ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: sasita
« เมื่อ: กันยายน 10, 2011, 10:45:27 am »

*-* 
พี่มดจั่วหัวชื่อกระทู้ซะน่ากลัวเลย
กดเข้ามาดูทันที พร้อมกับถอนหายใจแรง ๆ  1 ที
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 02, 2011, 05:23:14 pm »

คนโขน : เข้มๆ ข้นๆ ด้วยเรื่องคนปนแง่คิด/อภินันท์
 




 
































Facebook...teelao1979@hotmail.com
     
       แต่เดิมนั้น ฟังมาว่า ผลงานเรื่องใหม่ล่าสุดของคุณตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง อย่างเรื่อง “คนโขน” ได้วางพล็อตและแก่นหลักไว้แบบสองแบบ แบบที่หนึ่งตั้งโจทย์ของหนังให้ออกไปในแนวลึกลับไสยศาสตร์ ประมาณว่าเน้นความศักดิ์สิทธิ์ของหัวโขนที่เปรียบเสมือนของสูง ใครลบหลู่ดูหมิ่น ต้องมีอันเป็นไป ขณะที่อีกแบบหนึ่งจะทำเป็นหนังโลดโผนผจญภัยอันว่าด้วยพระเอกที่ต้องเดินทางฟันฝ่าชีวิตไปทั่วสารทิศก่อนจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนกลายเป็นยอดคนนักแสดงโขนผู้ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้าย เราก็ได้ดู “คนโขน” ในรูปแบบของหนังดราม่าเน้นเนื้อหาความคิด เป็นหนังชีวิตที่รุ่มรวยด้วยคติธรรม
     
       ผมไม่รู้ว่าคุณตั้ว-ศรัณยูคิดเห็นอย่างไรก่อนจะตัดสินใจแบบนั้น แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและดีงามแล้ว เพราะถ้าจะทำหนังเชิงขายความระทึกลึกลับของไสยศาสตร์มนต์ดำ หรือกระทั่งขายความแอ็กชั่นโลดโผนของพระเอกยอดนักเล่นโขนนั้น ไม่แน่ใจว่า ผลลัพธ์ด้านความหนักแน่นของแก่นสารความคิด จะออกมา “แจ่ม” ได้ขนาดนี้หรือเปล่า
     
       เนื่องจากหนังเรื่องนี้มี “โขน” เป็นองค์ประกอบในการดำเนินเรื่อง ทีนี้ โขนที่เล่นก็คือเรื่องรามเกียรติ์ และสำหรับคนไทยเรา ก็ย่อมจะได้ศึกษามาว่า รามเกียรติ์นั้น โดยแก่นสารเนื้อหาคือการต่อสู้ฟัดเหวี่ยงกันระหว่างธรรมะกับอธรรม ดังนั้น แง่มุมสำคัญอันหนึ่งซึ่งเป็นดั่งกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้ก็คือ การเบียดแย่งพื้นที่กันเพื่อจะชิงชัยเป็นฝ่ายชนะระหว่างธรรมะกับอธรรม แต่เป็นธรรมะกับอธรรมที่ไม่แบนราบไร้มิติ
     
       เพราะอะไรน่ะหรือ?
     
       ก็เพราะว่า ในขณะที่เราอาจจะกำลังคิดเข้าข้างฝ่ายครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) เป็นนักเป็นหนานั้น ครูหยดก็เปิดแผลและด้านมืดออกมาให้เราได้เห็น เล่นเอาเราอาจจะช็อกเมื่อพบว่าคนดีๆ แบบนี้ไม่น่าไปทำอย่างนั้น
     
       เช่นเดียวกัน กับครูเสก (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เราอาจจะนึกชิงชังเขานักหนาในฐานะบุคคลที่มีความฝันเป็นพิษ และความคิดเป็นภัย แต่กระนั้น เมื่อเราเห็นผลพวงที่เกิดขึ้นกับเขา สิ่งที่จะเกิดกับเรา ก็คือความรู้สึกเวทนาสะเทือนใจในชะตากรรมนั้น
     
       ผมว่าหนังนั้นมีพลังใช้ได้เลยล่ะครับในการที่พยายามขับเน้นตัวละครให้มีความเป็นปุถุชน ไม่ดีสุด เลวสุด หรือขาวจัด ดำจัด จนเกินไป แม้จะมีอยู่บ้าง อย่างตัวละคร “คม” (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) ที่ดูเหมือนหนังจะทำให้คาแรกเตอร์ของเขาสุดโต่งไปด้านหนึ่งด้านเดียวจนเกินไป แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้หนังเสียรูป เพราะอย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ แม้แต่หนังดีๆ อย่าง Rise of the Planet of the Apes ก็ยังมีตัวละครลักษณะนี้อยู่ด้วยเลย (ก็คือตัวที่แสดงโดยเดรโก มัลฟอย แห่ง Harry Potter นั่นล่ะครับ)
     
       หลักๆ แล้ว “คนโขน” เป็นเรื่องของปุถุชนที่ยังเวียนวนอยู่ท่ามกลางแรงยั่วเย้าของรักโลภโกรธหลง และพร้อมจะถูกเหวี่ยงไปตามแรงแห่งกิเลสตัณหาได้ทุกเมื่อ หนังเดินเรื่องผ่านตัวละครหลักสองกลุ่มใหญ่ๆ สองสำนักโขน “ครูหยด” กับ “ครูเสก” อดีตนักเรียนโขนที่เป็นศิษย์ใต้ก้นกุฏิของอาจารย์คนเดียวกัน แต่ด้วยความเชื่อ-ความฝัน และความทะเยอทะยานที่แตกต่าง ส่งผลให้เส้นทางของทั้งคู่ดำเนินไปคนละทิศละทาง
     
       อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรื่องราวของสองตัวละครที่เป็นดั่งเสาหลักคุมโครงเรื่องทั้งหมดไว้ดังว่าแล้ว หนังได้แบ่งความสำคัญให้กับตัวละครอีก 3-4 คน ไม่ว่าจะเป็น “ชาด” (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) ที่ไปเกี่ยวพันทั้งกับ “รำไพ” (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) “แรม” (นนทรัตน์ ชาวราษฎร์) “ตือ” (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และที่สำคัญก็คือ “คม” เด็กหนุ่มคนโขนที่อาฆาตแค้นต่อชาดมาตั้งแต่เยาว์วัย
     
       ผมเห็นด้วยกับหลายๆ คน และผมเองก็เคยให้ความเห็นผ่านรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิงและ TRUE 70 แล้วครับว่า “คนโขน” นั้น มีตัว Sub-Plot หรือพล็อตย่อยพล็อตรองค่อนข้างเยอะ ดังนั้น หนังจึงใช้เวลาพอสมควรเพื่อที่จะแนะนำหรือปูพื้นฐานของตัวละครแต่ละตัวที่กระจายมาจากรอบทิศทางราวกับลำโพงเซอร์ราวด์ ตัวละครแต่ละตัวมี “เรื่องราว” และเนื้อหาความสำคัญเป็นของตัวเอง ไม่น้อยไปกว่ากัน นี่ถือว่าเป็นการเล่นท่ายากเลยนะครับสำหรับการทำหนัง เพราะลำพังเพียงแค่เล่าเรื่องของคนคนหนึ่งหรือคนสองคน (เหมือนหนังส่วนใหญ่ทั่วไป) หนังบางเรื่อง ยังส่ายไปปัดมาเลยครับ
     
       ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่า การจะวิพากษ์หรือตีความหนังเรื่องนี้ให้ครบทุกมิติของตัวละคร จึงเป็นเรื่องที่คงพูดให้จบไม่ได้ในประโยคสองประโยค แต่ถึงกระนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นความ “ชัดเจน” ทางแนวคิดของผู้กำกับด้วยส่วนหนึ่งจึงทำให้หนังมี “ศูนย์รวม/เสาหลักทางความคิด” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าหนังจะมีตัวละครเยอะเพียงใด หรือมีเรื่องราวมากเท่าไร แต่ทุกๆ ส่วนก็สามารถนำไปขมวดไว้ในกลุ่มก้อนประเด็นเดียวกัน นั่นก็คือ การเปราะบางและอ่อนไหวไปตามอำนาจของกิเลส ซึ่งนอกจากสิ่งนี้จะเป็นเหตุให้ตัวเองหันหน้าสู่ความเสื่อม ยังนำความเดือดร้อนมาสู่ผู้อื่นด้วย
      สำหรับความคาดหวังของหลายๆ คนที่คิดว่าจะได้เห็นการประชันโขนอย่างเอาเป็นเอาตายแบบเดียวกับที่เคยดูการดวลระนาดในเรื่อง “โหมโรง” ก็อาจจะต้องเตรียมใจกับความคาดหวังนั้นไว้บ้างครับ เพราะพูดกันอย่างถึงที่สุด หนังนั้นใช้โขนในฐานะเครื่องไม้เครื่องมือในการที่จะกะเทาะเปลือกของความเป็นมนุษย์ และที่ต้องชื่นชมก็คือ ขณะที่ตัวละครในเรื่องแสดงโขนไป “เรื่องของโขน” ก็คล้ายๆ จะสะท้อน “เรื่องของคน” (ซึ่งก็คือ ตัวละครในเรื่อง) ไปด้วยในขณะเดียวกัน
     
       พูดอย่างถึงที่สุด ผมมองว่า หลังจาก “อำมหิตพิศวาส” ที่คุณตั้ว-ศรัณยู เคยกำกับไว้เมื่อหลายปีก่อน “คนโขน” ถือเป็นพัฒนาการในแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการทำหนังเน้นเนื้อหาสาระและแง่คิดสอนใจ มันยากนักนะครับสำหรับคนทำหนังยุคนี้ที่จะมาทำหนังซึ่งเน้นต่อยหนักในด้านความคิดเช่นนี้
     
       นอกเหนือไปจากเนื้อหาสาระ ผมคิดว่า เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อยู่ที่นักแสดงรุ่นใหญ่ทั้งสองคน หนึ่งคือนิรุตติ์ ศิริจรรยา ผมไม่แปลกใจว่าเพราะอะไร คนในแวดวงถึงให้ความนับถือคุณนิรุตติ์อย่างถ้วนหน้า เพราะนอกจากปฏิปทาที่ดีในการดำเนินชีวิต ด้านฝีไม้ลายมือการแสดงก็บ่งบอกความเป็น “ลายคราม” ได้เป็นอย่างดี
     
       เช่นเดียวกับนักแสดงวัยใกล้เคียงอีกคนอย่างสรพงษ์ ชาตรี ที่ช่วงหลังๆ มักจะได้รับแต่บทพระแก่ๆ ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นอานิสงส์ต่อเนื่องจากหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งที่ว่ากันตามจริง คุณสรพงษ์มีศักยภาพกว่านั้นเยอะมาก และคุณตั้ว-ศรัณยู ก็เปิดทางให้ศักยภาพนั้นแผ่รัศมีกับบทบาทของ “ครูหยด” ฉากที่ครูหยดกลับมาเจอเหตุการณ์บาดตาบาดใจแล้วระเบิดระบายอารมณ์ความรู้สึกออกมานั้น ผมถือว่า ล้มคว่ำทุกฉากทุกซีนการแสดงในหนังเรื่องนี้

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110826
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 02, 2011, 05:22:01 pm »

---ล้อมกรอบ---

       เรื่องน่าเล่าริมทาง

       “โขน” ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวที่ทำให้ตั้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ยังมี “ลำตัด เพลงฉ่อย และลิเก” ติดอันดับต้นๆ อยู่ด้วย โดยเฉพาะตัวเลือกสุดท้ายที่รู้สึกติดอกติดใจเป็นพิเศษจากเหตุการณ์น่าประทับใจที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
       
       
       “พี่เคยไปนั่งกินข้าวในร้านจิ้มจุ่ม แล้วก็มีคนเดินมาขอตังค์ตามโต๊ะ เรียกง่ายๆ ว่าขอทานนั่นแหละครับ แต่คนนี้ต่างจากคนอื่นๆ เขามาขอด้วยการร้องลิเก ถ้าใครให้ตังค์เขา เขาก็จะด้นลิเกสดๆ ให้โต๊ะนั้นฟัง (น้ำเสียงตื่นเต้น) แต่ตอนนี้ไม่รู้เขาไปอยู่ไหนแล้วนะ หาตัวไม่ได้แล้ว แต่ตอนนั้นที่พี่เห็น พี่อยากทำเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเลย โดยเฉพาะลิเกที่ไปปิดวิกเล่นตามตลาดแล้วไม่ค่อยมีคนดู พี่เคยเห็นแล้วก็คิดว่า เฮ้ย! แล้วชีวิตเขาจะอยู่ยังไงวะ มันคล้ายๆ กันกับคนเล่นโขนนั่นแหละครับ เพียงแต่เขารักลิเก มีความสามารถด้านนั้น แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เขา”
       
       “แต่สุดท้ายพอมานั่งเรียงลิสต์ที่จะทำ พี่ว่าถ้าทำเรื่องลิเกออกมา มันคงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก จะออกแนวดรามาไป เลยคิดว่าพักไว้ก่อนดีกว่า มันดูเฉพาะกลุ่มไปหน่อย ก็เลยเหลือโขนนี่แหละพอไปได้ พอหาข้อมูลไปเรื่อยก็พบว่ามันสามารถเป็นหนังที่สนุกได้ ทั้งๆ ที่ชื่อมันดูเป็นทางการ หลายคนได้ยินชื่อ ถามเลยว่า เฮ้ย! จะทำเรื่องโขนเหรอ มันจะสนุกเหรอพี่ แต่จากพล็อต จากวิธีการทำงานแล้วพี่พบว่าเราสามารถทำให้สนุกได้ พี่ก็มาทางนี้” ผู้กำกับช่างคิดพูดถึงเกร็ดเล็กๆ ของการทำงานให้ฟัง
       
       
       ครูโขนดลใจ

       น่าแปลกใจกับความจริงที่ว่า พระเอกของเรื่องคนโขน “อาร์ อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” ได้เป็นพระเอกด้วยความไม่ตั้งใจของทีมงาน แต่ผู้กำกับเชื่อว่าอาจเป็นเพราะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยดลใจให้ตนเกิดเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้ายก่อนถ่ายทำนั่นเอง
       
       
       “แนวความคิดเริ่มแรกเลยอยากให้พระเอกนางเอกหน้าตาหล่อสวยไว้ก่อน (ยิ้ม) คิดว่าถึงหล่อแต่เล่นโขนไม่ได้ ไม่เป็นไร เราใช้สแตนด์อินแทนเอา ก็คัดได้มาคนหนึ่ง หน้าตาหล่อ นิสัยดี ร่วมงานกันได้ แต่เขาเล่นโขนไม่ได้ เราก็หัดให้เขา ซ้อมอยู่ได้ 3-4 เดือน แต่ซ้อมยังไงแขนเขาก็อ่อนไม่ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าของแบบนี้ต้องฝึกกันตั้งแต่เด็ก มาปุบปับไม่ได้ แต่มันก็ใกล้จะเปิดกล้องแล้ว เลยเรียกทีมงานประชุมกัน”
       
       
       “ผู้ช่วยพี่เอาเทปมาให้ดู บอกว่าคนนี้ไหมพี่ หน้าตาพอได้นะ น้องอาร์นั่นแหละ เขาคือหนึ่งในตัวประกอบที่แสดงในเรื่องที่เราคัดไว้ เป็นกลุ่มนักเรียนนาฏศิลป์ที่รำเป็นจริงๆ พี่ก็ดูหน้า รู้สึกว่าหน้าเขาซีดๆ ยังไงไม่รู้ บอกเลยว่าไม่เอาๆ (ส่ายหน้า) เอามาเป็นสแตนด์อินให้พระเอกดีกว่า ผู้ช่วยพี่ก็พยายามเชียร์ แต่พี่ก็ยังปฏิเสธอยู่ พอประชุมกัน ทุกคนก็โหวตให้น้องอาร์เป็นพระเอก แต่พี่ก็ยังยืนยันว่าไม่เอา ให้พระเอกหน้าหล่อคนเดิมซ้อมไปเรื่อย”
       
       
       “จนอีกไม่กี่วันจะถ่ายจริง มันพอมีเวลาว่างอยู่ พี่เลยให้เรียกสแตนด์อินคนนั้นมาคุย เป็นครั้งแรกที่พี่เจอเขาตัวจริง พี่หันไปเห็นก็ เฮ้ย! หน้ามันผ่องว่ะ มันไม่เหมือนในวิดีโอที่ผู้ช่วยส่งมาให้ดู ทั้งๆ ที่เขาแต่งตัวธรรมดามาเลย ชุดนิสิต (ม.จุฬาฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์) มาถึงก็หยิบผ้ามาผูกมานุ่ง ทำทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติหมดเลย ซึ่งคนที่ไม่เคยเรียนมันทำอย่างนี้ไม่ได้ พี่ก็หยุดมองเลย (แววตาทึ่ง) รู้สึกว่ามันใช่น่ะ เลยเรียกประชุมด่วน ขอเปลี่ยนตัวพระเอกวันนั้นเลย"
       "ก็ต้องขอโทษขอโพยทางผู้ปกครองของน้องพระเอกคนเดิมเขาไป ซึ่งเขาก็เข้าใจ มาคิดดูพี่ว่าก็แปลกเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ไม่ว่าใครจะทักให้เปลี่ยนตัว พี่ก็ไม่เชื่อ เลยแอบนึกอยู่ว่าวันนั้นคงมีครูหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลใจ เพราะถ้าวันนั้นพี่ไม่หันไปเห็นสแตนด์อินในวินาทีนั้น ป่านนี้คงทำหนังไปไหนต่อไหนแล้ว
       
       
       หนังทุนต่ำ 17 ล้าน!

       “17 ล้าน” ตัวเลขเท่านี้ก็ถือว่าลงทุนสูงมากแล้วในวงการภาพยนตร์บ้านเรา แต่สำหรับตั้วแล้ว เขายังคงยืนยันว่าเรื่องคนโขนยังถือเป็นหนังทุนต่ำอยู่ เมื่อเทียบกับความพยายามในการกระเหม็ดกระแหม่อย่างสุดฤทธิ์
       
       
       ถามพี่ว่า 17 ล้านเยอะไหมเหรอ พี่ว่าไม่หรอกเพราะเราถ่ายด้วยฟิล์ม แต่ถ้าไปเทียบกับหนังเรื่องอื่นอาจจะถูกมองว่าทุนสูง เพราะหนังส่วนใหญ่หลังๆ เขามองกันที่ 5 ล้าน 8 ล้าน ซึ่งมันเป็นหนังอีกประเภทหนึ่ง อาจจะเป็นหนังวัยรุ่น ถ่ายด้วยกล้อง HD แค่ 5 วัน 10 วันก็ปิดกล้อง แบบนั้นงบมันน้อย มันทำได้ แต่ถ้าจะมาทำกับหนังเรื่องโขน มันไม่ได้ ถ้าพี่เข้าไปบอกสหมงคลฟิล์มว่าจะทำเรื่องโขน สุดยอดแห่งนาฏกรรมไทย ขอเงินเสี่ยแค่ 3 ล้าน แกคงให้มาเลย 6 ล้าน บอกเอ็งไปทำมา 2 ภาคเลย (ยิ้ม) แต่ด้วยตัวโปรดักชันของเราแล้ว มันไม่ได้จริงๆ ครับ”
       
       
       “พี่ก็ไม่ได้ว่าหนังของพี่ทุนสูงนะ พี่ก็ยังถือว่าหนังพี่เป็นหนังทุนต่ำ เพียงแต่ว่าพี่พยายามทำให้มันต่ำได้แค่นี้ เพราะความต่างของพี่คือพี่ไปเลือกเรื่องที่พี่อยากจะทำในมุมที่คนอื่นไม่ค่อยทำกัน ทำให้ต้องดิ้นรนหาทุนเอง แต่โชคยังดีที่มีภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญ เป็นสปอนเซอร์ให้ แถมยังได้เงินทุนก้อนใหญ่สุดมาจากกระทรวงวัฒนธรรม พี่เสนอโครงการไป บอกขาดเงินอยู่ 8 ล้าน ขอเขาไปตรงๆ ซึ่งเขาก็ให้
       
       
       คนไทยส่วนใหญ่ยินดีจะเสียเงินตีตั๋วภาพยนตร์แนวตลก-เบาสมองมากกว่าแนวอื่น ถามว่ารู้สึกอย่างไร ผู้กำกับหนังชีวิตตอบว่า “พี่คงไปรู้สึกแทนใครไม่ได้ แต่ในมุมของพี่ สมมติว่ามีคน 100 คนที่เคยดูหนังแนวนั้น ลองหันมาดูเรื่องแนวนี้บ้างได้ไหม ขอสัก 10 คนพี่ก็ดีใจแล้ว”
       
       “ถ้าถามว่าพี่สนใจทำหนังตลาดบ้างไหม คำว่าหนังตลาดไม่ใช่คำจำกัดความที่ทำให้พี่ถอยห่าง คือพี่ไม่ปฏิเสธจะทำ เพียงแต่ว่าถ้าจะทำหนังตลาด พี่ต้องพบว่ามันมีแง่มุมที่พี่อยากพูด แต่ถ้าการทำหนังทุนต่ำหมายความว่าคุณต้องถ่ายจำนวนเท่านี้วันนะ และต้องไปหาพระเอก-นางเอกคนนี้มาเล่นนะ เพราะคนนี้กำลังดัง กำลังมีข่าวฮอต คนนี้มีสปอนเซอร์ ถ้าแบบนั้น พี่คิดไม่ได้ แต่ถ้าพี่คิดออกว่าหนังทุนต่ำของพี่เองเป็นยังไง พี่ทำ ไม่มีใครไม่อยากทำหนังทุนต่ำหรอกครับ เพราะยิ่งทุนต่ำยิ่งเจ็บตัวน้อย ไม่แน่... เรื่องต่อไปพี่อาจจะทำหนังรักทุนต่ำมากๆ (เน้นเสียง) ก็ได้” แล้วมาคอยดูหนังรักสไตล์พี่ตั้วกัน
       
       
       ผู้กำกับของผู้กำกับ

       อะไรคือข้อดีของการเป็นผู้กำกับของตัวเองที่คนอื่นพูดถึง? คนถูกถามนิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนตอบด้วยท่าทีขี้เล่นว่า “อาหารอร่อยมั้ง (หัวเราะ) แต่พี่ไม่ได้ทำอาหารเองนะ แค่สั่งมาให้กิน แต่จะชอบสั่งแบบอร่อยๆ เพราะใครทำงานกับพี่จะรู้ว่าหนักและเหนื่อยจริง ช่างไฟ ช่างกล้อง วิ่งกันขาลากเลย คือพี่คิดว่าในเมื่อทำงานหนักแล้วก็อยากให้ได้กินของอร่อยๆ กัน”
       
       
       เมื่อถามถึงผู้กำกับในดวงใจของผู้กำกับรายนี้ เขาจึงค่อยๆ ไล่เลียงทีละรายชื่อ “คำตอบนี้ถามแต่ละเวลาจะได้คำตอบต่างกันไป อยู่ที่ว่าคิดถึงใครได้ แต่ถ้าเป็นผู้กำกับเมืองไทย ชื่อแรกก็ต้องท่านมุ้ยเลย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ท่านนำเสนอในเชิงความเป็นจริง ขยันค้นคว้า และจริงจังกับงานมาก ผลงานของท่านก็เป็นที่ประจักษ์อยู่”
       
       
       อีกคนคืออาเปี๊ยก (เปี๊ยก โปสเตอร์) อาเปี๊ยกสร้างปรากฏการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านของคตินิยมของหนังไทยในหลายๆ ช่วง อาเปี๊ยกเป็นคนแรกที่ทำหนังไทยแล้วนางเอกโดนข่มขืน พี่จำได้เลยเรื่องโทน พี่ดูแล้วร้องไห้เลยน่ะคิดดู ซึ่งถือเป็นอะไรที่แหวกมากๆ เพราะสมัยก่อนนางเอกต้องอยู่ในขนบ ต้องไม่โดนผู้ร้ายจูบ ต้องไม่เสียตัว อาเปี๊ยกเป็นคนแรกที่ทำ ทำให้หนังเริ่มมีความคิดใหม่ๆ จากเดิมที่พระเอกมีไม่กี่แบบ ต้องหล่อล่ำ แต่อาเปี๊ยกช่วยดึงหนังให้เข้ามาสู่ความเป็นจริงในสังคม สร้างมิติให้ตัวละคร คนดีมีข้อเลว ไอ้คนเลวก็มีข้อดีอยู่
       
       
       นอกจากนี้ยังมีชื่อของ “วิจิตร คุณาวุฒิ” และ “บัณฑิต ฤทธิกล” ที่ตั้วกล่าวชมว่าเก่งกาจและแหลมคมอยู่ด้วย ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยความจริงบางประโยค ให้ผู้ฟังได้อมยิ้มไปกับมุมมองของเขา
       
       “คนเหล่านี้ที่เอ่ยชื่อมาไม่มีใครรวยซักคนเลยนะ พี่นี่ยิ่งแย่เลย พี่เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องความจนเลยล่ะ (หัวเราะ) แต่ผู้กำกับทุกคนที่พี่พูดถึง เขาจะมีความสุขในการทำงาน อาจจะไม่ได้ทำงานแล้วเป็นอัครมหาเศรษฐีหรือได้รางวัลตุ๊กตาทองมากมาย แต่สมาธิเขาอยู่กับงานมากและมีความสุขกับงานของตัวเองจริงๆ”
       
       
       ประวัติส่วนตัว

       ชื่อ-สกุล : ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
       วันเกิด : 17 ต.ค. 2503
       การศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       รางวัลที่ได้รับ : นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากละครเรื่อง “ทวิภพ” (2537)
       จุดเปลี่ยน : ละครเวทีของคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เรื่อง “สู่ฝันอันสูงสุด” สมัยยังเป็นนิสิต ช่วยจุดประกายความกล้าในงานแสดงครั้งแรกในชีวิต, ละครเวทีของคณะอักษรศาสตร์ เรื่อง “คนดีที่เสฉวน” ทำให้ค้นพบศาสตร์แห่งการแสดงและหลงรักมาจนถึงทุกวันนี้



ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 02, 2011, 05:20:58 pm »

“ไม่เป็นไรครับ...”


      ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายในชีวิตของตั้ว-ศรัณยูในวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะการออกมาป่าวประกาศแนวคิดทางการเมืองของตนเองอย่างกล้าหาญ หากมองย้อนกลับไป มองเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ถามว่ายังคงตัดสินใจแบบเดิมอยู่อีกไหม เขายิ้มมุมปาก จากนั้นจึงเปิดใจพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่สวยหรูนัก แต่มีความจริงใจอยู่ในนั้นอย่างเต็มเปี่ยม
     
     
      “คิดไว้เหมือนกันครับว่าจะมีผลต่องานของเรา แต่ถ้าพูดตรงๆ คือไม่คิดว่ามันจะมากขนาดนี้ ไม่คิดว่าวันหนึ่งทำหนังออกมาเรื่องหนึ่งแล้วจะต้องไปมีผลเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างนี้ แต่ถึงแม้ว่า ณ วันนั้นจะรู้ว่าผลกระทบจะเยอะขนาดนี้ พี่ก็ไม่เปลี่ยนความคิดอยู่ดี เพราะตอนนั้นเราชัดเจนในสิ่งที่ตัดสินใจอยู่แล้ว ซึ่งมันแข็งแรงพอที่พี่จะยืดอกยอมรับกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น
     
     
      และดูเหมือนว่าผลกระทบที่พูดถึงจะส่งผลต่อภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาด้วย ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะพยายามยืนยันสักเพียงใดว่าไม่มีความคิดเห็นทางการเมืองแอบแฝงอยู่ในนั้น แต่คนที่ตัดสินทุกอย่างจากสีเสื้อโดยไม่สนใจคุณค่าทางศิลปะบางกลุ่มก็ตัดสินด้วยอคติไปแล้วว่า “ยังไงก็จะไม่ดู” ซึ่งตั้วเองก็เข้าใจและทำใจเรื่องนี้เอาไว้นานแล้ว
     
     
      “มันต้องมีคนที่ไม่ดูอยู่แล้วและคนที่ดูอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้มันมีทุกสื่อ และคนที่ไม่ดูอยู่แล้ว เขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นของเขาออกมาได้ว่า ไม่ดูอยู่แล้ว เพราะดูไม่ได้แน่ๆ ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ... ไม่เป็นไรครับ (เสียงเรียบๆ) หรือกูไม่ดูหนังของพวกมึงอยู่แล้ว ไอ้ควายเหลือง... ก็ไม่เป็นไรครับ (เสียงเย็นที่สุดในบรรดาคำพูดว่าไม่เป็นไรที่พูดมา) แต่สำหรับคนที่ตั้งใจมาดูแล้วพี่ทำให้เขามีความสุขได้ พี่ว่าภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว และพี่ถือว่าพี่ทำดีที่สุดแล้ว”
     
     
      ในทางกลับกัน ถามว่าหากมีคนเสื้อต่างสีคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์บ้าง ตั้วจะดูหรือไม่ เขาตอบโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดว่า “การเลือกดูหนัง พี่จะเลือกที่ตัวงาน ถ้าคนเสื้อแดงมาทำหนังแล้วหนังมันเสี่ยว พี่ก็ไม่รู้จะดูทำไม แต่ถ้าคนเสื้อแดงทำหนังแล้วหนังมันดีมาก และไม่บังคับว่าต้องใส่เสื้อแดงไปดู (หัวเราะเล็กๆ) ถ้าเป็นหนังที่ให้ความอิสระ พี่ดูนะ (สีหน้าจริงจัง) พี่ดูอยู่แล้ว ถ้าหนังมันมีความงดงามในเชิงภาพยนตร์ มีคุณภาพ และไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ มันควรไปดูอยู่แล้วครับ”
     
      สำหรับคนที่ยังคงกังวลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีนัยทางการเมือง หรือเข้าไปดูในโรงเพื่อตีความบทพูดให้เกี่ยวข้องกับเรื่องสีเสื้อ ผู้กำกับและนักแสดงมากความสามารถคนนี้ช่วยยืนยันด้วยลีลากวนๆ ตามสไตล์ของเขาว่า “ไม่เกี่ยวกับการเมืองแน่นอนครับ เพราะถ้าผมทำหนังโฆษณาชวนเชื่อหรือมีนัยทางการเมืองเมื่อไหร่ ผมจะรีบบอกทันทีเลย” นี่แหละคือความชัดเจน จริงใจแบบไม่ต้องใส่หัวโขนของผู้ชายที่ชื่อ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง”



ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 02, 2011, 05:20:09 pm »

สองปีแห่งความจริง


      หลายคนคงมีโอกาสเข้าไปดูความละเมียดละไมบนจอยักษ์กันมาแล้ว หรือถ้ายัง อย่างน้อยแค่ดูตัวอย่างภาพยนตร์ยาวไม่กี่นาที คงพอจะทำให้ขนลุกไปกับความจริงจังที่สัมผัสได้จากผลงานชิ้นนี้อยู่บ้าง ส่วนเบื้องหลังการถ่ายทำจะเต็มไปด้วยความเหนื่อยยากขนาดไหนนั้น วัดจากเวลาฉายจริงซึ่งยาวเพียง 100 นาที แต่ทีมงานใช้เวลารวบรวมข้อมูลอยู่กว่า 2 ปีแล้ว อาจเป็นคำตอบที่อธิบายทุกอย่างได้ดีที่สุด
     
     
      “เราอยู่กับข้อมูลประมาณสองปีได้ พี่ทำเหมือนตัวเองเป็นตัวแทนของคนดูที่ไม่รู้จักโขนมาก่อน ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น (ยิ้ม) พี่ก็เลยเริ่มทุกอย่างจากความอยากรู้ หาข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบว่าทำยังไงให้เราเองที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยดูโขน ดูแล้วสนุกได้ เซตทีมงานขึ้นมาให้ไปหาข้อมูลทั้งหมด เข้าห้องสมุด อ่านประวัติศาสตร์ ไปสัมภาษณ์คนเล่นโขน ตามไปดูโขนโรง หาซีดีสื่อการสอนมาดู เอาข้อมูลทุกอย่างมาแบกันเต็มโต๊ะไปหมด
     
     
      แม้ไม่ตั้งใจจะทำภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ แต่ในเมื่อเรื่องราวเกี่ยวกับโขนมีอยู่จริงและไม่สามารถบิดเบือนได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้าเราทำหนังโดยการสมมติตลอด คนที่เขาเล่นโขนจริงๆ มาดู เขาก็จะรู้เลยว่า เฮ้ย! โขนแบบนี้มันไม่มี เขาก็จะรู้สึกว่ามันไม่จริง เราก็เลยต้องทำหนังโดยเกาะความเป็นจริงเป็นหลัก” แม้กระทั่งตามไปดูโขนแท้ๆ ที่แสดงตามโรงละคร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเวลาแสดงไม่แน่นอน เทียบไม่ได้กับละครบอร์ดเวย์ที่ซีซันหนึ่งจะเล่นทุกวัน อาทิตย์หนึ่งหยุดวันเดียวแล้วแสดงยาวไป 3 เดือน แต่ประเทศไทยเล่นสามวัน หายไป 3-4 อาทิตย์ ติดตามยากจนผู้กำกับเอ่ยปากว่า “นี่ขนาดเป็นศิลปะของชาตินะเนี่ย!”
     
     
      ที่ลำบากไม่แพ้กันเห็นจะเป็นหน้าที่การนำเสนอความจริงเกี่ยวกับโขน ซึ่งเน้นความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว โดยมี “อาจารย์ประสาท ทองอร่าม” หรือ “ครูมืด” ศิษย์เอกอาจารย์เสรี หวังในธรรม รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและควบคุมการถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง ทำให้ต้องเปลี่ยนบทไปมาอยู่หลายรอบเหมือนกัน เพื่อให้ภาพยนตร์ออกมาตรงตามขนบของโขนมากที่สุด
     
     
      “ตอนแรกคิดพล็อตให้ตัวเอกเป็นเด็กที่เกิดมาตีลังกาเก่งมาก ไปเจอครูแก่ๆ เจอตำราฝึกโขน ไปแนวหนังจีนกำลังภายในเลย (ยิ้ม) มีคู่แข่ง มีเวทีประกวดโขน แต่ครูมืดบอกว่าไม่ได้นะ เรื่องจริงการประกวดโขนมันไม่เคยมี แล้วเรื่องเด็กตีลังกาเก่ง มีพรสวรรค์กว่าคนอื่นก็ไม่จำเป็น เพราะโขนไม่ใช่วิทยายุทธที่สามารถต่อยอดไปได้ และต่อให้คนนี้มีเคล็ดเหินฟ้า อีกคนมีวิชาตัวเบา พอมาเล่นโขน ทุกคนก็ต้องเล่นด้วยท่วงท่าที่เหมือนกันอยู่ดี มันเป็นขนบที่ถูกปลูกฝังมา พี่ก็เลยต้องตัดความคิดนี้ออกไป
     
      “จากนั้น ไปรู้มาว่ามันมีเกร็ดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของศีรษะโขน บางความเชื่อบอกว่าถ้าไปแอบใส่แล้วทำยอดหัก จะถอดออกเองไม่ได้นะ ถ้าถอดเองจะเกิดหายนะขึ้นกับชีวิต พี่ก็วางพล็อตแบบนั้น แต่พอคุยกับครู ครูบอกเขาจะรู้สึกไม่ดีถ้าเราไปนำเสนอโขนในแง่ศาสตร์ลึกลับที่น่ากลัว เพราะจริงๆ แล้วหัวโขนคือสิ่งที่สัมผัสได้ พี่เลยต้องเคารพตรงนั้น เพราะฉะนั้นความภูมิใจของพี่ในหนังเรื่องนี้คือไม่มีส่วนไหนที่ผิดเลยเกี่ยวกับโขน และที่สำคัญเรายังนำเสนอโขนได้ครบทุกรูปแบบทั้งโขนโรง โขนฉาก โขนหน้าจอ โขนกลางแปลง และโขนนั่งราว ซึ่งคนดูไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดหรอกครับ แต่ดูแล้วจะเข้าใจเอง” ตั้วยิ้มปิดท้ายด้วยรอยยิ้มเย็นๆ
     
     
      ไม่ใช่คนโขน ไม่มีทางรู้

      เมื่อลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ย่อมทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ตามมาด้วย การหยิบเอานาฏศิลป์ขนาดใหญ่อย่างโขนมาไว้ในภาพยนตร์ทั้งเรื่องก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน ทั้งยังเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ช่วยขยายโลกทัศน์ให้ตั้วเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า โลกนี้ยังมีอีกหลายต่อหลายด้านที่เขายังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสมาก่อน
     
     
      “บางครั้งเราต้องการถ่ายมุมๆ หนึ่งแค่ 30 วิฯ คืออยากได้ตั้งแต่ตอนอินทรชิตยกขาตรงนั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากความเป็นโขน งานจะสเกลใหญ่มาก มีบทรำเยอะแยะไปหมด ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อน พอพี่จะสั่งนักแสดงให้ถ่ายช่วงนี้ใหม่ เพราะต้องเก็บอินเสิร์ต มันไม่รู้จะสั่งยังไงสิทีนี้ (เกาหัว) มันพูดไม่ได้ คือถ้าเป็นนักแสดงทั่วไป ถ่ายทำบทพูดธรรมดา ผู้กำกับสั่งได้เลยว่าเดี๋ยวเริ่มพูดบทนี้ คำนี้ใหม่นะ แต่คราวนี้พอเป็นโขน (ทำหน้างง) เฮ้ย! จะพูดยังไงล่ะ ถ้าไปบอกว่าขอตอนยกขาใหม่อีกที เขาก็ต้องถามว่ายกขาตรงไหน เพราะมันมีหลายท่าที่ยก มันสื่อสารกันไม่ได้ (หัวเราะ)
     
     
      “นี่แหละครับคือความยากของการถ่ายทำ แต่โชคดีที่มีครูมืดมาช่วยจุดนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ถือว่าแกช่วยภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากเลย ต้องขอบคุณแกจริงๆ พอจะถ่ายเจาะตรงไหน พี่ก็ต้องเรียกครูมานั่งดู บอกครูครับ ผมขอตรงนี้ใหม่นะครับ พอครูดู ครูก็อ๋อ เข้าใจละ เสร็จแล้วก็ไปตะโกนเรียกเด็กๆ บอก “เอ้า! ลูกๆ เอาตอนปะกัน ยกทัพนู่นนี่” เป็นภาษาที่คนนาฏศิลป์เข้าใจกัน ซึ่งเราไม่มีวันสั่งแบบนั้นได้ (ยิ้มกว้าง) เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ได้ลงมือทำจะไม่มีวันรู้จริงๆ ว่ามันมีอะไรแบบนี้อยู่
     
     
      เช่นเดียวกับเรื่องการมองคน ไม่ว่าจะพยายามตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกเท่าไหร่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเพียงแค่การเดาสุ่ม เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่มีวันรู้ได้เลยว่าความจริงคืออะไร หากไม่ได้ลงมาคลุกคลีด้วยตนเอง
     
      “ถ้าไปเดินแถวพารากอน พี่อาจจะเดินสวนกับคนแก่ๆ สักคน ถือกระเป๋าเจมส์บอนด์เก่าๆ ก้าวลงจากรถสามล้อ เรามองผ่านๆ อาจจะนึกว่านี่คือเซลส์แมนแก่ๆ คิดว่าเป็นเจ้าของร้านยา คนถือโพยแทงหวย หรือเป็นช่างตัดผม แต่พอได้มาคลุกคลี ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ พี่ถึงได้รู้ว่าคนแบบนี้ที่เราเคยเห็น เฮ้ย! เขาคือสุดยอดครูโขนนะ เขาคือคนที่เวลามีครอบครู เขาจะถือกระเป๋าเจมส์บอนด์ใบนี้ของเขานี่แหละไปแต่งชุดพ่อครู รับหน้าที่ครอบครูตามงานมงคลต่างๆ ซึ่งเวลาเราเดินสวนกัน พี่ไม่มีทางรู้เลย (สีหน้าทึ่ง) มันเลยทำให้โลกทัศน์ของพี่กว้างขึ้น และนี่คือการตกผลึกส่วนตัวของพี่จากหนังเรื่องนี้”
     
     
      “หัวโขน” คนบันเทิง

      พูดกันเรื่อง “คนโขน” มาก็มาก พอจะให้บอกเล่าตัวตนด้านอื่นบ้าง ปรากฏว่ากลับไม่สามารถหลีกหนีจากเรื่อง “หัวโขน” ไปได้ โดยเฉพาะนิสัยการสวมหัวโขนบังหน้าในวงการบันเทิงบ้านเราที่ต้องเจอมากับตัวหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดินสายโปรโมตภาพยนตร์ เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง
     
     
      “พอดีเพื่อนที่ทำรายการเจาะใจมานั่งดูหนังพี่ตอนตัดต่อ ถามว่าเอาไปโปรโมตได้ไหม เพื่อนมันบอกยินดีเลย ให้เชิญทีมงานไปออกรายการได้ด้วย ก็เลยจัดการเสร็จสรรพ ไม่นึกว่าพอถึงเวลาจะถ่ายทำ ทางสถานีโทร.มาบอกว่าคนอื่นออกได้ แต่ห้ามพี่ออก โดยที่เหตุผลคืออะไร (ทำหน้างง) มันนึกไม่ออกเลย คิดว่าคงมีเหตุผลเดียวนั่นแหละ เลยเกิดคำถามขึ้นว่าตกลงสังคมนี้ เราจะเอาอย่างนี้เหรอวะ?” น้ำเสียงตอนปลายของผู้พูดเริ่มหนักขึ้น
     
     
      “จริงๆ แล้วพี่ก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้เท่าไหร่ กลัวว่าเรื่องไม่เป็นเรื่องจะบานปลาย เดี๋ยวจะไปกระทบการฉายหนังของพี่อีก แต่ถามว่ารู้สึกยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น พี่ว่ามันเกิดขึ้นมาได้สักพักแล้วล่ะในสังคมบ้านเรา ตั้งแต่สังคมออกมาตื่นตัวเรื่องการเมือง พี่ออกมาแสดงตัวว่าเป็นคนที่สนับสนุนการชุมนุมของคนกลุ่มหนึ่ง แค่ทำหน้าที่ตามความรู้สึกในฐานะประชาชนที่รู้สึกต่อแผ่นดิน ต่อบ้านเมือง แค่นี้สังคมก็ผลักเราไปไว้อีกมุมหนึ่งเลย ตราหน้าว่าเราคือตัวปัญหา โดยไม่สนว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันคืออะไร กลายเป็นว่าคนที่ดูดีและไม่มีปัญหา คือคนที่อยู่เงียบๆ โดยไม่บอกว่าตัวเองคิดอะไรอยู่ มีแนวคิดทางการเมืองยังไง พี่แอบตั้งคำถามอยู่ในใจเหมือนกันว่าทำไมสังคมเราถึงได้เป็นแบบนี้
     
     
      ย้อนกลับไปในวันที่ตั้วยังไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง หากเขายังคงปิดปากเงียบ สวมหัวโขนปิดบังสีหน้าที่แท้จริงเอาไว้ ก็คงไม่ต้องถูกสั่งปลดจากพิธีกรรายการเรื่องจริงผ่านจอกลางคัน และอาจไม่ต้องทิ้งโอกาสในการแสดงละครอีกหลายเรื่องไป แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยเสียใจกับทางเดินที่เลือก เพียงแค่แอบมีความรู้สึกน้อยใจบ้างเท่านั้นที่สังคมเลือกเข้าข้างดาราที่สวมหัวโขนมากกว่า
     
     
      กลายเป็นว่าตอนนี้มีแต่คนตรงกลางเท่านั้นที่สามารถทำงานร่วมกับใครก็ได้ คนที่ไม่บอกว่าฉันเป็นใคร แค่เลือกว่าวันนี้ฉันพูดอย่างนี้แล้วดูดี ฉันจะทำอย่างนี้ โดยที่ไม่บอกว่าใจจริงเป็นยังไง ต้องปิดฉากหน้าของตัวเองทั้งหมดเพื่อให้อยู่กับใครก็ได้ ถามว่าทำแบบนี้ควรไหม อันนี้สังคมต้องเป็นคนบอก ถ้าสังคมจะเอาแบบนี้ แต่พี่ไม่เอาไง (ส่ายหน้า) พี่รับไม่ได้ แล้วพอพี่ไม่ปกปิดตัวตน พี่ก็ต้องยอมรับสภาพ ซึ่งบางทีพี่ก็จะรู้สึกน้อยใจกับสังคมรวมๆ เหมือนกันว่าทำไมเราถึงเลือกวิธีนี้ แต่ก็พยายามทำความเข้าใจ และพี่ก็ต้องยอมรับทุกอย่างที่เกิด” แต่ถ้าเป็นไปได้ ผู้กำกับช่างคิดคนนี้ขอแค่ต้องการให้คนในสังคมหัดแยกแยะให้เป็นเท่านั้นเอง
     
     
      “พี่ไม่ได้บอกว่าบันเทิงไม่เกี่ยวกับการเมือง นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะบอกให้คนเปิดใจ เพราะการเมืองมันเกี่ยวกับทุกเรื่อง เพียงแต่ว่าคุณต้องแยกแยะว่า ณ วันนี้ที่พูดเรื่องการเมืองมันต้องมีความต่าง ณ วันนี้ที่พูดเรื่องการตัดผม งานเฟอร์นิเจอร์ มันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่าจะเลือกช่างสองคนที่ฝีมือดีที่สุดมาทำเฟอร์นิเจอร์ ต้องให้มามองหน้ากันก่อน มึงอยู่ข้างไหน ถ้าความคิดการเมืองต่างกัน กูไม่ทำกับมึง แล้วอย่างนี้จะทำงานร่วมกันได้ยังไง มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันก็เอามาเกี่ยว สังคมเรายังแยกแยะตรงนี้ไม่ได้”
     
      “อย่างวันนี้พี่ออกมาทำหนัง มันก็คือเรื่องหนัง ถ้าวันหนึ่งพี่ทำโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ตัวงานมันจะบอกออกมาเอง แต่ถ้าคุณยังจะเอาเรื่องการเมืองมาตัดสินทุกอย่าง มันก็แย่! แสดงว่าคุณต้องการให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมดในทุกเรื่องอย่างนั้นหรือ มันไม่มีวันเป็นไปได้ โลกนี้ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด โลกไม่หมุนแล้ว มันนิ่งไปหมดแล้ว (ยิ้มปลงๆ)
     
     
      ตีแผ่วงการ “มายา”

      ระยะหลังๆ มานี้ ไม่มีใครมีโอกาสได้เห็นฝีมือการแสดงของ “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” นักแสดงรางวัลเมขลาคนนี้ในละครเรื่องไหนอีกเลย เพราะเขาตัดสินใจมุ่งมาทางการสร้างภาพยนตร์เสียแล้ว ก่อนตอบข้อสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุใด ผู้ชายอารมณ์ดีคนนี้ยังคงพูดคุยด้วยท่าทีสบายๆ และตบท้ายด้วยมุกตลกนิดๆ หน่อยๆ อย่างที่ทำมาตลอดบทสนทนา
     
     
      งานในวงการอย่างอื่น ถ้าถามว่ารับไหมเนี่ย... รับครับ ถ้างานมันดีและเวลาเราเหมาะสม แต่ถ้าถามว่ามีใครจ้างไหม ไม่มีใครจ้าง (เสียงทะเล้น) ตอนนี้พี่ก็ทำหนังอย่างเดียว เช้าก็ส่งลูกไปโรงเรียน บางทีก็นอนต่ออีกนิดหนึ่งเพราะมันเช้ามาก (ยิ้ม) แล้วก็เริ่มมาออฟฟิศ มาดูว่าวันหนึ่งต้องทำอะไรบ้าง ชีวิตพี่มีแค่เนี้ย (หงายมือให้เห็นว่าไม่มีอะไรเลย) บริษัทก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร มีพนักงานเต็มออฟฟิศเลย รวมพี่ด้วยก็ 3 คนครับ เนี่ย (ชี้ไปที่อีกสองสาวที่นั่งอยู่ไม่ไกล) อยู่นี่หมดเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ปิดออฟฟิศ เหลือแค่หมาหนึ่งตัวรออยู่ในกรงหน้าออฟฟิศ” สิ้นเสียงหัวเราะของทั้งสองฝ่าย ผู้ผันตัวมาเป็นคนเบื้องหลังจึงเริ่มเปิดใจตีแผ่วงการบันเทิงไทย
     
     
      พี่ไม่อยากเจาะจงไปว่าที่ไม่มีงานละครเป็นเพราะเรื่องการเมืองอย่างเดียว เอาเป็นว่าพี่ไม่อยู่ในข่ายของคนที่มีจุดขายใดๆ สำหรับธุรกิจบันเทิง ว่างั้นดีกว่า คือถ้าจะทำละครสักเรื่อง ไม่ว่าจะอยู่ช่อง 7 หรือช่อง 3 คิดว่าเขาจะเลือกใครมาเล่น... ถ้าเป็นพระเอก ก็ต้องเป็นคนอายุไม่เกิน 24 เพราะละครจะมีแต่เรื่องของคนวัยนี้ ซึ่งพี่ตกไปแล้ว ไม่มีทางอยู่แล้ว พอไม่ใช่บทพระเอกแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นบทไม่ค่อยดี คือพี่ไม่ได้ปฏิเสธบทพ่อนะ แต่อยู่ที่ว่าเป็นพ่อแบบไหนล่ะ ถ้าเป็นพ่อที่จะมานั่งให้เห็นว่าเป็นพ่อ มีบทพูดแค่ว่า “ลูกต้องคิดให้ดีนะ” (ทำเสียงเหมือนกำลังเล่นละครอยู่) ใครเล่นก็ได้ บทแบบนี้ใครมีความสุขจะเล่นก็เล่นไป แต่พี่ไม่มีความสุข มันไม่มีอะไรท้าทาย
     
     
      “แต่พอมีบทดีๆ ปุ๊บ ผู้จัดฯ เขาจะมองอะไรบ้าง... เอาคนนี้เล่นดีกว่า เพราะคนนี้อยู่ในแวดวงไฮโซ คนนี้มีสินค้าเป็นพรีเซ็นเตอร์เยอะแยะ ขายสปอนเซอร์ได้ เอาคนนี้ดีกว่า เขามีที่ด้วย เราจะได้ไปใช้ถ่ายทำได้... แต่พี่ไม่มีอะไรเหล่านี้เลย (เสียงเรียบ) เอาใครเล่นดี? ศรัณยูเหรอ เผลอๆ สินค้าถอนด้วย (ยิ้มปนขำ) ถ้าเลือกคนอื่น เขามีสนามกอล์ฟ มีสปอนเซอร์แถมมาด้วย แต่พี่ไม่มีอะไรตามหลังมาเลย มีแต่คดีตามหลังมาอื้อเลย เอาพี่ไปเล่นไหมล่ะ” ท้ายเสียงหัวเราะของคนเล่า คล้ายแอบแฝงแววตาเศร้าๆ ซ่อนอยู่
     
     
      ถึงแม้ตอนนี้จะมีความสุขกับบทบาทผู้กำกับสักแค่ไหน แต่ให้เทียบกันแล้ว อาชีพนักแสดงยังคงเป็นอาชีพที่ตั้วรักมากที่สุด เพียงแต่เมื่อโอกาสไม่เอื้ออำนวย จึงต้องหันมาสร้างโอกาสเอง และบางครั้งก็ต้องแก้ไขด้วยวิธีทำใจ
     
     
      “อาชีพที่พี่รักมากที่สุดคืออาชีพนักแสดง เป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข เป็นอาชีพเดียวในโลกที่ทำให้เราได้เรียนรู้รูปแบบของชีวิตที่ต่างกันไปในมุมที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน วันหนึ่งเรากลายเป็นมือปืนฆ่าคน กลายเป็นหมอที่อุทิศชีวิตเพื่อคนยากจน วันหนึ่งเรากลายเป็นครูที่เห็นแก่เด็กๆ กลายเป็นคนบ้า มันทำให้พี่ได้รู้จักชีวิตแต่ละชีวิต แต่ในเมื่อพี่ไม่อยู่ในข่ายที่เขาจะเลือกไปเล่น มันก็มีทางเดียวคือพี่ต้องสร้างงานของพี่เอง พี่ไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมอะไรบ้าๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ แต่พี่ก็ไม่ถึงขนาดสร้างหนังเองเล่นเองให้คนโจมตีไปมากกว่านี้เหมือนกัน
     
      หนทางเดียวที่จะได้เห็นนักแสดงมากความสามารถคนนี้กลับไปเล่นละคร เขาให้คำตอบในแบบขำๆ ว่า “คงต้องล้มเสาทีวีทุกต้นให้หมดก่อน แล้วตั้งเสาขึ้นมาใหม่ที่มีแนวคิดใหม่ขึ้นมาแทนล่ะมั้ง (หัวเราะ)”
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 02, 2011, 05:19:02 pm »



 





















ทุ่มสุดตัวกับ "คนโขน"














ถ่ายทอดความงามตามความจริง


ย่อโขนลงจอยักษ์








สแตนอินด์ที่ได้เป็นพระเอกโดยบังเอิญ





สะท้อนเบื้องหลังแห่งมายา


คับคั่งนักแสดงมากความสามารถ


นี่ไม่ใช่การแสดง จึงไม่จำเป็นต้องสวมบทบาท ใส่หน้ากาก หรือปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตนเองด้วยภาพลวงตาต่างๆ นานา แต่บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือเรื่องราวสะท้อนชีวิตจริงจากลูกผู้ชายที่ชื่อ “ตั้ว-ศรัณยู” ผู้ชายที่กำลังพยายามปลุกกระแสนาฏกรรมชั้นเอกของไทยอย่าง “โขน” ไปพร้อมๆ กับชวนให้อีกหลายคนในสังคมนี้ ออกมากะเทาะเปลือกแห่งมายา และ “ถอดหัวโขน” คุยกันเสียที
     
      "เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา เบื้องหลังคือตัณหาและมายาแห่งนาฏกรรม"... ถ้อยคำดังกล่าวไม่ใช่แค่คำโปรยบนแผ่นปิดภาพยนตร์อีกต่อไป เมื่อทีมงานได้มีโอกาสมานั่งเปิดใจคุยกับผู้กำกับเรื่องคนโขน “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” จึงทำให้รู้ว่าชีวิตจริงของเขาเองนั้น ต้องเผชิญหน้ากับคนประเภทที่ไม่นิยมถอดหัวโขนมาหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน และนี่อาจเป็นเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ความอัดอั้นตันใจทั้งหลายถูกอัดลงบนแผ่นฟิล์มและกำลังตีแผ่สังคมอยู่ในโรงภาพยนตร์ขณะนี้
     
      แต่ก่อนจะด่วนตัดสินผู้ชายคนนี้จากอคติและการคาดเดาจากมุมมองของใครคนหนึ่ง... อย่างที่เขาโดนมาทั้งชีวิต เจ้าตัวขออาสารับหน้าที่บอกเล่าตัวตนของเขาอย่างเปิดเผยที่สุดทุกแง่ทุกมุมด้วยตัวของเขาเอง
     
     
      ปล่อยไปตามยถากรรม

      “มันเริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนครับ” นักแสดงชื่อดังวัย 50 เริ่มบทสนทนาด้วยการบอกเล่าที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องคนโขน เพื่อให้เข้าใจว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกในแง่ลบอย่างที่อีกฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่เป็นเพราะมองเห็นแรงบันดาลใจด้านบวกต่างหาก
     
     
      “พี่แค่ขับรถผ่านโรงละครแห่งชาติ เห็นป้ายคัตเอาต์ว่าจะมีการแสดงโขน เลยนึกถามตัวเองว่าเราเคยดูโขนหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่าเคยดูตั้งแต่ตอนเด็กๆ สัก 10 ขวบ แค่ครั้งเดียว คุณครูจัดให้ไป จำได้ว่าตอนนั้นเราถึงสัมผัสกับความสวยงามได้ ทั้งท่วงท่า ลีลา การขับร้อง เรารู้ว่ามันคือของดี แต่เราไม่สนุก ดูไม่รู้เรื่อง เกิดเป็นคำถามขึ้นว่าทำไมของดีที่มีคุณค่า ของที่เรายอมรับว่าเป็นของไทย ยิ่งนานไป คนรุ่นหลังยิ่งห่างออกมา ยิ่งรู้สึกไม่สนุก พี่ว่าสมัยนี้คนเราชอบรับอะไรที่ฉับไว รับอะไรที่หยาบขึ้นทุกที ชีวิตกลายเป็นเรื่องฟาสต์ฟูด เวลาที่จะมีสมาธิกับตัวเองหรือนั่งเสพงานศิลปะสวยๆ งามๆ มันเลยน้อยลง
     
     
      ไม่ได้บอกว่าตัวเองดีเด่ไปกว่าคนอื่น เพราะตั้วยอมรับว่าเขาก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนทั่วไปที่ไม่เคยนึกอยากดูโขนขึ้นมาในหัว ส่วนอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ห่างไกลเรื่องศิลปวัฒนธรรมออกไป สังคมทุกวันนี้มีคำตอบชัดเจนอยู่แล้ว
     
     
      “เวลาเราพูดกันในวงวิชาการ ในที่ประชุมหรือที่สาธารณะ ทุกคนจะพูดว่าเรื่องศิลปวัฒนธรรมกำลังจะหายไปนะ เราควรจะรักษาไว้ แต่มันก็เป็นได้แค่คำพูดสวยหรูตามวาระการประชุม หลังจากนั้นก็ไม่มีใครตามต่อ เท่ากับว่าเรื่องโขนหรือวัฒนธรรมไทยทั้งหลายแหล่ที่บรรพชนสร้างไว้ ถูกผลักให้ไปอยู่อีกมุมหนึ่งของสังคม ให้เฉพาะคนที่เรียนนาฏศิลป์เท่านั้นที่จะมีชีวิตเกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ ซึ่งพอเรียนจบแล้วคุณก็ช่วยตัวเองไปตามยถากรรม
     
     
      “เปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างญี่ปุ่น คนที่เล่นซูโม่คือคนที่มีเกียรติ ถูกยกย่องให้เป็นคนสำคัญของประเทศเพราะถือว่าคุณยอมอุทิศตน เพิ่มน้ำหนักเพื่อชื่อเสียงของชาติ คุณได้สวัสดิการทุกอย่างที่ประเทศมอบให้เลย แต่ประเทศไทยเรา ได้อะไร?
     
      คุณเล่นเพลงฉ่อย สืบสานวัฒนธรรมไทย คุณเล่นลิเก เล่นโขนได้อย่างดีมาก ประเทศนี้มอบให้คุณเลย... โรงละครแห่งชาติ คุณอยู่ที่นั่นแหละ ไม่ต้องไปไหน... ศูนย์สังคีตฯ คุณอยู่ที่นั่นเลย คุณจะไม่มีวันได้เห็นเด็กเกาหลี เคป็อปไปยุ่งอะไรละแวกนั้น... อ่างทอง คุณอยู่ไปเลย ที่นั่นมีงานวัดประจำปี มีเพลงพื้นเมือง เรียนจบปริญญา เป็นศิลปินแห่งชาติ เราจ่ายเงินเดือนให้คุณ แล้วคุณก็ไม่ต้องข้องแวะกับคนภายนอกอีกเลย ดูสิว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ หรือเพราะประเทศเราไม่หนาว ไม่มีหิมะหรือเปล่า... ไม่รู้” ผู้พูดระบายความรู้สึกออกมาเป็นชุดด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันชวนให้คิด
     
     
      ปลุกกระแสไทยป็อบ!

      พอจะดูออกว่าผู้ชายที่อยู่ตรงหน้ามีความรักชาติ รักความเป็นไทยขนาดไหน จึงคาดว่าภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากฝีมือการกำกับและเขียนบทด้วยตนเองชิ้นนี้ เขาคงต้องการให้มันได้ทำหน้าที่อุดรอยรั่วทางวัฒนธรรมของสังคม เมื่อถามคำถามนี้ออกไปจึงรู้ว่าตั้วหวังเอาไว้น้อยกว่านั้นมาก เพราะเขาไม่เคยมองว่างานของตนเองเพียงงานเดียวจะยิ่งใหญ่จนสามารถทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์
     
     
      หลังจากหนังเรื่องนี้ คนดูอาจจะยังไม่ตัดสินใจไปดูโขน ดูเรื่องนี้แล้วคนและโขนอาจยังห่างกัน แต่คงพอจะทำให้เขารู้สึกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับโขน ต่อไปปีหน้าอาจจะมีคนทำละครเกี่ยวกับโขนออกมา มีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้มากขึ้น ก็จะค่อยๆ เติมช่องว่างได้ทีละนิด ค่อยๆ ดึงให้คนเข้ามาใกล้เรื่องโขนมากขึ้น แต่ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงให้ต่อไปนี้ ทุกคนต้องเล่นโขนเป็น ต้องออกมาเล่นอาทิตย์ละหนึ่งวันกลางสนามหญ้าหน้าออฟฟิศ (ยิ้ม) มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
     
     
      หนังหนึ่งเรื่องคงเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ไม่ได้ทันทีทันใด แต่ถ้าหนังสองเรื่องอาจจะดีขึ้น สามเรื่องดีขึ้นมาอีกนิด ถ้าหนังทุกเรื่องพร้อมใจลุกขึ้นมาพูดเหมือนกัน ก็น่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ใครล่ะจะเป็นคนบอกให้ทำ ตอนนี้มันยังไปไม่ถึงขั้นนั้นไง พี่เลยต้องกลับมาสู่หนังเรื่องเดียวของพี่ก่อนที่พยายามจะทำหน้าที่กระตุ้น หยิบแง่มุมเหล่านี้มาพูดถึงให้คนได้รู้จักโขน ให้ดูเป็น ให้พูดถึงกันบ้าง หลังจากนี้จะเป็นยังไงก็เป็นหน้าที่ของคนในสังคมเองแล้วที่จะตัดสิน
     
     
      ยอมรับว่ากระแสเกาหลีฟีเวอร์เคยทำให้คนรุ่นเก่าอย่างตั้ว ศรัณยู รู้สึกขัดหูขัดตาอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อมองด้วยใจเป็นกลางจึงเข้าใจและไม่คิดโทษวัฒนธรรมจากประเทศใดเลย เพราะหากบ้านเราสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเองให้อยู่ได้อย่างเข้มแข็งมากพอ ก็ไม่มีอะไรต้องหวั่นเกรง
     
      “ถอยไปก่อนหน้านี้ เราก็เคยมีช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเป็นคาวบอยกันหมด หนังไทยผู้ร้ายเคยใส่แจ็กเกต เข็มขัดปืน ยิงกันตามสระบุรี พอเวลาผ่านไป กระแสเกาหลีก็มา มันเป็นเรื่องธรรมดาครับเพราะสมัยนี้โลกของเราไม่ได้ยึดครองกันโดยอาณาเขตแล้ว แต่ยึดครองกันโดยวัฒนธรรม ส่วนเรื่องจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ยังไง มันไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่เป็นภาระใหญ่ของทั้งสังคม ถ้าทุกคนเอาแต่หยิบเรื่องนี้มาพูดกันบนโต๊ะตอนกินข้าว กินเสร็จก็หยิบบีบีมาเล่น ยังมีเสียงเพลงเกาหลีก้องอยู่ในหัว ยังไงวัฒนธรรมไทยก็ไม่มีทางสู้ได้

 :12:

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000107864