ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 17, 2013, 07:34:39 pm »*สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมของคนดีที่ควรรู้)*
ตอนที่ 2
3. รู้ตน : อัตตัญญู คือ การรู้จักตนเอง ถือเป็นข้อ "รู้" ที่ยากที่สุด
เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และมักเข้าข้างตัวเอง ทำให้คนส่วนใหญ่จึงมองตัวเองไม่ออก บางครั้งต้องอาศัยคนใกล้ชิดเป็นกระจกช่วยสะท้อนตัวเรา ฉะนั้นคำเตือนของเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่อง หรือมีข้อดี หรือมีข้อด้อยอย่างไร จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขได้
ฉะนั้น คนที่อยากรู้ตน จำเป็นที่จะต้องรู้จักสังเกตตัวเอง โดยใช้วิธี "ปิดตานอก เปิดตาใน" ดังคำกลอนที่ว่า :-
*โลกภายนอก กว้างไกล ใคร ๆ รู้
โลกภายใน ลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม
จะมองโลก ภายนอก มองออกไป
จะมองโลก ภายใน ให้มองตน*
ฉะนั้น อย่ามัวคิดเอาเองว่า ตัวเองเก่ง ! ตัวเองแน่ ! ตัวเองดี !
โดยยังไม่ได้เจอปัญหาและอุปสรรคอะไรเลย ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ นั้นจะทำให้เราเรียนรู้และมองเห็นตัวเองได้อย่างขัดเจนว่า เรามีความสามารถแค่ไหน และอดทนได้มากเพียงไร
เมื่อรู้ตนแล้ว เราก็จะเห็นว่าชีวิตของเรานั้นยังไม่สงบ ยังมีเรื่องวุ่นวายติดยึด ขัดเคืองอะไรบ้างที่ต้องจัดการ ขณะเดียวกัน ในแง่ความสัมพันธ์กับคนอื่น เราก็จะรู้ "ฐานะ" และ "หน้าที่" ของตัวเอง วางตัวเองได้อย่างเหมาะสม อย่างนี้เรียกว่า "รู้ตน" หรือรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เมื่อรู้แล้ว จะสามารถพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น
แต่ถ้าหากเราหลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่า ฉันเป็นคนดี ทุกคนต้องชื่นชมฉัน เมื่อเจอปัญหาในโลกของความเป็นจริง เช่น มีคนด่าว่า ไม่เข้าใจ ไม่ชื่นชม ก็จะเกิดความทุกข์หนัก บางคนก็ไปโทษโชคชะตา ว่า
"เรานี่เป็นคนที่อาภัพ ทำคุณกับคนไม่ขึ้น" คิดไปต่าง ๆ นานา กลายเป็นความทุกข์ซ้ำกรรมซัด
ต่างจากคนที่ชอบความท้าทาย เรื่องง่าย ๆ ก็ปล่อยให้คนอื่นเขาทำไป แต่ถ้าเรื่องไหนยาก เรื่องไหนลำบาก ขอให้บอกเลย ชอบมาก เพราะคิดว่ามันท้าทายสติปัญญา เรียกว่า "เห็นทุกข์...สนุกดี"
อย่างนี้เราก็ไม่กลัวความทุกข์ ไม่กลัวปัญหาอีกต่อไป
ความทุกข์และปัญหาเหล่านั้นก็ยังช่วยลับสมอง ทำให้เรามีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรับภาระหนัก และทนความเครียดได้ ขณะเดียวกันเราก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้น เช่น เมื่อผ่านปัญหาหนัก ๆ เราก็รู้ว่าอะไรที่เหมาะกับตัวเรา ความเครียดขนาดไหนที่เรายังทนได้ หรือความเครียดขนาดไหนที่จะทำให้เราทุกข์หรือเจ็บป่วยได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่น เมื่อเราต้องเลือกสถานที่ทำงาน เราก็จะรู้ว่าที่ไหนที่เราพอจะทำประโยชน์ได้และไม่ทุกข์มาก
สิ่งเหล่านี้ คือ อานิสสงฆ์จากการ "รู้ตน" คือ เรารู้จักตัวเอง
4. รู้ประมาณ : มัตตัญญู คือ รู้จักประมาณ รู้จักความพอดี พอเพียง พอเหมาะ คำว่า "พอ" นี้สำคัญมาก ดังคำกลอนที่ว่า :-
*รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน
รู้จักกาล เวลา พาสดใส
รู้จักตน พ้นทุกข์ มีสุขใจ
รู้จักใคร ไม่สู้ เท่ารู้ตัว*
ประโยคที่ว่า "รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน" คำว่า "พอ" หมายถึง
"หยุด" และเมื่อเรารู้จักหยุด มันก็หมดปัญหา แต่ส่วนใหญ่นั้น ยังโลภไม่หยุด หลงไม่หยุด โกรธไม่หยุด ทำให้ยังไม่หมดปัญหาเสียที ฉะนั้น ถ้าเราอยากหมดปัญหา เราก็แค่รู้จักพอ ไม่ว่าจะเป็นพอที พอเถอะ พอแล้ว พอใช้ได้ พอสมควร พอเพียง พอใจ พอดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ไม่เกิดปัญหา
ถามว่า "ความพอคืออะไร ?"
ความพอ ก็ตือ "ทางสายกลาง" อะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็ก่อปัญหาได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ จากการกินอาหารทุกวันของคนเรา ถ้ากินน้อยเกินไป ก็กลายเป็นคนขาดอาหาร แต่ถ้ากินมากเกินไป ก็เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา
หากเรายังไม่รู้พอ รู้ประมาณ ก็ย่อมเจอปัญหาเรื่อยไป...
5. รู้กาล : กาลัญญู คือ รู้จักกาล หรือรู้จักเวลานั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์" ถ้าคนเข้าใจเรื่องกาลอย่างถ่องแท้ เขาจะเข้าใจ "อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท" แล้วจะพ้นจากกิเลสทั้งหลายได้
กล่าวคือ เมื่อกาลเวลาผ่านไปแล้วย่อมบดขยี้ ล้างผลาญทุกอย่างให้วอดวาย พินาศ หายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ บ้านเมือง หรือ ราชวังที่แข็งแรงปานใด หรือแม้แต่ดวงอาทิตย์ ย่อมก็ต้องดับ เพราะทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดแล้ว ย่อมมีดับ เมื่อกาลเวลาผ่านไป
นอกจากกาลเวลาจะทำให้วัตถุใด ๆ เสื่อมสลายหายไปแล้ว กาลเวลายังสัมพันธ์กับ "กิเลส" ของคนเรา เช่น เมื่อใดที่คนเราเกิดกิเลส กาลเวลาจะทรมานเราให้เป็นทุกข์ แต่เมื่อใดที่เรามีธรรมะ มีสติ กาลเวลาก็จะผ่านไปตามปกติ ไม่ทุกข์ แต่กลับพลิดเพลิน สนุกสนาน มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน และไม่มีตัวตน
* เมื่อตัวตนของเราไม่มี กาลเวลาก็ทำอะไรเราไม่ได้ *
แต่นั่นหมายความว่า เราต้องทำให้ถูกเวลา ทันเวลา และบางครั้งก็ต้องทำก่อนเวลา จะได้ไม่เกิดอาการกระหืดกระหอบ รีบร้อน ร้อนรน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราลืม "สติ" ไม่ว่าจะตกบันได ลืมปิดแก๊ส ลืมกุญแจไว้ในรถ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการลืมสติ หรือที่เราเรียกกันว่า "ขาดสติ" นั่นเอง
สิ่งสำคัญ คือ เราต้อง "รู้จักกาลวลาก่อนหลัง" เช่น ตอนเด็กอยู่ในวัยเรียน ก็ต้องทำหน้าที่เรียนหนังสือไป พอโตเป็นวัยทำงาน ก็ควรตั้งใจทำงาน หรือเมื่อวัยร่วงโรยมาถึง ก็ควรจะต้องดูแลถนอมสุขภาพตัวเอง ไม่ใช่วัยเรียนก็ริรัก หรือวัยร่วงโรยกลับมุทำงานหนัก
อย่างนี้ก็คงจะไม่ไหว นี่เรียกว่าไม่เป็น "กาลัญญู" หรือเป็นผู้ไม่รู้กาลนั่นเอง เมื่อถึงคราวที่ควรทำกลับไม่ทำ ที่ไม่ควรทำกลับทำ ย่อมคลาดจากประโยชน์ที่ควรจะได้ ควรถึง ซ้ำร้ายภัยอันตรายก็ได้ช่องที่จะเกิด...
6. รู้ชุมชน : ปริสัญญู คือ รู้จักสังคม หรือรู้จักชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรม
กฎ กติกา และมารยาททางสังคม ฯลฯ หากเรารู้สิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็จะอยู่ได้ในทุกสังคม ไม่ทำอะไรที่ขัดเคือง เช่น วัฒนธรรมไทย ยกย่องผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไปลามาไหว้ ทักทายด้วยคำที่สุภาพ หากเราไม่รู้ เกิดพูดจาหยาบคาย เดินไปขากเสลดไป ถ่มน้ำลายไป ถอดเสื้อเดินตามใจชอบ ฯลฯ ถามว่า สังคมหรือชุมชนนั้นจะต้อนรับคุณไหม ?
ตอบว่า "ไม่ต้อนรับแน่นอน" เพราะฉะนั้นเราควรที่จะต้องรู้จักกาลเทศะ ซึ่ง "กาล" ก็คือ "เวลา" ส่วน "เทศะ" ก็คือ "สถานที่" เราต้องรู้ว่าเวลาใด และสถานที่ใด ควรที่จะต้องทำตัวอย่างไร
7. รู้บุคคล : ปุคคสัญญู คือ รู้จักบุคคล เนื่องมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรานั้นมีความแตกต่างกัน ร้อยคนก็ร้อยอย่าง ถ้าเรารู้จักนิสัยคน รู้ข้อดี รู้ข้อด้อยของเขา เราก็จะสามารถควบคุมดูแล สื่อสาร ใช้งาน และอยู่ร่วมกับเขาได้อย่างไม่เกิดความขัดแย้งไม่มีปัญหา แม้ว่าจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันก็ตาม
แต่คนเราทุกวันนี้ มักจะไม่พยายามทำความรู้จักกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พ่อแม่ทุกวันนี้ มักจะบังคับลูกให้ทำนั่น ให้ทำนี่ โดยให้เหตุผลว่า "ฉันเกิดมาก่อนแก" จึงเชื่อว่าตัวเองนั้นตัดสินใจแทนลูกได้ดีกว่า
ลืมไปว่าเด็ก ๆ เขาก็มีหัวใจ ซึ่งควรจะให้โอกาสแก่เขาได้ "เลือก" หรือ "ตัดสินใจ" ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เพียงให้คำแนะนำ สอนสิ่งที่เขาควรจะรู้ และส่งเสริมให้ลูกทุกคนงอกงามตามแบบของเขา น่าจะดีกว่า
สังคมที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะพวกที่ถือวิสาสะตัดสินแทนคนอื่นอยู่มากมาย คือ ฉันว่าสิ่งนี้ดี คนอื่นก็ต้องว่าสิ่งนี้ดีด้วย ถ้าใครที่คิดต่าง นั่นคือ ศัตรู ทันที เกิดเป็นความแตกแยกในสังคม แบ่งพรรค แบ่งสี
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า "ทุกอย่างต้องมีความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างนั้น ทำให้เกิดความหลากหลาย แต่ความแตกแยกนั้น ทำให้แหลกสลาย" ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า หลายครอบครัวที่ไม่เคารพในความแตกต่าง พยายามให้ลูกเดินตามทางที่ตัวเองขีดไว้ เช่น พ่อเป็นทหาร ก็บังคับให้ลูกเป็นทหาร สุดท้ายก็อยู่กันไม่ได้ ลูกต้องหนีออกจากบ้าน ทิ้งครอบครัว เพื่อไปอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก ตัวเองถนัด
แม้แต่คู่ครอง เมื่อเรารักก็ดูเหมือนจะเข้ากันได้หมด แต่เมื่อแต่งงานไปแล้ว อะไร ๆ ก็ดูจะแตกต่าง ขัดแย้งกันตลอดเวลา เหตุผลเดียวก็คือ เราไม่รู้บุคคล ไม่รู้ข้อดี และไม่ยอมรับข้อด้อยด้วย ที่สำคัญคือ ไม่เคารพในความแตกต่างของอีกฝ่าย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า หากคนเรามีคุณอันวิเศษ 3 ประการ หรือที่เรียกว่า "พุทธคุณ 3" อันได้แก่ :-
หนึ่ง : "มีปัญญา" รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร และปล่อยให้ปัญญานั้นชำระกิเลส ความเห็นผิด ความหลงผิดของเรา จนเกิดเป็น "บริสุทธิคุณ" เป็นอย่างที่สอง และสาม คือ "กรุณาธิคุณ" คือ รู้แล้วกรุณา
รู้แล้วรัก รู้แล้วเกื้อกูล ให้อภัย รู้แล้วช่วยเหลือเขา ยิ่งรู้มาก ยิ่งช่วยเขามาก ยิ่งมีความสุข อย่างนี้เรียกว่า "รู้แล้ว...ไม่ทุกข์"
แต่ถ้าเรารู้แล้ว ไม่รัก ยิ่งรู้ ยิ่งเจ็บแค้น ยิ่งรู้ ยิ่งซ้ำเติมเขา ยิ่งรู้ ยิ่งเอาเขาไปเปรียบกับคนอื่นให้เจ็บช้ำ อย่างนี้เรียกว่า "รู้แล้ว...ทุกข์"
เพราะรู้แบบไม่มีสติ รู้แบบไม่มีปัญญากำกับ จึงทำให้เกิดทุกข์...
ข้อมูลจาก +sakchai kongmaneepran
>>> G+ อมรา เส้นทางสู่ธรรม