ผู้เขียน หัวข้อ: ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ :หลวงตาพระมหาบัว  (อ่าน 8855 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ :หลวงตาพระมหาบัว
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มิถุนายน 09, 2014, 03:09:59 pm »



พอเพียง มาก ได้แชร์รูปภาพของ Trader Hunter พบธรรม
7 มิถุนายน 57 เวลา 14:03 น. ·
เคล็ดการปฏิบัติของ หลวงตาบัว

อาการของจิตทุกอาการที่เกิดขึ้นต้องดับและแปรปรวน อย่าตื่นเงาของจิตตัวเองจะเดือดร้อน ความรู้ว่าเผลอและไม่เผลอเป็นทางที่ถูกต้องแล้ว ความเสื่อมความเจริญเป็นอาการของโลก ให้รู้เท่าผู้รู้ว่าเสื่อมหรือเจริญ นี่แหละเป็นธรรมที่คงที่ ความรับรู้ทุกขณะนี้แลเป็นธรรมยั่งยืน เราเป็นนักปฏิบัติอย่าหลงตามอาการของความเสื่อมความเจริญ จงรู้ตามอาการ จึงจัดว่าเป็นผู้ฉลาดในธรรม ดวงไฟยังมีดอกแสงควันไฟ ต้องแสดงความเกิดความดับจากดวงไฟเป็นธรรมดา จิตยังมีอาการเกิดๆ ดับๆ ซึ่งเกิดจากดวงจิตต้องมีเช่นเดียวกัน ข้อสำคัญอย่าหลงตาม เสื่อมจงรู้ตาม เจริญจงรู้ตาม เผลอหรือไม่เผลอ จงรู้ตามทุกอาการ จึงจัดว่านักค้นคว้าความรู้เท่าในอาการเกิดๆ ดับๆของสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาเสมอไป นั่นแลจัดว่าเป็นผู้รู้ จะรู้เท่าทันโลกและเรียนรู้โลกจบ จึงจะพบของจริง

กระพี้ต้องหุ้มห่อแก่นไม้ไว้ฉันใด กระพี้ธรรมก็ห่อหุ้มปกปิดแก่นธรรมไว้ฉันนั้น อาการเกิดๆดับๆ ดี ชั่ว เสื่อม เจริญ เผลอไม่เผลอ เหล่านี้จงทราบว่าเป็นกระพี้ธรรมปกปิดแก่นธรรมคือของจริงไว้ ใครหลงตามชื่อว่าคว้าเอากระพี้ธรรม จะนำความเสื่อมความเจริญเป็นต้นมาผันดวงใจให้ดิ้นรน จะตามดูโลกและรู้โลกของตนไม่จบ จะพบแต่ของปลอม อาการที่ปรากฏขึ้นมาจากจิต จะดี ชั่ว สุข ทุกข์ เสื่อม เจริญ เผลอ ไม่เผลอ เศร้าหมอง ผ่องใส นี้เป็นเครื่องเตือนสติปัญญา จงตามรู้ทุกอาการอย่าด่วนถือเอา การเดินทางต้องมีสูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดทางจนถึงที่อยู่ฉันใด การเดินธรรม (คือการดำเนินทางจิต) ต้องประสบอาการต่างๆ มีดีชั่วเป็นต้น ซึ่งจะเกิดจากจิตเช่นเดียวกัน จนถึงจุดจบของสมมุติ จึงจะไม่ประสบอาการเช่นนี้อีก

 การเดินทางอย่าถือความร้อนหนาว ความสูงต่ำในระยะทางมาเป็นอุปสรรค จงมุ่งถึงความถึงที่ประสงค์เป็นสำคัญ การดำเนินทางใจ อย่าถืออาการดีชั่ว เป็นต้น ที่เกิดจากใจมาเป็นอุปสรรค จงตั้งใจพิจารณาสิ่งที่มาสัมผัสด้วยปัญญาตลอดไป จนถึงจุดจบของสิ่งที่มาสัมผัส อย่าหวั่นไหวตามอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะใจ จะเป็นนักรบต้องประสบกับข้าศึกคืออารมณ์ จงสู้รบด้วยปัญญา จนเห็นความจริงของอารมณ์นั้นๆ ครูเอกของเราก่อนหน้าจะปรากฏเป็นองค์ศาสดาของเรา ต้องผ่านข้าศึกเช่นเดียวกับเรา แม้อาจารย์ของเราจะนำธรรมมาสอนเราได้ต้องขุดค้นขึ้นมาจากอุปสรรค คือสิ่งที่กระทบเช่นเดียวกับเรา ฉะนั้นจงต่อสู้จนสุดฝีมือ จะสมชื่อว่าเราเป็นศิษย์มีครูแท้

ข้าศึกของเราทุกวันที่เป็นไปอยู่ ไม่มีวันสงบศึกกันได้ ก็เนื่องจากเราเป็นศึกกับตัวเราเอง คือถ้าใจสงบลงไม่ได้ ศึกก็ยังสงบลงไม่ได้ แท้จริงบาปมารเป็นต้น ไม่มีตั้งค่ายแนวรบรอรบกับเราอยู่สถานที่ใดๆ แต่ใจดวงเดียวเท่านี้ตั้งตัวเป็นเจ้าบาปเจ้ามารประหัตประหารกับเรา ถ้าเราเข้าใจว่าบาปมารคอยเราอยู่ภายนอก ไม่ย้อนกลับความรู้เข้ามาดูจิตผู้เป็นมารตัวแท้ ข้าศึกของเราจะหาวันสงบไม่ได้ จงทราบว่าเรื่องทุกข์ที่เป็นไปในกายแลจิตของเราตลอดเวลา ถ้าเรามองข้ามทุกข์ก้อนนี้ไป อริยสัจคือของจริงอันประเสริฐ ก็เป็นอันว่าเรามองข้ามไปเช่นเดียวกัน อริยสัจมีอยู่กับเราทุกเวลา จงตั้งปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริงของอริยสัจที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าถึงนิพพานเพราะพิจารณาอริยสัจ เห็นอริยสัจ อย่าส่งใจไปหาบาปบุญนอกจากกายใจจะผิดหลักผิดทาง อดีตอนาคตจงเป็นเป็นไฟ อย่าส่งใจไปเกาะเกี่ยว ปัจจุบันคือความเพียร มีสติจำเพาะหน้าพิจารณาไตรลักษณ์อันมีอยู่กับตนนี่แล เป็นธรรมแผดเผาบาปมารได้แท้ จงตั้งจิตลงตรงนี้ ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ คุณทั้งสองมีวาสนาบารมีอันได้สร้างไว้มากแล้ว อย่าเสียใจ ไม่เสียทีเลย จงเร่งเข้า.
7 ธันวาคม 2502

การอบรมจิต จงใช้ปัญญาพิจารณาด้วยดีในอาการของธรรมทุกแง่ (อาการของจิต) ซึ่งเกิดขึ้นจากจิต ความสัมผัสรับรู้ในขณะที่อารมณ์มากระทบจิต ไม่ให้พลั้งเผลอและนอนใจในอารมณ์ นั้นแลเรียกว่า ความเพียร ดีชั่ว สุขทุกข์ เศร้าหมอง ผ่องใส จงตามรู้ด้วยปัญญาแล้วปล่อยไว้ตามสภาพ ไม่ยึดถือและสำคัญว่าเป็นตน สิ่งใดที่ปรากฏขึ้นจงกำหนดรู้ อย่าถือเอาแม้แต่อย่างเดียว รู้ชั่วปล่อยชั่ว กลับมาหลงดี ถือสิ่งที่ดีว่าเป็นตน นี้ก็ชื่อว่าหลง จงระวังการมีสติหรือเผลอสติในขณะๆ นั้นๆ อย่าตามกังวล เป็นความผิดทั้งนั้น จงกำหนดเฉพาะหน้า พิจารณาเฉพาะหน้า

กายมีอยู่ จิตมีอยู่ ชื่อว่าธรรมมีอยู่ อย่าหลงธรรมว่ามีนอกไปจากกายกับจิต ไตรลักษณ์หรือสติปัญญาก็ต้องมีอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน จงพิจารณาในจุดที่บอกนั้น แม้ที่สุดทำผู้รู้หรือสติให้รู้อยู่ในวงกายตลอด โดยไม่เจาะจงในกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ถูก ข้อสำคัญให้จิตตั้งอยู่ในกาย อย่าใช้ความอยากเลยเหตุผลที่ตนกำลังทำอยู่ก็แล้วกัน การทำถูกจุดผลจะค่อยเกิดเอง ไม่มีใครแต่งหรือบังคับ อย่าส่งจิตไปตามอดีตที่ล่วงแล้ว ไม่มีประโยชน์แม้แต่น้อย
16 มีนาคม 2503

จงดูความเคลื่อนไหวของใจที่แสดงความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาการของใจ มันเกิดไปถึงไหนและดับไปถึงไหน มันเกิดที่ไหนมันก็ดับลงที่นั่นเอง จงพิจารณาให้ชัดต่อความเกิด-ดับของใจ ความเกิดกับความดับที่ปรากฏขึ้นจากใจ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรถือเอา จงฆ่าแม่คือใจให้ตาย ลูกคืออาการก็จะหมดปัญหาทันที แม้จะปรากฏเกิดๆ ดับๆ ก็ไม่เป็นปัญหาและไม่มีพิษสงอะไรอีกต่อไปอีก อาการของใจจึงจะกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเจือปน จะหมดกังวลใดๆ ลงทันที
เมษายน 2504

ธรรมชาติของจิต จะไปหยุดนิ่งอยู่นานๆ ไม่ได้เดี๋ยวมันก็คิด ในช่วงนั้นถ้าเกิดความคิดขึ้นมาปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติตามรู้ สิ่งที่มันคิดนั้นจะเป็นอะไรก็ได้เรื่องครอบครัว เรื่องการเรื่องงาน เรื่องผู้เรื่องคน จิปาถะสารพัดที่จะคิดขึ้นมา เมื่อมันคิดขึ้นมาอย่างนั้น ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ รู้ รู้ เป็นการส่งเสริมให้จิตของเรามีพลังเข้มแข้ง เพราะความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิตให้เกิดสติปัญญาจินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นได้จากความคิด เมื่อจิตมีความคิด สติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ทุกขณะจิต ความคิดสะเปะสะปะเหลวไหลนั่นแหละจะกลายเป็นปัญญาในสมาธิ เพราะจิตของเราคิดแล้วจะรู้สึกแต่เพียงสักแต่ว่าคิด คิดแล้วก็ปล่อยวางไปๆ เมื่อสติสัมปชัญญะมีพลังแก่กล้าขึ้นกลายเป็นปัญญา เมื่อมีปัญญาก็สามารถกำหนดหมายรู้ความคิดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็รู้พระไตรลักษณ์ขึ้นมา ก็กลายเป็นปัญญาในขั้นวิปัสสนาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะไปข้องใจสงสัยอยู่ทำไมหนอรีบเร่งบำเพ็ญภาวนาให้มากๆ ให้ได้สมาธิเป็นเบื้องต้น

ทีนี้ถ้าหากว่าท่านผู้ใดขี้เกียจ หรือไม่มีอะไรจะคิดก็ให้กำหนดจิตรู้ที่จิตเฉยๆ ถ้าจิตว่างรู้ที่ความว่าง ถ้าจิตคิดรู้ที่ความคิด ว่างรู้ที่ความว่าง คิดรู้ที่ความคิด ไล่ตามกันไปอย่างนี้ เมื่อเราฝึกหัดจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ ทีหลังเราอาจจะไม่ได้ตั้งใจกำหนดรู้อารมณ์จิตหรือความคิด สติก็ทำหน้าที่ตามรู้คอยควบคุม เมื่อมีสติสัมปชัญญะ จิตของเราก็รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิด อะไรถูก มันจะรู้ของมันขึ้นมาเอง

เมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้ว บางครั้งจิตอาจจะสงบลงในท่ามกลางแห่งภาวนา แล้วก็หยุดพิจารณา เมื่อมันหยุดพิจารณา ไปนิ่ง รู้เฉยอยู่ ให้กำหนดตัวผู้รู้ ในขณะกำหนดตัวผู้รู้ จิตจะหยุด นิ่งอยู่ ก็กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นแหละ อย่าไปรบกวน น้ำใจกำลังจะนิ่ง ในเมื่อน้ำใจนิ่ง ไม่มีคลื่นไม่มีฟอง ไม่มีอารมณ์มารบกวน เราก็จะสามารถเห็นจิตเห็นใจของเราได้ทะลุปรุโปร่ง เหมือนๆ กับน้ำทะเลที่มันนิ่ง เราสามารถมองเห็น เต่า ปลา กรวด ทราย สาหร่าย อยู่ใต้น้ำได้ถนัด ฉันใด ในเมื่อจิตของเรานิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน เราก็สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในจิตของเราได้อย่างชัดเจน อะไรผุดขึ้นมา จิตจะกำหนดรู้เองโดยอัตโนมัติ


https://www.facebook.com/pages/Trader-Hunter-พบธรรม/492287657495171