ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: เมษายน 15, 2011, 04:40:14 pm »สถานการณ์ภัยแล้งปี 2554 ที่กำลังมาเยือน...
นับเฉพาะภาคตะวันออก มักวนเวียนอยู่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี
ข้อมูลพื้นที่ภัยแล้ง มีปัจจัยวิเคราะห์ 6 ประการ คือ ปริมาณฝนสะสม, ฝนทิ้งช่วง, ระดับน้ำในลำน้ำสายหลัก แม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น...แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อย, ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่, พื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก
ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศไทย และปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่นำมาสู่ภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งทำให้ธรรมชาติเกิดวิกฤติและแปรปรวนมากยิ่งขึ้น
ประพันธ์
ทั้งสองปัญหานี้กระทบต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นมูลค่ามหาศาลต่อปี หากยังจำกันได้
ผลพวงจากภัยแล้ง ทำให้เกิดสงครามชิงน้ำมาแล้วระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดระยอง
ราวปี 2548...เกษตรกรเปิดศึกกับโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จนต้องแก้ปัญหากันต่อเนื่องแบบเฉพาะหน้า ทั้งทำฝนเทียม...เฝ้ารอฝนธรรมชาติ และแต่ละโรงงานก็ต้องแก้ไขกันไปแบบตัวใครตัวมัน
ตัวละครสำคัญภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลานั้น หนีไม่พ้น...อีสท์ วอเตอร์
การก่อกำเนิดของบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เมื่อกว่า 18 ปีที่แล้ว (25 กันยายน 2535) ตามมติรัฐมนตรี ซึ่งมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นเจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% ในครั้งนั้น
กำเนิดขึ้นมาเพื่อบูรณาการ เป็นศูนย์รวมในการบริหารจัดการน้ำดิบให้พอเพียงผ่านท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการอุปโภค...บริโภค เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาชายทะเลฝั่งตะวันออกให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
แม้ว่าวันนี้อีสท์ วอเตอร์จะกลายเป็นบริษัทมหาชน เปิดให้ประชาชนเข้ามาหุ้น ร่วมเป็นเจ้าของ โดยการประปาส่วนภูมิภาคยังคงถือหุ้นใหญ่อยู่ 40%... ทุ่มงบไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ในการลงทุนก่อสร้างเครือข่ายหรือระบบท่อส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ และศูนย์ปฏิบัติการ ซึ่งเชื่อมโยงแหล่งน้ำต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะส่งน้ำดิบไปถึงผู้ใช้น้ำ
โดยมีความยาวของท่อส่งน้ำรวมกันกว่า 340 กิโลเมตร ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ...แต่ก็ไม่แน่ว่าสงครามชิงน้ำจะเกิดขึ้นมา
ซ้ำรอยอีกหรือเปล่า
ที่ทำไปแล้ว...อีสท์ วอเตอร์ใช้การบริหารปัญหาแบบรวมศูนย์ ช่วยรัฐบาลประหยัดเงินงบประมาณหากต้องก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเอง รวมไปถึงถ้าปล่อยให้แต่ละโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างลงทุน การบริหารจัดการน้ำก็คงไม่เป็นระบบ เพราะไม่มีศูนย์รวมการเป็นเครือข่ายของระบบท่อส่งน้ำ
นโยบายภาพใหญ่พุ่งเป้าไปที่การผลักดันให้ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลักของชาติ เมื่อเทียบกับภาคการเกษตรย่อมต้องได้รับความสำคัญเท่าๆกัน ไม่มีใครได้เปรียบกว่ากัน...
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด (7 เม.ย. 54) ...ผลการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 7,614 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (ณ 1 เม.ย. 54) พบว่า มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 6.45 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 123 ของแผนทั้งหมด ซึ่งกำหนดไว้ 5.26 ล้านไร่
แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 6.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 122 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 5.21 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.07 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 140 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 0.05 ล้านไร่)
จะเห็นได้ว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีน้ำเหลือใช้ตามแผนฯ อีกเพียงร้อยละ 10 ...จึงขอให้เกษตรกรงดทำนาปรังรอบที่ 2 เพื่อป้องกันความเสียหาย
สาเหตุเนื่องมาจาก...ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลดลงอย่างมาก ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้กับนาปรังรอบที่ 2 ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังจะต้องสำรองน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้สำหรับการทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงด้วย
ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.-30 เม.ย.ของทุกปี
จะส่อเค้าวิกฤติภัยแล้งขึ้นอีกหรือเปล่า...คงไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่ๆในฟากฝั่งภาคอุตสาหกรรม...ใน 4 ปีข้างหน้า (2554-2557) พบว่า ความต้องการใช้น้ำดิบจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.65%
หรือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 329 ล้านลูกบาศก์เมตร จาก 245 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 53 และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าความต้องการใช้น้ำดิบจะเพิ่มขึ้นเป็น 386 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ข้อมูลนี้น่าจะทำให้เกิดสงครามชิงน้ำเกิดขึ้นแน่...ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ประพันธ์ อัศวอารี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ บอกว่า ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน ทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ
ขณะที่แหล่งน้ำธรรมชาติยังคงมีจำนวนเท่าเดิม เพราะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำใหม่เกิดขึ้นได้ยากมาก การที่ต้องรอคอยฝนฟ้าเป็นใจให้ตกต้องตามฤดูกาล จึงจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอนั้นคงไม่ได้แล้ว
ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบชลประทานของประเทศ เป็นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญของชาติ แต่จนแล้วจนรอดจนป่านนี้ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
“เรา...ยังต้องทุ่มลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนธุรกิจ 5 ปี ด้วยงบลงทุนกว่าสามพันล้าน...วางระบบท่อ ทำสระสำรอง เพื่อให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มีน้ำใช้อย่างเพียงพอที่สุด”
สถานการณ์น้ำ (21 มีนาคม 2554) “น้ำเก็บกักมีอยู่ร้อยละ 60 ของพื้นที่ระยองและชลบุรี...คาดว่าเพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้ ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกมากขึ้น ทำให้เริ่มมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อไป”
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ระยอง 3 อ่าง...อ่างเก็บน้ำดอกกราย, หนองปลาไหล, หนองค้อ มีปริมาณรวมกันทั้งสิ้น 171.92 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62 ยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย...ส่วนพื้นที่ชลบุรี อ่างเก็บน้ำบางพระ, หนองค้อ มีปริมาณน้ำรวม 91.48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 66 อยู่ในเกณฑ์ดี
น้ำ...เป็นข้อต่อปัญหาสงครามชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการเกษตร ประพันธ์ ย้ำว่า หน้าที่ของอีสท์ วอเตอร์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ขายน้ำดิบ แต่...อีสท์ วอเตอร์ คือบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำ
ธุรกิจหลักของบริษัทคือให้บริการสูบส่งน้ำทางท่อให้กับผู้ใช้น้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความสามารถในการบริหารแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการขาดแคลน
“อาจมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่เข้าใจว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนมีสิทธิ แต่ทำไมบริษัทจึงสูบขึ้นมาขายได้ ซึ่งจริงๆแล้วผู้จัดสรรน้ำคือกรมชลประทาน บริษัทเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขนส่งน้ำมาให้ถึงมือผู้ใช้
ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานใกล้ชิดกับกรมชลประทาน เพื่อติดตามดูระดับน้ำและวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง”
ภัยแล้งยังไม่มาเยือนอย่างเต็มรูปแบบ ภาพความต้องการน้ำในวันนี้อาจจะยังไม่กระจ่างชัดเท่าใดนัก การมองปัญหาล่วงหน้ามีความจำเป็น เพื่อเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ
สงครามชิงน้ำจะเกิดขึ้นหรือไม่?...จะเกิดหนักหรือเบา ตัวแปรสำคัญอยู่ที่แผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และปริมาณฝนธรรมชาติที่นับวันจะแปรปรวนขึ้นทุกที
สงครามชิงน้ำภาคตะวันออก...ถ้าเกิดขึ้นวันใด ถือเป็นความท้าทายการลงทุนนับหมื่นล้านของอีสท์ วอเตอร์.
http://www.thairath.co.th/column