ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 15, 2011, 12:04:55 pm »โคมและแสงสว่าง
นิกายเซาทุงเซน ( โสโตเซน ในภาษาญี่ปุ่น ) ได้นำหลักการทั้งห้า
มาประยุกต์ใช้ในขณะนั่งสมาธิ หลักการเหล่านี้คือ
๑. การนั่งสมาธิโดยไม่ใช้อารมณ์ภาวนา เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
๒. การนั่งสมาธิกับการตรัสรู้ มิใช่สิ่งสองสิ่งที่แยกอยู่ต่างหากจากกัน
๓. บุคคลไม่ควรรอให้ถึงการตรัสรู้
๔. ไม่มีการตรัสรู้ให้ไปถึง
๕. ทั้งกายและจิตจะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว
หลักการเหล่านี้มิได้ขัดแย้งกับการใช้กุงอันเป็นอุบายในนิกายลินจีเซน
( รินซายเซนในภาษาญี่ปุ่น ) เลย ตรงกันข้าม หลักการของเซาทุง
กลับช่วยให้ผู้ฝึกฝนในนิกายลินจี ไม่ไปมัวนั่งแบ่งแยกระหว่างจุดหมาย
และวิธีการ เพราะมีผู้ฝึกฝนเซนเป็นอันมากที่คิดว่าการนั่งสมาธิ
เป็นเครื่องนำไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการฝึกฝน อย่างไรก็ตาม
เราไม่อาจหาเส้นแบ่งระหว่างเป้าหมายและวิธีการได้อย่างชัดเจน
เมื่อเราหันจากความหลงลืมกลับไปสู่การมีสติเป็นเครื่องกำหนดรู้
สถานะเช่นนี้แหละคือการตรัสรู้ที่แท้อยู่แล้ว ดังมีกล่าวในนิกายเซาทุงไว้ว่า
" การนั่งสมาธิก็คือการเป็นพระพุทธเจ้า " เมื่อผู้ใดนั่งสมาธิ
ผู้นั้นก็ได้ตรัสรู้แล้ว และการตรัสรู้นั่นแหละคือการเป็นพุทธะโดยแท้
ในขณะที่เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านและความหลงลืม
เราได้สูญเสียตัวเองไป ชีวิตเราก็สูญเปล่าไปด้วย การนั่งสมาธิคือการ
ฟื้นฟูพละกำลังให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง การนึกคิดย่อม
ปล่อยให้จิตฟุ้งไปที่โน่นที่นี่ ดังนั้นการนั่งสมาธิจึงเป็นการวบรวม
ให้จิตกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งโดยฉับพลัน เป็นการนำสภาวะแห่งการดำรงอยู่
โดยบริบูรณ์มาให้ เป็นการกลับไปสู่ชีวิตกลับกลายเป็นพุทธะ
ตามหลักนี้แล้วถือว่า การนั่งสมาธิเป็นปีติสุขอันยิ่งใหญ่
แต่ทำไมจะต้องนั่งในท่าขัดสมาธิเพชรและสมาธิบัลลังก์ด้วย
เพราะการนั่งท่านี้ช่วยให้สามารถคุมลมหายใจได้สะดวก สามารถเพ่งดวงจิต
และกลับคืนสู่สภาวะอันมีสติเป็นเครื่องกำหนดรู้ ไม่ว่าจะ เดิน กิน พูด หรือทำงาน
" พระพุทธเจ้าคือผู้ใดเล่า " "พระพุทธเจ้าคือผู้ซึ่งใช้ชีวิตตลอดชีวิต
ตลอด ๒๔ชั่วโมงอยู่ในเซน ในขณะที่ประกอบธุรกิจประจำวันพร้อมกันด้วย "
พระรูปหนึ่งถามอาจารย์เซียงหลินว่า " เหตุใดพระมหาสังฆราชองค์แรก
จึงมาสู่ประเทศจีน " ท่านเซียงหลินตอบว่า
" เพราะการนั่งสมาธินานเกินไปทำให้เสียสุขภาพ " คำถามเช่นเดียวกันนี้
ได้รับคำตอบจากอาจารย์ต่างท่านต่างกันออกไป เช่น อาจารย์เกียวเฟ็ง
ได้ตอบว่า " ขนเต่าหนักเก้าชั่ง "อาจารย์คองซันตอบว่า
" รอจนกว่าแม่น้ำทงจะไหลย้อนกลับ เมื่อนั้นฉันจึงจะบอกกับเธอ
"คำตอบทั้งสองนี้ทำให้เกิดผลเฉพาะอย่างในจิตใจแตกต่างกันไป
แต่คำตอบของท่านเซียงหลินที่ว่า " เพราะการนั่งสมาธินาน
เกินไปทำให้เสียสุขภาพ " เป็นคำตอบธรรมดา ๆ และอาจนำไป
ดัดแปลงใช้กับกรณีต่าง ๆ เกือบทั้งหมด การนั่งเพื่อจุดประสงค์ในการค้นหา
ความหมายของกุงอัน หาใช่การนั่งใน " เซน " ที่แท้จริงไม่เป็นแต่เพียงการ
ใช้เวลาและชีวิตให้หมดไปอย่างไร้ประโยชน์เท่านั้น ถ้าใครนั่งสมาธิ
มิใช่หมายเพียงการค้นหาความหมายของกุงอัน
แต่เพื่อเป็นการจุดแสงให้แก่คบไฟแห่งตัวตนที่แท้
ความหมายของกุงอัน ย่อมปรากฏขึ้นโดยธรรมชาติในท่ามกลางแสง
ซึ่งเจิดจ้าขึ้นทุกขณะ
แต่ถ้าหากมิได้จุดโคมไฟนี้ขึ้น ผู้นั้นก็ได้แต่เพียงนั่งอยู่ในเงาแห่งชีวิต
ของตนเท่านั้น เราจะไม่มีโอกาสได้แลเห็นธรรมชาติของตนเอง
สุขภาพของเราจะเสื่อมโทรมลง หากเรานั่งอยู่นานจนเกินไป
กุงอันนั้นไม่อาจถือเอาเป็นแก่นที่จะค้นหาในขณะนั่งสมาธิ ด้วยการ
นั่งสมาธิมิใช่การค้นหาอะไรอย่างหนึ่ง กุงอันมิใช่ชีวิต การนั่งสมาธินั้นแหละ
คือชีวิต กุงอันเป็นเพียงการทดสอบ เป็นการเฝ้าดูและดำรง
ความไม่ประมาทไว้ อาจถือได้ว่ากุงอันเป็นโคมที่ใช้ส่องแสง
ขณะที่เซนเป็นตัวแสงสว่างเลยทีเดียว
โดย.. คุณ มดเอ๊กซ์
-http://community.buddhayan.com/index...ic,957.15.html
นำมาแบ่งปันโดย : คุณฝาน
Credit by :http://www.puansanid.com/forums/showthread.php?t=5189&page=2
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานนี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานนี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ