คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
"คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 10 เข้าสู่กระแสธรรมอันคือ ธรรมชาติ
ธรรมที่ตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้ เพื่อเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจที่แปดเปื้อน ไปด้วยมลทิน ตัณหา อุปาทานต่างๆนั้น เป็นธรรมอันคือหนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ นั่นคือ อริยมรรค หรือ หนทางอันยิ่งใหญ่นั่นเอง มรรคหรือหนทางที่นำพาเราออกจากทุกข์ได้ ก็คือ มรรคหนทางเดียวกันกับ "มรรคหนทางที่ทำให้เราได้ซึมซาบ กลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั่นเอง" มันเป็นธรรมชาติแห่งทุกๆสรรพสิ่งที่อยู่รวมกัน ด้วยความเสมอภาคในเนื้อหาอันเดียวกัน คือความว่างเปล่าไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น
ก็ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติแห่งตน มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาความเป็นตัวตนของตนเองเป็นที่ตั้ง ในการดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางแห่งความประมาท เหตุและปัจจัยที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นรูปกายของมนุษย์ มนุษย์ก็หลงผิดล้วนแต่จับฉวยจับกุมเข้าไปยึดสิ่งต่างๆเหล่านี้ ที่เข้ามาแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ จนกลายเป็นความคิดไปในทาง ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมนุษย์ผู้นั้น ก็เพราะ ตัณหา อุปาทาน ความอยาก ที่มนุษย์ผู้หันหลังให้กับธรรมชาติ ยึดเอาเป็นสรณะว่า "นี่คือตนนี่คือของตน" อยู่ตลอดเวลา ความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนแต่นำมาปรนเปรอ ความเป็นตัวตนของตนเองอยู่ร่ำไป
ตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า แท้จริงมันเป็นเพียงสักกายทิฐิ หรือความเห็นอย่างมืดมัว ในความเป็นตัวเป็นตนของตนเองอยู่ตลอดเวลา แท้จริงสิ่งเหล่านี้หามีไม่ มันเป็นเพียงมายามาหลอกล่อ ให้เราติดกับดักในความเป็นตัณหาอุปาทานแห่ง "ความเป็นเรา" พาเราทั้งหลายไปเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น มันเป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่ทำให้เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันเป็นเพียง "จิต" เท่านั้นที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ในความเป็นจริงจิตต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมันหามีไม่ แท้จริงความเป็นเราก็ไม่มีแม้แต่น้อย ตถาคตจึงย่อยสลายความเป็นตัวเป็นตนของมนุษย์ "ความเป็นเรา" เหลือเป็นเพียงส่วนประกอบที่ประกอบเข้ากันเป็นมนุษย์ขึ้น แบ่งออกเป็นห้าส่วน คือ ขันธ์ทั้งห้า กล่าวคือ ย่อยเหลือเพียง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น ก็เพราะขันธ์ทั้งห้านี่เองที่ทำให้มนุษย์หลงเข้าไปยึด ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นตนเองขึ้นมา และในความเป็นจริงขันธ์ทั้งห้าก็หามีไม่ แท้ที่จริงธรรมชาติมันคือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้นมาก่อนเลย
ก็เมื่อพวกเธอเข้าใจแล้วว่า แท้จริงทุกๆสิ่งในความคิดที่พวกเธอผลิตออกมา มันล้วนแต่เป็นเพียงจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นไปในความหมายว่า นี่คือความเป็นตัวตนของพวกเธอเอง และแท้ที่จริงจิตนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งที่พวกเธอเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในขันธ์ทั้งห้า จนก่อให้เกิดตัณหา อุปาทาน และกลายเป็น "จิต" และเมื่อพวกเธอเข้าใจในความเป็นจริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ที่มันเป็นธรรมชาติของมันในความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ซึ่งหมายความว่า มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า เป็นความว่างเปล่าโดยที่มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นมาก่อนเลย อันจะทำให้พวกเธอเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ ก็ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้ของมันนั่นเอง ที่พวกเธอเข้าใจอย่างชัดแจ้งหมดซึ่งความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง
ซึ่งความลังเลสงสัยนั้น มันอาจจะทำให้พวกเธอหันเหไปสู่ข้อวัตรอื่นๆ ที่พวกเธอผลิตขึ้นมาเอง หรือเป็นข้อวัตรที่พวกเธอจดจำมาจากสำนักอื่นหรือศาสดาอื่นๆ ซึ่งพวกเธอเข้าใจผิดว่ามันจะเป็นข้อวัตร อันทำให้พวกเธอพ้นจากความทุกข์ได้ ความเข้าใจอย่างชัดแจ้งหมดจดไร้ความเป็นตำหนิ ในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ อย่างที่ไม่มีความคลอนแคลนไปในทางหนทางอื่นที่ว่านี้ มันเป็นความ "ตระหนักชัด" อย่างชัดแจ้ง ในเนื้อหาธรรมชาติ เป็นความตระหนักชัดอันนำพาพวกเธอเข้าถึงกระแสธรรม ในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้นี่เอง คือหลักธรรมเดียวอันเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่ง ที่ตถาคตเจ้าได้ประกาศธรรมชนิดนี้ล่วงมาเป็นเวลา 2,500 กว่าปีแล้ว ก็ขอให้พวกเธอเข้าใจธรรมอันคือธรรมชาติตามนี้
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
6 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
時々होशདང一རພຊຍ๛:
:46: :46: :46:
ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ครับ พี แป๋ม :46:
ผมมัวแต่ไปทำเว็บ ฯ ของตัวเอง ครับ ไม่มีใคร POST
http://www.youtube.com/v/jhGI0X6jhSQ?version=3&hl=th_TH
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 11 ความทุกข์ยาก คือ เมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ
ผ่านมาเป็นกัปเป็นกัลป์โดยนับไม่ถ้วนแห่งอสงไขยเวลา ที่กาลเวลาเหล่านั้นได้พาเราเองไปเวียนว่ายตายเกิดบนโลกใบนี้ ความที่ต้องทนถูกบีบคั้นกับภาวะต่างๆในชีวิตประจำวัน ในแต่ละภพแต่ละชาติที่ผ่านมาทุกภพทุกชาติไป มันเหมือนประสบการณ์ที่เป็นครูสอนเรา ให้ได้เรียนรู้กับชีวิตที่เดินไปบนหนทางอันมืดมน และไม่มีจุดจบบนเส้นทางนี้ ใจเมื่อหากหวังสิ่งใด หากได้มามันก็อยู่กับเราไม่นาน ยึดในสิ่งที่คิดว่าสมหวัง ท้ายที่สุดก็ต้องมานั่งเสียใจภายหลังว่า "มันจากไปแล้ว" มันจากไปด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ซึ่งคือความหมายแห่งความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นการพลัดพรากจากไปเป็นของธรรมดาตามแบบสามัญทั่วไป แห่งการไม่มีสิ่งสิ่งนั้นอยู่แล้วโดยความหมายโดยสภาพในตัวมันเอง หรือใจเมื่อหากหวังสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้นมา ก็เป็นความทุกข์ใจแบบซึ่งหน้า ณ เดี๋ยวนั้นอยู่แล้วนั่นเอง
ชีวิตของมนุษย์ ผู้ที่มีความต้องการอยู่ในกมลสันดานอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ที่แสดงกรรมของตนเองต่อสิ่งรอบข้าง และต้องจำยอมรับผลกรรมนั้นอยู่ตลอดไป ด้วยอำนาจแห่งกรรมวิสัยนั้น ก็ในความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ด้วยกัน เป็นสังคมที่ดำเนินไปในทางความมีความเป็นแต่ถ่ายเดียว มนุษย์จึงมีความระมัดระวังในการแสดงออกต่อกัน ได้กระทำถูกบ้างกระทำผิดบ้าง มีความสุขใจบ้างมีความทุกข์ใจบ้าง แต่โดยเนื้อหาแล้วภาวะที่เข้ามาและแบกรับไว้ มันล้วนกลั่นกรองออกมาแสดงเป็นผลแห่งความทุกข์ที่เข้ามาบีบคั้น ให้ใจมนุษย์ต้องทนรับผลของมันอยู่ตลอดไป บางครั้งความทุกข์ยากที่ได้ก่อตัวขึ้น มันมากเสียจนกระทั่งให้หัวใจอ่อนๆของมนุษย์ ผู้ที่ไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาของตนเองได้ถูกวิธี ได้ผุพังกลายเป็นหัวใจที่แตกสลายยับเยิน ไม่อาจทนยินดีรับความทุกข์นั้นไว้ได้ ขาดความเป็นจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ตามที่มันควรจะเป็นไป
แต่ด้วยผลบุญซึ่งคือสภาพที่เป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายได้สร้างสมไขว่คว้าเอาไว้ ด้วยอำนาจแห่งบุญนั้น ก็ทำให้บัณฑิตทั้งหลายได้เรียนรู้ว่า สิ่งต่างๆทั้งหลายที่เข้ามาบีบคั้นและต้องทนแบกรับไว้ แท้ที่จริงมันคือ "ทุกข์" มันเป็นสภาพแห่งความทุกข์ และทุกข์นี้เองมันทำให้บัณฑิตเหล่านี้ ได้พึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นเหตุที่ทำให้ต้องหาทางออกจากมัน ถึงแม้ว่าทุกข์นั้นมันจะเป็นโทษ แต่ทุกข์นั้นโดยสภาพมันเอง มันก็คือ เมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ ที่มันทำหน้าที่เป็นเหตุและปัจจัย "อย่างแท้จริง" ที่ทำให้เราได้มีสติมีกำลังใจกระตุ้นเตือนตนเองว่า เราควรหนีห่างออกจากมันโดยฉับพลัน นี่คือ "ความทุกข์" แห่งพุทธะ
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
7 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
noppaknam:
:45: :45: :45: : 13:
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 12 ความเงียบบนเส้นทางนั้น
พวกเราต่างก็ถูกปกคลุมให้อยู่ในฐานะ เป็นบรรดาสรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด หมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายภพชาติกันไปแบบไม่มีวันจบสิ้น แถมยังล้วนแต่เป็นสรรพสัตว์ที่โง่เขลาอ่อนด้อยทางปัญญา มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตใจเราอยู่ตลอดเวลา ความหลงผิดดังกล่าวทำให้เรามีแต่ความยินดียินร้าย เมื่อมีเหตุและปัจจัยเข้ามากระตุ้น ให้เข้าไปยึดในความมีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น ตามโมหะแห่งสรรพสัตว์เราทั้งหลาย
ก็ขอให้พึงสำเหนียกเอาไว้เลยว่า ความสุขและทุกข์ที่เราได้รับอยู่ตลอดเวลานั้น มันล้วนเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ของเราเอง พาเข้าไปมองเห็นแบบเข้าใจผิดว่า "มีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น" และอวิชชาความไม่รู้อีกเช่นกัน ก็พาเข้าไปยึดขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้นนั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนปรุงแต่งกลายมาเป็น "จิต" เป็นจิตที่มีแต่เนื้อหายินดียินร้ายไปในทางสรรพสิ่งแห่งมายาของตน ซึ่งเป็นผลพวงจากที่ตนเองเข้าใจผิดต่อความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ก็ทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงสังขารการปรุงแต่งไปตามเหตุและปัจจัย ที่เข้ามาเพียงเท่านั้น
แท้จริงแล้วเหตุปัจจัยที่เข้ามา "มันก็หามีไม่" "ความมี" แห่งเหตุและปัจจัยนั้นมันก็หาคงตัวคงที่ถาวรไม่ มันย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะโดยสภาพตามธรรมชาติของมันแห่งเหตุและปัจจัยที่เข้ามานั้น โดยตัวมันเองมันก็ย่อมไม่มีย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่แล้ว เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติอันคือคุณลักษณะของมัน มันก็ย่อม "หมดเหตุ" ในเหตุและปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควร ไม่ต้องเข้าไปรู้สึกดีใจหรือเสียใจในสิ่งที่เข้ามา ก็ในเมื่อสิ่งที่เราคิดและอาจประสบพบเจอ มันอาจเป็นเพียงความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ทั้งสองทางมันก็ล้วนเกิดจาก "จิตที่เราปรุงแต่งขึ้น"
เมื่อมันล้วนแต่เป็นเพียงมายาแห่งการปรุงแต่ง สรรพสัตว์ผู้ที่เข้าใจในธรรมชาติแห่งทุกสรรพสิ่งว่า แท้ที่จริงหามีสิ่งใดไม่ ธรรมชาติมันคงปรากฏแต่เนื้อหา แห่งความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีอันหาจุดเริ่มต้นของมันไม่ได้ และไม่มีวันที่จะมีจุดจบสลายหายไป มันเป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่าแบบคงตัวถาวร ตลอดสายถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ตามเนื้อหาตามสภาพของมันแบบธรรมชาติอยู่อย่างนั้น สรรพสัตว์ผู้ที่มีความตระหนักชัดในความหมายแห่งธรรมชาตินี้ และสามารถซึมซาบกลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน "ได้แบบมั่นคง" หามีความหวั่นไหวไปตามมายาอันคือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ก็ขึ้นชื่อได้ว่าสรรพสัตว์ผู้นั้นกำลังได้ปฏิบัติธรรม และกำลังเดินไปบนเส้นทางอริยมรรค อันคือหนทางไปสู่ความหลุดพ้น แบบเงียบๆอยู่คนเดียว ในท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวันของตน ต่อสังคมรอบข้างได้อย่างเหมาะสมลงตัว
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
8 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version