ถ้าเป็นคนที่รุนแรงหน่อย จับอ้ายนั่นอ้ายนี่ขว้างเปรี้ยงปร้างไปเลย แตกไปกี่ใบก็ไม่รู้ แตกไปเรื่อยๆ นี่คือความโกรธ ความโกรธนี้รุนแรง อันนี้ก็น่ากลัวเหมือนกันเรื่องนี้ เรื่องนี้ต้องระวังหน่อย โทสะนี้ต้องคอยควบคุมไว้
อย่าให้มันเกิดขึ้นมาปรากฏแก่คนอื่น ต้องหัดเหมือนกัน
คือถ้าฝึกฝนแล้วมันดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกมันค่อยทันกัน พอตัวสติมันมาทันแล้ว มันก็หยุด แต่ถ้าสติมาไม่ทันแล้วก็เอาไม่อยู่ มันโกรธรุนแรงขึ้นทันทีเพราะฉะนั้นต้อง
มีสติควบคุมไว้ เราต้องเรียนรู้อาการของจิต ว่าที่โกรธนั้นเพราะอารมณ์ประเภทใด
ได้เห็นอะไรได้ยินอะไรจึงทำให้โกรธ
คอยสำเหนียกเหตุที่จะทำให้โกรธไว้ รวบรวมเอามา
คิดนึกตรึกตรองไว้บ่อยๆ ว่า เหตุอย่างนั้นจะเกิดความโกรธ เหตุอย่างนั้นจะเกิดอารมณ์อย่างนั้น เราคอยสังเกต เช่นว่าเราไปสถานที่ใด สถานที่นั้นมีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความโกรธ พบคนใด ทำ พูด กิริยาท่าทางอันจะเป็นเหตุให้เกิดความโกรธมีไหม ต้องคอยสำเหนียก คอยคุมจิตของเราไว้ พอจะเข้าไปที่นั่น ต้องเตือนไว้ว่าระวังนะ อย่าไปแสดงอาการโกรธให้เขาเห็น มันไม่ดี คนขนาดเราโกรธแล้วมันไม่เหมาะ เสียมารยาท เสียกิริยา เขาจะดูหมิ่นได้ว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้จักควบคุมตนเอง คอยเตือนอย่างนั้น กับคนกับใครก็เหมือนกัน ต้องควบคุมไว้คอยบังคับตนเองไว้บ่อยๆ
ถ้าเราคอยควบคุม คอยบังคับตัวเองอย่างนี้ นานๆ เข้ามันจะเปลี่ยนเป็นคนใจเย็นใจสงบขึ้นมา มีอะไรกระทบนิดกระทบหน่อยก็ยิ้ม
มีอะไรก็รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น และถ้าหากว่ามันเผลอเกิดอารมณ์ โกรธขึ้นมา
อย่าให้ไปเฉยๆ ต้องเอามาแยกแยะวิเคราะห์วิจัย
ในเรื่องนั้นว่าทำไมจึงได้โกรธ โกรธเรื่องอะไร เรื่องที่ทำให้โกรธมันเรื่องอะไร บุคคล เหตุการณ์ ดินฟ้า อากาศ หรืออะไรก็ตาม เอามา คิดมาวิเคราะห์ว่าทำไมจึงโกรธ ทำไมจึงร้อนใจ
มันเกิดขึ้นเพราะอะไรในเรื่องนี้ เอามาพิจารณาแยกออกไป
แยกออกไปแล้วก็พบว่าไม่มีอะไร ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร มันเป็นเรื่องแก้ได้ มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเราอย่างนั้น แต่ว่าเราเผลอไปหน่อยจึงได้เกิดขึ้น แล้วก็กำชับตัวเองว่าอย่านะ วันหลังต้องระวังไว้ให้ดี อย่าให้เกิดขึ้นอย่างนี้ขึ้นอีกเป็นอันขาดพรุ่งนี้เราแก่กว่าวันนี้ มะรืนนี้เราแก่กว่าวันพรุ่งนี้ อายุเรามากขึ้นต้องมีความหนักแน่นมากขึ้น ต้องมีเหตุผลมากขึ้น อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว เตือนตัวเองบ่อยๆ ก็เรียกว่า เสกตัวเอง ปลุกเสกตัวเองตัวเราเองบ่อยๆ คอยบอกคอยเตือนเอาไว้ นานๆเข้า.. ใจมันก็เย็น
สงบเข้าต่อทุกเรื่อง เรื่องที่เข้ามากระทบ มีอะไรมากระทบพอจะทำให้เกิดได้ เราก็เฉยๆ ไม่โกรธ นั่นเรียกว่าเอาชนะมันได้ ฆ่าความโกรธได้อยู่เป็นสุข
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"โกธํ ฆตฺตวา สุขํ เสติ" "ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข" เป็นความสงบทางใจ เราฆ่าความโกรธไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ถูกเผา ความโกรธมันฆ่า ถ้าเราไม่ฆ่ามันมันก็ฆ่าเรา เป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตเรา เราจึงฆ่ามันเสีย ทำลายมันเสีย อย่าให้มันมาแทรกแซงอยู่ในชีวิตของเราเป็นอันขาด ค่อยบรรเทาเบาบางไป แล้วจะรู้สึกว่าอะไรๆ เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนเราเป็นคนมักโกรธ ต่อมาเราเป็นคนใจเย็น เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก การเป็นการอยู่อะไรดีขึ้น ชีวิตสดชื่นแจ่มใสมีสภาพเป็นปกติ ก็ไม่ร้อนต่อไป ไฟตัวนั้นแหละ
เรา ดับลงได้ด้วยสติด้วยปัญญา นี่เป็นตัวหนึ่งเหมือนกัน
อีกตัวหนึ่งคือ
ตัวโมหะ คือความไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำให้ร้อนเหมือนกัน ร้อนของโมหะนี้มันร้อน แบบอยู่ในที่ไม่มีแสงสว่าง คล้ายๆ กับอยู่ในห้องมืด
ทั้งร้อนทั้งมืด อันตราย มันมืดแล้วก็มันร้อนด้วย น่ากลัว คิดดูมันมืดไปหมด ไม่เห็นช่องทาง อันตราย เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ตัวนี้ไม่ให้เกิดขึ้น
โมหะนี้มันเป็นเจ้าตำรับใหญ่
ต้นฐานมันอยู่ที่โมหะ แล้วเกิดความอยาก เกิดความโกรธ มันต่อกันไปเพราะเราจะต้องคอยศึกษาแยกแยะอะไรต่างๆ ที่เราเรียกว่าเจริญวิปัสสนา ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยเนื้อแท้ก็คือ หมั่นวิเคราะห์ แยกแยะเหตุการณ์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา ให้มันเห็นว่า อะไรเป็นอะไรมากขึ้น ไปนั่งอยู่คนเดียว ไปยกอะไรมาพิจารณาแยกแยะออกไป ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ แล้วความหลงใหลความยึดมั่นถือมั่น จะผ่อนคลายหายไปโดยลำดับ เราก็จะมีชีวิตสดใส
แม้แดดจะร้อน เราก็ไม่ร้อน อากาศมันจะเปลี่ยนแปลงเราก็เฉยๆ
เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องมีอารมณ์หงุดหงิดเพราะดินฟ้าอากาศ เพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มากระทบจิตใจของเรา อันนี้จะช่วยให้เราเป็นสุขทางใจในหน้าร้อน เพราะไม่มีความร้อนในภายใน มาร่วมกับความร้อนในภายนอก ให้มันร้อนแต่เพียงผิวกายเถอะ แต่อย่าให้ใจของเราต้องร้อนไปด้วยเลย
หลักนี้สำคัญที่เราควรจะได้ปฏิบัติ แล้วก็รู้สึกว่ามีชีวิตเป็นสุข คนเราถ้าไม่ร้อนแล้วเป็นสุขที่สุด ทุกๆ หน ทุกๆ แห่ง ไม่ว่าอะไรมันจะเป็นอย่างไร แต่เรามีใจสดชื่นรื่นเริงตามธรรมชาติของชีวิตร่างกาย นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด นำมาเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟังไว้ เพื่อเป็นเครื่องเป็นแนวทาง ดังที่ได้แสดงมา ก็สมควรแก่เวลา.
โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๐
ที่มา : http://www.panya.iirt.net
: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&month=12-2009&date=23&group=1&gblog=258
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ...