกำหนดปฏิจฉันนมรณะ ความตายที่กำบังลี้ลับคือตายเรื่อยมาตั้งแต่เกิด เกิดขึ้นวันใดก็ตายวันนั้นตายทุกขณะลมหายใจเข้าออก ได้แก่เด็กหนุ่มสาวหายไปๆ นั้นเอง เปนอาการให้รู้ว่าตนตายอยู่เสมอ เกิด แก่ ตาย ท่านกำหนดเปนปัจจุบันอยู่ทุกเมื่อ

ส่วนนี้ท่านถือเอาว่าเปนหน้าตาของทุกขอริยสัจจ ส่วนสมุทัยนั้นท่านถือเอาอัปปฏิจฉันนชาติ อัปปฏิจฉันนชรา อัปปฏิจฉันนมรณะ คือเกิด แก่ ตายที่ไม่ปกปิดกำบังลี้ลับ ใครๆ ก็รู้ทั่วเปนหน้าตาของสมุทัย เพราะเป็นอิตรการมีเปนครั้งเปนคราว เกิดเปนอดีตเราเกิดมาเสียแล้ว แก่ ตาย เปนอนาคตเราจะต้องไปแก่ไปตาย ชื่อว่ามีอาการหรือความแก่ ความตายจะมาถึงเราวันหนึ่งชื่อว่ามีอาการมา ตัวซึ่งเปนปัจจุบันไม่มีเกิดไม่มีแก่ ไม่มีตาย กลายเปนภวตัณหาโดยไม่รู้ตัว อาการแห่งความเกิดเปนกามตัณหา อาการแห่งความแก่ความตายเปนวิภวตัณหา ตัวปัจจุบันเปนภวตัณหา ตกลงความรู้อย่างนี้เปนความรู้ของอวิชชาเท่านั้น หาเปนความรู้ของวิชชาไม่ ท่านจึงว่าเปนคติของสมุทัยเปนสัจจที่ ๒

 นิโรธนั้นเมื่อมีความรู้เปนตัววิชชาเกิดขึ้นคือรู้ชาติ ชรา มรณะ ซึ่งเปนปฏิจฉันนะมารวมกันที่ปัจจุบันด้วยกันตัวอัปปฏิจฉันนะซึ่งเปนคติของสมุทัยก็ดับไปความดับของสมุทัยนี้แหละ ท่านให้ชื่อว่าทุกขนิโรธ เปนสัจจที่ ๓ ส่วนมรรคนั้นท่านหมายความรู้ความเห็นชาติ ชรา มรณะ อาการนี้เปนทุกขสัจจ ชาติ ชรา มรณะ อาการนี้เปนสมุทัย ชาติ ชรา มรณะ อาการนี้เปนนิโรธ ชาติ ชรา มรณะอาการนี้เปน มรรค ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ มรรคเห็นมรรคหรือจะว่าตัวเห็นตัวก็ได้การแสดงอริยสัจจอย่างนี้ท่าน สกวาทยาจารย์ตรองตามได้ความว่ากระไร

สกวาที  ฟังดูชอบกลมากแต่ยังมัวไม่ค่อยแจ่มแจ้ง ขอจงขยายความออกไปอีกพอให้เข้าใจสักหน่อยเถิดพระเจ้าข้า

ปรวาที   ดูกร ท่านสกวาทยาจารย์ ได้พูดไว้แต่เดิมที่ว่าพระอริยสัจจเปนของลุ่มลึกสุขุมคัมภีรภาพมาก เปนวิสัยของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เปนสยมภูรู้ด้วยตนเอง พวกเราเปนสาวกบรมครูชี้ไว้ให้แล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยังเข้าใจได้ด้วยยากในอริยสัจจ ๔ นี้ ทุกข์เปนผลดูง่ายสมุทัยเปนเหตุดูยาก เท่ากับปิดเหตุเปิดผล ฝ่ายนิโรธกับมรรค นิโรธเปนผลดูยากมรรคเปนเหตุดูง่ายเท่ากับปิดผลเปิดเหตุ ฟังจึงฟั่นเฝือไม่รู้จักเข้าใจได้ ถ้าต้องการจะดูให้เข้าใจต้องไปดูปฏิจจสมุปบาทท่านเปิดสมุทัยเปิดนิโรธชัดเจนมาก ถ้ารู้สมุทัยก็เปนอันรู้ทุกข์ ถ้ารู้นิโรธก็เปนอันรู้มรรค อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป (คำว่านามรูปต้องเข้าใจถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ) อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ เปนตัวสมุทัย แต่ละอย่างๆ นี้ชื่อว่ากระแสสมุทัย ไม่ใช่อื่นไปจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อาศัยอยู่นั้นและท่านชี้ว่าเปนสมุทัย

 ถ้ารู้หน้าตาของสมุทัยชัดแล้วก็จะรู้จักนิโรธเท่านั้นเองท่านแสดงว่าถ้าอวิชชายังเปนปัจจัยอยู่ สังขาร วิญญาณ เปนต้น ถึง ชรา มรณะ มีอยู่ ผลของสมุทัยคือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส ก็มีพร้อม ถ้าอวิชชาดับ สังขาร วิญญาณ นามรูปจนถึงชรา มรณะก็ดับไปตามกัน เมื่อสมุทัยดับแล้วผลของนิโรธคือดับทุกข์ได้แก่ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส ก็ดับไปโดยไม่เหลือ ท่านแสดงอานิสงส์ไว้อย่างนี้ ในปฏิจจสมุทปบาทนี้ท่านเปิดสมุทัยกับนิโรธไว้โดยแจ่มแจ้งชัดเจน เช่นนี้ มีข้อที่พึงจะศึกษาอยู่นิดเดียวว่าเราจะรู้อาการดับของสมุทัยคือดับอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูปจนถึงชรามรณะดับจะเปนอย่างไรหนอเท่านี้ ถ้าศึกษารู้จักหน้าตาของสมุทัยแลรู้อาการดับของสมุทัยแล้วก็เปนอันรู้จักทุกข์นิโรธเท่านั้น ขอท่านสกวาทีจงตรวจตรองให้ได้ความให้ชัดเจนเถิด การที่เราทั้งสองแสดงอริยสัจจฉลองศรัทธาของท่านทานาธิบดีก็สมควรแก่เวลาเพียงเท่านี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาธูการีธรรมากร ( ตอนที่ 77)อริยสัจจกถา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 29, 2014, 08:13:37 pm »

อวสาสโนวาทของพระเทพโมลี วัดประยูรวงศาวาส

เมื่อพระปรวาทีกับพระสกวาทีปุจฉาวิสัชชนากันในอริยสัจจกถา
พอสมควรแก่เวลาแล้ว ต่างก็นมัสการลาไปสู่สถานที่อยู่ของตนๆ
เพราะฉะนั้นสาธุชนพุทธบริษัทเมื่อได้สดับอริยสัจจเทศนา
โดยปุจฉาวิสัชชนาดังนี้แล้ว ควรจะมีมนสิการกำหนดอริยสัจจไว้ในใจให้แจ้งชัด
เพราะอริยสัจจเปน สามุกํสิกภาษิต
พระพุทธเจ้ายกขึ้นตรัสด้วยพระองค์เองก่อน แล้วจึงทรงสั่งสอน
เวไนยสัตว์ตามลำดับต่อมา แลทรงตรัสยืนยันแก่ท่านปัญจวัคคีย์
อันมีปรากฎในท้ายพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ความเห็นในอริยสัจจทั้ง ๔ อันมีปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒ ซึ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาในกาลก่อนยังไม่บริสุทธ์แก่เราเพียงใดเพียงนั้น ก็ไม่กล้าปฏิญญาตนเองว่าเปนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดทั่วทั้งโลกทั้งเทวดา มารพรหม สมณะพราหมณ์ได้ ต่อเมื่อความรู้ความเห็นในอริยสัจจทั้ง ๔ เช่นนั้นบริสุทธิ์แก่เราแล้ว เราจึงได้ปฏิญญาตนว่าเปนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดทั่วภพจบนิกายได้

ข้อนี้เปนพยานชี้ให้เห็นชัดว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกจริงด้วยมีอริยสัจจ ๔ เปนที่อ้างอิงให้สมกัน เมื่อพุทธบริษัทได้สดับอริยสัจจเข้าใจแจ้งชัดเมื่อใด เมื่อนั้นพึงเข้าใจว่าเหมือนได้เห็นพระพุทธเจ้า ข้อนี้สมตามนัยพระพุทธภาษิตที่ตรัสยืนยันแก่พระวักกลิภิกขุว่า โย โข วกกลิ ธมมํ ปสสติ โส มํ ปสสติ ดูกรวักกลิภิกขุผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราพระตถาคต มีอธิบายว่าการเห็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเจ้าของธรรมหรือบริบูรณ์ด้วยพระธรรมคุณก็เหมือนเห็นพระธรรม การเห็นพระธรรมคืออริยสัจจทั้ง ๔ ก็เหมือนเห็นพระพุทธเจ้า เพราะอริยสัจจนั้นพระองค์ตรัสรู้ขึ้นนั้นเองหรือทรงไว้ซึ่งความตรัสรู้คือความเปนพระพุทธเจ้านั้นเองแต่ในที่นี้ประสงค์เห็นด้วยปัญญาตาญาณไม่ประสงค์เห็นด้วยตาเนื้อ พระอริยสัจจธรรมนั้นตามที่ท่านจำแนกไว้มีถึง ๔ ประการ ถ้าจะย่อลงมาก็คงเปน ๒ ประการ ด้วยเหตุกับผลได้ในสาวกนิพนธ์ว่า

เย ธมมา เหตุปปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต (อาหุ)
เตสญจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ

ธรรมใดมีเหตุเปนแดนเกิดพระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมนั้นด้วย
ตรัสความดับแห่งธรรมนั้นด้วย พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้


มีอธิบายว่า ธรรมได้แก่ทุกข์ ๑๑ กอง มีชาติทุกข์เปนต้น ซึ่งจัดเปนผลฝ่ายชั่วเพราะทำสัตว์ให้เดือดร้อน เหตุได้แก่ตัณหา ๓ ประการ ซึ่งจัดเปนเหตุฝ่ายชั่วเพราะยังทุกข์ให้เกิด ความดับได้แก่นิโรธธรรมคือพระนิพพานซึ่งจัดเปนผลฝ่ายดี เพราะเปนอุบายเครื่องระงับดับทุกข์โดยไม่เหลือ ปัญญาสัมมาทิฏฐิอันสัมปยุตด้วยพระอริยมรรคทั้ง ๗ ประการ ย่อลงมาเปนศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้ เปนสมถวิปัสสนาก็ได้ เปนวิชชา วิมุตติก็ได้ ซึ่งจัดเปนเหตุฝ่ายดี เพราะเปนทางดำเนินให้ถึงความระงับดับทุกข์ได้จริง

อีกนัยหนึ่งอริยสัจจนั้นย่อลงเปน ๒ ประการคือ ทุกขสัจจกับสมุทัยสัจจ จัดเปนวัฏฏสัจจเพราะเปนสัจจที่ยังสัตว์ให้หมุนเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในภพน้อยภพใหญ่ไม่รู้จักสิ้นสุด ส่วนนิโรธสัจจกับมรรคสัจจจัดเปนวิวัฏฏสัจจ เพราะเปนสัจจที่ทำให้สัตว์ปราศจากทุกข์โทษเช่นนั้น ตรงกันข้ามอริยสัจจนั้นโดยย่อจัดเปนเหตุแลผลบ้าง เปนวัฏฏสัจจแลวิวัฏฏสัจจบ้าง ดังวิสัชชนามาด้วยประการฉะนี้

เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทพร้อมทั้งท่านผู้เปนหัวหน้า เมื่อได้สดับอริยสัจจเทศนา โดยปุจฉาวิสัชชนาดังนี้แล้วควรมีมนสิการกำหนดจดจำไว้ แต่นั้นพึงตั้งใจปฏิบัติตาม เว้นข้อห้ามทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาตจึงจะไม่ปราศจากผล ถ้าเปนแต่ฟังไม่ทำตาม เหมือนดอกไม้มีสีงามแต่ไม่มีกลิ่นหอม ถ้าฟังแล้วตั้งใจกระทำตาม เหมือนดอกไม้ทั้งสีก็งามกลิ่นก็หอมหวลชวนให้ทัดทรงประดับประดาฉะนั้น ครั้นฟังแล้วควรน้อมพระธรรมเข้ามาสู่ตนหรือน้อมตนไปสู่พระธรรม  แล้วให้เกิดตัวสันทิฏฐิโก คือเห็นด้วยตนของตนเองไม่เปนแต่เชื่อ  หรือทำตามเขาว่าเขากล่าวเท่านั้นตัวเราเองก็เปนผู้ได้รู้ได้เห็นคุรานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมด้วยผู้หนึ่ง ซึ่งจัดเปนพยานทางพระพุทธศาสนาอันเปนนิยยานิกธรรม ซึ่งได้รู้ผลด้วยใจของตนผู้ปฏิบัติ ต่อนั้นควรสาธุชนพุทธบริษัทอย่ามีความประมาท เพราะพุทธโอวาทานุศาสน์ที่ตรัสสอนสรรพสัตว์หมดทั้งมวลล้วนแต่ตรัสมิให้สัตว์มัวเมาประมาท นั่นแหละเปนข้อใหญ่ใจความอย่างสำคัญ

มีเรื่องเปรียบไว้ฝ่ายคดีโลกว่า บรรดารอยเท้าสรรพสัตว์ทั้งมวล
ล้วนมาประชุมลงในรอยเท้าคชสารทั้งสิ้น เพราะเปนของใหญ่ฉันใด
ฝ่ายคดีธรรมบรรดาสรรพธรรมที่เปนกุศลทั้งมวลล้วนมาประชุมลง
ในความไม่ประมาททั้งหมด เพราะเปนยอดของกุศลธรรมฉันนั้น

อนึ่งพระพุทธโอวาทที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพร่ำสอน
จาตุรงคพุทธบริษัทอยู่ในระหว่าง ๔๕ ปี ก็ย่อลงมาสู่ความไม่ประมาท
คำเดียวเท่านั้น ดังปัจฉิมพุทธภาษิตที่ตรัสจวนจะเสด็จปรินิพพาน ว่า
หนททานิ ภิกขเว อามนตยามิ โว ยธมมา สงขารา
อปปมาเทน สมปาเทถ
ดูกร ภิกษุทั้งหลายผิฉะนั้นบัดนี้เราจะ
เตือนท่านทั้งหลาย สังขารมีความดับเปนธรรมดา ท่านทั้งหลายพึง
ยังประโยชน์ตนและประโยชนท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

พุทธโอวาทนี้เปนเครื่องเตือนใจ ให้เราท่านรับปฏิบัติอยู่เปนนิตย์ เพราะเปนพุทธภาษิตสุดท้ายภายหลัง ดังมารดาบิดาที่ตั้งอยู่ในธรรมพร่ำสอนบุตรแล้วแลล่วงลับไปยังโลกหน้า ถ้อยคำนั้นควรที่บุตรแลธิดาจะตั้งใจกระทำตามเปนนิตย์ฉันใด พระปัจฉิมพุทธภาษิตที่ได้แสดงมาแล้วนั้น ก็สมควรยิ่งนักที่พุทธบริษัทจะตั้งใจรับปฏิบัติบำเพ็ญให้เปนนิตย์นิรันดร์ฉันนั้น เมื่อพุทธบริษัทได้ตั้งตนอยู่ในพระอัปปมาทธรรมดังนี้แล้ว ก็เปนเหตุเปนปัจจัยที่จะได้ประสบความสุขตามชั้นตามภูมิของตนๆ ตลอดจนบรรลุนิรามิสสุขคือพระนฤพานเปนอวสาน

ณ กาลที่สุดพระธรรมเทศนานี้ อาตมาขออัญเชิญคุณพระรัตนตรัย
มาประสาทพรแก่พุทธบริษัทพร้อมทั้งท่านผู้เปนหัวหน้าว่า

อรหํ สมมาสมพุทโธ อุตตมํ ธมมมชฌคา
มหาสงฆํ ปโพเธสิ อิจเจตํ รตนตตยํ

พระผู้มีพระภาคผู้เปนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ยังพระสงฆ์ให้เบิกบานเต็มตื่นจากกิเลสนิทรานี้
        จัดว่าเปนพระรัตนตรัยได้แก่

พระพุทธรตน ธรรมรตน สังฆรตน
 เอเตน สจจวชเชน สุวตถิ โหตุ สพพทา

ด้วยสัจจวาจา ภาษิตนี้ ขอสวัสดิพิพัฒนมงคลศุภอิฏฐวิบูลยผล
พร้อมทั้งจาตุพิธพุทธพรธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณ สุข พล
จงมีแก่พุทธศาสนิกชนผู้เคารพพระพุทธศาสนา
ตลอดทุกทิพาราตรีกาลดังรับประทานวิสัชชนาพระธรรมเทศนา
โดยปุจฉาวิสัชชนาสมควรแก่เวลาเพียงนี้
              ...................

ขอขอบคุณที่มาบทความ  :  หนังสือสาธุการีธรรมากร
เผยแพร่โดย  วัดป่าวิเวกวัฒนาราม  ( หลวงปู่จาม มหาปุญโญ )
บ้านห้วยทราย  ต.คำชะอี  อ.คำชะอี  จ.มุกดาหาร

10 ตุลาคม 2550 เวลา 08:09 น.
: http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=352