ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 11:59:21 pm »ประเด็นที่ ๑ ที่มาแห่งวิถีศรัทธาของพุทธศาสนิกชนวัชรยาน
พุทธศาสนิกชนชาวธิเบตมีความศรัทธาอย่างสูงยิ่งต่อพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เชื่อในเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่และเชื่ออย่างยิ่งในกฎแห่งกรรม หากต้องประสพทุกข์พวกเขาจึงไม่โทษโชคชะตาฟ้าดินหรือต่อว่าพระรัตนตรัยแต่จะหมั่นเพียรในการสวดมนต์ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะไปจนกว่าตนเองจะเข้าถึง การตรัสรู้ เขาเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมอย่างจริงใจโดยการฝึกฝนอบรมจิตใจให้อยู่ในคุณธรรมความดี มีสมาธิ จะเป็นบุญหนุนส่งให้จิตพัฒนาก้าวหน้าไปในธรรมจนเกิดความเจริญแห่งจิตวิญญาณไปเกิดใหม่ในสภาพที่ดีกว่าในชาติหน้า ชาวธิเบตจึงดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังในชาติปัจจุบัน แล้วพยายามประกอบแต่กุศลกรรมบถสิบซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนชาวธิเบตพากันประพฤติธรรมให้เป็นอยู่ในวิถีชีวิต
หลักของวัชรยาน คือ เน้นชำระจิตใจให้ใสสะอาดเปี่ยมด้วยเมตตาและกรุณาพร้อมที่เสียสละทรัพย์สิ่งของแรงกายแรงใจในการช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากความลำบากและความทุกข์ แม้ว่าตนเองต้องทุกข์อย่างแสน สาหัสแทนก็ตาม มีโพธิจิต
ในคำสอนของวัชรยานมีการให้โอกาสทำความดีแก้ตัวด้วยการชำระล้างกรรมหรือการสลายบาปกรรม ทำได้โดยการสารภาพ สำนึกผิดอย่างจริงใจ และชำระล้างอกุศล เช่น เดินรอบพระสถูปหมื่นรอบ เพื่อแก้ความ ผิดที่เคยทำ สวดคาถาสิบล้านจบ หรือปวารณาตัวเป็นคนดีไม่ทำผิดอีกต่อไป เป็นต้น
ในการฝึกฝนตนด้วยการเข้าถึงการตรัสรู้นั้นมีการผสมอยู่ทั้งเถรวาทและมหายาน คือทางเถรวาทเน้นให้ความสำคัญต่อการปลดปล่อยตนเองออกไปจากสังสารวัฏ ขณะที่มหายานและวัชรยานจะให้ความสำคัญแก่วิถีโพธิสัตว์ที่จะมุ่งปลดปล่อยตนเองไปพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือสรรพสัตว์อื่น ๆ หากผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเข้าแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระโพธิสัตว์ทั้งกาย วาจา ใจ จนกระทั่งการแสดงออกทั้งภายนอกและภายใน แสดงว่าเข้าถึงพุทธภาวะแล้วพร้อมกับความเจริญงอกงามแห่งมหากรุณาและมหาปัญญา
ประเด็นที่ ๒ ความหลุดพ้นตามแนวปฏิบัติของวัชรยาน
หลักการในการปฏิบัติตามแนวทางของวัชรยาน จากการแสดงธรรมของท่าน ชักดุด ตุลกู หนึ่งในธรรมาจารย์รุ่นสุดท้าย แห่งวัชรนิกายของทิเบต มีหลักการโดยย่อดังนี้
๑. ให้ความสำคัญในการฝึกจิต ให้เข้มแข็ง อ่อนน้อมถ่อมตน ควบคุมโทสะให้ได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ในสุขและทุกข์ พิจารณาว่าสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ใช้ปัญญาทั้งสาม คือสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา กำจัดอวิชชาให้เบาบาง และหมดไป ด้วยการมีสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการปฏิบัติภาวนาด้วย
๒. ให้ความสำคัญกับทิฏฐิ ๔ คือ
๒.๑ การตระหนักรู้ถึงกำเนิดอันทรงคุณค่าของมนุษย์ และความสำคัญของการใช้มันในการฝึกฝนกายและใจที่ธรรมชาติให้มานั้น เพื่อสั่งสมบุญกุศล โดยอาศัยลามะเป็นผู้นำทาง
๒.๒ พิจารณาอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณครอง
๒.๓ เชื่อในกฎแห่งกรรม คือ เชื่อในเหตุและผล (action and reaction) เหตุดี ย่อมให้ผลดีเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด
๒.๔ พิจารณามหาสมุทรแห่งทุกข์ ศึกษาทุกข์ให้เข้าใจ เพื่ออยู่กับความทุกข์ทั้งหลายอย่างมีความสุข
การปฏิบัติ คือ เริ่มด้วยการพิจารณาข้อหนึ่งข้อใดในทิฏฐิ ๔ นั้น แล้วก็ผ่อนคลายจิตลง สวดถึงลามะ เพื่อขอพรให้บรรลุถึงสิ่งที่จะเป็นคุณต่อตัวเองและผู้อื่น ก่อนที่อนิจจังจะมาเยือน แผ่เมตตาให้เหล่าสัตว์ผู้ทนทุกข์พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นจากวัฏทุกข์ และน้อมนำเอาความเข้าใจหลักธรรมทั้งมวลมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จากนั้นจึงพิจารณาข้อธรรมในทิฏฐิ ๔ ลำดับต่อไป ผ่อนคลายดวงจิตจนสงบรำงับ ด้วยการกระทำดังนี้ จะเข้าใกล้ประสบการณ์ตรงของธรรมชาติแห่งจิต อันเป็นโลกุตตระ ซึ่งไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยคำพูดและความคิด
๓. สรณะและโพธิจิต สรณะหมายถึง การปกป้องคุ้มครอง หรือสถานที่อันปลอดภัย การรับไตรสรณคมน์ คือการมีพระพุทธองค์ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แลทำตามคำสั่งสอนนั้น จะไม่สิ้นสุดลงเพียงชั่วชีวิตนี้เท่านั้น ทว่าจนกว่าจะบรรลุถึงการตรัสรู้ ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใดในกาลภายภาคหน้า
ในสายธรรมวัชรยาน ต้นกำเนิดภายในแห่งสรณะ คือรากเหง้าทั้งสาม อันได้แก่ ลามะ ยิดัมและฑากินี อันเป็นแหล่งกำเนิดแห่งพระพร การบรรลุธรรม และอริยกิจตามลำดับ ลามะหรือคุรุ คือรากเหง้าแห่งพระพร หมายถึงผู้ที่ส่งผ่านความรู้ อุบาย และปัญญา ซึ่งช่วยให้เราบรรลุถึงอิสรภาพ ยิดัมหรือเทพนิมิต คือแก่นรากแห่งการบรรลุถึงสภาวธรรมเหล่านั้น โดยอาศัยการปฏิบัติ ย่อมสามารถประจักษ์แจ้งถึงธรรมชาติแห่งดวงจิต อาศัยอุบายวิธีแห่งเทพนิมิต ย่อมสามารถประจักษ์แจ้งถึงฑากินี เทวีแห่งปัญญา ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องเป็นอริยกิจ
โพธิจิต คือรากฐานของทุกสิ่งที่ทำ ดุจดังพืชสมุนไพร ซึ่งทุกสัดส่วนไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ใบ ดอก ราก ล้วนมีสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น ความบริสุทธิ์เพียบพร้อมในการปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับการใช้อุบายวิธีอย่างเต็มเปี่ยมด้วยโพธิจิต ทำให้ทุกสิ่งดำเนินไปได้ด้วยดี หากปราศจากโพธิจิตเป็นรากฐานแล้ว ก็หามีสิ่งใดสำเร็จผลไม่
โพธิจิตนั้นประกอบด้วยองค์สาม คือ การแผ่ความกรุณาออกสู่มวลหมู่สัตว์ผู้ได้รับทุกข์ ตั้งปณิธานที่จะบรรลุธรรม อันสามารถที่จะได้ช่วยเหลือสัตว์โลก ซึ่งเรียกว่า ฉันทโพธิจิต กับความพากเพียรในหนทางธรรมเพื่อจะได้บรรลุถึงพระนิพพาน ซึ่งเรียกว่า วิริยโพธิจิต
โพธิจิต ในภาษาทิเบต คือจังชุบเชม จัง หมายถึงการไถ่ถอนความมืดมัว ชุบ คือการเผยถึงคุณลักษณะอันบริบูรณ์ภายใน และ เชม คือจิต โดยการปฏิบัติโพธิจิต ได้ขจัดความมืดมัว และเสริมกุศลนิสัย ซึ่งจะเผยถึงจิตแห่งพุทธะ การจะบรรลุถึงโพธิจิตปณิธานได้ ต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ เริ่มด้วย อุเบกขา กรุณา เมตตา และมุทิตา
๔. สู่วัชรยาน คุณสมบัติ ๗ ประการของวัชรยานคือ
๔.๑ มิอาจถอนทำลายโดยหมู่มาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตรัสรู้ ทั้งมิอาจยึดหรือถูกแบ่งแยกด้วยความคิด
๔.๒ ไม่อาจถูกทำลายด้วยความคิด อันอาจจำแลงคล้ายดั่งสัจจะ ทว่าหาใช่ไม่
๔.๓ เป็นสัจจะอันนิรมล ซึ่งหามีมลทินด่างพร้อยใดๆ ไม่
๔.๔ มิใช่ธาตุอันปรุงแต่ง ซึ่งอาจทำลายลงได้
๔.๕ มิใช่สิ่งอันเป็นอนิจจัง จึงตั้งมั่นไม่คลอนแคลน
๔.๖ มิอาจพิชิตมีชัย
๔.๗ ล้ำลึกยิ่งกว่าสิ่งใดๆ จึงปราศจากความกลัว
โดยอาศัยอุบายต่างๆในวัชรยาน เราจึงอาจน้อมนำเอาธาตุมูล ๓ ประการขึ้นมาในการปฏิบัติธรรม นั่นคือ การชำระล้างความหมองมัว การทำกระแสจิตให้ผ่องแผ้ว และบ่มเพาะกุศลธรรมขึ้นในดวงจิต โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้ เราจึงอาจชำระล้างประสบการณ์ทางโลกได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงมรรคผล ซึ่งอยู่เหนือสังสารและนิรวาณ อันได้แก่ตรีกาย ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานอันหมดจดสมบูรณ์อาศัยวิธีการเหล่านี้ ปัญญาจึงเกิดขึ้นให้ประจักษ์ ช่วยเกื้อหนุนและบ่มเพาะการปฏิบัติให้สุกงอม ศรัทธา และการสวดมนต์ เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติให้ถึงเป้าหมาย
สรุป
วัชรยานเป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป้าหมายคือการทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เหมือนเถรวาทนั่นเอง แต่การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง อาจจะต่างกัน ใช้เวลานานกว่ากัน ใช้ความเพียรไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปเชียงใหม่ สามารถไปได้หลายทาง หลายวิธี เช่นโดยเครื่องบิน โดยรถไฟ โดยรถขนส่งผู้โดยสาร โดยขับรถส่วนตัวไป โดยขับขี่มอเตอร์ไซด์ หรือถีบจักรยาน แม้โดยการเดินเท้า แต่ความสะดวกสบาย ความเพียรพยายาม ระยะเวลาต่างกัน ก็อาจถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกัน ตามปฏิปทา ๔ การปฏิบัติของท่านผู้ได้บรรลุธรรมพิเศษ มี ๔ ประเภทคือ ๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ช้า ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว
มหายาน “ยานใหญ่” นิกายพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๕๐๐ – ๖๐๐ ปี โดยสืบสายจากนิกายที่แตกแยกออกไปเมื่อใกล้ พ.ศ. ๑๐๐ (ถือกันว่าสืบต่อไปจากนิกายสังฆิกะ ที่สูญไปแล้ว) เรียกชื่อตนว่ามหายาน และบางทีเรียกว่าโพธิสัตวญาณ (ยานของพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งเรียกพุทธศาสนาแบบเก่าๆ รวมทั้งเถรวาทที่มีอยู่ก่อนว่า หีนยาน (คำว่าหีนยาน จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ใช้เรียกสิ่งที่เก่ากว่า หรือเรียกว่า สาวกยาน (ยานของสาวก) มหายานมีผู้นับถือมากในประเทศแถบเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีเรียกว่า อุตตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) เป็นคู่กับทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้) คือ เถรวาท ที่นับถืออยู่ในประเทศแถบใต้ เช่น ไทยและลังกา ซึ่งทางฝ่ายมหายานเรียกรวมไว้ในคำว่าหีนยาน เนื่องจากเถรวาทเป็นพุทธศาสนาดั้งเดิม จึงมีคำเก่าเข้าคู่กัน อันใช้เรียกนิกายทั้งหลายที่แยกออกไป รวมทั้งนิกายย่อยมากมายของมหายาน หรือเรียกมหายานรวมๆ ไปว่า อาจริยวาท หรืออาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์ที่เป็นเจ้าของนิกายนั้นๆ) ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต คือ เถรวาท ไม่ว่าที่ไหน ในประเทศใด ก็ถือตามหลักการเดิมเหมือนกันหมด ส่วนมหายานแยกเป็นนิกายแยกย่อยมากมาย มีคำสอนและข้อปฏิบัติแตกต่างกันเองไกลกันมาก แม้แต่ในประเทศเดียวกัน เช่น ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีนิกายใหญ่ ๕ แยกย่อยออกไปอีกรวม ๒๐๐ สาขานิกาย และในญี่ปุ่น พระมีครอบครัวได้แล้วแต่ทุกนิกาย แต่ในใต้หวัน เป็นต้น พระมหานิกายไม่มีครอบครัว
บรรณานุกรม
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. “พระพุทธศาสนาแบบธิเบต”
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช. “คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต ข้อความเปิดเผยเรื่องเร้นลับของความตาย”. แปลโดยอนุสรณ์ ติปยานนท์. บรรณาธิการโดย พระไพศาล วิสาโล
อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. “พระพุทธศาสนามหายาน”. สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในพิธีประสาทปริญญาศาสนศาสตร์บัณทิต สมัยที่ ๑๓ (รุ่นที่ ๒๓)
พระญาณวโรดม. “ศาสนาต่าง ๆ”
นางสาวกาญจนา จิตต์วัฒน. “การบูรณาการการเตรียมตัวตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับวัชรยาน” บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. พุทธศักราช ๒๕๕๓
<http://th.wikipedia.org/wiki/วัชรยาน>
โชติ จินตแสวง. “๓๘ มงคล ผู้ใดปฏิบัติแล้วย่อมถึงความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน”
ท่านชัดดุด ตุลกู. ประตูสู่ภาวนา. แปลโดย พจนา จันทรสันติ. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๕๐.๒๖๔ หน้า
สัมภาษณ์พระนเรศ ขันติธัมโม นักศึกษามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ณ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร จังหวัดกาญจนบุรี