ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2011, 07:05:26 pm »ข้อนี้อธิบายว่า การเจริญโพชฌงค์ ก็เป็นเช่นเดียวกับการเจริญอานาปานสติ กล่าวคือ มีหลักเกณฑ์อย่างหลายวิธี ต่อเมื่อเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์เท่านั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์ หรือตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์. อานาปานสติ อย่างของอริฏฐภิกษุ ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องเป็นอานาปานสติที่มีวัตถุ ๑๖ จึงจะสำเร็จประโยชน์. ข้อนี้ฉันใด กรณีของการเจริญโพชฌงค์ ก็ฉันนั้น กล่าวคือการเจริญโพชฌงค์ในลักษณะอย่างอื่น ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ แต่ต้องเป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก ที่อาศัยวิราคะ ที่อาศัยนิโรธ และที่น้อมไปเพื่อโวสัคคะเท่านั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์.
คำว่า อาศัยวิเวก หมายความว่า การปฏิบัติของบุคคลนั้นปรารภวิเวกมีวิเวกเป็นที่มุ่งหมาย. คำว่า วิเวก โดยเฉพาะหมายถึงทั้งกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก. การเจริญอานาปานสติในที่สงัด ชื่อว่าปรารภหรืออาศัยกายวิเวกอยู่แล้ว ; การทำจิตให้สงบในอานาปานสติขั้นที่หนึ่งถึงขั้นที่สี่ เป็นการปรารภหรืออาศัยจิตตวิเวก ; อานาปานสติขั้นที่ห้าขึ้นไป จนถึงขั้นสุดท้าย ย่อมปรารภหรืออาศัยอุปธิวิเวกโดยตรง และจัดเป็นวิเวกอื่นโดยอ้อม.เพราะฉะนั้นการเจรญิสัมโพชฌงค์ โดยอาศัยอานาปานสติเป็นบาทฐานจึงเป็นการกระทำที่อาจกล่าวได้ว่า อาศัยวิเวกโดยสมบูรณ์. กายวิเวกแปลว่าสงัดทางกาย คือกายไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งแวดล้อม. จิตตวิเวกแปลว่าความสงัดทางจิต หมายถึงจิตที่ไม่ถูกนิวรณ์รบกวน. อุปธิวิเวก แปลว่า ความสงัดจากอุปธิหมายถึงสันดาน ไม่มีกิเลสอันละเอียดประเภทสัญโญชน์ อนุสัยรบกวน ข้อนี้ทำให้เห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติที่อาศัยวิเวก ย่อมเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกตรงถึงที่สุด.
คำว่า อาศัยวิราคะ หมายความว่า ปรารภหรืออาศัยความจางคลายกล่าวคือ ความคลายออกของความกำหนัด ซึ่งมีอาการเหมือนกับการย้อมติดของสิ่งที่ย้อมผ้า เป็นต้น ข้อปฏิบัติที่ทำให้ราคะหน่ายออก เรียกว่าข้อปฏิบัติอาศัยวิราคะทั้งนั้น การเจริญอานาปานสติ ทำให้มีการคลายออกจากอารมณ์ทางกามไปตั้งแต่ต้นจนปลาย แต่ในขั้นต้น ๆ ยังเป็นไปโดยอ้อมมากเกินไป จึงสังเกตได้ยาก นับตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ห้าเป็นต้นไป ย่อมเห็นอาการที่เป็นไปเพื่อวิราคะโดยชัดแจ้ง และชัดแจ้งเป็นพิเศษในอานาปานสติขั้นที่ ๑๔. เพราะฉะนั้นการเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ จึงเป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิราคะ.
คำว่า อาศัยนิโรธ หมายถึงปรารภหรืออาศัยความดับ หรือธรรมเป็นที่ดับ ด้วยความมุ่งหมายจะไม่ให้มีการเกิดขึ้น โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร ; แต่ประสงค์จะให้มีการดับลง โดยอาการแห่งปฏิจจนิโรธ ซึ่งมักชอบเรียกกันว่าปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร. การเจริญอานาปานสติไม่เปิดโอกาสให้แก่การเกิดขึ้นของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร โดยประการทั้งปวง กล่าวคือไม่มีการปรุงแต่งของสังขารธรรม จนกระทั่งความทุกข์เกิดขึ้น โดยเฉพาะ เช่นเวทนา จะถูกทำ ให้ดับไป ไม่ปรุงแต่งสัญญาและวิตก ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่แปดโดยละเอียด และในขั้นที่ ๑๕ อีกครั้งหนึ่งโดยสรุป. การปฏิบัติโดยทำนองนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความดับ มาเสียตั้งแต่ขั้นที่ยังเป็นเพียงผัสสะด้วยซ้ำไป กล่าวคือ พอสักว่ากระทบผัสสะ ก็มีสติควบคุมไม่ให้เกิดเป็นเวทนาขึ้นมาได้ เรียกว่าดับไปเสียตั้งแต่ในขั้นที่เป็นผัสสะ ถ้าดับไม่ได้ในขั้นผัสสะ คือเกิดเป็นเวทนาขึ้นเสียแล้ว ก็ให้ดับเสียเพียงขั้นที่เป็นเวทนา ไม่ปล่อยให้ปรุงเป็นสัญญา คือความสำคัญว่าเวทนาเป็นของเรา เป็นต้น และไม่ปล่อยให้สัญญาปรุงจนเกิดวิตก หรือตัณหา อันได้แก่ความคิดอยากอย่างนั้นอย่างนี้จนกระทั่งเกิดทุกข์ตามควรแก่ตัณหานั้น. อานาปานสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความรำงับ ความดับแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมโดยอาการอย่างนี้เสมอไป เพราะฉะนั้นการเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ จึงเป็นการปฏิบัติที่อาศัยนิโรธโดยสมบูรณ์อีก อย่างเดียวกัน.
คำว่า “น้อมไปเพื่อโวสัคคะ” หมายความว่า เป็นไปเพื่อความสลัดหรือการปล่อย การวาง ซึ่งสิ่งที่เคยยึดถือไว้ โดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็นของของตน. ตามปกติเบญจขันธ์ที่เป็นภายในทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งถูกยึดถือไว้โดยความเป็นตัวตน เบญจขันธ์ภายนอก หรือเบญจขันธ์ที่เหลือจากนั้นถูกยึดถือไว้โดยความเป็นของของตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกสละ จึงได้แก่เบญจขันธ์ทั้งปวง ที่กำลังถูกยึดถืออยู่ด้วยอุปาทานนั่นเอง. การเจริญอานาปานสติที่เป็นไปอย่างถูกต้อง กล่าวคือ ที่เป็นสติปัฏฐานทั้งสี่อยู่ในตัว ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นย่อมสลัดความยึดถือว่าตน หรือของของตนมาแล้วตั้งแต่ต้นทีเดียว กล่าวคือ เมื่อมีการพิจารณาลมหายใจ โดยประการใดก็ตาม ย่อมกำหนดลมหายใจ หรือกายนั้นโดยความเป็นของไม่ใช่ตน หรือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มาแล้วโดยปริยาย ; ในการกำหนดเวทนาและจิต ก็มีการพิจารณาโดยทำนองนั้นเป็นลำดับมาและสูงยิ่งขึ้น. ครั้นมาถึงอานาปานสติขั้นที่ ๑๖ มีการย้อนกลับไปพิจารณาโดยความไม่ใช่ตนนี้ ตั้งต้นมาใหม่ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งเป็นลำดับมาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นในการเจริญอานาปานสติ ที่สมบูรณ์ด้วยวัตถุ ๑๖ จึงมีการพิจารณา ที่เป็นการสลัดคืนสิ่งทั้งปวง โดยประการทั้งปวง จากความเป็นตัวตนและเป็นของของตนอย่างสิ้นเชิง. โดยเหตุดังกล่าวมานี้ การเจริญโพชฌงค์ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ มีวัตถุ ๑๖ จึงได้ชื่อว่า “โวสสัคคปริณามี” คือน้อมไปรอบเพื่อการปล่อยลง หรือสลัดลงโดยสมบูรณ์ ดังนี้.
เมื่อพิจารณาดูอีกทางหนึ่ง ย่อมพบว่าชื่อทั้ง ๔ นี้ คือวิเวกก็ดี วิราคะก็ดี นิโรธก็ดี และโวสัคคะก็ดี เป็นคำ แทนชื่อของคำ ว่า “นิพพาน” เพราะว่าอาการทั้ง ๔ นั้นเมื่อเป็นไปถึงที่สุดแล้ว ย่อมหมายถึงการบรรลุถึงนิพพาน : วิเวกเป็นชื่อของนิพพาน เพราะสลัดจากกิเลสและความทุกข์. วิราคะเป็นชื่อของนิพพาน เพราะความจางออกของกิเลส โดยไม่มีส่วนเหลือ. นิโรธเป็นชื่อของนิพาน เพราะการดับความปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง. โวสสัคคะ เป็นชื่อของนิพพานเพราะความไม่มีอะไรเกี่ยวเกาะโดยประการทั้งปวง. ฉะนั้น เมื่อถือเอาโดยนัยนี้เป็นอันกล่าวได้ว่า การเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ นั้น ย่อมเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อนิพพานโดยตรง แล้วทำไมจะไม่ทำให้วิชชาและวิมุตติสมบูรณ์ได้เล่า. เมื่อมีการแยกกล่าวเป็นวิชชาและวิมุตติ ก็หมายความว่า กล่าวถึงความรู้กับความหลุดพ้น. ญาณต่าง ๆ ในอานาปานสติทั้งหมด เรียกว่าวิชชาในที่นี้,ผลของอานาปานสติ คือความหลุดพ้นจากิเลสและความทุกข์เรียกว่าวิมุตติในที่นี้. เพราะฉะนั้น การเจริญโพชฌงค์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้.
จากข้อความทั้งหมดนี้ ทำให้สรุปความได้ว่า การเจริญอานาปานสติที่มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่นั้น ได้แก่การเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นอานาปานสติ ที่ทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ และทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ และทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ในที่สุด หรือถ้ากล่าวกลับกันก็กล่าวได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานและการเจริญโพชฌงค์ ที่เป็นไปอย่างสำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดนั้น ต้องตั้งรากฐานอยู่บนอานาปานสติ หรือประกอบด้วยอานาปานสติอยู่ในตัว สมดังพระพุทธภาษิตที่ควรอ้างถึงเป็นข้อสุดท้ายจากมหาวาร. สํ. (๑๙ / ๓๙๕ / ๑๓๐๘) อีกครั้งหนึ่งว่า :-
“ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่าจึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ (คือทำพร้อมกับอานาปานสติ)…. ; ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ;ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สหรคตะด้วยอานาปานสติ…. ; เป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก เป็นโพชฌงค์ที่อาศัยวิราคะ เป็นโพชฌงค์ที่อาศัยนิโรธ เป็นโพชฌงค์ที่น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แลย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่” ดังนี้.
Credit by : http://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.compart23_anapan
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ