ผู้เขียน หัวข้อ: พระมหาสิทธะวิรูปะ Mahasiddha Virupa ใน หนังสือ การเห็นทางธรรมสามระดับ  (อ่าน 2848 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


รูปหน้าปกของหนังสือการเห็นทางธรรมสามระดับ  เป็นรูปของพระมหาสิทธะวิรูปะกำลังหยุดดวงอาทิตย์ วาดโดยคุณอธิพงศ์ ภาดานุพงศ์ พระมหาสิทธะวิรูปะเป็นพระอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียในอดีต ท่านเป็นต้นรากของคำสอนที่พัฒนามาเป็น “การเห็นทางธรรมสามระดับ” นี้ ซึ่งเรียกในภาษาทิเบตว่า “ลัมเดร” เรื่องราวชีวิตของท่าน ตลอดจนเหตุว่าทำไมท่านจึงหยุดดวงอาทิตย์ได้ และหยุดไปเพราะเหตุใด มีดังต่อไปนี้
 
พระมหาสิทธะวิรูปะเป็นเจ้าอาวาสของมหาวิทยาลัยนาลันทาอันยิ่งใหญ่ในราวปีคริสตศักราช 650 ท่านได้สละตำแหน่งนี้และได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในชาตินั้นเอง ท่านเป็นหนึ่งในพระมหาสิทธะหรือผู้บรรลุธรรมแปดสิบสี่รูป ผู้ก่อตั้งนิกายสาเกียปะ ซาเชนกุงกาญิงโป ได้รับการถ่ายทอดคำสอนและมนตราภิเษกระบบลัมเดรจากสายคำสอนที่นำมาสู่ทิเบตจากอินเดียโดยท่านคยาธรในคริสตศตวรรษที่สิบเอ็ด และได้รับถ่ายทอดโดยตรงจากวิรูปะในภาพนิมิต ในการรับถ่ายทอดคำสอนทั้งสองนี้ ซึ่งประกอบด้วยคำสอนแบบยาวและแบบสั้น ได้มีการถ่ายทอดคำสอนการทำสมาธิทั้งหมดให้แก่สายสาเกียในทิเบต
 
          ท่านงอร์เชนคนชกลุนดรุบ (เจ้าอาวาสของวัดงอร์ 1497-1557) ท่านเป็นโยคีที่บรรลุธรรมและก็เป็นนักวิชาการที่ศึกษางานอย่างหลากหลาย ผู้ซึ่งได้ศึกษาไม่เพียงแต่พระพุทธศาสนาในอินเดียเท่านั้น แต่ยังศึกษางานเขียนของพระอาจารย์ทิเบตองค์อื่นๆอีกด้วย ท่านได้ประพันธ์หนังสือสองเล่ม ได้แก่ "การเห็นทั้งสาม" กับ "ความต่อเนื่องทั้งสาม"  ท่านงอร์เชนคนชกลุนดรุบได้ประพันธ์บทกวีทิเบตไว้โศลกหนึ่งดังนี้
 
ข้าฯขอกราบกรานด้วยความเคารพ
ซึ่งบาทของพระผู้ทรงเป็นเจ้าของโยคีทั้งปวง
ผู้ซึ่งทรงรื่นเริงอยู่ในเมรัยแห่งความสุข
ผู้ทรงหยุดไว้เสียซึ่งสายน้ำอันยิ่งของสังสาระและกิเลส
และทรงหยุดไว้เสียซึ่งดวงตะวันอันสะอาดไร้มลทิน
 
         "พระผู้ทรงเป็นเจ้าของโยคี" ได้แก่ท่านวิรูปะ เนื่องจากความสามารถของท่านในการสอนและการทำสมาธิไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน วิรูปะเคยเป็นเจ้าอาวาสของมหาวิทยาลัยนาลันทาอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้แทบทุกอย่างในอินเดียสมัยประมาณคริสตศตวรรษที่เจ็ด พระภิกษุนับเป็นหมื่นๆรูปมารวมกัน ณ ที่นี้จากทุกส่วนของอินเดียเพื่อมาศึกษาศาสตร์ใหญ่ห้าแขนง และศาสตร์ย่อยอีกห้าแขนง ท่านวิรูปะได้รับเลือกเป็นพระภิกษุที่คงแก่เรียนและบรรลุธรรมได้มากที่สุดในบรรดาพระภิกษุทั้งหลายในมหาวิทยาลัย ท่านได้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับปรัชญาและตรรกวิทยา จนท่านเป็นที่รู้จักกันในนามว่าท่านธรรมปาละ ซึ่งแปลว่า "ผู้รักษาไว้ซึ่งพระธรรม"
 
          ในเวลากลางวัน ท่านวิรูปะสอนวิชาปรัชญา ตรรกวิทยาและศาสตร์อื่นๆ ท่านสอนแต่เพียงปรัชญาปารมิตาและคำสอนมหายานอื่นๆเท่านั้น นอกจากนั้นท่านยังมีความสำรวมในอินทรีย์เป็นอย่างยิ่ง ท่านปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด และดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุรูปอื่นๆในมหาวิทยาลัยนาลันทา ท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ในทางลับท่านใช้เวลาในเวลากลางคืนปฏิบัติตันตระ ซึ่งตามประเพณีควรจะปฏิบัติในเวลากลางคืนอย่างลับๆ เพื่อให้ได้ผลสูงสุด ท่านวิรูปะปฏิบัติเช่นนี้มากว่ายี่สิบสี่ปี แต่ก็มิได้บรรลุมรรคผลอันใด ในที่สุดท่านก็รู้สึกท้อแท้ และยิ่งไปกว่านั้นท่านก็เริ่มมีฝันร้าย ท่านมองเห็นนรกภูมิ เห็นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า ท่านมีฝันร้ายซึ่งความฝันที่คืนหลังๆก็ยิ่งเลวร้ายกว่าในคืนก่อนหน้า ท่านคิดว่าการปฏิบัติตันตระอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดี ท่านตัดสินใจจะไม่ปฏิบัติอีกต่อไป ท่านจึงเหวี่ยงลูกประคำของท่านทิ้งไป ซึ่งเป็นลูกประคำที่ท่านใช้มาตลอดในการปฏิบัติถึงพระจักรสังวร และจากนั้นท่านก็มีความสุขมากในเวลากลางวันของวันรุ่งขึ้น
 
          ในคืนต่อมานั้นเอง ก็มีผู้หญิงหน้าตาตลกปรากฏกายแก่ท่าน ซึ่งเป็นหญิงในวรรณะต่ำ หญิงคนนี้ผิวคล้ำเกือบจะดำ ร่างซูบผอม เป็นที่สะดุดตามาก หญิงคนนี้มาหาท่านแล้วก็กล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าทำผิดมากที่ขว้างลูกประคำทิ้งไป ข้าฯเป็นเทพประจำตัวของเจ้า เจ้าควรจะปฏิบัติสมาธิถึงข้าฯในเวลาทั้งหมดนี้ ถ้าเจ้าปฏิบัติสมาธิถึงข้าฯ เจ้าก็จะบรรลุธรรม ที่ข้าฯอยากให้เจ้าทำก็คือไปเก็บลูกประคำกลับมา" (วิรูปะขว้างลูกประคำลงไปในส้วม) หญิงคนนี้บอกวิรูปะให้ชำระล้างลูกประคำให้สะอาดหมดจด ประดับด้วยเครื่องหอม และทำสมาธิต่อไป แต่เป็นสมาธิถึงเธอ
 
          ท่านวิรูปะทราบว่าหญิงคนนี้ได้แก่พระนางวัชรไนราตมยา หรือ "พระเทวีแห่งอนัตตา" ผู้เป็นชายาของพระเหวัชระผู้เป็นเทพตันตระผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นท่านจึงทำตามที่พระนางขอ ท่านไปเก็บลูกประคำกลับมา ล้างให้สะอาด ประพรมด้วยน้ำหอม และปฏิบัติสมาธิตันตระต่อไป เกือบจะทันใดนั้นพระวัชรไนราตมยาก็ปรากฏพระวรกายขึ้นพร้อมด้วยเหล่าบริวาร มณฑลของท่านปรากฏขึ้นแก่ท่านวิรูปะอย่างชัดเจนเหมือนกับเรามองเห็นกันอยู่ในตอนนี้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ภาพในใจ แต่เป็นการปรากฏอย่างชัดเจนของมณฑลพิธีพร้อมด้วยเหล่าเทพทั้งปวง ซึ่งต่างก็มาให้พรและญาณทัศนะแก่ท่าน ในคืนนั้นเอง ท่านวิรูปะก็ได้บรรลุถึงการรับรู้ชั้นสูงและได้บรรลุภูมิของพระโพธิสัตว์ขั้นที่หนึ่ง อันเป็นภูมิแรกของพระโพธิสัตว์ในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้ ในคืนต่อๆมาหลังจากนั้นท่านก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และในคืนที่หกท่านก็บรรลุภูมิที่หก ซึ่งเป็นขั้นของการไม่หวนกลับมาอีก  และหลังจากนั้นก็เป็นเวลาอีกไม่นานที่ท่านจะบรรลุถึงพระพุทธภาวะ ซึ่งท่านก็ได้บรรลุเช่นนั้น
 
          สิ่งต่างๆเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงสำหรับท่านวิรูปะ แทนที่ท่านจะสอนและสำรวมระวังอินทรีย์และปฏิบัติตามพระวินัยเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุรูปอื่นๆอย่างที่เคยทำ ท่านก็เริ่มฉันเนื้อสัตว์และเหล้าองุ่น และท่านก็ไม่เดินทางไปสอนหนังสือ ไม่เพียงแต่เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าพระภิกษุรูปอื่นๆเห็นเจ้าอาวาสมีผู้หญิงมาเยี่ยมถึงในกุฏิในเวลาค่ำคืน แท้จริงแล้วสิ่งที่พระภิกษุเหล่านั้นมองเห็น คือเหล่าฑากินีและเทวีต่างๆที่ปรากฏขึ้นในการทำสมาธิของท่าน อย่างไรก็ตามก็ดูเหมือนว่าท่านกำลังจะทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนาลันทา และพระภิกษุเหล่านั้นก็ไม่พอใจ ในท้ายที่สุดพระภิกษุเหล่านี้ก็บอกแก่ท่านว่าท่านทำให้ทุกๆรูปผิดหวัง และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ภิกษุรูปอื่นๆ และท่านได้กลายเป็นโยคีและพระภิกษุที่ไม่ดีเลย ท่านวิรูปะกล่าวตอบว่า "ใช่แล้ว ท่านพูดถูกแล้ว ดังนั้นเพื่อปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนาลันทา กระผมจะออกจากมหาวิทยาลัย" พระภิกษุเหล่านั้นก็เห็นด้วยและท่านก็เริ่มเดินทางออกจากมหาวิทยาลัย
 
          หลังจากที่ออกมาแล้ว ท่านวิรูปะก็เดินทางท่องเที่ยวไปและทำสมาธิท่ามกลางป่าเขาเป็นเวลาหนึ่ง ท่านถูกแดดเผาและมีผิวดำขึ้น ท่านยังมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นจากการฉันเนื้อ ผมกับหนวดเคราของท่านหยาบขึ้น ท่านประดับร่างกายของท่านด้วยมาลัยดอกไม้ ซึ่งถือว่าเป็นรสนิยมที่ไม่ดีสำหรับผู้ที่เป็นพระภิกษุในอินเดียสมัยนั้น ทุกที่ที่ท่านไป ผู้คนก็กล่าวกันว่า "มองดูขอทานเลวชาวพุทธคนนี้สิ" แล้วก็ไม่มีความเคารพใดๆแก่ท่าน อันที่จริงท่านได้เปลี่ยนไปมากจนกระทั่งแทนที่ผู้คนจะเรียกท่านว่า ท่านธรรมปาละ แต่กลับเรียกท่านว่า "วิรูปะ" แปลว่า "ผิดรูป" หรือ "น่าเกลียด"
 
          วันหนึ่งท่านวิรูปะกำลังเดินทางไปยังเมืองพาราณสีและมาถึงยังฝั่งแม่น้ำคงคา แต่คนพายเรือไม่ยอมพาท่านข้ามฟากเนื่องจากท่านไม่มีค่าโดยสาร ท่านวิรูปะทำท่ามุทรา แล้วชี้นิ้วไปยังแม่น้ำ พร้อมกับกล่าวว่า "ท่านเป็นแม่น้ำที่ค่อนข้างศักดิ์สิทธิ์ ฉันเข้าใจ และเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ฉันเป็นพระภิกษุพุทธที่น่าเกลียด ฉันไม่อยากทำให้ท่านแปดเปื้อนด้วยการว่ายข้ามไป ดังนั้นฉันคิดว่าท่านควรจะถอยไป" ปรากฏว่าแม่น้ำคงคาถอยไปจริงๆ และท่านก็เดินข้ามไปได้ ตรงนี้เป็นความหมายวงในของบรรทัดในโศลกที่บอกว่า ท่านวิรูปะเป็น "ผู้ทรงหยุดไว้เสียซึ่งสายน้ำอันยิ่งของสังสาระกับกิเลส" แล้วก็ยังมีการตีความโศลกนี้แบบวงในด้วย ซึ่งจะกล่าวต่อไป แต่เรื่องราวที่บันทึกลงในประวัติศาสตร์ก็คือว่า ท่านวิรูปะเป็นโยคีที่รู้จักกันว่า สามารถทำให้แม่น้ำคงคาไหลย้อนกลับได้



เมื่อท่านข้ามแม่น้ำคงคาและมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว สิ่งแรกที่ท่านทำก็คือไปยังร้านเหล้าและสั่งเหล้าองุ่นมาดื่ม ท่านเริ่มดื่มและหลังจากนั้นเจ้าของร้านก็เริ่มเป็นห่วงว่าลูกค้าคนนี้อาจไม่ยอมจ่ายค่าเหล้า ดังนั้นจึงบอกท่านวิรูปะให้จ่าย ท่านวิรูปะตอบว่า "ข้าฯจะจ่ายแน่ๆ ข้าฯตั้งใจเช่นนั้น แต่ข้าฯจะดื่มถึงเวลาเที่ยง ดังนั้นจนกว่าเงาแดดจะถึงจุดๆนี้ (แล้วท่านก็ขีดรอยลงบนโต๊ะ) ข้าฯจะไม่หยุดดื่ม แล้วเอาเหล้ามาเพิ่มอีกเรื่อยๆ"  ดังนั้นจึงเป็นอันตกลง และท่านวิรูปะก็ดื่มต่อไปอีกเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ดำเนินไปเป็นเวลานานมาก อันที่จริงดำเนินไปเป็นเวลาถึงเจ็ดวัน แต่เงาของดวงอาทิตย์ก็ไม่เคยถึงรอยที่ขีดไว้เลย ในขณะเดียวกัน หลังจากที่แสงแดดหยุดอยู่ที่เวลาสายๆเป็นเวลาถึงเจ็ดวัน ส่วนอื่นๆของโลกก็เริ่มเดือดร้อน ผู้คนต่างๆไปหาพระราชาขอให้ท่านทรงทำอะไรบางอย่าง พระราชาปรึกษาเหล่าเสนาอำมาตย์ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าต้องมีโยคีบางรูปที่แสดงความสามารถ และต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นเหล่าเสนาจึงออกค้นหาแล้วก็พบท่านวิรูปะ ซึ่งยังคงดื่มอยู่ เมื่อพระราชาทรงเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น ท่านก็ทรงจ่ายค่าเหล้าแทนให้ และทั้งหมดนี้ก็คือความหมายของโศลกที่บอกว่า "ทรงหยุดไว้เสียซึ่งดวงตะวันอันสะอาดไร้มลทิน"
 
          ท่านวิรูปะเป็นผู้ที่เริ่มสอน การเห็นทั้งสาม เป็นครั้งแรก แม้ว่าเรื่องราวในชีวประวัติของท่านจะดูเต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างใด เพราะเมื่อโศลกกล่าวถึงท่านว่าเป็น "พระผู้ทรงเป็นเจ้าของโยคีทั้งปวง ผู้ซึ่งทรงรื่นเริงอยู่ในเมรัยแห่งความสุข" เราต้องจำไว้ว่าเหล้าองุ่นที่ท่านวิรูปะที่เป็นพระผู้ตรัสรู้แล้วดื่มนั้น แท้จริงก็ได้แก่น้ำทิพย์แห่งการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ น้ำทิพย์นี้เปรียบได้กับเหล้าองุ่น ซึ่งเป็นเหตุของความสุขอันล้นเหลือของปุถุชน แต่สำหรับพระโยคาวจรเหล้าองุ่นนี้ก็คือน้ำทิพย์แห่งการตรัสรู้
 
          ในทำนองเดียวกัน การที่แม่น้ำคงคาไหลย้อนกลับก็ได้แก่การหยุดยั้งกระแสของกิเลสทั้งปวง จิตนั้นเปรียบเหมือนกับกระแสน้ำที่ไหลอย่างไม่หยุดยั้งและไม่อาจทำให้ไหลย้อนกลับได้ ภัยน้ำท่วมอันได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ ความเย่อหยิ่ง และการเห็นแก่ตัวเปรียบเหมือนกับแม่น้ำใหญ่ที่มนุษย์ธรรมดาๆไม่สามารถจัดการได้ อย่าว่าแต่สั่งให้ไหลย้อนกลับเลย แต่พระโยคาวจรผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถควบคุมจิตของท่านรวมทั้งปรากฏการณ์ภายนอกได้อย่างสิ้นเชิงเช่นท่านวิรูปะนั้น สามารถ "หยุดไว้เสียซึ่งสายน้ำอันยิ่งของสังสาระและกิเลส" เมื่อท่านได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านได้บรรลุถึงพระธรรมกาย อันเป็นกายของความเป็นจริงอันเป็นพระปัญญาญาณของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แหล่งที่มาของความรู้และปัญญานี้เปรียบได้กับพระอาทิตย์ที่ส่องแสงกำจัดความมืดของอากาศธาตุ ของกายทั้งหลาย และของรูปทั้งปวง ดังนั้นโศลกที่กล่าวว่าท่านวิรูปะ "ทรงหยุดไว้เสียซึ่งดวงตะวันอันสะอาดไร้มลทิน" จึงหมายถึงสิ่งที่เราเพิ่งพูดกันไปในระดับความหมายวงใน
 
          ในระดับวงนอก ท่านวิรูปะได้กระทำอิทธิฤทธิ์ด้วยการสั่งให้แม่น้ำไหลย้อนกลับและด้วยการหยุดพระอาทิตย์ และท่านก็ยังเป็นนักดื่มตัวยง แต่ในระดับของจิตวิญญาณ ท่านกำลังบรรลุถึงภารกิจที่การตรัสรู้ทำให้เกิดเป็นไปได้ขึ้นมา...
 
หนังสือ "การเห็นทางธรรมสามระดับ" แปลจาก The Three Levels of Spiritual Perception แต่งโดย เตชุง ริมโปเช และคณะ แปลโดย รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ สำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา

http://www.facebook.com/1000tara




การเห็นทางธรรมสามระดับ1

การเห็นทางธรรมสามระดับ 2

การเห็นทางธรรมสามระดับ 3

การเห็นทางธรรมสามระดับ 4

การเห็นทางธรรมสามระดับ 5

การเห็นทางธรรมสามระดับ 6
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 12, 2013, 01:40:53 am โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...