แสงธรรมนำใจ > วัชรยาน

อัตตตา และ ธรรมกาย จากมุมมอง พุทธศาสนานิกายวัชรยาน

<< < (2/2)

มดเอ๊กซ:


* ๖ *
 

การฝึกโยคะตามแบบตันตระในเรื่องความฝันและการนอนนั้น โยงมาถึงเรื่องจิตใต้สำนึกที่ตะวันตกเพิ่งเอ่ยถึงเมื่อสมัยฟรอยนี่เอง แต่ในทางมหายานมีคำว่า วาสนา ในภาษาสันสกฤต ซึ่งบ่งถึงการสะสมพฤติกรรมต่าง ๆ ไว้ในจิตใจ จนเจ้าตัวไม่รู้ เว้นแต่จะฝึก จิตจนล้วงลึกลงไปภายในได้

สภาวะของจิตดังกล่าว สงเคราะห์เข้าในวิญญาณขันธ์ อันเป็นขันธ์ตัวที่ห้า ซึ่งเริ่มแต่รูป ( ร่างกาย ) เวทนา ( ความรู้สึก ) สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) สังขาร ( ขบวนการคิดนึกทั้งหมดอันละเอียดอ่อนและซับซ้อน ) จนถึง วิญญาณ ( การตัดสินใจในการประกอบ กิจกรรมต่าง ๆ ) ทั้งทางมโนกรรม ( ภายในตัวเอง ) และแสดงออกภายนอกทางวจีกรรม และทางกายกรรม

วาสนา ที่ซ่อนเร้นอยู่ในวิญญาณขันธ์ที่เกิดจากประสบการณ์หรือ พฤติกรรมต่าง ๆ ในอดีตนั้น บางอย่างอาจผุดมาได้ง่าย ๆ เมื่อมีอะไรมากระทบหรือกระตุ้นเข้า แต่บางกรณีก็ไม่มีอะไรที่จะกระตุ้นให้แสดงออกมาได้ ในทางพุทธศาสนาถือว่า ประสบการณ์ หรือพฤติกรรมที่เรานำมาเก็บไว้ใน วาสนา แห่งวิญญาณขันธ์นั้น บางครั้ง อาจแสดงออกได้ทางความฝัน นี่แลคือการเชื่อมต่อ ระหว่างชีวิตยามตื่นตอนกลางวันของเรา กับชีวิตยามหลับในเวลาราตรีของเรา ที่เราเกิดความฝันขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการแสดงออก จาก วาสนา จนเป็นพฤติกรรมของเรา อย่างที่เราไม่รู้ตัว ดังที่กล่าวกันว่าพระสารีบุตรนั้น แม้ท่านจะตัดกิเลสได้หมดแล้ว แต่ท่าน ก็ยังมีวาสนา ท่านชอบกระโดดข้ามไปเวลาเจออะไร ๆ ที่ขวางกั้นทางเดินของท่าน แทนที่จะเดินเลี่ยงไป โดยพระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่านั่นเป็น วาสนา ของท่าน จนอ้างกันว่าชาติก่อนท่านเคยเกิดเป็นวานร และตามคัมภีร์ชี้บ่งไว้ว่า กิเลส กับ วาสนา นั้น ตัดได้ขาดเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอนุพุทธอย่างพระอรหันต์ตัดได้ขาดเพียงกิเลส วาสนา ยังดำรงคงอยู่ในจิตใต้สำนึก อย่างไม่มีพิษภัยอันใด

ทางนิกายวัชรยานของธิเบต บางสำนักถือว่าอาจสาวหา วาสนา มาได้ทั้งนี้เพราะมี อาวรณ์ เป็นตัวกีดขวาง ให้เราเข้าไม่ถึงตัววาสนา โดยแบ่งแยกออกไปเป็น ฌาเนยอาวรณ์ การขัดขวางทางด้านฌาน และกิเลสอาวรณ์ การขัดขวางทางด้านกิเลส

ตัดขัดขวางหรือขวางกั้นนี้ มาจากอกุศลมูลคือโลภ โกรธ หลง และอุปาทานการยึดติด แม้จนการติดยึดทางปัญญาก็เป็นตัวขวางกั้น ที่สำคัญเพราะการติดยึดดังกล่าว ไม่จำต้องเป็นกุศล

พูดถึงการขวางกั้นทางฌานหรือทางความรู้นั้น สำนักหนึ่งกล่าวว่าอุปสรรคดังกล่าวไม่ปรากฏในวิญญาณขันธ์ หากแอบแฝงอยู่ต่างหาก ออกไป

ทางนิกายปราสังฆิกะ มาธยมิกะ ยืนยันข้อความที่กล่าวมาแล้ว คือ ๑ อุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้าไม่ถึงองค์แห่งความรู้นั้น ไม่ปรากฏใน วิญญาณขันธ์เลย หากแทรกแซงอยู่นอกเหนือออกไป แต่บางสำนักในนิกายนี้กล่าวแย้งว่าอุปสรรคบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่นั้น ก็ขีดวง อยู่ในวิญญาณขันธ์นั้นเอง

คัมภีร์ของฝ่ายมาธยมิกะบ่งไว้ว่าการกำหนดรู้หรือรำลึกให้รู้นั้น ใช้สัญญาเป็นตัวการ โดยสามารถรำลึกรู้อะไร ๆ ก็ได้ ถ้าฝึกจิตใจอย่าง อบรมมาดีแล้ว พร้อมกันนั้น ก็ยืนยันว่าพฤติกรรมหรือประสบการณ์บางอย่างในอดีตนั้นไม่อาจเรียกกลับมาให้รับรู้ได้อีกเลย ยกตัวอย่าง เช่นการเห็นผู้หญิงสวยน่ารักคนหนึ่ง ในยามตื่นอยู่ แม้จะรู้สึกว่าเธอน่าพิศมัย แต่ไม่ได้กำหนดจิตใจให้จำได้หมายรู้ถึงเธออย่างรอบคอบ แม้เมื่อฝันถึงเธอก็เห็นเธออย่างฉาบฉวยเท่านั้น เพราะรับรู้ถึงเธอได้อย่างผิวเผินนั้นเอง

การรับรู้ถึงอดีตที่ปรากฏในความฝัน ไม่ใช่การรำลึกถึงอดีตอย่างจงใจ ส่วนในอีกกรณีหนึ่งนั้น ใช้จิตกำหนด เรียกเอาอดีตกลับขึ้นมาให้ ปรากฏ จะโดยกุศลวิธีหรืออกุศลวิธีก็ได้ วิธีเช่นนี้แม้พวกที่เล่นทางทรงเจ้าเข้าผี และไสยเวทวิทยาต่าง ๆ ก็ใช้กัน และนั่นมักเป็นอกุศล ยิ่งกว่ากุศล

การรำลึกได้ถึงอดีตนั้น ถ้าฝึกได้ถึงขนาดย่อมอาจรำลึกอดีตชาติได้แม้ถอยหลังไปหลาย ๆ ชาติ โดยที่สัตว์เดรัจฉานก็รำลึกชาติได้ หากรำลึกได้เท่าที่สัญชาตญาณจะกำหนด อย่างไม่ลึกซึ้งอะไรเลย

ท่านภาวะวิเวกเขียนอธิบายไว้ว่า ลูกงัวและสัตว์ประเภทกินนมต่าง ๆ พอเกิดมา ก็รู้ว่าให้ไปหานมกินได้ที่ไหน ทั้งนี้เพราะรำลึกชาติ ได้ว่าเคยเป็นงัวมาก่อน และเคยกินนมมาจนเป็นประสบการณ์อันเคยชิน

มนุษย์เอง ที่ประพฤติตนตามที่สัญชาตญาณกำหนด ก็เพราะสัญชาตญาณเกิดจากประสบการณ์ในอดีตที่สะสมไว้ในวิญญาณขันธ์อย่าง ที่เจ้าตัวไม่รู้นั่นเอง ถ้าอบรมบ่มนิสัยจนมีนิสัยปัจจัยไปในทางกุศล สัญชาตญาณก็จะออกมาในทางนั้น ถ้าอบรมบ่มนิสัยไปในทางอกุศล สัญชาตญาณก็จะแสดงออกไปในทางอกุศลเช่นเดียวกัน

โดยเราต้องตราไว้ด้วยว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นชาติก่อนอาจเป็นมนุษย์ที่ดีหรือที่เลวก็ได้ หรือมีความคิดดีเลวระคนปนกันก็ได้ โดยความ เป็นมนุษย์ของเราโยงไปถึงอดีตชาติที่เราอาจเคยเป็นเทวดา เป็นอสูร เป็นเปรต เป็นเดรัจฉานหรือเป็นสัตว์นรกมาก่อนก็ได้อีกด้วย

กล่าวกันว่าทะไลลามะองค์ที่ ๕ บรรพบุรุษของท่านประพฤติปฏิบัติตันตรโยคะสืบกันมาหลายชั่วคน จนแลเห็นนิมิตหมายต่าง ๆ ได้ ทั้งยังมีประสบการณ์ทางด้านรหัสนัยต่าง ๆ อีกด้วย พระองค์ท่านเองก็ทรงมีจิตตานุภาพที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่วนหนึ่งสืบทอดมาจากบรรพชน และอีกส่วนหนึ่งนั้นทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง โดยที่การฝึกฝนตันตระโยคะนั้น ไม่ได้แปรเปลี่ยนจิตใจให้สูงส่งขึ้นเท่านั้น หากยังแปร เปลี่ยนร่างกายได้ด้วย จากความหยาบกระด้าง สู่ความละเอียดอ่อนอย่างปราณีต จนถึงละเอียดอ่อนที่สุด ที่สำคัญคือการเปลี่ยนศูนย์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย ให้ลมปราณเป็นคุณแก่ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยแก่ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยที่ร่างกายของเราเอง ก็เป็นมรดกตกทอดมา แต่บรรพชน แต่บรรพชนที่ฝึกตันตรโยคะทั้งร่างกายและจิตใจ ย่อมเป็นคุณูปการอย่างมหาศาลที่ตกทอดมาถึงตัวเราด้วย

นอกจากร่างกายและจิตใจแล้ว พุทธศาสนายังถือว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีส่วนเกื้อกูลหรือขัดขวางความเจริญของร่างกายและจิตใจด้วย แม้ดอกไม้ที่งอกงามหรืออับเฉา ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน โดยเราต้องรู้จักแยกแยะธรรมชาติของต้นไม้และดอกไม้ด้วย บางชนิดต้องการน้ำมาก บางชนิดต้องการน้ำน้อย บางชนิดขึ้นได้จำเพาะในบางภูมิประเทศ บางชนิดออกดอกอย่างต่าง ๆ สีกัน ซึ่งทาง พุทธศาสนาจำแนกออกไปในเรื่องของกรรม ซึ่งจะพูดอย่างสมัยใหม่ก็ได้ ในเรื่องของกฏธรรมชาติและชีววิทยาซึ่งก็คือขยับแต่พืชมา จนเดรัจฉาน และมนุษย์ รวมขึ้นไปถึงเทวดา รูปพรหมและอรูปพรหมนั่นเอง

มดเอ๊กซ:



* ๗ * 

สำหรับจิตมนุษย์นั้น มีทั้งหยาบและละเอียดอ่อน จิตชนิดหยาบ ทารกหรือเด็กได้รับมาจากบิดามารดา เช่นบิดาหรือมารดา ( หรือทั้งสอง ) มีโทสจริตแก่กล้า และติดยึดในรูปสมบัติ ลูกก็มักได้รับนิสัยปัจจัยอันนี้มาด้วย เช่นเดียวกับร่างกายของบิดามารดา ซึ่งถ่ายทอดมาถึงบุตร ธิดา ร่างกายมีอิทธิพลเหนือจิตใจได้ ฉันใด จิตใจก็มีอิทธิพลเหนือร่างกายได้ ฉันนั้น และถ้าคนในสกุลนั้นไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็จะสืบ โทสจริตและติดยึดในรูปสมบัติของตนกันต่อ ๆ ไปในอีกหลายต่อหลายชั่วคน ยิ่งตอนมารดามีครรภ์ ถ้าโกรธง่าย หรือไม่พอใจอะไร ๆ ง่าย ๆ ทารกในครรภ์ก็พลอยได้แรงกระตุ้นให้เป็นคนเจ้าโทสะได้ง่าย แต่ถ้าฝึกฝนทางสมาธิวิธี อาจพัฒนาจิตให้ละเอียดอ่อน จนเอาชนะ โทสจริต โลภจริต ราคจริต และโมหจริตได้เป็นขั้น ๆ ไป ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมครองเรือน ลูกหลานก็ย่อมมีร่างกายและจิตใจดีขึ้นด้วยตามลำดับ

ทางนิกายโยคาจาระถือว่าการเกิดใหม่นั้น อาศัยอาลัยวิญญาณเป็นตัวเคลื่อนย้ายจากชาตินี้ไปชาติหน้า แต่นี่ไม่ใช่อัตตา หากเป็นพลัง ทางจิตที่ทารกรับมาจากบิดามารดาด้วย และรับมาจากกระแสกรรมในชาติก่อน ๆ จนเป็นวิบากตกทอดมาถึงชีวิตใหม่นี้ด้วย นิกายโยคาจาระ เป็นส่วนหนึ่งของมหายาน ซึ่งงอกงามในอินเดียราวคริสตศตวรรษที่ ๔ บางทีเรียกนิกายนี้ว่ามุ่งที่จิตเท่านั้น ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Mind - only ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกมุ่งทางอุดมคติ ที่ถือว่าไม่มีสภาวสัตย์อื่นใด นอกเหนือจากที่ปรากฏในวิญญาณขันธ์ จนตั้งเป็น ทฤษฎีในเรื่อง อาลัยวิญญาณ นิกายต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนา ก็ออกจะคล้ายกับสาขาวิชาต่าง ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ เช่นนักชีววิทยากับ นักจิตวิทยา ย่อมมองไปยังสภาพของชีวิตมนุษย์อย่างต่าง ๆ กัน

ทะไลลามะทรงปฏิเสธทฤษฏีในเรื่องอาลัยวิญญาณ ซึ่งเป็นความคิดในทางปรัชญา ยิ่งกว่าเป็นผลที่มาจากสมาธิวิธี จนเข้าถึงตัวปัญญา ไม่ทรงเห็นว่าเป็นไปได้ ที่มีอะไร ๆ ที่คล้ายกับอัตตาที่แฝงอยู่ในร่างกาย พอร่างกายตายลง อาลัยวิญญาณที่แฝงอยู่ในร่างกายก็ไปเกิดใหม่ เป็นอันว่าอาลัยวิญญาณผนวกอยู่ในพลังจิต ซึ่งไปเกิดใหม่ ทรงยืนยันว่าถ้าพลังทางจิตที่ว่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล ย่อมอาจเปลี่ยนแปลง ให้ดีขึ้น หรือเลวลงได้ เป็นสภาพของอนิจลักษณะ ไม่คงที่ถาวร หนึ่งเดียว

ยิ่งผู้ที่เจริญภาวนาสมาธิภาวนาจนถึงขั้นที่ไปพ้นความคิดด้วยแล้ว แม้กุศลและอกุศลก็ปลาสนาการไปพลังทางจิต แต่ก็ต้องมีกระแส บางอย่างที่เป็นตัวสันตติ ที่เชื่อมต่อจากภพนี้ไปสู่ภพหน้า ที่เรียกพลังหรือกระแสดังกล่าวนี้ว่า อาลัยวิญญาณ นั่นก็เป็นเพียงสมมติ ที่เกิดจากการหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อต่อจากชาตินี้ไปชาติหน้าเท่านั้นเอง

ทะไลลามะทรงถือว่าทางฝ่ายปราสังฆิกะ มาธยมิกะ ซึ่งเป็นต้นตอที่มาของนิกายเคลุกปะ ซึ่งพระองค์ทรงสังกัดอยู่ ดูจะมีข้อเสนอ ที่ฟังขึ้นได้ดีกว่าลัทธินิกายอื่น ๆ โดยที่ท่านสังกะปะได้ตั้งนักบวชนิกายนี้ขึ้นเมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๕ จนนิกายนี้มีอิทธิพลที่สุดในธิเบต ทะไลลามะทุกพระองค์ล้วนทรงสังกัดในนิกายนี้

นิกายนี้ถอยกลับไปถึงท่านนาคารชุน ( ราว ๆ คริสตศตวรรษที่ ๒ ) และสืบสายมาทางท่านภาววิเวก ซึ่งตั้งนิกายสวาตันตริกะขึ้น ( ราว ๆ คริสตศตวรรษที่ ๕ ) นิกายหลังนี้ไม่เห็นความจำเป็นเรื่องอาลัยวิญญาณ เพราะพลังจิตนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ ต้องไปแสวงหาคำอธิบายอะไรให้ลึกซึ้งไปกว่านี้

ประเด็นแห่งการอธิบายก็คือถ้าพลังจิตเป็นกระแสที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วอะไรเล่าที่เข้าถึงการตรัสรู้ ทางฝ่ายเถรวาทเรา ท่านพระพุทธโฆษายืนยันว่าพำระนิพพานมีอยู่ แต่ผู้เข้าสู่นิพพานไม่มี

ทางฝ่ายปราสังฆิกะ มาธยมิกะ ถือว่าการอธิบายในเรื่องต่าง ๆ นั้นเป็นประโยชน์ในทางหัวสมองเท่านั้นเอง ถ้าไม่ระวัง จะไปยึด ในตัวตนจนเป็นอัตตาได้ไม่ยาก แม้จะเลี่ยงไปเรียกว่าอาลัยวิญญาณ หรือคลื่นของพลังจิตก็ตาม

ทางฝ่ายปราสังฆิกะถือว่านี่เป็นความรับผิดชอบหรือความหลง เพราะถ้าแยกแยะกันจริง ๆ แล้วไม่มีอะไรที่จะเรียกว่าตัวตน หรือ อัตตาแฝงอยู่ ณ ที่ใด ๆ เลย

ทางฝ่ายปราสังฆิกะถือว่าเวลาเราประกอบกิจกรรมใด ๆ ก็เพราะเกิดแต่เจตนา โดยจะบอกว่าเจตนาเป็นกระแสจากพลังจิตก็ได้ แต่พลังทางจิตหรือกระแสที่ว่านี้ ก็แปรเปลี่ยนเป็นอนิจลักษณะอยู่ตลอดเวลา จะเป็นอัตตาหรือตัวตนไปไม่ได้เลย เว้นแต่จะไป ติดยึดมั่นจนเป็นอุปาทาน เพราะความหลง

การเอ่ยถึงตัวเรา โดยโยงไปยังร่างกายในระดับหยาบ หรือจะรวมขันธ์ห้าทั้งหมดว่าเป็นเรา ก็เพียงเพื่อประโยชน์ทางการใช้ภาษา ตามความเหมาะสมในสังคม โดยที่สาวกผู้สดับคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ต้องรู้ว่าตัวเรา หรือตัวตนที่ว่านั้น เป็นเพียงสมมติ อันเราไม่ควรไปยึดติด และการกระทำใด ๆ ถ้าไม่ติดยึดในตัวตนมากเท่าไหร่ กิจกรรมนั้น ๆ ก็จะเป็นกุศลอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างโยงไปถึงคนอื่น ๆ สัตว์อื่น และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมากเท่านั้น

มองนอกตัวมนุษย์ออกไป เอาเรือมายกเป็นตัวอย่างก็ได้ เรือลำนี้ในปีแรก กับเรือลำนี้ในปีที่ ๒ และกับอีกใน ๓o ปีต่อแต่นี้ไป จะว่าเป็นเรือลำเดียวกันก็ได้ ถ้ามองอย่างเผิน ๆ แต่ถ้าพิเคราะห์อย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าเรือลำนี้ในปีแรกกับเรือลำนี้ในปีที่สองนั้น เป็นคนละลำแล้ว มิไยต้องเอ่ยถึงออีก ๓o ปีต่อแต่นี้ไป

เรือฉันใด มนุษย์ก็ฉันนั้น ดูจากภายนอกในรอบ ๓o ปี ร่างกายก็เปลี่ยนไปมากแล้ว ยิ่งจิตใจด้วยแล้วเปลี่ยนแปลงอยู่แทบทุกขณะจิต และตามความเป็นจริง ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าพิเคราะห์เจาะลึกกันจริง ๆ แล้วจะไปติดยึดในเรื่องตัวตนหรือตัวเราได้ อย่างไร ไม่ว่าจะในทางรูปธรรมหรือนามธรรม

สำหรับนิกายเสาตรานิกะนั้น บุคคลหรือตัวตน ไม่ใช่รูป หรือนาม แต่เป็นสภาวะที่เป็นอนิจลักษณะ ซึ่งแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ร่างกาย ธำรงคงอยู่ได้ก็เพราะมีการธำรงรักษาไว้ให้ชีวิตเป็นไปได้ จิตใจก็เช่นกัน

ฉะนั้นนิกายนี้ถือว่าอัตตามี แต่มีโดยสมมติสัตย์ ไม่ได้มีอยู่ตามสภาวสัตย์ หรือปรมัตถสัตย์ กล่าวคือจะเรียกตัวเรา ว่าสมัยก่อนเราเป็น เช่นนั้น ไม่ได้มีอยู่ตามสภาวสัตย์ หรือปรมัตถสัตย์ กล่าวคือจะเรียกตัวเรา ว่าสมัยก่อนเราเป็นเช่นนั้น สมัยแก่เป็นเช่นนั้น สมัยบวชเป็น เช่นนั้น สมัยสึกออกมาแล้ว เป็นเช่นนั้น เรา หรือ ฉัน ในที่นี้ มีประโยชน์ในทางภาษาที่ใช้สื่อสารกันนั้นเอง ไม่มี ฉัน หรือ เรา ที่เป็น ตัวตน อย่างจริงจังแต่ประการใด

ทางธิเบตแบ่งพุทธศาสนาออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสูตรยานหรือ สาวกยาน อันได้แก่นิกายเถรวาทอย่างของเรา ซึ่งมุ่งพุทธพจน์โดย ตรง ดังจารไว้ในพระไตรปิฏกเป็นภาษาบาลี และมีอรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา ชี้แจงแสดงพระพุทธวัจนะ และเถระเถรีภาษิตต่าง ๆ ของ พระอรหันต์ร่วมสมัยในพุทธกาล

อีกฝ่ายหนึ่งนั้นคือตันตรยานหรือวัชรยาน ซึ่งเขาถือว่าสูงส่งกว่าของเรา เพราะมีการถ่ายทอดวิถีภาวนาอย่างเป็นรหัสยะจากครูบา อาจารย์สู่ศิษยานุศิษย์ โดยไม่เปิดเผยให้คนวงนอกได้รับรู้

ทางฝ่ายธิเบตถือว่านิกายปราสังฆิกะ มาธยมิกะ ก็ยังเป็นฝ่ายสูตรยาน แม้นั่นจะขยับขึ้นไปเป็นมหายานแล้วก็ตาม เพราะยังเข้าไม่ถึงจิต อันละเอียดอ่อน ที่สอนให้ภาวนาได้จนเห็นแสงอันกระจ่างดังพวกปราสังฆิกะจึงยังผิดพลาดในเรื่อง บุคคล หรือ ตัวตน ที่ดำรงต่อ เนื่องกันไปจากชาติก่อนมาชาตินี้ แล้วไปอุบัติอีกในชาติหน้า

ทางฝ่ายตันตรยานถือว่า บุคคล ตัวตน เรา ฉัน นั้นเป็นเพียงสมมติสัตย์ แม้จะมีเอกลักษณ์พิเศษของบุคคลนั้น เช่น เป็นพระ เป็นผู้ชาย เป็นชาวไทย แต่นั่นก็เป็นเพียงองค์ประกอบของบุคคล ซึ่งไม่มีตัวตนคงที่ถาวร หากแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยที่ทางฝ่ายตันตระนั้น ครูอาจารย์อาจสอนศิษย์ด้วยโยควิถี ให้เข้าถึงกระแสจิตอันละเอียดอ่อน และพลังทางจิตซึ่งละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง โดยที่ทั้งหมดนี้เป็นกระแสที่เคลื่อนย้ายอยู่อย่างไม่หยุดหหย่อน โดยที่กระแสจิตอันละเอียดอ่อนอย่างที่สุดนี้แลกลายเป็น แสงอันกระจ่าง ซึ่งอาจปรากฏขึ้นได้ในหลายต่อหลายโอกาส

กระแสที่ว่านี้ เริ่มแต่ต้นของกาลเวลาไปอย่างไม่มีจุดจบ ถ้าเข้าใจความข้อนี้ ก็จะตีประเด็นได้แตกในเรื่องอัตตาและตัวตน ที่ไปมัว พัวพันอยู่กับรูปนามอย่างหยาบ และกับนามขันธ์ทั้ง ๔ ( เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ) ว่านั่นเป็นเพียงสมมติบัญญัติไม่ใช่ สภาวสัตย์

ยิ่งถ้าได้ปฏิบัติภาวนาถึงขั้นสูงด้วยแล้ว บางคราวพลังชีวิตอันละเอียดอ่อนยิ่งและพลังทางจิตย่อมแสดงออกมา โดยขันธ์อย่างหยาบ ไม่ปรากฏออกมาเลยด้วยซ้ำ และถ้าไม่ระวัง จะไปหลงเอาว่ามีอัตตา ในสภาวะอันละเอียดอ่อนยิ่งนี้อีกก็ได้

ท่านไมตรีนาถอธิบายความข้อนี้โดยเปรียบเทียบกับแม่น้ำที่ไหลมาจากทุก ๆ แหล่ง แล้วลงสู่มหาสมุทรหนึ่งเดียว และในมหาสมุทรนั้น เอกลักษณ์ของแต่ละสายน้ำมลายหายสิ้นไป

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพลังทางจิตที่เป็นกระแสอันต่อเนื่องกันนั้น ก็เกิดมีขึ้นเพราะเราสมมติมันขึ้นเช่นกัน ยิ่งถ้าเข้าถึงกระแสจิตอันละเอียดอ่อนยิ่ง จะเข้าใจว่าไม่มีความคิดนึกอยู่ในนั้น เป็นอันรับรู้ได้ว่าไม่มีตัวตนหรืออัตตาแฝงอยู่ในที่ใด ๆ เลย

มดเอ๊กซ:



*  ๘  *

สิ่งที่เรียกว่า  สมมุติ  นั้น  ย่อมเกิดจากประสบการณ์อย่างธรรมดาของสามัญมนุษย์  ซึ่งใช้เรียกขานกันทางภาษา  เช่นว่า  ฉันไปโน่น
ฉันทำนี่  ฉันอ้วน  ฉันผอม  ฯลฯ  คำว่า ฉัน หรือ เรา  ที่ใช้กันพึงตราไว้ว่ามันไม่มีอยู่จริงตามสภาวสัตย์  หากมันมีขึ้นอยู่เพราะคำพูด
ของเรา  ที่ใช้ในการสื่อสารกันเท่านั้นเอง


ทางฝ่ายปราสังฆิกะ มาธยมิกะ  ยืนยันว่า  ฉัน  หรือ  เรา  นั้น  ถ้าแยกแยะลงไปแล้ว  จะเห็นได้ว่าไม่มี 


ขอให้กลับมาพิจารณาประโยคอย่างที่ยกมาข้างบนนี้  ที่ว่า  ฉันไปโน่น  ฉันทำนี่  ฯลฯ  ถ้าปล่อยไว้แค่นั้น  เราก็นึกว่า  ฉัน  นั้นมีจริง ๆ
ทั้ง ๆ  ที่ใช้คำว่า  ฉันเพื่อสื่อให้คนอื่นรู้จักตัว  ฉัน  เท่านั้นเอง 


ถ้าลองออกนอกสมมติที่ว่านี้  แล้วพิเคราะห์ดูว่าอะไรเป็นตัวต่อเนื่อง  จนพ้นขอบเขตที่สังคมกำหนด  ก็จะเห็นได้ว่าไม่มี  ฉัน  อยู่ตาม
สภาวสัตย์ในที่ใด ๆ  เลย 


เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำหนดขึ้นด้วยภาษานั้นไม่จำเป็นต้องมีจริง ๆ  ดังสิ่งซึ่งเราฝันขึ้น  ก็ไม่จำต้องเป็นจริงในชีวิตเรา  แม้คนส่วน
ส่วนใหญ่จะเชื่อว่า  ฉัน  นั้นมีจริง  ทัศนะของคนส่วนใหญ่นั้นไม่จำต้องถูกเสมอต้องไป


ลองพิจารณาต่อไป  ว่าถ่าเราวิเคาระห์เจาะลึกลงไปเพื่อหาสภาวสัตย์ที่เป็นปรมัตถ์ ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรปรากฏอยู่จริงตามนัยของ
สภาวสัตย์อย่างคงทนถาวรเลย 


คำว่า  ปรากฏอยู่จริงตามนัยของปรมัตถสัตย์นั้น  ฝ่ายมาธยมิกะถือว่าทุกอย่างต้องวิเคราะห์ออกให้ชัด  ดังพระนาคเสนเคยอธิบายขยาย
ความเรื่องราชรถว่าล้วนประกอบไปด้วยสิ่งต่าง ๆ  เช่น  ล้อดุม  ที่นั่ง  ฯลฯ ถ้าแยกออกไปแล้วรถก็ย่อมไม่มี  ตัวตนหรือบุคคลก็ฉันนั้น
หากเราเรียกขานขึ้นเพื่อความสะดวกในทางสื่อสารเท่านั้นเอง  ทั้ง ๆ  ที่รถมีเอกลักษณ์พิเศษ   แต่เมื่อแยกส่วนออกไป  เอกลักษณ์พิเศษ
ที่ว่านั้นก็ไม่มี


การเสนอให้ไม่ติดยึดในตัวตน  หรือเอกลักษณ์พิเศษนั้น  ฝ่ายปราสังฆิกะเสนอสามวิธีคือ ( ๑ )  บางคนอาจจะบอกว่านี่นาย  ก. แต่เราอาจ
บอกว่าไม่ใช่  เขาคือนาย  ข.  ต่างหาก  สำหรับสามัญมนุษย์ทั่วไป  ก็จำต้องถามว่าบุคคลคนนั้นคือ  นาย  ก. หรือนาย ข. กันแน่  เป็นอันว่า
ตัวตัดสินคือมหาชนหรือคนส่วนใหญ่  นอกจากสองคนเถียงกัน ( ๒ )  ใช้วิธีทางตรรกวิทยา  ( 3 )  วิธีเข้าถึงจริง ๆ  ทางปรมัตถสัตย์  โดย
ตันตระวิธี  จำเพาะวิธีนี้แหละที่ช่วยให้เข้าถึงว่านาย ก.  ก็ดี  นาย ข. ก็ดี  เป็นเพียงสมมติสัตย์


ถ้าจะใช้วิธีที่ ๔  อีกก็ยังได้  คือความเชื่อถือในบุคคลที่ควรเชื่อ  หรือเอกสารหลักฐานที่ควรเชื่อ  เช่นที่ข้าพเจ้ารู้ว่าตนเองเกิดในปี  ๒๕๗๕
ไม่ใช่  ๒๔๗๖  เพราะข้าพเจ้าเกิดเกิดเดือนมีนาคม  เวลานั้นมีนาคมเป็นปลายปี เมษายน  เป็นต้นปี  เอกสารหลักฐานเช่นนี้  ยืนยันว่าข้าพเจ้า
เกิดปี  ๒๔๗๕  แม้ว่าเมื่อเทียบกับศักราชฝรั่ง  ย่อมเป็นปี  ๑๙๓๓  ไม่ใช่ ๑๙๓๒  คือเอาเกณฑ์  ๕๔๓  มาลบออกหาได้ไม่


การที่เรารับความจริงทางวิทยาศาสตร์  ก็เพราะเราเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์มีความรู้มากกว่าเรา   เราเชื่อเขาเพราะถือว่าเขาเป็นบุคคลที่
น่าเชื่อถือ  ซึ่งอาจผิดก็ได้ถูกก็ได้ 


การแสวงหาความจริง  ในทางพุทธศาสนาของวัชรยานนั้น  ใช้วิธีการค้นหาทางด้านจิตใจอย่างพุทธวิธี  ไม่ใช่การแยกแยะหรือวิจัยในทาง
ปรากฏการณ์ของสสาร  เพื่อหากฏเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับกันอย่างสากล  ดังวิธีวิทยาของนักวิทยาศาสตร์  ทั้งนี้เพื่อให้กฏนั้นเป็นที่ยอมรับ
อย่างเป็นเอกฉันท์  แล้วเอามาตั้งเป็นกฏเกณฑ์สำหรับทุก ๆ  คนในแวดวงวิชาการนั้น 


วิธีการเข้าถึงจิตใจในฝ่ายพุทธศาสนานั้นมีหลายทางด้วยกัน  เพราะแต่ละคนก็มีวิธีคิดที่ต่างกัน  มีความต้องการที่ต่างกัน  มีความสนใจที่
ต่างกัน  ฯลฯ  จะใช้วิธีหนึ่งเดียวเพื่อเข้าถึงจิตใจของผู้คนอันมากหลาย  ย่อมเป็นไปไม่ได้  เพราะกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์สรุปมาได้จาก
สสาร  จากวัตถุ  ซึ่งออกจะตายตัว


ทางฝ่ายพุทธจึงใช้วิธีสังเกตกระบวนการคิดของคนนั้น ๆ  เท่าที่ปรากฏขึ้นในแต่ละคน  ยิ่งกว่าจะหาข้อสรุปมาตั้งเป็นกฏเกณฑ์อย่างสากล
ขึ้นสำหรับมนุษย์ทุก ๆ คน  เพื่อยืนยันว่ากฏเกณฑ์นี้ใช้ได้ตลอดกาล


สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรม  ยิ่งจิตเป็นสมาธิมากเท่าไร  ปัญญาย่อมสว่างขึ้นเท่านั้น  และก็จะติดยึดน้อยลงด้วยเช่นกัน  โดยผู้ปฏิบัติธรรมจะเกิด
อุปายะโกศล  จนรู้เท่าทันพลังทางร่างกายกับจิตใจ  ช่วยเชื่อมให้ร่างกายกับจิตใจบรรสานสอดคล้องกัน  คลายความเครียด  เกิดความสงบ
จนสามารถอาจใช้ภาวนาวิธีเช่นนี้มากำหนดความฝันก็ได้  ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น


การเข้าใจเรื่องความฝัน  ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องการตาย  และการเข้าใจเรื่องการตาย  ก็จะต้องเข้าใจเรื่องการมีชีวิต  กล่าวคือชีวิตดำรงคงอยู่
ก็เพราะร่างกายช่วยให้วิญญาณขันธ์  หรือตัวกำหนดกระแสของจิตดำรงอยู่  นี่ว่าเฉพาะชีวิตมนุษย์  ถ้าจะพูดให้ละเอียดออกไป  ก็ต้องเข้าใจ
ในเรื่อง  กามภพ รูปภพ และ อรูปภพด้วย  ชีวิตในภพนั้น ๆ  และการสิ้นชีวิตจากภพนั้น ๆ  ต่างกันกับชีวิตและการสิ้นชีวิตของมนุษย์  ซึ่งอยู่
ในกามภพ  เพราะในอรูปภพนั้น  ผู้ดำรงชีวิตในภพนั้น  ไม่มีรูปร่างอันหยาบกระด้างอย่างมนุษย์


พึงตราไว้ว่า  สรรพสัตว์ปรากฏรูปให้เรารับรู้ได้  จำเพาะผู้ที่มีชีวิตในกามภพและในรูปภพ  ท่านที่มีชีวิตในอรูปภพ  ย่อมไม่ปรากฏรูปให้เรา
รับรู้ได้


คนไทยสมัยนี้  แม้ที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนานิกก็ไม่เข้าใจในเรื่องพวกนี้แล้ว  ถ้าไม่ทราบว่าภพนั้น ๆ  มี  ก็ติดในรูปแบบของภพนั้น ๆ 
ไปในทางไสยศาสตร์ยิ่งกว่าพุทธศาสนา  กล่าวคือพุทธศาสนาถือว่าสรรพสัตว์ถือกำเนิดในสภาวะต่าง ๆ  กันดังนี้คือ  ( ๑ )  เทพ  ( ๒ ) อสูร
( ๓ ) มนุษย์  ( ๔ )  เดรัจฉาน  ( ๕ ) เปรต  และ  ( ๖ ) สัตว์นรก


เราจะใช้ภาษาคนภาษาธรรมตีประเด็นพวกนี้อย่างไร  ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเรา  เกี่ยวกับตัวเรา  และเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วย  ถ้าขาด
จิตสิกขาเสียแล้ว  คำอธิบายก็เป็นไปในทางหัวสมองเท่านั้นเอง  และถ้าไม่ใช้หัวสมองก็มองเห็นสรรพสัตว์ในภพภูมินั้น ๆ  อย่างไสยศาสตร์
ของพวก  พราหมณ์  หรือฮินดู  ไปได้ไม่ยากเลย


ความคิดของเราในเรื่องภพชาติต่าง ๆ  นั้นถูกย่ำยีหรือถูกทำลายลงเมื่อเราเคารพนับถือและเลื่อมใสวิธีวิทยาอย่างฝรั่ง  จนในหัวสมอง 
เราไม่รับเรื่องเทวดา  ซึ่งแตกย่อยออกไปอีกมิใช่น้อย  ดังเช่นอสูรและมนุษย์  ฯลฯ  ก็เช่นกัน  แต่ในทางอารมณ์  เรายังเชื่อเรื่องผี  และ
เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ  เป็นเหตุให้บุคคลของเราแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ  และเกิดอาการงมงายกันได้ง่าย  ดังกรณีของสมเด็จ
พระศรีสุริโยทัย  ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาณี   เรื่อยมาจนท้าวสุรนารี  ซึ่งเป็นสตรีในทางประะวัติศาสตร์แล้วกลายสภาพมาเป็น
เทพธิดาตามสภาวสัตย์  หรือสมมติสัตย์  หรือในทางไสยเวท  ความข้อนี้  เรายังไม่เคยอภิปรายกันซึ่ง ๆ  หน้า  ในทางพุทธศาสนาหรือ
ในทางวิธีวิทยาอย่างฝรั่ง


บุรุษในอดีตก็กลายเป็นเทพ  ถึงกับมาประทับทรง  ก็มีมิใช่น้อย  เช่น  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ( ซึ่งเรียกกันว่าเสด็จเตี่ย )  ต่อไปจน
พระจุลจอมเกล้า ฯ ( เสด็จพ่อ ร. ๕ )  ส่วนเจ้านายก่อนหน้านั้น  ที่มาประทับทรง  ล้วนตายโหงทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นพระนางเรือร่ม
( มเหสีรัชกาลที่  ๕  )  หรือเจ้าพ่อหนูเผือก( โอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี )  ส่วนสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ( ซึ่งก็ตายโหง ) เพิ่งมาปรากฏความ
ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ  นี้เอง 


สำหรับพระในอดีต  ที่กลายเป็นเทพหรือมาประทับทรงนั้น  รวมทั้งพระพุทธรูปอย่างหลวงพ่อวัดไร่ขิง  และอย่างพระมหาเถระอย่างสมเด็จ
พระพุฒาจารย์ (โต )  วัดระฆัง  และหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้


กรณีที่เอ่ยถึงนี้  ดูเป็นไปในทางไสยวิธี  ยิ่งกว่าพุทธวิธี  คณะสงฆ์เองมีทีท่าอย่างไรในเรื่องนี้  ไม่ปรากฏ 


สำหรับพุทธศาสนาอย่างธิเบตนั้น  ไม่เคยรับอิทธิพลของวิธีวิทยาอย่างตะวันตก  จนแม้จีนบุกรุกเข้าไปทำลายบ้านเมืองและผู้คน  จนองค์ทะไลลามะ
เสด็จลี้ภัยพาลออกนอกประเทศร่วมกับครูอาจารย์เป็นเรือนแสน  ก็หาได้ยอมไกล่เกลี่ยพุทธทัศนะอย่างดั้งเดิมกับวิทยาศาสตร์อย่างตะวันตกไม่
จึงน่ารับฟังทัศนะของเขา


ยกตัวอย่าง  อายุรเวทของธิเบต  เขาถือว่าร่างกายของมนุษย์ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญ  ๓  ประการ  คือ  ลม  น้ำดี  และเสมหะ( ซึ่งเคย
กล่าวถึงแล้ว )  ถ้าทั้งสามนี้ไม่บรรสานสอดคล้องกันด้วยดี  เท่ากับเราถูกยาพิษจากสามศรนี้เสียบแทงเอา  นั่นเป็นเรื่องในทางกาย  ยังอกุศลมูล
ทั้งสาม  ก็เป็นอีกสามศรในทางนามธรรม  ที่ทำลายจิตใจของเรา  แล้วกระทบมาถึงร่างกายของเราด้วย  กล่าวคือ  โลภ  โกรธ  หลง  นั้นเป็น
ตัวที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างร้ายแรงนัก 


นอกจากนี้  ตำราแพทย์ธิเบตบางเล่มยังถือว่าอวิชชาหรือโมหะจริตโยงไปถึงกระดูก  โลภะและอุปาทานโยงไปถึงโลหิต  ถ้าหลง  หรือโลภ
หรือโกรธ  ย่อมกระเทือนถึงร่างกาย  ไม่ให้สอดคล้องกัน  ไม่ให้สัมพันธ์กันเป็นอันดีย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย  และร้ายแรงเรื่อย ๆ  อีกด้วย
ถ้าไม่แก้ที่อกุศลมูลพร้อม ๆ  กับแก้ทางร่างกาย


นอกไปจากนี้แล้ว  ทางธิเบตยังถือว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นสัมพันธ์กับสรรพสัตว์ภายนอกตัวเราเอง  เช่นเทวดาหรือนาค  ตลอดจนเปรตหรือ
อสูร  ซึ่งดำรงอยู่บนพื้นพิภพ  หรือใต้พื้นพิภพ  อย่างในบาดาล ( ในกรณีของนาค )  แต่อาจขึ้นมาเพ่นพ่าน  และทำร้ายเราก็ได้  ถ้าเรามีจิตใจไป
ในทางอกุศล  บางทีภูติหรือผีพวกนี้อาจมาประทับทรง  หรือเกิดกรณีอย่างที่เรียกว่าผีเข้าก็ได้  โดยสรรพสัตว์พวกนี้เป็นเพียงปัจจัยย่อย  แต่ก็
ช่วยให้ขาดความสมดุลย์ในทางร่างกายและจิตใจได้ 


ใช่แต่เท่านั้น  สัมมาทิฐิหรือมิจฉาทิฐิก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเจ็บไข้หรือหายจากการป่วยไข้  นอกเหนือไปจากกรรมและวิบาก ( คือผลของ
กรรม )  ของคน ๆ นั้น 


การรักษาคนป่วยนั้น  นอกจากจับชีพจรแล้ว  ยังมีการตรวจปัสสาวะประกอบ  ซึ่งมีวิธีการซับซ้อนค่อนข้างมาก  นอกไปจากนี้  ยังมีการสำรวจ
ตรวจดูถึงความฝันของคนป่วยอีกด้วย 



เมื่อตรวจพบสมุหฐานของการป่วยแล้ว  การวางยาอย่างเดียวไม่พอ  บางทีต้องประกอบศาสนพิธีร่วมด้วย  เช่นถ้าแพทย์เข้าใจว่าเทวดามาให้
โทษก็ต้องบอกกล่าวเทวดา  ให้ยกโทษแก่ผู้ป่วย  ในหลายกรณี  การกินยาไปเป็นเวลานานแต่ก็ไม่หาย  แต่พอทำบุญอุทิศส่วนกุศลอย่างถูกต้อง
ก็หายป่วยได้ง่าย ๆ  ดังนี้เป็นต้น 


แพทย์จะรักษาคนป่วย  เท่าที่เชื่อว่าจะเยียวยาให้หายได้  แต่ถ้าเห็นว่าผู้ป่วยถึงที่จะต้องตาย  แพทย์จะไม่ขืนให้ผู้ป่วยดำรงชีพอยู่อย่างทรมาณ
ให้นานออกไปอีกเลย  หากหาทางช่วย  หรืออาราธนาพระมาช่วย  ให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ  เพื่อไปเกิดใหม่อย่างเป็นสุข

มดเอ๊กซ:


*  ๙  *


การที่แพทย์จะรู้แน่ว่าคนไข้จักต้องตายนั้น  มีหลายวิธี  คือนอกจาก  การตรวจชีพจรแล้ว  ก็ยังมีวิธีตรวจลมหายใจโดยตรงอีก  แม้บางคนจะดูทีว่า
มีสุขภาพดี  แต่ลมหายใจสื่อให้แพทย์เห็นมรณญาณเกิดขึ้นแล้ว  ก็ช่วยเตรียมตัวตายให้ได้


สำหรับผู้ที่ชำนาญอาจบอกได้ว่าคนไข้คนนี้กำลังใกล้ตาย  หรือการตายกำลังคลานเข้ามาหาเป็นเวลาอันไม่ช้า  หรือว่าการตายยังห่างออกไป
อีกพอสมควร


ถ้าแพทย์รู้ว่าการตายใกล้เข้ามาแล้ว  ก็เป็นอันหมดหวังที่จะช่วยให้ดำรงคงชีวิตอยู่อีกต่อไป 





 @@@@@ ยังม่ายยยย โม๊ดดดด เหลืออีก หน่อย ว่าง ๆ จะมาพิมพ์ นะ คร๊าฟฟฟฟฟฟฟฟ

@@@@ ลืมไป ข้อมูล คัดมาจาก งานของ ท่าน ส.ศิวลักษณ์

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version