ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ธันวาคม 25, 2018, 11:35:55 am »
ยังมีเรื่องเทคโนโลยีที่รวดเร็วและข่าวสารที่ล้นทะลักเข้ามาทุกทาง เราจะมีสติอยู่กับระดับความเร็วสมัยนี้ได้อย่างไร
ควรต้องมีสังฆะ (กลุ่มคนที่รวมตัวกัน) เพราะในกลุ่มนักบวชเราก็มีโทรศัพท์นะ มีอินเทอร์เน็ต เรามีไลน์ด้วย แต่ในสังฆะเราก็มีกฎเกณฑ์ว่าใช้ได้เมื่อไหร่ และใช้กับการงานอะไร จะได้เห็นว่าทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเราจะนั่งรับประทานข้าวกับครอบครัว แต่กลายเป็นว่าทุกคนอยู่กับไอโฟน อยู่กับแอนดรอยด์ของตัวเองหมดเลย นั่งอยู่ที่เดียวกัน แต่เหมือนอยู่กันคนละโลก การมีสังฆะจึงสำคัญ เพราะจะได้ช่วยกันดู ช่วยกันเตือน หลวงปู่เองก็เคยบอกว่า พระพุทธเจ้าในอนาคตจะมาในรูปแบบสังฆะ หมายถึงพุทธบริษัท 4 ที่ได้มาเจอกันอย่างสม่ำเสมอ และมีความตระหนักรู้อย่างเต็มเปี่ยม
คนหนุ่มสาวจะมีสังฆะในการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร
เท่าที่หลวงพี่สังเกต พบว่ามีกลุ่มการเคลื่อนไหวเจริญรุ่งเรืองขึ้นทั่วโลก คนสนใจปฏิบัติธรรมมากขึ้นและนำเรื่องสติมาใช้มากขึ้น คนรุ่นใหม่แปรเปลี่ยนคำสอนของพระพุทธองค์ให้ร่วมสมัย ทั้งคำศัพท์ที่ใช้ วิธีการปฏิบัติ ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ พุทธศาสนาไม่ตาย และยังเป็นสิ่งที่ร่วมสมัยมากๆ บางทีเราแค่ไปติดอยู่ในกรอบของภาษา หรือประเพณีบางอย่าง โดยไม่ได้เข้าถึงแก่น ซึ่งหากเราเข้าถึงแก่นของวิถีปฏิบัติ เราก็เอาพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
อย่างล่าสุดพวกเราจัดงานเดินภาวนาที่สยามสแควร์ หรือที่สหรัฐอเมริกา พวกเราก็เคยไปนั่งสมาธิอยู่กลางเมืองนิวยอร์ก แสดงให้เห็นว่าศาสนาไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัด ไม่ต้องเดินจงกรมอยู่แค่ในโบสถ์ เราแค่เดินอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็ยังตามลมหายใจอยู่ทุกขณะ เวลานักบวชออกไปข้างนอก เราไม่จำเป็นต้องนั่งเทศน์ เพราะแต่ละก้าวที่ก้าว มันก็คือการบรรยายธรรม บรรยายธรรมอย่างมีชีวิต มีสติ เป็นธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง แล้วเราเดินแบบนี้กันทุกวัน ไม่ใช่แค่เดินตอนทำงาน เขาก็พูดกันว่า พระหมู่บ้านพลัมเดินมาก็รู้เลยว่ามาจากหมู่บ้านพลัม แม้แต่ตอนทานข้าว นั่งฟัง ดื่มชา ใช้วาจาแห่งสติ ทุกอย่างเราใช้สติหมด
ในทางตรงข้าม ทุกวันนี้มีคนมากมายประกาศว่าตัวเองเป็น Atheist ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร
หลวงพี่คิดว่านี่เป็นปฏิกิริยาของกันและกัน ความหมายของศาสนาจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ก็ตาม มันเป็น way of life หรือวิถีชีวิต ศาสนาคือหนทางของการดำเนินชีวิต แต่ด้วยวิวัฒนาการของศาสนาที่ไม่ได้ถูกทำให้ร่วมสมัย หรือบางทีเราเริ่มเดินทางหลุดเข้าไปในความงมงาย ความเชื่อ ที่ไม่ได้เป็นสัมมาทิฐิ ด้วยความเจริญทางวัตถุต่างๆ จึงทำให้ศาสนาเริ่มเสื่อม ก็เป็นธรรมดาที่คนเริ่มไม่เชื่อในสิ่งนั้น เพราะมันไม่ได้ตอบสนองต่อความทุกข์ของเขา มันไม่ได้ช่วยให้เขาเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง
แต่ความเป็นจริงแล้ว เรายังสามารถเข้าถึงศาสนาที่แท้จริงได้ด้วยการฝึกปฏิบัติ คนที่มาหมู่บ้านพลัมส่วนใหญ่ ก็เป็นคนที่ไม่ได้ระบุว่านับถือศาสนาอะไร โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธ แต่ด้วยความที่เขามาเพื่อปฏิบัติ เข้าถึงสติ สมาธิ ปัญญา เราไม่ได้พูดเรื่องงมงาย หรือเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ก็ทำให้เขาเห็นว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ และมากกว่านั้นคือมันทำให้เขาเข้าใจศาสนาของตัวเองได้ดีขึ้น และกลับไปช่วยโบสถ์ที่เขาทิ้งมา จะเห็นได้ว่า เมื่อศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ มันจะสามารถเข้าไปถึงแก่นของการดำเนินชีวิตได้
ตอนนี้ความเป็นไปของหมู่บ้านพลัมทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับในไทย หลวงพี่ขอเชิญชวนให้เข้าไปดูในเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของหมู่บ้านพลัม เราจะมีการโพสต์ว่ามีงานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้เรามีสถานปฏิบัติธรรมอยู่ที่เขาใหญ่ มีวิวทิวทัศน์ อากาศสดชื่น มีคณะนักบวชทั้งหญิงและชายอยู่เกือบ 200 รูป และส่วนใหญ่ก็เป็นพระรุ่นหนุ่มสาว เป็นพลังที่ดีในการปฏิบัติ ส่วนที่ฝรั่งเศสก็มีคนมาปฏิบัติเยอะขึ้น มีงานภาวนาทั้งช่วงปีใหม่ คริสต์มาส งานภาวนาของครอบครัว คนหนุ่มสาว ช่วงอาทิตย์หน้าในเมืองไทยเรายังมีภาวนาให้กับพระชาวคริสต์ เป็นคุณพ่อที่พาคณะของเขามาเมืองไทยและฝึกปฏิบัติกับเรา 4 วัน น่ารักมาก เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันด้วย

การเข้าร่วมในสังฆะและทำกิจกรรมปฏิบัติธรรม จะช่วยพัฒนาเราได้ แม้ว่าเราจะไม่บวชใช่ไหม
อย่างแรกคือต้องเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส เราก็ประสบความสำเร็จได้ มันไม่มีข้อแบ่งแยกระหว่างฆราวาสกับนักบวช ทุกคนมีความเป็นพุทธะในตัวเอง เรามีความสามารถที่จะตื่นรู้เบิกบาน เมื่อเข้าใจตรงนี้ เราจะไม่ตั้งต้นด้วยความรู้สึกว่าตัวเองต่างจากนักบวช หรือตั้งต้นว่าตัวเองต่ำต้อย เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้เสมอว่าทำอย่างไรเราถึงจะเข้าสู่ความคิดที่ไม่แบ่งแยก การประสบความสำเร็จของนักบวชและฆราวาสจึงเป็นสิ่งเดียวกัน คือถ้าเรามีความตื่นรู้เบิกบาน เราก็จะมีความสุข ฆราวาสอาจจะมีพันธะที่จะต้องหาเงินหาทอง แต่ถ้าเรามีความสดชื่น ตื่นรู้เบิกบาน เราก็อาจจะยิ่งหาเงินได้เยอะแยะ แต่เราไม่ติดอยู่ตรงนั้นนะ ส่วนนักบวชเองไม่ได้อยู่ในวิถีที่หาเงินหาทอง ซึ่งเราก็ไม่เป็นทุกข์เช่นกัน
แม้ว่าความเป็นจริงแล้วเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน แต่หลวงพี่อยากให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเราเหมือนกัน พอเราหลุดออกจากกรอบที่แบ่งแยกนี้แล้ว ก็พยายามนำพุทธศาสนาเข้าไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้
สมมติถ้าเราอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อยู่บนท้องถนน กำลังนั่งรถไฟฟ้า มีคนเยอะแยะ เมื่อนึกขึ้นมาได้ เราอาจจะบอกกับตัวเองว่าทุกครั้งที่ฉันเดินไปขึ้นรถไฟฟ้า จะทำอย่างไรให้เดินแล้วได้อยู่กับฝ่าเท้าจริงๆ แล้วก็ตามลมหายใจไปด้วย ระลึกอยู่เสมอว่า ฉันนั่งอยู่บนรถไฟฟ้า ถ้าเกิดรู้สึกว่าเราถูกดึงไปอยู่กับอดีตหรือความกังวลในอนาคต บางคนก็อาจจะเอาหูฟังมาเปิดเพลงธรรมะ บทกลอน หรือเพลงอะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีสมาธิกับลมหายใจ ผ่อนคลายใบหน้า นี่เป็นวิถีที่เราเอาไปใช้ได้ในทุกที่ ไม่ใช่แค่ในวัด ช่วงแรกๆ เราอาจจะทำไม่ได้ตลอด อาจจะเลือกทำแค่วันละครึ่งชั่วโมงก็ได้ บางคนก็เลือกช่วงดื่มกาแฟตอนเช้า คือดื่มอย่างมีสติ ตั้งใจดื่มกาแฟอย่างเต็มร้อย นี่เป็นพุทธศาสนาประยุกต์ที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และหมู่บ้านพลัมอยากมอบให้ชาวโลก
พระพุทธเจ้าสอนเราแค่สองเรื่องคือ ให้เราเข้าใจความทุกข์ของเรา และแปรเปลี่ยนความทุกข์ของเราให้เป็นสุข ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทำตรงนี้ได้ก็คือการอยู่กับปัจจุบันขณะ
อยากถามถึงสุขภาพของท่านติช นัท ฮันห์ ในขณะนี้เป็นอย่างไร
หลวงปู่แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าท่านขอกลับมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่วัดต้นกำเนิดของท่าน คือวัดตื่อฮิ้ว อยู่ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ท่านกลับมาอยู่ตรงนี้ก็มีความสุข ด้วยพลังของพระบรรพบุรุษ และพลังของสิ่งแวดล้อมในวัดโบราณที่งดงาม มีต้นไม้ บ่อน้ำ อาคารนั่งสมาธิแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงท่านมา ในวันที่อากาศดีๆ ฝนไม่ตก และสุขภาพท่านอำนวย ท่านก็จะนั่งรถเข็นออกมาทำสมาธิ ชมธรรมชาติ ชมวัดของท่าน โดยท่านตั้งใจอยู่ตรงนี้ไปจนถึงวันละสังขาร เพราะท่านคิดว่าได้เดินทางเป็นวงกลมไปทั่วโลกแล้วตั้งแต่เป็นพระหนุ่ม ออกไปช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวโลกมากมาย ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะกลับมาที่ต้นกำเนิด เพื่อให้เห็นว่าเราทุกคนมีรากของตัวเอง และต้องกลับมาหารากของตัวเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ก็มีศิษย์จากต่างประเทศแวะเวียนกันมาปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ
ทุกวันนี้ ท่านเสียดายโอกาสอะไรจากโลกภายนอกบ้างไหม
ไม่มีอะไรน่าเสียดายเลย เพราะโลกภายนอกมันก็อยู่ในเรา ตัวเราเองก็อยู่ในโลกภายนอก ถ้าฝึกปฏิบัติแล้วเราจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันอยู่ตรงนั้น ไม่ได้แบ่งเลยว่านี่คือนอกวัดหรือในวัด เพราะจริงๆ แล้วถ้าเราเข้าถึงวิถีชีวิตแบบนี้ มันก็เป็นการดำเนินชีวิตต่อไปเรื่อยๆ อย่างมีเป้าหมายและอุดมการณ์ ในวัดเราก็มีเล่น มีทำงาน อยู่ด้วยกันก็มีปัญหาเป็นธรรมดา มันก็เหมือนโลกข้างนอก มีกิเลส บางคนรักษาศีลได้ บางคนก็ผิดศีล แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรามีแต่ข้างนอกไม่มีคือเราอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน และเรามีวิถีทางปฏิบัติแบบเดียวกัน ที่จะทำให้เราหลุดพ้นและนำไปสู่ความเข้าใจอันสูงสุด และมีความกลมกลืน รักกันฉันพี่น้อง ช่วยเกื้อกูลและขัดเกลาให้วิถีชีวิตนักบวชเรามันบริสุทธิ์และเป็นอิสระมากขึ้น รวมทั้งมีพลังและเวลาที่จะรับใช้คนอื่นมากขึ้น
จาก https://adaybulletin.com/talk-conversation-sister-niramisa/24646