สามัคคีคือพลังสร้างสันติ :โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน?:พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร รวบรวมและเรียบเรียง;
ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
พิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมบรรณาการ พุทธศักราช ๒๕๔๑
คำนำ หนังสือเรื่อง "โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน?" เล่มนี้ สืบเนื่องมาจากการมองปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นภายในสังคมที่มีอาการต่อเนื่องจนกลายเป็นปัญหาอาชญากรรม นำไปสู่ความไม่มั่นคงในด้านต่างๆ ที่มักพูดถึงกันใน ๔ ด้านใหญ่ๆ คือ ความมั่นคงทางด้านการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ในขณะที่คนสามารถจะกระจายลักษณะของปัญหาออกไปได้โดยพิศดาร จนบางครั้งไม่อาจหาข้อยุติของปัญหาเหล่านั้นได้
ได้มีท่านผู้ใหญ่หลายท่านนำเรื่องนี้มาปรารภกัน และขอให้ช่วยเรียบเรียงเป็นเอกสาร เพื่อเผยแผ่ออกไปในรูปของการกระตุ้นเตือน ชวนให้คิด ในลักษณะของการเตือนจิตสกิดใจกันตามที่จะทำได้ เพราะการจะแก้ปัญหาให้ได้จริงๆ จำต้องอาศัยจิตสำนึกของคนแต่ละคนที่มองเห็น โทษของปัญหา สาเหตุของปัญหา และมองเห็นคุณค่าของ การลดละปัญหาลงไปตามสมควรแก่ฐานะนั้นๆ จนมีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตตนเองไปตามหลักการวิธีการในการแก้ปัญหาตามสมควรแก่ฐานะนั้นๆ ในขณะที่หากสามารถมองสาวให้ตลอดเข้าไปถืงสาเหตุหลัก รวมทั้งวิธีการ หลักการ อันเป็นหลักพื้นฐานจริง การลด ละ บรรเทาปัญหา จะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
การมองโลกที่เป็นองค์รวมของพระพุทธเจ้า อันเป็นองค์พระศาสดาของเราทั้งหลายนั้น ก่อนที่จะเสด็จออกบรรพชา ทรงมองเห็นว่าสรรพสัตว์เผชิญปัญหาร่วมกัน ปัญหาเหล่านั้นสืบเนื่องมาจากความเกิด หากยุติความเกิดได้ ปัญหาทุกรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากความเกิดก็จะสงบลง แต่ตอนที่ทรงตรัสรู้กลับทรงมองย้อนรอยความเกิด จนทรงพบเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทุกระดับว่า ล้วนสืบเนื่องมาจากอวิชา คือความไม่รู้ คนทั่วไปจะไม่มีใครที่มีความรู้สมบูรณ์ การกระทำของเขาจึงมีความไม่รู้ปนลงไปมากบ้างน้อยบ้าง อาการที่ปรากฏจึงสะท้อนความโลภ โกรธ หลง อันเป็นกิ่งก้านสาขาของอวิชา
แม้กระนั้นก็ตาม ยามที่ทรงนำมาสั่งสอนแก่ผู้ฟัง ทรงวางหลักธรรมให้สอดรับกับพื้นฐานของผู้ฟัง ที่จะสามารถได้รับประโยชน์จากการศึกษา การปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านั้น ตามโครงสร้างการสอนธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า
"ทรงแสดงเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง ในสิ่งที่เขาควรรู้ควรเห็น" แต่เพราะดามปรกติแล้วธรรมะเป็นของที่ควรรู้ควรเห็นทั้งนั้น ดังนั้นจึงมองไปที่ศักยภาพของคนที่ฟังในขณะนั้นๆว่า เขาจะสามารถรู้สามารถเห็นหลักธรรมเหล่านั้นหรือไม่ หากเขามีความสามารถมากพอ ก็ทรงมีวิธีแสดงธรรมที่ท่านบอกว่า
"ทรงแสดงธรรมมีเหตุ ที่ผู้ตรองตาม พิจารณาตาม ปฏิบัติตาม แล้วจะเห็นความจริงได้" ทั้งนี้เป็นเพราะว่า หลักธรรมที่ทรงตรัสรู้มานั้น
มีความอัศจรรย์ คือผู้ประพฤติปฏิบัติจะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติการนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ จึงอาศัยแนวแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๓ วิธีเป็นหลัก และมองปัญหา สาเหตุของปัญหา ที่กระทบต่อสังคมระดับกระทบต่อความมั่นคงดังกล่าว โดยคาดหวังว่าหากใครถือตามปฎิบัติไปตามหลักที่ได้รวบรวม เรียบเรียงได้ ควรจะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่เหตุ
หากท่านผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา มองไปที่โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักระดับอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา เราจะพบว่าบุคคลที่จัดเป็นระดับอุดมการณ์ของสังคมทุกระดับคือ คนที่สามารถปฎิบัติพัฒนาตนมาถึงจุดที่
"ไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ได้" เป็นเบื้องต้น จนสามารถทำตนเป็นประโยชน์แก่โลกที่ตนเกิดมามากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังความสามารถของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
เพราะการมองปัญหาแบบรวบยอดของพระพุทธศาสนา ที่สรุปแบบรวบยอดของพระพุทธศาสนา ที่สรุปรวมเป็นสรรพปัญหา มาจากอวิชชา ดังนั้นเมื่อสภาพของปัญหาที่ถาวร คือ ทุกข์ ภัย โรค หรือสรุปเป็นทุกข์อย่างเดียว ในขณะที่ผลที่คนต้องการสรุปเป็นทุกข์อย่างเดียวนั้น เหตุที่ให้เกิดความทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากอวิชชา ที่ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆเช่น
"บ้านเรือนที่ปกครองไม่ดีนำความทุกข์มาให้
ความจนเป็นทุกข์ในโลก
การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก
คนไม่มีที่พึ่งอยู่เป็นทุกข์
ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ทุกข์เสมอด้วยขันธ์ไม่มี
สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง" เป็นต้น
เมื่อมองในรูปของการสืบสานถึงที่มา จะพบว่า แต่ละอย่าง
ล้วนสืบเนื่องมาจากอวิชชา คือไม่รู้ด้วยกันทั้งนั้น
พอมองไปที่ความสุขที่ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆเช่น
"การไม่เบียดเบียนกันเป็นความสุขในโลก
ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง
ความสงบระงับแห่งสังขารเป็นความสุข
ความสุขอันยิ่งกว่าความสงบไม่มี
การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ทั้งหลาย นำความสุขมาให้
การแสดงธรรมนำความสุขมาให้
จะพึงมีความสุขเป็นนิตย์แท้จริง ก็เพราะไม่คบคนพาล
ผู้เจริญเมตตาดีแล้วย่อมหลับและตื่นเป็นสุข
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง" เป็นต้น
แต่ละข้อล้วนเป็นอาการของความรู้ ความบริสุทธิ์จากกิเลสตามสมควรแก่ฐานะ ความเมตตากรุณาต่อคน สัตว์ ที่แต่ละอย่างเป็นกิ่งก้านสาขาของวิชา คือความรู้
การเรียบเรียงเรื่องนี้เน้นไปที่หลักการของ
สามัคคีธรรม อันเป็นอาการของความรู้ ความบริสุทธิ์ใจ ความเมตตากรุณาต่อกัน โดยมองจากหลักพุทธดำรัส ที่ทรงแสดงระดับโลก ๒ ข้อ คือ
"การไม่เบียดเบียนกันเป็นความสุขในโลก กับ ความริษยาทำโลกให้พินาศ"ที่มาจากพื้นฐานต่างกัน การไม่เบียดเบียนกันเป็นอาการของเมตตา กรุณา อันสืบเนื่องมาจากวิชชา ความริษยาเป็นอาการร่วมของความโลภในของดีที่คนอื่นได้ ความโกรธในคนที่ไม่ได้สิ่งดีที่ตนชอบ อันสืบเนื่องมาจากอวิชา
ภาวะอวิชาเป็นความมืด ในขณะที่วิชาเป็นแสงสว่าง ที่จะไม่ปรากฎร่วมกันในจุดเดียวกัน ในขณะเดียวกัน การสร้างสำนึกว่า
"โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน" จึงเป็นการมองจากวิชชา คือปัญญาที่พิจารณาจนประจักความจริงของ
"คน สัตว์ สิ่ง" ว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก อาศัยโลก ร่วมทุกข์สุขกันตามธรรมชาติ และการกระทำของแต่ละชีวิต
มีต่อค่ะ