ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: bevayou
« เมื่อ: กันยายน 27, 2011, 10:54:44 am »

ขอบคุณครับ
ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2010, 12:44:07 am »

 :13: อนุโมทนาครับพี่มด
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:27:26 pm »

๓.๑๐
โรงเรียนเกษตรกรรมธรรมชาติที่หลายหลาก


                ผมไม่ชอบคำว่า "งาน" เป็นอย่างยิ่ง มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่ต้องทำงาน และผมคิดว่านี่เป็นเรื่องน่าหัวเราะมากที่สุดในโลก สัตว์โลกชนิดอื่นหาเลี้ยงชีพด้วยการมีชีวิตอยู่ แต่มนุษย์ทำงานเหมือนคนบ้า โดยคิดว่าเขาต้องทำเช่นนั้นเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ ยิ่งงานนั้นยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ความท้าทายยิ่งมากเท่าไหร่ เขาจะคิดว่ามันยิ่งวิเศษเท่านั้น จะเป็นการดีถ้าเลิกคิดในลักษณะเช่นนั้นได้และใช้ชีวิตอยู่อย่างง่าย ๆ ชีวิตที่สะดวกสบายและเต็มไปด้วยเวลาว่าง ผมคิดว่าการใช้ชีวิตของสัตว์ในเขตร้อนที่จะรอดมาในตอนเช้าและตอนเย็นเพื่อดูว่ามีอะไรกินบ้าง และมีเวลาว่างในยามบ่ายสำหรับงีบหลับ เป็นวิถีชีวิตที่ดีวิเศษ

            สำหรับมนุษย์ ชีวิตที่เรียบง่ายเช่นนั้นสามารถเป็นไปได้ ถ้าเขาทำงานเพื่อผลิตปัจจัยพื้นฐานของชีวิตโดยตรง ชีวิตเช่นนั้น งานจะไม่ใช่งานแบบที่คนทั่วไปคิด แต่เป็นเพียงการทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

             การให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไปในทิศทางนี้คือจุดมุ่งหมายของผม และมันก็เป็นจุดมุ่งหมายของหนุ่มสาวอีก ๗-๘ คน ที่อาศัยร่วมกันในกระท่อมบนภูเขาแห่งนี้และช่วยกันทำงานเกษตร หนุ่มสาวเหล่านี้ต้องการเป็นเกษตรกร ตั้งหมู่บ้านและชุมชนใหม่ และทดลองวิถีชีวิตแบบนี้ พวกเขามาที่ไร่นาของผมเพื่อเรียนรู้ทักษะในการทำเกษตรกรรมที่จำเป็นต่อการบรรลุผลตามโครงการที่วางไว้ ถ้าคุณลองมองไปทั่วประเทศ คุณก็จะสังเกตเห็นว่ามีชุมชนใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายแห่งเมื่อไม่นานมานี้ ชุมขนแบบนั้นอาจจะถูกเรียกขานว่าเป็นการรวมกลุ่มของพวกฮิปปี้ ซึ่งผมก็คิดว่าอาจจะมองในลักษณะนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่จากการใช้ชีวิต และทำงานร่วมกัน ตลอดจนความพยายามในการแสวงหาทางกลับไปสู่ธรรมชาติ ผมคิดว่าพวกเขาคือแบบจำลองของ "เกษตรกรรุ่นใหม่" พวกเขาเข้าใจดีว่าการมีรากที่มันคงต้องหมายถึงการมีชีวิตอยู่ด้วยพืชผลที่ได้จากที่ดินของตนเอง ชุมชนที่ไม่สามารถพึ่งตนเองทางด้านอาหารจะอยู่ได้ไม่นาน

             หนุ่มสาวจำนวนมากพวกนี้ได้เดินทางไปถึงอินเดีย หรือหมู่บ้านคานธีในฝรั่งเศส บ้างไปใช้เวลาระยะหนึ่งในชุมชนคิบบุตในอิสราเอล บ้างก็ไปเยี่ยมชุมชนบนภูเขาและในทะเลทรายทางตะวันตกของอเมริกา มีกลุ่มประเภทนี้อยู่ที่เกาะซูวาโนเซะในหมู่เกาะโทคาร่าทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น กลุ่มเหล่านี้พยายามทดลองการอยู่เป็นครอบครัวในลักษณะใหม่ และหาประสบการณจากความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวเขา ผมคิดว่าขบวนการของคนหยิบมือนี้จะมีอนาคตที่สดใส หมู่คนเหล่านี้เองที่ทำให้เกษตรกรรมธรรมชาติกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว และมีพลังมากขึ้นทุกที

              นอกจากนี้ยังมีกลุ่มศาสนาต่าง ๆ เข้ามาจับงานทางด้านเกษตรกรรมธรรมชาติ ในการค้นหาธรรมชาติที่เป็นเนื้อแท้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ คุณจะต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาถึงเรื่องของสุขภาพ หนทางที่นำไปสู่การสำนึกรู้อย่างถูกต้องซึ่งรวมถึงการมีชีวิตอยู่อย่างซื่อตรงเปิดเผยในแต่ละวัน ปลูกพืชผักและกินอาหารธรรมชาติที่ถูกอนามัย ด้วยเหตุนี้สำหรับคนเป็นจำนวนมาก เกษตรกรรมธรรมชาติจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด

              ผมไม่ได้จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มศาสนาใด และสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะกับใครก็ได้อย่างอิสระ ผมไม่ได้ใส่ใจมากนักกับการหาความแตกต่างระหว่างศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ชินโต หรือศาสนาอื่น ๆ แต่สิ่งที่่ให้ผมรู้สึกทึ่งคือพบว่าบุคคลที่่มีความศรัทธาต่อศาสนาอย่างลึกซึ้ง ให้ความสนใจต่อไร่นาของผม ผมคิดว่านี่คงเป็นเพราะเกษตรกรรมธรรมชาติซึ่งไม่เหมือนกับเกษตรกรรมแบบอื่นนั้น มีพื้นฐานอยู่บนปรัขญาที่่หยั่งลึกไปพ้นการพิจารณาแต่เฉพาะเรื่องของการวิเคราะห์ดิน การวัดค่าความเป็นกรดด่างของดินและผลผลิต

              คราวหนึ่ง มีหนุ่มจากศูนย์เกษตรกรรมอินทรีย์แห่งกรุงปารีสปีนเขาขึ้นมาที่นี่ และเราก็ใช้เวลาสนทนากันอยู่ ๑ วัน เมื่อได้ฟังเรื่องราวในฝรั่งเศสผมก็รู้ว่าเขากำลังเตรียมการประชุมเกี่ยวกับเกษตรกรรมอินทรีย์ในระดับนานาชาติ หนุ่มฝรั่งเศสผู้นี้เดินทางไปเยี่ยมดูฟาร์มเกษตรกรรมอินทรีย์ และเกษตรกรรมธรรมชาติทั่วโลกเพื่อเตรียมการประชุม ผมพาเขาเดินชมสวน หลังจากนั้นเราก็นั่งลงดื่มชามักเวิร์ท และสนทนาถึงข้อสังเกตบางประการของผม ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีอันแปลกประหลาดนี้

              ผมกล่าวขึ้นก่อนว่า ถ้าคุณลองตรวจสอบหลักการของเกษตรกรรมอินทรีย์อันเป็นที่นิยมอยู่ในตะวันตกเวลานี้ คุณจะพบว่ามันแทบจะไม่แตกต่างจากวิธีการทำเกษตรกรรมพื้นบ้านของทางตะวันออก เช่นในจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเมื่อหลายศตวรรษก่อน เกษตรกรชาวญี่ปุ่นทั้งหมดยังคงใช้รูปแบบการเกษตรดังกล่าวตลอดรัชสมัยเมจิ และไทโช* มาจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

              เกษตรกรรมดังกล่าวเป็นระบบที่เน้นการใช้ปุ๋ยจากมูลคนและมูลสตว์เป็นพื้นฐานสำคัญ มีการจัดการที่เน้นหนักการผลิตปริมาณมากในที่ดินขนาดเล็ก โดยอาศัยแรงงานเป็นหลักและรวมถึงการปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชหลายชนิดและการใช้ปุ๋ยจากพืชคลุมดิน เนื่องจากที่ว่างมีจำกัด ทุ่งนาจึงไม่เคยถูกปล่อยทิ้งโดยไม่ดูแล การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวจะมีตารางเวลาที่แน่นอน ของเหลือใชที่เป็นสารอินทรีย์จะนำไปหมักเป็นปุ๋ยและนำกลับไปใส่ในท้องนา การใช้ปุ๋ยได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นทางการ และการวิจัยทางการเกษตรจะเน้นเรื่องอินทรีย์วัตถุ และเทคนิคการทำปุ๋ยหมัก

              ดังนั้นเกษตรกรรมแบบที่รวมเอาสัตว์ พืช และมนุษย์มาอยู่เป็นหน่วยเดียวกันนี้ จัดเป็นเกษตรกรรมกระแสหลักของญี่ปุ่นตลอดมาจนถึงยุคสมัยใหม่ อาจจะกล่าวได้ว่าการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ในตะวันตกได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกษตรกรรมพื้นบ้านแบบนี้ค่อย ๆ หมดจากประเทศทางตะวันออก

              ผมกล่าวต่อไปว่าในบรรดาวิธีการของเกษตรกรรมธรรมชาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ เกษตรกรรมธรรมชาติแบบทัศนะกว้างที่อยู่พ้นขอบเขตพุทธิปัญญาของมนุษย์ และเกษตรกรรมธรรมชาติทัศนะแคบที่เกี่ยวข้องกับโลกสมมติ** ถ้าหากผมต้องพูดด้วยภาษาทางพุทธศาสนา เกษตรกรรมทั้งสองประเภทอาจเรียกโดยการเปรียบเทียบว่า เป็นการเกษตรกรรมแบบมหายาน และหินยาน

              เกษตรกรรมธรรมชาติแบบมหายานเกิดขึ้นโดยตัวมันเอง เมื่อมีเอกภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มันเป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่มันเป็น และเป็นไปตามจิตใจอย่างที่มันเป็น มันเกิดจากความศรัทธาที่ว่าหากปัจเจกชนละทิ้งเจตนาแห่งมนุษย์ และยอมตนให้ธรรมชาติเป็นผู้นำทาง ธรรมชาติจะตอบแทนโดยการจัดหาสรรพสิ่งให้ หากจะใช้อุปมาแบบง่าย ๆ ก็จะเป็นว่า เกษตรกรรมธรรมชาติแบบโลกุตตระ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อาจจะเปรียบได้กับคู่สามีภรรยาที่ครองคู่กันด้วยสมรสที่สมบูรณ์ การสมรสนั้นมิใช่การให้ มิใช่การรับ คู่สมรสที่สมบูรณ์จะดำรงอยู่โดยตัวของตัวเอง

              เกษตรกรรมธรรมชาติทัศนะแคบ ในอีกด้านหนึ่งคือการดำเนินตามวิถีแห่งธรรมชาติ เป็นความพยายามที่จะดำเนินตามธรรมชาติอย่างจงใจ โดยอาศัยวิธีการ "แบบอินทรีย์" หรือเกษตรกรรมวิธีอื่น ๆ เป็นเครื่องมือในการบรรลุจุดประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ แม้ว่าจะมีความรักอย่างจริงใจต่อธรรมชาติและมีความกระตือรือร้นในการเข้าถึงธรรมชาติ ความสัมพันธ์นั้นก็ยังคงเป็นเรื่องการทดลองดูก่อน เกษตรกรรมแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทะยานอยากในปัญญาแห่งสวรรค์ โดยปราศจากความเข้าใจในสาระของมัน และในขณะเดียวกันก็ต้องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ แม้จะค้นหาอย่างมิหยุดหย่อน แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้เลย

              ทัศนะแคบของเกษตรกรรมธรรมชาติกล่าวว่าเป็นเรื่องดีสำหรับเกษตรกรที่จะใช้อินทรีย์วัตถุกับดิน และเป็นเรื่องดีที่จะเลี้ยงสัตว์ และนี่คือวิธีที่ดีที่สุดมีประสิทธิภาพที่สุดที่จะทำให้ธรรมชาติสามารถใช้ประโยชน์ได้ ถ้าพูดในแง่ของการปฏิบัติส่วนบุคคล นี่ย่อมเป็นเรื่องดี แต่ด้วยวิธีนี้เพียงลำพัง ย่อมไม่อาจรักษาพลังแห่งชีวิตของเกษตรกรรมธรรมชาติให้ดำรงอยู่ได้ เกษตรกรรมธรรมชาติอย่างแคบชนิดนี้อุปมาได้กับสำนักดาบที่เน้นการฟันเพียงครั้งเดียวซึ่งชัยชนะจะต้องขึ้นกับทักษะ และการใช้เทคนิคที่เกิดจากการฝึกฝนอย่างมีเจตนา เกษตรกรรมแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ดำเนินตามาวิธีของสำนักดาบฟันสองครั้ง ซึ่งเชื่อว่าชัยชนะจะได้มาจากการระดมพลังในการจู่โจม

              เกษตรกรรมธรรมชาติที่บริสุทธิ์แท้ เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือเปรียบได้กับสำนักอกรรม คือไม่กระทำ ไม่มีทิศทาง และไม่แสวงหาชัยชนะ สิ่งหนึ่ง ที่เกษตรกรควรต่อสู้เพื่อให้บรรลุผลก็คือ การนำหลัก "ไม่กระทำ" มาสู่ภาคปฏิบัติให้ได้ เหลาจื้อได้กล่าวถึงธรรมชาติแห่งการไม่กระทำ ผมคิดว่าถ้าท่านเป็นเกษตรกร ท่านจะต้องทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาติอย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าวิธีของคานธี เป็นวิธีที่ไร้วิธี กระทำด้วยภาวะจิตที่ปราศจากการเอาชนะและปราศจากการต่อต้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับเกษตรกรรมธรรมชาติ เมื่อไรที่สามารถเข้าใจได้ว่าบุคคลจะสูญเสียความรื่นรมย์และความสุข ก็เมื่อเขาพยายามจะครอบครองมันไว้ เมื่อนั้นก็จะเข้าใจถึงหัวใจของเกษตรกรรมธรรมชาติ เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์***

             

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ปี พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๖๙
** คือโลกที่รับรู้และเข้าใจได้โดยพุทธิปัญญา
*** ในย่อหน้านี้ ฟูกูโอกะได้แยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง การใช้เทคนิคเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีเจตนา กับสิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติที่แสดงออกถึงความกลมกลืนของมนุษย์กับธรรมชาติ ในการงานประจำวันที่ปลอดพ้นจากการครอบงำของเจตจำนงแห่งพุทธิปัญญา


 :yoyo106:
http://olddreamz.com/bookshelf/onestraw/content3.html
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:24:52 pm »




๓.๙

รับใช้ธรรมชาติ
แล้วทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี


                ความทะยานอยากอันไม่สิ้นสุด คือสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้โลกตกอยู่ในสภาพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

             เร็วดีกว่าช้า มากดีกว่าน้อย "การพัฒนา" แบบชั่วแล่นเช่นนี้มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงกับความใกล้จะล่มสลายของสังคม สภาพเช่นนี้มีแต่จะทำให้มนุษย์ถูกแยกขาดออกจากธรรมชาติ มนุษยชาติจะต้องล้มเลิกการหมกมุ่นอยู่ในความทะยานอยากทางวัตถุ และผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ควรจะมุ่งสู่การเห็นแจ้งทางจิตวิญญาณ

            เกษตรกรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงจากการผลิตด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่มาเป็นเกษตรกรรมขนาดเล็กที่ผูกพันกับชีวิตแต่เพียงประการเดียว ความเป็นอยู่ทางวัตถุ และอาหารการกินควรจะเรียบง่าย หากทำได้เช่นนี้ งานก็จะกลายเป็นสิ่งเพลิดเพลิน และจะมีที่ว่างมากมายสำหรับจิตวิญญาณ

            ยิ่งเกษตรกรเพิ่มขนาดการผลิตมากขึ้นเท่าไหร่ ร่างกายและจิตใจของเขาก็จะยิ่งเหนื่อยล้ายุ่งเหยิงมากขึ้นเท่านั้น และเขาก็จะยิ่งห่างไกลจากชีวิตที่งอกงามไพบูลย์ในทางจิตวิญญาณ วิถีชีวิตแห่งเกษตรกรรมขนาดเล็กอาจจะดูโบราณล้าหลัง แต่วิถีชีวิตเช่นนั้น ย่อมเอื้อต่อการเพ่งพินิจ "หนทางอันยิ่งใหญ่" * ผมเชื่อว่าถ้าบุคคลใดเข้าใจเพื่อนบ้านของตนและโลกแต่ละวันที่เขามีชีวิตอยู่อย่างลึกซึ้ง ความยิ่งใหญ่ของโลกก็จะเปิดเผยตัวเองแก่เขา

            สมัยก่อนเกษตรกรที่มีที่นา ๑ เอเคอร์ (๒.๕ ไร่) จะใช้เวลาว่างยามสิ้นปีตั้งแต่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ออกล่ากระต่ายบนภูเขา แม้ว่าจะเป็นชาวนายากจน แต่พวกเขาก็มีอิสรภาพชนิดนี้อยู่ วันหยุดปีใหม่ยาวนานถึง ๓ เดือน ต่อมาวันหยุดปลายปีค่อย ๆ สั้นลงเหลือเพียง ๒ เดือน ๑ เดือน และปัจจุบันวันหยุดปีใหม่เหลือเพียง ๓ วันเท่านั้น

            วันหยุดปีใหม่ที่หดสั้นลงแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรในป้จจุบันมีกิจธุระยุ่งเหยิงมากเพียงไร และได้สูญเสียวิถีชีวิตที่สุขสบายทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณมากเพียงไร เกษตรกรรมแผนใหม่ไม่มีเวลาเหลือให้เกษตรกรได้ร่ายกาพย์กวีและแต่งลำนำเพลง

            หลายวันก่อนเมื่อผมเข้าไปปัดกวาดทำความสะอาดศาลเจ้าเล็ก ๆ ประจ่าหมู่บ้าน ผมต้องรู้สึกประหลาดใจที่พบแผ่นจารึกหลายแผ่นแขวนอยู่ที่ผนัง เมื่อปัดฝุ่นออกและเพ่งดูตัวอักษรที่เลือนลางและซีดจางตามกาลเวลา ผมพบว่าในนั้นมีบทกวีไฮกุถึง ๑๒ บท แม้ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่นนี้ ก็มีชาวบ้าน ๒๐-๓๐ คนที่ได้แต่งบทกวีไฮกุอุทิศเป็นเครื่องสักการะบูชา คิดดูสิว่า ชาวบ้านในสมัยก่อนมีที่ว่างในชีวิตของพวกเขามากเพียงไร กาพย์กลอนเหล่านี้บางส่วนต้องมีอายุหลายศตวรรษ เนื่องเพราะเป็นเวลาที่นานมาแล้ว จึงคาดว่าพวกเขาคงจะเป็นชาวนาที่ยากจน แต่พวกเขาก็ยังมีเวลาว่างในการแต่งบทกวีไฮกุ

            ปัจจุบันไม่มีใครในหมู่บ้านนี้มีเวลามากพอที่จะแต่งกวีนิพนธ์ ในระหว่างเดือนอันหนาวเย็น จะมีชาวบ้านไม่กี่คน ที่สามารถหาเวลาสักวันสองวันดอดออกไปล่ากระต่าย ปัจจุบัน โทรทัศน์ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความสนใจในยามว่าง ไม่มีเวลาสำหรับงานอดิเรกอันเรียบง่ายซึ่งจะนำคุณค่าอันอุดมมาสู่ชีวิตประจำวันของเกษตรกรอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ผมหมายถึงเมื่อผมกล่าวว่า เกษตรกรรมได้กลายเป็นความยากไร้และอ่อนแอทางจิตวิญญาณ มันเพียงแต่มุ่งไปสู่การพัฒนาทางวัตถุเท่านั้น

            เหลาจื๊อ นักปราชญ์เต๋ากล่าวว่า ชีวิตที่สมบูรณ์และถูกต้องดีงามคือชีวิตที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ท่านโพธิธรรม ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางพุทธศาสนานิกายเซน ได้ใช้เวลา ๙ ปี อาศัยอยู่ในถ้ำ โดยปราศจากกิจกรรมอันวุ่นวายยุ่งเหยิง การเป็นกังวลอยู่กับการหาเงินทอง การขยายตัว การพัฒนา ปลูกพืชเศรษฐกิจและส่งไปขาย หาใช่วิถีทางของเกษตรกรไม่ การอยู่ที่นี่ ดูแลที่นาผืนเล็ก ๆ เป็นเจ้าของอิสรภาพและเวลาอันเหลือเฟือในแต่ละวันและทุก ๆ วัน สิ่งนี้ต่างหากคือหนทางเดิมแท้ของเกษตรกรรม

            การแบ่งแยกประสบการณ์ออกเป็นกายและจิตนั้นเป็นความคับแคบและสบสน มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่โดยพึ่งพิงแต่อาหารเท่านั้น ที่สุดแล้ว เราไม่อาจรู้ว่าอาหารคืออะไรด้วยซ้ำ มันคงจะดีกว่านี้ถ้าคนเราเลิกคิดถึงแม้แต่อาหารเช่นเดียวกัน จะเป็นการดีถ้าคนเราเลิกทำให้ตัวเองให้ยุ่งยากด้วยการค้นหา "ความหมายที่แท้จริงของชีวิต" เราไม่มีวันจะรู้คำตอบเกี่ยวกับคำถามทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ แต่มันก็ไม่เสียหายอะไรที่จะไม่เข้าใจ เราเกิดมาและมีชีวิตอยู่บนพื้นพิภพนี้เพื่อเผชิญหน้าโดยตรงกับความเป็นจริงของการมีชีวิตอยู่

            การมีชีวิตอยู่ไม่มีอะไรมากกว่าเป็นผลจากการที่เราได้ถือกำเนิดมา ไม่ว่าอะไรก็ตามที่คนเรากินเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่คนเราคิดว่าเขาต้องกินเพื่อมีชีวิตอยู่ นั่นไม่ใช่อะไรมากไปกว่าสิ่งที่เขาคิดขึ้นเอง โลกเป็นอยู่โดยความเป็นเช่นนั้นเอง หากว่าคนเราจะละทิ้งเจตนารมณ์ในฐานะมนุษย์ของเขา และปล่อยให้ธรรมชาตินำทางเข้าแทน มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเกรงกลัวการอดตาย

            จงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ นี่คือพื้นฐานที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ เมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันไม่เดียงสาได้กลายเป็นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ ผู้คนก็ใช้ชีวิตประหนึ่งว่าพวกตนพึ่งพิงอาศัยแต่เพียงแป้ง ไขมัน และโปรตีน และเพาะปลูกโดยพึ่งแต่ ในโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตส

            และนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเขาจะได้ศึกษาธรรมชาติมากเพียงไร ไม่ว่าเขาจะทำวิจัยกว้างแค่ไหน ก็เพียงเพื่อจะตระหนักในที่สุดว่าธรรมชาติช่างมีความสมบูรณ์และลึกลับอะไรเพียงนั้น การเชื่อว่า โดยอาศัยการวิจัยและประดิษฐกรรม มนุษยชาติก็จะสามารถสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่ดีเลิศกว่าธรรมชาตินั้น เป็นเพียงมายาภาพ ผมคิดว่าการที่คนเราต่อสู้ดิ้นรนต่าง ๆ นานา ไม่ใช่เพื่อเหตุผลอื่น นอกเสียจากเพื่อจะเรียนรู้สิ่งที่คุณอาจเรียกว่าเป็นความลึกลับอันไม่อาจเข้าใจได้ของธรรมชาติ

            ดังนั้นงานของเกษตรกรก็คือรับใช้ธรรมชาติ แล้วทุกอย่างจะดำเนินไปด้ายดี เคยถือกันว่าเกษตรกรรมเป็นงานอันงานอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมนุษยชาติหลุดออกจากอุดมคตินี้ เกษตรกรรมเพื่อการค้าแบบใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อเกษตรกรเริ่มปลูกพืชเพื่อเงินทอง เขาก็หลงลืมหลักการที่แท้จริงของเกษตรกรรม

            แน่ละ พ่อค้าก็มีบทบาทในสังคม แต่ความรุ่งเรืองของการค้ามีแนวโน้มจะดึงผู้คนออกห่างจากความสำนึกรู้ในแหล่งกำเนิดที่แท้ของชีวิต เกษตรกรรมในฐานะของงานที่อยู่ภายในขอบเขตของธรรมชาตินั้น อิงแอบอย่างใกล้ชิดกับต้นกำเนิดดังกล่าว แต่เกษตรกรจำนวนมากไม่ได้สำนึกรู้ในธรรมชาติ แม้ในขณะใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ แต่ผมรู้ดีกว่า เกษตรกรรมได้เปิดโอกาสมากมายต่อการสำนึกรู้อันสูงส่งกว่า

            "ไม่ว่าฤดูใบไม้ร่วงจะนำสายลมหรือสายฝนมาให้ ฉันไม่อาจรู้ได้ แต่สำหรับวันนี้ ฉันจะทำงานอยู่ในทุ่งนา" นั่นเป็นเนื้อหาของเพลงพื้นบ้านอันเก่าแก่ มันแสดงออกถึงสัจจะของเกษตรกรรมในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต ไม่ว่าการเก็บเกี่ยวจะให้ผลอย่างไร ไม่ว่าจะมีอาหารเพียงพอหรือไม่ เพียงการหว่านเมล็ดและดูแลพืชผลด้วยความรักใคร่อ่อนโยนภายใต้การนำของธรรมชาติ นั่นก็เป็นความเบิกบานใจ

 

--------------------------------------------------------------------------------

* หนทางในการรู้แจ้งทางจิตวิญญาณ ซึ่งถามถึงการเพ่งพินิจและความเอาใจใส่ต่อกิจกรรมอันสามัญในชีวิตประจำวัน


ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:21:03 pm »





๓.๘

ความตายอันน่าเวทนาของข้าวบาร์เลย์


                เมื่อ ๔๐ ปีก่อน เนื่องมาจากความเป็นปรปักษ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นเพิ่มกระแสสูงขึ้น การสั่งซื้อข้าวสาลีจากสหรัฐจึงเป็นไปไม่ได้ จึงมีขบวนการที่พยายามจะปลูกข้าวสาลีภายในประเทศขึ้นทั่วประเทศ พันธุ์ข้าวสาลีของสหรัฐที่ใช้บริโภคกันอยู่นั้น ต้องการเวลาในฤดูเพาะปลูกอันยาวนานและเมล็ดจะสุกในราวกลางฤดูฝนของญี่ปุ่น หลังจากที่เกษตรกรต้องหลังขดหลังแข็งทนเจ็บปวดอยู่กับการปลูกพืชชนิดนี้ มันก็ยังมักจะเน่าเสียระหว่างการเก็บเกี่ยว พันธุ์ข้าวชนิดนี้ปรากฏว่าไว้ใจไม่ได้ และมีความอ่อนแอต่อเชื้อโรคสูง ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงไม่อยากปลูกข้าวสาลี เมื่อสีเอาเปลือกออก และนำไปปิ้งในลักษณะแบบพื้นบ้าน รสชาติของมันก็แสนจะแย่จนแทบจะสำลัก และต้องถ่มทิ้งไป

             พันธุ์ข้าวไรย์และบาร์เลย์พื้นบ้านของญี่ปุ่น สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤษภาคมก่อนฤดูฝน โดยเปรียบเทียบจึงมีความปลอดภัยกว่า กระนั้นเกษตรกรยังถูกบังคับให้ปลูกข้าวสาลี ทุกคนจะหัวเราะและพูดว่าไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการปลูกข้าวสาลี แต่พวกเขาก็ทำตามนโยบายรัฐบาลอย่างอดทน

             หลังสงคราม เริ่มมีการนำเข้าข้าวสาลีจากสหรัฐในปริมาณมากอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ราคาของข้าวสาลีที่ปลูกในญี่ปุ่นตกต่ำลง เป็นการเพิ่มเหตุผลที่จะเลิกปลูกข้าวสาลี "เลิกปลูกข้าวสาลี เลิกปลูกข้าวสาลี!" เป็นคำขวัญที่โฆษณาในระดับประเทศโดยผู้นำทางการเกษตรของรัฐบาล และเกษตรกรก็รู้สึกยินดีที่จะเลิกปลูก ในเวลาเดียวกัน เพราะว่าข้าวสาลีที่นำเข้ามีราคาต่ำ รัฐบาลก็เลยแนะนำให้เกษตรกรเลิกปลูกธัญพืชฤดูหนาวแบบพื้นบ้าน เช่นข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์ไปด้วย เมื่อมีนโยบายเช่นนี้ออกมา ท้องนาในญี่ปุ่นเลยถูกปล่อยว่างไว้ตลอดฤดูหนาว

             ประมาณ ๑๐ ปีก่อน ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดอิไฮมิไปปรากฏตัวทางโทรทัศน์ในรายการประกวด "เกษตรกรดีเด่นแห่งปี" ของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ในตอนนั้นกรรมการคัดเลือกคนหนึ่งถามผมว่า "คุณฟูกูโอกะ ทำไมคุณไม่เลิกปลูกข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์เสียล่ะ" ผมตอบว่า "ข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่ปลูกง่าย และเมื่อใช้วิธีปลูกหมุนเวียนกับข้าวเจ้า เราก็จะสามารถผลิตแคลอรีได้มากที่สุดจากท้องไร่ท้องนาของญี่ปุ่น นั่นคือเหตุผลที่ผมไม่เลิกปลูกข้าวทั้งสองชนิดนี้"

             เห็นได้ชัดว่าใครก็ตามกระทำการฝืนเจตนารมณ์ของกระทรวงเกษตรอย่างดื้อด้านเช่นนี้ จะไม่มีทางได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น ดังนี้ผมจึงกล่าวว่า "ถ้าการไม่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นมาจากสาเหตุนี้ละก็ ก็เป็นการดีที่ผมจะไม่ได้รางวัล" กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกกล่าวกับผมในภายหลังว่า "ถ้าผมลาออกจากมหาวิทยาลัย และทำเกษตรด้วยตัวผมเอง ผมก็คงจะทำเกษตรแบบที่คุณทำ ปลูกข้าวเจ้าในฤดูร้อน และปลูกข้าวบาร์เลยกับข้าวไรย์ในฤดูหนาวทุกปี เช่นเดียวกับที่เคยทำกันก่อนสมัยสงคราม"

             หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่นาน ผมไปปรากฏตัวอีกครั้งในรายการโทรทัศน์เอ็นเอชเค ในการอภิปรายร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน และผมก็ถูกถามอีกว่า "ทำไมคุณไม่เลิกปลูกข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์" ผมกล่าวย้ำอีกครั้งอย่างชัดเจนยิ่งว่า ผมจะไม่เลิกปลูกไม่ว่าจะมีเหตุผลดี ๆ มากมายสักแค่ไหนในเวลานั้น คำขวัญให้เลิกปลูกธัญพืชฤดูหนาวอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความตายอันน่าเวทนา; ด้วยเหตุนั้น การปลูกธัญพืชฤดูหนาวและข้าวเจ้าหมุนเวียนสลับกันก็ค่อย ๆ ตายไปอย่างเงียบเชียบ แต่คำว่า "ความตายอันน่าเวทนา" ยังเป็นคำพูดที่อ่อนเกินไป กระทรวงเกษตรต้องการให้มันตายอย่างไม่ได้ผุดได้เกิดเลยด้วยซ้ำ เมื่อผมเห็นชัดว่าเป้าหมายหลักของรายการอภิปรายดังกล่าวต้องการที่จะประชาสัมพันธ์ให้หยุดการปลูกธัญพืชฤดูหนาวในทันที หรือพูดได้ว่าให้ทิ้งมัน "ตายอยู่ข้างถนน" ผมเลยระเบิดออกมาด้วยโทสะ

             เมื่อ ๔๐ ปีก่อนมีการเรียกร้องให้ปลูกข้าวสาลี ปลูกธัญพืชจากต่างประเทศ ปลูกพืชที่ไร้ประโยชน์และเป็นไปไม่ได้ ในตอนนั้นกล่าวกันว่าพันธุ์ข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์พื้นบ้านของญี่ปุ่นมีคุณค่าอาหารไม่สูงเท่าธัญพืชของอเมริกันและเกษตรกรก็เลิกปลูกธัญพืชพื้นบ้านเหล่านี้ไปด้วยความเสียใจ เมื่อมาตรฐานในการครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงมีคำกล่าวออกมาว่าให้กินเนื้อกินไข่ กินนม และให้เปลี่ยนการกินข้าวมากินขนมปังแทน มีการนำเข้าข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าวสาลีในปริมาณมากขึ้นทุกที ข้าวสาลีของอเมริกันมีราคาถูก ดังนั้นการปลูกข้าวพื้นบ้านทั้งข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์จึงถูกละทิ้งไป เกษตรกรรมญี่ปุ่นนำเอามาตรฐานที่บีบบังคับให้เกษตรกรทำงานครึ่งเวลาในเมือง เพื่อว่าเกษตรกรจะได้ซื้อพืชที่เขาได้รับคำแนะนำให้เลิกปลูกนั่นเอง

             และบัดนี้ ความกังวลอย่างใหม่ต่อความขาดแคลนแหล่งอาหารก็ได้เกิดขึ้น การปลูกข้าวไรย์และข้าวบาร์เลย์เพื่อการยังชีพกำลังได้รับการส่งเสริมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถึงกับว่าจะมีการให้ทุนอุดหนุนด้วย แต่มันก็ไม่เพียงพอหรอก หากจะส่งเสริมให้ปลูกธัญพืชฤดูหนาวพื้นบ้านสักปีสองปี แล้วก็ประกาศให้เลิกปลูกอีก นโยบายทางเกษตรที่ดีจะต้องมีความแน่นอน ด้วยเหตุที่กระทรวงการเกษตรขาดความคิดที่ชัดเจนว่าพืชอะไรควรปลูกเป็นประการแรก และประการต่อมาขาดความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างพืชที่ปลูกกับอาหารของประชาชน ทำให้นโยบายของทางการเกษตรไม่มีความแน่นอนคงเส้นคงวา

             หากว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการเกษตรจะหาเวลาออกไปยังภูเขาและทุ่งหญ้าและเก็บสมุนไพร ๗ ชนิดในฤดูใบไม้ผลิ และสมุนไพร ๗ ชนิดในฤดูใบไม้ร่วง* มาลิ้มรสดู เขาก็จะรู้ว่าอะไรคือต้นกำเนิดของอาหารบำรุงกำลังของมนุษย์ และหากเขาจะศึกษาต่อไปอีก เขาก็จะเห็นว่าคุณสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างดีด้วยพืชพื้นบ้าน เช่นข้าวเจ้า ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวบั๊ควีท และพืชผัก แล้วเขาก็จะตัดสินใจได้ว่า นี่คือสิ่งที่เกษตรกรรมของญี่ปุ่นจำเป็นต้องปลูก ถ้าสิ่งเหล่านี้คือทั้งหมดที่เกษตรกรจะต้องปลูก เกษตรกรรมก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายดายมาก

             จนบัดนี้แนวคิดในหมู่นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ยังคงเห็นว่า การทำเกษตรกรรมขนาดเล็กเพื่อเลี้ยงชีพเป็นสิ่งผิด ที่นี่เป็นเกษตรกรรมแบบบรรพกาลอันล้าหลัง เป็นสิ่งที่ควรกำจัดออกไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีคำกล่าวว่าขนาดของที่นาแต่ละแปลงควรจะขยายออกไป เพื่อรับกับการเปลี่ยนไปสู่การเกษตรขนานใหญ่แบบอเมริกัน ความคิดเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวงการเกษตรกรรมเท่านั้น แต่การพัฒนาในทุกสาขาล้วนมุ่งไปในทิศทางนี้

             เป้าหมายก็คือให้เหลือคนทำเกษตรกรรมเพียงจำนวนน้อย ผู้รู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับในทางการเกษตรกล่าวว่า ในพื้นที่เท่าเดิมถ้าใช้คนน้อยลงแต่ใช้เครื่องจักรทันสมัยขนาดใหญ่ จะได้ผลผลิตมากกว่าเดิม และนี่คือสิ่งที่เรียกว่าความก้าวหน้าทางการเกษตร หลังสงคราม คนญี่ปุ่นที่เป็นเกษตรกรมีอยู่ในราวร้อยละ ๗๐-๘๐ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกษตรกรค่อย ๆ ลดลงเหลือร้อยละ ๕๐ แล้วก็ ๓๐ ๒๐ ตามลำดับ และในปัจจุบันตัวเลขเหลือเพียงร้อยละ ๑๔ นี่เป็นความตั้งใจของกระทรวงการเกษตรที่ต้องการจะบรรลุผลในระดับเดียวกับยุโรปและอเมริกา คือมีประชากรต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่เป็นเกษตรกร ส่วนที่เหลือก็ถูกทำให้หมดกำลังใจไป

             ในความคิดของผม หากประชากรร้อยทั้งร้อยล้วนทำการเกษตร มันจะวิเศษที่สุด ที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกนั้นมีพอสำหรับประชากรญี่ปุ่นเฉลี่ยคนละ ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) หากบุคคลคนหนึ่งได้รับที่ดิน ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่)แต่ละครอบครัวที่มีสมาชิก ๕ คนก็จะได้ที่ดิน ๑ ๑/๔ เอเคอร์ (๓ ไร่) นั่นก็เป็นที่ดินที่เกินพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวตลอดทั้งปี หากนำเกษตรกรรมธรรมชาติมาใช้ เกษตรกรก็จะมีเวลาว่างมากมายเพื่อการพักผ่อน และร่วมกิจกรรมทางสังคมภายในชุมชนหมู่บ้านของตน ผมคิดว่านี่คือหนทางสายตรงที่จะทำให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งความสุขและความพึงพอใจ

 

--------------------------------------------------------------------------------

* หญ้าดอกระฆัง ต้นสาคู พืชจำพวกสาบเสือ พืชจำพวกตับเต่า พืชจำพวกแขมและเลา แปวป่องฟ้า บุช โคลเวอร์

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:18:42 pm »



๓.๗

อะไรคืออาหารของมนุษย์


                เมื่อวันก่อนเจ้าหน้าที่จากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคมาเยี่ยม และขอให้ผมพูดอะไรเกี่ยวกับรสชาติของอาหารธรรมชาติ เราสนทนากัน จากนั้นผมขอให้เขาลองเปรียบเทียบไข่จากไก่ที่เลี้ยงในกรงข้างล่าง กับไก่ที่ปล่อยให้วิ่งเล่นอย่างอิสระในสวน เขาพบว่าไข่แดงที่ได้จากไก่ที่เลี้ยงในกรงมีลักษณะอ่อนเหลวและมีสีเหลืองซีด เขาสังเกตเห็นว่าไข่แดงจากไก่ที่เลี้ยงอย่างอิสระบนภูเขาจะมีลักษณะแน่น และยืดหยุ่น ทั้งมีสีส้มสด เมื่อผู้เฒ่าเจ้าของภัตตาคารซูชิ (ข้าวปั้นห่อสาหร่าย) ในเมืองได้ลิ้มรสไข่จากธรรมชาติเหล่านี้เข้าไปฟองหนึ่ง ก็ถึงกับกล่าวว่า "นี่แหละไข่ไก่ที่แท้จริง" เหมือนกับเมื่อสมัยก่อน และก็รู้สึกยินดีราวกับว่ามันเป็นสมบัติที่มีค่าเสียเหลือเกิน

           ในสวนส้มมีพืชผักหลายชนิดขึ้นปะปนกับวัชพืชและพืชคลุมดิน เช่นผักกาดหัว เบอร์ด๊อกซ์ แตงกวา และน้ำเต้า ถั่วลิสง เก๊กฮวย มันฝรั่ง หัวหอม ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี และถั่วอีกหลายชนิด สมุนไพรหลายชนิดและพืชผักปลูกอยู่ในที่เดียวกัน บทสนทนาเปลี่ยนไปเป็นว่า ผักเหล่านี้ที่ปลูกในลักษณะผักป่าจะมีรสชาติดีกว่าผักที่ปลูกในสวนครัวหรืออาศัยปุ๋ยเคมีหรือไม่ เมื่อเราเปรียบเทียบกันก็พบว่ารสชาติมีความต่างกันโดยสิ้นเชิง และเราก็ตัดสินว่า "ผักป่า" มีรสชาติดีกว่า

           ผมบอกผู้สื่อข่าวคนนั้นว่า ผักที่ปลูกในแปลงเพราะใช้ปุ๋ยเคมีที่มีส่วนผสมของในโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเป็นตัวช่วย ส่วนผักที่ปลูกปะปนกับพืชคลุมดินที่ขึ้นตามธรรมชาติในดินที่อุดมด้วยอินทรีย์วัตถุ มันจะได้รับสารอาหารที่มีความสมดุลกว่า การที่มีวัชพืชและหญ้ามากมายหลายชนิดขึ้นในที่ดินย่อมแสดงว่าในดินมีสารอาหารที่สำคัญหลากหลายสำหรับผักด้วย พืชที่ปลูกในดินที่มีความสมดุลเช่นนั้น จะมีรสชาติที่ละเอียดสุขุมมากกว่า

           สมุนไพรและผักป่าที่ปลูกบนภูเขาและในทุ่งหญ้า มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก และทั้งมีประโยชน์ในทางเภสัชอีกด้วย อาหารและยามิใช่สองสิ่งที่แตกต่างกัน มันเป็นสองด้านของสิ่งเดียวกัน ผักที่ปลูกด้วยสารเคมีอาจจะให้เป็นอาหารได้ แต่มันไม่สามารถใช้เป็นยาได้

           เมื่อคุณเก็บสมุนไพร ๗ ชนิดในฤดูใบไม้ผลิ* มากิน มันจะช่วยให้จิตใจอ่อนโยน และถ้าคุณกินยอดผักกูด ออสมันด้า และเชพเพิดส์เพิส มันจะช่วยให้จิตใจสงบสุขุม การสงบความกระวนกระวาย ใจร้อน เชพเพิดส์เพิส จะช่วยได้ดีที่สุด กล่าวกันว่า ถ้าให้เด็กกินเชพเพิดส์เพิส ดอกตูมของวิลโล่ว์ หรือแมลงที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ จะช่วยแก้อาการหงุดหงิดร้องไห้โยเยได้ ในสมัยก่อนพ่อแม่มักจะทำให้เด็ก ๆ กินเสมอ ไดกอน (หัวไชเท้าญี่ปุ่น) มีต้นตระกูลมาจากนาซูนา และคำว่านาซูนา มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า นาโกมู ซึ่งหมายถึงการทำให้อ่อนละมุน อ่อนโยน ไดกอน ก็คือ "สมุนไพรที่ช่วยสงบจิตใจและอารมณ์"

           ในบรรดาอาหารป่า แมลงมักจะถูกมองข้ามไป ในระหว่างสงคราม เมื่อผมทำงานอยู่กับสถานีวิจัย ผมได้รับมอบหมายให้ศึกษาว่าแมลงชนิดใดบ้างในเอเชียตะวันออกเฉึยงใต้ที่สามารถกินได้ เมื่อผมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเกิดความรู้สึกประหลาดใจมากที่พบว่า แมลงเกือบทุกชนิดล้วนกินได้

           ยกตัวอย่างเช่น คงไม่มีใครคิดว่าตัวเหา และตัวหมัด สามารถเอาไปทำประโยชน์อะไรได้ แต่ตัวเหาเมื่อนำมาบดและกินกับธัญพืชฤดูหนาวเป็นยารักษาโรคลมบ้าหมู และตัวหมัด เป็นยารักษาแผลจากหิมะกัด ตัวอ่อนของแมลงเกือบทุกชนิดกินได้ แต่ต้องยังมีชีวิตอยู่ ผมอ่านพบจากตำราเก่า เกี่ยวกับการทำ "ของอร่อย" ซึ่งเตรียมจากตัวอ่อนของแมลง และรสชาติของหนอนไหมที่เราคุ้นเคย ถือกันว่ามีความวิเศษยอดเยี่ยมเกินกว่าที่เปรียบเทียบได้ แม้แต่ตัวมอธก็มีรสชาติอร่อยมาก แต่เราต้องเขย่าให้ฝุ่นที่ปีกหลุดออกเสียก่อน

           ด้งนั้นอาหารหลายชนิดที่คนรู้สึกรังเกียจ ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่ของรสชาติหรือแง่ของสุขภาพ ล้วนมีรสชาติที่อร่อยดีทีเดียว ทั้งยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์อีกด้วย

           พืชผักที่ยิ่งมีความใกล้เคียงทางชีววิทยากับต้นตระกูลที่เป็นผักป่ามากเท่าไหร่ ก็จะมีรสชาติและคุณค่าทางอาหารดีและมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่นผักที่อยู่ในวงศ์ลิลลี่ (ซึ่งรวมถึง นิรา กระเทียม กระเทียมต้น ต้นหอม หอมเล็กและหอมใหญ่) เช่น นิรา และ กระเทียมต้น มีคุณค่าอาหารสูงที่สุด ทั้งยังมีคุณค่าเป็นยาสมุนไพร และมีประโยชน์เป็นยาบำรุงสุขภาพโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม สำหรับคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าพืชผักที่มีความเป็นผักบ้าน เป็น ต้นหอมและหอมใหญ่ มีรสชาติดีที่สุด คนสมัยปัจจุบันมักจะชอบรสชาติของพืชผักที่ห่างไกลจากสภาพความเป็นผักป่าของมัน

           ความพึงพอใจในรสชาติอาหารดังกล่าว ก็เป็นกับเนื้อสัตว์ด้ายเช่นกัน นกป่ามีคุณค่าต่อร่างกายดีกว่าสัตว์เลี้ยงพวกไก่และเป็ด แต่กระนั้นสัตว์ปีกพวกหลังซึ่งถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากสภาพตามธรรมชาติของมันก็ถือกันว่ามีรสชาติดีและขายในราคาแพง นมแพะมีคุณค่าอาหารสูงกว่านมวัว แต่นมวัวกลับเป็นที่ต้องการมากกว่า

           อาหารที่ห่างไกลจากสภาพดั้งเดิมของมัน และผลิตโดยอาศัยสารเคมี หรือผลิตขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นใหม่หมด จะทำให้สารเคมีภายในร่างกายเสียสมดุล ยิ่งร่างกายสูญเสียสมดุลมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งต้องการอาหารที่ไม่เป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น สภาพการณ์เช่นนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

           การพูดว่าสิ่งที่เรากินเป็นเพียงความชอบ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เป็นการหลอกลวง เพราะว่าอาหารที่ไม่เป็นธรรมชาติหรือมาจากต่างประเทศจะก่อความยุ่งยากให้กับเกษตรกร และชาวประมงด้วย ผมรู้ดีกว่ายิ่งคนเรามีความต้องการมากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็ต้องทำงานสนองความต้องการของตนมากขึ้นเท่านั้น ปลาบางชนิด เช่นปลาโอและปลากะพงแดงที่คนนิยม ต้องออกไปจับยังน่านน้ำไกล ๆ ส่วนปลาซาร์ดีน ปลาอีคุด ปลาใบขนุนและปลาเล็ก ๆ อื่น ๆ สามารถจับได้จำนวนมาก ๆ ในทะเลใน พูดตามหลักโภชนาการ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเช่นในแม่น้ำ และลำธาร เช่น ปลาใน หอยทากน้ำจืด กุ้งน้ำจืดปูน้ำจืด และอื่น ๆ มีคุณค่าต่อร่างกายมากกว่าสัตว์น้ำเค็ม ถัดมาก็เป็นปลาจากทะเลน้ำตื้น และสุดท้ายคือปลาจากทะเลลึกและจากน่านน้ำไกล ๆ อาหารที่ได้จากที่ใกล้ ๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ แต่สิ่งที่เขาต้องต่อสู้เพื่อให้ใด้มากลับเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์น้อยที่สุด

           นั่นก็คือ ถ้าคนเรายอมรับสิ่งที่อยู่ใกล้มือ ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ถ้าเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ กินแต่อาหารที่สามารถปลูกได้หรือหาได้ในบริเวณนี้ ก็จะไม่มีโทษภัยอะไรเกิดขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อาศัยในกระท่อมในสวนนี้ พวกเขากินข้าวกล้อง และข้าวบาร์เลย์ ข้าวมิลเล็ท และข้าวบั๊ควีทที่ไม่ขัดขาว กับพืชตามฤดูกาลและผักป่า ทุกคนก็จะมีอาหารดีที่สุดกิน อาหารเหล่านั้นมีรสอร่อย และมีคุณค่าต่อร่างกาย

           ถ้าที่ดินขนาด ? เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) ให้ผลผลิตข้าวเจ้าและธัญพืชฤดูหนาวอย่างละ ๒๒ บูเชล (๕๙๐.๙ กิโลกรัม) เหมือนที่นี่ ที่ดินขนาดนี้จะสามารถเลี้ยงคนได้ ๕-๑๐ คนโดยแต่ละคนลงแรงทำงานกันเฉลี่ยคนละไม่ถึง ๑ ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าทุ่งนาถูกเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้า หรือธัญพืชถูกนำไปเลี้ยงวัว ที่ดิน ? เอเคอร์ ก็จะเลี้ยงดูคนได้เพียงคนเดียว เนื้อสัตว์กลายเป็นอาหารฟุ่มเฟือย* เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์นั้นต้องอาศัยที่ดิน ซึ่งสามารถผลิตอาหารตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์ได้โดยตรง ดังที่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนและแน่นอน แต่ละคนควรจะใคร่ครวญอย่างจริงจังว่า ตนต้องประสบความยากลำบากเพียงไร ในการหมกมุ่นตามใจตัวเกี่ยวกับอาหารที่ผลิตขึ้นด้วยราคาแพง

           เนื้อและอาหารนำเข้าเป็นของฟุ่มเฟือย เพราะว่ามันต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมากกว่าผักพื้นบ้านและธัญพืชที่ผลิตได้ในท้องถิ่น คนที่จำกัดตัวเองให้บริโภคแต่อาหารในท้องถิ่นจะทำงานน้อยลง และใช้ที่ดินน้อยลงกว่าพวกที่อยากในอาหารฟุ่มเฟือย

           ถ้าประชาชนยังคงกินเนื้อและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ ภายใน ๑๐ ปี ญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางอาหารอย่างแน่นอน และภายใน ๓๐ ปี จะประสบกับความขาดแคลนอย่างรุนแรง มีความคิดที่เหลวไหลไร้สาระซึ่งมาจากที่ใดที่หนึ่ง ที่เชื่อว่า การเปลี่ยนจากการกินข้าวมากินขนมปังแทนแสดงถึงพัฒนาการในชีวิตปะจำวันของชาวญี่ปุ่น ที่จริงแล้วมันมิได้เป็นเช่นนั้น ข้าวกล้องและพืชผักอาจจะดูเป็นอาหารหยาบที่ไม่วิจิตรพิศดาร แต่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีที่สุด และช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอย่างเรียบง่าย และตรงไปตรงมา

           หากว่าเราต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางอาหาร นั่นย่อมไม่ใช่เพราะความขาดแคลนทางพลังการผลิตของธรรมชาติ หากทว่าเพราะความต้องการอันฟุ่มเฟือยไม่จบสิ้นของมนุษย์นั่นเอง

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ผักกาดน้ำ เชพเพิดส์เพิส ผักกาดหัวป่า คอททอนวีด บัควีด หัวไชเท้าป่า บี เนทเทิล
** แม้ว่าเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือจะได้จากสัตว์ที่เลี้ยงด้วยธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และถั่วเหลือง ก็ยังมีที่ดินขนาดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ได้ดีเมื่อหมุนเวียนใช้เป็นทุ่งหญาเลี้ยงสัตว์บ้างเป็นครั้งคราว ในญี่ปุ่นไม่มีที่ดินเช่นนี้เหลืออยู่ เนื้อสัตว์เกือบทั้งหมดต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:15:29 pm »

๓.๖

วิจัยเพื่อผลประโยชน์ของใคร


                ในเมื่อผมเริ่มปลูกข้าวเจ้าและธัญพืชฤดูหนาวด้วยวิธีหว่านเมล็ดโดยตรง ผมวางแผนจะเกี่ยวข้าวด้วยเคียว ผมเลยคิดว่าการหว่านเมล็ดเป็นแถวแบบที่ทำกันตามปกติจะเป็นวิธีที่สะดวกกว่า ผมได้ลองประดิษฐ์เครื่องมือแบบนักสมัครเล่น และด้วยความพยายามหลาย ๆ ครั้ง ผมก็ได้ประดิษฐ์เครื่องมือหว่านเมล็ดขึ้นมา ผมคิดว่าเครื่องมือนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอื่น ๆ ผมเลยเอาเครื่องมือนี้ไปให้คนในศูนย์ทดลองการเกษตรดู เขาบอกผมว่าเรากำลังอยู่ในยุคของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้เขาก็ไม่อยากมาเสียเวลากับ "สิ่งประดิษฐ์เล่น ๆ" ของผม

           ต่อมาผมไปที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทางการเกษตร ที่นั่นบอกผมว่าเครื่องมือง่าย ๆ แบบนี้ ไม่ว่าผมจะใช้ความพยายามในการทำมากแค่ไหน มันจะขายได้ไม่เกินชิ้นละ ๓.๕๐ เหรียญสหรัฐเท่านั้น "ถ้าเราผลิตสิ่งประดิษฐ์กระจุกกระจิกแบบนั้น เกษตรกรก็อาจจะเริ่มได้คิดว่าเขาไม่ต้องการรถแทรกเตอร์ที่มีราคาเป็นพัน ๆ เหรียญสหรัฐ" เขากล่าวว่าปัจจุบันผู้คนมีความคิดแต่จะประดิษฐ์เครื่องมือปลูกข้าวอย่างรวดเร็ว แล้วก็ขายอย่างไม่ลืมหูลืมตาให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แล้วก็นำสิ่งที่ใหม่กว่าเข้ามาอีก แทนที่จะใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก เขาต้องการเปลี่ยนให้เป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย เหตุนี้สิ่งประดิษฐ์ของผมจึงถูกมองว่าเป็นของล้าหลัง เพื่อให้ทันกับความต้องการของยุคสมัย ทรัพยากรจะถูกใช้ไปในงานวิจัยที่ไร้ประโยชน์ต่อไปอีก และตราบจนทุกวันนี้สิ่งประดิษฐ์ของผมก็ยังถูกเก็บไว้บนหิ้ง

           ปุ๋ย และสารเคมี ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ แทนที่จะพัฒนาโดยมีเกษตรกรเป็นเป้าหมาย กลับกลายเป็นการเน้นอยู่ที่การพัฒนาส่งใหม่ ๆ อะไรก็ได้เพื่อจะขายเอากำไร หลังจากที่พวกนักเทคนิคลาออกจากศูนย์วิจัย พวกเขาก็จะไปทำงานให้กับบริษัทผลิตสารเคมีใหญ่ ๆ

           เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้สนทนากับคุณอาซาดะ เจ้าหน้าที่เทคนิคของกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เขาเล่าเรื่องที่น่าสนใจให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า พืชผักที่ปลูกในตู้กระจกเป็นอาหารที่ไม่น่ากินอย่างยิ่ง ฟังมาว่ามะเขือยาวที่ส่งไปขายในตอนฤดูหนาวจะไม่มีไวตามิน และแตงกวาก็ไม่มีรสชาติ เช้าทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้และก็พบเหตุผล สาเหตุเพราะว่าแสงแดดไม่สามารถทะลุผ่านกระจกและเครื่องกรองแสงที่ทำจากเส้นใยสงเคราะห์ซึ่งหุ้มตู้กระจกที่ใช้ปลูกพืชผักนั้น การทดสอบของเขาจึงมุ่งไปที่ระบบภายในตู้กระจก

           คำถามพื้นฐานในที่นี้ก็คือ มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์หรือไม่ที่ต้องกินมะเขือยาว และแตงกวาในฤดูหนาว ถ้ายกประเด็นนี้ออกเสีย เหตุผลเพียงประการเดียวในการปลูกผักชนิดนี้ในฤดูหนาวก็คือ มันขายได้ราคาดี มีคนพัฒนาวิธีการปลูกผักเหล่านี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะพบว่าพืชผักเหล่านี้ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเลย ประการต่อมา นักเทคนิคคิดว่าถ้าสารอาหารสูญเสียไป ก็ย่อมมีหนทางที่จะป้องกันการสูญเสียนั้นได้ เพราะเขาคิดว่าปัญหานั้นเกิดจากระบบแสง เขาก็เริ่มวิจัยเกี่ยวกับแสง เขาคิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยหากเขาสามารถสร้างตู้กระจกสำหรับมะเขือยาวที่มีไวตามินอยู่ภายใน ผมได้รับการบอกเล่าว่า มีนักเทคนิคบางคนที่ถึงกับอุทิศชีวิตทั้งหมดของเขาใหกับการวิจัยประเภทนี้

           เนื่องจากมีการใช้ความพยายามและทรัพยากรอย่างมากมายในการผลิตมะเขือยาว และกล่าวกันว่าผักชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ราคาของมันจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก และรายได้ดีอีกด้วย "ถ้ามันขายได้กำไรดี และคุณสามารถขายได้ มันก็ไม่มีอะไรผิดเลย"

           ไม่ว่าคนเราจะใช้ความพยายามมากเท่าไหร่ เขาไม่อาจปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เท่าเทียมกับพืชผักและผลไม้ที่ปลูกตามธรรมชาติ ผลผลิตที่ปลูกด้วยวิธีผิดธรรมชาติจะสนองตอบความต้องการชั่วแล่นของผู้คน แต่มันจะทำให้ร่างกายมนุษย์อ่อนแอลง และเปลี่ยนแปลงภาวะเคมีในร่างกายคน ทำให้ร่างกายต้องพึ่งพิงอาหารประเภทนั้น เมื่อสภาพเช่นนี้เกิดขึ้น ไวตามินเสริมและยาก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น สถานการณ์เช่นนี้มีแต่สร้างความลำบากให้กับเกษตรกร และความทุกข์ให้กับผู้บริโภค

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:14:30 pm »


๓.๕

เกษตรกรรมเพื่อการค้าจะล้มเหลว


                เมื่อความคิดเกี่ยวกับเกษตรกรรมเพื่อการค้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ผมได้แสดงความเห็นคัดค้าน เกษตรกรรมเพื่อการค้าในญี่ปุ่นจะไม่ก่อให้เกิดผลกำไรแก่เกษตรกรเลย ในหมู่พ่อค้ามีหลักอยู่ว่าสินค้าซึ่งมีราคาทุนที่แน่นอนจำนวนหนึ่งถ้าเพิ่มกรรมวิธีอะไรเข้าไปอีก ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อนำสินค้าออกขาย แต่วงการเกษตรกรรมของญี่ปุ่นไม่มีลักษณะตรงไปตรงมานัก ปุ๋ย อาหาร อุปกรณ์ และสารเคมีต้องซื้อมาในราคาที่กำหนดไว้ตายตัวจากต่างประเทศ และไม่มีการบอกให้รู้ว่าราคาที่แท้จริงต่อปอนด์เป็นเท่าไร เมื่อมีการใช้สินค้านำเข้าพวกนี้ ราคาจะขึ้นอยู่กับพ่อค้าโดยสิ้นเชิง และราคาขายก็ถูกกำหนดไว้ตายตัวเช่นกัน ด้วยเหตุนี้รายได้ของเกษตรกรจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา

            โดยทั่วไป เกษตรกรรมเพื่อการค้าเป็นเรื่องที่ไม่มั่นคง เกษตรกรจะเป็นอยู่ดีกว่าถ้าเขาปลูกธัญญาหารที่จำเป็นต่อการเลี้ยงชีพของเขา โดยไม่ต้องคิดถึงการขายเอาเงิน เมื่อคุณปลูกข้าวเมล็ดหนึ่ง มันจะให้ผลมากกว่าพันเมล็ด ผักกาดหัวเพียงแถวเดียวก็เพียงพอที่จะทำผักดองไว้กินตลอดฤดูหนาว ถ้าคุณปฏิบัติตามแนวคิดนี้ คุณจะมีอาหารกินอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องต่อสู้แย่งชิง แต่ถ้าคุณตัดสินใจจะหาเงิน ก็เท่ากับว่าคุณขึ้นนั่งบนยวดยานของการแสวงหากำไร และมันจะควบขับไปด้วยความเร็วชนิดที่คุณควบคุมไม่ได้

            เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมเคยคิดเกี่ยวกับไก่พันธุ์ไวท์เล็กฮอร์น เพราะว่าไก่ไวท์เล็กฮอร์นพันธุ์ปรับปรุงให้ไข่มากกว่า ๒๐๐ วันต่อปี การเลี้ยงเพื่อหากำไรก็ดูจะเป็นธุรกิจที่ดีทีเดียว เมื่อเลี้ยงเพื่อการค้า ไก่พวกนี้จะถูกขังเป็นแถวยาวอยู่ในกรงขนาดเล็กไม่ผิดกับคุกในสถานดัดสนดาน และตลอดชีวิตของพวกมัน เท้าจะไม่เคยได้สัมผัสกับพื้นดิน ไก่พวกนี้จะเป็นโรคได้ง่าย จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะอย่างเต็มที่ และเลี้ยงด้วยอาหารที่ประกอบด้วยไวตามินและฮอร์โมน

            ไก่พื้นบ้านสีน้ำตาลและสีดำที่เรียกว่าชาโมและชาโบ เลี้ยงกันมาตั้งแตสมัยก่อนให้ไข่ได้เพียงครึ่งเดียวของไก่พันธุ์เล็กฮอร์น ด้วยเหตุนี้ไก่พื้นบ้านพวกนี้เลยค่อยสูญหายไปจากญี่ปุ่น ผมเลี้ยงไก่ตัวเมีย ๒ ตัว ไก่ตัวผู้ ๑ ตัว และปล่อยให้มันวิ่งเล่นตามเชิงเขาอย่างเสรี หลังจากนั้น ๑ ปี มันกลายเป็น ๒๒ ตัว เมื่อมันเริ่มวางไข่น้อยลง ไก่พื้นบ้านพวกนี้ก็จะวุ่นอยู่กับการเลี้ยงลูกไก่

            ในปีแรกไก่เล็กฮอร์นจะวางไข่มากกว่าไก่พื้นบ้านมาก แต่หลังจากนั้น ๑ ปี ไก่ไวท์เล็กฮอร์นเริ่มหมดสมรรถภาพและไม่ออกไข่ ในขณะที่ไก่ชาโมมีลูกไก่ที่แข็งแรงเพิ่มขึ้น ๑๐ ตัว วิ่งเล่นอยู่ใต้ต้นไม้ในสวน ยิ่งกว่านั้นการที่ไก่ไวท์เล็กฮอร์นวางไข่ได้ดี ก็เพราะเลี้ยงมันด้วยอาหารเสริมสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ และต้องซื้อจากพ่อค้า ไก่พื้นบ้านๆคุ้ยเขี่ยอาหารไปทั่วกินเมล็ดผักหรือแมลงในบริเวณนั้น และวางไข่ที่เป็นธรรมชาติและมีรสอร่อย

            ถ้าคุณคิดว่าผักที่ปลูกขายตามท้องตลาดเป็นของธรรมชาติ คุณจะตกใจมากทีเดียวถ้ารู้ว่าพืชผักเหล่านี้สงเคราะห์ขึ้นจากสารเคมีเหลวพวกในโตรเจนฟอสฟอรัส และโปแตส โดยความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากการงอกของเมล็ด และนั่นแหละรสชาติของมันจึงเป็นแบบนั้น และไข่ไก่ (ถ้าคุณจะเรียกมันเช่นนั้น) ก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าเป็นส่วนผสมของอาหารสงเคราะห์ สารเคมีและฮอร์โมนนี่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่คนสงเคราะห์ขึ้นในรูปของไข่ เกษตรกรผู้ผลิตผักและไข่ในลักษณะนี้ ผมขอเรียกว่า ผู้ผลิตทางออุตสาหกรรมจะเหมาะกว่า

            เอาล่ะ ถ้าคุณพูดถึงการผลิตทางอุตสาหกรรม คุณก็ต้องฝันหน่อยถ้าต้องการหากำไร เกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายถ้าไม่หาเงิน เขาก็จะเหมือนพ่อค้าที่ใช้ลูกคิดไม่เป็น คนแบบนั้นต้องถูกหาว่าเป็นคนโง่ และผลกำไรของเขาจะถูกฉกฉวยไปโดยพวกนักการเมืองและเซลส์แมน

            ในอดีต เรามีนักรบ ชาวนา ช่าง และพ่อค้า เกษตรกรรมนั้นถือกันว่าเป็นงานที่ใกล้ชิดกับต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่งยิ่งกว่าการค้าหรืออุตสาหกรรม กล่าวกันว่า ชาวนาเป็น "ผู้รินเครื่องดื่มถวายพระผู้เป็นเจ้า" พวกเขาล้วนสามารถจัดการกับชีวิตด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งและหาได้พอกินเสมอ

            แต่มาบัดนี้กลับมีความวุ่นวายในการหาเงินหาทอง การผลิตทางการเกษตรที่ล้ำสมัย เช่น องุ่น มะเขือเทศ และแตงเทศ ดอกไม้และผลไม้ปลูกนอกฤดูกาลในห้องกระจก การผสมพันธุ์ปลา และการเลี้ยงวัวควายเพื่อหากำไรก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น

            แบบแผนเป็นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อการเกษตรไปผูกพันอยู่กับความผันแปรทางเศรษฐกิจ การขึ้นลงของราคาเป็นไปอย่างรุนแรง กำไรนั้นมีจริง แต่ขาดทุนก็จริงเช่นกัน

            ความล้มเหลวนั้นเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกษตรกรรมของญี่ปุ่นได้หลงทิศหลงทางไปแล้ว และตกอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง มันได้เฉไฉออกจากหลักการพื้นฐานของเกษตรกรรม และกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:13:38 pm »



๓.๔

อาหารธรรมชาติและการตลาด


                เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยส่งข้าวประมาณ ๘๘-๑๑๐ บูเชล (๒,๒๗๒.๗-๒,๙๕๔.๕ กิโลกรัม) ไปยังร้านขายอาหารธรรมชาติในภาคต่าง ๆ ของประเทศ ผมยังส่งส้มแมนดารินบรรจุกล่อง ๆ ละ ๓๕ ปอนด์ (๑๕.๔ กิโลกรัม) จำนวน ๔๐๐ กล่องไปกับรถบรรทุกขนาด ๑๐ ตันไปให้กับสมาคมสหกรณ์ ซึ่งอยู่ที่อำเภอซูจินามิในโตเกียวอีกด้วย ประธานสหกรณ์ต้องการขายผลผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี และนี่เป็นที่มาของการทำสัญญาซื้อขายระหว่างเรา

            ปีแรกนั้นประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง แต่ก็ยังคงมีเสียงบ่นอยู่บ้างว่าขนาดของผลไม้มีความหลากหลายแตกต่างกันมากเกินไป ผิวนอกยังสกปรกอยู่บ้างเล็กน้อย บางทีผิวก็มีริ้วรอยเหี่ยวเฉาและอื่น ๆ ผมบรรจุผลไม้ลงในกล่องกระดาษธรรมดา ๆ และก็มีบางคนที่สงสัยโดยไม่มีเหตุผลว่า ผลไม้เหล่านั้นเป็นผลไม้ "ชั้นสอง" ปัจจุบันผมบรรจุผลไม้ในกล่องที่มีตัวอักษรว่า "ส้มแมนดารินธรรมชาติ"

            ด้วยเหตุที่อาหารธรรมชาติสามารถผลิตได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ ผมจึงเห็นว่ามันควรขายในราคาที่ถูกที่สุด ปีที่แล้วผลไม้ของผมมีราคาต่ำที่สุดในเมืองโตเกียว คนขายบอกว่าผลไม้ของผมมีรสชาติอร่อยที่สุด แน่นอน ถ้าผลไม้สามารถกระจายขายกันเฉพาะในท้องถิ่น นั่นจะเป็นวิธีดีที่สุด เพราะสามารถตัดเรื่องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายเพิ่มในการขนส่ง แต่แม้กระนั้น ราคาก็เหมาะสม ผลไม้ไม่ได้ใช้สารเคมีและก็มีรสชาติดี ในปีนี้ผมได้รับใบส่งซื้อผลไม้เพิ่มจากเดิม ๒-๓ เท่า มาถึงจุดนี้ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า อาหารธรรมชาติที่ขายโดยไม่ผ่านตัวกลางควรจะกระจายไปไกลแค่ไหน ผมมีความห่วงประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อไม่นานมานี้ คนปลูกผลไม้ที่ใช้สารเคมีได้ตกอยู่ในสภาพบีบรัดทางเศรษฐกิจและเหตุนี้เองที่ทำให้ผลผลิตที่เป็นอาหารธรรมชาติมีความน่าดึงดูดใจต่อพวกเขามากกว่า ไม่ว่าเกษตรกรจะทำงานหนักมากขึ้นโดยเฉลี่ยแค่ไหน ตั้งแต่การใช้สารเคมี การใส่สี การเคลือบไข และอื่น ๆ เขาจะขายผลไม้ได้ในราคาที่เพียงคุ้มกับค่าใช้จ่ายเท่านั้น ในปีนี้แม้แต่สวนผลไม้ที่มีผลไม้ดีกว่าสวนอื่น ๆ ก็คาดว่าจะมีกำไรปอนด์ละไม่ถึง ๕ เซนต์ ส่วนเกษตรกรที่มีผลไม้คุณภาพต่ำกว่าทั่วไปเพียงเล็กน้อย ก็จะต้องขาดทุนย่อยยับแน่

            เนื่องจากราคาพืชผลได้ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สหกรณ์การเกษตรและศูนย์คัดเลือกขนาดเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น และจะคัดเลือกผลไม้ที่มีคุณภาพสูงจริง ๆ เท่านั้น ผลไม้ที่มีคุณภาพรองลงมาจะไม่สามารถขายให้กับศูนย์คัดเลือกขนาดได้เลย หลังจากใช้เวลาทั้งวันในสวนเพื่อเก็บส้ม ขนมาใส่หีบห่อและบรรทุกมาส่งที่โกดังของศูนย์คัดเลือก เกษตรกรต้องทำงานจนถึง ๕ ทุ่มเที่ยงคืน ในการคัดเลือกผลไม้ทีละลูก โดยเลือกเอาเฉพาะลูกที่มีขนาดและรูปทรงดีที่สุด*

            ผลไม้ที่มีขนาดดีตามต้องการโดยเฉลี่ยแล้ว จะมีเพียงร้อยละ ๒๕-๕๐ ของผลไม้ทั้งหมด และผลไม้ที่คัดแล้วนี้บางส่วนศูนย์คัดเลือกก็ไม่รับซื้อด้วย ถ้ามีกำไรอยู่ในราวปอนด์ละ ๒-๓ เซนต์ ก็ถือว่าเป็นกำไรค่อนข้างดี ชาวสวนส้มที่น่าสงสารพวกนี้ต้องทำงานหนัก และบางทีก็ยังขาดทุนหมดเนื้อหมดตัวอีกด้วย

            การปลูกผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ย หรือพรวนดิน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อย ดังนั้น กำไรสุทธิของเกษตรกรจะสูงขึ้น ผลไม้ที่ผมส่งไปขายไม่ไดคัดเลือกขนาด ผมเพียงแต่เอาผลไม้ใส่หีบห่อแล้วส่งไปที่ตลาด และก็เข้านอนแต่หัวค่ำ

            เกษตรกรเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ของผมก็รู้ว่าพวกตนนั้นทำงานหนักมากเพียงเพื่อจะหมดเนื้อหมดตัวในที่สุด ความรู้สึกที่ว่าการผลิตอาหารธรรมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องแปลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น และผู้ผลิตก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เกษตรกรโดยเฉลี่ยยังคงกังวลว่าจะไม่มีตลาดรับซื้อผลิตผลของตน จนกว่าอาหารธรรมชาติจะสามารถกระจายในระดับท้องถิ่นมากขึ้น

            ในฝ่ายของผู้บริโภค โดยทั่วไปมักจะคิดว่า อาหารธรรมชาติควรมีราคาแพง ถ้าอาหารธรรมชาติไม่แพง คนจะลังเลสงสัยว่าไม่ใช่อาหารธรรมชาติ พ่อค้าขายปลีกคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับผมว่า คนจะไม่ซื้อสินค้าจากธรรมชาติถ้าราคาไม่แพง

            ผมคิดว่าอาหารธรรมชาติควรขายในราคาถูกกว่าอย่างอื่น หลายปีก่อนร้านอาหารธรรมชาติในโตเกียวสั่งซื้อน้ำผื้งที่ก็บจากสวนส้ม และไข่ไก่จากไร่นาของผม เมื่อผมพบว่าพ่อค้าขายสินค้าเหล่านี้ในราคาที่สูงกว่าที่ควร ผมรู้สึกโกรธมาก ผมรู้ว่าพ่อค้าที่ต้องการเอาเปรียบลูกค้าในลักษณะนี้ จะผสมข้าวของผมกับข้าวอื่นด้วยเพื่อเพิ่มน้ำหนัก นี่ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่ไม่ยุติธรรม ตั้งแต่นั้นมาผมเลยเลิกส่งสินค้าไปให้ร้านนั้นอีก

            ถ้าอาหารธรรมชาติมีราคาสูง นั่นแสดงว่าพ่อค้าได้เอากำไรมากเกินควรจากลูกค้า ยิ่งกว่านั้นถ้าอาหารธรรมชาติมีราคาแพง มันจะกลายเป็นอาหารฟุ่มเฟือย และมีเพียงคนรวยเท่าพื้นที่จะซื้อหามากินได้

            ถ้าอาหารธรรมชาติได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง สินค้าธรรมชาติก็จะหาซื้อได้ในท้องถิ่นด้วยราคาที่เหมาะสม ถ้าผู้บริโภคเพียงแต่จะปรับทัศนคติของตนว่าราคาต่ำไม่ได้หมายความว่าอาหารนั้นไม่ใช่อาหารธรรมชาติ เมื่อนั้นทุกคนก็จะคิดในแนวทางที่ถูกต้อง

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ผลไม้ที่ศูนย์ไม่รับซื้อ จะขายให้แก่บริษัทเอกชนในราคาเพียงครึ่งเดียว เพื่อเอาไปคั้นเป็นน้ำผลไม้

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 03:11:13 pm »


๓.๓

ผลพวงในยามยาก


                ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าตนเองไม่มีส่วนก่อปัญหามลภาวะในทางการเกษตร พวกเขาจำนวนมากเรียกร้องอาหารที่ปราศจากสารเคมี แต่อาหารที่ใช้สารเคมีนั้นออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นหลัก ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ผิวสวย และไม่มีตำหนิ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ สารเคมีทางการเกษตรซึ่งไม่เคยใช้มาก่อนเมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายรวดเร็ว

             สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้คนกล่าวว่าเขาไม่สนใจหรอกถ้าแตงกวาจะมีรูปร่างตรง เรียว หรือหงิกงอ และผลไม้ก็ไม่จำเป็นต้องมีรูปทรงภายนอกที่สวยงาม แต่ลองไปดูในตลาดขายส่งที่โตเกียว ถ้าคุณอยากจะเห็นว่าราคาขึ้นกับความพอใจของผู้บริโภคอย่างไร เมื่อผลไม้มีลักษณะที่ดูดีกว่าสักเล็กน้อย คุณจะได้ราคาเป็นพิเศษปอนด์ละ ๕-๑๐ เซนต์ เมื่อผลไม้ถูกคัดขนาดเป็น "เล็ก" "กลาง" หรือ "ใหญ่" ราคาต่อปอนด์จะต่างกันถึง ๒-๓ เท่า ตามขนาดที่เพิ่มขึ้น

             การที่ผู้บริโภคยินดีจะซื้ออาหารที่ผลิตนอกฤดูกาลในราคาที่สูงขึ้น ก็มีส่วนทำให้เพิ่มการใช้สารเคมี และวิธีการปลูกเทียมที่อาศัยเครื่องมือต่าง ๆทางวิทยาศาสตร์ ปีที่แล้วส้มอุนชูที่ปลูกในเรือนกระจกเพื่อส่งขายในฤดูร้อน* ได้ราคาสูงกว่าส้มตามฤดูกาลถึง ๑๐-๒๐ เท่า แทนที่ราคาปกติจะตกปอนด์ละ ๑๐-๑๕ เซนต์ ราคาจะพุ่งสูงถึงปอนด์ละ ๘๐ เซนต์ถึง ๑ เหรียญสหรัฐ บางทีจะสูงถึง ๑.๗๕ เหรียญ ดังนั้นถ้าคุณลงทุนเป็นจำนวนพัน ๆ ดอลลาร์ในการติดตั้งอุปกรณ์ ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มเวลาทำงาน คุณก็จะได้กำไร

             การเกษตรนอกฤดูกาลได้กลายเป็นความนิยมมากขึ้นทุกที การได้กินส้มแมนดารินก่อนเวลา ๑ เดือน ก็สามารถทำให้ชาวเมืองยินดีจ่ายราคาเป็นพิเศษให้กับการลงทุนที่เพิ่มทั้งในแง่แรงงานและเครื่องมือของเกษตรกร แต่ถ้าคุณลองถามดูว่ามันมีความสำคัญแค่ไหนต่อมนุษย์ในการที่จะได้กินผลไม้นี้ก่อนเวลา ๑ เดือน ความจริงก็จะเป็นว่า มันไม่มีความสำคัญอะไรเลย และเงินก็มิใช่ราคาค่างวดเพียงอย่างเดียวที่เราจ่ายให้กับการตามใจปากเช่นนั้น

             ยิ่งกว่านั้น สารที่ทำให้เกิดสิ่งไม่เคยใช้เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันก็นำมาใช้กัน สารตัวนี้ทำให้ผลไม้มีสีสันเหมือนสุกเต็มที่เร็วขึ้น ๑ อาทิตย์ ขึ้นอยู่กับว่าผลไม้นี้จะขายได้ก่อนหรือหลังวันที่ ๑๐ ตุลาคมประมาณ ๑ อาทิตย์ ซึ่งราคาอาจจะขึ้นไปเป็นสองเท่า หรือตกลงมาเหลือครึ่งเดียว ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรจึงใช้สารเคมีเร่งให้เกิดสี และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วต้องเก็บผลไม้ไว้ในห้องอบเพื่อใช้แก๊สรมให้สุก

             ผลไม้ที่ส่งออกขายก่อนเวลา มักจะไม่ค่อยหวาน ดังนั้นจึงต้องใช้สารเคมีเพิ่มความหวาน คนโดยทั่วไปคิดกันว่าสารเคมีเพิ่มความหวานเป็นสิ่งที่ถูกห้ามใช้ แต่ยาพ่นความหวานเทียมบนต้นส้มไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คำถามก็คือมันจัดอยู่ในประเภท "สารเคมีทางการเกษตร" หรือไม่ อย่างไรก็ตามเกือบทุกคนล้วนใช้สารเคมีดังกล่าว

             จากนั้นผลไม้จะถูกส่งไปยังศูนย์คัดเลือกผลไม้ของสหกรณ์ ผลไม้จะถูกปล่อยไปตามสายพาน ซึ่งมีความยาวหลายร้อยหลาเพื่อแยกขนาดใหญ่ เล็ก จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีรอยถลอก ยิ่งศูนย์คัดเลือกมีขนาดใหญ่เท่าไร ผลไม้ก็ยิ่งต้องหมุนไปบนสายพานและถูกกระทบกระแทก กลิ้งตกลงมามากเท่านั้น หลังจากใช้น้ำล้างแล้ว ส้มแมนดารินเหล่านี้จะถูกฉีดสารกันเสีย และเคลือบด้วยสารให้สี ขั้นตอนสุดท้ายจะใช้น้ำยาฟาราฟินเพื่อชักเงา และผลไม้จะถูกขัดให้เป็นมันวาว ทุกวันนี้ ผลไม้ล้วนแต่ต้อง "ผ่านโรงงาน" ทั้งสิ้น

             ดังนั้นนับจากเวลาก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลไม้ไปจนถึงเวลาที่ส่งออกไปและวางขายอยู่ตามแผงมีสารเคมีที่ถูกนำมาใช้มากถึง ๕-๖ ชนิดนี้ มิต้องกล่าวถึงปุ๋ยเคมีและยาพ่นที่ใช้ในขณะที่ไม้ผลพวกนี้ยังอยู่ในสวน และทั้งหมดนี้ก็เพียงเพราะผู้บริโภคต้องการซื้อผลไม้ที่ดูสวยงามต้องตาขึ้นอีกสักนิด ขอบเขตของความพึงพอใจเพียงเล็กน้อยนี้ ได้ผลักดันให้เกษตรกรไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้

             วิธีการทั้งหลายแหล่ที่นำมาใช้เหล่านี้มิใช่เพราะเกษตรกรพึงพอใจจะทำเช่นนั้น หรือเพราะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรพอใจที่จะให้เกษตรกรต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นเช่นนี้ แต่ตราบใดที่ค่านิยมโดยทั่วไปยังไม่เปลี่ยน ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ได้

             เมื่อผมทำงานอยู่ในกรมศุลกากรแห่งเมืองโยโกฮาม่า ประมาณ ๔๐ ปีที่แล้วส้มซันควิสก็มีลักษณะการจัดการในรูปแบบนี้ ผมได้คัดค้านอย่างรุนแรงต่อการนำระบบเช่นนี้มาใช้ในญี่ปุ่น แต่คำพูดของผมไม่อาจหยุดยั้งระบบที่นำมาใช้ในปัจจุบันนี้ได้

             ถ้าครอบครัวเกษตรกรสักครอบครัวหนึ่ง หรือสหกรณ์ใช้วิธีการใหม่ เช่น การเคลือบไขลงบนเปลือกส้มแมนดาริน เพราะว่าการเพิ่มการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษย่อมทำให้ผลกำไรสูงขึ้นด้วย สหกรณ์การเกษตรแห่งอื่นก็จะจดจำไว้และในไม่ช้าเขาก็จะเอาอย่างบ้าง ผลไม้ที่ไม่ได้เคลือบไขจะไม่มีราคาสูงนัก และเพียงชั่วเวลา ๒-๓ ปี การเคลือบไขบนผลไม้ก็จะแพร่หลายไปทั่วประเทศ แต่ในทีสุดการแข่งขันก็จะทำให้ราคาตกต่ำลง และสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือภาระของเกษตรกรที่ต้องทำงานหนัก และต้นทุนสูงขึ้นเพราะอุปกรณ์เครื่องมือทั้งหลาย และถึงตอนนี้เขาก็จำเป็นต้องเคลือบไขบนผลไม้

             แน่นอน ผู้บริโภคได้รับผลเสียด้วย อาหารที่ไม่สด สามารถขายได้เพราะมัน "ดู"สด พูดตามหลักชีววิทยา ผลไม้ที่เริ่มเหี่ยวจะผ่อนการหายใจคายน้ำและลดการทำงานที่ต้องใช้พลังงานให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ มันก็เหมือนกับคนทำสมาธิที่เมตาบอลลิซึม การหายใจ การใช้พลังงานของร่างกายอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แม้ว่าเขาจะอดอาหารแต่พลังภายในร่างกายก็ยังถูกเก็บรักษาไว้ได้ ในลักษณะเดียวกัน เมื่อส้มแมนดารินเริ่มเหี่ยว ผลไม้เริ่มเฉา และผักเดิมไม่สด มันจะอยู่ในสภาพที่จะพยายามรักษาคุณค่าทางอาหารให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

             เป็นความผิดพลาดที่พยายามรักษาความสดเพียงสภาพภายนอก เพราะเมื่อคนขายพ่นน้ำลงบนผักครั้งแล้วครั้งเล่า ผักอาจจะแลดูสดก็จริงแต่รสชาติและคุณค่าทางอาหารจะลดน้อยลงไป

             อย่างไรก็ตาม สหกรณ์การเกษตรทั้งหลาย และศูนย์คัดเลือกขนาดได้รวมตัวกัน และเผยแพร่กิจกรรมอันไม่จำเป็นเหล่านี้ สิ่งนี้เรียกว่า "ความทันสมัย" สินค้าที่ผลิตขึ้นจะถูกนำมาบรรจุหีบห่อ และอาศัยระบบการขนส่งขนาดใหญ่ และสินค้าก็จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค

             อาจจะกล่าวได้ว่าตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับขนาดและความสวยงามภายนอกยิ่งกว่าคุณภาพ ก็จะไม่มีหนทางแก้ไขปัญหามลภาวะทางอาหาร

 

--------------------------------------------------------------------------------

* ผลไม้ชนิดนี้ตามธรรมชาติจะสุกในตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง