ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 02:32:45 pm »



รู้จักพุทธวัชรยาน (2)

ก่อนเราจะทำความรู้จักมรรควิถีตันตระและซกเช็น มีบางประเด็นเกี่ยวกับวิถีพระสูตรสำหรับนักบวชซึ่งได้กลายเป็นข้อสงสัยสำหรับผู้คนมากมาย หลายคนถามว่า ลามะทิเบตแต่งงานได้หรือไม่

คำว่า ลามะ ในคำถามนี้ไม่ได้หมายถึงพระอาจารย์ซึ่งเป็นความหมายที่แท้ของศัพท์นี้ แต่หมายถึงพระภิกษุธรรมดาซี่งชาวทิเบตจะไม่เรียกว่าลามะ คนไทยเรามักจะเรียกกันผิดเสมอ แม้จะได้รับคำอธิบาย ก็ยืนยันจะเรียกพระทิเบตทุกรูปว่าลามะ อาจเป็นเพราะทำให้เราแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างพระทิเบตกับพระไทยได้อย่างชัดเจน

คำตอบคือ พระทิเบตแต่งงานไม่ได้ ท่านถือศีลปาฏิโมกข์ 250 ข้อ (ของไทย 227 ข้อ) ซึ่งข้อสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือการถือพรหมจรรย์ อย่างไรก็ตาม วิถีการปฏิบัติและสืบพระธรรมของทิเบตมีความซับซ้อน พระอาจารย์โดยเฉพาะในสายยุงตรุงเพิน (พุทธเพิน) และสายญิงมาปะ หากสืบสายการปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ในอดีตที่เป็นโยคีโดยเฉพาะผู้เป็นเตรเตินปะ (พระอาจารย์ที่ค้นพบธรรมสมบัติเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์) สามารถมีครอบครัวได้ โดยปกติท่านเหล่านั้นมักจะนุ่งสบงและ/หรือครองจีวรแบบโยคี ด้วยผ้าขาว ไว้ผมยาว หรือนุ่งสบงสีขาว ครองจีวรสีแดง ซึ่งทำให้ท่านดูต่างจากพระภิกษุโดยทั่วไป และในโลกสมัยใหม่นี้ ท่านอาจแต่งตัวเหมือนบุคคลทั่วไปในสังคม

เนื่องจากท่านเหล่านั้นมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลวัดและปกครองลูกศิษย์ซึ่งเป็นพระธรรมดา ในปัจจุบัน เราจึงเห็นหลายท่านโกนผมและแต่งกายเหมือนพระภิกษุ แต่ขอให้รู้ว่าท่านไม่ได้กำลังผิดศีล แต่จริงๆ แล้ว ท่านเป็นโยคี เพียงแต่ลักษณะภายนอกท่านอาจดูเหมือนนักบวชทั่วไป ซึ่งประเด็นนี้พระอาจารย์ในนิกายที่ถือเพศบรรพชิตเป็นหลักก็มีวิพากย์วิจารณ์บ้าง อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ที่อยู่ในเพศบรรพชิตที่แอบมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าผิดศีลปาราชิกเช่นเดียวกับฝ่ายไทยหากมีการจับได้

ประมุขของนิกายสาเกียปะ สมเด็จพระสังฆราชสาเกีย ทริซิน ตามประเพณีจะไม่ได้เป็นพระภิกษุ แต่เป็นโยคี ท่านอยู่ในลักษณะครองเรือน บุตรของท่านซึ่งเป็นโยคีเช่นเดียวกันมีหน้าที่ในการปกครองวัดและสืบทอดพระธรรม แต่พระภิกษุอื่นๆ ทั้งหมดในนิกายนี้ล้วนแต่ถือศีลปาฏิโมกข์ (และยังมีการถือศีลโพธิสัตว์รวมทั้งศีลตันตระด้วย) ซึ่งประเพณีได้มีการสืบต่อกันมาตั้งแต่กำเนิดนิกายสาเกียปะขึ้นในปี ค.ศ. 1073 โดยท่านเคิน โกนชก เกียลโป

พระทิเบตยังมีลักษณะสำคัญต่างจากพระไทยตรงที่ท่านเหล่านั้นมักจะตั้งปณิธานบวชตลอดชีวิต ทางวัดจึงไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนระยะสั้นๆ หรือบวชเพื่อแก้บน ทำบุญให้ผู้ล่วงลับ ฯลฯ ในระดับพระอาจารย์ หากมีความจำเป็นต้องลาสิกขา เช่น ท่านเชียมเกียม ทรุงปะ ริมโปเช ซึ่งเป็นลามะชั้นสูงแห่งวัดเซอร์มังในแคว้นคามแห่งทิเบตตะวันออก ลูกศิษย์ก็จะไม่วิพากย์วิจารณ์ท่าน ยังคงเคารพรักท่านเหมือนเดิม เพราะคำว่า ลามะ อันหมายถึง มารดาผู้เหนือกว่ามารดาใดๆ (supreme mother) ไม่ได้ขึ้นกับการแต่งกายและรูปแบบภายนอก แต่เป็นตำแหน่งที่สืบทอดกันมาหลายภพหลายชาติ พวกเขาจะคิดเสมอว่า คุรุกับศิษย์ผูกพันกันจนถึงการตรัสรู้

อีกลักษณะหนึ่งที่เราจะเห็นจากพระทิเบตซึ่งทำให้คนไทยเราไม่เข้าใจ เช่น การที่ท่านจับมือผู้หญิงได้ หรือรับของจากมือผู้หญิงได้โดยตรง ท่านฉันอาหารมือเย็นได้ จริงๆ หากปฏิบัติตามศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จะทำไม่ได้ แต่สมเด็จองค์ดาไลลามะก็ได้ตรัสว่า ศีลก็ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน การที่พระทิเบตจับมือผู้หญิงก็ไม่ได้ต่างจากการจับมือผู้ชาย เพราะทั้งชายและหญิงก็ล้วนแต่เป็นสัตว์โลก การจับมือต้องเป็นไปด้วยความปรานีดุจดังพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์โลก เราอย่าลืมว่าท่านถือศีลโพธิสัตว์ซึ่งเน้นการปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกัน และในฝ่ายตันตระเองก็มีการกำหนดการมองสัตว์โลก ว่าทุกชีวิตคือสภาวะศักดิ์สิทธิ์ ต่างมีจิตพุทธะภายใน นั่นคือ มีศักยภาพในการหลุดพ้น

ส่วนในเรื่องอาหารเย็นก็เช่นกัน ในทิเบตที่มีอากาศหนาวเย็นและอาหารมีน้อยอยู่แล้ว การรับประทานอาหารเย็นไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรมวินัย แต่การรับประทานนั้นก็ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลิน แต่เป็นการบำรุงกายเนื้ออันประเสริฐเพื่อให้กายนี้ได้รับใช้สรรพสัตว์และได้เป็นพาหนะสำหรับการพัฒนาจิตจนเข้าถึงการรู้แจ้ง รูปแบบการปฏิบัติธรรมบางอย่าง เช่น การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ เน้นพละกำลังเพื่อให้เราได้ใช้กายเนื้อเพื่อการภาวนาให้มากที่สุด กายเนื้อนี้จึงต้องการอาหารที่พอเพียง แต่ก็มีการปฏิบัติสมาธิที่เน้นการไม่รับประทานอาหาร (ต้องได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากคุรุอาจารย์) ในระหว่างไม่ทานอาหารซึ่งอาจเป็น 1 วัน ไปจนถึง 7 วัน เราจะอยู่กับพลังจากจักรวาล อยู่กับพลังมนตราที่เป็นอาหารชั้นเยี่ยมของร่างกาย

ในตอนที่ผู้เขียนไปกราบอัษฎางคประดิษฐ์ในทิเบต พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช ลามะในนิกายสาเกียปะ ได้มาเยี่ยม พร้อมกับต้มเนื้อจามรีและนำนมเนยมาให้ผู้เขียน เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยพระอาจารย์ท่านฉันมังสวิรัติ แต่ท่านต้มเนื้อจามรีมาให้ แล้วบอกว่า ขอให้รับประทานอาหารให้ดีที่สุด เพื่อให้กายนี้แข็งแรง มีกำลัง จะได้กราบได้มาก จะได้ลุล่วงเป้าหมายของการจาริกแสวงบุญ

พูดถึงอาหารมังสวิรัติ ผู้ปฏิบัติธรรมทิเบตส่วนใหญ่ต่างจากพระจีนและผู้นับถือพระแม่กวนอิมที่ไม่รับประทานเนื้อวัว พวกเขามักไม่ได้ละเว้นการกินเนื้อ แต่มักจะหลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเล ด้วยเชื่อว่า ชีวิตเล็กๆ ของสัตว์ทะเลไม่สามารถทำให้เราอิ่มท้องได้ ทำให้ต้องเบียดเบียนสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่สัตว์ใหญ่อย่างจามรี หนึ่งตัวเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน

การกล่าวว่าต้องมีการปรับปรุงศีลให้เหมาะกับยุคสมัยหรือสภาพแวดล้อม ไม่ได้แปลว่านักบวชจะทำอะไรก็ได้ ศีลข้อไหนอยากเก็บไว้ก็เก็บ ข้อไหนทำไม่ได้หรือไม่ต้องการก็ละทิ้งไป ผู้เป็นพระอาจารย์จึงมีหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่จะดูแลและกำหนดพฤติกรรมของศิษย์ วัดทิเบตจำนวนมากมีพระลูกศิษย์ถึง 300-400 รูป จึงเป็นสิ่งท้าทายที่จะให้ทุกคนได้ปฏิบัติภายใต้พระธรรมวินัย และโดยเฉพาะเมื่อพระส่วนใหญ่มาบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ปกติตามวัดจะมี เกกู หรือพระผู้คุมกฎคอยดูแลสอดส่องความเป็นไปของพระลูกวัด ดังเช่นที่เราเห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Cup

มรรควิถีตันตระ (Transformation Way)

ตันตระเป็นชื่อคัมภีร์อีกชุดหนึ่งซึ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ถ่ายทอดแต่ถ่ายทอดในลักษณะพิเศษระหว่างคุรุกับศิษย์ ไม่ได้ทำในที่สาธารณะ สำหรับนิกายยุงตรุงเพิน พระพุทธเจ้าองค์ผู้ถ่ายทอดอยู่ในลักษณะสัมโภคกาย ทรงไม่ได้ถ่ายทอดทางวาจา แต่ทางกระแสแห่งพร เรียกว่า โกงปา ถ่ายทอดมาเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นมนุษย์ แล้วท่านสอนทางวาจาจนเราได้รับคำสอนนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยคัมภีร์นี้ได้มีการรจนาเป็นลายลักษณ์อักษรและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของคัมภีร์ จะขอพูดถึงลักษณะการมองโลกของผู้ปฏิบัติตันตระก่อน

มรรควิถีนี้มีปรัชญาเพื่อการเปลี่ยนโลก เราจะไม่วิ่งหนีกิเลส ไม่ดูดายกับความเป็นไปของโลก แต่มุ่งเน้นเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ให้รื่นรมย์ขึ้น เปลี่ยนจากความไม่บริสุทธิ์แห่งกิเลสห้าให้เป็นความบริสุทธิ์แห่งปัญญาห้า เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความรัก เปลี่ยนความอิจฉาริษยาให้เป็นมุทิตา เปลี่ยนโลกที่เราอยู่ไม่ว่าจะน่าเกลียดน่ากลัวเพียงไร ให้เป็นพุทธเกษตร สวรรค์อันผ่องแผ้วของพระพุทธเจ้า มรรควิถีนี้จึงเน้นการมองโลกอย่างไม่ผลักไส สังสารวัฏกับนิพพานไม่แยกจากกัน ดุจดังหน้ากลองดามารุที่มีสองหน้าเพื่อสื่อถึงความจริงสองด้าน ต่างจากมรรควิถีพระสูตรซึ่งเน้นการมองว่าทุกสิ่งคือภาพลวงและการละความจริงระดับสมมุติไปสู่ความจริงในระดับสูงสุด

(ยังมีต่อ)

กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
21 สิงหาคม 2556

หมายเหตุ : ข้อความที่เขียนในบทความนี้เขียนจากความเข้าใจ จากประสบการณ์การเดินทางในทิเบตและการเดินทางทางจิตใจของผู้เขียน ไม่ได้เขียนจากการค้นคว้า จากมุมมองของนักวิจัยที่จะต้องให้คลอบคลุมทุกประเด็น ทุกนิกาย และต้องมองสิ่งที่เขียนอย่างไม่มีความรู้สึกผูกพัน ผู้เขียนเบื่อหน่ายต่องานวิจัยและหนังสือจำนวนมากเกี่ยวกับวัชรยานที่เต็มไปด้วยอคติ ในระยะหลังจึงมุ่งอ่านเพียงบทสวดมนต์ คู่มือปฏิบัติ งานเขียนของคุรุอาจารย์ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาทิเบตและงานเขียนของคุรุในโลกปัจจุบันที่มีใจเปิดกว้าง ดังเช่น งานเขียนของสมเด็จองค์ดาไลลามะ
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 02:25:11 pm »



รู้จักพุทธวัชรยาน

ในพุทธทิเบตที่เราเรียกว่า “พุทธวัชรยาน” ไม่ได้ประกอบด้วยหนทางการปฏิบัติธรรมเดียว มีหลายวิธีการและหลายมรรควิถีในยานใหญ่นี้ ซึ่งแม้จะมีพื้นฐานอุดมคติเดียวกัน นั่นคือ การเข้าถึงโพธิญาณเพื่อกลับมายังประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ แต่รูปแบบและการมองโลกอันนำไปสู่การอุทิศตนเพื่อสัตว์โลกแตกต่างกัน

วิถีแห่งการละโลก (Renunciation Way)

ผู้ดำรงอยู่บนหนทางของการละโลก ดังเช่นนักบวชมุ่งเน้นขัดเกลาจิตใจให้ผ่องแผ้ว ละวางจากเรือนและการงาน ทุ่มเทชีวิตเพื่อค้นหาสัจธรรมและทำงานทางธรรม โดยในทิเบตเน้นการศึกษาพระสูตร พุทธปรัชญา โต้วาทีธรรม สร้างเครื่องรองรับกาย วาจา ใจของพระพุทธเจ้า (หล่อพระ ชำระคัมภีร์ สร้างวิหาร สถูปเจดีย์) และจำศีลภาวนา จนได้รับการสลายบาปกรรมและจิตเกิดปัญญารู้ธรรม

ดังเช่นโอวาทของพระอาจารย์ซูเชน ริมโปเชที่ให้แก่พระภิกษุที่วัดของท่านว่า

“ท่านทั้งหลายมาบวชในวัดขอให้จำใส่ใจว่ามีเพียงจุดหมายหลักสองประการ คือเพื่อขัดเกลาตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้มีเวลาและความเพียรในการทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อการปฏิบัติธรรม และเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระพุทธธรรมจนสามารถสืบพระวจนะของพระพุทธองค์ไปยังผู้คนในสังคมและในรุ่นอายุต่อไป หากมีเป้าหมายอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ก็ขอให้ทราบว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายของวัด”

พระในวัดจึงได้รับการสอนให้ศึกษาพระสูตร พระอรรถกถา และวิชาความรู้อันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของทิเบต เรียกว่า ศาสตร์ใหญ่ห้า ได้แก่ หัตถศิลป์ (รวมการหล่อพระ ทำงานพุทธศิลป์) ศาสตร์แห่งการบำบัดรักษา (การแพทย์) ภาษาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และพุทธศาสตร์

แม้ว่าในหมู่พระภิกษุผู้มีสติปัญญาดีและมีความตั้งใจที่จะทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ได้อย่างรวดเร็วจะมีโอกาสได้รับคำสอนเพิ่มเติมในสายตันตระและ/หรือซกเช็นซึ่งเน้นการมองโลกในอีกลักษณะและเน้นการทำสมาธิในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การรู้แจ้งที่รวดเร็วขึ้นเพื่อให้ได้ทำประโยชน์แก่สัตว์โลกได้เร็วขึ้น พระภิกษุโดยทั่วไปใช้เวลาส่วนใหญ่กับการศึกษาพระสูตรเป็นสำคัญ

พระภิกษุมีศีลที่กำหนดรูปแบบพฤติกรรมและการตั้งจิต จำนวนศีลมีตั้งแต่ 25 ข้อ (สำหรับสามเณร) ไปจนถึง 250 ข้อ อย่างไรก็ตาม พระภิกษุของทิเบตส่วนใหญ่ยังถือศีลมากกว่านี้ ได้แก่ ศีลโพธิสัตว์ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นพุทธมหายานและศีลตันตระซึ่งเน้นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์อีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า คัมภีร์ตันตระ

หลังพระอาจารย์อตีศะ Atisha (ค.ศ. 980-1054) เข้ามาในทิเบต ท่านได้สังคายนาพระธรรมวินัย ได้สร้างระบบการปฏิบัติเพื่อเน้นวิถีของพระสูตรให้เข้มแข้ง ก่อนหน้านั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทิเบตเป็นโยคีและโยคินีเป็นหลัก วิถีนี้ได้รับการสืบต่อและมีความรุ่งเรืองอย่างมาในสมัยพระอาจารย์ซงคาปา Tsongkhapa (ค.ศ. 1357-1419) จนกลายมาเป็นนิกายเกลุกปา ซึ่งได้กลายมามีอำนาจทางการเมืองในสังคมพุทธทิเบต

หากดูตามเป้าหมายของสายการปฏิบัติแห่งการละโลก ผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกให้ปล่อยวางจากกระแสโลก มิได้เพื่อให้เห็นแก่ตัว ให้ดูดายต่อความทุกข์ยากของผู้คนในสังคม แต่เพื่อให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อการหลุดพ้นอันจะนำมาสู่การช่วยเหลือสรรพสัตว์ในหลายภพหลายชาติและได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า นักบวชจะเอาแต่โต้วาทีธรรม หรือสวดมนต์ทำสมาธิ ในยามที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เช่น เกิดภัยพิบัติ เรากลับเห็นเหล่านักบวชทั้งหญิงและชายผนึกกำลังกัน ออกมาเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยบำบัดความทุกข์ของผู้คน และในสังคมทิเบตเอง เราก็เห็นพระออกมาประท้วง แม้แต่จนเผาตัวเองตาย

เราได้พูดถึงพระภิกษุ แต่ไม่ได้พูดถึงภิกษุณีและสามเณรีซึ่งในทิเบตยังขาดความเข้มแข็ง เพราะโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ปฏิบัติธรรรมด้วยการเกื้อกูลจากสถาบันหรือองค์กรมีน้อยมาก นักบวชต้องสร้างเรือนภาวนาเอง ต้องหาอาหารรับประทานเอง (ไม่มีระบบการออกบิณฑบาตรเหมือนในไทย) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เริ่มมีการสร้างสถานปฏิบัติธรรมของผู้หญิงมากขึ้น วันหนึ่ง เราคงเห็นนักบวชหญิงได้โต้วาทีธรรมและศึกษาพระธรรมอย่างเต็มที่ดังเช่น โอกาสที่นักบวชชายได้รับ

ยังมีมรรควิถีตันตระและซกเช็น (อื่นๆ) ซึ่งหล่อหลอมความเป็นพุทธทิเบตเอาไว้ หากใครปรารถนาจะเข้าใจทิเบต จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเพิกเฉยต่อการศึกษามรรควิถีเหล่านี้ และในสายทิเบตไม่ได้เน้นว่าเฉพาะผู้ออกบวชเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและสามารถเข้าถึงการรู้แจ้ง

(ยังมีต่อ)

กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์

จาก https://krisadawan.wordpress.com/page/4/