ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2012, 01:07:20 pm »๑๐๑. ความดีเป็นของตัว ความชั่วเป็นของเขา
พึ่งท่านไม่เหมือนเรา พึ่งเขาไม่เหมือนตน
ความดีที่จะพ้น ใจของตนจงทำเอา
๑๐๒. ความดีมีในตัวเท่าไข่เหา ความดีของเขาเท่าช้าง ตาเขาฟางมองไม่เห็น
๑๐๓. อบรมปัญญาให้เกิดโดยชอบ รอบคอบด้วยเหตุผล
๑๐๔. มองหลังคอยทำ มองข้างหน้าให้แลเห็น
๑๐๕. อย่าเหยียบคนต่ำ อย่าล้ำคนสูง
๑๐๖. เดินดินระวังเท้า ขึ้นเขาระวังตา
๑๐๗. ความดีและความงาม จงนั่งถามที่ตัวเอง
ความยากและความจนใครอยากพ้นจงทำใจ
๑๐๘. เวลาเขาให้เราโง่ อย่าทำโตเป็นคนฉลาด
เวลาเขาเป็นปราชญ์ เราอย่านั่งอมปาก
๑๐๙. คนที่กลัวตาย ก็จะต้องพบกับความตายอยู่ร่ำไป
ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน ๆ ทั้งนั้น
คนที่หมดความรู้สึกกลัวตาย ก็คือคนที่ไม่ตาย
๑๑๐. “ถ้าใครไม่จริงกับพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาก็ไม่จริงกับผู้นั้น
และผู้นั้นจะรู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้”
๑๑๑.“สรุปแล้ว ความไม่ประมาทคือ ความไม่ตายใจ ไม่นอนใจ
ไม่ไว้ใจในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนใดที่เป็นความดี ควรได้ควรถึง
ให้มีความพยายามสร้างสรรค์ขึ้นให้มีในตน
บุคคลผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท”
๑๑๒.“ดวงจิต ไม่เป็นดีและไม่เป็นชั่ว
แต่เป็นผู้รู้ดีและรู้ชั่ว
เป็นผู้ละดีละชั่ว”
๑๑๓.“ศีลขาด ดีกว่าไม่มีศีลเลย
เพราะคนนุ่งผ้าขาด ย่อมดีกว่าคนเปลือยกาย”
๑๑๔.“ปากเรามันกินผีแยะ เช่น หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย ฯลฯ อาจมีผีสิง
ฉะนั้น ก่อนจะปล่อยวาทะใดด้วยเจตนาใดก็ตาม
ต้องมองซ้ายมองขวาให้ดี
เมื่อเห็นเหมาะเจาะดีแล้ว จึงค่อยพูด
ระวังอย่าให้ผิดมรรยาท”
๑๑๕.“คนก็ไม่เสมอกัน แต่ต้องทำใจของเราให้ เสมอ ไว้”
๑๑๖.“มนุษย์นั้นโง่ ชอบกลืนกินแต่อารมณ์เลว
ใช่แต่เท่านั้น เรื่องที่ไม่มีความจริงก็ยังกลืนเข้าไปอีก
ของดีก็ไม่อยากจะสนใจ
ส่วนของไม่ดีอุตส่าห์ไปกระแด่ว ๆ เอาใจไปจดไปจำ
เนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ”
๑๑๗.“คนโง่นั้นต่อให้นั่งเฝ้าหลุมทองอยู่ก็ไม่มีปัญญา
ทำให้เป็นอะไรได้
คนฉลาด อยู่กับดินกับหญ้า เขาก็ทำให้เป็นเงินเป็นทองได้”
๑๑๘.“สิ่งใดที่เรารักมาก ก็เป็นศัตรูแก่เรามาก
สิ่งใดที่เรารักน้อย ก็เป็นศัตรูแก่เราน้อย สิ่งใดที่เราไม่รักเลย ก็เฉย ๆ”
๑๑๙.“ลมหายใจที่เป็นไปโดยธรรมชาตินั้น มีประโยชน์เพียงกันตายเท่านั้น
ไม่ได้ทำให้เกิดคุณความดีอะไรขึ้นมาได้เลย
ส่วนลมหายใจที่เราตั้งใจให้เป็นไปตามความรู้สึกของเรานั้น
ย่อมทำให้เกิดคุณความดีได้เป็นอเนกประการ”
๑๒๐.“ลม.. ปราบเวทนา สติ.. ปราบนิวรณ์”
๑๒๑.“คนกิเลสหนา สอนง่ายกว่าคนกิเลสบาง
เพราะมันเป็นแผ่นหนา กระเทาะง่าย
ถ้าเปลือกบาง มันปอกยาก
(คือถือว่าตัวดีเสียแล้ว ก็ไม่ค่อยจะยอมละ)”
๑๒๒.“ถ้าเราไปยึดของไม่เที่ยงมาเป็นของตน
เราจะต้องเดินไม่เที่ยงด้วย”
๑๒๓.“ตัวเรา เปรียบเหมือนต้นไม้
ความยึดถือ คือเถาวัลย์
ถ้าเรายินดีในรูป มันก็มัดตา ยินดีในเสียง มันก็มัดหู ฯลฯ
ยินดีในธัมมารมณ์ มันก็มัดใจ
เมื่อเราถูกมัดทั้งหมด เราก็ต้องตาย
บางคนตายไม่ทันใจ ยังต้องมัดคอตัวเองก็มี”
๑๒๔.“ลมหยาบ เป็นยาถ่าย ลมละเอียด เป็นยารักษา ลมกลาง ๆ เป็นยาบำรุง”
ที่มา :http://www.kanlayanatam.com/sara/sara104.htm
กุหลาบสีชา :http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25776