ผู้เขียน หัวข้อ: สมมติบัญญัติ  (อ่าน 1247 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
สมมติบัญญัติ
« เมื่อ: มีนาคม 15, 2014, 02:06:02 pm »

สมมติบัญญัติ
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความ
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การอบรมจิตนั้นมาจากคำว่าจิตตภาวนา จิตก็คือจิตใจ ภาวนาก็คืออบรม รวมกันเป็นจิตตภาวนาก็คือการอบรมจิต คำนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้เอง และก็มีความหมายได้ทั้งสมาธิภาวนา และปัญญาภาวนา หรือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าจิตตภาวนา หรือเรียกว่าบำเพ็ญสมาธิ หรือสมาธิภาวนาก็ได้ และก็ไม่ใช่สมาธิอย่างเดียว หมายถึงวิปัสสนากรรมฐาน หรือปัญญาภาวนา อบรมปัญญาด้วย

ความหมายของคำว่าสิกขา
อันการศึกษาคือการเรียนและการปฏิบัติพระพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วก็คือไตรสิกขา ที่แปลว่าสิกขา ๓ คำว่า สิกขา เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา ไทยเอาคำสันสกฤตมาใช้แต่ว่าเปลี่ยนเสียงเรียกว่า ศึกษา เพราะว่าจะพูดกันว่า ศิกฺษา ก็ไม่ถนัดเหมือนพูดว่า ศึกษา จึงมาใช้คำว่าศึกษา และความหมายเดิมของคำนี้ก็มีความหมายถึงทั้งทางด้านเรียนให้รู้ ดั่งที่เรียกกันว่าเป็นภาคทฤษฎี และหมายถึงการปฏิบัติ

สมมติ บัญญัติ
เพราะฉะนั้นคำว่าศึกษาหรือสิกขาดังกล่าวนี้จึงมีความหมายทั้งเรียนทั้งปฏิบัติ เพราะว่าเบื้องต้นก็จะต้องมีการเรียนก่อน คือการเรียนให้รู้ และการเรียนให้รู้นี้ต้องการให้รู้ทั้งสิ่งที่มีอยู่ อันเรียกว่าสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง และให้รู้ทั้งสมมติบัญญัติ คือว่าชื่อที่เรียกที่แต่งตั้งขึ้นสำหรับเรียก สำหรับพูดให้รู้กัน

แต่ว่าสมมติบัญญัติที่เป็นชื่อสำหรับเรียกสำหรับพูดให้รู้กันนี้ ก็จะต้องมีที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น เช่นว่า โบสถ์ บริเวณโบสถ์ ต้นไม้ต่างๆ เมื่อไปโบสถ์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ หรือไปนมัสการพระ ก็จะต้องไปพบสิ่งต่างๆ เช่นก่อนที่จะถึงโบสถ์ก็จะต้องพบต้นไม้หลายต้น เช่นต้นพิกุลและต้นไม้อย่างอื่น จะต้องพบกำแพงแก้วที่ล้อมรอบโบสถ์เป็นกำแพงเตี้ยๆ แล้วก็จึงจะถึงตัวโบสถ์ ซึ่งจะต้องขึ้นบันใด ขึ้นบันใดแล้วก็จะต้องเข้าประตูโบสถ์เข้าไปข้างใน ก็จะพบพระพุทธปฏิมา เช่นพระพุทธชินสีห์ และพระโตซึ่งอยู่ข้างหลัง ประดิษฐานอยู่เป็นประธาน และพบสิ่งอื่นๆ เช่นจะพบพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้าสองพระองค์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าหนึ่งพระองค์ พบโต๊ะบูชา เครื่องบูชา และเบื้องบนขึ้นไปนั้นซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธปฏิมาใหญ่ทั้งสององค์ ก็ยังมีพระพุทธปฏิมาซึ่งเป็นพระพุทธรูปพระพุทธลีลา หรือพระห้ามญาติ และพระปางรำพึง และยังมีสิ่งอื่นๆ อีกเป็นอันมาก

สิ่งเหล่านี้จะต้องมีชื่อเรียก และชื่อที่เรียกนี้เรียกว่าสมมติบัญญัติ
สมมตินั้นคือความที่รับรู้ร่วมกัน มาจากคำว่า สัง ที่แปลว่าร่วมกัน กับ มะติ ที่แปลว่ามติหรือความรับรู้ รวมกันเป็น สมมติ คือรู้ร่วมกัน รับรู้ร่วมกัน และคำว่ามตินี้ภาษาไทยก็นำเอามาใช้ ถึงการที่แสดงการรับรองร่วมกัน ในทางรับก็ตาม ในทางปฏิเสธก็ตาม เมื่อเป็นมติ ดั่งที่เรียกว่ามติที่ประชุม สัง ก็คือว่าร่วมกัน นี่เรียกว่า สมมติ

ดังเช่นต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าต้นพิกุล ก็จะต้องมีสมมติคือการที่จะต้องรับรู้ร่วมกัน ทำให้เรียกร่วมกันว่าต้นพิกุล และเมื่อเรียกว่าต้นพิกุลแล้ว ก็เข้าใจ จะเป็นสมมติของคนเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นของคนเดียวแล้วจะเรียกว่าร่วมกันไม่ได้ จะเป็นเฉพาะคน เช่นใครจะไปตั้งชื่อต้นพิกุลว่าเป็นอย่างอื่น ผู้ใดตั้งขึ้นผู้นั้นก็อาจเรียกได้ แต่ว่ารู้คนเดียวคนอื่นไม่รับรู้ด้วย เพราะไม่เข้าใจกัน การที่รับรู้ร่วมกันดั่งนี้แหละคือสมมติ ไม่ใช่หมายความว่า สมมติว่า หรือ ตี๊ต่างว่า ดั่งที่เราพูดกันในภาษาไทย แต่มีความหมายดังกล่าวนั้น

บัญญัตินั้นก็คือแต่งตั้ง คือจะต้องแต่งตั้งว่าให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นพิกุล แต่งตั้งให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นมะม่วง แต่งตั้งให้สิ่งนี้เรียกว่ากำแพงแก้ว แต่งตั้งสิ่งนี้เรียกว่าบันใด แต่งตั้งสิ่งนี้เรียกว่าประตู แต่งตั้งสิ่งนี้เรียกว่าโบสถ์ เหล่านี้คือบัญญัติ คือบัญญัติขึ้นมา แต่งตั้งขึ้นมาให้เรียกว่าอะไร นี่คือบัญญัติ และเมื่อบัญญัติขึ้นแล้ว รับรู้ร่วมกันก็เรียกว่าสมมติ เพราะฉะนั้น เราจึงพูดควบกันว่าสมมติบัญญัติ

ที่ตั้งของสมมติบัญญัติ
การเรียนนั้นก็คือเรียนให้รู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติด้วย ให้รู้จักสมมติบัญญัติด้วย ให้รู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้นก็คือให้รู้จักว่า นี่เป็นสิ่งนี้ นี่เป็นสิ่งนี้

แล้วก็มีสมมติบัญญัติว่าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้นตามตัวอย่างที่กล่าวมาก็คือ อย่างเช่นต้นไม้ดังกล่าว กำแพงแก้วดังกล่าว บันใด ประตู และตัวโบสถ์ดังกล่าว และสิ่งต่างๆ ในโบสถ์ดังกล่าว นั้นเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติ จะต้องมีที่ตั้งเหล่านี้จึงจะมีสมมติบัญญัติขึ้นได้ ถ้าไม่มีที่ตั้งเหล่านี้ก็ไม่ต้องมีสมมติบัญญัติ

แม้บุคคลเรานี้เองก็มีสมมติบัญญัติ คือบุคคลเรานี้เองนั้นเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติ เช่นเป็นหญิงเป็นชายเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ นี่เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติ และก็ต้องมีสมมติบัญญัติ คือต้องแต่งตั้งว่าลักษณะอย่างนี้เป็นหญิง ลักษณะอย่างนี้เป็นชาย แต่งตั้งขึ้นมาว่าให้เป็นหญิงเป็นชาย และเมื่อแต่งตั้งขึ้นมาให้เป็นหญิงเป็นชายแล้ว ก็ยังมีแต่งตั้งชื่อสำหรับเรียกว่าคนนั้นชื่อนั้น คนนี้ชื่อนี้ นี้คือบัญญัติแต่งตั้งขึ้นมา และจะต้องมีสมมติคือรับรู้ร่วมกัน เรียกร่วมกันว่าเป็นหญิงเป็นชาย ว่าเป็นคนชื่อนั้น เป็นคนชื่อนี้ และเมื่อพูดกันแล้วก็รู้จัก ว่าเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ ดั่งนี้เป็นสมมติ ต้องคู่กันดั่งนี้

สมมติบัญญัติในภาษาธรรมะ
และเมื่อมีที่ตั้งของสมมติบัญญัติขึ้น และมีสมมติบัญญัติขึ้นดังนี้ ทุกคนจึงต้องเรียน คือหมายความว่าต้องรู้จัก ได้ฟัง คือรู้จักจากการฟัง รู้จักจากการเห็นด้วยตา รู้จักจากการจำได้หมายรู้ นี่เป็นการเรียน ซึ่งทุกๆ คนเรานี้ก็เรียนกันมาดั่งนี้ตั้งแต่เกิดขึ้นมา รู้เดียงสาพ่อแม่ก็เริ่มสอนให้รู้จักเรียกพ่อเรียกแม่ ให้รู้จักสิ่งนั้นให้รู้จักสิ่งนี้ คือให้รู้จักสิ่งที่เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติด้วย ให้รู้จักตัวสมมติบัญญัติด้วย เช่นว่าคนนั้นเป็นพ่อคนนี้เป็นแม่ สิ่งนั้นเรียกว่าอย่างนั้น สิ่งนี้เรียกว่าอย่างนี้ นี้คือการเรียน การเรียนให้รู้จักดั่งนี้เป็นการเรียนมาตั้งแต่รู้เดียงสาเป็นต้นมา และมาถึงธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องเรียน ต้องเรียนให้รู้จักสมมติบัญญัติที่เป็นภาษาธรรมะ

เช่น คำว่าจิตตภาวนา คำว่าศีล คำว่าสมาธิ คำว่าปัญญา คำว่าขันธ์ ๕ คำว่านามรูป คำว่าสมถะ คำว่าวิปัสสนา ดั่งนี้เป็นต้น จะต้องเรียนให้รู้จักสมมติบัญญัติของธรรมะ ดังชื่อที่กล่าวมานั้น

และจะต้องรู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติ เช่นเมื่อได้รู้จักคำว่าจิตตภาวนาซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ ก็ต้องรู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าจิตนั้นคืออะไร ภาวนานั้นคืออะไร และเมื่อรู้จักว่านามรูป จำได้ หรือรู้จักว่าขันธ์ ๕ ก็ต้องรู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติอันนี้ ว่านามคืออะไร รูปคืออะไร ซึ่งเป็นตัวที่ตั้งของสมมติบัญญัติ ให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นคืออะไร หมายถึงอะไร ดั่งนี้

นี้แหละเรียกว่าเป็นการที่เรียนให้รู้จักธรรมะ ก็คือหัวข้อธรรม คือที่เป็นสมมติบัญญัติ ให้รู้จักอรรถะคือเนื้อความของหัวข้อธรรมนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อฟังธรรมะได้ยินคำว่าจิตก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ได้ยินคำว่าภาวนาก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร เมื่อได้ยินคำว่านามรูปก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร เมื่อได้ยินคำว่าขันธ์ ๕ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ดั่งนี้เป็นต้น เป็นข้อที่ต้องเรียนทั้งนั้น คือจะต้องศึกษาอันเป็นการเรียน คือสำเหนียกกำหนดให้รู้จักหัวข้อ หรือชื่ออันเป็นสมมติบัญญัติ แล้วต้องให้รู้จักความหมายอันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น

เหมือนอย่างที่เมื่อเรารู้จักชื่อว่าต้นมะม่วงเราก็นึกออกถึงว่า ต้นมะม่วงนั้นมีต้น มีใบ มีผล เป็นยังไง ต้นพิกุลก็รู้จักว่ามีต้นเป็นอย่างไรมีดอกเป็นอย่างไร เมื่อได้ยินคำว่ากำแพงแก้วก็รู้จักว่าหมายถึงอะไร ได้ยินคำว่าโบสถ์ก็รู้จักว่าหมายถึงอะไร ได้ยินว่าผู้ชายได้ยินผู้หญิง ได้ยินว่าชื่อนั้นชื่อนี้ ก็รู้จักหรือเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงใครผู้ใด

ธรรมะก็เช่นเดียวกัน จะต้องเรียนให้รู้จักชื่อธรรมะคือสมมติบัญญัติ ที่เรียกว่าข้อธรรม ที่เป็นสมติบัญญัติ ให้รู้จักอรรถะคือเนื้อความว่าหมายถึงอะไร ของชื่อธรรมะนั้นๆ อันนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียน เรียนให้รู้จัก

ซึ่งต้องอาศัยความจำเป็นที่ตั้ง ถ้าจำไม่ได้แล้วก็เรียกไม่ถูก บางทีอาจจะเข้าใจ เช่นเห็นต้นมะม่วงเข้าก็เข้าใจว่านี่ต้นมะม่วง แต่เรียกชื่อไม่ถูกว่าต้นอะไร ดังนี้ก็มี และเมื่อเรียกชื่อไม่ถูกแล้ว การที่จะไปพูดจากับใคร หรือไปฟังใครพูด ก็รู้เรื่องกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเรียนให้รู้จักสมมติบัญญัติซึ่งเป็นข้อธรรมะ คือสมมติบัญญัติ เป็นภาษาสำหรับเรียก และการเรียนให้รู้จักความหมายของสมมติบัญญัตินั้น จึงเป็นข้อสำคัญเป็นเบื้องต้น (เริ่ม ๑๔๔/๑ ) ทำให้มีความเข้าใจ

ผู้มุ่งธรรมปฏิบัติอาจจะไม่ต้องเรียนมาก
คนที่มุ่งปฏิบัติธรรมะนั้น ถ้ามุ่งเพียงเพื่อปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญา อาจจะไม่ต้องเรียนให้รู้จักให้จำได้ซึ่งสมมติบัญญัติของธรรมะนี้มากมายนัก ให้รู้แต่วินัย จำพระวินัยที่จะพึงปฏิบัติได้ ทำได้ถูก ไม่ผิดวินัย แม้ว่าจะจำข้อไม่ได้ทั้ง ๒๒๗ ถ้าเป็นพระเป็นเณร หรือว่าจำไม่ได้ถึงศีล ๘ แม้ว่าศีล ๕ เองก็ตาม แต่ว่าเมื่อต้องการที่จะรักษาศีล และเมื่อรักษาจิตอันนี้ไว้ให้ดีแล้ว ไม่ให้ลุอำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ รักษากายวาจาใจนี้ให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ก็เป็นศีลได้ แม้จะแจกไม่ถูกว่า ๕ ข้อ ๘ ข้อ ๑๐ ข้อ ๒๒๗ ข้อ ก็เป็นศีลได้ คือรักษาจิตใจนี้ให้ดีไว้อย่างเดียว

และแม้สมาธิก็เหมือนกัน อาจารย์สอนให้ทำสมาธิเพียงวิธีเช่นว่า รวมใจเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ควบคุมใจไว้ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกไป หรือว่าพิจารณาว่ากายนี้เท่าที่ตามองเห็น ก็เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็กำหนดอาการทั้ง ๕ นี้ว่า ไม่ควรจะนิยมยินดีชื่นชม เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาด และไม่งดงามอยู่โดยธรรมชาติ จึงต้องมีการชำระ มีการตบแต่งกันอยู่เสมอ แต่ก็ไม่สามารถจะชำระให้สะอาด จะให้งดงามกันจริงๆ ได้ ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน ก็เป็นสมาธิได้

และเมื่อมองเห็นสัจจะคือความจริงว่า สิ่งทั้งหลายที่ผสมปรุงแต่งกันเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ อันเรียกว่าสังขาร เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงคือต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ถูกความเกิดดับนี้บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นอนัตตาคือไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เพราะเป็นของที่ไม่เที่ยง เป็นของที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวนั้น ก็กำหนดเข้ามาพิจารณาให้รู้จักสัจจะคือความจริงดั่งนี้ จนความจริงอันนี้ปรากฏขึ้นแก่ปัญญา ที่เป็นตัวรู้ ว่าไม่เที่ยงจริง เป็นทุกข์จริง เป็นอนัตตาจริง ดั่งนี้ก็ใช้ได้

ปัญญาที่รู้ดั่งนี้แหละเป็นตัววิปัสสนา หรือเป็นตัวปัญญา ส่วนสมาธิคือความตั้งใจ ตั้งใจกำหนดดูสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตานั้น ก็เป็นตัวสมาธิ อาการที่จิตใจเป็นปรกติมีความสำรวมระวัง มีความเป็นปรกติ ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ อันมีลักษณะเป็นความสงบ ดั่งนี้ก็เป็นตัวศีล ก็ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาได้ อาจารย์แม้บอกเพียงเท่านี้ก็นำไปปฏิบัติได้

ปริยัติ
แต่ว่าสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนให้รู้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ เช่นในการเรียนธรรมวินัย วินัยก็คือวินัยที่มาในพระปาติโมกข์สำหรับภิกษุสามเณร สามเณรนั้นก็มีวินัยที่น้อยข้อเข้า แต่ก็ปฏิบัติอนุโลมทั้งภิกษุในวินัยอีกเป็นอันมาก สำหรับฆราวาสนั้นก็เรียนให้รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ ซึ่งรับไปปฏิบัติ ในส่วนธรรมะนั้นก็เรียนให้รู้จัก เช่นว่า ธรรมะที่เป็นหมวด ๒ ก็เรียนให้รู้จักตั้งแต่ธรรมะที่มีอุปการะมาก ๒ อย่าง สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว

ดังนี้เป็นต้นไปทุกๆ หมวดโดยลำดับ ก็จะทำให้รู้จักสมมติบัญญัติ
หัวข้อธรรมะ คือสมมติบัญัติของธรรมะมากขึ้น ของวินัยมากขึ้น

แม้ว่าในข้อที่ยังปฏิบัติไม่ได้ไม่ถึง ก็รู้หัวข้อธรรมะซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ และรู้จักความหมายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอธิบายไว้ เช่นว่า อริยสัจจ์ ๔ มรรคผลนิพพาน อันเป็นธรรมะที่เป็นธรรมปฏิบัติเพื่อผลที่มุ่งหมายในทางพระพุทธศาสนา ก็จะจำข้อธรรมะที่เป็นสมมติบัญัตินี้ได้ และรู้ความหมาย สามารถที่จะไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง ให้เข้าใจในสมมติบัญญัติดังกล่าวนั้น และสามารถที่จะฟังเทศน์ฟังธรรมะเข้าใจ ในเมื่อพระเทศน์หรือหนังสือธรรมะแสดง หนังสือธรรมะที่แสดงหรือที่เขียนไว้หรือที่เทศน์นั้น ก็ต้องใช้ข้อธรรมะที่เป็นสมมติบัญญัตินี้ทั้งนั้น

และในการเทศน์กัณฑ์หนึ่งๆ นั้น หรือในการแสดงคราวหนึ่งๆ นั้นจะต้องใช้ข้อธรรม ที่เป็นสมมติบัญญัติดั่งนี้มากมาย สมมติว่าจะต้องใช้ถ้อยคำเหล่านี้ถึงยี่สิบสามสิบคำ ถ้าหากว่าผู้ฟังไม่ได้ศึกษา ให้รู้ข้อธรรมที่เป็นสมมติบัญญัติและความหมายแล้ว จึงฟังเทศน์ไม่เข้าใจ และแม้ว่าจะใช้อย่างน้อยที่สุด ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เพราะไม่มีภาษาไทย ผู้ฟังก็จะไม่เข้าใจ เพราะว่าต้องใช้ภาษาธรรมะนี้มาเป็นภาษาไทยเป็นอันมาก เช่นพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ นี่ก็เป็นภาษาธรรมะ จะต้องศึกษาให้จำได้ แล้วก็ให้เข้าใจ ว่าพระพุทธะนั้นหมายถึงใคร อะไร ธรรมะ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เหมือนกัน

หรือแม้ว่าศีลธรรมก็เป็นภาษาธรรมะ จะต้องศึกษาให้รู้จัก ให้จำถ้อยคำที่เป็นสมมติบัญญัติ และให้รู้ความหมาย และในการที่จะเขียนหรือพูดกัน จะอธิบายไปทุกคำนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ การเทศน์หรือการแสดงทุกคราวนั้น ก็จะต้องพูดหรืออธิบาย จำเพาะข้อใดข้อหนึ่งที่มุ่งหมายที่จะให้ผู้ฟังได้สดับในโอกาสนั้นๆ แต่ว่าคำที่จะต้องพูดพาดพิงถึงไปนั้น มีมากมายหลายคำ ซึ่งเป็นคำที่ประกอบกัน จะอธิบายไปทุกคำๆ ที่พูดนั้นหาได้ไม่ ไม่มีเวลา

เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้รู้ดังกล่าวซึ่งเรียกว่าเป็นปริยัติ
     นี่แหละคือเป็นปริยัติ คำที่แสดงออกมาเป็นปริยัติทั้งนั้น

พระดำรัสสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกคำที่ฟังก็เป็นปริยัติทั้งนั้น คือจะต้องให้รู้จักข้อธรรมที่เป็นสมมติบัญญัติ และจะต้องให้เข้าใจในความหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน จึงได้ทรงนำเอาภาษาคือข้อธรรมะถ้อยคำที่พูดนั้น มาใช้ในคำสั่งสอนของพระองค์เป็นอันมาก พระองค์จะทรงแต่งตั้งคำขึ้นใหม่เป็นข้อธรรม คือสมมติองค์ทรงสมมติคำขึ้นใหม่ แต่ว่าถ้าผู้ฟังไม่รับรู้ด้วย คำที่สมมติแต่งขึ้นใหม่นั้นก็ไม่เป็นสมมติ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จึงต้องทรงใช้คำที่เป็นสมมติบัญญัติของโลกนั่นแหละ มาแสดงเป็นภาษาธรรมะในพุทธศาสนา

คำว่ามรรคผลนิพพานก็ดี คำว่าอรหันต์ก็ดี คำว่าพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นคำที่โลกเขาใช้กันมาแล้วทั้งนั้น แม้แต่คำว่า กรรมฐาน ก็เป็นคำที่โลกเขาใช้กันมา ซึ่งเขามีความหมายว่าการงาน เช่นไทยเราเรียกว่ากสิกรรม กรรมคือการทำนา ไถหว่าน แต่ว่าภาษาเดิมซึ่งเป็นโลกเขาเรียกว่า กสิกรรมฐาน คือการงานทุกอย่างเป็นกรรมฐานทั้งนั้น พาณิชย์กรรมก็พาณิชยกรรมฐาน ดังนี้เป็นต้น เมื่อเอาคำที่โลกใช้มาใช้ เขาจะต้องมีความเข้าใจทันที เช่นว่ากรรมฐานเขาจะต้องมีความเข้าใจทันทีว่าหมายถึงการงานที่ทำ แล้วจึงมาทรงอธิบายว่ากรรมฐานที่พระองค์ตรัสนี้ไม่ใช่หมายความว่าไปทำนาไปทำการค้า แต่หมายความว่ามาทำจิตใจให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา กำจัดกิเลสและกองทุกข์ มาทรงอธิบายใหม่ให้มีความหมายมาในทางปฏิบัติเป็นธรรมปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นปริยัติคือการเรียนนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จำเป็นที่จะต้องมี
   และการที่ปฏิบัตินั้นเมื่อฟังอธิบายเพียงสั้นๆ ก็นำไปปฏิบัติได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ต้องการจะเรียนให้รู้สมมติบัญญัติหัวข้อธรรมะ ต้องการที่จะเรียนเพียงข้อที่จะนำไปปฏิบัติเท่านั้น เช่นว่าสำรวมกายวาจาใจ ให้เข้าใจว่าสำรวมยังไงเป็นศีลขึ้นมา ตั้งจิตรวมเข้ามาให้สงบเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสมาธิ รู้จักเกิดดับของสังขารทั้งหลาย ก็เป็นปัญญา ให้มีความเข้าใจในหลักเหล่านี้พอสมควร แล้วไปปฏิบัติได้ เรียกว่าอธิบายกันเพียง ๑๕ นาทีก็นำไปปฏิบัติได้ ปฏิบัติกันเจ็ดวันก็ไม่จบ เดือนหนึ่งก็ไม่จบ ปีหนึ่งก็ไม่จบ และจะได้ความรู้จากการปฏิบัตินี้เองไปโดยลำดับ

แต่ว่าเมื่อไปพบธรรมะที่เป็นสัจจะขึ้นเองจากการปฏิบัติแล้ว จะไม่รู้สมมติบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นั่นคืออะไร ก็ไม่อาจจะมาอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้ หรือว่ามาอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้ ผู้ที่ฟังนั้นก็จะต้องรู้จักจับความ ว่าท่านหมายถึงอะไร แล้วก็มาใส่สมมติบัญญัติ หรือเป็นข้อธรรมะที่เป็นสมมติบัญญัติเอาเอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
:https://sites.google.com/site/smartdhamma/smmti-bayyati