ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 25, 2016, 11:43:49 pm »วันพุธ (กลางคืน) พระพุทธปฏิมาปางปาลิไลยก์
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระเพลา (ตัก) แบพระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) ด้านข้างนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งเป็นลิงถือรวงผึ้งถวาย
เหตุครั้งพุทธกาล : ขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นพระภิกษุเกิดแตกความสามัคคี ไม่ปรองดองกันพระองค์จึงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่า “ปาลิไลยกะ” โดยมีพญาช้างที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าชื่อ “ปาลิไลยกะ” มาคอยพิทักษ์รักษาไม่ให้สัตว์ร้ายมากล้ำกราย พระพุทธองค์จึงประทับอยู่ในป่านั้นอย่างสงบสุข ครั้นพญาลิงเห็นพญาช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพก็เกิดกุศลจิตทำตามบ้างต่อมาบรรดาชาวบ้านเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองโกสัมพีแต่ไม่พบ และได้ทราบสาเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าจาริกไปอยู่ป่าจึงพากันตำหนิติเตียนและไม่ทำบุญกับพระที่แตกแยกเหล่านั้น พระภิกษุจึงสำนึกผิดและขอให้พระอานนท์ไปทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับมา ในวันที่เสด็จกลับ ช้างปาลิไลยกะก็มาส่งเสด็จด้วยความเศร้าเสียใจจนหัวใจวายล้มตายลง ด้วยกุศลผลบุญจึงได้ไปเกิดเป็น“ปาลิไลยกเทพบุตร” ต่อมาป่านั้นได้ชื่อว่า“รักขิตวัน”
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : หมู่ใดหรือคณะใดหากขาดความสามัคคีแล้วทุกคนย่อมหาความสุขได้ยาก ดังนั้นจึงควรน้อมนำคำสอนนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งในครอบครัวและสังคม เพื่อนำความผาสุกมาสู่ตนเองและผู้คนรอบข้าง
เหตุผลที่แยกพระพุทธรูปประจำวันเกิดเป็นวันพุธกลางวันกับวันพุธกลางคืน
เหตุเพราะตามหลักโหราศาสตร์ได้แบ่งทักษาเป็นภูมิต่าง ๆ 8 ภูมิ แต่วันในสัปดาห์มีอยู่เพียง 7 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงคิดนำเอาวันพุธซึ่งอยู่กลางสัปดาห์พอดีมาแบ่งเป็นกลางวันกับกลางคืน โดยนับตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดินเป็นวันพุธกลางวัน และหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้นอีกวันเป็นวันพุธกลางคืน ส่วนผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้ ทางโหราศาสตร์กำหนดให้ถือพระเกตุแทน เนื่องจากพระเกตุเป็นเทพนพเคราะห์ที่มีพลังแห่งปาฏิหาริย์ จึงสามารถคุ้มครองคนทุกคนที่ไม่มีเทพองค์อื่นคุ้มครองไม่ว่าจะเกิดวันอะไร
วันพฤหัสบดี พระพุทธปฏิมาปางสมาธิ
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถประทับขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประทับขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้าคาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราทรงเกิดปีติสุข มีพระทัยชุ่มชื่นเบิกบานเป็นอย่างยิ่ง สภาวจิตเข้าสู่ความละเอียดสุขุมเป็นลำดับ ฉับพลันก็เกิดพระโพธิญาณและตรัสรู้ในที่สุด
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระพุทธรูปปางนี้มีไว้เตือนใจพุทธบริษัท 4 ให้หมั่นเพียรในการทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส กล่าวได้ว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีชัยชนะใดจะเสมอเหมือน ดุจดาวพฤหัสบดีเทพที่ไม่มีดาวดวงใดในห้วงจักรวาลเทียบได้อีกประการหนึ่ง พระพุทธรูปปางสมาธิเป็นบุคลาธิษฐาน เพื่อให้คนเกิดวันพฤหัสบดีได้ประพฤติตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมอย่าให้กิเลสใด ๆ ในโลกมาทำให้มัวหมอง
วันศุกร์ พระพุทธปฏิมาปางรำพึง
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
เหตุครั้งพุทธกาล : ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทร (อชปาลนิโครธ)ทรงพิจารณาถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่าเป็นธรรมที่มีความละเอียดลึกซึ้ง ยากที่มนุษย์ปุถุชนจะรู้ตามได้ จึงเกิดความท้อพระทัยรำพึงว่าจะมีสักกี่คนที่เข้าใจธรรมะของพระองค์ ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหมต้องมากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรมและกล่าวว่า ในโลกนี้บุคคลที่มีกิเลสเบาบางพอฟังธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธองค์พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย อีกทั้งทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่าตรัสรู้แล้วก็ย่อมแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก จึงได้น้อมพระทัยที่จะแสดงธรรมตามคำอาราธนานั้น และตั้งพุทธปณิธานจะดำรงพระชนมชีพอยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่าต่อไป
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องใช้ความเพียรพยายามในการสั่งสอนธรรม พุทธบริษัทจึงควรระลึกถึงพระพุทธคุณ น้อมนำธรรมะของพระองค์มาปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น
วันเสาร์ พระพุทธปฏิมาปางนาคปรก
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถประทับขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิแต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมประหนึ่งเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธได้ 7 วันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้ชื่อมุจจลินท์ วันนั้นสายฝนพรำไม่ขาดสาย พญามุจจลินทนาคราช7 เศียรจึงถวายการอารักขาด้วยการทำขนดล้อมพระวรกายเสมือนเป็นเศวตฉัตร (ร่ม)บังลมฝน เหลือบ ยุง ริ้น และสรรพสัตว์มิให้มากล้ำกรายพระพุทธองค์ได้ ครั้นฝนหายแล้วพญามุจจลินทนาคราชจึงคลายขนด จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเปล่งอุทานว่า
“ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลายและความเป็นคนปราศจากความกำหนัดคือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความขาดซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้ เป็นสุขอย่างยิ่ง”
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระพุทธปฏิมาปางนาคปรกซึ่งเป็นนาค 7 เศียรนี้น่าจะเป็นตัวแทนสื่อถึงโพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ คือสติ ธัมมวิจยะ (การวินิจฉัยธรรม) วิริยะปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบ) สมาธิ อุเบกขานอกจากนั้นยังมีผู้ตีความว่าพญานาคน่าจะหมายถึงกิเลสอันชั่วร้าย อันมีโลภ โกรธหลงที่พระพุทธเจ้าสามารถเอาชนะได้แล้วอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ “พระพุทธรูปบูชา วิธีสังเกตลักษณะพระพุทธรูปของไทย” โดยพินิตย์ นิลวิเชียร หนังสือ “นามานุกรมพระบูชาฉบับสมบูรณ์” โดยอาจารย์แม้น รอดเอี่ยม
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
จา่ก http://www.secret-thai.com/article/dharma/8628/birthday-buddha/
http://suadmondaily.blogspot.com/