คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า)
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงของพระเจ้า
ภควัทคีตา เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู
โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพ
หรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุด
ชื่อคัมภีร์ ภควัทคีตา (ภควตฺ + คีตา)
แปลว่า "บทเพลง (หรือลำนำ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า"
คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศ คือมิได้แต่งขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวเป็นเล่มเฉพาะ
เหมือนดัง คัมภีร์พระเวท แต่ละเล่ม
แท้ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคล 2 คน
ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่ 6 (ภีษมบรรพ) แห่ง
มหากาพย์[/b]มหาภารตะ
ในบทสนทนาโต้ตอบดังกล่าวนี้ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือพระอรชุน
เจ้าชายฝ่ายปาณฑพแห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่
มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสตินาปุระจากฝ่ายเการพ แห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน
ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยธน์และกองทัพพันธมิตรมากมาย
เป็นศัตรูคู่สงครามด้วย ฝ่ายที่ตอบปัญหาทั้งหมดและเป็นผู้อธิบาย
ตลอดทั้งเรื่องก็คือ พระกฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์
สาขายาทพ
ในขณะที่ตอบปัญหาอันล้ำลึกดังกล่าวนั้น พระกฤษณะกำลังทำหน้าที่
เป็นสารถีขับรถศึกให้พระอรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย
ผู้เป็นเสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฏร์ พระราชาพระเนตรบอด
แห่งเมืองหัสตินาปุระ
โดยมหาฤษีวยาสหรือพระฤษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สัญชัย
เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งในมหาสงครามครั้งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง
ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในพระราชวัง และคอยกราบทูล
พระเจ้าธฤตราษฎร์ให้ทราบการเคลื่อนไหวทุกขณะในสมรภูมิ
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน..
(บทที่ ๑ - ๑๘)
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)
บทที่หนึ่ง
ราชาธฤตราษฎร์ตรัสถามว่า
สัญชัย! เมื่อกองทหารของเรากับกองทัพฝ่ายปาณฑพเผชิญหน้ากัน ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร พวกเขาได้ทำอะไรกันบ้าง
สัญชัยกราบทูลว่า
เมื่อทุรโยธน์ทอดพระเนตรเห็นกองทัพปาณฑพเตรียมพร้อมอยู่กลางสนามรบก็เสด็จเข้าไปหาอาจารญ์โทรณะพลางรับสั่งว่า
ดูนั่นเถิดท่านอาจารย์! กอบทัพมหึมาของราชบุตรวงศ์ปาณฑุ พวกเขาจัดกระบวนทัพตามแบบบุตรแห่งทรุบท(หมายถึงธฤษฏทยุมัน โอรสของราชาทรุบทแห่งแคว้นปาญจาละ-ผู้แปล) ท่านอาจารย์! นับว่าศิษย์ของท่านฉลาดมากทีเดียว
ในกองทัพนั้นมีผู้กล้าในเชิงธนูเสมอด้วยภีมะและอรชุนอยู่หลายคน นั่นคือยุยุธาน, วิราฏและทรุบทนักรบผู้ยิ่งใหญ่
และนั่น! ธฤษฏเกตุกับเจกิตานและกษัตริย์นักรบผู้กล้าแห่งแคว้นกาศี ส่วนนั่น! ปุรุชิต, กุนติโภชและไศพยะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจอมแห่งคน
และนั่น! ยุธามันยุผู้เข้มแข็งกับอุตตเมาช์ผู้กล้าหาญ บุตรของนางสุภัทรา(หมายถึงอภิมันยุ โอรสของอรชุนที่เกิดจากนางสุภัทรา-ผู้แปล) ล้วนแล้วแต่เป็นยอดแห่งนักรบ
ท่านอาจารย์! สำหรับแม่ทัพและนายทหารที่กร้าวแกร่งและมีฝีมือเป็นเลิศของฝ่ายเรานั้น มีรายนามดังข้าพเจ้าจะเรียนให้ทราบดังนี้
คนแรกก็คือท่านอาจารย์เอง คนต่อมาคือภีษมะ, กรณะ และกฤปะ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวนามมาต่างก็เคยผ่านสมรภูมิรบและได้รับชัยมาแล้วอย่าง โชกโชนทั้งสิ้น และนั่น! อัศวัตถามา, วิกรณะกับบุตรของโสมทัตต์
นอกแต่นั้นยังมีนักรบผู้กล้าหาญที่พร้อมจะสละชีพเพื่อข้าพเจ้าอีกนับอนันต์ พวกเขามีอาวุธครบครันบริบูรณ์ และทุกคนต่างก็ชำนาญเป็นเลิศในการยุทธทั้งสิ้น
รี้พลของฝ่ายเราภายใต้การนำของภีษมะมีจำนวนมหาศาล ส่วนไพร่พลของฝ่ายโน้นที่ภีมะบัญชาทัพอยู่ดูจะเบาบางกว่าฝ่ายเรา
มาเถิดท่านทั้งหลาย! มาช่วยกันสนับสนุนภีษมะแม่ทัพกล้าของฝ่ายเรา! ผู้ใดอยู่ในตำแหน่งใด ก็ขอให้ตั้งมั่นในตำแหน่งของตนเถิด!
ฝ่ายภีษมะนักรบผู้เฒ่าแห่งวงศ์กุรุ เพื่อจะยังความฮึกเหิมให้เกิดทุรโยธน์ จึงบันลือสีหนาทกึกก้องแล้วเป่าสังข์เสียงหวีดกังวาน
ทันใดนั้น บรรดาสังข์, กลอง, บัณเฑาะว์, กลองศึกและเขาสัตว์ก็กระหึ่งเสียงประสานรับอื้ออึง
และทันทีที่ยุทธมโหรีกระหึ่งก้อง กฤษณะกับอรชุนซึ่งนั่งอยู่บนรถศึกเทียมด้วยม้าสีขาวก็ยกสังขอันไพเราะ ประหนึ่งสังขทิพยของตนขึ้นเป่า
กฤษณะเป่าสังข์ปาญจชันยะ อรชุนเป่าสังข์เทวทัตตะ ส่วนภีษมะเป่ามหาสังข์เปาณฑระ
ยุธิษฐิระเป่าสังข์อนันตวิชัย นกุละเป่าสังข์สุโฆษ ส่วนสหเทพนั้นเป่าสังชื่อมณีบุษบก
ราชาแห่งแคว้นกาศีผู้เชี่ยวชาญเป็นเลิศในศิลปะการยิงธนูก็ดี ศิขัณฑี ผู้เป็นจอมแห่งนักรบทั้งหลายก็ดี ธฤษฏทยุมันและวิราฏ พร้อมทั้งสาตยกิผู้ไม่เคยพ่ายใครทั้งสามนี้ก็ดี
ทุรบทก็ดี บุตรของนางเทราปทีทั้งห้าก็ดี บุตรของนางสุภัทราก็ดี ทั้งหมดต่างเป่าสังข์ของตนเสียงดังอึงอลทั่วทั้งสนามรบ
ยุทธมโหรีนั้นกึกก้องไปทั่วแผ่นดินและผืนฟ้า ยังหทัยของเหล่าราชบุตรแห่งธฤตราษฎรราชาระรัวสั่นด้วยเพลงสงครามนั้น
ข้างฝ่ายอรชุนเมื่อมองเห็นทัพของฝ่ายเการพประชิตเข้ามาจวนเจียนจะปะทะกันด้วย อาวุธเช่นนั้น ก็ยกธนูขึ้นสายเตรียมท่าจะยิง
แล้วอรชุนก็หันไปตรัสกับกฤษณะผู้ทำหน้าที่สารถีว่า
นี่แน่ะสหาย! โปรดเคลื่อนรถของเราให้เข้าไปอยู่ระหว่างกองทหารทั้งสองฝ่ายทีเถิด
เพื่อว่าเราจะได้เห็นพวกกระหายสงครามเหล่านั้นได้ชัดเจนและจะได้รู้ว่าใคร กันที่เราจะสัประยุทธ์ด้วยในมหาสงครามครั้งนี้
เราอยากจะดูว่าใครบ้างมารวมกันอยู่ที่นั่นเพื่อสนับสนุนทุรโยธน์ผู้ใจบาป
เมื่ออรชุนกล่าวเช่นนั้น กฤษณะก็เคลื่อนนรถศึกเข้าไปหยุดอยู่ระหว่างกองทัพทั้งสอง
เบ้องหน้าของอรชุนยามนั้นคือภีษมะ, โทรณาจารย์ พร้อมเหล่าราชวงค์และขุนศึกฝ่ายเการพ
แล้วกฤษณะก็ตรัสแก่อรชุนว่า
ดูนั่นอรชุน!จงดูวงค์กุรุที่มาชุมนุมกันอยู่ข้างหน้านั่น!
อรชุนเห็นภาพเช่นนั้นก็พลันบังเกิดความสะเทือนใจอย่างแรง ลั่นวาจาออกมาว่า
กฤษณะ! เราได้เห็นญาติพี่น้องที่มาชุมนุมกันด้วยความกระหายอยากในการเข่นฆ่าแล้ว!
แขนขาของเราอ่อนล้าเหลือเกิน ปากของเราแห้งผาก ตัวเราสั่น ขนตามตัวของเราลุกชันด้วยความสยดสยอง
นั่น! คาณฑีวะธนูศึกของเราร่วงจากมือเราแล้ว ตัวเราร้อนผ่าวไปหมดแล้ว เราจวนเจียนจะทรงกายอยู่ไม่ไหวแล้ว หัวใจเรามันจะหยุดเต้นแล้วเพื่อนเอ๋ย
กฤษณะ! เรามองเห็นลางร้ายเสียแล้วเวลานี้ มันจะม่เป็นนิมิตร้ายได้อย่างไรเล่าในเมื่อญาติพี่น้องพากันยกทัพมาเพื่อ เข่นฆ่ากันเองเช่นนี้
กฤษณะเอ๋ย! เราไม่ต้องการชัยชนะ ไม่ต้องการความเป็นเจ้า หรือความสุขที่ต้องแลกมาด้วยเลือด จะมีประโยชน์ใดเล่ากับสิ่งทเหล่านี้หรือแม้แต่ชีวิต
มิใช่เพราะความกระหายอยากในราชทรัพย์ ความมั่งคั่ง และความสุขดอกหรือที่พี่น้องร่วมสายเลอดต้องหันหน้าเข้าเข่นฆ่ากันอยู่เวลา นี้
นั่นครูของเรา! นั่นบิดาเรา! นั่นบุตรของเรา!นั่นปู่เรา!นั่นลุงของเรา! นั่นพ่อตาเรา! นั่นหลานเรา! นั่นน้องเขาของเรา! และนั่นก็ล้วนแต่ญาติมิตรของเราทั้งสิ้น!
เราถึงจะถูกเข่นฆ่าก็ไม่ปรารถนาจะทำร้ายพี่น้องร่วมสายเลือด ต่อให้เอาสมบัติในไตรโลกมาเป็นรางวัล ก็อย่างหมายว่าเราจะยอมเอาเลือดของพี่น้องเข้าละเลงแลกมา
ฆ่าฟันพี่น้อง จะมีความสุขใดตามมาหรอ จะมีก็แต่ผลกรรม อันเป็นบาปเท่านั้นตามติดเราไป
อย่างนี้แล้ว เรายังจะคิดประหัตประหารกันและกันอยู่หรือ บอกหน่อยซิสหาย! หากเราฆ่าพี่น้องของเราด้วยมือเราแล้ว เรายังจะมีสุขอยู่หรือ!
เวลานี้พี่น้องเราถูกความละโมบเข้าบดบังดวงตา ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมองไม่เห็นโทษของการทำลายวงศ์ตระกุลและญาติมิตร
แต่เราสิสหาย เรานั้นเห็นโทษภัยดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ก็ไฉนเราจึงไม่เลี่ยงจากบาปนั้นเล่า
การทำลายวงศ์สกุลก็เท่ากับการทำลายกุลธรรมอันมีมาแต่โบราณและเมื่อธรรมถูก ย่ำยี มีหรือที่อธรรมจะไม่ครอบงำวงค์ตระกุลนั้น
เมื่ออธรรมเติบใหญ่ สตรีในตระกูลก็จะพากันเลวลง เมื่อสตรีเลวลง วรรณะก็ย่อมจะพลอยมัวหมอง
ผู้ทำให้วรรณะมัวหมองย่อมไม่พ้นจากนรก แม้กระทั่งบรรพบุรุษของคนผู้นั้นที่ล่วงลับไปแล้วก็ต้องพลอยลำบากเพราะไม่มี ผู้คอยอุทิศข้าวและน้ำไปให้ในปรภพ
อนึ่งเล่า การที่วรรณะมัวหมองก็เท่ากับเป็นการทำลายชาติธรรมและกุลธรรมให้พินาศ
กฤษณะ! เราเคยฟังมาว่ามนุษย์ผู้มีกุลธรรมอันพินาศแล้วย่อมทนทุกขอยู่ในขุมนรกตราบชั่วนิรันดร์
โอ! นี่มิใช่บาปมหันต์ดอกหรือที่เราจะมาฆ่าฟันญาติพี่น้องเพื่อแย่งชิงกันเสวยสุขในราชสมบัติ
หากว่าราชบุตรเการพสามารถสังหารเราผู้ไม่คิดตอบโต้และปราศจากอาวุธในมือได้
เราจะไม่เสียใจอันใดเลย!
เมื่ออรชุนกล่าวจบก็ทรุดตัวนั่งลงบนรถศึก ทิ้งธนูและลูกศรออกไป หทัยท่วมท้นด้วยความโศกสะเทือน
ฐิตา:
ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
บทที่สอง
สัญชัยกราบทูลต่อว่า
เมื่อราชากฤษณะทอดพระเนตรเห็นอรชุนบังเกิดความท้อถอยเช่นนั้นก็ตรัสขึ้นว่า
อรชุน! เหตุใดท่านจึงทำใจให้หดหู่ในช่วงเวลาคับขันเช่นนี้เล่า ความท้อแท้เช่นนี้น่าจะเป็นวิสัยของอนารยชน หาใช่วิสัยของอารยชนเช่นท่านไม่ มันคือทางปิดกั้นมิให้เราเข้าสู่ประตูสวรรค์ อนึ่งเล่าความท้อถอยนี้แหละที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเกียรติ อย่าเพิ่งท้อแท้ซิอรชุน ความอ่อนแอเช่นนั้นไม่สมควรกับท่านผู้เป็นนักรบเลย จงขจัดความอ่อนแอในจิตใจ แล้วลุกขึ้นสู้เถิดสหาย
อรชุนตอบว่า
กฤษณะ!ท่านจะให้เราจับอาวุธขึ้นสังหารท่านภีษมะ และอาจารย์โทรณะที่เราเคารพบูชากระนั้นหรือ! ฟังนะกฤษณะ! สำหรับเรานั้น การขอทานเขากินย่อมประเสริฐกว่าการฆ่าครูผู้มีคุณ!
การสังหารครูผู้มีพระคุณเพราะความละโมบในทรัพย์และความยิ่งใหญ่ จะต่างอะไรเล่ากับการบริโภคอาหารอันระคนด้วยเลือด แม้เราทั้งสองฝ่ายก็ทีเถิด ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครหรือพวกไหนดีเลวกว่ากัน ทั้งการรบก็ไม่อาจพยากรณ์ได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายมีชัย จะให้เราฆ่าพี่น้องร่วมสายเลือด แล้วแสร้งฝืนทำหน้าชื่นมีชีวิตอยู่ต่อไป ข้อนี้เราทำไม่ได้ดอกเพื่อนเอ๋ย
เวลานี้จิตใจของเราถูกความสงสารครอบงำจนกลายเป็นความอ่อนแอ เราไม่ทราบว่าอะไรคือหน้าที่ของนักรบแล้วยามนี้ เราขอถามท่าน จงตอบเราเถิดว่าเราจะทำอย่างไรดีกับสภาพจิตใจเช่นนี้ ขอท่านจงให้ความกระจ่างแก่เรา โดยถือเสียว่ายามนี้เราคือศิษย์คนหนึ่งของท่านเถิด เรามืดมนเกินที่จะมองเห็นสิ่งอันจะมาขจัดความเศร้าสลดที่ครอบงำจิตใจได้ ความเป็นใหญ่ในผืนแผ่นดินและไอศูรย์สมบัติในแดนสวรรค์ก็ไม่อาจช่วยเหลือเราได้
เมื่อกล่าวกับกฤษณะเช่นนั้นแล้ว อรชุนก็ลั่นวาจาสุดท้ายออกมาว่า “เราไม่รบ!”แล้วนิ่งเงียบ
กฤษณะเห็นเช่นนั้นก็ยิ้มพลางกล่าวขึ้นกับอรชุนว่า
ใยท่านจึงมัวเศร้าสลดกับสิ่งอันไม่ควรเศร้าสลดเช่นนั้น ถ้อยคำที่ท่านพูดมาทั้งหมดก็น่ารับฟังดีหรอก แต่สมควรหรือที่ผู้มีความคิดจะพึงไปพะว้าพะวงกับความตายหรือการมีชีวิตอยู่
ไม่ว่าเรา, ท่าน, หรือราชบุตรเการพเหล่านั้น ทั้งหมดไม่มีใครเกิดและไม่มีใครตาย
อาตมันที่สิงอยู่ในร่างของเราต่างหากที่ลอยล่องผ่านร่างเด็ก, ร่างหนุ่มสาว, และร่างชราของเราไป อาตมันนี้ย่อมจะเข้าสิงอาศัยร่างใหม่เรื่อยไป เมื่อร่างเก่าขำรุดจนใช้งานไม่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่คลางแคลงในเรื่องนี้* (โศลกนี้ท่านผู้อ่านพึงทำความเข้าใจให้ดี เพราะนี่คือหัวใจของแนวคิดแบบฮินดูที่ถือว่าขีวิตเป็นเพียงกระแสไหลเวียนของอาตมันอันเป็นอานุภาพที่แยกย่อยออกมาจากปรมาตมันซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักวาล ชีวิตจึงไม่มีการเกิดและการตาย ที่เราสมมติเรียกว่าตายหรือเกิดนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนที่สิงสถิตของอาตมันที่ละร่างเก่าไปหาร่างใหม่ ระหว่างการเวียนว่ายเพื่อเข้าปรมาตมันอันเป็นแดนสงบสูงสุดของชีวิตเท่านั้น-ผู้แปล)
หนาว, ร้อน, สุข, ทุกข์ ฯลฯ เกิดจาการประจวบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน นึกจะมามันก็มา นึกจะไปมันก็ไป เพราะฉะนั้น ท่านจงหัดอดทนในสิ่งเหล่านี้เสียบ้างเถิด
ผู้ที่วางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับสุขทุกข์ได้ ชื่อว่า ทำขีวิตตนเองให้เป็นอมตะ
ในอสัตยภาวะ ย่อมไม่มีภาวะแห่งความจริง เช่นกันกับที่ในสัตยภาวะย่อมไม่ปราศจากภาวะแห่งความจริง ผู้ประจักษ์สัจจะย่อมมองเห็นความจริงสองประการนี้
ขอท่านจงทราบเอาไว้ว่าในสกลจักรวาลนี้มีอานุภาพอย่างหนึ่งแผ่ซ่านอยู่ทั่ว อานุภาพนี้ไม่รู้จักพินาศแตกดับ ไม่มีใครทำลายมันได้ มันคืออาตมัน มันสิงอยู่ในร่างมนุษย์ มันคือภาวะนิรันดรเหนือการพิสูจน์หยั่งรู้
ใครก็ตามที่คิดว่าอาตมันนี้เป็นผู้ฆ่า หรืออาตมันนี้เป็นผู้ถูกฆ่า คนผู้นั้นไม่รู้ความจริง เพราะอาตมันนี้ไม่เคยฆ่าใคร และใครฆ่าไม่ได้
อาตมันนี้ไม่เกิด ไม่ตาย เป็นสภาวะนิรันดร เที่ยงแท้ไม่มีแปรเปลี่ยน
เมื่อร่างกายของคนถูกฆ่า อาตมันหาได้ถูกฆ่าด้วยไม่
อรชุน! ใครก็ตามที่รู้ซึ้งถึงอาตมันอันเป็นสภาวะนิรัดรไม่รู้จักพินาศแตกดับอย่างนี้แล้ว เขาผู้นั้นจะได้ชื่อว่าฆ่าใครหรือถูกใครฆ่าอยู่หรือ
อุปมาเหมือนคนถอดเสื้อผ้าที่เก่าชำรุดทิ้งแล้วสวมเสื้อผ้าใหม่เข้าแทน อาตมันก็ฉันนั้น ละร่างเก่าแล้วก็ลอยล่องออกสิงสู่ร่างใหม่
อาตมันนั้นไม่มีอาวุธหรือศาสตราชนิดใดตัดขาด ไฟก็เผาไหม้ให้พินาศ น้ำก็มิอาจพัดพาให้เปียกละลาย กระทั่งลมก็ไม่สามารถกระพือพัดให้แห้งระเหยไป
เพราะตัดไม่ขาด เผาไม่ไหม้ ถูกน้ำถูกลมก็ไม่ละลายหรือแห้งเหือด อาตมันจึงชื่อว่าเป็นสภาวะอันนิรันดร แผ่ซ่านอยู่ทุกอณูของจักรวาล ยืนยงไม่รู้จักแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา
อาตมันนี้ไม่ปรากฏให้เห็นแจ่มแจ้ง คิดตามก็ไม่อาจหยั่งทราบทั้งยังเป็นสภาวะอันเที่ยงแท้ชั่วนิตย์นิรันดร์
อรชุน! รู้อย่างนี้แล้ว ท่านยังจะเศร้าสลดอยู่ไย
อนึ่งเล่า ท่านก็รู้อยู่ไม่ใช่หรือว่าตนเองต้องเกิดและตายเวียนว่ายอยู่อย่างนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ฉะนี้แล้วท่านยังจะท้อแท้อยู่ทำไม
เมื่อเกิดก็ต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด นี่คือสภาพอันแน่นอน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงการเกิดและการตายได้ ก็เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ไฉนท่านจึงมัวหดหู่กับมันอยู่เล่า
ชีวิตคนเรานั้น ก่อนก่อเกิดเราก็ไม่ทราบว่ามันมาอย่างไร ครั้นหลังจากตายไปแล้วเราก็ไม่อาจคาดรู้ว่ามันจะไปอย่างไร มีเพียงปัจจุบันของชีวิตเท่านั้นที่เราพอจะรู้และเห็นตามมันได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะมัวไปกังวลกับชีวิตกันทำไม
เรื่องราวของอาตมันนี้ใครได้เห็นก็ต้องออกปากว่าน่าอัศจรรย์ ใครได้พูดถึงมันก็พูดถึงด้วยความอัศจรรย์ใจ กระทั่งคนที่รับฟังเรื่องราวของมันก็รับฟังด้วยความอัศจรรย์ แม่เมื่อรับฟังแล้ว ก็ไม่มีใครสักคนรู้จักมัน
อรชุน! เมื่อรู้ว่าชีวิตมีอาตมันอันเป็นนิรันดรเป็นแก่นแท้เช่นนี้แล้ว สมควรอยู่หรือที่ท่านจะมัวกังวลกับชีวิต
จงคำนึงถึงหน้าที่ของตนให้มั่นเถิด อย่าได้หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้เลย เพราะในโลกนี้ไม่มีความดีอันใดของกษัตริย์เทียบเท่ากับการทำสงครามเพื่อปกป้องความถูกต้อง*นี้ได้เลย (คำว่า “การทำสงครามเพื่อปกป้องความถูกต้อง”นี้ ภาษาสันกฤตท่านใช้ว่า “ธรรมสงคราม”ในโศลกนี้ว่า “หน้าที่”ผู้แปลเห็นว่าทรรศนะของท่านก็น่ารับฟัง หากแต่ที่แปลต่างออกมาเช่นนั้นก็เพราะมีความเห็นว่า คำว่าธรรมสงครามน่าจะหมายเอาการรบที่ทำไป เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องซึ่งย่อมจะตรงกันข้ามกับการทำสงครามเพื่อรุกรานอันเป็นสงครามอธรรม-ผู้แปล)
The Universal Form of Sri Krishna, seen by Arjuna before the Battle of Kurukshetra
อรชุน! กษัตริย์ที่ทำสงครามแล้วได้เสวยสุขอันเกิดจากสงสงครามที่ทำมาด้วยมือนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เผยประตูสวรรค์ให้แก่ตนเอง
ถ้าท่านไม่ยอมทำสงครามเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งความเป็นธรรมครั้งนี้ ก็เท่ากับว่าท่านนั้นได้ละทิ้งหน้าที่และเกียรติของตนเอง การละเลยหน้าที่นั้นจะพาให้ท่านประสบกับบาปกรรม
คนทั้งหลายจะพากันประณามท่าน ท่านก็เคยฟังมาไม่ใช่หรืออรชุน ว่าสำหรับบุคคลผู้ถือกำเนิดมาในตระกูลที่สูงส่ง เขาย่อมเลือกเอาความตายแทนการมีชีวิตอยู่อย่างในไร้เกียรติและศักดิ์ศรี
บรรดานายทหารทั้งหลายที่เคยยกย่องท่านว่าเป็นผู้กล้า ก็จะพากันหยามหมิ่นว่าท่านกลัวตายจนต้องลนลานหนีจากสนามรบ
ทั้งศัตรูเล่าก็จะพากันปรามาสท่านว่าหมดสิ้นความสามารถ จะมีทุกข์อะไรอีกเล่ายิ่งไปกว่าการถูกหยามหยันทั้งจากศัตรูและพวกพ้องเดียวกันเช่นนี้
รบเถิดอรชุน! เพราะหากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ก็ยังเปิดประตูรอท่านอยู่ แม้นหากว่าท่านมีชัย ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็รอให้ท่านครอบครองอยู่แล้ว
จงวางใจให้เสมอในสุขและทุกข์ ในลาภและความเสื่อมลาภ ตลอดจนในชัยชนะและความพ่ายแพ้ แล้วเตรียมพร้อมเพื่อการรบเถิด
ทำได้อย่างนี้ท่านจึงจะปลอดพ้นจากบาป
หลักคำสอนที่เรากล่าวแก่ท่านนี้เรียกว่าสางขยพุทธิ และต่อไปนี้ ขอท่านจงสดับพุทธิอันอยู่ในฝ่ายโยคปรัชญา
อรชุน! พุทธิอันได้แก่ความรู้แจ้งในเรื่องโยคะนี้ หากท่านสามารถเข้าถึงย่อมจะพาให้ท่านปลดเปลื้องตัวเองออกจากพันธนาการแห่งกรรมได้หมดสิ้น
ในปรัชญาโยคะนี้มีหลักปฏิบัติง่ายๆ อยู่คือ ไม่เสียใจกับสิ่งที่สูญเสียไปกับไม่ดีใจในสิ่งที่ได้มา หลักปฏิบัติเพียงเล็กน้อยนี้หากใครสามารถทำตามได้ เขาย่อมสามารถพาตนเองข้ามมหันตภัยแห่งชีวิตอันใหญ่หลวงได้
มีต่อค่ะ
ฐิตา:
บทที่สอง(ต่อค่ะ)
อรชุน! แท้ที่จริงโยคะคือการกระทำจิตให้บริสุทธิ์นี้ก็คือการรวบรวมความคิดนึกให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อใดที่ความคิดของเราซัดส่ายเมื่อนั้นจิตย่อมไร้สมาธิ
ใครก็ตามที่หยังหลงงมงายในอักขระแห่งคัมภีร์พระเวท ใครก็ตามที่ใจแคบกล่าวอ้างว่าสิ่งที่ตนเชื่อถือเท่านั้นถูกต้อง นอกนั้นผิดหมด คนผู้นั้นแม้ใจจะปรารถนาเข้าสู่สวรรค์ สู้บำเพ็ญบุญทานนานาประการก็ยังชื่อว่าเป็นคนโง่อยู่ดี
จิตของบุคคลผู้ติดข้องในทรัพย์และอาจย่อมไม่อาจตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ฉันใด จิตที่ถูกความงมงายในคัมภีร์ครอบคลุมไว้ ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่ความแน่วแน่ได้ฉันนั้น
อรชุน! คัมภีร์พระเวทนั้นประกอบด้วยหลักคำสอนใหญ่ๆ อยู่สามประการคือ สัตตวะ, ระชะ, และ ตมะ* (หลักคำสอนสามประการนี้เรียกว่าองค์คุณทั้งสามของพระเวท เป็นหลักคำสอนที่กล่าวถึงธรรมชาติพื้นฐานของชีวิต โดยจำแนกเป็นสัตตวะ-ความดีงาน, รชะ-ความทะยานอยากในทางที่ผิด, และ ตมะ-ความลุ่มหลงมืดบอด ธรรมชาติสามอย่างนี้ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคนมาแล้วแต่กำเนิด สัตตวะเป็นธรรมชาติฝ่ายดีงาม สร้างสรรค์, ส่วนรชะกับตมะเป็นธรรมชาติฝ่ายเลวและทำลาย คำอธิบายขององค์คุณทั้งสามนี้มีละเอียดในบทที่ ๑๔ ข้างหน้า หลักคำสอนสามประการนี้ถือเป็นหลักคำสอนในขั้นศีลธรรมเหมือนคำสอนเรื่องกุศลกับอกศลของพุทธศาสนา การจะเข้าถึงหลักธรรมขั้นปรมัตถ์ท่านจึงสอนให้ละเรื่องเหล่านี้เสีย เหมือนที่ชาวพุทธถือกันว่าละบุญละบาปได้จึงจะถึงนิพพาน-ผู้แปล)
แม้หลักคำสอนสามประการนี้ เมื่อถึงที่สุดแล้วท่านก็จำต้องละเพื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง
จงทำใจให้ข้ามพ้นสภาวธรรมอันเป็นคู่ทั้งหลาย เช่น สุข-ทุกข์, นินทา-สรรเสริญ, หรือ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ฯลฯ เป็นต้นเสีย แล้วหันมายึดเหนี่ยวเอาความผ่องใสของดวงใจเป็นที่พึ่งเถิด
อุปมาดังบ่อน้ำอันอำนวยประโยชน์แก่ผู้คนก็เนื่องเพราะเหตุที่บ่อนั้นเปี่ยมเต็มด้วยน้ำอันใสสะอาด ประโยชน์แห่งคัมภีร์พระเวทจะมีก็เฉพาะแก่ผู้รู้แจ้งในแก่นแท้แห่งคัมภีร์เท่านั้น
การบรรลุถึงสัจจะที่ถูกต้องจะมีได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักคำสอนเท่านั้น การรอคอยผลโดยไม่ทำการใดๆ ย่อมไม่อาจพาบุคคลเข้าสู่ความจริงได้ เพราะฉะนั้น จงเริ่มลงมือปฏิบัติเถิดอรชุน อย่ามัวนั่งรอผลแห่งกรรมโดยไม่กระทำอะไรเลย
ขอท่านจงยึดมั่นในโยคะอันได้แก่การทำใจให้บริสุทธิ์เถิด และสำหรับความยึดติดที่ผิดๆ ในตัวตนก็ขอให้ท่านละเสีย จงวางใจให้เป็นกลางทั้งในความสำเร็จและล้มเหลวของชีวิต ทำได้ดังที่ว่ามา ท่านย่อมจะได้ชื่อว่าปฏิบัติครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักแห่งโยคะ แท้ที่จริงนั้นโยคะนี้ก็คือการทำใจให้สม่ำเสมอไม่เอนเอียงในทุกสภาวธรรม ไม่ว่าสภาวธรรมนั้นๆ จะดีหรือเลวก็ตาม
บาป กับ ปัญญา สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
อรชุน! จงแสวงหาที่พึ่งคือปัญญาเถิด
บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมมองเห็นว่าทั้งความดีและเลวล้วนแต่เป็นสิ่งที่พึงสละทิ้งทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น จงมั่นใจในโยคะเถิดอรชุน เพราะโยคะนี้คือหลักยึดสำหรับช่วยให้เราทำกรรมได้โดยไม่ผิดพลาด
อนึ่งเล่า ผู้ประกอบด้วยปัญญา สละผลกรรมแล้วย่อมพ้นจากพันธนาการอันได้แก่การเกิด มุ่งหน้าสู่ภูมิอันปราศจากความทุกข์โศกชั่วนิรันดร์
เมื่อใดก็ตามที่ปัญญาของท่านข้ามพ้นคลื่นปั่นป่วนแห่งทะเลความลุ่มหลง เมื่อนั้นท่านจะหมดสิ้นความสงสัยในสิ่งที่เคยฟังมาก่อนและในสิ่งอันไม่เคยสดับฟัง
ยามใดที่ปัญญาของท่านแปรปรวนไม่แนบแน่นอยู่ในสิ่งอันได้รับฟังมา, ยามนั้นขอท่านจงตั้งปัญญาให้มั่นด้วยอำนาจแห่งสมาธิ ทำได้อย่างนี้ ท่านจะบรรลุถึงโยคะ
The Beginning of the Battle of Kurukshetra
อรชุนถามว่า
กฤษณะ! บุคคลผู้มีปัญญาและสมาธิตั้งมั่นนั้นมีลักษณะเช่นใด คนเช่นนั้นเขาพูด เขานั่ง หรือเขาเดินอย่างไร
กฤษณะตอบว่า
อรชุน! บุคคลผู้ละความทะยานอยากทั้งมวลในจิตใจได้หนึ่ง, บุคคลผู้ยินดีในอาตมันของตนหนึ่ง, บุคคลที่มีลักษณะดังว่ามานี้ท่านเรียกว่าผู้มีปัญญาตั้งมั่น
อนึ่ง ผู้ไม่หวั่นไหวในคราวประสบทุกข์และไม่กระหายอยากในการแสวงหาสุขอันจอมปลอมใส่ตน คนเช่นนี้เป็นผู้ข้ามพ้นจากความดิ้นรนทะยานอยาก จิตใจเยือกเย็นมั่นคง ท่านเรียกคนเช่นนี้ว่าผู้มีปัญญาตั้งมั่นเช่นกัน
อีกประการหนึ่ง ผู้มีใจเป็นกลางในสรรพสิ่ง ไม่ยินดีเมื่อประสบสิ่งถูกใจหรือขัดใจเมื่อประสบสิ่งอันไม่ถูกใจ ผู้มีลักษณะดังกล่าวนี้ท่านก็เรียกว่าผู้ปัญญาตั้งมั่นอีกเช่นกัน
อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้สำรวมความรู้สึกให้มั่นคงเมื่อกระทบกับอารมณ์ต่างๆ ดุจเต่าเก็บซ่อนอวัยวะให้ปลอดภัยภายในกระดอง ผู้มีลักษณะเช่นนี้ก็เรียกว่าผู้มีปัญญาตั้งมั่นเหมือนกัน
ผู้สำรวมความรู้สึกได้ดังกล่าวมาจนความรู้สึกนั้นวางเฉยเป็นนิจในทุกอารมณ์ เขาย่อมชื่อว่าเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตแล้ว
อรชุน! คนเราหากเพียรพยายามเข้าหาความบริสุทธิ์ ความพากเพียรนั้นย่อมช่วยให้เขาสามารถเอาชนะใจตนองได้
ผู้ใดสำรวมความรู้สึกให้ตั้งมั่นสม่ำเสมอในทุกอารมณ์ ผู้นั้นย่อมปัญญาแจ่มจ้าและหนักแน่น
สำหรับผู้มีใจผูกแน่นอยู่ในอารมณ์ต่างๆ อันผ่านเข้ามาทางตาและหูเป็นตน ความที่เขามีใจติดข้องในอารมณ์ย่อมทำให้เขาเกิดความกระหายอยาก ความกระหายอยากนั้นเมื่อไม่ได้สมหวังย่อมแปรเป็นความเคียดแค้น
ความเคียดแค้นคือบ่อเกิดของความหลง เมื่อลุ่มหลงย่อมขาดสติ ครั้นสติขาดหาย ปัญญาก็เป็นอันถูกกระทำให้พินาศ ผู้มีปัญญาพินาศย่อมประสบกับความหายนะ
ส่วนผู้มีจิตอันอบรมมาดีแล้วจนสามารถควบคุมความนึกคิดให้มั่นคงเสมอต้นเสมอปลายได้ คนเช่นนั้นย่อมบรรลุถึงความบริสุทธิ์แห่งจิต
เมื่อจิตบริสุทธิ์ ทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมเป็นอันหมดสิ้นไป
ปัญญาและสมาธิย่อมไม่มีแก่ผู้ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เมื่อไม่มีสมาธิ ความสงบก็ไม่มี ความสงบไม่มีแล้วสุขจะมีได้อย่างไร
เมื่อใจปรวนแปรไปตามอารมณ์ต่างๆ ปัญญาก็ย่อมจะลอยล่องไปพร้อมกับความไม่แน่นอนของใจนั้น เสมือนเรือถูกคลื่นลมซัดหอบสู่ห้วงทะเลลึกฉะนั้น
ดังนี้แลอรชุน ปัญญาจะตั้งมั่นก็เฉพาะแก่ผู้ควบคุมความนึกคิดได้เท่านั้น
ขณะที่คนทั้งหลายพากันแสวงหาความสุขจากการนอนในยามราตรี ณ เวลานั้น มุนีผู้สำรวมตนย่อมตื่นอยู่ด้วยความมีสติในการบำเพ็ญเพียร
แควน้อยใหญ่บรรจบไหลหลากล้นสู่ทะเล ทะเลไม่เคยหวาดหวั่นต่อสายน้ำที่ถั่งนองลงมาสู่ตนฉันใด ผู้ควบคุมความรู้สึกได้ย่อมไม่หวั่นไหวเมื่อกระแสอารมณ์ถั่งโถมเข้ามาฉันนั้น
ข้อนี้เป็นเพราะบุคคลผู้สำรวมตนนั้นได้บรรลุถึงความสงบแห่งจิตอันมั่นคงแล้ว บุคคลผู้ยังลุ่มหลงอยู่ในสิ่งยั่วยวน ไม่มีทางจะบรรลุถึงความสงบแห่งใจเช่นนั้นเลย
ผู้ใดละความกระหายอยากในสิ่งยั่วยวนเสียได้ ขณะเดียวกันก็ขจัดความรู้สึกว่านี่คือเรา-นี่ของเราได้หมดสิ้น ผู้นั้นย่อมเข้าถึงความสงบชั่วนิรันดร์
อรชุน! ความสงบชั่วนิรันดร์นี้เป็นเสมอแดนสวรรค์ ใครได้บรรลุถึง ย่อมหลุดพ้นจากความงมงาย มีสุขสถิตมั่นอยู่อาณาจักรแห่งพรหมชั่วกัลปาวสาน
ฐิตา:
ฤๅษีวยาส.. ผู้รจนามหาภารตะยุทธภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)
บทที่สาม
อรชุนถามว่า
กฤษณะ!ก็หากท่านเห็นว่าปัญญาเป็นตัวนำสำคัญในการกระทำทุกอย่างแล้ว เหตุใดท่านจึงชักนำเราให้ทำสงครามอันเป็นบาปมหันต์เล่า
ถ้อยคำอันวกวนของท่านทำให้เราสับสน ขอจงไขความให้กระจ่างหน่อยได้ไหม เอาให้แน่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
กฤษณะตอบว่า
อรชุน! หนทางสำหรับเดินไปสู่นิรันดรของชีวิตนั้นประกอบด้วยส่วนหนุนส่งอยู่สองส่วน คือ ความรู้แจ้งด้วยปัญญาหนึ่ง, กับการลงมือปฏิบัติตามความรู้แจ้งนั้นอีกหนึ่ง
ผู้ละเว้นการปฏิบัติย่อมไม่อาจข้ามพ้นห้วงแห่งกรรมออกไปสู่ความเป็นอิสระและความสมบูรณ์ของชีวิตได้
ไม่มีใครในโลกนี้จะอยู่เฉยๆ โดยไม่กระทำสิ่งที่เรียกว่ากรรมได้แม้เพียงชั่วอึดใจเดียวก็ตาม ทุกขีวิตล้วนแต่ถูกสร้างมาเพื่อให้ทำสิ่งนี้
ผู้ใดแสร้งเป็นคนสำรวมตนต่อหน้าคนอื่น แต่ภายในใจกลับว้าวุ่นด้วยอารมณ์อันปั่นป่วน ผู้นั้นชื่อว่าลวงทั้งตนเองและคนอื่น
ส่วนผู้ใดควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงได้ด้วยใจโดยที่การสำรวมนั้นมิได้เป็นไป เพราะการแสร้งเส ผู้นั้นนับว่าเป็นคนประเสริฐแท้
จงรีบขวนขวายทำความดีเถิด การทำความดีย่อมประเสริฐกว่าการหายใจทิ้งเปล่าๆ โดยไม่ได้ทำสิ่งอันเป็นคุณประโยชนแก่ตนและคนอื่น
ร่างกายของคนเราเมื่อวันเวลาล่วงผ่านย่อมทรุดโทรมชำรุด ถึงเวลานั้นแล้ว แม้อยากจะกระทำความดีก็ยากที่จะทำได้ดังใจนึก
ทุกชีวิตในโลกถูกลิขิตให้เดินไปตามแรงบันดาลของกรรม แต่การกระทำที่มุ่งความหลุดพ้นจากห้วงกรรมไม่จัดเป็นกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจะกระทำกรรมขอจงอุทิศการกระทำนั้นเพื่อความหลุดพ้นเถิด อรชุน
เมื่อแรกที่พระประชาบดีพรหมทรงเนรมิตโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นพร้อมกับทรงบัญญัติพิธีให้เป็นแบบแห่งการดำเนิน ชีวิตของมนุษย์ว่า
“ด้วยยัญกรรมนี้ สูเจ้าทั้งหลายจะรุ่งเรืองและสมบูรณ์พูนสุข ด้วยสิ่งอันตนปรารถนาทุกประการ”
เพราะเหตุนี้แล มนุษย์จึงควรเกื้อหนุนเหล่าเทพยดาด้วยยัญพิธี* (ยัญพิธีหรือการบูชายัญคือการเซ่นไหว้เทพเจ้าตามความเชื่อของชาวฮินดู จากความตอนนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าเดิมทีเดียวการบูชายัญมีจุดประสงค์จะให้ มนุษย์ระลึกถึงคุณของธรรมชาติฟ้าดินอันเป็นการปลูกสำนึกที่ดีงามตามหลัก ศาสนา แต่ภายหลังคำสอนนี้ได้ถูกบิดเบือนจนการบูชายัญกลายเป็นพิธีกรรมที่โหดร้าย ป่าเถื่อนถึงขนาดมีการเซ่นสรวงยัญด้วยการสังเวยชีวิตมนุษย์ เมื่อพุทธศาสนาอุบัติขึ้น พระพุทธองค์ก็ทรงพยายามชี้ให้ผู้คนหันกลับไปหาความหมายที่แท้ของยัญกรรมอัน บริสุทธิ์แต่ดั้งเดิมอีกครั้ง แต่ความพยายามนั้นก็ประสบผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจขจัดความเข้าใจผิดของคนรุ่นต่อมาได้อย่างสิ้นเชิง-ผู้แปล)ด้วยว่าเทพ ทั้งหลายเมื่อได้รับการบำรุงอุปถัมภ์จากมนุษย์เช่นนั้นแล้วก็จักอำนวยผลตอบแทนแก่ผู้ที่เซ่นไหว้ตน เมื่อต่างฝ่ายต่างก็จุนเจือกันและกันเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายย่อมจะประสบสิ่งดีงามร่วมกัน
สิ่งใดที่มนุษย์ปรารถนา สิ่งนั้นหากเป็นความดีงาม มนุษย์ก็อาจได้มาสมประสงค์ เพราะการบันดาลของเหล่าเทพที่ตนอุทิศยัญพิธีถวาย
ผู้ใดได้รับการหนุนส่งจากเทพยดาแล้วลืมตนไม่ตอบแทนการเกื้อกูลจากสวรรค์นั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมหาโจรแท้
สาธุชนผู้มีใจเผื่อแผ่เมื่อบริโภคของเซ่นไหว้อันเหลือจากยัญกรรมแล้ว ย่อมพ้นจากบาปทั้งมวล แต่สำหรับทุรชนผู้เห็นแก่ตัว ไม่ปรารถนาจะเผื่อแผ่อานิสงส์แห่งยัญกรรมของตนแก่คนข้างเคียง การบริโภคของเซ่นไหว้นั้นก็คือการบริโภคบาปของตนเอง
ทุกชีวิตในโลกอยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารเกิดมีเพราะน้ำฝน ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพราะการประกอบยัญพิธี ส่วนยัญพิธีนั้นเล่าก็เกิดมีด้วยการกระทำของมนุษย์
การลงมือกระทำสิ่งดีงามเป็นคำสอนที่มีมาแต่คัมภีร์พระเวทและพระเวทนั้นแท้ก็ คือคำสั่งสอนอันกำเนิดมาแต่ปรมาตมันอันสูงสุด ด้วยเหตุนี้ พระเวทจึงไม่ใช่คัมภีร์ หากแต่เป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่งตลอดจนดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดรในยัญกรรม
อรชุน! โลกเรานี้นับวันก็มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า ผู้ใดจมชีวิตตนเองไว้กับกระแสโลกียสุขไม่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปรของวันคืน ชีวิตของคนผู้นั้นนับว่าสูญเปล่าปราศจากแก่นสารแท้
แต่สำหรับบุคคลผู้มีใจเอิบอิ่มในอาตมัน พอใจในอาตมัน และยินดีในอาตมันอันสูงสุดนั้น กรรมอันได้แก่หน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติอย่างอื่นของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันจบสิ้นไม่อีกแล้ว
บุคคลเช่นนั้นย่อมข้ามพ้นทั้งกรรมและอกรรม เขาไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งใดเพื่อให้ลุถึงประโยชน์ของตน
เพราะฉะนั้น จงปฏิบัติในสิ่งอันพึงปฏิบัติโดยไม่ยึดมั่นเถิด บุคคลผู้กระทำกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทนจากการกระทำนั้นย่อมบรรลุถึงปรมัตถภาวะ อันสูงสุด
เพราะกระทำกรรมโดยไม่ยึดติดในผลแห่งกรรมนี่เอง บรรพชนของเราในอดีตเป็นต้นว่าชนกราชา*(ชนกราชาในโศลกนี้หมายถึงท้าวชนก เจ้ากรุงมิถิลาราชบิดาของนางสีดาในมหากาพย์รามายณะ-ผู้แปล)จึงได้บรรลุถึงความ บริสุทธิ์และสมบูรณ์ชีวิต
เพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จงกระทำคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิดอรชุน
เมื่อผู้มีอำนาจในแผ่นดินปฏิบัติอย่างไร คนทั้งหลายที่อยู่ใต้ปกครองย่อมจะปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้น
อรชุน! สำหรับเราเองนั้นกรรมอันพึงกระทำไม่มีอีกแล้วในไตรโลกนี้ เราไม่มีสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุอันจะต้องพยายามบรรลุถึงอีกแล้ว กระนั้นก็ดี เราก็ยังเอาตัวเข้าคลุกคลีกับเพื่อนมนุษย์ แปดเปื้อนอยู่กับการกระทำกรรมเพราะเราเห็นแก่เพื่อนร่วมแผ่นดินเหล่านั้น
แม้นว่าเรามีใจวางเฉย ไม่เอาตัวเข้าแปดเปื้อนกับการกระทำกรรม มุ่งเสวยสุขเพียงอย่างเดียว มนุษย์ทั้งหลายก็จะพากันหันไปหาการเสพสุขด้วยเข้าใจว่านั่นคือความถูกต้อง ของชีวิต
เมื่อเป็นเช่นนั้น โลกทั้งโลกจะพลันวุ่นวายจนถึงพินาศแตกดับ ตัวเราเล่าก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายความเป็นระเบียบของโลกและเป็น ผู้ล้างผลาญ ประชานิกรทั้งหมดให้ฉิบหายล่มจม
อรชุน! คนโง่เมื่อกระทำกรรมย่อมยึดมั่นในการกระทำนั้น ส่วนผู้รู้กระทำกรรมแล้วหาได้ยึดติดในการกระทำนั้นไม่ ปราชญ์ทำกรรมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้กระทำเพื่อตนเอง
ปราชญ์ย่อมไม่ตัดหนทางในการก้าวไปสู่ความดีงามของคนเขลาผู้ยังติดข้องอยู่ใน วังวนแห่งกรรม หากแต่หาโอกาสให้คนเขลานั้นได้กระทำกรรมดี อันจะส่งผลเป็นความสุขสงบแก่ชีวิตของเขาเอง
กรรมทั้งปวงมนุษย์ไม่ใช่ผู้กระทำ กรรมทั้งหลายเหล่านั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งธรรมชาติ*(คำ ว่า “พลังแห่งธรรมชาติ”นี้แปลมาจากศัพท์เดิมในภาษสันสกฤตว่า ปฺรกฺฤติ คำนี้ในภาษาไทยเรามักแปลทับศัพท์ว่า ประกฤติ ส่วนในภาษาอังกฤษท่านมักแปลเป็น Nature หรือ Forces of Nature ครูอาจารย์ที่สอนภาษาสันสกฤตให้ผู้แปล เคยอธิบายให้ฟังว่า ปฺรกฺฤติ นี้เป็นพลังลึกลับอย่างหนึ่งที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นสิ่งผลักดันให้ชีวิต ทุกชีวิตในจักรวาลหมุนเหวี่ยงไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่าชีวิตของคนเราต่างก็ล้วนดำเนินไปตามการลิขิตของปฺรกฺฤติ ชีวิตหาได้เป็นอิสระในตัวมันเองไม่ ความเชื่อเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางความคิดอันแตกออกมาเป็นศาสนา หรือลัทธิที่ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทในยุคต่อมา เพราะคนรุ่นนั้นเริ่มสงสัยกันแล้วว่าชีวิตไม่มีอิสระในตัวมันเองจริงหรือ พุทธศาสนาถึงกำเนิดมาก็ด้วยแรงหนุนส่งจากปฏิกิริยาดังกล่าวด้วยเช่นกัน-ผู้แปล)คนโง่เขลาไม่เข้าใจความเป็นจริงอันนี้ย่อมหลงผิดว่าตนคือผู้กระทำกรรม
ส่วนผู้ฉลาดย่อมรู้จักแยกแยะกรรมกับพลังแห่งธรรมชาติอันผลักดันกรรมนั้นว่า ปรากฏการณ์อันเรียกว่ากรรมแท้ก็คือการแสดงตนของพลังธรรมชาติ คนเช่นนั้นย่อมไม่ยึดติดในกรรม
คนเขลาไม่เข้าใจถึงพลังธรรมชาติอันอยู่เบื้องหลังกรรม ย่อมเข้าใจสับสนว่ากรรมกับพลังแห่งธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ปราชญ์ควรชี้แนะให้บุคคลผู้หลงผิดเช่นนั้นเข้าใจความเป็นจริง
เพราะเหตุนี้แลอรชุน จงสลัดกรรมทั้งปวงของท่านมาไว้ที่เราแล้วประสานใจอันบริสุทธิ์เข้ากับอาตมัน จงขจัดความกังวลแล้วจับอาวุธขึ้นรบเถิด
ผู้ใดเชื่อมั่นในคำสอนของเรา รับเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติด้วยใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมพ้นจากการเวียนว่ายในห้วงแห่งกรรม
ส่วนบุคคลใดดูแคลนคำสอนของเรา ไม่รับเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติ เพราะมานะอันแข็งกร้าวในใจ บุคคลนั้นคือคนเขลา ปัญญามืดบอด คนเช่นนั้นจะต้องประสบกับความฉิบหายเพราะความโง่ของตนเอง
แม้แต่ปราชญ์ที่ฉลาดหลักแหลมก็ยังต้องปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ อนึ่งเล่า ทุกชีวิตในโลกก็ล้วนแต่ต้องดำเนินชีวิตให้คล้อยตามธรรมชาติ อย่างนี้แล้วเรายังจะคิดดื้อรั้นฝืนกฎแห่งธรรมชาติอยู่หรือ
ความดีใจกับความเสียใจเกิดจากการกระทบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับความรู้สึก คนเราไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของมัน เพราะไม่ว่าความดีใจหรือความเสียใจ ทั้งสองอย่างล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งชีวิตเหมือน กัน
จงปฏิบัติหน้าที่ของตนไปเท่าที่ความสามารถจะอำนวยให้ แม้จะกระทำได้เพียงเล็กน้อย การกระทำนั้นก็นับว่าประเสริฐกว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคนอื่นที่เขากระทำได้ อย่างสมบูรณ์ไม่มีขาดตก
คนที่ตายเพราะทำหน้าที่ของตนย่อมชื่อว่ามีชีวิตยืนนานเป็นอมตะ ส่วนบุคคลผู้ตกเป็นทาสอาณัติของคนอื่น แม้จะมีชีวิตอยู่ก็เสมือนหนึ่งคนที่ตายแล้ว
อรชุนถามว่า
กฤษณะ! อำนาจอะไรหนอที่ผลักดันให้คนเรากระทำบาปทั้งที่โดยความเป็นเหตุเป็นผลแล้วคง ไม่มีใครในโลกประสงค์จะกระทำความชั่ว การกระทำของเขาน่าจะมีอะำำำไรสักอย่างเป็นเครื่องชักนำใช่หรือไม่
กฤษณะตอบว่า
ถูกแล้วอรชุน สิ่งที่กระตุ้นให้คนกระทำความชั่วคือความกระหายอยากอันจะแปรเป็นความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้สมอยากในทันที สิ่งนี้นี่เองที่เป็นศัตรูของความดี
ควันบดบังความโชติช่วงของเปลวไฟ ฝุ่นธุลีบดบังความสดใสของกระจก รกหุ้มห่อทารกเอาไว้ด้วยอาการฉันใด ความกระหายอยากหุ้มห่อจิตใจให้เศร้าหมองมืดมัวด้วยอาการดังของสามอย่างที่ กล่าวฉันนั้น
อรชุน! เหตุที่คนเราไม่อาจประจักษ์แจ้งซึ่งสัจจะก็เพราะอำนาจการครอบงำของกิเลสดัง กล่าวนี่เอง กิเลสทำให้คนไม่รู้จักอิ่มพอ เหมือนไฟไม่เคยอิ่มเชื้อฉันใดก็ฉันนั้น
ความรู้สึก, จิตใจ และความรู้ ท่านกล่าวว่าเป็นทางเล็ดลอดเข้ามาของกิเลสหากว่าเราไม่รู้เท่าทันมัน เมื่อกิเลสอันได้แก่ความทะยานอยากอันไม่รู้จักจบสิ้นเข้าครอบงำการรู้แจ้ง คนเราย่อมจะหลงทางไม่อาจเข้าถึงอาตมันได้เป็นของธรรมดา
เพราะเหตุนี้แลอรชุน จงควบคุมความรู้สึกเอาไว้ให้มั่นเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ จากนั้นจึงพยายามขจัดบาปอันเป็นสิ่งปิดกั้นการรู้แจ้งออกไปจากจิตใจ
ท่านกล่าวว่าอำนาจของความรู้สึกเป็นสิ่งมีพลัง แต่ที่มีพลังเหนือความรู้สึกนั้นได้แก่พลังแห่งจิตใจ
จิตใจที่ว่ามีพลังก็ยังพ่ายแพ้อำนาจแห่งปัญญา กระนั้นก็ดีปัญญาก็ยังด้อยอำนาจกว่าอาตมัน
อรชุน! เมื่อประจักษ์ชัดว่าความทะยานอยากเป็นศัตรูของการเข้าหาความดี ทำไมท่านไม่รีบขจัดมันเสียด้วยปัญญาเล่า
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version