คนโขน : เข้มๆ ข้นๆ ด้วยเรื่องคนปนแง่คิด/อภินันท์
Facebook...teelao1979@hotmail.com
แต่เดิมนั้น ฟังมาว่า ผลงานเรื่องใหม่ล่าสุดของคุณตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง อย่างเรื่อง “คนโขน” ได้วางพล็อตและแก่นหลักไว้แบบสองแบบ แบบที่หนึ่งตั้งโจทย์ของหนังให้ออกไปในแนวลึกลับไสยศาสตร์ ประมาณว่าเน้นความศักดิ์สิทธิ์ของหัวโขนที่เปรียบเสมือนของสูง ใครลบหลู่ดูหมิ่น ต้องมีอันเป็นไป ขณะที่อีกแบบหนึ่งจะทำเป็นหนังโลดโผนผจญภัยอันว่าด้วยพระเอกที่ต้องเดินทางฟันฝ่าชีวิตไปทั่วสารทิศก่อนจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนกลายเป็นยอดคนนักแสดงโขนผู้ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้าย เราก็ได้ดู “คนโขน” ในรูปแบบของหนังดราม่าเน้นเนื้อหาความคิด เป็นหนังชีวิตที่รุ่มรวยด้วยคติธรรม ผมไม่รู้ว่าคุณตั้ว-ศรัณยูคิดเห็นอย่างไรก่อนจะตัดสินใจแบบนั้น แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและดีงามแล้ว เพราะถ้าจะทำหนังเชิงขายความระทึกลึกลับของไสยศาสตร์มนต์ดำ หรือกระทั่งขายความแอ็กชั่นโลดโผนของพระเอกยอดนักเล่นโขนนั้น ไม่แน่ใจว่า ผลลัพธ์ด้านความหนักแน่นของแก่นสารความคิด จะออกมา “แจ่ม” ได้ขนาดนี้หรือเปล่า
เนื่องจากหนังเรื่องนี้มี “โขน” เป็นองค์ประกอบในการดำเนินเรื่อง ทีนี้ โขนที่เล่นก็คือเรื่องรามเกียรติ์ และสำหรับคนไทยเรา ก็ย่อมจะได้ศึกษามาว่า รามเกียรติ์นั้น โดยแก่นสารเนื้อหาคือการต่อสู้ฟัดเหวี่ยงกันระหว่างธรรมะกับอธรรม ดังนั้น แง่มุมสำคัญอันหนึ่งซึ่งเป็นดั่งกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้ก็คือ การเบียดแย่งพื้นที่กันเพื่อจะชิงชัยเป็นฝ่ายชนะระหว่างธรรมะกับอธรรม แต่เป็นธรรมะกับอธรรมที่ไม่แบนราบไร้มิติ
เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็เพราะว่า ในขณะที่เราอาจจะกำลังคิดเข้าข้างฝ่ายครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) เป็นนักเป็นหนานั้น ครูหยดก็เปิดแผลและด้านมืดออกมาให้เราได้เห็น เล่นเอาเราอาจจะช็อกเมื่อพบว่าคนดีๆ แบบนี้ไม่น่าไปทำอย่างนั้น
เช่นเดียวกัน กับครูเสก (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เราอาจจะนึกชิงชังเขานักหนาในฐานะบุคคลที่มีความฝันเป็นพิษ และความคิดเป็นภัย แต่กระนั้น เมื่อเราเห็นผลพวงที่เกิดขึ้นกับเขา สิ่งที่จะเกิดกับเรา ก็คือความรู้สึกเวทนาสะเทือนใจในชะตากรรมนั้น
ผมว่าหนังนั้นมีพลังใช้ได้เลยล่ะครับในการที่พยายามขับเน้นตัวละครให้มีความเป็นปุถุชน ไม่ดีสุด เลวสุด หรือขาวจัด ดำจัด จนเกินไป แม้จะมีอยู่บ้าง อย่างตัวละคร “คม” (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) ที่ดูเหมือนหนังจะทำให้คาแรกเตอร์ของเขาสุดโต่งไปด้านหนึ่งด้านเดียวจนเกินไป แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้หนังเสียรูป เพราะอย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ แม้แต่หนังดีๆ อย่าง Rise of the Planet of the Apes ก็ยังมีตัวละครลักษณะนี้อยู่ด้วยเลย (ก็คือตัวที่แสดงโดยเดรโก มัลฟอย แห่ง Harry Potter นั่นล่ะครับ)
หลักๆ แล้ว “คนโขน” เป็นเรื่องของปุถุชนที่ยังเวียนวนอยู่ท่ามกลางแรงยั่วเย้าของรักโลภโกรธหลง และพร้อมจะถูกเหวี่ยงไปตามแรงแห่งกิเลสตัณหาได้ทุกเมื่อ หนังเดินเรื่องผ่านตัวละครหลักสองกลุ่มใหญ่ๆ สองสำนักโขน “ครูหยด” กับ “ครูเสก” อดีตนักเรียนโขนที่เป็นศิษย์ใต้ก้นกุฏิของอาจารย์คนเดียวกัน แต่ด้วยความเชื่อ-ความฝัน และความทะเยอทะยานที่แตกต่าง ส่งผลให้เส้นทางของทั้งคู่ดำเนินไปคนละทิศละทาง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรื่องราวของสองตัวละครที่เป็นดั่งเสาหลักคุมโครงเรื่องทั้งหมดไว้ดังว่าแล้ว หนังได้แบ่งความสำคัญให้กับตัวละครอีก 3-4 คน ไม่ว่าจะเป็น “ชาด” (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) ที่ไปเกี่ยวพันทั้งกับ “รำไพ” (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) “แรม” (นนทรัตน์ ชาวราษฎร์) “ตือ” (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และที่สำคัญก็คือ “คม” เด็กหนุ่มคนโขนที่อาฆาตแค้นต่อชาดมาตั้งแต่เยาว์วัย
ผมเห็นด้วยกับหลายๆ คน และผมเองก็เคยให้ความเห็นผ่านรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิงและ TRUE 70 แล้วครับว่า “คนโขน” นั้น มีตัว Sub-Plot หรือพล็อตย่อยพล็อตรองค่อนข้างเยอะ ดังนั้น หนังจึงใช้เวลาพอสมควรเพื่อที่จะแนะนำหรือปูพื้นฐานของตัวละครแต่ละตัวที่กระจายมาจากรอบทิศทางราวกับลำโพงเซอร์ราวด์ ตัวละครแต่ละตัวมี “เรื่องราว” และเนื้อหาความสำคัญเป็นของตัวเอง ไม่น้อยไปกว่ากัน นี่ถือว่าเป็นการเล่นท่ายากเลยนะครับสำหรับการทำหนัง เพราะลำพังเพียงแค่เล่าเรื่องของคนคนหนึ่งหรือคนสองคน (เหมือนหนังส่วนใหญ่ทั่วไป) หนังบางเรื่อง ยังส่ายไปปัดมาเลยครับ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่า การจะวิพากษ์หรือตีความหนังเรื่องนี้ให้ครบทุกมิติของตัวละคร จึงเป็นเรื่องที่คงพูดให้จบไม่ได้ในประโยคสองประโยค แต่ถึงกระนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นความ “ชัดเจน” ทางแนวคิดของผู้กำกับด้วยส่วนหนึ่งจึงทำให้หนังมี “ศูนย์รวม/เสาหลักทางความคิด” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าหนังจะมีตัวละครเยอะเพียงใด หรือมีเรื่องราวมากเท่าไร แต่ทุกๆ ส่วนก็สามารถนำไปขมวดไว้ในกลุ่มก้อนประเด็นเดียวกัน นั่นก็คือ การเปราะบางและอ่อนไหวไปตามอำนาจของกิเลส ซึ่งนอกจากสิ่งนี้จะเป็นเหตุให้ตัวเองหันหน้าสู่ความเสื่อม ยังนำความเดือดร้อนมาสู่ผู้อื่นด้วย
สำหรับความคาดหวังของหลายๆ คนที่คิดว่าจะได้เห็นการประชันโขนอย่างเอาเป็นเอาตายแบบเดียวกับที่เคยดูการดวลระนาดในเรื่อง “โหมโรง” ก็อาจจะต้องเตรียมใจกับความคาดหวังนั้นไว้บ้างครับ เพราะพูดกันอย่างถึงที่สุด หนังนั้นใช้โขนในฐานะเครื่องไม้เครื่องมือในการที่จะกะเทาะเปลือกของความเป็นมนุษย์ และที่ต้องชื่นชมก็คือ ขณะที่ตัวละครในเรื่องแสดงโขนไป “เรื่องของโขน” ก็คล้ายๆ จะสะท้อน “เรื่องของคน” (ซึ่งก็คือ ตัวละครในเรื่อง) ไปด้วยในขณะเดียวกัน
พูดอย่างถึงที่สุด ผมมองว่า หลังจาก “อำมหิตพิศวาส” ที่คุณตั้ว-ศรัณยู เคยกำกับไว้เมื่อหลายปีก่อน “คนโขน” ถือเป็นพัฒนาการในแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการทำหนังเน้นเนื้อหาสาระและแง่คิดสอนใจ มันยากนักนะครับสำหรับคนทำหนังยุคนี้ที่จะมาทำหนังซึ่งเน้นต่อยหนักในด้านความคิดเช่นนี้
นอกเหนือไปจากเนื้อหาสาระ ผมคิดว่า เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อยู่ที่นักแสดงรุ่นใหญ่ทั้งสองคน หนึ่งคือนิรุตติ์ ศิริจรรยา ผมไม่แปลกใจว่าเพราะอะไร คนในแวดวงถึงให้ความนับถือคุณนิรุตติ์อย่างถ้วนหน้า เพราะนอกจากปฏิปทาที่ดีในการดำเนินชีวิต ด้านฝีไม้ลายมือการแสดงก็บ่งบอกความเป็น “ลายคราม” ได้เป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับนักแสดงวัยใกล้เคียงอีกคนอย่างสรพงษ์ ชาตรี ที่ช่วงหลังๆ มักจะได้รับแต่บทพระแก่ๆ ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นอานิสงส์ต่อเนื่องจากหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งที่ว่ากันตามจริง คุณสรพงษ์มีศักยภาพกว่านั้นเยอะมาก และคุณตั้ว-ศรัณยู ก็เปิดทางให้ศักยภาพนั้นแผ่รัศมีกับบทบาทของ “ครูหยด” ฉากที่ครูหยดกลับมาเจอเหตุการณ์บาดตาบาดใจแล้วระเบิดระบายอารมณ์ความรู้สึกออกมานั้น ผมถือว่า ล้มคว่ำทุกฉากทุกซีนการแสดงในหนังเรื่องนี้
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110826