ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ธันวาคม 28, 2023, 12:04:35 pm »แนวทางการสอนและฟูมฟักสังฆะ
อ.กฤษดาวรรณ เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีมันเกิดจากแรงบันดาลใจในการปฏิบัติ จากนั้นจึงนำไปสู่ความสนใจในการสร้างสถานปฏิบัติภาวนาแบบวัชรยาน ที่ที่สามารถกราบอัษฎางคประดิษฐ์ สวดบริกรรมมนตราแบบทิเบต โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าคนจะเข้าใจหรือไม่ จึงเริ่มมองหาที่ดินจนมาพบที่ดินในอำเภอหัวหินบ้านเกิด หลังจากนั้นก็ได้ลงมือสร้างสถานที่ เมื่อสถานที่เริ่มพร้อม จึงทำหลักสูตรการเรียนการสอนของพันดาราขึ้น
“คอร์สแรกที่เปิดคือคอร์ส ‘เตรียมตัวตาย’ โดยเอาคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตมาสอน ซึ่งตอนแรกก็สอนไม่เป็น เพราะไม่เคยไปเรียนคอร์สแบบนี้ ที่ผ่านมาเราเรียนจากครูบาอาจารย์ชาวทิเบต เวลาที่ฝึกหรือจำศีลก็ฝึกคนเดียว พอวันหนึ่งต้องมาเปิดคอร์สสอนก็ทำไม่เป็น จึงลองผิดลองถูก ตั้งแต่การทำแบบกระบวนกร ฉายภาพยนตร์ เล่นเกม ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายมันก็เหมือนจะไม่ใช่ทางที่เราถนัดและสนใจ”
“จนวันหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ใช่เรา เราอยากสอนธรรมะแบบที่ลงลึกจริงๆ จึงตัดสินใจว่าเราจะสอนแบบที่เราเคยเรียนมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ปรากฏว่ามีคนมาเรียน และหลายคนก็ยังอยู่ด้วยกันมาจนถึงทุกวันนี้ เราเลยได้พบว่าเราต้องนำสิ่งที่เราถนัด สิ่งที่หล่อหลอมความเป็นเราออกมา แล้วเราจะทำมันได้ดีที่สุด เราจะสอนคนอื่นได้ ถ้าเราใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้ของเราเอง ตั้งแต่นั้นเราก็เริ่มทำหลักสูตรของพันดาราเรื่อยมา”
เป็นเวลากว่าทศวรรษที่มูลนิธิพันดารามีสังฆะที่ฝึกฝนกันอย่างต่อเนื่อง โดย อ.กฤษดาวรรณ และ อ.เยินเต็น ได้พาลูกศิษย์เรียนรู้คำสอนในระดับที่ลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง อ.กฤษดาวรรณ เชื่อว่าวันหนึ่งคนในสังฆะจะสามารถเกิดความเข้าใจในธรรมชาติของ “จิตเดิมแท้” และพร้อมเป็นผู้สืบทอดคำสอนต่อไป
“ผู้สืบทอดคำสอนจะต้องมีใจที่กว้างใหญ่ ต้องละทิ้ง 7 เก่าๆ ที่ไม่ใช่วิธีคิดแบบมหายานไป เพราะการที่จะเป็นครูทางธรรมของวัชรยาน จะต้องมีความเข้าใจในมหายาน ต้องเชื่อมั่นในความเท่าเทียม ทั้งกับมนุษย์รวมไปถึงสัตว์ทั้งหลาย เราต้องให้ทุกชีวิตอยู่ในอ้อมแขนของเรา มันเป็นอะไรที่ท้าทาย สนุก และเบิกบานใจ พันดารามีวิธีการเช่นนี้ในการสร้างครูสอนธรรม เพื่อให้คำสอนได้งอกงามในรุ่นต่อๆ ไป”
วิจักขณ์เสริมในส่วนนี้ว่า “ฟังอาจารย์กฤษดาวรรณแล้วรู้สึกเหมือนกันว่า เส้นทางของครูสอนธรรมะ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางทีผู้เรียนอาจมีความคิดว่าจะต้องไปเรียนธรรมะกับคนที่ ‘ถึงแล้ว’ แต่ในวัชรยาน เส้นทางของการเป็นอาจารย์มีความน่าสนใจ เพราะคำสอนหรือกระบวนการที่เราเอามาใช้กับศิษย์ก็วิวัฒน์ไปพร้อมๆ กับประสบการณ์ที่มากขึ้นของเรา Enlightenment is real และ Transformation ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางก็ real ด้วยเช่นกัน”
ในสังฆะวัชรปัญญา วิจักขณ์ใช้รูปแบบวิธีการถ่ายทอดที่ต่างออกไป หากใครรู้จัก เชอเกียม ตรุงปะ มาบ้าง อาจพอทราบว่าตรุงปะเลือกที่จะถอดความเป็นทิเบตออกจากธรรมะ อีกทั้งได้ simplify และ minimalize องค์ประกอบของพุทธศาสนาวัชรยาน ในการสื่อสารกับลูกศิษย์ชาวตะวันตก โดยท่านได้เลือกใช้ทรรศนะแบบ ‘ไตรยาน’ เป็นเส้นทางหลักในการสอน
การเรียนการสอนในสังฆะวัชรปัญญา จึงถอดรูปแบบจากสิ่งที่วิจักขณ์ได้รับมาจากธรรมาจารย์เรจินัลด์ เรย์ (ศิษย์ของ เชอเกียม ตรุงปะ) เป็นระบบการฝึกแบบไตรยานที่ต้องเรียนรู้วิวัฒนาการของเส้นทางจิตวิญญาณในสามขั้น ได้แก่ หินยาน มหายาน และวัชรยาน
“ช่วงเริ่มต้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสอนอย่างไร ก็สอนแบบที่เรียนมา คือเอาเทคนิค bodywork หรือ somatic meditation ที่อาจารย์ของผมพัฒนาขึ้นมาถ่ายทอด แม้ดูจากภายนอกอาจจะไม่ทิเบตเลย และไม่วัชรยานเลย แต่สำหรับผม bodywork หรือ somatic meditation มีความเป็นวัชรยานในตัวเอง มันคือกระบวนการที่สอนให้เราได้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปัญญาญาณหรือศักยภาพของการตื่นรู้ในกาย ทำความรู้จัก subtle Body ปราณ ช่องกลางกาย หรือ จักระต่างๆ เพียงแต่เราจะไม่ได้ใช้ภาษาแบบนี้ในการสอนเท่านั้นเอง เราพาคนที่มาเรียนให้รู้จักร่างกายในฐานะมณฑลแห่งการตื่นรู้ มันเปลี่ยนท่าทีที่เราสัมพันธ์กับร่างกาย แล้วค่อยๆ ทำงานกับตัวเองผ่านภาวะของ embodiment รู้จักอาการเกร็ง อาการคลายในร่างกาย รู้จักพลังงานรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญคือรู้จักธรรมชาติของ space หรือพื้นที่ว่าง อาจกล่าวได้ว่า somatic meditation พาเราไปทำความรู้จักกับ “กายโพธิจิต” นั่นเอง
“โพธิจิตถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติจำนวนมากในบ้านเราที่เคยคุ้นเคยกับการภาวนาแบบเถรวาทมาก่อน การทำงานกับโพธิจิตจะพลิกเปลี่ยนท่าทีในการสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ไปพอสมควรเลย เราฝึกที่จะสัมพันธ์อยู่ในความว่าง ความเปิดกว้าง การดำรงอยู่ ณ ตรงนั้น เวลาที่เราสัมพันธ์กับผู้อื่น ในขั้นมหายาน เราจะเริ่มเชิญชวนให้ผู้ปฏิบัติเปิดตัวเองสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยการมาทำงาน มารับใช้ครู รับใช้สังฆะ รับใช้พระอวโลกิเตศวร อย่างการดูแล “อวโลกิตะ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศูนย์ภาวนาของมูลนิธิ ถือเป็นแบบฝึกหัดในการดำรงอยู่ตรงนั้นเพื่อผู้อื่น โดยไม่หวังผลลัพธ์ เป็นการฝึกที่จะไม่เอาอัตตาเป็นศูนย์กลางในการทำงานทางธรรม ดูเหมือนหลายคนจะเริ่มมีประสบการณ์และความเข้าใจคำสอนวัชรยานเพิ่มขึ้นจากการไปร่วมทีมดูแลอวโลกิตะ”
“ถ้าเรามองในแง่บวกมันคงไม่ได้มีอะไรที่ท้าทาย ทุกอย่างคือการเรียนรู้” อ.กฤษดาวรรณ เกริ่นตอบด้วยประโยคนี้ ก่อนจะเล่าต่อว่าภารกิจใหญ่ของพันดารา คือการระดมทุนเพื่อสร้างพระมหาสถูป ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความท้าทายหรือเป็นเส้นทางก็ได้ เพราะการสร้างพระมหาสถูป คือการมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติภาวนาของสังฆะ ซึ่งนอกจากภารกิจด้านนี้แล้ว อ.กฤษดาวรรณยังเล่าต่อถึงงานด้านการสอนภาวนาด้วย
“ในส่วนของการฝึกฝนภาวนานั้นค่อนข้างราบรื่น มีผู้คนที่เปิดใจและเกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อได้ลองมาฝึกฝนปฏิบัติ บางคนได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อจัดสรรเวลาให้กับการการจำศีลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าลูกศิษย์ในสังฆะมีความสนใจจริง
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายในการหาวิธีที่จะทำให้เขาเข้าใจวัชรยานจากข้างในหัวใจของเขาเอง ปัจจุบันสิ่งนี้ยังไม่สามารถเกิดได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละคนก็มีพื้นฐานหรือ framework เดิม เวลาที่เขาเจอปัญหา เขายังไม่ได้มองโลกจากมุมมองแบบวัชรยานทั้งหมด เขาจะมีมุมมองแบบนั้นเพียงตอนที่ฝึกฝนในขทิรวัน แต่เวลาที่เขาได้เจอความทุกข์ หรือสถานการณ์ในการทำงาน เขาจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่อาจจะไม่ได้มาจากมุมมองแบบวัชรยาน ซึ่งตรงนี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นความท้าทายในแง่ของสังฆะ เราต้องเอาจิตวิญญาณใหม่หรือสิ่งที่เราเรียนรู้จากวัชรยานมาใช้เป็น framework ของชีวิต ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่เราจะต้องทำงานกันต่อ”
ด้วยปณิธานและการทำงานกับโจทย์ใหม่ๆ บนเส้นทาง ในปีนี้มูลนิธิพันดาจึงได้ริเริ่มการสร้างโรงเรียนที่มีลักษณะเป็น “ห้องภาวนา” ในกรุงเทพฯ ที่ชื่อ “เตเช็น” ซึ่งแปลว่า มหาสุข
“พวกเราสองสังฆะอาจทำอะไรที่สวนทางกัน ปีนี้วัชรปัญญากำลังจะกลับไปสู่ป่า ส่วนเรากำลังจะเข้ามาในเมือง เพราะเราพบว่าลูกศิษย์ 95 เปอร์เซ็นต์มาจากกรุงเทพ แล้วทุกคนก็ต้องผ่านทุกข์โศกในแต่ละวัน บางวันอาจพบความสูญเสีย บางวันอาจได้รับสิ่งที่ยิ่งใหญ่แล้วอยากบอกกล่าวครูหรือเพื่อน แต่ก่อนหน้านี้เราอยู่ไกลกัน ในปีนี้เราจึงตัดสินใจว่าจะสร้างพื้นที่ที่เราพบปะกันได้ในกรุงเทพฯ และเราอยากให้มองว่าที่แห่งนี้จะเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังสำหรับสังฆะวัชรปัญญาด้วย”
ด้านวิจักขณ์เสริมว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานทางธรรม คือจะต้องไม่ละทิ้งการปฏิบัติของตัวเอง คือทำงานไปด้วยปฏิบัติไปด้วย ซึ่งผู้เรียนธรรมะในบ้านเราอาจมีมุมมองที่ต่างออกไป เช่น การมองว่าครูสอนธรรมะจะต้อง “ถึง” ก่อนถึงจะออกมาสอนคนอื่นได้ แต่ในวัชรยานจะมองเรื่องนี้ต่างออกไป โดยมีมุมมองว่าตัวครูผู้สอนเองก็มีเส้นทางการฝึกฝนเรียนรู้ในแบบของครู สอนไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย พัฒนาการรู้แจ้งให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นจากการเปิดสัมพันธ์กับสถานการณ์
นอกจากนี้วิจักขณ์ยังพูดถึงข้อจำกัดด้านอื่นๆ ในการสอนวัชรยานในไทย ที่ยังถือเป็นสิ่งใหม่ในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ระดับปัจเจกที่เป็นเงื่อนไขส่วนตัวของผู้สอน การสื่อสารออกไปสู่ผู้เรียนหรือสังคมภายนอกที่อาจจะยังไม่เข้าใจเนื้อหาหรือแนวทางแบบวัชรยาน แต่ทั้งหมดนี้วิจักขณ์มองว่ามันไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นกระบวนการที่จำเป็นและท้าทาย ที่ทั้งตัวผู้ที่นำคำสอนมาถ่ายทอด ศิษย์ สังฆะ จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นไปด้วยกัน นั่นคือหนทางเดียวที่การเติบโตและหยั่งรากของความเข้าใจในคำสอนวัชรยานที่จริงแท้จะเกิดขึ้นได้
“เรากำลังสื่อสารสิ่งใหม่ วัชรยานไม่มีจุดอ้างอิงให้เลย ไม่มีอะไรการันตี ยิ่งการสื่อสารคำสอนวัชรยานในวัฒนธรรมใหม่ด้วยยิ่งไม่มีจุดอ้างอิงไปใหญ่ อาจมีช่วงเวลาที่เราไม่แน่ใจว่าจะไปยังไงต่อ ทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น สอนแบบนี้ถูกไหม แต่พอเราวางใจได้ ประสบการณ์จะช่วยขัดเกลาเราไปเรื่อยๆ พอวางใจได้มากขึ้น ทั้งในการสอนและในการงานทางธรรม เราจะเริ่มเห็นว่า ทั้งหมดคือกระบวนการที่ครูบาอาจารย์กำลังทำงานกับเรา พอมองย้อนกลับไป ไม่มีเหตุการณ์ไหนเลยที่เป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเสียเวลา ทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เป็นอาจารย์แบบนี้ ทำงานกับคำสอนแบบนี้ เกิดสังฆะแบบนี้ เกิดการงานทางธรรมแบบนี้ เจอความท้าทายแบบนี้ …ซึ่งมันวิเศษมาก”
วิจักขณ์พูดถึงความเฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติแต่ละคนว่า ไม่มีใครเหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนต่างมีกรรมต่างกัน นั่นทำให้ทุกชีวิตมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว ซึ่งน้่นดูจะเป็นสิ่งที่การรู้แจ้งในระดับวัชรยานสนใจ
“เราต้องซื่อตรงกับสิ่งที่เราเป็น เราก็ไม่รู้หรอกว่าไปเอาความมั่นใจมาจากไหนถึงกล้าทำสิ่งที่ทำอยู่ แต่ถ้ามีอะไรสักอย่างที่ภูมิใจในการทำบทบาทนี้ คือเราเป็นตัวเอง …เพราะเป็นคนอื่นไม่ได้จริงๆ (ฮา) แล้วสิ่งนี้ทำให้คนที่มาเรียนกับเรากล้าที่จะเป็นตัวเองด้วย เราสร้างสังฆะกันโดยที่ไม่ได้พยายามที่จะทำให้คนออกมาเหมือนๆ กัน แต่เราจะเป็นวัชรสังฆะที่ทุกคนสามารถสำแดงความจริงแท้ออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นสิ่งงดงามที่กำลังปลดปล่อยเรา ให้กลายเป็นแสงสว่างที่นำไปมอบให้แก่ผู้คนที่ต้องการได้”
วิจักขณ์ยังเห็นว่าสถานการณ์ในสังคมไทยตอนนี้ถือเป็นช่วงวิกฤติทางจิตวิญญาณ การที่ทั้งสองสังฆะเริ่มต้นการงานทางธรรมมากว่าทศวรรษ กระทั่งเติบใหญ่ขึ้น วันหนื่งเมื่อผู้คนต้องการ ก็จะออกดอกออกผลได้ทันการพอดี
“เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ ต้องเผชิญกับความทุกข์ของโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้า ความอยุติธรรมทางการเมือง สถาบันทางศาสนาที่พึ่งพาไม่ได้ สถาบันครอบครัวที่ล่มสลาย สุดท้ายเขาไม่มีที่พึ่งอะไรเลย แทบไม่มีต้นทุนทางสังคมใดๆ เหลือให้พวกเขาใช้ได้อีกแล้ว”
เป็นคำถามทิ้งท้ายให้กับสองสังฆะวัชรยาน ว่าเราจะสร้างต้นทุนแบบไหนให้กับคนรุ่นต่อไปดี ความทุกข์บนโลกใบนี้มีมากมายเหลือเกิน เราจะสร้างสังฆะกันยังไง ที่จะทำให้คนรุ่นต่อไปสามารถมาเก็บเกี่ยวดอกผลได้ทัน โดยที่ไม่ต้องมานั่งไถพรวนดินแบบรุ่นเรา หากมองในแง่นี้ “หยั่งรากวัชรยาน” อาจหมายถึงพันธกิจร่วมกันบางอย่างในฐานะผู้ปฏิบัติ การปฏิบัติภาวนาจะช่วยพัฒนาเราให้มองเห็นภาพใหญ่นั้นร่วมกันได้ เป็นการแชร์วิสัยทัศน์แห่ง enlightenment กับครูบาอาจารย์ การค้นพบศักยภาพแห่งตื่นรู้ในตัวเองและในสรรพชีวิต ที่ไปพ้นจากเส้นแบ่งของสายปฏิบัติ กระทั่งไปพ้นความเป็นพุทธศาสนาเสียด้วยซ้ำ
++++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8
วัชรสิทธา
สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน
จาก https://www.vajrasiddha.com/article-sewanavajrayana/
https://youtu.be/DdoJjxf6p0k?si=Cu6KPmkH1Gu3DWtL
Playlist อีกมากมาย ตามไปเลย https://youtube.com/@vajrasiddha?si=jFdwKhszg3pzoThD