ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 18, 2016, 02:15:41 am »โสฬสจิต
กระแสจิตฝ่ายชั่ว _______|_______กระแสจิตฝ่ายดี
๑. สราคจิตต์ จิตเจือรัก_____|_____ วีตราคจิตต์ จิตหายรัก
๒. สโทสจิตต์ จิตเจือชัง____|______วีตโทสจิตต์ จิตหายชัง
๓. สโมหจิตต์ จิตเจือหลง___|______ วีตโมหจิตต์ จิตหายหลง
กระแสจิตฝ่ายชั่ว________|_____ กระแสจิตฝ่ายดี
๔. สังขิตตจิตต์๑ จิตหดหู่ ___|______วิกขิตตจิตต์ จิตฟุ้งซ่าน
กระแสจิตฝ่ายดี__________|_____ กระแสจิตฝ่ายชั่ว
๕. มหัคคตจิตต์ จิตกว้างขวาง|_____ อมหัคคตจิตต์ จิตคับแคบ
๖. อนุตตรจิตต์ จิตยิ่งใหญ่___|______สอุตตรจิตต์ จิตไม่ยิ่งใหญ่
๗. สมาหิตจิตต์ จิตตั้งมั่น____|______ อสมาหิตจิตต์ จิตซัดส่าย
๘. วิมุตตจิตต์ จิตอิสระ______|______ อวิมุตตจิตต์ จิตติดขัด.
หมายเหตุ: นี้เรียงลำดับตามมหาสติปัฏฐานสูตร.
จะอธิบายลักษณะจิต ๑๖ นั้นพอเป็นที่สังเกตของผู้ศึกษาต่อไป แต่จะอธิบายฝ่ายดีก่อน
จิตหายรัก หายชัง หายหลงนั้น เป็นจิตที่จางจากความรัก ความชัง และความหลง กลับคืนสู่สภาพเดิมแท้ของจิต จึงจัดไว้ในฝ่ายดี ตามธรรมดาปุถุชนทุกคนย่อมมีกิเลสเป็นปกติ แต่กิเลสนั้นมิได้แสดงตัวให้ปรากฏชัดๆ เสมอไปจะแสดงตัวให้ปรากฏชัดก็ต่อเมื่อมีอารมณ์มาสัมผัส ยั่วยวนก่อกวนขึ้นเท่านั้น โดยปกติกิเลสจึงเป็นเพียงอนุสัย คือ นอนเนื่องอยู่ในจิตของปุถุชนอย่างมิดเมี้ยนเหมือนไม่มีกิเลสอะไรเลย ลักษณาการตอนนี้แหละที่เรียกว่าปกติจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตปกติของปุถุชน แต่มิใช่ปกติจิตของพระขีณาสพ เพราะจิตของพระขีณาสพไม่มีอนุสัย จิตปกติของปุถุชนนี้มีลักษณะไม่ร้อน ไม่ร้ายแต่ประการใด ค่อนไปทางลักษณะเย็นเสียด้วยซ้ำ เหมือนน้ำที่มีตะกอนนอนอยู่ภายใต้ เมื่อน้ำนั้นไม่กระเพื่อม ย่อมมีลักษณะใส แต่ยังมีตะกอนจมนอนอยู่ จึงไม่เป็นน้ำใสสะอาดแท้ ข้ออุปมานี้ฉันใด จิตใจที่หายรัก หายชัง หายหลงก็ฉันนั้น เพราะจิตยังไม่ปราศจากกิเลสอย่างเด็ดขาด ยังมีส่วนแห่งกิเลสเจืออยู่ เป็นแต่กิเลสไม่ฟุ้ง จิตจึงใสในสภาพปกติของตนเท่านั้น อาจจะกลับขุ่นขึ้นเมื่อไรก็ได้ ในเมื่อถูกกระเทือน ฉะนั้น จิตปกติชนิดนี้จึงหมายถึงจิตที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่กิเลสนอนไม่ฟูฟุ้งขึ้นครอบคลุมจิต จิตในลักษณะสภาพเช่นนั้นย่อมมีกระแสปกติไม่ร้อนไม่ร้าย ค่อนข้างมีกระแสเย็น ส่วนจิตเจือราคะ โทสะ โมหะ เป็นจิตผิดปกติ คือแปรสภาพไปสู่ความรัก ความชัง ความหลง ถูกความรัก ความชัง ความหลง ครอบงำ ทำให้มีลักษณะร้อนรุ่มกลัดกลุ้ม ลุ่มหลงและขุ่นมัว เหมือนน้ำเจือสีหรือสิ่งสกปรก ถูกกระทบกระเทือนเป็นระลอกกระฉอกกระฉ่อน ย่อมขุ่นข้นไม่ผ่องใส แลดูเงาไม่เห็นฉะนั้น. จิตเจือความรัก ความชัง และความหลง เป็นจิตร้าย มีลักษณะร้อนต่างๆ กัน คือ จิตเจือราคะมีลักษณะร้อนอบอุ่น จิตเจือโทสะมีลักษณะร้อนแผดเผา จิตเจือโมหะมีลักษณะร้อนอบอ้าว.
สังขิตตจิตต์ จิตย่อหย่อน หมายเอาจิตซึ่งไม่มีอารมณ์ร้อน อารมณ์เย็นมายั่วยวนก่อกวนแต่ถูกอารมณ์มืดอารมณ์มัวมารบกวน จิตปุถุชนนั้นเมื่อถูกอารมณ์มาสัมผัสย่อมแตกกระจายซัดส่ายฟูฟุ้งไปตามลักษณะของอารมณ์ เหมือนปุยนุ่นหรือสำลีที่ถูกลมพัดฉะนั้น จิตที่ฟุ้งไปตามอารมณ์เป็นจิตเสียปกติ ย่อมมีกระแสร้อนรุ่มตามลักษณะของอารมณ์หรือกิเลสที่สัมปยุตต์นั้นๆถ้าสัมปยุตต์ด้วยราคะก็คิดพล่านไปในกามารมณ์ ถ้าสัมปยุตต์ด้วยโทสะก็คิดพล่านไปในเรื่องหงุดหงิดขัดเคือง ถ้าสัมปยุตต์ด้วยโมหะอย่างแรงก็คิดพล่านไปในเรื่องสงสัย ทำให้เกิดอาการลังเลใจ หวาดระแวงไปต่างๆ นานา แต่ถ้าอยู่กับโมหะที่อ่อนก็มืดก็หดตัว เป็นจิตอ่อนกำลังซบเซาเซื่องซึมมืดมัวย่อหย่อน ไม่ปราดเปรียวกระฉับกระเฉงแข็งแรง จิตใจตามสภาพธรรมดาย่อมมีลักษณะหดหู่เป็นพักๆ ส่วนจิตฟุ้งซ่านเป็นจิตพลุ่งพล่าน ไม่ดำรงตนเป็นปกติ สัมปยุตต์ไปด้วยอารมณ์วุ่นวายและกิเลส จึงจัดเป็นฝ่ายชั่ว มีกระแสผิดปกติเป็นกระแสร้อนอบอุ่น แผดเผา และอบอ้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามลักษณะกิเลสที่เจือนั้น.
มหัคคตจิตต์ จิตกว้างขวาง เป็นจิตมีคุณธรรมเจือ คือ เป็นสมาธิขั้นอุปจาระ มีกระแสจิตแผ่กว้างเป็นปริมณฑลโดยรอบๆ ตัว มากน้อยตามกำลังสมาธิ. ผู้ฝึกหัดสมาธิแบบนี้เมื่อจิตสงบลงย่อมแผ่กระจายจิตออกไปโดยรอบๆ ตัว กำหนดเขตชั่วร่มไม้หนึ่ง บริเวณวัด บริเวณหมู่บ้าน ตำบลอำเภอ จังหวัด โดยลำดับไปจนสุดสามารถที่จะทำได้ ท่านเรียกสมาธิชนิดนี้ว่า มหัคคตเจโตวิมุตติจิตหลุดพ้นจากลักษณะคับแคบ ถึงความใหญ่โตกว้างขวาง คล้ายอัปปมัญญาเจโตวิมุตติ จิตหลุดพ้นจากความชัง ถึงความรักในสรรพสัตว์ ไม่มีเขตจำกัด ครอบคลุมโลกทั้งสิ้นหมด มหัคคตจิตต์นี้มีอาการแผ่จิตออกไปกว้างเป็นปริมณฑลโดยรอบ มิใช่แผ่เมตตาในสรรพสัตว์ จุดหมายของมหัคคตจิตต์อยู่ที่ต้องการกำจัดความรู้สึกคับแคบองจิตเป็นสำคัญ จิตคับแคบนั้นเป็นจิตเจือด้วยโทษ เป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว มีความรู้สึกเศร้าหมองไม่เบิกบาน เมื่อทำการเจริญจิตแบบแผ่กว้าง ย่อมแก้โทษดังกล่าวลงได้. อนึ่ง จิตในขั้นอุปจารสมาธิแบบทั่วไปมีลักษณะกว้างขวาง แก้ความคับแคบได้เช่นเดียวกัน เป็นแต่ไม่มีปริมณฑลกว้างไกลดังที่ตั้งใจทำ ฉะนั้น มหัคคตจิตต์จึงหมายเอาจิตเป็นสมาธิขั้นอุปจาระ มีกระแสสงบและสว่างเป็นปริมณฑลโดยรอบๆ ตัว มากน้อยตามกำลังของการกระจายออก ส่วนอมหัคคตจิตต์เป็นจิตตรงกันข้าม มีลักษณะคับแคบ ไม่มีกระแสสว่าง เป็นจิตซอมซ่อเศร้าหมอง.
อนุตตรจิตต์ จิตยิ่งใหญ่ เป็นจิตมีคุณธรรมเจือ คือ เป็นสมาธิขั้นอัปปนาถึงความเป็นเอกภาพ มีอำนาจในตัวเอง เป็นอิสระในการงานของตน ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นนายเหนือตนในขณะอยู่ในสมาธินั้น จึงจัดว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่า จิตในฌานตั้งแต่ชั้นปฐมฌานขึ้นไปจนถึงชั้นสัญญา-เวทยิตนิโรธ ได้นามว่าอนุตตรจิตต์ทั้งหมด เพราะจิตในฌานทั้งหมดเป็นเอกภาพ ยิ่งในฌานชั้นสูงยิ่งมีเอกภาพสมบูรณ์ จิตที่เป็นเอกภาพย่อมมีลักษณะองอาจกล้าหาญ ไม่ครั่นคร้ามต่ออะไร หายหวาดหายกลัวหายสะดุ้ง มีกระแสหนักแน่นและสว่างไสว ส่วนจิตใจที่ไม่เป็นเอกภาพย่อมรู้สึกเหมือนเป็นทาสของสิ่งต่างๆ อยู่โดยปกติ มีหวาดมีกลัว มีสะดุ้งสะเทือนใจอยู่เนืองๆ จึงเรียกว่า สอุตตรจิตต์ จิตที่ไม่ยิ่ง โดยความก็คือจิตเป็นทาส ไม่เป็นไทยแก่ตัว ย่อมมีลักษณะอ่อนแอ อาจถูกปั่นถูกหมุนไปได้ทุกๆ ทาง มีกระแสเบาๆ ไม่หนักแน่น และไม่สว่างไสว.
สมาหิตจิตต์ จิตตั้งมั่น เป็นจิตเจือด้วยคุณธรรม คือถึงความเป็นอเนญชา เพราะได้รับการฝึกฝนอบรมด้วยคุณธรรมต่างๆ มีสติปัญญาสามารถดำรงรักษาตัวได้ดี ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์หรือกิเลสใดๆ ที่มาสัมผัส มีอุเบกขาธรรมในสิ่งนั้นๆ เสมอไปที่ท่านกล่าวไว้ว่าอเนญชจิตต์ ๑๖ ประการเป็นเค้ามูลของฤทธิ์ ดังกล่าวในบทที่ ๕ แล้ว จิตดังกล่าวนี้มีลักษณะมั่นคง เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงไม่หวั่นไหวและแจ่มใสเสมอ มีกระแสหนักแน่นดูดดื่มซาบซึ้งและเย็นๆ ส่วนอสมาหิตจิตต์ จิตไม่ตั้งมั่นนั้นมีลักษณะตรงกันข้ามทุกประการ คือเป็นจิตกลับกลอกเป็นจิตใจที่ไม่ดี เสียคุณภาพ ไม่เป็นตนของตน ตกเป็นทาสของอารมณ์และกิเลส มีลักษณะมืดมัว วูบวาบไปมา.
วิมุตตจิตต์ จิตเป็นอิสระ เป็นจิตเจือด้วยคุณธรรมสูง คือหลุดพ้นจากสิ่งขัดข้อง ถึงความมีอิสระแก่ตัว อยู่ได้ตามใจประสงค์ ไม่ต้องพะวงว่าจะมีใครมาข่มเหง ต้องการอยู่สบายด้วยวิหารธรรมใดๆ ก็อยู่ได้ตามใจประสงค์ นี้กล่าวหมายถึงวิมุตตจิตต์ชั้นสูง ส่วนการพ้นจากกิเลสของจิตใจเพียงชั่วขณะก็ดี ข่มปราบไว้นานๆ ก็ดี พ้นเพียงบางส่วนก็ดี ก็ย่อมทำใจให้รู้สึกปลอดโปร่ง เป็นอิสระตามสมควรแก่ความพ้นนั้นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับจิตขัดข้อง ติดขัดในสิ่งต่างๆ ให้รู้สึกว่าตนไม่มีอิสรภาพแก่ตัว ไม่เป็นตนของตน ต้องคอยฟังบังคับบัญชาของนายคือกิเลสหรืออารมณ์อยู่เสมอความเป็นอิสระของจิตเป็นคุณธรรมที่ดี เป็นที่พึงปรารถนาในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงวางวิธีการปฏิบัติไว้โดยอเนกปริยายก็เพื่อให้บรรลุถึงความมีอิสระของจิตนี่เอง ผู้บรรลุถึงขั้นอิสระสูงสุดแล้ว ย่อมรู้สึกตัวว่พ้นจากอำนาจถ่วงให้จมดิ่งลงสู่เหวนรกแล้ว โล่งใจ เบาใจที่สุด พระพุทธองค์เมื่อทรงบรรลุถึงภูมิอิสรภาพเต็มที่นี้แล้ว ทรงยับยั้งอยู่ด้วยความสงบเป็นเวลานานถึง ๗สัปดาห์ ที่เรียกว่าเสวยวิมุตติสุข ไม่ปรากฏว่าเสวยพระกระยาหารเลยตลอดเวลาที่พักสงบอยู่นั้นจนถึงสัปดาห์สุดท้ายในวันคำรบ ๗ จึงทรงรับข้าวสตูก้อน-สตูผงของสองพาณิช คือตปุสสะ และภัลลิกะ ซึ่งบังเอิญเดินทางไปค้าขายไปพบเข้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธาปฏิญาณตนเป็นอุบาสกแรกที่สุดในพระพุทธศาสนา จิตใจที่บรรลุถึงขั้นอิสรภาพสูงสุดย่อมมีลักษณะสว่างสดใสที่สุด ดุจดังแก้วมณีโชติฉะนั้น และมีกระแสดึงดูดอย่างแปลกประหลาด สามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ได้พบเห็นให้อ่อนโยนลงได้ง่าย ส่วนจิตที่มีลักษณะติดขัดไม่เป็นอิสระแก่ตัวนั้น ย่อมมีกระแสให้รู้สึกอึดอัดในใจ ไม่ปลอดโปร่งในใจ มีกระแสมัวซัว.
บุคคลผู้มีเจโตปริยญาณ ต้องผ่านการฝึกฝนอบรมจิตตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานดังกล่าวมานี้ เมื่อสามารถตามรู้ตามเห็นจิตใจของตนทุกๆ อาการที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งลักษณะใหญ่ๆ ๑๖ ลักษณะนั้นแล้ว แม้ลักษณะปลีกย่อยออกไปก็จะรู้เห็นได้ทุกลักษณะไป เมื่อรู้จักจิตใจของตนดีแล้วย่อมรู้จิตใจของผู้อื่นได้ดีเช่นเดียวกัน เพราะจิตมีกระแสกระจายออกจากตัวเป็นปริมณฑลโดยรอบดังกล่าวมาแล้ว ผู้ฝึกจิตใจได้ดีแล้วย่อมเหมือนสร้างเครื่องรับวิทยุไว้รับกระแสเสียงที่กระจายมาตามอากาศฉะนั้น บุคคลผู้ไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้ดีแต่ต้องการรู้จิตใจของผู้อื่นนั้นย่อมมิใช่ฐานที่จะเป็นได้ เหมือนไม่มีเครื่องรับวิทยุ หรือเครื่องรับวิทยุเสียแต่ต้องการฟังเสียงซึ่งกระจายมาตามอากาศจากระยะไกลเกินวิสัยหูธรรมดานั้น ย่อมมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ฉะนั้น เหตุนั้น ผู้ต้องการรู้จิตใจผู้อื่นพึงฝึกหัดสังเกตจิตใจตนเองให้ทราบชัดทุกลักษณาการเสียก่อน ตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แก้ไขปรับปรุงลักษณาการที่ไม่ดีของจิตใจเสียใหม่ ให้กลายเป็นจิตใจมีลักษณะดี ส่งเสริมส่วนที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุดเป็นจิตตวิมุตติ หลุดพ้นจากความเป็นทาส ถึงความเป็นไทย มีอิสรภาพเต็มที่ มีความเป็นตนของตนทุกเมื่อ มีอำนาจเหนือกิเลสและอารมณ์ทุกประการก็จะบรรลุถึงทิพยอำนาจ คือเจโตปริยญาณสมดังความประสงค์.
ตามที่บรรยายมานี้ ว่าโดยเจโตปริยญาณอย่างสูง เมื่อจะกล่าวโดยปริยายอย่างต่ำ ผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจได้ความสงบใจแม้เพียงชั้นอุปจารสมาธิ ก็สามารถกำหนดรู้กระแสจิตของผู้อื่นในชั้นเดียวกันและต่ำกว่าลงไปได้ โดยนัยนี้ได้ความว่า ผู้ฝึกฝนจิตย่อมมีเจโตปริยญาณเป็นบำเหน็จความชอบเรื่อยไปจนถึงชั้นสูงสุด ไม่ต้องท้อใจว่าเป็นสิ่งเกินวิสัยของคนธรรมดา คนสามัญธรรมดาก็สามารถมีได้ ถ้าเอาใจใส่สังเกตใจตนเองอยู่บ่อยๆ ความข้อนี้พึงเห็นเช่น คนเราเมื่อแรกพบปะกันย่อมรู้สึกชอบหรือชังกันได้ ทั้งๆ ที่ยังมิได้แสดงกิริยาอาการหรือการกระทำให้เป็นที่น่าชอบหรือน่าชัง ทั้งนี้เป็นเพราะจิตย่อมรู้จักจิตอยู่โดยธรรมดาแล้ว บุคคลที่มีกระแสจิตไม่ดีเมื่อเราพบเห็นเข้าเราจะรู้สึกไม่ชอบขึ้นมาทันที ส่วนผู้มีกระแสจิตที่ดีเมื่อเราพบเห็นเข้าเราจะรู้สึกชอบขึ้นมาทันทีเหมือนกัน ส่วนผู้มีกระแสจิตปกติไม่ดีไม่ร้ายนั้นเมื่อเราพบเห็นเข้าเราก็รู้สึกปกติเฉยๆ ไม่เกลียดชัง ทั้งไม่รู้สึกชอบด้วย แต่ผู้ศึกษาอย่าลืมว่า ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ นี้เกิดจากกิเลสของตัวเองก็มี ที่จะรู้ได้แน่ว่ามิใช่เกิดจากกิเลสของตัวเองก็ต้องสังเกตรู้ปกติจิตของตนอยู่เสมอ ซึ่งรับรองตัวเองได้ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดจากกิเลสของตัว เป็นความรู้สึกทางกระแสสัมผัสที่ผ่านมาสัมผัสกับจิตใจของตนเข้าเท่านั้น.
การรู้จักจิตใจของผู้อื่น นอกจากรู้ได้ทางกระแสสัมผัสอันเป็นวิสัยของเจโตปริยญาณโดยเฉพาะแล้ว ย่อมรู้ได้ทางทิพพจักษุซึ่งจะกล่าวข้างหน้า เพราะว่าจิตใจของคนเราเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความรู้เป็นลักษณะ เรียกว่ามโนธาตุ แปลว่าธาตุรู้ ธาตุรู้นี้ประกอบด้วยแสงสีและกระแสธรรมดาว่าแสงย่อมมีลักษณะต่างๆ กัน สว่างมากน้อยต่างกัน แสงย่อมมีสีประกอบเป็นลักษณะอีกด้วย เหมือนแสงไฟย่อมเจือด้วยสีอันเกิดจากเชื้อต่างกันฉะนั้น เทวดารู้จักกันว่ามีศักดานุภาพมากน้อยกว่ากันด้วยสังเกตแสงสีของจิตนี่เอง เพราะทวยเทพไม่มีร่างหยาบเป็นเครื่องปิดบัง แสงสีของจิตย่อมปรากฏชัด นอกจากแสงประกอบด้วยสีแล้วยังประกอบด้วยกระแสดังกล่าวมาแล้วอีกด้วยถ้าเราสังเกตให้ดีจะทราบได้ว่า ในขณะที่เราได้สัมผัสกับแสงนั้นๆ เราจะรู้รสสัมผัสขึ้นต่างๆ กันเช่นแสงสว่างสีนวลให้เกิดความรู้สึกชื่นใจ เบิกบานใจเป็นต้น ฉะนั้นจิตจึงประกอบด้วยแสงสีและกระแสดังกล่าวแล้ว ผู้มีทิพพจักษุเห็นแสงจิตประกอบด้วยสีชนิดใดๆ แล้วย่อมลงความเห็นได้ว่าเป็นจิตชนิดใด เจือราคะหรือโทสะโมหะประการใด โดยอาศัยความสังเกตแสงสีจิตของตนเองเช่นเดียวกัน ข้อนี้จะได้กล่าวละเอียดในบทว่าด้วยทิพพจักษุข้างหน้า.
การกำหนดรู้จิตใจของผู้อื่นนั้น เมื่อว่าโดยลักษณะของเจโตปริยญาณที่แท้จริงแล้ว รู้ได้ทางกระแสสัมผัสทางเดียว แต่ธรรมดาผู้ฝึกฝนจิตใจย่อมเกิดญาณความรู้หลายประการด้วยกัน จึงอาจรู้แม้โดยประการอื่นด้วยอำนาจความรู้อื่นๆ ก็ได้ พระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) อาจารย์ของข้าพเจ้าได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ญาณความรู้ที่เกิดขึ้นในการกำหนดรู้เหตุการณ์ อุปนิสัยใจคอของผู้อื่นนั้นมี ๓ อย่าง คือ
๑. เอกวิธัญญา รู้โดยส่วนเดียว หมายความว่าเกิดความรู้สึกขึ้นทางใจทีเดียว เช่นรู้ว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนั้นๆ ในวันนั้นวันนี้ หรือเมื่อนั้นเมื่อโน้น แม้เหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วแต่ครั้งไหนๆ ซึ่งคนในสมัยปัจจุบันลืมกันหมดแล้วก็เช่นเดียวกัน ส่วนอุปนิสัยจิตใจของคนก็รู้ได้ทางใจขึ้นมาเฉยๆ เช่นเดียวกัน.
๒. ทุวิธัญญา รู้โดยส่วนสอง คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นมาก่อน แล้วจึงรู้ความหมายของนิมิตนั้นอีกที.
๓. ติวิธัญญา รู้โดยส่วนสาม คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นก่อนแล้ว แล้วต้องกำหนดถามในใจเสียก่อนเข้าสู่ความสงบจนถึงฐีติจิต ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ จึงสามารถรู้เรื่องตามนิมิตที่ปรากฏนั้น.
ตามลักษณะความรู้ ดังที่ท่านอาจารย์ให้ข้อสังเกตไว้นี้ มิใช่รู้ด้วยญาณเพียงอย่างเดียว เป็นการรู้ด้วยญาณหลายอย่าง มีทั้งเจโตปริยญาณ มีทั้งทิพพจักษุญาณประกอบกัน นอกนั้นก็มีญาณเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านเรียกว่า อนาคตังสญาณ และอตีตังสญาณ เป็นต้น ซึ่งญาณความรู้ต่างๆ นั้นย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตใจผ่องแผ้วเสมอ เมื่อจะกล่าวถึงจุดรวมของญาณต่างๆ ก็ได้แก่จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสนั่นเอง เมื่อฝึกฝนอบรมใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว มิใช่แต่เจโตปริยญาณเท่านั้นจะเกิดขึ้น แม้ญาณอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นด้วยตามสมควรแก่กำลังวาสนาบารมี และประโยคพยายาม จิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสนั้นถ้าจะสมมติชื่อขึ้นใหม่ให้สมกับลักษณะที่แท้จริงแล้ว ก็อาจสมมติได้ว่า ใจแก้ว เพราะมีลักษณะใสเหมือนแก้วมณีโชติ ถ้าฝึกฝนใจถึงชั้นใจแก้วแล้ว ภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมาย่อมแสดงเงาขึ้นที่ใจแก้วเสมอไป เหมือนเงาปรากฏที่กระจกเงาฉะนั้น ใจแก้ว จึงเป็นจุดศูนย์รวมของญาณทุกประการ ผู้ต้องการญาณพิเศษต่างๆ พึงฝึกฝนจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแก้วมณีโชติ ก็จะสำเร็จดังมโนรถทุกประการ.
วิธีปลูกสร้างเจโตปริยญาณ ไม่มีอะไรดีวิเศษไปกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานดังกล่าวแล้วฉะนั้น จึงเป็นอันว่าจบเรื่องที่กล่าวในบทนี้แล้ว ผู้ศึกษาที่ต้องการเจโตปริยญาณพึงฝึกหัดตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเถิด จะสมหวังโดยไม่ยากเย็นเลย.
จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-09.htm