ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 01:40:01 pm »



๐ ความเป็นสากล

จากการศึกษาหลักธรรมทั้งของท่านพุทธทาสและหลวงพ่อชา ชี้ให้เห็นว่าผู้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง รู้แจ้งเห็นจริง จะไม่ติดในนิกาย ไม่ติดในความเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ไม่ติดในความคิดว่าคริสต์จะกลืนพุทธหรือพุทธจะกลืนคริสต์ โดยเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ชื่อต่างๆ เป็นเพียงสิ่งสมมติ แท้ที่จริงในพุทธศาสนามีนิกายเดียว คือนิกายของพระพุทธองค์ ไม่มีมหายาน ไม่มีหินยาน ไม่มีมหานิกาย ธรรมยุต สันติอโศก ธรรมกาย ในศาสนาก็เช่นกัน ไม่มีพุทธ ไม่มีคริสต์ ไม่มีอิสลาม แต่มีเพียงศาสนาเดียวซึ่งเป็นสากล สอนให้คนทำดี ละชั่ว และทำใจให้ผ่องใส

                         

การสอนธรรมะอยู่ที่การปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง พุทธศาสนาที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เรียบง่ายเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ของรัฐเช่นเดียวกับวัดป่าทั้งหลาย มีพระที่เป็นพระ มิใช่พระเพียงรูปแบบ ไม่วุ่นวายกับการสร้างวัดวาอาราม เพราะถือว่าพระมีหน้าที่สร้างวัดภายในใจคน และจะเป็นผู้สร้างวัดให้เอง ไม่ฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย หรือสะสมกอบโกยไม่สร้างความแตกแยก ตำหนิติเตียนหรือเพ่งโทษผู้อื่น แต่มีหน้าที่ขัดเกลาหรือสำรวจจิตของตนเอง ความคิดที่เป็นสากลไม่ติดยึดในสมมติของท่าน เห็นได้จากคำปรารภในการสร้างโบสถ์วัดหนองป่าพง โบสถ์หลังนี้จะไม่ทำพระเครื่องหากิน จะไม่ให้เดือดร้อนทางบ้านเมือง จะไม่เรี่ยไร รูปแบบจะเป็นทรงไทยหรือแบบไหนก็ไม่สำคัญ เพราะมันเป็นเพียงรูปร่าง หาใช่ความหมายของศาสนาที่แท้

ความเสื่อมเสียของวัฒนธรรมไทยไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบทางวัตถุ แต่มันเสื่อมเสียที่ความประพฤติ ถ้าวงการศาสนาจะทรงแต่รูปแบบศิลปศาสนาวัตถุไว้ แต่ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมานอกจากมีวัตถุซ้ำซาก รูปแบบโบสถ์ควรเป็นแบบง่ายๆ แต่แข็งแรง ทนทาน ประหยัด และให้ได้ประโยชน์ใช้สอยมีขนาดพื้นกว้างสามารถจุภิกษุอย่างน้อย ๒๐๐ รูป ไม่ต้องมีหน้าต่างประตู เพราะวัดไม่มีวัตถุสิ่งของมีค่าอะไรจะเก็บรักษา ไม่ต้องมีผนังกำแพงกั้น ควรให้ต้นไม้เป็นผนังกำแพงแทน เพียงแต่ให้มีหลังคาคุ้มแดดคุ้มฝน ขอให้โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินดินสูงคล้ายภูเขา เนื่องจากภูเขาเป็นที่สูงสะอาด บริสุทธิ์อากาศดี เหมาะที่จะเป็นที่สังฆกรรมของสงฆ์ ขอให้มีเครื่องตกแต่งสิ้นเปลืองน้อยที่สุด สิ่งฟุ่มเฟือยมีราคาแพงไม่ควรนำมาใช้ ให้นึกถึงประโยชน์มากกว่าความสวยงาม

                                   

๐ แหล่งที่มา

คณะศิษยานุศิษย์. อุปลมณี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ.๒๕๓๕.
คณะศิษย์, ใต้ร่มโพธิญาณ : พระโพธิญาณเถระ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ.๒๕๓๕.

พระไตรปิฎกภาษาบาลีและภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๐, ๑๓, ๑๔, ๒๒, ๒๕, ๓๕.กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, พ.ศ.๒๕๒๓.
พระธรรมปิฎก, พจนาจุกรมพุทธศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๓๘.

พระโพธิญาณเถระ, กุญแจภาวนา. กรุงเทพฯ : สยามการพิมพ์, พ.ศ.๒๕๔๐.
พระโพธิญาณเถระ, อาหารใจ. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, พ.ศ.๒๕๔๐.

พระโพธิญาณเถระ, นอกเหตุเหนือผล. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, พ.ศ.๒๕๓๔.
พุทธทาสภิกขุ. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุพนิมิต, พ.ศ.๒๕๓๔.

ชยสาโร ภิกฺขุ, พอดี. กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น, พ.ศ.๒๕๓๘.
ชยสาโร ภิกฺขุ, หลวงพ่อชาคุยกับลูกหลาน. กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น, พ.ศ.๒๕๔๒.
หลวงพ่อธรรมงาม. คำสอนและการตอบปัญหาธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๓๔.



คัดลอกมาจาก : http://www.dharma-gateway.com/
: http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6753
ขอบพระคุณ
ผู้รวบรวมข้อมูลนำมาแบ่งปัน : สาวิกาน้อย
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 01:17:53 pm »



๐ สรุป

การเดินทางแสวงหาสัจธรรม ของหลวงพ่อได้ให้คำตอบกับตัวท่านและเหล่าศิษย์ว่า ความจริง “การธุดงค์” ไม่ได้หมายถึงการแบกกลด ถือบาตร เดินไปโน่นมานี้แต่อย่างใดเลย แต่มันคือการสมาทานถือข้อวัตรปฏิบัติ ในการขัดเกลากกิเลสอย่างเอาจริงเอาจังต่างหาก ดังนั้น สำนักวัดหนองป่าพง จึงเกิดขึ้นด้วยบรรยากาศที่สงบร่มรื่น เอื้อต่อการปฏิบัติดังกล่าวนั้นเป็นอย่างยิ่ง

การปฏิบัติตามข้อวัตรปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง คือเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังที่หลวงพ่อเรียกว่า “ตะแกงร่อนคน” ถ้าวัตรปฏิบัติบกพร่องก็ยังถือว่าไม่ผ่านตะแกง ยังต้องมุมานะปฏิบัติกันต่อไปจนกว่าจะผ่านได้ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การมาเฝ้านั่งทำสมาธิ เดินจงกรมเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตอย่างปกติด้วย ทุกขณะของการเป็นอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น ต้องพยายามรักษาจิตให้ห่างไกลจากสิ่งรบกวนอยู่ตลอดเวลา

การที่ตัวของหลวงพ่อเอง ได้ถือข้อวัตรปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนี้เอง ที่เป็นเครื่องมือในการสอนเหล่าศิษยานุศิษย์ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสอนด้วยการทำให้ดูเลยไม่ต้องพูดจาให้มากความ รวมถึงการที่ท่านมีบุคลิกยิ้มแย้มแจ่มใส น้ำเสียงคำพูดที่นุ่มนวล และวิธีการสอนที่เฉียบขาดในบางครั้ง สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ท่านเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งหลายไว้ได้

ในการปกครองหมู่คณะ นอกจากการยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นหลักใหญ่ตายตัว ตามแนวทางแห่งธรรมาธิปไตยแล้ว การยกหลักอปริหานิยธรรม เป็นหัวใจในการปกครองหมู่คณะด้วย ย่อมเป็นข้อยืนยันถึงความรุ่งเรืองไม่เสื่อมสลายของหมู่คณะได้เป็นอย่างดี ยิ่งประกอบกับความฉลาดเฉียบแหลมส่วนตัวของท่านในการปกครอง บอกกล่าว สั่งสอนตักเตือนลูกศิษย์ด้วยแล้ว จึงไม่ต้องสงสัยเลยถึงความรุ่งเรือง ที่ปรากฏแห่งสำนักวัดหนองป่าพงและสาขา ซึ่งได้เปล่งรัศมีปกคลุมทั่วทั้งแดนสยาม และยังส่องสว่างไปสู่ชาวโลกในต่างแดนอีกด้วย

                 

อดทน

ความอดทนเป็นคุณธรรมที่หลวงพ่อย้ำมากในการสอนของท่าน อย่างที่ท่านพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ความอดทนนี้เป็นแม่บทของการปฏิบัติ และตัวท่านเองก็ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมข้อนี้เช่นเดียวกัน ในการปฏิบัติของท่าน จะเห็นได้ว่าหลวงพ่ออยู่อย่างอุกฤษฏ์หลายปี ชนิดที่ว่าเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนถึงขนาด สมัยที่ยังเป็นหนุ่มและกามราคะกลุ้มรุมท่านก็ได้อาศัยความอดทนนี่เองช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคสำคัญของวัยหนุ่มมาได้ตลอดรอดฝั่ง


เมตตา

ด้วยเหตุที่หลวงพ่อมองเห็นทุกชีวิต ทุกรูปนามที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นั้นเป็นสามัญลักษณะ เมตตาธรรมของท่านจึงสม่ำเสมอทั่วหน้ากันหมด ไม่มีขีดขั้นไม่มีประมาณ เพราะท่านไม่มีอกุศลจิตกีดกันแบ่งแยก แต่ปรารถนาให้ทุกชีวิตได้ถึงความพ้นทุกข์เช่นเดียวกัน และก็เป็นไปอย่างบริสุทธ์ ไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ว่าในด้านรูปธรรมเช่นปัจจัยเงินทอง หรือเอกลาภอื่นๆหรือในด้านนามธรรม เช่น ยศฐานบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงความเคารพนับถือ เมตตาของหลวงพ่อนั้นเห็นได้ชัด ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์บรรพชิตและฆราวาสท่านทุ่มเทความอุตสาหะวิริยะ อุทิศเวลาให้กับการฝึกและขัดเกลาลูกศิษย์จริงๆ จนกล่าวได้ว่างานสร้างคนเป็นงานอันดับหนึ่งของท่านทีเดียว


มุ่งสอนสัจ

อุบายปฏิบัติตามนัยแห่งอริยสัจสี่ ที่หลวงพ่อยึดเป็นหลักในการอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ พอมองเห็นได้จากตัวอย่างคือ


ทุกข์

หลวงพ่อพยายามให้ศิษย์เห็นตามความเป็นจริง โดยสอนย้ำเสมอว่า ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่อยากให้มันทุกข์ มันก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ มันก็ไม่รู้จักทุกข์ไม่รู้จักทุกข์ มันก็เอาทุกข์ออกไม่ได้ ความจริงทุกข์นี้แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ คนเป็นทุกข์ควรพิจารณาทุกข์ มิใช่ว่าหนี ไม่อยากทุกข์ ทุกข์เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตรงนี้ไม่ถูก ตรงนี้ไม่สบาย คนเราก็เหมือนกัน ทุกข์จะพาให้เราไปหาครูอาจารย์และความสงบในที่สุด เมื่อการกำหนดรู้ความทุกข์มีความสำคัญมากถึงขนาดนี้ หลวงพ่อจึงให้ความทุกข์ เป็นภารกิจประจำวันที่ลูกศิษย์ต้องเผชิญ แต่โดยธรรมของชาติของมนุษย์เรา ไม่มีใครชอบความทุกข์ พยายามหลบหลีกหรือกลบเกลื่อนอยู่เสมอ หลวงพ่อจึงเน้นหนักเรื่องความอดทน ว่าเป็นแม่บทของการปฏิบัติเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง


สมุทัย

การฝืนความทะยานอยากในทุกข์ทุกกรณี เพื่อกำจัดต้นเรื่องของความทุกข์ ที่เกิดกลุ่มรุมจิตใจเป็นทางปฏิบัติที่หลวงพ่อพาพระเณรปฏิบัติ เพราะเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค ผล นิพพาน มีอยู่ มันมีอยู่ตามพระองค์ตรัสสอน แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติ เกิดจากการทรมาน กล้าหาญ กล้าฝึก กล้าคิด กล้าแปลง กล้าทำ กล้าทำนั้นอย่างไร ท่านให้ฝืนใจตัวเอง ใจเราคิดไปทางนี้ท่านให้ไปทางโน้น ใจเราคิดไปทางโน้นท่านให้มาทางนี้ ทำไมท่านจึงให้ฝืนใจ เพราะใจถูกกิเลสเข้าพอกมาเต็มที่แล้ว มันยังไม่ได้ฝึกหัดดัดแปลง มันยังไม่เป็นศีลยังไม่เป็นธรรม เพราะใจมันยังไม่แจ้ง ไม่ขาว จะไปเชื่อมันอย่างไรได้ ที่พระพุทธเจ้าท่านออกบวช ก็เพราะท่านเห็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงฝืนเรื่อยมา ถ้าหากว่าใครไม่พิจารณาให้แยบคาย ก็จะไม่เห็นความรู้สึกของเจ้าของ


นิโรธ

หลวงพ่อสอนเรื่องนิโรธ ด้วยการกล่าวถึงผลของการปฏิบัติ ซึ่งแต่ละครั้งที่ท่านพูดถึงภาวะจิตที่เห็นธรรมแล้ว ย่อมเป็นแรงบันดาลให้ลูกศิษย์ได้เร่งการปฏิบัติของตนเอง แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว นิโรธที่หลวงพ่อแสดงด้วยตัวเองของท่าน เป็นประจักษ์พยาน ที่ชัดแจ้งถึงผลของการปฏิบัติ


มรรค

การเจริญมรรคที่เป็นสัมมาปฏิปทาหรือสัมมามรรคนั้น หลวงพ่อย้ำว่าต้อประกอบด้วยองค์ทั้ง ๘ ประการ จะเอาหมวดศีลแต่อย่างเดียว หมวดธรรมอย่างเดียว หมวดสมาธิอย่างเดียว หรือหมวดปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ ท่านพูดอยู่เสมอเรื่องความสัมพันธ์ขององค์มรรคต่างๆ โดยเน้นในแง่ของศีล ในเมื่อศีลเป็นบาทฐานของการเจริญสมาธิและปัญญาที่ขาดไม่ได้ หลวงพ่อจึงให้ความสำคัญแก่เรื่องวินัยอย่างมาก ถ้าศีลอย่างนัย ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ สมาธิและปัญญาก็ไม่เกิดท่านเน้นและย้ำเสมอว่า สมาธิที่ถูกต้องจะต้องประกอบด้วยสติและความเพียร และต้องเป็นไปเพื่อปัญญา เพื่อความดับทุกโดยตรง ท่านไม่ให้ความสนใจเรื่องที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เช่น เรื่องไสยศาสตร์หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นต้น

ทางสายกลาง ซึ่งตรงกับอริยมรรคนั่นเอง ก็เป็นสิ่งที่หลวงพ่อกล่าวถึงบ่อยๆ ท่านให้คำจำกัดความของทางสายกลางง่ายๆ บางทีเป็นคำเดียวว่า พอดี หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านพูดถึงการไม่หลงติดในความสุขหรือความทุกข์ เป็นความหมายของทางสายกลาง เมื่อได้เห็นความสุขแล้วให้พิจารณาความสุขนั้น ท่านไม่ได้ติดอยู่ในความสุข คือท่านให้วางทั้งสุขและทุกข์ การวางทางทั้งสองได้นี้ เป็นสัมมาปฏิปทา ท่านเรียกว่าเป็นทางสายกลาง


๐ เปรียบเทียบท่านพุทธทาสและหลวงพ่อชา

ท่านพุทธทาสและหลวงพ่อชา มีลักษณะของผู้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง เป็นผู้อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่ว นอกเหตุเหนือผล การกำเนิดของสวนโมกข์และวัดหนองป่าพง จึงถือว่าเป็นนิมิตดีของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาซึ่งเลิศไปคนละด้าน แต่ผสมผสานกลมกลืนเป็นสิ่งเดียวกันได้ ขณะที่สวนโมกข์เน้นไปที่การผลิตธรรมะทางตำรา หลวงพ่อชาได้นำหลักการของท่านพุทธทาส กระจายลงไปสู่พื้นที่ ทั้งในและนอกประเทศจนเกิดสานุศิษย์มากมาย และจะขยายตัวเป็นทวีคูณไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง แนวความคิดเรื่องการตั้งสวนโมกข์นานาชาติของท่านพุทธทาส ก็เชื่อว่าคงได้อิทธิพลจากหลวงพ่อชาเรื่องการตั้งวัดป่านานาชาติ จนได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาไปสู่ต่างประเทศ




ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 01:07:00 pm »



๐ สำนักแม่ชี

สำนักแม่ชีอันเกิดมาจากกตัญญูธรรมของหลวงพ่อนี้ แยกจากสำนักของพระภิกษุอย่างสิ้นเชิง มีเสนาสนะ ตลอดจนศาลาธรรมที่ประกอบกิจวัตรต่างๆ อยู่ภายในอาณาเขตของตนเอง ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดเป็นสัดส่วน หลวงพ่อจึงมอบหมายงานบริหารให้แม่ชีได้ปกครองกันเอง โดยมีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าแม่ชีและแม่ชีอาวุโสรวม ๕ ท่านเป็นคนดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของประธานสงฆ์อีกต่อหนึ่ง หลวงพ่อได้กำหนดกติกาข้อปฏิบัติประจำสำนักรวมทั้งหมด ๒๑ ข้อ ซึ่งแม่ชีทุกคนก็ได้น้อมรับและต้องนำมาอ่านทบทวนในที่ประชุมทุกวันพระ ๑๕ ค่ำด้วย เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในข้อวัตร อันเป็นเสมือนไม้บรรทัดที่ไว้ใช้ขัดเกลาตนเอง ข้อวัตรทั้ง ๒๑ ข้อนั้นมีดังนี้

๑. ห้ามคลุกคลีหรือคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน

๒. เวลาฉัน ล้างภาชนะ กวาด สรงน้ำ ให้พร้อมเพรียงกันด้วยความเรียบร้อยและมีสติ

๓. รักษาความสะอาดบริเวณกุฏิ เช่น เก็บกวาด ไล่ปลวกไล่มด เป็นต้น

๔. เป็นผู้มักน้อยสันโดษในการกิน การนอน การพูด ไม่ร่าเริงเอิกเกริกเฮฮา

๕. เมื่อเอกลาภเกิดขึ้นให้แบ่งกันบริโภคใช้สอยพอสมควรและเป็นธรรม

๖. เมื่อเจ็บป่วยให้ช่วยกันรักษาพยาบาลด้วยเมตตา

๗. ประกอบตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยเมตตาธรรมในเพื่อนชีทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๘. เคารพนับถือซึ่งกันและกันตามวัยวุฒิ

๙. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอ อย่าให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ

๑๐. ห้ามชีคนใดคนหนึ่งมีอำนาจปกครองหรือตั้งกติกาใดๆ ด้วยความเห็นผิด

๑๑. เมื่อเกิดความขัดข้องประการใดๆ รีบแจ้งให้ประธานสงฆ์ทราบเพื่อแก้ไข

๑๒. เมื่อจะไปไหนมาไหน ต้องแจ้งลาประธานสงฆ์ทุกครั้ง

๑๓. ห้ามถือสิทธิ์ในกุฏิที่ตนสร้างขึ้น

๑๔. ห้ามรับแขกที่เป็นเพศชายบนกุฏิของตน เว้นไว้แต่อาพาธเป็นบางครั้ง

๑๕. ห้ามแสดงหรือโฆษณาสิ่งอันไม่เป็นธรรมเป็นวินัย เพื่อเห็นแก่อามิสซึ่งเป็นมิจฉาชีพ เป็นเหตุนำความเสื่อมเสียมาสู่พระศาสนา

๑๖. ห้ามทำตนเป็นผู้รับใช้คฤหัสถ์ ซึ่งจะเป็นการประทุษร้ายตระกูล

๑๗. มีความเห็นร่วมกัน อย่าทะเลาะวิวาทกับใครๆ เพราะความเห็นผิด

๑๘. ห้ามติดต่อกับพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และคฤหัสถ์ทั้งในและนอกวัด เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นที่เป็นธรรมะ

๑๙. ห้ามสัญจรไปมาเที่ยวเรี่ยไร

๒๐. ห้ามชายที่มีอายุ ๑๒ ปีขึ้นไป พักค้างคืนที่นี้ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น

๒๑.ผู้ประสงค์จะมาบวชหรืออยู่สำนักนี้ ต้องมีผู้ปกครองนำมาฝากเป็นหลักฐาน และมีผู้อุปัฏฐากพอสมควร

ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกติกานี้ สงฆ์มีอำนาจบริหารได้เต็มที่

จะเห็นได้ว่าการกำหนดกติกาข้อปฏิบัติประจำสำนักชีนั้น หลวงพ่อได้ใช้หลักของการประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิตของท่านและสงฆ์ที่วัดหนองป่าพงนั่นเอง โดยเน้นที่ความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี ความสำรวมระวัง เมตตาจิตและความเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนความเป็นผู้มักน้อยสันโดษตามวินัยนักบวชอีกด้วย การกำหนดกติกาในการปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้หัวหน้าแม่ชีหรือประธานในการปกครองบริหารงานได้ง่ายขึ้น เพราะถือหลักตายตัวที่หลวงพ่อกำหนดไว้นี้เอง ไม่ใช่อำนาจของแม่ชีคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

การที่หลวงพ่อต้องเคร่งครัดและละเอียดรอบคอบ ในการปกครองพระภิกษุสามเณรและแม่ชีนั้น ก็เป็นเพราะท่านตระหนักถึงอันตราย ซึ่งอาจเกิดจากความใกล้ชิดของเพศตรงข้าม ท่านได้ตั้งกฎระเบียบ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้พระเณรและแม่ชีมีการติดต่อคลุกคลีกันได้เลย พระที่วัดหนองป่าพงอาจอยู่ถึง ๕ ปี ๑๐ ปี โดยไม่เคยได้พูดกับแม่ชีเลยแม้แต่คำเดียว แม่ชีจะเข้ามาในเขต “วัดพระ” เฉพาะตอนเช้าเพื่อทำอาหาร เสร็จแล้วก็รีบกลับ ถ้าบังเอิญสวนทางกับพระโดยไม่มีทางเลี่ยงจะต้องนั่งลงพนมมือและก้มหน้า ในเวลาต่อมาสำนักสาขาหลายแห่งมีแม่ชีประจำอยู่ด้วย แม่ชีในสำนักสาขาก็ได้ถือข้อวัตรปฏิบัติอันเดียวกันนั้น และมีมติสงฆ์ในการอนุญาตให้แม่ชีอยู่ประจำ เฉพาะในวัดที่ประธานสงฆ์มีอายุพรรษา ๒๐ พรรษาขึ้นไปแล้วเท่านั้น

             

เกี่ยวกับเรื่องแม่ชีนี้ พระครูบรรพตวรกิต ได้เล่าว่า

“เรื่องผู้หญิงท่านว่าให้ตั้งความระมัดระวังไว้เป็นพิเศษ แม้ท่านจะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของครอบครัว แต่ท่านก็ปกครองได้เรียบร้อยดี ไม่มีเรื่องราว ไม่มีอธิกรณ์อะไร ท่านระวังตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางตัวของท่าน หรือการพูดจา ท่านไม่เคยปล่อยให้แม่ชีได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนม ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ท่านถือครุธรรม ๘ ประการ เวลาพูดด้วย ท่านก็ไม่มองหน้า คำพูดก็ไม่เคยล้อเล่นอย่างทางโลก อันจะเป็นเหตุให้ขาดความเคารพ”

หลวงพ่อได้ฝึกแม่ชีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกแล้ว ให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แม่ชีจึงเป็นลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล เพราะไม่มีโอกาสได้พบท่านเป็นส่วนตัว ในขณะที่ฝ่ายพระภิกษุสามเณรหรือแม้แต่ญาติโยม ถ้ามีปัญหาหรืออยากพบก็ไปกราบหลวงพ่อได้ ส่วนแม่ชีได้รับการอบรมเป็นส่วนรวมอาทิตย์ละครั้ง หรือ ๒ อาทิตย์ครั้งหนึ่ง ในเรื่องการเทศของหลวงพ่อนี้ แม่ชีบุญยู้ พิมพ์วงษ์ หนึ่งในแม่ชียุคแรกๆ บวชเมื่ออายุเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น (บวชพร้อมกับแม่ชีคำ เคนประคอง อายุ ๒๓ ปี) ได้สรุปไว้ว่า มี ๓ ระดับ และ ๒ ลีลา แล้วแต่จริตนิสัยของแม่ชีแต่ละคน กล่าวคือ

๑. ระดับทั่วไป (สำหรับแม่ชีบวชใหม่)

ท่านจะสอนเรื่องการอยู่ด้วยกัน การทะเลาะเบาะแว้ง การแก่งแย่งกัน ให้รู้จักองค์ของศีล

๒. ระดับกลาง

จะสอนให้ฝึกละโลภ โกรธ หลง ละมานะทิฐิ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ให้รู้จักหลักปฏิบัติอย่างไร

๓. ระดับสูง

เป็นเรื่องของการเจริญภาวนาว่า ปฏิบัติแล้วเห็นอะไร เป็นอย่างไร จะไปไหน จะทำอย่างไร

               

ส่วนเรื่องลีลาหรือรูปแบบการเทศน์นั้น ถ้าโดยปกติทั่วไปท่านก็จะเทศน์แบบนิ่มนวลเยือกเย็น แต่ถ้าพวกที่นิสัยสันดานหยาบ ท่านก็จะหยาบยิ่งกว่านั้นอีก

อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อก็มิได้ละเลยความรู้สึกของแม่ชี แม้ท่านวางตัวเหินห่าง ความเมตตากรุณาของท่านที่แสดงออกมาด้วยการกระทำทุกอย่างทุกประการ ก็เป็นเสมือนที่พึ่งอันอบอุ่น เป็นหลักอันมั่นคงที่แม่ชีทุกคนมีอยู่ประจำแล้วในใจ กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงกาลถึงสมัยที่หลวงพ่อเข้าไปให้การอบรม ท่านก็ถือโอกาสชี้แจงความจริงใจของท่านแก่ที่ประชุมแม่ชีด้วยเหมือนกัน



ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 12:57:13 pm »



๐ การปกครองคณะสงฆ์

ในการปกครองคณะสงฆ์นั้น หลวงพ่อได้ตั้งกติกาสำหรับใช้ภายในสำนักวัดหนองป่าพงโดยเฉพาะ มีทั้งหมด ๑๕ ข้อ คือ

๑. พระภิกษุสามเณรห้ามขอของจากคนที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ห้ามติดต่อกับ คฤหัสถ์และนักบวชที่เป็นวิสภาคกับพระพุทะศาสนา

๒. ห้ามบอกและเรียนดิรัจฉานวิชา บอกเลข ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู

๓. พระผู้มีพรรษาหย่อน ๕ พรรษา ห้ามเที่ยวไปแต่ลำพังตนเอง เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น หรือมีอาจารย์ผู้สมควรติดตามไปด้วย

๔. เมื่อจะไปทำอะไร ให้ปรึกษาสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานเสียก่อน เมื่อเห็นว่าเป็นธรรม เป็นวินัยแล้ว จึงทำ อย่าทำตามอำนาจของตน

๕. ให้ยินดีในเสนาสนะที่สงฆ์จัดให้และทำความสะอาดเก็บกวาดกุฏิและถนนเข้าออกให้สะดวก

๖. เมื่อกิจสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก อย่าทำตนให้เป็นที่รับ เกียจของหมู่คณะ คือเป็นผู้มีมายาสาไถย หลีกเลี่ยงแก้ตัว

๗. เมื่อบิณฑบาต เก็บบาตรล้างบาตร กวาดวัด ตักน้ำ สรงน้ำ จัดโรงฉัน ย้อมผ้า ฟัง เทศน์เหล่านี้ ห้ามคุยกัน พึงตั้งใจทำกิจนั้นจริงๆ

๘. เมื่อฉันเสร็จแล้ว ให้พร้อมกันเก็บกวาดโรงฉันเสียก่อน แล้วจึงกราบพระพร้อมกัน จึงนำบริขารของตนกลับกุฏิโดยความสงบ

๙. ให้ทำตนเป็นผู้มักน้อยในการพูด กิน นอน ร่าเริง จะเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยความเพียรและจงช่วยกันพยาบาลภิกษุสามเณรป่วย ด้วยความเมตตา

๑๐. ห้ามรับเงินและทอง และห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขาย แลกเปลี่ยน

๑๑. เมื่อเอกลาภเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ให้เก็บไว้เป็นกองกลาง เมื่อท่านองค์ใดต้องการ ให้สงฆ์อนุมัติให้แก่ท่านองค์นั้นตามสมควร

๑๒. ห้ามคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน ในที่ทั่วไปหรือในกุฏิ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ถึงกระนั้นก็อย่าให้เป็นผู้คลุกคลี หรือเอิกเกริก เฮฮา

๑๓. การรับและส่งจดหมาย เอกสาร หรือวัตถุต่างๆ ภายนอก ต้องแจ้งต่อสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานสงฆ์ให้ทราบ เมื่อท่านเห็นสมควรแล้ว จึงรับส่งได้

๑๔. พระเณรผู้มุ่งเข้ามาปฏิบัติในสำนักนี้ เบื้องต้นต้องได้รับใบฝากจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน และย้ายหนังสือสุทธิมาให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะใช้ได้

๑๕. พระเณรที่เป็นอาคันตุกะมาพักอาศัย ต้องนำหนังสือสุทธิแจ้งสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานสงฆ์ในคืนแรก และมีกำหนดให้พักได้ไม่เกิน ๓ คืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

ข้อกติกาเหล่านี้ เมื่อผู้ใดฝ่าฝืน สงฆ์มีอำนาจบริหารได้เต็มที่

จากการได้ศึกษาวัตรปฏิบัติของวัดหนองป่าพงอย่างละเอียด เมื่อมองในแง่ของการปกครองแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนมาก ว่าท่านได้ยึดหลักอปริหานิยธรรม หลักธรรมสำหรับนักปกครองไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ในที่นี้จะได้นำมาแสดงเป็นข้อๆ ดังนี้

อปริหานิยธรรม ว่าด้วยธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับภิกษุทั้งหลาย มี ๗ ประการ คือ

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

- เพื่อสนทนาพูดคุย พบปะ บอกกล่าวตักเตือนกัน ฯลฯ นับเป็นกิจวัตรที่สำนักวัดหนองป่าพงเน้นหนัก ไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลย

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
- ข้อนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านให้ความสำคัญ และเคารพต่อความคิดความเห็นของสงฆ์ยิ่ง และไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามกิจของสงฆ์หรืองานของส่วนรวมต้องมาก่อนเสมอ

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติ ให้สมาทานศึกษาอยู่ในสึกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

- แต่เมื่อใดก็ตามที่ความคิดเห็นของสงฆ์ไม่ถูกต้องตรงกับหลักพระธรรมวินัยแล้ว ท่านก็จะคัดค้านและยกเลิกมตินั้นเสีย ยึดเอาตามหลักธรรมเป็นใหญ่

๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

- จะเห็นได้จากการเน้นวัตรปฏิบัติ ที่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายต้องช่วยกันอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ไม่ว่าเรื่องน้ำใช้น้ำฉัน การบีบนวด การล้างเท้า เป็นต้น

๕. ไม่ลุอำนาจตัณหา คือความอยากที่จะเกิดขึ้น

- เห็นได้จากวัตรปฏิบัติเรื่องการฉัน การห้ามรับเงินทอง ห้ามขอสิ่งของจากญาติโยม ให้ยินดีการอยู่ป่า เป็นต้น

๖. ยินดีในเสนาสนะป่า

- เป็นสิ่งที่สำนักหนองป่าพงปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นผู้ติดความสะดวกสบาย

๗. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม ซึ่งยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

- คือการแสดงความเมตตายินดี สำหรับผู้ที่ตั้งใจที่จะเดินทางมาประพฤติปฏิบัติธรรมในที่แห่งนี้ ทางสำนักย่อมยินดีที่จะเอื้อเฟื้อในการบำเพ็ญธรรม

หลักธรรมแห่งความสามัคคีข้อนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า หากสงฆ์ปฏิบัติไว้อย่างมั่นคง ย่อมหวังความเจริญได้แน่นอน ความเสื่อมจะไม่มีเป็นอันขาด ข้อนี้ความรุ่งเรืองของวัดหนองป่าพงและสาขา น่าจะเป็นการยืนยันในผลสัมฤทธิ์ได้เป็นอย่างดี




ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 12:48:53 pm »



๐ ธรรมาธิปไตย

ในยุคที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู ใครๆ ก็มักเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดและยุติธรรมที่สุด อาจจะเป็นระบบที่สามารถประสานผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้ดีกว่าระบบอื่นๆ แต่สำหรับชุมชนนักบวชที่เรียกว่า สงฆ์ นั้น มีความแตกต่างจากชุมชนอื่นๆ ในสังคมมนุษย์อยู่หลายประการ ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนอิสระ ไม่ขึ้นกับระบบและทั้งไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ทั้งสมาชิกของชุมชนไม่รับผลประโยชน์จากการทำงานของตน แต่เป็นอยู่ด้วยปัจจัยเฉพาะที่เกื้อกูลแก่การประพฤติปฏิบัติ ที่คนในสังคมอุทิศถวายด้วยศรัทธาเท่านั้น ฉะนั้น ในวัดหรือในชุมชนสงฆ์จึงไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ และที่สำคัญสมาชิกทุกคนของชุมชนอยู่ด้วยความสมัครใจ ด้วยจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือการปฏิบัติเพื่อพ้นจากความทุกข์ ทุกคนเต็มใจประพฤติตามกฎระเบียบของสงฆ์ด้วยความพอใจ และมีสิทธิที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของชุมชน (ลาสิกขา) เมื่อไรก็ได้

เมื่อโครงสร้างของสังคมสงฆ์อยู่ในลักษณะนี้ ตราบใดที่ผู้บริหารปกครองหมู่คณะตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ที่เรียกว่าปกครองโดยชอบธรรม หรือด้วยระบบธรรมาธิปไตยแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงข้างมากเสมอไป และการที่ลูกศิษย์มาขออาศัยในอาวาสก็ได้มอบฉันทะไว้กับท่านเจ้าอาวาสด้วยศรัทธาในสติปัญญา จึงต้องยอมรับการตัดสินของท่าน เสมือนหนึ่งลูกยอมอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ฉันนั้น

อย่างไรก็ตาม พระภิกษุสามเณรทุกๆ รูป รวมทั้งเจ้าอาวาส ต้องปวารณาตัวไว้กับสงฆ์ว่า ถ้ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการใดก็ตาม ทุกรูปพร้อมที่จะรับฟังคำตักเตือนว่ากล่าวอยู่เสมอ และการประชุมสงฆ์อยู่เนืองนิตย์ก็เป็นโอกาสที่พระทุกรูป จะได้ยกปัญหาที่เกิดขึ้นมาปรึกษาพระสงฆ์

สรุปได้ว่า สงฆ์ต้องเป็นใหญ่ในกิจทั้งปวง แต่ต้องไม่ใช่พวกมากลากไป กรณีตัวอย่างของระบบธรรมาธิปไตยที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีที่มีโยมมาขอถวายรถยนต์แก่วัด

วันหนึ่ง หลังจากประชุมสวดปาฏิโมกข์แล้ว ก็เป็นโอกาสที่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกันตามธรรมเนียม หลวงพ่อได้เล่าเรื่องที่มีโยมมาขอถวายรถยนต์ ซึ่งท่านยังมิได้ให้คำตอบแก่เขาว่าจะรับหรือไม่ และได้ถามความเห็นที่ประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ทุกรูปต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรับ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะสะดวกเวลาที่หลวงพ่อจะไปเยี่ยมสำนักสาขาต่างๆ ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขา อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธเจ็บป่วยก็จะได้นำส่งหมอได้ทันท่วงที หลวงพ่อรับฟังข้อเสนอของบรรดาสานุศิษย์อย่างสงบ ในที่สุดท่านก็ได้ให้โอวาทแก่ที่ประชุมว่า

“สำหรับผมมีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อย สันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาต รับอาหารจากาชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์ แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่า มันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นวัดนี้คว่ำที่นั่น รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่...อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษาเมื่อก่อนนี้จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริงๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาไปธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกว่า ทะลุดง ไม่ใช่ ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย

หลักธรรมาธิปไตย จึงไม่ยึดติดอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ยึดติดที่หัวหน้าชุมชน ไม่ยึดติดที่เสียงข้างมาก ไม่ยึดติดที่ธรรมเนียมประเพณี แต่ต้องยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลักใหญ่ ซึ่งวัดค่าได้โดยการตรวจสอบว่าถูกต้องตรงกับหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ ถ้าเอนเอียงหรือบิดเบือนออกนอกกรอบแห่งพระธรรมวินัย ย่อมถือได้ว่าผิดหลักธรรมาธิปไตย แม้ว่าจะตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ หรือตรงกับขนบธรรมเนียมค่านิยมของสังคมก็ตามที





ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 12:09:54 pm »



๐ การปกครองและนิกาย

เรื่องข้องใจต่อความเป็นนิกายนี้ หลวงพ่อเคยสงสัยและก็ได้รับความกระจ่างจากหลวงปู่มั่นมาแล้ว หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่พอได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ที่มีพระภิกษุสามเณรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีปัญหาเรื่องนี้ให้หลวงพ่อต้องสะสาง

ครั้งหนึ่ง มีพระสายธรรมยุติมาขอจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อได้ถามความเห็นของที่ประชุมสงฆ์ว่า จะรับให้พระอาคันตุกะเข้าร่วมลงอุโบสถด้วยหรือไม่ ซึ่งพระส่วนมากก็ลงความเห็นว่าไม่ควร ด้วยเหตุผลว่า “ทางฝ่ายเขาก็ปฏิเสธฝ่ายเราอยู่” หลวงพ่อได้ให้เหตุผลแย้งที่ประชุมด้วยมุมมองที่เฉียบคมอย่างยิ่งว่า

“การทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ แต่มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย มันยังเป็นทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ มีความถือเนื้อถือตัวมาก มันไม่สบาย เอาอย่างพระพุทธเจ้าจะได้ไหม คือเราไม่ถือธรรมยุติไม่ถือมหานิกาย แต่เราถือพระธรรมพระวินัย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเป็นธรรมยุติหรือมหานิกายก็ให้ลงได้ ถ้าไม่ดี ไม่มีความละอายต่อบาป ถึงเป็นธรรมยุติก็ไม่ให้ร่วม เป็นมหานิกายก็ไม่ให้ร่วม ถ้าเราเอาอย่างนี้ก็จะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ

จากแนวคิดที่ยึดพระธรรมวินัยหรือความถูกต้องเป็นใหญ่นี้ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่จะต้องถือเอาเป็นตัวอย่างทีเดียว และนี่ก็คือการปกครองที่เรียกกันว่าธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบที่นักปกครองทั้งหลายต้องหยิบยกขึ้นมาขบคิดกัน




ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 12:01:56 pm »



๐ การตอบปัญหา

การตอบปัญหาของหลวงพ่อนั้น ท่านพยายามหาคำที่เข้าใจง่ายๆ คำพูดที่ชาวบ้านเขาใช้กันรู้จักกันดีนั้นแหละเป็นสื่อ และถ้าเป็นปัญหาที่ถามเพราะสงสัยอยากรู้เฉยๆ ท่านจะตอบแบบตัดปัญหา คือจะตอบแบบสั้นๆ ไม่อธิบายให้ยืดยาว เพราะการตอบปัญหาคนพวกนี้ ถ้าอธิบายมากย่อมไม่อาจจบลงได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นข้อสงสัยในเรื่องของการปฏิบัติ ท่านจึงจะพยายามอธิบายจนผู้ถามหายสงสัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

เคยมีคนถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท (คนที่ถามปัญหาแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยว่าจะต้องเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ในด้านปริยัติอย่างมากทีเดียว) ท่านตอบว่า

“คุณเคยตกต้นไม้ไหม พอมือหลุดจากที่ มันจะไปถึงพื้น มันจะไปถึงทุกข์ วาระจิตจากนี้มาจะไม่รู้เลย อันนี้เราลืมหมดเลย ไม่มีสติในช่วงนี้ นั่นมันเร็วถึงขนาดนั้น มันไปถึงทุกข์นี้ ทุกข์มันจะเกิดได้เพราะเหตุนี้ เรียกว่า อิทัปปัจจยตา...”

อีกตัวอย่างหนึ่ง คนที่นับถือพระเจ้าไม่ยอมรับคำสอนเรื่องอนัตตา ของศาสนาพุทธ เหตุผลของเขา ก็คือ “จะเอาอะไรมารู้อนัตตาเล่า ถ้าไม่ใช่อัตตา” จึงมีชาวคริสต์ถามหลวงพ่อว่า “ใครรู้อนัตตา

หลวงพ่อจึงตอบกลับไปแบบปฏิปุจฉาพยากรณ์ว่า “แล้วใครรู้อัตตา

ต่อคำตอบนี้ คนถามถึงกลับนิ่งอึ้งไป เพราะไม่คาดคิดว่าจะโดนย้อมถามแบบนั้น และการย้อนถามดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงภูมิธรรมของผู้ตอบด้วย ถ้าถามต่อไปอีกก็มีแต่จะเพลี่ยงพล้ำเป็นแน่

การตอบปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องพูดถึงในที่นี้ ก็คือท่าทีต่ออัพยากตปัญหา หรือปัญหาอันไม่ทรงพยากรณ์ ซึ่งท่านก็วางตัวได้เหมาะเสมอย่างยิ่งกับการต้องตอบปัญหาดังกล่าว เพราะท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เลย เหมือนไม่สนใจ ท่านไม่กล่าวถึง ถ้ามีคนไปถามเรื่องนี้ท่านก็จะตัดบท หรือพูดชักนำออกไปในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์เสีย ตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่งมีคนไปถามท่านว่า

“เขาว่าหลวงพ่อเป็นพระอรหันต์ เป็นจริงเหาะได้หรือเปล่า”
หลวงพ่อตอบได้อย่างน่าชม โดยทำให้เรื่องเหาะเป็นเรื่องน่าขันไปเสียว่า
“เรื่องเหาะเรื่องบินนี่ไม่สำคัญหรอก แมงกุดจี่มันก็บินได้”


มีครูคนหนึ่งถามท่านเกี่ยวกับการเหาะเหินเดินอากาศ ของพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งเคยอ่านพบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ท่านตอบง่ายๆ ว่า

“ถามไกลตัวเกินไปแล้วล่ะครู มาพูดถึงตอสั้นๆ ที่จะตำเท้าเรานี่ดีกว่า”

หรือ เคยมีโยมถามเกี่ยวกับชาติหน้ามีจริงหรือไม่ หลวงพ่อได้ให้คำตอบไว้ค่อนข้างชัดเจนดังนี้

โยม “ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ?”
หลวงพ่อ “ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ ?”
โยม “เชื่อครับ”
หลวงพ่อ “ถ้าเชื่อคุณก็โง่”
คำพูดดังกล่าวของหลวงพ่อเล่นเอาคนถามงง ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ


“หลายคนถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่า ถ้าบอกแล้วจะเชื่อไหม ถ้าเชื่อก็โง่ เพราะอะไร ? ก็เพราะมันไม่มีหลักฐานพยานอะไรที่จะหยิบมาให้ดูได้ ที่คุณเชื่อเพราะคุณเชื่อตามเขา คนเขาว่าอย่างไร คุณก็เชื่ออย่างนั้น คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป ทีนี้ถ้าอาตมาตอบว่า คนตายแล้วเกิดหรือว่าชาติหน้ามี อันนี้คุณต้องถามต่อไปอีกว่า ถ้ามีพาผมไปดูหน่อยได้ไหม เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้ เป็นเหตุให้ทะเลาะทุ่มเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ทีนี้ ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม อาตมาก็ถามว่า พรุ่งนี้มีไหม ถ้ามีพาไปดูได้ไหม อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้ ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้จะมีอยู่ แต่ก็พาไปดูไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าวันนี้มี พรุ่งนี้ก็ต้องมี แต่สิ่งนี้มันเป็นของที่จะหยิบยกมาเป็นวัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า ชาติหน้ามีหรือไม่มี ไม่ต้องถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ เราจะต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร นี้คือสิ่งที่เราต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต คือถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้ นี่เรียกว่าอนาคตคือพรุ่งนี้ มันจะมีได้ก็เพราะวันนี้เป็นเหตุ ทีนี้อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า ถ้าวันนี้ผ่านไป มันก็กลายเป็นเมื่อวานเสียแล้ว นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน เท่านี้ก็พอแล้ว ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดี อนาคตมันก็จะดีด้วย อดีตคือวันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว อนาคตคือชาติหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง

รูปแบบการสอนของหลวงพ่อ สอดคล้องสมดุลเป็นอย่างยิ่งกับข้อวัตรปฏิบัติของท่าน กล่าวคือการยึดเอาหลักความถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยเป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังเน้นความเป็นพระเอาไว้ว่าต้องทรงวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะวินัยเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติในจุดที่สูงขึ้นไป และในความเป็นพระนั้นต้องประกอบเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาไว้เป็นอารมณ์เสมอด้วย




ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 11:39:29 am »



๐ สตรี

เกี่ยวกับเรื่องสตรี หลวงพ่อท่านจะเข้มงวดเอากับลูกศิษย์ของท่านมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า กามราคะ เป็นมารตัวสำคัญที่ทำให้พระต้องสึกหาลาเพศ เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการประพฤติปฏิบัติ ในพระวินัยบัญญัติก็มีหลายสิกขาบทที่วางหลักไว้อย่างเข้มงวด เพื่อกำกับการติดต่อกับมาตุคาม ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะสายเกินแก้

การที่ท่านเข้มงวดกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ก็เนื่องจากว่าท่านเคยต้องผจญกับพญามารตัวนี้มาแล้วอย่างยากลำบาก อย่างที่ท่านเล่าไว้ เมื่อไปจำพรรษากับท่านอาจารย์กินรี กามราคะก็เล่นงานท่านอย่างรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ขณะที่มีความเพียรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ในวาระหนึ่งกามราคะก็เข้ามารุมเร้าอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรืออยู่ในอิริยาบถก็ใดก็ตาม ปรากฏว่ามีอวัยวะเพศของผู้หญิงลอยปรากฏเต็มไปหมด เกิดความรู้สึกรุนแรงจนแทนทำความเพียรไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู้กับความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นอย่างลำบากยากเย็น หลวงพ่อเล่าว่า ความรู้สึกต่อกามราคะในครั้งนั้นย่ำยีจิตใจรุนแรงพอๆ กับความกลัวที่เกิดขึ้นในคราวที่ไปป่าช้าครั้งแรก เดินจงกรมก็ไม่ได้ เพราะองค์กำเนิดถูกผ้าเข้าก็มีอาการไหวตัว ต้องให้เข้าไปทำที่จงกรมในป่าทึบเพื่อเดินเฉพาะในเวลาค่ำมืด และเวลาเดินต้องถลกสบงพันเอวไว้ การต่อสู้กับกามราคะเป็นไปอย่างทรหดอดทน ขับเคี่ยวกันอยู่นานถึง ๑๐ วัน ความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นจึงสงบและขาดหายไป

เนื่องด้วยเรื่องนี้ หลวงพ่อเห็นว่าเป็นคติธรรมที่ดี โดยเฉพาะแก่พระหนุ่มวัยฉกรรจ์ เมื่อลูกศิษย์ทำการรวบรวมชีวประวัติของท่าน ก็รู้สึกไม่แน่ใจว่าสมควรจะเผยแผ่ต่อสาธารณชนหรือไม่ แต่หลวงพ่อก็ได้กำชับว่า

“ต้องเอาลง ถ้าไม่เอาตอนนี้ในหนังสือด้วย ก็ไม่ต้องพิมพ์ประวัติเลย”

หลวงพ่อเองก็ระวังตัวมาก ใต้ถุนกุฏิท่านซึ่งใช้เป็นที่รับแขกก็โล่ง ถ้ามีแขกผู้หญิงมา ต้องมีพระหรือเณร หรือโยมผู้ชายเป็นพยานรู้เห็นสิ่งที่หลวงพ่อสนทนากับผู้หญิงนั้นด้วย และท่านก็เตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า “ระวังเถอะผู้หญิง อย่าไปใกล้มัน ไม่ใช่ใกล้ไม่ใช่ไกล แค่สายตาไปผ่านพริบเท่านั้นแหละ มันเป็นพิษเลย

ท่านกล่าวอธิบายพุทธพจน์ เกี่ยวกับเรื่องที่พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าในเรื่องการติดต่อกับผู้หญิง ว่า ไม่ให้เห็นดีกว่า ถ้าเหตุจะต้องเห็นมีอยู่ ก็ไม่ต้องพูดด้วย เหตุจะต้องพูดมีอยู่จะทำยังไง ต้องมีสติให้มาก นี่คือการปฏิบัติต่อสตรีเพศ




ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 11:28:53 am »



๐ ภาษาคน ภาษาธรรม

เป็นที่น่าแปลกใจว่า บุคคลผู้มีความรู้ทางโลกเพียงแค่ ป.๑ อย่างหลวงพ่อ ทำไม่จึงมีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศ ที่อุทิศตนเป็นพุทธสาวกอย่างจริงจังจำนวนมากขนาดนั้น และลูกศิษย์ชาวตะวันตกของหลวงพ่อยังได้เป็นตัวแทนที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กว้างไกลออกไปยังต่างประเทศด้วย

เกี่ยวกับเรื่องการสอนพระชาวต่างประเทศนี้นี้ มีคนตั้งคำถามกับหลวงพ่อหลายครั้งหลายครา ทำนองว่า ท่านพูดภาษาฝรั่งไม่ได้ แล้วเขาก็พูดภาษาเราไม่ได้ แล้วท่านสอนเขาอย่างไร หลวงพ่อตอบในเชิงถามย้อนว่า

“ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม ? อย่างหมาแม่ หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า ? ” หรือไม่ก็ตอบอย่างคมคายว่า

น้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อภายนอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง” เป็นต้น

เคล็ดลับในการสอนของหลวงพ่อ ก็คือท่านสอนด้วยการกระทำ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอะไรมาก ท่านบอกว่า ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ เขาจึงได้ดีไป เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้น ทำจริงๆ จังๆ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา

การสอนแบบ “พาเขาทำเอาเลย” นี้ บางทีหลวงพ่อก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า “ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นล่ะ” และที่หลวงพ่อนำมาใช้ผลได้เป็นอย่างดีนี้ ก็เพราะเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่หลวงพ่อท่านทำอยู่แล้วปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ถิ่นไหนชาติไหน ท่านก็สอนด้วยการพาทำเอาเลยมาแต่เดิมอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีการสอนของท่านแบบนี้จึงเป็นไปอย่างธรรมชาติและสมบูรณ์ ในตัว



ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 11:06:31 am »




๐ แนวทางการเผยแผ่พระศาสนา

หลวงพ่อท่านเน้นนักหนาให้พระภิกษุสามเณร ต้องอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เอาจริงเอาจัง จะหละหลวมย่อหย่อนแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ วิถีทางแห่งนักปฏิบัติไม่ใช่วิถีทางที่สะดวกสบายตามใจกิเลส พระอาจารย์เที่ยง ได้ปรารภถึงความเอาจริงเอาจังของหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อท่านสอนยังไงต้องทำอย่างนั้น แต่ก่อนถ้าเดินต้องเดิน ไม่เดินไม่ได้ ถ้านั่งต้องนั่ง ลุกไม่ได้ ไม่ใช่พูดเล่นนะ ท่านพูดเล่นไม่เป็น ไม่ทำไม่ได้ ถ้าท่านเห็นต้องเรียกมาด่า เณรท่านก็ด่า พระก็ด่า เรียกประชุมเลย...จะไปนั่งเล่นที่โน่นที่นี่ ผลุบเข้าผลุบออกไม่ได้ ถามทันที ไปทำไม...มีคนไปปัสสาวะเป็นชั่วโมง คราวหลังจะไปปัสสาวะมาบอกผมนะ ผมจะไปดูด้วย

เพราะฉะนั้น จะไม่กลัวก็ไม่ได้ ไม่อยากทำก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่ได้พูดเล่น ไม่ได้ปล่อยตามเรื่องตามราว ทางเดินจงกรมไม่มีก็ไม่ได้ ลานวัดไม่กวาดก็ไม่ได้ ข้ามวันหรือ ๒ วันไม่ได้ …กระดิกตัวไม่ได้เลย เล่นเหลาะแหละไม่ได้ ถ้าสั่งเลิกประชุม ปล่อยให้ทำความเพียรภาวนาตามลำพัง เห็นพระเณรเดินไปเดินมาเอาแล้ว คุณ คุณ ออกมาเพ่นพ่านอะไรอีกล่ะ ตาไวจริงๆ ไม่ปล่อยเลย นิดเดียวก็ไม่ปล่อย ถ้าให้เดิน ไม่เดินก็ไม่ได้ ถ้าเลิกแล้ว อยู่ก็ไม่ได้ เดี๋ยวเกิดเรื่อง พอเลิกต้องไปทันที แต่ถ้าไม่เลิกจะหนีไปไม่ได้ เป็นอะไรต้องบอก”

พระอาจารย์เอนกได้พูดถึงหลวงพ่อในแง่เดียวกันนี้ว่า

“...ภิกษุสามเณรจึงพากันกลัวนักกลัวหนา กลัวจะได้ฟังเทศน์กัณฑ์ใหญ่ มักพูดตักเตือนหมู่คณะเดี่ยวกันอยู่เสมอ ถ้าท่านรู้ว่าใครทำอะไรผิดขึ้นมา ท่านไม่ยอมปล่อยให้ข้ามวันข้ามคือเลย เรียกตัวมาอบรม หรือไม่ก็อบรมเป็นส่วนรวมเลย ท่านเข้มงวดกวดขันอยู่เสมอ ใครจะทำอะไรหรือมีกิจอะไรจำเป็นขนาดไหนก็ตาม ต้องไปกราบเรียนท่านเสียก่อนจึงจะทำได้ จะทำอะไรไปโดยพลการไม่ได้ ถ้าท่านรู้เป็นต้องได้ฟังเทศน์กัณฑ์ใหญ่แน่นอนทีเดียว

ใครไม่มาทำวัตรหรือมาทำวัตรไม่ทัน ช้าไป ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีเป็นไม่ได้เลย เวลาเดินเข้าไปในบริเวณศาลา ก็ต้องเดินเบาที่สุดจนแทบไม่มีเสียง ใครเดินเสียงดังไม่ได้ เดี๋ยวโดนดุ เพราะมันรบกวนสมาธิของบุคคลอื่นที่ท่านนั่งอยู่ก่อนแล้ว มันจะเป็นบาปเป็นกรรมและเสียมารยาทของนักปฏิบัติ อีกทั้งยังขาดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมอายตนะ เป็นเรื่องเสียหายมากสำหรับนักปฏิบัติเรา ท่านว่าอย่างนั้น...”

ลักษณะวิธีการสอนแบบตามจี้ตลอดของท่านนี้ อาจดูว่าจู้จี้เกินไป คงไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจเพื่อไปปฏิบัติขัดเกลาตน
แต่การสอนลักษณะเดียวกันนี้ก็คือวิธีการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้มาแล้ว โดยพิจารณาได้จากพุทธพจน์ว่า

น เต อหํ อานนฺท ตถา ปรกฺกมิสฺสามิ
อานนท์ เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม

ยถา กุมฺภกาโร อามเก อามกมตฺเต
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อที่ยังเปียกยังดิบอยู่

นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ เราจักขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด

ปวยฺหปวยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ เราจักชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุด

โย สาโร โส ฐสฺสติ
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้

นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช.

คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป
ว่าคนนั้นแหละคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น

ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย.
เมื่อคบหาบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย

เพราะฉะนั้น พระภิกษุสามเณรผู้ตั้งใจที่จะปฏิบัติจริงๆ จึงน้อมรับวิธีการของท่านด้วยความยินดียิ่ง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมลูกศิษย์ลูกหาของท่านซึ่งได้ผ่านการอบรมจากสำนักแห่งนี้ จึงมีภูมิธรรมอันสามารถในการคุ้มครองตนได้อย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งยังแผ่ขยายสู่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายได้อย่างถ้วนทั่ว