ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 01, 2016, 09:17:13 pm »มนตราธวัช...ธงอธิษฐานแห่งเนปาล
เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์
ต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ของวันนี้ ผมเหาะขึ้นมาเขียนบนที่สูงเกือบจะเป็นหลังคาโลกเลยนะครับ คือเขียนที่ประเทศเนปาลครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะเอไอเอส (อีกแล้ว) ที่ชักชวนผมให้ร่วมเดินทางไปกับกลุ่มของสมาชิกเซเรเนด ที่เข้าร่วมเล่นกิจกรรมของเซเรเนดด้วยการส่งข้อความเสียงและส่งข้อความบรรยายความรู้สึกประทับใจต่างๆ ที่ได้รับจากบริการของเอไอเอสในครั้งนี้ มีผู้ผ่านการแข่งขันได้ไปเนปาลด้วยกันกว่า 60 คนเลยทีเดียวครับ เรียกว่าขนกันไปแบบไม่อั้นเลยจริงๆ
ประเทศเนปาลที่คณะของเอไอเอสเซเรเนดเดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้เป็นประเทศที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก แต่ก็มีพุทธศาสนาแบบวัชรยาน หรือตันตระยาน แพร่หลายผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก วัดและสถูปที่เนื่องในพุทธศาสนามีปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปและได้รับการเคารพบูชาทั้งคนฮินดูและคนพุทธ
ตามวัดพุทธต่างๆ ในประเทศเนปาลจะมีแถบผ้าผืนเล็กๆ สีต่างๆ แขวนห้อยเรียงรายเป็นแถวและผูกโยง คล้องกับสถูปหรือต้นไม้สูง หรือโยงไปมากับผนังอาคารรั้วหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เรียกว่าโยงกันแบบระโยงระยางเลยทีเดียว แถบผ้าเหล่านั้นมีหลายสี ขาว แดง เหลือง น้ำเงิน ดำ ฟ้า เป็นต้น มีการเขียนหรือพิมพ์บทสวดมนต์ บทสรรเสริญเทพเจ้า บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณต่างๆ ลงบนผืนผ้าเหล่านั้นด้วย
ตามความเชื่อของชาวพุทธแบบวัชรยาน หรือตันตระยานนั้น ถือว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตามหลักธรรมประการหนึ่ง ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดมนต์ด้วยตนเองแล้ว การกระทำอื่นๆ ที่ช่วยให้มีผลต่อการสวดมนต์นั้นๆ ก็จะกระทำด้วย นั่นคือที่มาของ "มนตราธวัช" หรือ "ธงมนต์" หรือ "ธงมนตรา" นั่นแหละครับ
ความเชื่อของชาวพุทธในเนปาลและรวมไปถึงในประเทศทิเบต ภูฏาน และสิกขิม จะนิยมเขียนหรือพิมพ์บทสวดมนต์ภาวนาที่ตนศรัทธา ลงบนผืนผ้าต่างสี จากนั้นจะอธิษฐานจิตขอพร แล้วจึงนำมนตราธวัชนั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา โดยจะแขวนโยงจากศาสนสถานเป็นหลัก หากไม่มีพื้นที่เหลือหรือสุดกำลังความสามารถที่จะปีนป่ายขึ้นไปแขวนเองได้ จึงจะนำไปผูกโยงไว้ในบริเวณรอบๆ ใกล้เคียงหรือหลังคาบ้าน ช่องเขา หน้าผา และทางเดินที่เป็นช่องทางที่ลมพัดผ่านได้โดยสะดวกตามความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณ ถือกันว่าสายลมที่โบกพัดอยู่ทุกวี่วันจะเป็นผู้นำคำอธิษฐานทั้งปวงรวมทั้งบทสวดที่ได้ตั้งจิตถวายเป็นพุทธบูชาแล้วนั้น พลิ้วปลิวขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ การที่มนตราธวัชโบกปลิวหนึ่งครั้งนั้นเทียบเท่ากับการสวดมนต์ถึงหนึ่งพันจบเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วกระแสลมยังจะช่วยพัดพาให้มนตราและคำอธิษฐานขอพรต่างๆ ในตัวของธงเองได้ล่องลอยไปตามสายลม และไปอำนวยอวยพรและบันดาลความมีโชคมีชัยให้กับบุคคลอื่นๆ ที่เดินทางผ่านไปมาอีกด้วย
การที่มนตราธวัชปรากฏในสีที่แตกต่างกันนั้น สืบเนื่องจากความหมายที่มีหลากหลายประการ ความหมายแรกคือสีประจำธาตุเกิดของตนเอง คือ
สีแดง เป็นตัวแทนของธาตุไฟ
สีน้ำเงิน เป็นตัวแทนของธาตุน้ำ
สีเขียว เป็นตัวแทนของธาตุลม
สีขาว เป็นตัวแทนของโลหะ
สีเหลือง เป็นตัวแทนของธาตุดิน
ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและยอมรับกันทั่วไป คือ ความหมายถึงสีผิวของพระวรกาย และรัศมีที่ทรงเปล่งออกมาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์พระองค์ต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ดังนั้นสีของธงที่แตกต่างกัน ก็จะหมายถึงตัวแทนขององค์เทพที่บูชาที่แตกต่างกันไป
ขอยกตัวอย่างความหมายของสีธงให้ดูเล่นๆ กันนะครับ
มนตราธวัชสีเขียว จะหมายถึง พระคันธหัสติโพธิสัตว์ กายสีเขียวหรือขาวอมเขียว 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถืองาช้าง วางบนดอกบัวหรือถือสังข์
หรือพระอากาศครรภโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความปีติอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการช่วยเหลือสรรพสัตว์จำนวนมากพ้นประมาณ สัญลักษณ์คือพระอาทิตย์ มือขวาถือเพชรพลอย มือซ้ายถือดวงแก้ว กายสีเขียว มี 2 กร
มนตราธวัชสีเหลือง จะหมายถึง พระคคนคัญชะโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือต้นกัลปพฤกษ์ หัตถ์ขวายกขึ้น หัตถ์ซ้ายวางบนสะโพก กายสีเหลือง มี 2 กร
หรือพระจุณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้แยกตัวมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือเจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ ทุกกรล้วนมีสิ่งของไม่เหมือนกัน บ้างก็แตกต่างกันไป กายสีเหลืองหรือขาว 3 เนตร 18 กร
หรือพระชญาณเกตุโพธิสัตว์ กายสีเหลืองหรือฟ้า 2 กร มือขวาถือธงกับเพชรพลอย มือซ้ายทำท่าประทานพรหรือพระสรรวโศกตโมนิรฆาตมตีโพธิสัตว์ กายสีเหลืองอ่อนหรือเหลือง มี 2 กร มือขวาถือคทา มือซ้ายวางบนสะโพก
หรือพระอโมฆทรรศินโพธิสัตว์ กายสีเหลือง 2 กร มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายวางบนสะโพก
มนตราธวัชสีแดง จะหมายถึง พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือพระชาลินีประภาโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือวงกลมแห่งดวงอาทิตย์ หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระอาทิตย์บนดอกบัว กายสีแดง มี 2 กร หรือพระภัทรปาลโพธิสัตว์ กายสีแดงหรือขาว มี 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถือเพชรพลอย
มนตราธวัชสีขาว จะหมายถึง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ผู้ทรงเป็นองค์แทนกรุณาของพระพุทธเจ้า ผู้สดับเสียงคร่ำครวญในโลก และคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามวัฏสงสาร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลที่สุดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
หรือพระจันทรประภาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกของพระไภษัชยคุรุ สัญลักษณ์คือดวงจันทร์วางบนดอกบัว หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระจันทร์บนดอกบัว กายสีขาว 2 กร
หรือพระอักษมยมติโพธิสัตว์ สัญลักษณ์ คือ พระขรรค์หรือหม้อน้ำ มือขวาประทานพร มือซ้ายทาบบนพระอุระ กายสีขาวหรือเหลืองนวล มี 2 กร
หรือพระสุรังคมโพธิสัตว์กายสีขาว 2 กร มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายวางบนสะโพก
หรือพระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์ กายสีขาวหรือฟ้า มี 2 กร มือขวาทำญาณมุทรา มือซ้ายทำท่าปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร
หรือพระสรรวาปายัญชหะโพธิสัตว์ กายสีขาว 2 กร ทำท่าขจัดบาป หรือถือขอสับช้างทั้งสองมือ
หรือพระสาครมติโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือสังข์หรือคลื่น ยื่นพระหัตถ์ไปข้างหน้า ทำนิ้วเป็นรูปคลื่น กายสีขาว มี 2 กร
มนตราธวัชสีฟ้า จะหมายถึง พระวัชรครรภโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือหนังสือ มือขวาถือวัชระ มือซ้ายถือหนังสือ กายสีฟ้า มี 2 กร
มนตราธวัชสีดำ จะหมายถึง พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนพลังของพระพุทธเจ้า
และในบางครั้งมนตราธวัชที่มีสีเหลือง เขียว หรือแดง ยังอาจหมายถึง พระประติภานกูฏโพธิสัตว์ ผู้มีผิวกายสีเหลือง เขียว หรือแดง มือขวาถือแส้ มือซ้ายวางบนเพลา มี 2 กรได้อีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ชาวเนปาลยังมีความเชื่อด้วยอีกว่า หากมนตราธวัชนั้นโบกพลิ้วปลิวอยู่นานๆ แล้ว คำขอพร คำอธิษฐาน และมนตราต่างๆ ที่จารึกอยู่บนธงนั้นจะจืดจางลง ต้องใช้ใบสนหูเสืออย่างสดๆ มาจุดรมควัน คล้ายเป็นกำยาน เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มอานุภาพฤทธีให้ทวิทวีมากขึ้นเป็นประจำทุกปี หากเกิดการเปื่อยขาดลง ก็จะทิ้งไว้ตามเดิม แต่จะเพิ่มมนตราธวัชที่สมบูรณ์ขึ้นแขวนแทนที่ใหม่เสมอๆ
เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์
จาก http://www.thairath.co.th/content/376674