ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 05, 2013, 01:02:44 pm »ยามเมื่อเจ็บป่วย
อาพาธสูตรเป็นการใช้สมาธิเพียงเพื่อให้จิตสงบไม่ซัดส่ายสอดแส่ออกไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง แล้วนำจิตที่สงบดีแล้วนึ้ไปดำเนินวิปัสสนาคือการใช้ความคิดพิจารณาให้เกิดปัญญา คือเห็นความจริง ปัญญาจากการเห็นความจริงนี้นี่เอง จึงเกิดการปล่อยวางคือความยึดมั่น อันอำนวยประโยชน์ช่วยในการรักษาความเจ็บป่วยไข้ได้เป็นอัศจรรย์
รูปขันธ์หรือกายหรือสังขารกายนั้นเป็นสังขาร - สิ่งที่ถูกหรือเกิดขึ้นจากเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นอย่างหนึ่ง จึงย่อมเหมือนสังขารทั้งปวงที่มีความเสื่อมแปรปรวนไปด้วยอำนาจไตรลักษณ์แก่ทุกๆสังขารร่างกายเป็นธรรมดา ที่ย่อมไม่พ้นอำนาจของอนิจจังไม่เที่ยงจึงแปรปรวนไปเจ็บป่วยต่างๆนาๆ ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องแตกดับไปในที่สุด และเพราะอนัตตาไม่มีตัวตนแท้จริง จึงไม่ใช่ตัวใช่ตนของใครๆอย่างแท้จริงเช่นกัน จึงย่อมควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริงไม่ให้เจ็บป่วย ด้วยตัวตนที่เข้าใจว่าเป็นตนหรือของตนนั้นความจริงเป็นเพียงมายาของกลุ่มก้อนหรือมวลรวมของเหล่าเหตุปัจจัยต่างๆที่มาประชุมปรุงแต่งกันขึ้น ที่มายาล่อลวงไปว่าเป็นตนหรือของตัวตน ตัวตนที่เข้าใจผิดว่าเป็นตนนั้น แท้จริงจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันจึงถูกต้อง ดังรูปขันธ์หรือกายนี้ความจริงยิ่งแล้วจึงขึ้นโดยตรงอยู่กับเหตุคือธาตุทั้ง ๔ (ดูทวัตติงสาการ) ด้วยเป็นอนัตตาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตนที่หมายถึงเราหรือของเรา(หรือหมายถึงความปรารถนาของเรา)ดังที่ปุถุชนเข้าใจกันโดยทั่วไป ตนหรือเราจึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาโดยตรง จึงอาจมีการเจ็บป่วยไข้อันเป็นทุกข์เป็นโทษโดยธรรมหรือธรรมชาติของทุกๆสังขารกาย(รูปขันธ์)เกิดขึ้นได้ ในทุกบุคคล เขา เรา ดังที่ท่านได้แสดงไว้ดีแล้วในอาทีนวสัญญาข้างต้น
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ยามที่อาพาธเจ็บป่วยไข้ทางกาย ก็มีท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์แพทย์ประจำพระองค์ เป็นผู้ถวายพระโอสถดูแลรักษา, ดังนั้นปุถุชนแม้อริยสาวกทั้งปวง ยามเมื่อเจ็บป่วยไข้หนักแปรปรวนด้วยอาทีนวะประการใดๆก็ดี อันคือเป็นไปตามธรรมคือธรรมชาติที่ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ก็จำต้องรักษาทางกาย ไปตามเหตุปัจจัยหรือความจำเป็นของโรคนั้นๆโดยอาศัยหมอ แล้วให้ประกอบด้วยการระลึกหรือการเจริญวิปัสสนาในสัญญา ๑๐ ประการ ดังความในอาพาธสูตรนี้ ก็ย่อมจักทำให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นจางคลาย หรือขั้นสงบลงได้โดยพลันเป็นอัศจรรย์นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะการรักษาพยาบาลที่ดีตามเหตุ และประกอบด้วยจิตที่ดีอันเกิดแต่การปฏิบัติเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องดีงาม กล่าวคือ ขณะที่จิตพิจารณาธรรมคือสัญญาทั้ง ๑๐ได้อย่างแนบแน่นนั้น จิตย่อมไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งภายนอกแม้ในเรื่องเจ็บป่วย จิตย่อมสงบมีกำลัง ไม่ฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่ง
และถ้ายิ่งเกิดความเข้าใจในธรรมหรือนิพพิทาย่อมยิ่งยังผลอันยิ่งใหญ่ ดังกล่าวเหล่านี้ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตเกิดกำลังอำนาจที่ดี จากการหยุดความกังวลปรุงแต่งด้วยการเจริญวิปัสสนาอย่างตั้งมั่นได้ ตลอดจนการปล่อยวางจากนิพพิทาที่จักเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาจนรู้ความจริงยิ่งอย่างปรมัตถ์ ย่อมยังให้เกิดอานิสงส์ผลของบุญ คือส่งผลดีที่เป็นกำลังของจิตโดยตรงที่ส่งผลเนื่องไปถึงกายได้อย่างรวดเร็วรุนแรงชนิดเป็นอัศจรรย์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าปาฏิหาริย์จนหายเจ็บป่วยไข้ได้ ดังความที่แสดงในอาพาธสูตรนี้ จึงเป็นฐานะที่จะมีได้ เหตุปัจจัยที่เป็นไปดังนี้ก็เพราะ จิตและกาย(หรือเบญจขันธ์)ต่างล้วนเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันเช่นกันตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอินทรีย์อยู่ ดังที่ได้กล่าวแสดงอยู่เนืองๆเป็นอเนกทั้งในเรื่องขันธ์ ๕ และปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจิตและกายจึงย่อมส่งผลหรือเป็นเหตุเป็นปัจจัยถึงกันและกันอย่างเนื่องสัมพันธ์กันโดยตรงไปในทิศทางเดียวกัน ตราบเท่าที่ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตินทรีย์อยู่นั่นเอง
อำนาจในการรักษาความเจ็บไข้ จึงเกิดขึ้นแต่การปล่อยวางด้วยปัญญากล่าวคือนิพพิทานั่นเอง, ส่วนอำนาจของการรักษาด้วยอำนาจของฌานหรือสมาธิล้วนๆนั้นก็เกิดแต่การปล่อยวางเช่นกัน แต่เป็นการปล่อยวางจากการที่จิตหยุดการฟุ้งซ่านปรุงแต่งจึงเกิดแต่อำนาจของฌานสมาธิขึ้น ซึ่งไม่สามารถทรงอยู่ได้ตลอดไปและอาจเกิดการติดเพลินหรือนันทิคือตัณหาขึ้นได้ในภายหลัง ดังนั้นจึงควรประกอบด้วยการวิปัสสนาในสัญญาทั้ง ๑๐ เป็นสำคัญอีกด้วย
หากแม้นไม่สามารถเป็นฐานะที่จะมีได้ อันเนื่องมาแต่เจ็บป่วยไข้ด้วยถึงกาลวาระหรือวาระสุดท้ายแล้วก็ตามที ผู้ที่เจริญวิปัสสนาดังนี้อยู่เนืองๆในวาระนั้น ก็ย่อมได้รับผลเป็นสุคติ ตามอัตตภาพตนเป็นที่สุดอย่างแน่นอน
ดังนั้นในผู้ที่อาพาธเจ็บป่วยไข้ด้วยโรคอันรุนแรงอันใดก็ดี จึงไม่ควรท้อแท้ใจไปตีอกชกหัว พิรี้พิไร คร่ำครวญรำพัน กล่าวคือเกิดทุกขเวทนาแล้วไม่พิรี้พิไร รำพัน โอดครวญนั่นเอง ควรทำการรักษาพยาบาลตามเหตุที่เป็นปัจจัยให้เกิดในทางโลกหรือทางการแพทย์เสียก่อนนั่นเอง แล้วจึงให้ประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนาในเหล่าสัญญา ๑๐ อยู่เนืองๆเป็นอเนกที่มีโอกาส ก็จักยังประโยชน์แก่ตนยิ่งเป็นสุคติแม้ในปัจจุบัน แลทั้งภายภาคหน้า อย่าได้ไปหลงไปเชื่อแต่สิ่งหลอกลวงในสิ่งศักสิทธิ์เสียอย่างขาดเหตุผลจนเสียการ เสียแม้ชีวิต
สัญญา ๑๐ : ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ควรกำหนดรู้ กำหนดหมายไว้ในใจอยู่เนืองๆ เป็นอเนก มี ๑๐ ประการ คือ
๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมาย กำหนดรู้ความไม่เที่ยงของสังขารคือชีวิตหรือขันธ์ ๕ และแม้สังขารต่างๆอีกทั้งปวง
๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมาย ความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง ล้วนไม่ใช่ตัวใช่ตน ของเราอย่างแท้จริง
๓. อสุภสัญญา กำหนดหมาย ความไม่งาม เป็นปฏิกูลแห่งกาย ทั้งกายตนแลผู้อื่น ทุกบุคคล เขา เรา
๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายใน ทุกข์แลโทษแห่งกาย กล่าวคือย่อมมีโรค,อาพาธต่างๆเป็นของคู่กับสังขารกายอีกด้วย โดยธรรมหรือธรรมชาติ
๕. ปหานสัญญา กำหนดหมาย เพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม ตั้งแต่บรรเทา ลดละ จนถึงกำจัด
๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายว่า วิราคะ คืออริยมรรคว่า เป็นธรรมอันสงบ ธรรมอันประณีต การคลายความอยากได้หายติด เป็นมรรคอันประเสริฐ เป็นสมบัติของอริยะควรแก่การปฏิบัติ
๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายว่า นิโรธ คืออริยผล ว่า เป็นธรรมอันสงบ ธรรมอันประณีต เมื่อบรรลุผลย่อมเป็นสุขอย่างยิ่ง
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมาย ความไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี ไม่น่าอภิรมย์ในโลกทั้งปวง ล้วนดังปรากฏในโลกธรรม ๘ อันเป็นธรรมหรือธรรมชาติของโลก
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมาย ความไม่น่าปรารถนา อึดอัด น่าระอาในสังขารกาย ตลอดแม้สังขารทั้งปวง เพราะการรู้ความจริงดังสัญญาต่างๆข้างต้น ตลอดจนพระไตรลักษณ์ที่แสดงสัีงขารทั้งปวง ล้วนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เนืองๆ ย่อมยังให้เกิดปัญญาจนเกิดนิพพิทาในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานัสสติ การมีสติกำหนดรู้ในลมหายใจเข้าออก เป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องกำหนด(จึงไม่ได้หมายถึง การใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์หรือวิตกเพื่อการทำฌานสมาธิแต่อย่างเดียว กล่าวคือให้มีสติ ไม่ขาดสติเลื่อนไหลลงภวังค์ไปในฌานสมาธิระดับประณีต) ย่อมทำให้จิตสงบระงับไม่ดำริพล่าน หรือไม่ส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านออกไปภายนอกให้เกิดการผัสสะต่างๆให้เป็นเกิดทุกขเวทนาหรือทุกข์อันเร่าร้อน
สัญญา ๑๐ จึงใช้ปฏิบัติวิปัสสนา และมีอานิสงส์ให้สงบระงับจากการเจ็บไข้หนักด้วย เป็นฐานะที่พึงมีได้
:http://nkgen.com/801.htm