ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดรหัส... "มนตราคาถา" บนผืนธง (มนตราธวัช ธงมนตรา)  (อ่าน 1592 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


 สายธงโยงยาวระหว่างขุนเขา ดูสะดุดสุดตาด้วยสีสัน แต่ละผืนสะบัดปลิว พลิ้วลำนำมนตราคาถาสวรรค์ให้ลอยล่องไปพร้อมสายลม
       
       ทุกถ้อยความบรรจงที่เขียนลงบนผ้าสี่เหลี่ยมหลากสี บอกความหมายดีๆ มอบให้แก่ทุกคน
       
       ชาวพุทธทิเบตศรัทธาในเรื่องการประดับธงมนตรานี้มาแต่โบราณกาล ผ่านร้อนหนาว ผ่านกาลอันยากคงอยู่ จนถึงตอนนี้ สายธงโยงยาวยังทำหน้าที่ต่อไปในดินแดนทิเบต และอีกหลายประเทศทั่วโลก ด้วยมิติที่ลึกล้ำกว่าเพียงสีสัน และความพลิ้วไหวที่เรารับรู้ผ่านสายตา
       
       • จุดกำเนิดของธงมนตรา

       ผืนธงที่พร่างพรมมนตราผ่านพลิ้วลมกลางภูผา ดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจให้ชาวทิเบตอย่างที่เราเห็น มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้าสถิตในใจ ช่วงเวลานั้น นักบวชในลัทธิบอน ซึ่งบูชาภูตผีวิญญาณ ได้ย้อมผืนผ้าเป็นสีต่างๆ เพื่อใช้ประกอบพิธีรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ตามความเชื่อในเรื่องความสมดุลของธาตุทั้งห้า โดยเรียงธงไว้รอบตัวผู้ป่วย เพื่อช่วยปรับธาตุต่างๆในร่างกาย จะได้หายเจ็บป่วย มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ
       
       นอกจากความสมดุลของธาตุที่เป็นองค์ประกอบร่างกายคน ความเชื่อในเรื่องความสมดุลของธาตุ ยังรวมไปถึงองค์ประกอบของธรรมชาติแวดล้อม ธงสีต่างๆ จึงประดับบูชาเทพเจ้าผู้ดูแลคุ้มครองธรรมชาติด้วย เช่น ภูเขา หุบ ห้วย ทะเลสาบ หากเทพเจ้าเหล่านี้ขัดเคือง จะบันดาลให้ธรรมชาติพิโรธ เกิดเภทภัยและโรคร้ายต่างๆ แต่ถ้าธรรมชาติแวดล้อมสงบสุข มีความสมดุล ธาตุภายในร่างกายก็จะมีความสมดุลและสุขสบาย
       
      • จากสีสันเพื่อความสมดุล สู่ความหมายของอักขระบนริ้วธง

       หากมองผิวเผินสีสันของธง ก็น่าจะเป็นเพียงสิ่งประดับให้เกิดความสวยงาม ดูสดชื่น โดดเด่นบนฉากหลังของธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้าง หรือแค่เป็นสื่อสัญลักษณ์ธรรมดาๆ แต่เมื่อพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นตัวอักษรและลายเส้นรูปสัตว์ สิ่งของ ซึ่งแน่นอน..มีความหมายเพิ่มขึ้นจากสีสัน
       
      สีที่ใช้กับธงมนตรามี 5 สี บอกความหมายถึงธาตุทั้ง 5 และจัดเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย หรือจากล่างขึ้นบนก็ได้ เริ่มจากสีเหลือง หมายถึง ดิน, สีเขียว หมายถึง น้ำ, สีแดง หมายถึง ไฟ, สีขาว หมายถึง ลม และสุดท้ายเป็นสีฟ้า หมายถึง อากาศธาตุ
       
       ตัวหนังสือบนธงนั้น คาดว่าตอนเริ่มใช้ธงยังไม่มี เพราะยุคก่อนพุทธศักราช ยังไม่มีตัวอักษรใช้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีตัวหนังสือเขียนบนธง แต่น่าจะมีการเขียนสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบางสัญลักษณ์ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
       
       ราวพุทธศตวรรตที่ 12 ในสมัยกษัตริย์ซงซัน กัมโป พุทธศาสนาจากอินเดียและจีนเริ่มมีอิทธิพลในทิเบตมากขึ้น กูรูรินโปเช หรือคุรุรินโปเช ผู้ซึ่งนำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในทิเบต ผสานความเชื่อเรื่องวิญญาณในวัฒนธรรมทิเบตแต่ดั้งเดิม เข้ากับพุทธศาสนานิกายมหายาน บางข้อความบนผืนธงมนตราที่เห็นในปัจจุบัน ก็เป็นของกูรูรินโปเช ที่มีเนื้อความเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความทุกข์ ความเจ็บป่วย และสภาพธรรมชาติ
       
       ธงมนตราจึงเป็นความเชื่อเรื่องวิญญาณในลัทธิดั้งเดิมของชาวทิเบต ผนวกเข้ากับการเผยแผ่พระสูตรในพระพุทธศาสนาวัชรยานหรือตันตระยาน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวพุทธทิเบตถึงทุกวันนี้
       
       ชาวทิเบตถือว่าการผูกธงมนตราเป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการเสริมมงคล เป็นการขอพรให้มีชีวิตยืนยาว นิยมแขวนโยงขวางเส้นทางเดินตัดภูเขา ทางลัดเลาะ ลำธาร ในวัด หรือสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในวันปีใหม่และวันสำคัญทางศาสนา เพื่อให้มนตราอันเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ได้ล่องลอยไปกับสายลมที่พัดผ่าน จนกระทั่งถึงสรวงสวรรค์ที่สถิตแห่งทวยเทพ


       
       • การทำธงมนตรา

       สมัยแรกๆ ภาพและตัวหนังสือบนธง เขียนด้วยมือทีละผืน จนเมื่อการแกะแม่พิมพ์บนวัสดุไม้ของจีน เผยแพร่เข้ามาในพุทธศตวรรษที่ 20 จึงใช้วิธีพิมพ์แทน ทำให้ทำธงได้ครั้งละจำนวนมากขึ้น
       
       ส่วนแบบของธงก็ยังคงลอกตามกันมาตลอด 500 ปี ด้วยวิธีแกะแม่พิมพ์ไม้เหมือนเดิม แต่ธงที่นำเข้าไปขายในโลกตะวันตกบางร้าน เริ่มพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์โลหะบ้างแล้ว สังเกตจากลายเส้นคมกว่าใช้แม่แบบที่เป็นไม้ บางร้านใช้วิธีพิมพ์ซิลค์สกรีนเลย เพราะการใช้แม่พิมพ์ไม้เสียเวลา และการแกะแม่พิมพ์ไม้ก็เป็นงานยากมาก
       
       ครั้งที่จีนยึดครองทิเบต ได้ทำลายศาสนา วัฒนธรรม และข้าวของของชาวทิเบตจำนวนมาก รวมถึงธงมนตรานี้ แต่ก็ไม่ได้สูญสิ้นไปเสียทีเดียว เพียงแต่ไม่อาจรู้ได้ว่า แบบที่สูญไปเลยจากการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนนั้นมีปริมาณเท่าใด เพราะกระดาษและผ้าไม่เหลือแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่น่าจะเป็นแม่พิมพ์ไม้ที่มีอายุคงทนมากกว่า แต่แม่พิมพ์ไม้มีน้ำหนักมากเกินกว่าที่ผู้อพยพหนีภัย จะขนย้ายติดตัวเดินข้ามเทือกเขาหิมาลัย ชะตากรรมของแม่พิมพ์ไม้นี้ จึงย่อมไม่พ้นที่จะต้องกลายเป็นฟืนไฟให้กองทหารจีน
       
       ธงแบบเก่าที่มีในปัจจุบัน น่าจะเป็นของชาวทิเบตที่อพยพมาเนปาลและอินเดีย หรือชาวเนปาลที่เคยอาศัยอยู่ตามชายแดนทิเบต ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ธงมนตรายังสืบทอดมาถึงวันนี้
       
       • มนต์คาถาบนผืนธง

       ราวพุทธศตวรรตที่ 12 กษัตริย์ซงซัน กัมโป ทรงส่งคนไปอินเดียเพื่อเรียนเขียนอ่านภาษาสันสกฤต ตัวหนังสือภาษาทิเบตที่เราเห็นในปัจจุบันเกิดหลังจากรับตัวเขียนของอินเดียเข้ามาในยุคนั้น ตัวหนังสือบนธงมนตรามีหลากหลาย ทั้งคาถา พระสูตร บทสวดทั่วไป และคำอวยพรต่างๆ
       
       คาถา หรือมนต์ เป็นพยางค์ คำ หรือเสียงที่มีความขลัง ความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงสามารถควบคุมพลังบางอย่างที่มองไม่เห็น มนต์คาถาที่ท่องซ้ำๆ ใช้เป็นอุบายอย่างหนึ่งในการฝึกสมาธิ ภาษาที่ใช้แทบจะเป็นภาษาสันสกฤตทั้งหมด เพราะเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ อาจจะเป็นคำโดดๆ ที่เป็นหัวใจคาถาอย่าง “โอม” หรือแบบยาว “โอม มณี ปัทเม ฮุม” ซึ่งเป็นคำภาวนาของพระอวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์ที่มีพลังปกป้องคุ้มครอง
       
       ส่วนพระสูตรในพุทธศาสนาวัชรยานที่ปรากฏบนธง มีความยาวขนาดกลางและสั้น พระสูตรขนาดสั้นที่พบมากจะเป็นบทสวดธารณี เช่น บนธงแห่งชัยชนะ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายนั้น มีบทสวดธารณีสูตรยาวหลายบรรทัด บทบูชาพระแม่ตารา 21 องค์ (ปาง) และอุษณีษวิชยธารณี หรืออุษณีชัยสูตร หรืออุณหิสวิชัยสูตร ซึ่งจะน้อมนำให้เข้าถึงพระรัตนตรัย เชื่อกันว่า หากสาธยายบ่อยๆ ก็จะไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ เป็นต้น
       
       ไม่ว่าข้อความบนธงจะเขียนว่าอย่างไร แต่ทั้งหมดล้วนต้องการสื่อสิ่งดีงาม ความเป็นมงคล ที่ส่งผ่านผืนธงหลากสีนั้น


       
       • ธงมนตราแบบต่างๆ

       ความนิยมธงมนตราแพร่หลายไปหลายประเทศ โดยเฉพาะในเนปาล อินเดีย และมองโกเลีย ซึ่งพบธงมนตราที่นิยมทำขึ้นแตกต่างหลากหลาย เช่น
       
       ธงลังตา หรือม้าลม เป็นชนิดธงที่พบบ่อยที่สุด จนมักคิดกันว่า ลังตา แปลว่า ธงมนตรา วัตถุประสงค์ของการทำธงนี้ คือ เพื่อให้เกิดความโชคดีร่ำรวย ตรงกลางของธงจะเป็นรูปม้าลม ซึ่งเป็นม้าที่บรรทุกอัญมณีแห่งการรู้แจ้ง และส่งพลังที่ดีให้ ตรงมุมทั้งสี่ มักจะเป็นรูปสัตว์ คือ ครุฑ มังกร เสือ และสิงโตหิมะ หรืออาจจะเป็นตัวหนังสือเขียนคำเรียกสัตว์ทั้งสี่นี้แทนก็ได้ ข้อความบนธงเป็นคาถามนตราหรือพระสูตรสั้นๆ
       
      ธงแห่งชัยชนะ จารึกบทสวดสำหรับเอาชนะอุปสรรค สมัยก่อนมีการใช้ธงนำทัพ พระพุทธเจ้าก็ทรงกล่าวถึงพระอินทร์ว่าถือธงนำเหล่าเทพดาออกศึกสู้รบกับเหล่าอสูร และสาธยายมนต์ซ้ำๆ เพื่อคุ้มครองและสร้างขวัญกำลังใจให้กองทัพ เมื่อชาวทิเบตนำมาใช้ เนื้อหาบนธงจึงมีลักษณะถึงการเอาชนะอุปสรรค ศัตรู พลังชั่วร้าย และโรคภัย ธงนี้มักมีรูปสัญลักษณ์ประกอบ เช่น รูปม้าลม อัษฎมงคล (เครื่องหมายแห่งมงคลทั้งแปด) และรัตนสมบัติของจักรพรรดิตามความเชื่อเรื่องจักรวาทิน
       
       ธงเกี่ยวกับสุขภาพและชีวิตยืนยาว มักจะมีคาถาจากพระสูตร หรือมนต์คาถาเพื่อสุขภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาว เช่น ธารณีคาถาของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต ซึ่งในความเชื่อของชาวทิเบต พระองค์มีกายสีน้ำเงินเข้ม นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาถือยาสมุนไพร พระหัตถ์ซ้ายถือบาตรวางบนพระเพลา ถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่สามารถรักษาโรคทางกาย และโรคทางกรรมของสัตว์โลก ในบางครั้งเราจะเห็นว่ามีการใช้สีน้ำเงินของพระวรกายเป็นสัญลักษณ์แทน
       
       อีกคาถาที่นิยมคือ “นโม อมิตาภะ พุทธายะ” ของพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งพระนามว่า อมิตายุส (Amitayus) ในภาษาสันสฤต หมายถึง มีอายุอันประมาณค่ามิได้ หรืออีกพระนามว่า อมิตาภะ (Amitabha) หมายถึงความสว่างอันประมาณมิได้ เชื่อกันว่า ยามใกล้จะหมดลมจากโลกนี้ไป หากได้เอ่ยพระนามและระลึกถึงพระอมิตาภพุทธะ ก็จะได้ไปเกิดใหม่ในแดนสุขาวดีที่ทรงประทับอยู่
       
       นอกจากนี้ ยังมีธงของผู้ศรัทธาพระโพธิสัตว์ตาราขาว หรือพระจินดามณีจักรตารา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระแม่ตาราขาว ซึ่งเชื่อว่าจะนำความสงบสุข สุขภาพดี และชีวิตยืนยาว พระแม่ตาราได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านความกรุณา รูปของพระแม่ตาราขาวนั้น ทรงชุดขาวล้วน มีพระเนตร 7 ดวง หมายถึงเฝ้ามองสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลาด้วยความเมตตากรุณา พระหัตถ์ขวาประทานพร พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว
       
       ธงมนตราของคุรุปัทมสมภพ หรือกูรูรินโปเช พระผู้เป็นศูนย์รวมแห่งกาย วาจา ใจ การสวดหัวใจพระคาถาวัชรคุรุ ช่วยชำระล้างมลทินภพชาติที่มัวหมอง บนธงมักจะเขียนคาถาหัวใจของพระองค์ว่า “โอม อา ฮุม วัชร คุรุ ปัทมะ สิทธิ ฮุม” หรือ “โอม อา ฮุม บันซา กูรู เปมา สิทธิ ฮุม” หรือบทสวดอื่นๆ
       
       ทุกครั้งที่ชักธงมนตราขึ้นไป ก็เหมือนได้ส่งคำคาถาที่พร่ำสาธยายเป็นประจำจากใจศรัทธาขึ้นสู่ฟากฟ้า ทุกครั้งที่ได้มองธงมนตราบนฟากฟ้า ใจก็สัมผัสได้ถึงคาถาจากเทพดาและสิ่งศักดิ์ที่พร่างพรมลงมาปลอบโยน เป็นกำลังใจ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งชาวทิเบตยังคงรักษาวิถีปฏิบัติจนถึงวันนี้


       
       • อัษฎมงคลของทิเบต

       อัษฎมงคล คือ มงคล 8อย่าง เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาของทิเบต ที่พบได้เสมอในลวดลายภาชนะ เครื่องใช้ เครื่องประดับ สถาปัตยกรรม และบนธงมนตรา คล้ายกับอัษฎมงคลของไทยเรา แต่ของทิเบตประกอบด้วย
       สังข์ขาว คือ สุรเสียงในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
       คนโท สำหรับบรรจุน้ำสะอาดและทรัพย์มณีมีค่า สื่อความหมายถึงความบริสุทธิ์ สะอาด โชคลาภ
       ฉัตร หรือร่ม เครื่องแสดงอิสริยยศในกองทัพ หมายถึงอำนาจบารมี และหมายถึงการปกป้องจากภัยร้าย
       เงื่อนอนันตภาคย์ เป็นเงื่อนแห่งสิริมงคล ทุกช่องทางในความคดเคี้ยว สามารถผ่านได้ตลอด แม้ในกระแสเชี่ยวกรากของวิถีชีวิต หากดำเนินตามรอยพระพุทธองค์ ก็จะสามารถพบปัญญานำทางสู่ความรอดพ้นได้
       ธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์ของการทำงาน (เพื่อสร้างใหม่) การหมุนเวียน และความสมบูรณ์พร้อม (ไม่สิ้นสุด) หรือวัฏสงสารแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง
       ปลาทอง เป็นสัญลักษณ์ของดวงตาแห่งปัญญา
       ดอกบัว แม้เกิดแต่ตม แต่สามารถคงความสะอาดบริสุทธิ์แห่งตนไว้ได้
       ตุง แทนความหมายของวิถีแห่งการดับทุกข์
       (ข้อมูลจาก manager.co.th)
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย วิรีย์พร)

จาก http://astv.mobi/A5rIQpe
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 01, 2016, 09:18:27 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: ถอดรหัส... "มนตราคาถา" บนผืนธง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 01, 2016, 09:17:13 pm »


มนตราธวัช...ธงอธิษฐานแห่งเนปาล

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์

ต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ของวันนี้ ผมเหาะขึ้นมาเขียนบนที่สูงเกือบจะเป็นหลังคาโลกเลยนะครับ คือเขียนที่ประเทศเนปาลครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะเอไอเอส (อีกแล้ว) ที่ชักชวนผมให้ร่วมเดินทางไปกับกลุ่มของสมาชิกเซเรเนด ที่เข้าร่วมเล่นกิจกรรมของเซเรเนดด้วยการส่งข้อความเสียงและส่งข้อความบรรยายความรู้สึกประทับใจต่างๆ ที่ได้รับจากบริการของเอไอเอสในครั้งนี้ มีผู้ผ่านการแข่งขันได้ไปเนปาลด้วยกันกว่า 60 คนเลยทีเดียวครับ เรียกว่าขนกันไปแบบไม่อั้นเลยจริงๆ

ประเทศเนปาลที่คณะของเอไอเอสเซเรเนดเดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้เป็นประเทศที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก แต่ก็มีพุทธศาสนาแบบวัชรยาน หรือตันตระยาน แพร่หลายผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก วัดและสถูปที่เนื่องในพุทธศาสนามีปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปและได้รับการเคารพบูชาทั้งคนฮินดูและคนพุทธ

ตามวัดพุทธต่างๆ ในประเทศเนปาลจะมีแถบผ้าผืนเล็กๆ สีต่างๆ แขวนห้อยเรียงรายเป็นแถวและผูกโยง คล้องกับสถูปหรือต้นไม้สูง หรือโยงไปมากับผนังอาคารรั้วหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เรียกว่าโยงกันแบบระโยงระยางเลยทีเดียว แถบผ้าเหล่านั้นมีหลายสี ขาว แดง เหลือง น้ำเงิน ดำ ฟ้า เป็นต้น มีการเขียนหรือพิมพ์บทสวดมนต์ บทสรรเสริญเทพเจ้า บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณต่างๆ ลงบนผืนผ้าเหล่านั้นด้วย

ตามความเชื่อของชาวพุทธแบบวัชรยาน หรือตันตระยานนั้น ถือว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตามหลักธรรมประการหนึ่ง ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดมนต์ด้วยตนเองแล้ว การกระทำอื่นๆ ที่ช่วยให้มีผลต่อการสวดมนต์นั้นๆ ก็จะกระทำด้วย นั่นคือที่มาของ "มนตราธวัช" หรือ "ธงมนต์" หรือ "ธงมนตรา" นั่นแหละครับ

ความเชื่อของชาวพุทธในเนปาลและรวมไปถึงในประเทศทิเบต ภูฏาน และสิกขิม จะนิยมเขียนหรือพิมพ์บทสวดมนต์ภาวนาที่ตนศรัทธา ลงบนผืนผ้าต่างสี จากนั้นจะอธิษฐานจิตขอพร แล้วจึงนำมนตราธวัชนั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา โดยจะแขวนโยงจากศาสนสถานเป็นหลัก หากไม่มีพื้นที่เหลือหรือสุดกำลังความสามารถที่จะปีนป่ายขึ้นไปแขวนเองได้ จึงจะนำไปผูกโยงไว้ในบริเวณรอบๆ ใกล้เคียงหรือหลังคาบ้าน ช่องเขา หน้าผา และทางเดินที่เป็นช่องทางที่ลมพัดผ่านได้โดยสะดวกตามความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณ ถือกันว่าสายลมที่โบกพัดอยู่ทุกวี่วันจะเป็นผู้นำคำอธิษฐานทั้งปวงรวมทั้งบทสวดที่ได้ตั้งจิตถวายเป็นพุทธบูชาแล้วนั้น พลิ้วปลิวขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ การที่มนตราธวัชโบกปลิวหนึ่งครั้งนั้นเทียบเท่ากับการสวดมนต์ถึงหนึ่งพันจบเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วกระแสลมยังจะช่วยพัดพาให้มนตราและคำอธิษฐานขอพรต่างๆ ในตัวของธงเองได้ล่องลอยไปตามสายลม และไปอำนวยอวยพรและบันดาลความมีโชคมีชัยให้กับบุคคลอื่นๆ ที่เดินทางผ่านไปมาอีกด้วย



การที่มนตราธวัชปรากฏในสีที่แตกต่างกันนั้น สืบเนื่องจากความหมายที่มีหลากหลายประการ ความหมายแรกคือสีประจำธาตุเกิดของตนเอง คือ

สีแดง เป็นตัวแทนของธาตุไฟ
สีน้ำเงิน เป็นตัวแทนของธาตุน้ำ
สีเขียว เป็นตัวแทนของธาตุลม
สีขาว เป็นตัวแทนของโลหะ
สีเหลือง เป็นตัวแทนของธาตุดิน

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและยอมรับกันทั่วไป คือ ความหมายถึงสีผิวของพระวรกาย และรัศมีที่ทรงเปล่งออกมาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์พระองค์ต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ดังนั้นสีของธงที่แตกต่างกัน ก็จะหมายถึงตัวแทนขององค์เทพที่บูชาที่แตกต่างกันไป

ขอยกตัวอย่างความหมายของสีธงให้ดูเล่นๆ กันนะครับ

มนตราธวัชสีเขียว จะหมายถึง พระคันธหัสติโพธิสัตว์ กายสีเขียวหรือขาวอมเขียว 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถืองาช้าง วางบนดอกบัวหรือถือสังข์

หรือพระอากาศครรภโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความปีติอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการช่วยเหลือสรรพสัตว์จำนวนมากพ้นประมาณ สัญลักษณ์คือพระอาทิตย์ มือขวาถือเพชรพลอย มือซ้ายถือดวงแก้ว กายสีเขียว มี 2 กร

มนตราธวัชสีเหลือง จะหมายถึง พระคคนคัญชะโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือต้นกัลปพฤกษ์ หัตถ์ขวายกขึ้น หัตถ์ซ้ายวางบนสะโพก กายสีเหลือง มี 2 กร

หรือพระจุณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้แยกตัวมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือเจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ ทุกกรล้วนมีสิ่งของไม่เหมือนกัน บ้างก็แตกต่างกันไป กายสีเหลืองหรือขาว 3 เนตร 18 กร

หรือพระชญาณเกตุโพธิสัตว์ กายสีเหลืองหรือฟ้า 2 กร มือขวาถือธงกับเพชรพลอย มือซ้ายทำท่าประทานพรหรือพระสรรวโศกตโมนิรฆาตมตีโพธิสัตว์ กายสีเหลืองอ่อนหรือเหลือง มี 2 กร มือขวาถือคทา มือซ้ายวางบนสะโพก

หรือพระอโมฆทรรศินโพธิสัตว์ กายสีเหลือง 2 กร มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายวางบนสะโพก



มนตราธวัชสีแดง จะหมายถึง พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือพระชาลินีประภาโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือวงกลมแห่งดวงอาทิตย์ หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระอาทิตย์บนดอกบัว กายสีแดง มี 2 กร หรือพระภัทรปาลโพธิสัตว์ กายสีแดงหรือขาว มี 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถือเพชรพลอย

มนตราธวัชสีขาว จะหมายถึง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ผู้ทรงเป็นองค์แทนกรุณาของพระพุทธเจ้า ผู้สดับเสียงคร่ำครวญในโลก และคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามวัฏสงสาร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลที่สุดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

หรือพระจันทรประภาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกของพระไภษัชยคุรุ สัญลักษณ์คือดวงจันทร์วางบนดอกบัว หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระจันทร์บนดอกบัว กายสีขาว 2 กร

หรือพระอักษมยมติโพธิสัตว์ สัญลักษณ์ คือ พระขรรค์หรือหม้อน้ำ มือขวาประทานพร มือซ้ายทาบบนพระอุระ กายสีขาวหรือเหลืองนวล มี 2 กร

หรือพระสุรังคมโพธิสัตว์กายสีขาว 2 กร มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายวางบนสะโพก

หรือพระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์ กายสีขาวหรือฟ้า มี 2 กร มือขวาทำญาณมุทรา มือซ้ายทำท่าปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร

หรือพระสรรวาปายัญชหะโพธิสัตว์ กายสีขาว 2 กร ทำท่าขจัดบาป หรือถือขอสับช้างทั้งสองมือ

หรือพระสาครมติโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือสังข์หรือคลื่น ยื่นพระหัตถ์ไปข้างหน้า ทำนิ้วเป็นรูปคลื่น กายสีขาว มี 2 กร

มนตราธวัชสีฟ้า จะหมายถึง พระวัชรครรภโพธิสัตว์ สัญลักษณ์คือหนังสือ มือขวาถือวัชระ มือซ้ายถือหนังสือ กายสีฟ้า มี 2 กร

มนตราธวัชสีดำ จะหมายถึง พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนพลังของพระพุทธเจ้า

และในบางครั้งมนตราธวัชที่มีสีเหลือง เขียว หรือแดง ยังอาจหมายถึง พระประติภานกูฏโพธิสัตว์ ผู้มีผิวกายสีเหลือง เขียว หรือแดง มือขวาถือแส้ มือซ้ายวางบนเพลา มี 2 กรได้อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ชาวเนปาลยังมีความเชื่อด้วยอีกว่า หากมนตราธวัชนั้นโบกพลิ้วปลิวอยู่นานๆ แล้ว คำขอพร คำอธิษฐาน และมนตราต่างๆ ที่จารึกอยู่บนธงนั้นจะจืดจางลง ต้องใช้ใบสนหูเสืออย่างสดๆ มาจุดรมควัน คล้ายเป็นกำยาน เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มอานุภาพฤทธีให้ทวิทวีมากขึ้นเป็นประจำทุกปี หากเกิดการเปื่อยขาดลง ก็จะทิ้งไว้ตามเดิม  แต่จะเพิ่มมนตราธวัชที่สมบูรณ์ขึ้นแขวนแทนที่ใหม่เสมอๆ

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์


จาก http://www.thairath.co.th/content/376674
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...