แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - เลดี้เบื๊อก

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 ... 16
1


รู้เห็นอัตตาก่อนอนัตตา
โดย พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต. เขือน้ำ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
โทร (๐๘๒) ๒๔๕–๔๘๘

การน้อมใจพิจารณาในอนัตตา เริ่มต้นก็ให้รู้ว่า อัตตา ตัวตนเป็นอย่างไร มีส่วนประกอบด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างไร อาการ ๓๒ ที่ทุกคนเคยอ่านและเคยสวดมนต์กันอยู่แล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะอาการแต่ละอย่างออกมา ให้รู้เห็นในลักษณะอาการนั้นให้ถูกต้อง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นลักษณะอย่างไร ก็ทำความเข้าใจในสมมติว่าเป็นลักษณะนี้จริง ๆ เหมือนกับรถ ถ้ารื้อออกมาทั้งหมดแล้ว คำว่ารถก็จะหมดไปทันที ทุกอย่างจะเป็นเพียงชิ้นส่วนและอะไหล่ของรถเท่านั้น นี้ฉันใด

อัตตาที่เข้าใจว่าเป็นตัวเราทั้งหมดนี้ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาอยู่บ่อย ๆ ใจก็ค่อยรู้เห็นว่าไม่มีอัตตาตัวตนแต่อย่างใด จึงใช้ปัญญาฝึกใจให้เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่เสมอและฝึกใจอยู่เสมอว่า อีกไม่นานัก ใจกับร่างกายนี้ ก็จะแยกทางกันไป ร่างกายจะเน่าทับถมอยู่ในพื้นดินนี้ ใจก็จะไปตามบุญกรรมที่ได้ทำเอาไว้แล้ว ทั้งเราทั้งเขา ก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกคน แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท ก็จะเป็นในลักษณะนี้เช่นกัน

สมาธิความสงบ ผู้ปฏิบัติภาวนาในยุคนี้สมัยนี้ จะมีความเข้าใจในวิธีทำสมาธิความสงบได้เป็นอย่างดี เพราะมีผู้สอนวิธีทำสมาธิความสงบกันอยู่มาก หากมีการภาวนาปฏิบัติก็จะประกาศว่าให้ภาวนากัน ทุกคนก็จะเข้าใจว่าการภาวนา คือทำใจให้มีความสงบ จะนึกถึงคำบริกรรม ทำให้จิตเกิดความสงบทันที วิธีทำสมาธิความสงบนั้นก็เริ่มต้นเหมือนกันกับวิธีทำสมาธิความตั้งใจมั่น เหมือนกันกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ถ้าผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ ผู้นั้นก็จะทำให้จิตมีความสงบได้เร็วขึ้น จิตก็จะดิ่งลงอัปปนาสมาธิเข้าสู่รูปฌาน อรูปฌาน ได้เป็นอย่างดี

ในช่วงที่จิตมีความสงบนี้เอง บางคนก็จะเกิดเป็นนิมิตในลักษณะต่าง ๆ กันไป ตามนิสัยของท่านผู้นั้น บางท่านก็จะไม่เกิดนิมิตแต่อย่างใดมีแต่ใจแน่วแน่อยู่ในความสงบนิ่งเฉยเพ่งอยู่ในฌานเท่านั้น

ในขณะจิตอยู่ในความสงบนั้น อาการของจิตก็จะอยู่ในอุเปกขาเฉยอยู่ บางคนก็สงบได้ไม่นาน บางคนก็สงบอยู่ได้นาน

ในขณะจิตมีความสงบอยู่นั้น เรื่องราคะ ตัณหา กิเลสน้อยใหญ่จะไม่ปรากฏที่ใจแต่อย่างใด เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว อำนาจสมาธิและฌานยังไม่เสื่อม ใจก็จะมีความสุข เบากาย เบาใจ อยู่ตลอดเวลา

ในขณะสมาธิฌานเสื่อมลงไป กิเลสตัณหาน้อยใหญ่ก็จะเกิดขึ้นที่ใจตามเดิม เหมือนกับศิลาทับหญ้า เมื่อเอาศิลาออกจากที่นั้นแล้ว หญ้าก็จะเกิดในที่นั้นตามเดิม นี้ฉันใด

ใจที่มีความสงบอยู่ ก็เพียงข่มกิเลสตัณหาไว้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสมาธิเสื่อมจากใจเมื่อไร ใจก็จะเกิดความรัก ความชอบ ในกามคุณ เกิดราคะตัณหา เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่อไป


สมาธิเพียงข่มกิเลสตัณหา

เมื่อใจยังมีความหลงไปตามกระแสโลกอยู่ มีความใฝ่ฝันในกามคุณอยู่ กำลังใจที่เกิดจากสมาธิความสงบก็จะเป็นกำลังหนุนกิเลสตัณหาราคะให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เพราะกำลังใจที่เกิดจากสมาธิความสงบเป็นเพียงกำลังหนุนเท่านั้น ถ้าผู้ฝึกสติปัญญามาดี กำลังของสมาธิก็จะเป็นตัวหนุนสติปัญญาได้เป็นอย่างดี พิจารณาความจริงในสิ่งใดก็จะเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าไม่มีสติปัญญาให้หนุน กำลังใจที่เกิดจากสมาธิก็จะไปหนุนกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ให้ใจฟุ้งไปตามอารมณ์ที่รักที่ชอบใจต่อไป

คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่า การทำสมาธิความสงบจะทำให้เกิดปัญญา ทำให้ใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ทำให้ใจละอาสวกิเลสตัณหา ความเห็นในลักษณะนี้จึงเป็นความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดโดยไม่รู้ตัว ถึงจะเข้าใจว่าเป็นความเห็นถูกอยู่ก็ตาม ก็จะเป็นความเห็นผิดต่อไป ดังคำว่าเห็นผิดเป็นถูก เห็นชั่วว่าดี เห็นสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา จึงตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา

ในความเห็นที่เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่มาเข้าใจว่าเรามีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ฉะนั้น การภาวนาปฏิบัติจึงเริ่มต้นจากความเห็น

ตามปกติใจจะมีความเห็นผิดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราจึงแก้ความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้หมดไปจากใจเสียก่อน แล้วจึงมาเริ่มต้นใหม่ให้ใจมีความเห็นเป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นจริงตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง


ในเมื่อใจเรายังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เราก็อย่าเพิ่งภาวนาปฏิบัติแต่อย่างใด เหมือนการออกรถลงสู่ถนน ถ้าเราไม่แน่ใจในเส้นทางที่เราจะต้องไปก็อย่าแล่นรถออกไป ให้ศึกษาเส้นทางให้ดี ดูแผนที่ให้เข้าใจ จนเกิดความมั่นใจว่าถูกต้องแล้ว จึงออกรถไป จะไม่ทำให้เสียเวลา จะถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ นี้ฉันใด

การภาวนาปฏิบัติก็ฉันนั้น เราจึงมาแก้ความเห็นผิดของใจให้เกิดความถูก จากนั้นไป ก็จะเกิดความเห็นถูก การภาวนาปฏิบัติก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการเริ่มต้นถูกในทางกลาง และถูกในที่สุดคือมรรคผลนิพพาน

ขณะนี้ มีผู้ตั้งใจภาวนาปฏิบัติกันอยู่มาก กำลังแสวงหาครูอาจารย์ให้เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัตินี้อยู่ เหมือนผู้หลงทางกำลังเดินทางอยู่ หรือไม่แน่ใจในเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่ว่าผิดหรือถูก กำลังต้องการผู้ที่รู้เส้นทางที่ถูกต้องให้ ถ้าผิดก็จะได้แก้ไข ถ้าถูกก็จะได้เดินทางต่อไปด้วยความมั่นใจจะได้รีบเร่งทุ่มเทความพากเพียรลงไปอย่างเต็มกำลัง

ข้อควรระวัง เมื่อเรากำลังหลงทางแต่ได้เพื่อนที่กำลังหลงทางเหมือนกันกับเรา หรือไปถามผู้ที่หลงทางเหมือนกันกับเราก็จะบอกส่งเดชไปเลยว่า ถูกแล้ว ๆ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน เพราะในยุคนี้ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล

แสวงหาหัวหน้าโค

เหมือนกับฝูงโคกำลังแสวงหาหัวหน้าโคให้พาลอยข้ามกระแสแห่งมหาสมุทร ถ้าฝูงโคกลุ่มใดได้ผ่าน และข้ามกระแสมาแล้ว ตรงไหนที่เป็นโขดหิน ตรงไหนที่เป็นวังวน ตรงไหนที่มีจระเข้ ที่ไหนที่มีปลาฉลาม ตรงไหนมีโทษภัยอย่างไร หัวหน้าโคจะรู้เส้นทางในการข้ามกระแสนี้ได้เป็นอย่างดี จึงได้พาฝูงโคทั้งหลาย ข้ามกระแสถึงฝั่งอย่างปลอดภัย

ถ้าฝูงโคได้หัวหน้าตัวที่ไม่เคยข้ามกระแสมาก่อน ก็ไม่ทราบว่า หัวหน้าโค จะพาฝูงโคข้ามกระแสในจุดไหน ในขณะที่พาฝูงโคลอยคอกันอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร อาจเข้าไปในจุดน้ำวังวน จุดจระเข้ จุดปลาฉลามกำลังออกหากิน ทั้งหัวหน้าโคและฝูงโคทั้งหลาย จะเอาตัวรอด ได้หรือไม่ หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นกับหัวหน้าโคและฝูงโคเหล่านั้น นี้ฉันใด

ในยุคนี้สมัยนี้ หัวหน้าโค หรือครูอาจารย์ที่เราต้องการจะเลือกได้ด้วยวิธีใด จะดูอย่างไรว่าเป็นของแท้ของปลอม ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาล ที่มีพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายมีอยู่เป็นจำนวนมาก การสอนธรรมปฏิบัติของพระอริยเจ้านั้น จะสอนไปในทิศทางเดียวกัน พุทธบริษัทไม่ได้ถกเถียงกันว่าองค์นั้นสอนผิดองค์นี้สอนถูก องค์นั้นสอนทางตรง องค์นี้สอนทางอ้อม ฟังธรรมของพระอริยเจ้าร้อยพันองค์ก็เหมือนกันทั้งหมด นั้นคือสอนสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นหลักยืนตัว เป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ในยุคนี้สมัยนี้ ถึงจะมีผู้สอนธรรมและการปฏิบัติอยู่ ความถูกต้องชัดเจนจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าหากการสอนและการปฏิบัติอยู่ในขั้น กามาวจรกุศล ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งผู้สอนและผู้ปฏิบัติก็ทำหน้าที่ได้ดีถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนธรรมะที่เป็น โยคาวจรกุศล ที่เป็นแนวทางจะข้ามพ้นไปจากวัฏสงสารนั้น ดูจะเกิดความสับสนอยู่มากพอสมควรจะเป็นเพราะผู้สอนตีความหมายในธรรมะหมวดนี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง แล้วนำมาสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าผิดไปก็อาจเป็นได้ หรือผู้ฟังไม่เข้าใจในธรรม ตีความหมายผิดไปก็อาจเป็นได้เช่นกัน

ฉะนั้น จึงมีปัญหาถกเถียงกันว่าสายนั้นผิด สายนี้ถูก สายนี้ทางตรง สายนี้ทางอ้อม เกิดขึ้น ทุกสายจะต้องประกาศว่าถูกต้องตรงสู่มรรคผลนิพพานด้วยกัน จึงยากที่จะตัดสินว่าสายไหนผิด สายไหนถูก กันแน่ ถึงจะมีผู้รู้ดีรู้ชอบในแนวทางปฏิบัติอยู่ก็ตาม ก็ยากที่จะทำความเข้าใจให้สายต่าง ๆ กลับมาเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้ก็เพราะได้แบ่งกันออกไปเป็นกุล่มเป็นเหล่ากันแล้ว

แนวทางปฏิบัติขั้น โยคาวจรกุศล นี้ เป็นแนวทางปฏิบัติระดับสูง เป็นอุบายการปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากภพทั้งสาม สำหรับฆราวาสแล้ว จึงยากในการปฏิบัติให้เป็นไปได้

ถ้าผู้ฟังมีความจริงจัง ฟังเหตุผลมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน โอกาสหน้าจึงมาปรึกษากันใหม่ ถึงข้าพเจ้าจะมีสติปัญญาน้อยก็จะอธิบายให้ฟังอย่างเต็มความสามารถ เว้นเสียที่ไม่รู้ภาษากันเท่านั้น


2
ทิฏฐิจริต ใจเห็นถูก เร็ว ใจเห็นผิด ช้า

ถาม : กระผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า...
สิ่งมีชีวิตทุกๆ สิ่งในสากลจักรวาลนี้
มีธาตุแห่งพุทธะเหมือนกันหมดในทุกชีวิต
นั่นคือทุกๆ ชีวิตสามารถที่จะเข้าถึงนิพพานได้หมด
แต่แตกต่างกันที่เวลาในการเดินทางว่าจะช้าหรือเร็ว

กระผมขอกราบเรียนถามว่า...
ความเป็นพระพุทธเจ้าต้องใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับจริตแต่ละองค์ซึ่งถูกกำหนดโดยความปรารถนาและระยะเวลา
หรือ ถูกกำหนดแล้วตั้งแต่เริ่มกำเนิดของสากลจักรวาลครับ

ตอบ :สัตว์ที่มีชีวิต สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานในเมื่ออินทรีย์แก่กล้าเป็นภัพบุคคล

ที่เป็นอภัพสัตว์คือจำพวกที่ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผลเพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ
คือ เห็นผิด ปฏิบัติผิด เช่นเห็นกรรมชั่วเป็นดี เห็นผิดจากอริยสัจ
เช่น เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ว่าเป็นเหตุให้เกิดสุข
เห็นผิดจากนิโรธ เห็นผิดจากมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ปฏิบัติผิด จึงทำให้เห็นช้าในการรบรรลุมรรคผลนิพพาน


พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่ทำให้เนิ่นช้าในการบรรลุวิมุตติคือ มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด
มิจฉาญาณะ รู้ผิด มิจฉาวิมุตติ ใจหลุดพ้นผิด เพราะมานะ ความสำคัญ


สิ่งที่ทำให้รวดเร็วในการบรรลุ วิตุติ คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นถูก
สัมมาญาณ รู้ถูก สัมมาวิมุติ ใจหลุดพ้นถูกคือใจหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น


รวมความอันสำคัญคือ ใจเห็นถูกเร็ว ใจเห็นผิดช้า ซึ่งท่านเรียกว่าทิฏฐิจริต


คัดลอกจากหนังสืออัตโนประวัติ พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร

http://agaligohome.com/index.php?topic=4155.msg10487#msg10487

3
      วจีวิจยะ การเลือกเฟ้นในคำพูด ว่าจะพูดอย่างไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์แก่คนอื่น จะพูดอย่างไรที่จะทำให้เกิดความรักต่อกัน และให้เกิดความสามัคคีต่อกัน ต้องเลือกคัดจัดสรรหาคำพูดให้แก่ตัวเองให้เป็น การพูดเท็จพูดส่อเสียดยุยงให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิด จะเป็นคำพูดที่เสียดแทงหัวใจกัน ถ้าคนอื่นพูดให้เราอย่างนี้ เรามีความพอใจในคำพูดนี้หรือไม่ ถ้าเราไม่ชอบใจในคำพูดอย่างนี้ เราก็อย่าใช้คำพูดอย่างนี้ไปพูดกับคนอื่นเขา วิจยะวาจาเป็นวาจาที่เลือกแล้วจึงพูดออกไป มิใช่ว่าจะพูดตามใจอยากจะพูด ประโยคข้อความในการพูดนั้นต้องให้ชัดเจน ผู้ฟังจะเกิดความสบายใจ อย่าพูดให้คนอื่นไปตีความหมาย ถ้าตีความหมายในคำพูดผิดไป จะทำให้เกิดปัญหา ในสังคมมนุษย์นี้ จะใช้คำพูดเป็นสื่อต่อกันมากมาย  คนจะเกิดความรักกันชอบพอกันก็เพราะคำพูด  คนจะเกลียดชังกันไม่ไว้ใจกันก็เพราะคำพูด
   
   คำพูดนี้เป็นใบเบิกทาง คำพูดเป็นหน้าต่างของสังคม คำพูดเป็นตัวแทนให้แก่ใจ คำพูดเป็นตัววัดของคนดีและคนไม่ดี คำพูดเป็นตัววัดใจของคนมีธรรมหรือไม่มีธรรม ดังคำว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี วิชาปัญญาเป็นเลิศ ให้เอาวิชาปัญญาเลิศ มาร่วมงานกันกับปากเป็นเอกดูบ้าง เสียงที่ออกมาจากปากของคนผู้ที่มีความรู้ดี มีความฉลาดรอบรู้ในหลักการที่พูดดีย่อมเป็นเสน่ห์กับสังคม ไปที่ไหนมีแต่สังคมยอมรับให้ความเชื่อถืออย่างสนิทใจทีเดียว ฉะนั้นเราต้องเลือกเฟ้นคำพูดตัวเองเสียแต่บัดนี้ ถึงจะไม่ดีเลิศให้พอใช้ได้ก็ยังดี เมื่อใช้คำพูดที่เป็นธรรมย่อมนำตัวเองไปสู่ความเจริญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การพูดดีจะมีกระแสธรรมฟุ้งขจรไป จะเป็นที่เคารพแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
   
   กัมมันตวิจยะ เลือกเฟ้นการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่มีโทษแก่ตัวเองและคนอื่น ไม่ทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมที่นักปราชญ์เจ้าไม่สรรเสริญ เช่น ไปฆ่าสัตว์ ไปลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม และกินเหล้าเมายา หรือการกระทำในสิ่งใดที่จะให้ตนและคนอื่นมีความเดือดร้อนไม่สบายใจ การทำอย่างนั้นให้เลิกละไปเสีย เมื่อเราไม่ชอบ คนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกันกับเรา ต้องเลือกทำในสิ่งที่นักปราชญ์เจ้าชมเชย อย่าทำในสิ่งใดเพื่อการได้เปรียบคนอื่น อย่าทำในทางอคติให้คนอื่นได้รับความทุกข์เดือดร้อน การได้ความสุขบนพื้นฐานแห่งความทุกข์ของคนอื่น ผู้มีคุณธรรมประจำใจจะไม่ทำในลักษณะนี้ ผู้มีสติปัญญาที่ดีจะต้องเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน มีความละอายในการทำชั่วทั้งปวง จะเลือกเฟ้นทำในงานที่ไม่เป็นโทษ เพราะผู้มีธรรมประจำใจจะเชื่อกรรมเป็นหลักใหญ่ ว่าสัตว์โลกจะได้รับผลดีและผลชั่วนั้นจะเกิดขึ้นจากเหตุคือ การกระทำของตัวเอง และเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งใดที่กระทำลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะไม่เป็นกรรมไม่มีในโลก นั้นหมายถึงกรรมดีและกรรมไม่ดี ทำกรรมดี ก็เป็นเหตุที่จะให้ได้รับผลดีคือบุญกุศล ทำกรรมชั่วก็จะเป็นเหตุให้ได้รับผลชั่วคือ บาปอกุศล คนผู้มีความหวังดีแก่ตัวเองจะต้องเลือกเฟ้นทำแต่กรรมดี มีเมตตาธรรม ใจมีความรักในคนอื่นสัตว์อื่นเป็นนิสัย กรุณาธรรม ใจมีความสงสารแก่คนอื่นสัตว์อื่นอยู่เป็นนิจ หิริธรรม ใจมีความละอายในการทำชั่วโดยประการทั้งปวง ธรรมสามหมวดนี้ถ้านำมาปฏิบัติได้ ผู้นั้นจะมีความเจริญ ไม่มีเวรมีภัยใดๆ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าตลอดไปชั่วกาลนาน
   
   อาชีววิจยะ การเลือกเฟ้นในการเลี้ยงชีพ เช่น ในเรื่องอาหาร เพราะธาตุขันธ์ของคนมีโรคต่างกัน ถ้าอาหารใดแสลงกับโรคตัวเอง ก็อย่ารับประทานอาหารประเภทนั้น เพราะอาหารนั้นไม่เป็นสัปปายะแก่ธาตุขันธ์ของตนเอง รับประทานแล้วจะก่อให้เกิดทุกข์ จึงหลีกเลี่ยงในอาหารนั้นเสีย ตลอดเครื่องดื่มต่างๆ ก็เช่นกัน เห็นญาติโยมนำมาถวายก็ฉันเอาๆ ไม่เข้าใจไม่สนใจว่าสิ่งนั้นควรฉัน หรือไม่ควรฉัน จะผิดศีล ผิดธรรมอะไรไม่สนใจ ขอให้ข้าพเจ้าได้อิ่มท้องก็เป็นพอ ในกาลิก ๔ เช่น ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก กาลิกสี่นี้สำหรับพระเณร จะเป็นผู้ปฏิบัติตาม เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อให้พระเณรได้เลือกเฟ้นฉันให้ถูกกับพระธรรมวินัย ไม่ให้ฉันตามความอยากของตัวเอง
   
   เมื่อมีญาติโยมนำสิ่งของมาถวาย ก็ให้พิจารณาก่อนว่า ของนี้ควรรับได้ หรือรับไม่ได้ เมื่อรับแล้วก็ต้องรู้จักว่าอะไรควรฉันในกาลไหนอย่างไร ต้องเลือกเฟ้นให้เป็น ต้องศึกษาธรรมวินัยให้เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ญาติโยมผู้นำปัจจัยสี่มาถวายพระก็ควรจะรู้เอาไว้ว่าสิ่งใดควรถวายในเวลาไหน อย่าเอาความมักง่ายเข้าว่า จึงทำให้พระผิดศีลผิดธรรมไป พระก็มีความด่างพร้อยในศีลในธรรม ไม่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องตามที่เราต้องการ นี้ก็เพราะญาติโยมทำให้พระผิดศีลผิดธรรม มีความเศร้าหมองเองมิใช่หรือ ฆราวาสก็หาเลี้ยงชีวิตในความบริสุทธิ์ ให้ได้มาโดยความชอบธรรม ไม่ไปบังคับขู่เข็ญแย่งชิงฆ่าตีเอาเนื้อเขามาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ไม่ขโมยลักสิ่งของของคนอื่นมาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ผู้มีปัญญาผู้มีหิริธรรมย่อมเลือกเฟ้นทำในสิ่งที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงในสิ่งที่เป็นโทษผิดศีลผิดธรรมเสีย
   
   วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเพียรพยายาม ความเพียรนั้นเป็นได้ทั้งดีและไม่ดี เป็นได้ทั้งถูกและผิด ถ้าเป็นความเพียรของคนพาลก็จะเพียรทำในสิ่งที่ชั่วอยู่เรื่อยไป ถ้าความเพียรของหมู่ดาบสฤๅษีชีไพร ก็จะเพียรทำในทางสมาธิ จะให้จิตมีความสงบเยือกเย็น ให้จิตมีความสุขความสบาย ความเพียรแบบฤๅษีนี้ ชาวพุทธก็เลียนแบบวิธีทำความเพียรของพวกดาบสฤๅษีเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและได้รับผลเกิดขึ้นได้ทันอกทันใจ ทำให้เกิดความตื่นเต้นในอาการของจิตที่เกิดขึ้น เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ คนที่ไม่เห็นก็อยากจะเห็น วิธีทำความเพียรอย่างนี้กำลังจะกลบกลืนในวิธีความเพียรของพระพุทธเจ้าให้หมดไป จะไม่มีใครเข้าใจในหลักความเพียรเดิมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ คิดว่าคงไม่นานนัก หลักความเพียรเดิมของพระพุทธเจ้าก็สูญสลายไป นี้ก็เพราะความเพียรของพวกดาบสฤๅษีมีบทบาทสูงมากในขณะนี้ ในมุมไหนของประเทศไทย จะให้ความสนใจในความเพียรของพวกดาบสฤๅษีกันทั้งนั้น แม้แต่ในต่างประเทศก็มีความนิยมฝึกความเพียรแบบฤๅษีนี้เช่นกัน ความเพียรเดิมที่เป็นอุบายวิธีที่จะทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้องได้เข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานนั้นแทบจะไม่มีผู้สอนกันเลย เมื่อไม่มีผู้สอนก็ไม่มีผู้ปฏิบัติ ความเพียรพยายามที่จะข้ามกระแสโลกนี้ให้พ้นไปก็จะหมดความหมาย ในไม่ช้าก็จะไม่มีใครให้ความสนใจในการปฏิบัตินี้เลย
   
   วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นความเพียรมาปฏิบัติให้ถูกตามแนวทางของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าได้นั้น  ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าให้เข้าใจ ความเพียรพยายามทำลายอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ  เพียรพยายามฝึกใจให้เกิดเป็นสัมมาวายาโม ให้เกิดเป็นความเพียรชอบนั้น ผู้นั้นต้องฝึกสติปัญญาให้มีความฉลาดรอบรู้ในความเพียรนั้น ๆ ให้ชัดเจน ความเพียรใดเป็นไปในลัทธิของพวกดาบสฤๅษี ความเพียรใดเป็นไปในคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องมีวิจยะ มีสติปัญญาในการเลือกเฟ้น มีเหตุผลในการตัดสินใจได้ ว่าอุบายวิธีนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้สอนพระสาวกได้บรรลุมรรคผลนิพพานมาแล้ว เราต้องเลือกเอาอุบายวิธีนั้นมาเป็นหลักประกอบความเพียรให้แก่ตัวเอง หลักความเพียรที่พระพุทธเจ้าได้เอามาสอนพุทธบริษัทนั้น เป็นหลักของสติปัญญา
   
   ถ้าความเพียรใดไม่มีสติปัญญาเป็นองค์ประกอบแล้ว ความเพียรนั้นไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย ไม่เป็นไปในความเพียรชอบแต่อย่างใด ฉะนั้นความเพียรชอบต้องมาจากปัญญาความเห็นชอบ ปัญญาความเห็นชอบกับความเพียรชอบจึงเป็นของคู่กันจะแยกกันไม่ได้ ต้องเพียรพยายามละความเห็นผิด ให้เกิดความเห็นที่ถูก ความคิดผิดให้เกิดความคิดถูก เพียรพยายามละในคำพูดที่ผิดให้เกิดเป็นคำพูดที่ถูก เพียรพยายามละในการทำอะไรที่ผิดๆ ให้เกิดความเข้าใจในการทำถูก เพียรพยายามละในวิธีเลี้ยงชีวิตผิดให้รู้ในวิธีเลี้ยงชีวิตถูก พยายามละในความเพียรที่ผิดๆ ให้ใฝ่ใจในความเพียรที่ถูกให้มากขึ้น เพียรพยายามละในความระลึกในทางที่ผิดๆ ให้ฝึกใจได้ระลึกในทางที่ถูก เพียรพยายามละในวิธีความตั้งใจมั่นที่ผิดๆ ให้มาฝึกในวิธีตั้งใจมั่นให้ถูก ความเพียรนี้จึงเป็นวิธีที่ถูกต้องอย่างแท้จริงของพระพุทธเจ้า
   
   สติวิจยะ การเลือกเฟ้นในความระลึกของใจนั้น ต้องฝึกให้มีความระลึกไปในทางที่ไม่ให้เกิดโทษ ถ้าระลึกไปในกามคุณอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยเอนเอียงไปในความรัก ถ้าฝึกระลึกในสิ่งที่ไม่เที่ยงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยรู้เห็นตามในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นๆ ไป ถ้าฝึกใจให้มีความระลึกในเรื่องความทุกข์อยู่บ่อยๆ ใจก็จะเกิดความรู้เห็นความทุกข์ใจ ความทุกข์กายนี้ไป ความระลึกรู้อยู่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนของเราอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยปล่อยวางในความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนไปได้ ถ้าระลึกว่าไม่มีอะไรเป็นของของเรา ความโลภในสิ่งนั้นก็จะลดน้อยลงเช่นกัน
   
   ความเห็นว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตนและของของตนอยู่อย่างนี้ ใจก็จะไม่มีความผูกพันในสิ่งใดๆ ไม่มีความกังวลว่า สิ่งนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แม้แต่ความทุกข์กายทุกข์ใจเกิดขึ้น ก็ระลึกได้ว่าสภาพความเป็นจริงมันต้องเป็นอยู่อย่างนี้ มีความระลึกรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สติวิจยะ ต้องมีสติปัญญาเลือกระลึกอยู่ตามหลักความเป็นจริงให้มาก ระลึกถึงความแก่ ระลึกถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย และระลึกถึงความตายอันจะเกิดขึ้นแก่ตัวเอง ระลึกถึงบุญกุศลที่สร้างไว้แล้ว ระลึกในการรักษาศีล ระลึกในการภาวนาปฏิบัติปรารภความเพียรอยู่เสมอ
   
   สติ หมายถึง ความระลึกได้ วิจยะ หมายถึง การเลือกเฟ้น ถ้าพูดรวมกันก็เลือกเฟ้นในสิ่งนั้นๆ มาระลึกรู้นั้นเอง ระลึกรู้ในความเห็นของตัวเองว่า เรามีความเห็นผิดหรือความเห็นถูก  เรามีความคิดผิดหรือความคิดถูก ระลึกรู้ในคำพูดของตัวเอง ก่อนจะพูดก็ระลึกได้ในคำที่จะพูด ในขณะพูดอยู่ก็ระลึกได้ว่าเราพูดในเรื่องอะไร หรือพูดไปแล้วก็ระลึกทบทวนดูคำพูดของตัวเอง และรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง ระลึกในการงานที่ทำว่างานนั้นเป็นประโยชน์ และเป็นโทษให้แก่ตัวเองและคนอื่นอย่างไร ระลึกรู้ในปัจจัยสี่ที่นำมาเลี้ยงชีวิตว่า ผิดศีลผิดธรรมหรือไม่ ระลึกรู้ในความเพียรของตัวเองอยู่เสมอ วันคืนผ่านไปๆ ชีวิตเราก็ผ่านๆ ขณะนี้เรามีความเพียรอะไรที่จะต้องปฏิบัติ ระลึกรู้ใจของตัวเองอยู่เสมอ ว่าใจมีอารมณ์อะไรที่จะต้องละ ใจมีโลภะ ใจมีโทสะ ใจมีโมหะ ใจมีราคะอย่างไร จะแก้ไขด้วยหมวดธรรมอะไร ต้องระลึกรู้ใจตัวเองอยู่เสมอ
   
   สมาธิวิจยะ ผู้ภาวนาปฏิบัติต้องรู้จักการเลือกในความตั้งมั่นของใจให้เป็น ว่าใจตั้งมั่นอย่างไรผิด ใจตั้งมั่นอย่างไรถูก ความสงบของใจอย่างไรผิด ความสงบของใจอย่างไรถูก ต้องเลือกเฟ้นดูให้รู้เห็น ใจตั้งมั่นเป็นสัมมาก็รู้ ใจตั้งมั่นเป็นมิจฉาก็รู้ ใจสงบเป็นสัมมาก็รู้ ใจสงบเป็นมิจฉาก็รู้ วิจยะการเลือกเฟ้นนี้เอง จึงเป็นคู่กับปัญญาความรอบรู้ได้เป็นอย่างดี จึงเรียกว่า ปัญญาวิจยะ เลือกเฟ้นในสิ่งใด ต้องใช้ปัญญารอบรู้ในสิ่งนั้นๆ ให้ชัดเจน
   
   การทำสมาธิอย่างไร ก็ต้องมีปัญญาความรอบรู้เลือกเฟ้นดูในสมาธินั้นๆ เรียกว่าปัญญาความเห็นชอบในวิธีทำสมาธิ พิจารณาให้เข้าใจว่า การทำสมาธิอย่างนี้ถูกต้องแล้วจึงทำ ถ้าเลือกเฟ้นในการทำสมาธิให้ถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูกต้องชอบธรรม ถ้าทำสมาธิที่ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดเป็นมิจฉาสมาธิไป ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสนั้นเอง
   
   วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นจากมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิ เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นต้นเหตุ ฉะนั้นผู้ภาวนาปฏิบัติต้องศึกษาในวิธีทำสมาธิให้ดี ปัญญาวิจยะ มีความรอบรู้ในการเลือกเฟ้นในอุบายให้ถูกต้องตามแนวทางของหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบให้ถูกต้อง ถ้าตั้งหลักความเห็นชอบได้แล้ว ทำสมาธิก็จะเป็นสัมมาสมาธิ เป็นทางตรงเข้าสู่วิปัสสนา และตรงเข้าสู่วิปัสสนาญาณ มรรคผลนิพพานก็จะเปิดรับทันที การภาวนาปฏิบัติถ้าตั้งหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบถูกต้องแล้ว อันดับต่อไปจะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติแต่อย่างใด จะเป็นไปในความเห็นชอบนี้ทั้งหมด
   
   สมาธิ ความสงบวิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะอธิบายต่อไปนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านจงอ่านให้สุดวิธี แล้วนำมาพิจารณาดูด้วยเหตุผลว่าจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ ในหลักฐานที่มาก็มีอยู่แต่ไม่ได้นำเอามาตีแผ่ให้กว้างขวาง ผู้ปฏิบัติก็เลยไม่เข้าใจในหลักการและวิธีการของความสงบนี้  ในความหมายคำว่าสงบนั้น คือ จิตไม่กระเพื่อมตามอารมณ์ เพราะมีความรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นอารมณ์อยู่แล้ว นั้นคือ ใช้สติปัญญาอบรมใจสอนใจให้มีความรอบรู้เท่าทันในเหตุการณ์นี้ไว้ล่วงหน้า และรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหา และรอบรู้ในวิธีแก้ปัญหาได้ ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาเรื้อรังฝังใจจนลืมตัว ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งไปตามกิเลสตัณหา เกิดการปรุงแต่งเป็นสังขารไปตามสมมตินั้นๆ เรียกว่า มีสติระลึกรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เหมือนรู้ว่าไฟกำลังก่อตัวขึ้นในที่นี้ ก็รีบดับเสีย หรือไฟได้ลุกขึ้นแล้วสาดน้ำเข้าใส่ ไฟก็จะดับในทันที นี้ฉันใด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดความลุ่มหลง ก็มีสติระลึกรู้ให้เท่าทัน หรือใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตกระเพื่อมตามอารมณ์อยู่ให้สงบลงได้
   
   ฉะนั้น ใจเมื่อถูกสติปัญญาตัดสายสัมพันธ์ต่อกิเลสตัณหาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ สงบลงไปได้ สติปัญญาเป็นฉากป้องกันห้ามใจไม่ให้ไปมั่วอยู่กับเหตุที่จะให้เกิดกิเลสตัณหา และไม่สร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นอารมณ์แห่งความรักความใคร่เกิดขึ้น เหมือนกับไฟและเชื้อของไฟ ถ้าแยกออกจากกันคนละที่ไปแล้ว ไฟและเชื้อของไฟก็ไม่มีสื่อโยงหากัน ไฟก็จะดับไปเอง นี้ฉันใด ใจกับเหตุที่จะทำให้เกิดอารมณ์แห่งความรัก ความหลง เมื่อมีสติปัญญารอบรู้อยู่ พิจารณาอยู่ ใจกับเหตุที่จะให้เกิดความรักความใคร่ ก็จะค่อยหมดสภาพไป นี้คืออุบายฝึกใจให้สงบด้วยสติปัญญา วิธีนี้เป็นหลักประกันในระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี เป็นวิธีปกป้องใจไม่ให้กระเพื่อมไปตามอารมณ์ของกิเลสตัณหา เรียกว่าใจมีความสงบอยู่ด้วยสติปัญญานั้นเอง
   
   ใจ เมื่อสติปัญญาอบรมดีแล้ว นำความสงบสุขมาให้ ไม่ไปมั่วสุมวุ่นวายอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่พอใจ ถึงตาจะสัมผัสในรูป หูสัมผัสในเสียง ก็รู้อยู่ว่าสัมผัสเท่านั้น  หรือสัมผัสเพียงรู้เรื่องกันในความหมาย การสื่อต่อกันในระหว่างตากับรูป หูกับเสียงนั้นเป็นธรรมชาติที่โลกนี้มีต่อกันมา จะห้ามตากับรูป หูกับเสียง ไม่ให้สัมผัสกันนั้นไม่ได้เลย จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส โผฏฐัพพะจะห้ามไม่ให้สัมผัสกับสิ่งภายนอกนั้นไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นของคู่กัน อยู่กับโลกนี้โดยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สัมผัสเป็นสื่อในความหมายซึ่งกันและกันไปตามสมมติโลกที่มีต่อกัน
   
   ถ้าอายตนะภายใน อายตนะภายนอกไม่สัมผัสกัน มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้จะไม่รู้ภาษาและความหมายอะไรต่อกันแต่อย่างใด แม้แต่สัตว์ต่อสัตว์ หรือมนุษย์ต่อมนุษย์ ก็ต้องมีสื่อความสัมผัสในอายตนะต่อกัน จึงรู้เรื่องกันและอยู่ร่วมกันได้ การสัมผัสอย่างนี้ ยังไม่เกิดเป็นพิษภัยต่อกันแต่อย่างใด คำว่าสำรวม ผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญาในการตีความให้ถูกกับความหมาย มิใช่ว่าสำรวม แปลว่าทุกคนจะต้องปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย และปิดใจ ไม่ให้ออกไปสัมผัสต่อสิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์แต่อย่างใด ถ้าเป็นในลักษณะนี้ การตีความหมายในคำว่าสำรวมย่อมผิดไป
   
   ในคำว่าสำรวม ความหมายคือ ไม่ให้ใจไปเกิดความรัก ความชอบ ไม่ให้ใจไปเกิดความเกลียด ความชังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สัตว์โลกมีความสื่อสารต่อกันเท่านั้น ถ้าสำรวมใจได้อย่างนี้เป็นปกติแล้ว นั้นแลชื่อว่า จิตมีความสงบ ไม่กระเพื่อมไปตามกระแสของโลก ไม่เกิดความหลงรัก หลงชัง หลงโกรธ หลงเกลียดต่อสิ่งใดๆ  นั้นเรียกว่าเป็นผู้รู้เท่าทันตามความเป็นอยู่ของโลก ความเป็นจริงของโลกมีความเป็นอยู่อย่างไร ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์ของโลกนี้ได้ดี ในโลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีความเป็นอยู่อย่างไร และมีความเป็นไปอย่างไร สติปัญญามีความรอบรู้โลกนี้ทั้งหมด ดังคำว่า นตฺถิ โลเก รโหนาม ความลับไม่มีในโลก คำว่าความลับ ก็ต้องตีความให้ตรงกับความหมาย  มิใช่ว่าจะตีความหมายเพียงนินทาว่าร้ายต่อกันแล้วความลับนั้นปิดอยู่ไม่ได้ วันหนึ่งข้างหน้า ความลับก็ย่อมเปิดเผยขึ้นมาให้สาธารณชนได้รู้กัน การตีความเพียงเท่านี้ไม่พอ คำว่าความลับหมายถึงความลี้ลับซ่อนเร้น ที่เป็นมายาหลอกใจให้เกิดความลุ่มหลง ปิดบังอำพรางความจริงอยู่ในตัวมันเอง ดูภายนอกสดใสงดงามน่าสัมผัส ดูภายในสกปรกโสโครกเป็นซากผีเน่า ดูภายนอกเหมือนรสหวาน  ดูภายในเจือด้วยยาพิษ โบราณว่า เสือซ่อนเล็บ ดูผิวเผินจะไม่เห็นเล็บเสือ เมื่อโกรธขึ้นมาเมื่อไร เล็บจะออกมาให้เห็นเมื่อนั้น ความลับในโลกนี้ก็เช่นกัน ตามปกติโลกนี้ก็น่าอยู่น่าอาศัย ดูอะไรก็มีแต่ความสดใสสวยงามน่าสัมผัส มีความงามงอนเหมือนราชรถนี้เป็นเพียงแสงเสียงสี เป็นความลับให้คนเขลาแวะข้องอยู่ ผู้มีสติปัญญาที่ฉลาดรอบรู้หาข้องอยู่ไม่ นั้นคือใจมีความสงบดีแล้วจะไม่หลงติดอยู่ในสิ่งใดๆ ในโลกนี้เลย
   
   ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ความสงบนั้นมีสองอย่าง ๑. ความสงบเกิดขึ้นจากการนึกคำบริกรรมทำสมาธิ ๒. ความสงบเกิดขึ้นจากสติปัญญาดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว
   
   ส่วนความสงบจากการนึกคำบริกรรมทำสมาธิ เป็นเพียงความสงบฉาบฉวยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเรียกว่าหาวิธีหลบปัญหาได้ชั่วคราว เป็นหลักภาวนาของผู้มีปัญญาอ่อน ไม่กล้าเผชิญต่อปัญหา ไม่กล้าสู้ต่อปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ตัวเองสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ยอมแก้ปัญหาของตัวเอง หาที่หลบซ่อนตัวอยู่ในความสงบของสมาธิอยู่เรื่อยไป ออกจากสมาธิแล้วก็มาสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเติมต่อไป จะเข้าใจว่าเมื่อทำสมาธิให้จิตมีความสงบได้แล้วจะแก้ปัญหาได้ นี้คือความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะการทำสมาธิให้จิตมีความสงบ มิใช่เป็นวิธีแก้ปัญหาแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่จะสะสมปัญหาให้เกิดมากขึ้น มีทั้งปัญหาอย่างหยาบ และปัญหาอย่างละเอียดสุดในสมาธินั้นๆ ตลอดไป ถ้าจิตลุล่วงถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌานไปแล้ว ในยุคนี้จะไม่มีใครๆ แก้ให้ได้อีกแล้ว  มีแต่จะจมดิ่งปักใจหลงอยู่ในความสุขนั้นๆ จนลืมตัว นี้แลจึงเรียกว่าสร้างปัญหาขั้นละเอียดให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง  ที่ว่าจิตมีความสงบเป็นสมาธิดีแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นนั้น  ข้าพเจ้าก็ขอพูดเลยว่า เป็นเรื่องเพ้อฝัน ที่จริงนั้นจะตรงกันข้าม นั้นคือจิตมีความสงบลึกมากเท่าไร ปัญญาก็จะหมดหดหายไปทันที มีแต่อุเบกขา ใจวางเฉยอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง
   
   ที่ว่าจิตมีความสงบเป็นสมาธิดีแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้นนั้น ให้ท่านได้ศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาลดูบ้าง เช่น ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ภัททวัคคีย์ ๓๐ ท่าน ชฎิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวารหนึ่งพันท่าน และพระสาวกองค์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แม้องค์สุดท้ายชื่อว่า สุภัททปริพาชกก็ดี ไม่มีองค์ไหนเลยที่ทำสมาธิให้จิตสงบแล้วปัญญาเกิดขึ้นเอง ผู้จะบรรลุธรรมทุกท่านต้องมีปัญญาความเห็นชอบทั้งนั้น แม้จะทำสมาธิก็ต้องศึกษาในวิธีทำสมาธิให้เข้าใจ ถ้าไม่ศึกษาจะทำสมาธิได้อย่างไร ข้าพเจ้าเคยได้ศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในระดับปัญญาวิมุติและเจโตวิมุติมาแล้ว ไม่เห็นองค์ไหนเลยมีปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิแต่อย่างใด หรือจะอ้างถึงพระจุฬปันถกนั้นไม่ได้ เพราะพระจุฬปันถกเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมมาก่อน มีความฉลาดเข้าใจในวิธีจับผ้าขาวจากพระพุทธเจ้าอธิบายให้ฟังแล้วเป็นอย่างดี ฆราวาสผู้ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าก็มีจำนวนมาก เช่น บริวารของพระเจ้าพิมพิสารหนึ่งแสนสองหมื่นคน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ให้นึกคำบริกรรมทำสมาธิก่อนแต่อย่างใด พระองค์อธิบายธรรมให้ฟัง ท่านเหล่านั้นก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง และมีความรู้จริงมีความเห็นจริงตามหลักความเป็นจริง ก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลไปเท่านั้นเอง  ฉะนั้นผู้ที่ยังเข้าใจว่าปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิอยู่ ให้ไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาลดูบ้าง แม้ผู้จะมาสอนคนอื่น ก็ควรไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาลเช่นกัน เพื่อจะได้นำมาสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป


4
วิจยะ...การเลือกเฟ้น
   
   ธัมมวิจยะ ผู้มีสติมีความรอบรู้ การเลือกเฟ้นหาหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยตัวเองนั้น เลือกได้ง่าย วิจยะ แปลว่าเลือกหรือเฟ้น หรือว่าเลือกเฟ้นก็ได้ในความหมายอย่างเดียวกัน ฉะนั้นการเลือกเฟ้น จึงเป็นนิสัยของคนที่มีสติปัญญา เป็นนิสัยของผู้มีความคิด จะเชื่อในตัวบุคคล หรือจะเชื่อในธรรมอย่างไร ก็ต้องมีวิจยะมาโยนิโสใคร่ครวญพิจารณาก่อนการตัดสินใจเชื่อ จึงนับว่าเป็น สทฺธา ญาณ สมฺปยุตฺ เป็นผู้เชื่ออะไรอย่างมีเหตุผล และพิจารณาด้วยปัญญาก่อนจึงเชื่อทีหลัง การเชื่อบุคคลก่อนธรรมหรือการเชื่อธรรมก่อนบุคคล อย่างไหนจะมีผลดีกว่ากัน เอาแน่ไม่ได้
   
   ในบางครั้งเราได้อ่านหนังสือธรรมะจากท่านองค์นั้นแล้ว เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรม จึงตามหาตัวบุคคลและเชื่อในตัวบุคคลทีหลัง หรือเชื่อในตัวบุคคลก่อน เช่น เห็นเข้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จะเห็นเพียงกิริยาหรือลักษณะพอเชื่อถือได้ หรืออาจเป็นเพราะนิสัยตรงกัน จึงได้เกิดความเชื่อในตัวบุคคลก่อน เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้วก็เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรมทีหลัง ถ้าผู้มีนิสัยในทางปัญญาจะเอาวิจยะมาประกอบในการเลือกเฟ้นนั้นได้ง่าย จะเลือกเฟ้นในตัวบุคคล จะเลือกเฟ้นเอาหมวดธรรมมาปฏิบัติ ก็เป็นของง่ายสำหรับผู้มีสติปัญญาที่ดี ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญา ไม่มีวิจยะธรรมภายในใจ จะเชื่ออะไรก็เป็นความเชื่ออย่างงมงาย จะเชื่อธรรมหรือเชื่อบุคคลก็ไม่เป็นไปตามใจที่เราเชื่อ ก็เพราะเชื่อขาดจากปัญญาความรอบรู้นั้นเอง
   
   วิจยะ หมายความว่าการเลือกเฟ้น
   
   ทิฏฐิวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเห็น ความเห็นใดที่เป็นไปในความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ถูกต้องเป็นธรรมก็ดี ต้องนำความเห็นนั้นๆ เข้ามาทำการเลือกเฟ้นด้วยสติปัญญาอย่างมีเหตุมีผล เอาไตรลักษณ์มาเป็นตัวตัดสินอ้างอิง ถ้าความเห็นใดไม่เป็นไปในไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเห็นนั้นไม่ถูกต้องใช้ไม่ได้ ละความเห็นประเภทนั้นทิ้งไปเสีย ถ้าความเห็นใดเป็นไปตามไตรลักษณ์ ความเห็นนั้นถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย นั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้องเป็นธรรมที่สุดแล้ว
   
   สังกัปปวิจยะ เลือกเฟ้นในความคิด ตามปกติ ใจจะคิดได้ในทุกอารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรืออารมณ์อย่างอื่นใดก็ตาม ใจจะคิดได้ทั้งหมด ผิดถูกชั่วดีทางโลกทางธรรมคิดได้ทั้งนั้น ถ้าฝึกใจให้คิดไปในทางไหนอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยโน้มเอียงไปในสิ่งนั้นๆ จนกลายเป็นนิสัย ถ้าฝึกใจไปคิดในทางโลกอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เอนเอียงไปในทางโลก ถ้าฝึกใจไปติดอยู่ในเรื่องของกามคุณคือ คิดในรูป คิดในเสียง คิดในกลิ่น คิดในรสของอาหาร คิดในการสัมผัสที่อ่อนนุ่มอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความยินดีพอใจมีความกำหนัดในกามคุณมากขึ้น ถ้าฝึกใจไปคิดอยู่กับความร่ำรวยในลาภสักการะอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดเป็นความโลภขึ้น
   
   ถ้าฝึกใจไปคิดพิจารณาในเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง ฉะนั้นจงฝึกใจให้คิดให้ดำริในไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ อย่าเอาความโง่มาปิดกั้นปัญญาตัวเอง ขณะนี้ต้องการฝึกใจให้มีความรอบรู้ในเหตุและผลด้วยตนเอง เราต้องมีความขยันหมั่นคิดพิจารณาให้รู้เห็นทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจากกามคุณอยู่เสมอ
   
   การฝึกคิดพิจารณาในสิ่งใดก็ตาม ถ้าให้เป็นไปในไตรลักษณ์แล้ว ความคิดนั้นจะไม่ผิดจากธรรมแต่อย่างใด การฝึกใจให้มีการดำริพิจารณา หรือฝึกใจให้คิดในทางธรรมนี้ จึงเป็นวิธีใหม่ของใจ ในอดีตที่ผ่านมายาวนาน ความคิดของใจจะเป็นไปในทางโลกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ใจไปยึดติดในสิ่งที่คิดนั้นๆ อย่างฝังตัวจนกลายเป็นนิสัยความเคยชิน ฉะนั้นจึงมาฝึกใจให้มีความคิดเสียใหม่ เพื่อจะได้ลืมแนวความคิดเก่าๆ นั้นไปเสีย ผู้ที่ยังไม่เคยคิดพิจารณาในทางปัญญา การเริ่มใหม่ก็จะมีความสับสนพอสมควร เมื่อคิดพิจารณาในหลักความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ พัฒนาในแนวความคิดไปเองได้
   
   การฝึกคิดพิจารณานี้ อย่าไปใฝ่ใจในการทำสมาธิให้สงบมากนัก เพราะความสงบในสมาธิเป็นตัวปิดกั้นปัญญาอย่างสนิททีเดียว ถ้าจะทำสมาธิก็เพียงนึกคำบริกรรม หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ใจมีความตั้งมั่นพอประมาณสัก ๑๐ – ๑๕ – ๓๐ นาที แล้วหยุดการนึกคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วน้อมใจมาคิดพินิจพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริง เป็นเรื่องของตัวเองบ้าง เรื่องของคนอื่นสัตว์อื่นบ้าง หรือคิดพิจารณาในเรื่องภายนอกแล้ว ก็น้อมเข้ามาหาตัวเองให้พิจารณาลงจุดเดียวกันคือ ไตรลักษณ์ จะอยู่ในที่ไหนไปเที่ยวในที่ใด จะนั่งรถนั่งเรือนั่งเครื่องบิน ก็พิจารณาด้วยปัญญาได้ ไม่ต้องมานึกคำบริกรรมทำสมาธิให้เสียเวลา ให้พิจารณาด้วยปัญญาได้เลย จะรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำล้างหน้าแปรงฟัน ใช้ปัญญาพิจารณาได้ทั้งนั้น จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ไม่จำเป็นต้องนึกคำบริกรรม เว้นเสียแต่หลับไปเท่านั้น

5
ปัญญา ๓
[/b][/size]
   
   พระพุทธเจ้าได้วางหลักปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเอาไว้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าปัญญาความเห็นชอบเริ่มต้นถูกแล้ว การรักษาศีล การทำสมาธิก็จะเกิดความเห็นชอบต่อเนื่องกันไปทั้งหมด จะตัดขาดจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดให้หมดไปจากใจทันที ส่วนการศึกษาจะเขียนสลับกันไปมาอย่างไรก็ได้ ในภาคปฏิบัติแล้วจะต้องเริ่มจากปัญญาความเห็นชอบตามแนวทางเดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เช่น ปัญญา ๓ ก็ต้องเริ่มจากสุตตมยปัญญา คือปัญญาภาคการศึกษาในหลักปริยัติ จินตามยปัญญา คือปัญญาในหมวดวิจัยวิจารณ์ วิเคราะห์ในหมวดธรรมนั้นๆ ว่าปริยัติหมวดไหนมีความหมายเป็นอย่างไร และจะนำมาปฏิบัติได้อย่างไร
   
   จินตามยปัญญาคือปัญญาในระดับขั้นตีความในปริยัติ ถ้าตีความในหมวดปริยัติถูกก็จะเกิดความเข้าใจถูกและเกิดความเห็นถูก ดำริถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติถูก ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็จะถูกไปตามกันทั้งหมด ถ้าตีความในหมวดปริยัติผิด ก็จะเกิดความเข้าใจผิด และจะเกิดความเห็นผิดความดำริผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติผิด ผลที่เกิดขึ้นก็จะออกมาในทางที่ผิด ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับผลที่ผิดๆ ต่อไป ฉะนั้นจินตามยปัญญา จึงเป็นเข็มทิศชี้ทาง หรือเป็นตัวกำหนดทิศทางในการปฏิบัติ จะปฏิบัติผิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ หรือปฏิบัติถูก ก็ขึ้นอยู่กับจินตามยปัญญาตัวนี้ จินตามยปัญญาเป็นปัญญาที่วิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ในหมวดธรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในหมวดธรรมนั้นได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นจินตามยปัญญาจึงเป็นหลักตีความในปริยัติ หรือเป็นตัวช่วยในปริยัติให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจน
   
   ถ้าจินตามยปัญญาตีความในหลักปริยัติไม่เกิดความกระจ่างชัดเจน จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้นทางของการปฏิบัติก็คือจุดนี้ จะออกไปเป็นสัมมาปฏิบัติก็เริ่มต้นจากจุดนี้ทั้งหมด ฉะนั้นผู้ปฏิบัติภาวนาต้องตั้งหลักไว้ให้ดี ที่เราสวดกันอยู่เสมอว่า สุปฏิปันโน คือการปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโนคือการปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเญยธรรมทั้งหลาย สามีจิปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมอันชอบยิ่ง ถ้าไม่มั่นใจในอุบายการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าอุบายนี้ผิดหรือถูก ถ้ามีความสงสัยลังเล ไม่มีความมั่นใจในอุบายการปฏิบัตินั้น อย่าพึ่งตัดสินใจในการปฏิบัตินั้นเลย เหมือนออกรถ  ถ้าไม่มั่นใจในเส้นทางที่จะไปก็ต้องจอดรถดูแผนที่นั้นให้ดี จนเกิดความมั่นใจในเส้นทางดีแล้วจึงออกรถลงสู่ถนน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น ถ้าปฏิบัติแบบโมเมเรื่อยเปื่อย ไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ เมื่อแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองไม่ได้ก็จะเข้าหาหลวงพ่อหลวงตา นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติผิดได้ถูกได้  ถ้าหลวงพ่อหลวงตายังมีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิดอยู่ เราก็จะได้รับอุบายในการปฏิบัติที่ผิดๆ นั้นต่อไป ถ้าหลวงพ่อหลวงตามีอุบายในการปฏิบัติที่ถูก ก็ถือว่าเรามีความโชคดีไป จะได้รับข้อมูลในอุบายที่ถูกต้อง และปฏิบัติให้ตรงต่อมรรคผลนิพพานได้อย่างแน่นอน
   
   ฉะนั้น สุตตมยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปริยัติ จินตามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ภาวนามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิเวธ  การปฏิบัติต้องจับคู่ให้ถูก ถ้าจับคู่ไม่ถูก การปฏิบัติก็จะเกิดความสับสนลังเล จับต้นชนปลาย เรียกว่าปฏิบัติภาวนาผิดสูตรนั้นเอง เหมือนทำอาหารหวานคาว ถ้าทำผิดสูตรแล้วจะรับประทานไม่ได้เลย เดี๋ยวจับเอาอาหารคาวไปผสมกับอาหารหวาน เดี๋ยวจับเอาอาหารหวานไปผสมกับอาหารคาว รสชาติที่ออกมา ผู้ผสมอาหารเองก็รับประทานไม่ได้ ว่าอาหารสูตรไหนกันแน่ นี้ฉันใด ผู้ภาวนาปฏิบัติ ถ้าตั้งหลักผิดสูตรเมื่อไร การปฏิบัติก็จะไขว้เขวเป๋ไปเป๋มาเดี๋ยวก็หลุดออกจากสัมมาปฏิบัติไปเสีย หรือหลุดเข้าไปสู่ทางตัน ช่องแคบ ถอยหลังก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ได้ นั้นคือมีความติดใจหลงใหลอยู่ในความสงบ เพลิดเพลินอยู่ในฌานนั้นเอง สุตตมยปัญญา เป็นปัญญาภาคการศึกษาในปริยัติ คือหมวดธรรม หมวดวินัย หมวดอภิธรรมให้เข้าใจ หรือจะมีความเข้าใจเฉพาะข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่ง พอที่จะนำมาปฏิบัติได้และปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
   
   จินตามยปัญญา คือการตีความในปริยัติ การวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ และการเลือกเฟ้นธรรมในหมวดปริยัตินั้น เพื่อเอามาเป็นอุบายในการปฏิบัติ การปฏิบัติดี การปฏิบัติตรง การปฏิบัติเพื่อรู้จริงเห็นจริงในเญยธรรม การปฏิบัติชอบยิ่งก็เริ่มจากจุดนี้ จินตามยปัญญาเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ถ้าเลือกเฟ้นหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเองแล้ว ความก้าวหน้าความราบรื่นก็จะไหลเข้าไปสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน จากนั้นก็จะรวมตัวเข้าเป็นภาวนามยปัญญาอันเป็นคู่กันกับปฏิเวธ ดังนี้
   
   ภาวนามยปัญญา ที่เป็นคู่กับปฏิเวธนี้ เป็นหลักนิยตธรรม เป็นปัญญาที่จะตัดสินชี้ขาดจากปุถุชนจะก้าวขึ้นสู่อริยชนก็อยู่ในจุดนี้ ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามี ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็อยู่ในจุดนี้ทั้งหมด ใครจะได้บรรลุธรรมในระดับใด นั้นจะขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละท่าน ผู้สร้างบารมีมาไม่มากนัก ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันไป หรือผู้สร้างบารมีมากขึ้นไปกว่านี้ ก็จะได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีเป็นพระอนาคามีไป ถ้าผู้สร้างบารมีมามากบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสอาสวะยุติการเวียนว่ายเกิดตายในภพทั้งสามนี้ทันที ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ในวิมุตินิพพานตลอดไป ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพียงสมมติพูดกัน กาย เวทนา จิต ธรรม ก็สักว่าไปตามสมมติด้วยกิริยา ตัวอกิริยานั้นได้ปฏิเสธในอัตตาตัวตนและปฏิเสธในสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปแล้ว ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติเมื่อได้บรรลธรรมในขั้นใดระดับใด ผู้นั้นจะเป็นปัจจัตตังรู้ได้เฉพาะตัว ไม่จำเป็นจะไปถามใครๆ และไม่จำเป็นที่จะไปรับคำพยากรณ์จากใครๆ ทั้งสิ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอะไร ใครจะนินทาสรรเสริญอย่างไรก็ให้เป็นไปตามภาษาของโลก จะหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกนินทาว่าร้าย และได้รับความยกย่องสรรเสริญอยู่นั้นเอง
   
   ภาวนามยปัญญานี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เป็นฐานรองรับไว้ดีแล้ว จึงเกิดเป็นภาวนามยปัญญา หรือเรียกว่าวิปัสสนาญาณ ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อประหารลบล้างกิเลสตัณหาโดย เฉพาะ เมื่อวิปัสสนาญาณที่มีความแก่กล้าเต็มที่ พร้อมทั้งบารมีที่สมบูรณ์ ก็จะประหารกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ทั้งหยาบละเอียดให้หมดไปในอาสวักขยญาณได้ใน ชั่วระยะพริบตาเดียวเท่านั้น ฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่เป็นของจริง เมื่อเกิดขึ้นกับใคร จะเป็นนักบวชหรือฆราวาส จะเกิดกับผู้หญิงผู้ชาย ในฐานะอะไร ไม่สำคัญ เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้วกับใครจะไม่มีการเสื่อมสลายไป จะทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจโดยถ่ายเดียว
   
   ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เองที่ผู้ปฏิบัติมีความต้องการอยากให้เกิดขึ้น ผู้สอนในวิธีทำสมาธิเพื่อให้จิตมีความสงบ มีความต้องการให้ปัญญาเกิดเพื่อจะได้ละอาสวะกิเลสให้หมดไปสิ้นไปจากใจ ก็คือ ปัญญาตัวนี้นี่เอง ดังบาลีว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหพฺพลาโหติมหานิสงฺสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิวิมุจฺจติ เสยฺย ทิทํ กามาสวา อวิชฺชาสวา ภวาสวา เมื่อจิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญาขึ้น เมื่อปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละกิเลสทั้งหลายไปได้คือ กามกิเลสทั้งหลาย อวิชชาความไม่รู้จริง ละภพน้อยใหญ่ให้หมดไปจากใจได้ ปัญญาอย่างนี้นี่เองที่ผู้ทำสมาธิต้องการให้เกิดขึ้น ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้เกิดขึ้นจริง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ละอาสวะกิเลสตัณหาได้จริง แต่ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้ไม่ได้เกิดจากสมาธิโดยตรง ปัญญานี้จะเกิดต่อเนื่องมาจากปัญญาในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ปัญญาในการดำริ พิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญา เกิดขึ้นต่อเนื่องในจินตามยปัญญาที่เรียกว่าปัญญาในวิปัสสนา เมื่อปัญญาในวิปัสสนามีความแก่กล้าแล้ว ก็จะเกิดปัญญาวิปัสสนาญาณขึ้น แล้วละอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ส่วนการทำสมาธิให้จิตมีความสงบดีแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้นนั้นไม่จริง เพราะสมาธิเป็นเพียงองค์ประกอบ เสริมปัญญาให้มีกำลังใจได้พิจารณาด้วยปัญญาต่อไปเท่านั้น
   
   การทำสมาธิเป็นเพียงอุบายพักใจให้มีพลัง เมื่อจิตมีพลังจากการทำสมาธิแล้ว เอาพลังที่เกิดจากสมาธินี้ไปเสริมปัญญาที่ฝึกไว้ดีแล้ว ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในสัจธรรม เหมือนถ่านไฟฉายถึงจะมีกำลังไฟอัดแน่นเต็มก้อนอยู่ก็ตาม ถ้าไม่มีสายไฟเชื่อมโยงต่อกับหลอดไฟ หรือหลอดไฟขาดไปเสีย หรือหลอดไฟก็ไม่มีและสายไฟก็ไม่มีเชื่อมโยงต่อกัน จะให้เกิดความสว่างขึ้นเฉพาะถ่านไฟนั้นไม่ได้เลย ผู้ที่ไม่เคยฝึกปัญญามาก่อน หรือไม่มีปัญญาพิจารณาในธรรมมาก่อน กำลังใจที่เกิดขึ้นจากสมาธิจะเอาไปเสริมอะไร ก็เป็นเพียงความสุขใจหดตัวอยู่ในความสงบ หดตัวอยู่ในรูปฌานอรูปฌานเท่านั้นเอง ต้องอ่านประวัติของพระพุทธเจ้าดูบ้าง เมื่อครั้งพระองค์ได้ไปทำสมาธิอยู่กับดาบสทั้งสอง พระองค์ยิ่งมีความสงบในสมาธิเป็นอย่างมาก และมีความชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติทุกรูปแบบ
   
   ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดจากสมาธิแก่พระองค์บ้าง หรือดาบสทั้งสองก็มีความชำนาญในการทำสมาธิ มีความชำนาญในฌานเป็นอย่างมาก ถึงขนาดนั้นปัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ดาบสนั้นเลย ฉะนั้นสมาธิจึงไม่ทำให้เกิดปัญญาแต่อย่างใด เป็นเพียงทำสมาธิเพื่อเอาไปเสริมปัญญาที่มีอยู่เท่านั้น ฐานของปัญญาก็มีอีกฐานหนึ่งที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ฐานของสมาธิก็มีอีกฐานหนึ่ง เรียกว่าสมถกรรมฐาน แต่ละฐานก็ต้องมีอุบายสร้างมาคนละอย่าง แล้วนำมาร่วมกันในการปฏิบัติธรรม เรียกว่าปัญญาเป็นกำลังหนุนสมาธิ สมาธิมีกำลังหนุนปัญญาหรือเรียกว่า ปัญญาอยู่ที่ไหน สมาธิอยู่ในที่นั้น  สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็อยู่ในที่นั้น แต่เป็นสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น จึงเป็นคู่ทำงานร่วมกันกับปัญญาได้ ส่วนสมาธิความสงบจะหมดสิทธิ์ในการใช้ปัญญาทันที


6
มรรค อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความรู้จริงเห็นจริงแห่งทุกข์ทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้จักมรรค หรือไม่รู้วิธีในการปฏิบัติในองค์มรรคหรือปฏิบัติอยู่แต่ก็ไม่เป็นไปตามองค์มรรค ชาตินี้ทั้งชาติก็จะปิดฉากแห่งมรรคผลนิพพานลงทันที ถึงจะมีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ก็ตาม แต่ถูกมิจฉาปฏิบัติปิดบังเอาไว้อย่างมืดมิดแล้ว บุญบารมีที่มีอยู่ก็ไม่สามารถจะผ่านความเห็นผิดการปฏิบัติผิดนี้เข้าสู่กระแสธรรมได้เลย เหมือนการบวกลบคูณหารผิดหลักผิดสูตร ผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างถูกต้องนั้นก็เป็นไปไม่ได้ หรือเหมือนให้ข้อมูลที่ผิดเข้าไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว จะพิมพ์ออกมาให้ได้รับข้อมูลที่ถูกนั้นก็จะเป็นไปไม่ได้ จะไปโทษว่าไม่มีบุญวาสนาบารมีก็ไม่ถูก เมื่อเราปฏิบัติผิดแล้ว จะไปโทษธรรมว่าไม่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ ให้รู้ตัวเองว่าปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าหรือไม่ เหมือนกับการเชื่อมสายไป ถ้าเชื่อมผิดสายก็จะไม่เกิดความสว่างได้ เหมือนเจาะน้ำบาดาล ถ้าเจาะไม่ถูกกับสายน้ำก็เสียเวลาไม่ได้ประโยชน์อะไร เหมือนกินยาไม่ถูกกับโรค ความเจ็บป่วยก็ไม่หายไปได้เช่นกัน นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมถ้าผิดพลาดไปแล้ว จะให้ผลออกมาเป็นถูกนั้นจะเป็นไปไม่ได้ จะต้องได้รับทุกข์ในการเกิดตายต่อไป
   
   เหตุให้เกิดทุกข์มีเท่าไร ผลของทุกข์ก็มีเท่านั้น เราตั้งข้อสังเกตให้ดีว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงเอาทุกข์มาเป็นข้อเริ่มต้นในการใช้ปัญญาพิจารณาก็เพราะคนไม่รู้ทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ จึงได้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า นี้คือความสุขที่ทุกคนแสวงหาและปรารถนา หลงผลแห่งความทุกข์ จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสุขอยู่เรื่อยไป เหมือนยาพิษเคลือบด้วยน้ำตาล เพื่อเอามาหลอกสัตว์ที่โง่เขลาให้หลงกิน ในขณะกินก็มีความติดใจในรสชาติที่หวานฉ่ำ เมื่อคราบน้ำตาลภายนอกได้ละลายไปแล้ว ยาพิษก็จะให้ผลทันที นี้ฉันใด ความทุกข์ที่ทุกคนได้รับกันอยู่ในขณะนี้ เป็นผลออกมาจากเหตุโลกียสุขทั้งนั้น แต่จะมารู้เห็นทุกข์ในช่วงนี้ยังไม่ได้ เพราะสติปัญญาของเรายังไม่พร้อม ยังไม่มีความสว่างทางสติปัญญา จึงไม่เกิดความฉลาดรอบรู้ในเหตุแห่งความทุกข์ได้ว่าอะไรเป็นเหตุที่เกิดทุกข์ มีมูลฐานในการทำ มีมูลฐานในการพูด มีมูลฐานในความเห็นผิดเป็นอย่างไร
   
   ถ้าไม่เข้าใจในจุดนี้ก็ยากที่จะเข้าใจในทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ได้ เพราะเหตุให้เกิดทุกข์มาจากความอยาก ความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นมีมาก ถ้าสติปัญญาไม่มีความฉลาดเฉียบแหลมพอตัวก็ยากที่จะรู้ได้ จึงเป็นผู้ลุอำนาจแห่งความอยากต่อไป จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สร้างเหตุแห่งทุกข์มากขึ้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเอาผลที่เป็นทุกข์มาเป็นหลักพิจารณา ให้เห็นโทษภัยเพื่อให้ใจได้เกิดความกลัว ถ้าใจได้รู้เห็นทุกข์ด้วยสติปัญญาได้อย่างชัดเจนแล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ต้องการความทุกข์ มีแต่จะสลัดให้หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งนั้น การสลัดออกจากทุกข์นี้มิใช่จะทำสมาธิแก้ปัญหาได้ เพราะความสงบของสมาธิเป็นเพียงอุบายกลบปัญหากลบทุกข์ไว้เท่านั้น
   
   การรู้ทุกข์เห็นทุกข์ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ต้องรู้เห็นจากสติปัญญาของตัวเอง การรู้เห็นจากตำราหรือผู้อื่นเล่าให้ฟังก็เป็นเพียงสัญญาเท่านั้น จะให้ใจเกิดความสลดสังเวชเกิดความกลัวในทุกข์นั้นๆ ไม่ได้เลย ความทุกข์ตัวจริงนั้นอยู่ที่ใจโดยตรง ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบให้เกิดทุกข์ทางใจ เมื่อไรกายใจมีความสัมพันธ์กันอยู่ ความทุกข์ก็ยังเป็นผลให้ได้รับตลอดไป นั้นเรียกว่าสภาวทุกข์ คือทุกข์ที่มีอยู่ประจำขันธ์ เรียกว่าทุกข์เป็นเจ้าเรือนที่มีอยู่ในรูปธรรมและนามธรรม อีกทุกข์หนึ่งเป็นปกิณกทุกข์คือทุกข์จรหรือทุกข์เสริม ทุกข์ประจำที่มีอยู่ก็เหลืออดเหลือทนแทบจะรับไม่ไหวอยู่แล้ว ยังมีทุกข์จรเพิ่มเสริมซ้ำเติมเข้ามาอีก ความหนักหน่วงทรมานทางกายและใจก็จะได้รับผลแห่งความทุกข์อย่างเต็มที่ เรื่องความทุกข์นี้มีมาก จะพรรณนาให้จบสิ้นในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ จะเป็นหนังสือเล่มใหญ่เกินไป เพียงอธิบายให้เป็นแนวทางในการใช้ปัญญาพิจารณาเท่านั้น ผลแห่งความทุกข์มีเท่าไร เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ก็มีมากเท่านั้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องฝึกสติปัญญาไว้ให้ดี ให้มีความรอบรู้ในทุกข์ และมีความรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์ เหตุปัจจัยภายในเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยภายนอกเป็นอย่างไร ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบรู้อยู่เสมอ สิ่งใดเห็นว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราจะหลีกเลี่ยงในเหตุนั้นเสีย ถึงจะมีความอยากได้อยากทำ ก็ต้องมีขันติความอดทนเพราะกลัวผลที่เป็นทุกข์ติดตามมาให้ผลแก่เรา
   
   สมุทัยคือ ตัณหาสาม เช่น กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาสามนี้เป็นเรื่องของใจเป็นต้นเหตุ ใจที่มีกิเลสสังขารสั่งการอยู่นั้นจึงเหมือนกันกับนายพรานพาสุนัขไปล่าเนื้อ เมื่อได้เนื้อมา นายพรานก็กินของดีเสียหมด โยนให้สุนัขกินเพียงเนื้อติดกระดูก นี้ฉันใด ใจที่ถูกกิเลสตัณหาสั่งการก็ต้องดิ้นรนแสวงหาให้ได้มาตามความอยาก เมื่อแสวงหามาได้แล้ว กิเลสตัณหาก็ได้เสวยสุขแต่ฝ่ายเดียว เศษที่เหลือก็คือความทุกข์ของใจ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกามคุณคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความทุกข์เกิดขึ้นจากความรักความใคร่ ผลของทุกข์ในสิ่งใดที่กิเลสตัณหาได้สั่งการให้ใจได้ทำไปแล้ว กิเลสตัณหาจะสลัดโยนทิ้งไปให้ใจเป็นผู้รับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว ใจที่โง่เขลาเบาปัญญาไม่มีวิชาความรู้ความฉลาด ก็จะอยู่เป็นทาสรับใช้ให้แก่กิเลสตัณหาตลอดไป ใจได้ตกเป็นทาสให้แก่กิเลสตัณหามายาวนานจนถึงปัจจุบัน และจะตกเป็นทาสให้แก่กิเลสตัณหาต่อไปในชาติอนาคตไม่มีกำหนดได้ ใจเดิมมีความฉลาดฝังอยู่ลึกๆ แต่ขาดการศึกษา ไม่มีวิชาทางสติปัญญาในทางธรรม จึงเป็นใจที่มืดบอดลุ่มหลง เรียกว่า โมหะอวิชชา ดังคำว่า คนโง่ย่อมตกอยู่ในความครอบงำของคนที่มีความฉลาดกว่า ใจโง่ก็ย่อมตกอยู่ในความครอบงำของกิเลสตัณหาก็ฉันนั้น ขณะนี้ถึงเวลาหรือยังพร้อมหรือยังที่จะฝึกใจให้มีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง สติปัญญาวิชาความรู้ใดที่เป็นไปในธรรมก็นำมาอบรมสอนใจเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป

7
มรรค ๘

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

   
   มรรค ๘ นี้จึงเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาหรือเรียกว่ารากฐานของพุทธศาสนาก็ไม่ผิด ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงท้าทายในการพิสูจน์ในเหตุและผล ทุกคนในโลกนี้นำไปปฏิบัติได้ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามมรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงไว้แล้ว ผู้นั้นจะไม่ผิดหวัง ในครั้งพุทธกาล มีพุทธบริษัทนำไปปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก ในยุคนั้นมรรค ๘ ยังไม่ได้แปรสภาพ ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้เกิดความสับสนลังเล พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างไรก็ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ก็พากันได้บรรลุมรรคผลกันไปตามบารมีของแต่ละบุคคล
   
   ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้วางปัญญาเป็นหลักยืนตัวเอาไว้ เพื่อให้ศึกษาในปริยัติ ศึกษาในภาคปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นปฏิเวธ ในภาคปริยัติก็แยกออกมาเป็นหมวดธรรมต่างๆ ที่เรียกว่าปิฎก เช่น พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และปรมัตถปิฎก
   
   พระสุตตันตปิฎกก็แยกออกมาเป็นหมวดหมู่ตามหนังสือที่อ่านกันอยู่ในขณะนี้ พระวินัยปิฎกก็แยกออกมาเป็นหมวดต่างๆ เช่น หมวดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ให้นำมาปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม หมวดปรมัตถ์ ก็แยกออกเป็นหมวดจิต เจตสิก ที่รู้กันในหมวดอภิธรรม การศึกษาในระดับนี้จึงเรียกว่าปริยัติธรรม
   
   เมื่อจะนำมาปฏิบัติ ก็ใช้จินตามยปัญญา เอาหมวดธรรมนั้น ๆ มาตีความ ว่าธรรมหมวดไหนมีความหมายอย่างไร การตีความในหมวดธรรมนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าตีความในหมวดธรรมผิดไป ความเข้าใจผิด ความเห็นผิดก็จะติดตามมา เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเกิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ เมื่อนำมาภาวนาก็จะเป็นมิจฉาภาวนา จะไม่เป็นไปในทางมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด
   
   ถ้าตีความในหมวดธรรมได้อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดความเข้าใจถูก เกิดความเห็นถูกต้องชอบธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นสัมมาปฏิบัติ จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นปฏิเวธไป ฉะนั้นการตีความในหมวดธรรมที่จะนำมาปฏิบัตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากทีเดียว
   
   มรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงเอาไว้ ก็มี ๓ หมวดหมู่ด้วยกันดังนี้
   
   ๑.    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป การดำริพิจารณาชอบนี้คือหมวดของปัญญา
   ๒.   สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ นี้เป็นหมวดของศีล
   ๓.   สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เป็นหมวดของสมาธิ
   
   ถ้าเรียบเรียงให้ถูกตามหลักเดิม จะออกมาเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ถ้านำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ให้เราพิจารณาด้วยเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้วางแนวทางไว้อย่างนี้ ก็เพราะคนเรามีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดตามหลักความเป็นจริงอยู่แล้ว แม้การดำริคิดไปในสิ่งใดก็เป็นไปในทางมิจฉาสังกัปโป คิดไปไม่ถูกต่อหลักความเป็นจริง นี้เองพระพุทธเจ้าจึงได้วางปัญญาเป็นหลักเริ่มต้น เพื่อจะได้แก้ความเห็นผิด แก้ความคิดผิดของใจที่มีอยู่เดิมให้หมดไป จะได้เกิดความเห็นถูก เกิดความคิดถูกตามหลักความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ความเห็นชอบ ความคิดชอบนี้เอง จะได้ไปควบคุมในการพูด ให้เกิดเป็นวาจาที่ชอบธรรมได้ เข้าไปควบคุมในการงานต่างๆ ให้เกิดเป็นการงานที่ชอบได้ เข้าไปควบคุมในการเลี้ยงชีวิต ให้เกิดเป็นการเลี้ยงชีวิตชอบได้ เข้าไปควบคุมความเพียรต่างๆ ให้เกิดเป็นความเพียรที่ชอบได้ เข้าไปควบคุมสติให้เกิดมีการระลึกชอบได้ เข้าไปควบคุมใจให้เกิดมีความตั้งมั่นชอบได้
   
   ฉะนั้น หลักปัญญาจึงเข้าไปควบคุมหมวดศีล เข้าไปควบคุมหมวดสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาควบคุมให้ดี ก็จะเป็นมิจฉาวาจา พูดผิดศีลผิดธรรมไป การทำงานก็จะทำผิดศีลผิดธรรม การหาเลี้ยงชีวิตก็จะหาในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การทำความเพียร ก็จะเพียรพยายามไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การระลึกได้ของสติ ก็จะระลึกไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การตั้งใจมั่นก็จะตั้งไปในทางที่ผิดเป็นมิจฉาสมาธิไป นี้เองพระพุทธเจ้าจึงเอาปัญญามาเป็นหลักเริ่มต้นก็เพื่อจะเอามาแก้ปัญหาตัวมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดให้หมดไปจากใจโดยตรง แล้วเสริมสร้างความเห็นชอบ ความคิดชอบให้เกิดขึ้นกับวาจา ให้เกิดความเห็นชอบจากการงานที่ทำ ให้เกิดความเห็นชอบในการเลี้ยงชีวิต ให้เกิดความเห็นชอบในความเพียรพยายาม ให้เกิดความเห็นชอบในการระลึกได้ของสติ ให้เกิดความเห็นชอบในการตั้งใจมั่น ที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมให้ถูกกับความเป็นธรรม ก็คือปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปโป ปัญญาพิจารณาถูกต้องชอบธรรมนั้นเอง
   
   ฉะนั้นการปฏิบัติถ้าเอาตามหลักเดิมของพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ จึงง่ายต่อการปฏิบัติจะไม่เกิดความสับสนลังเล ส่วนหลักสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเป็นหลักปริยัติเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำมาปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามหลักเดิมตามแนวทางของพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เพราะปัญญาของทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงเอามาฝึกให้เกิดความเห็นชอบเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงเท่านั้น ความเป็นจริงก็มีอยู่ทั่วไป มีทั้งภายในภายนอก ให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นเอง
   
   มิจฉา ทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเกิดความเห็นผิดแล้วก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็จะเกิดความคิดผิดดำริผิด และเกิดความหลงผิดติดตามมา เมื่อใจหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะเกิดเป็นมโนทุจริตคิดชั่วไปในทางอกุศล การทำก็จะทำไปในทางอกุศล การพูดก็ชอบพูดไปในทางที่เป็นอกุศล จึงเรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต อันเป็นผลเนื่องมาจากมโนทุจริตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจากความเห็นผิดนั้นเอง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญามาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อใจมีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเกิดเป็นมโนสุจริต คิดพิจารณาในสิ่งใดก็จะเป็นธรรมไปทั้งหมด จะไม่มีพิษมีภัยให้แก่ตัวเองและคนอื่นแต่อย่างใด ก็เพราะใจมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเอง
     
      ฉะนั้น ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ต้องวางรากฐานของสติปัญญา ความเห็นชอบนี้ให้ดี เพราะความเห็นชอบเห็นจริงตามความเป็นจริงเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงดีแล้ว การปฏิบัติธรรมจะมีความราบรื่นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้องสับสนลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ถ้าใจไม่มีปัญญาเป็นสิ่งรอบรู้ ย่อมเกิดความเห็นผิดเข้าใจผิดได้ง่าย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติก็มีแต่ความสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงไม่กล้าตัดสินในเหตุผลด้วยสติปัญญาของตัวเอง จึงเป็นธรรมะปรามาสลูบคลำในการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยไป
     
      ฉะนั้น อุบายธรรมที่จะนำมาปฏิบัติ ต้องให้เกิดความชัดเจน ให้มีหลักยืนที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อเป็นฐานรองรับให้แก่หมวดธรรมอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความล้มเหลวไปไม่เข้าท่า การภาวนาปฏิบัติต้องจับต้นทางให้ถูก เหมือนการเดินทาง ถ้าดูแผนที่ให้เข้าใจ จะไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศก็ไม่มีอุปสรรคในการเดินทาง จะถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการแน่นอน นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป ถึงจะไม่เคยสัมผัสในมรรคผลนิพพานมาก่อนก็ตาม ในเมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบที่ถูกต้องแล้ว มรรคผลนิพพานเปิดประตูรอคอยท่านอยู่แล้ว ครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในยุคปัจจุบัน หรือในครั้งพุทธกาลก็เช่นกัน ไม่มีใครเคยได้ไปสำรวจรู้เห็นในมรรคผลนิพพานมาก่อนแต่อย่างใด ทุกท่านต้องเชื่อในเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้วางเส้นทางเอาไว้ดีแล้ว มีเครื่องหมายกรุยเอาไว้เป็นระยะๆ เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็มองเห็นกรุยข้างหน้า เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้กรุยเป็นเครื่องหมายเอาไว้ไม่ย่อท้อถดถอย ความหลงทางจะมีมาจากที่ไหน มีแต่จะย่างเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเกิดความเห็นผิดแล้วก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็จะเกิดความคิดผิดดำริผิด และเกิดความหลงผิดติดตามมา เมื่อใจหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะเกิดเป็นมโนทุจริตคิดชั่วไปในทางอกุศล การทำก็จะทำไปในทางอกุศล การพูดก็ชอบพูดไปในทางที่เป็นอกุศล จึงเรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต อันเป็นผลเนื่องมาจากมโนทุจริตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจากความเห็นผิดนั้นเอง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญามาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อใจมีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเกิดเป็นมโนสุจริต คิดพิจารณาในสิ่งใดก็จะเป็นธรรมไปทั้งหมด จะไม่มีพิษมีภัยให้แก่ตัวเองและคนอื่นแต่อย่างใด ก็เพราะใจมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเอง
   
   ฉะนั้น ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ต้องวางรากฐานของสติปัญญา ความเห็นชอบนี้ให้ดี เพราะความเห็นชอบเห็นจริงตามความเป็นจริงเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงดีแล้ว การปฏิบัติธรรมจะมีความราบรื่นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้องสับสนลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ถ้าใจไม่มีปัญญาเป็นสิ่งรอบรู้ ย่อมเกิดความเห็นผิดเข้าใจผิดได้ง่าย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติก็มีแต่ความสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงไม่กล้าตัดสินในเหตุผลด้วยสติปัญญาของตัวเอง จึงเป็นธรรมะปรามาสลูบคลำในการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยไป
   
   ฉะนั้นอุบายธรรมที่จะนำมาปฏิบัติ ต้องให้เกิดความชัดเจน ให้มีหลักยืนที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อเป็นฐานรองรับให้แก่หมวดธรรมอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความล้มเหลวไปไม่เข้าท่า การภาวนาปฏิบัติต้องจับต้นทางให้ถูก เหมือนการเดินทาง ถ้าดูแผนที่ให้เข้าใจ จะไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศก็ไม่มีอุปสรรคในการเดินทาง จะถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการแน่นอน นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป ถึงจะไม่เคยสัมผัสในมรรคผลนิพพานมาก่อนก็ตาม ในเมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบที่ถูกต้องแล้ว มรรคผลนิพพานเปิดประตูรอคอยท่านอยู่แล้ว ครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในยุคปัจจุบัน หรือในครั้งพุทธกาลก็เช่นกัน ไม่มีใครเคยได้ไปสำรวจรู้เห็นในมรรคผลนิพพานมาก่อนแต่อย่างใด ทุกท่านต้องเชื่อในเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้วางเส้นทางเอาไว้ดีแล้ว มีเครื่องหมายกรุยเอาไว้เป็นระยะๆ เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็มองเห็นกรุยข้างหน้า เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้กรุยเป็นเครื่องหมายเอาไว้ไม่ย่อท้อถดถอย ความหลงทางจะมีมาจากที่ไหน มีแต่จะย่างเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว
   
   ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องตีความให้เข้าใจ เพราะในยุคนี้สมัยนี้ ผู้ที่ตีความในหมวดธรรม ที่จะนำมาอบรมสั่งสอนให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้าตีความในหมวดธรรมผิดก็จะเกิดความเห็นผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะผิดไปตามๆ กัน เมื่อตีความในธรรมถูกก็จะเกิดความเห็นถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะถูกไปตามๆ กันดังนี้
   ฉะนั้นการศึกษาในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จึงยากที่จะจบได้ หรือจบมาแล้วก็ยากที่จะนำมาปฏิบัติได้ เพราะในตำราทั้งหมดนั้นเป็นศูนย์รวมของหมวดธรรมทั้งหลายไว้ในปิฎกอันเดียวกัน จึงยากในการแยกเอาหมวดธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยของตัวเราได้ เหมือนกับร้านขายยาที่มียาอยู่ทุกชนิด จึงยากที่จะทราบว่าจะเอาชนิดใดมากินให้หายจากโรคภัยในตัวเองได้ เว้นเสียแต่ผู้ได้รับการตรวจร่างกายจากหมอมาดีแล้ว จึงจะกำหนดยาแต่ละชนิดมากินให้หายจากโรคได้ นี้ฉันใด อุบายธรรมในตำรานั้นมีมาก จึงยากที่จะเอาหมวดธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติด้วยตัวเองได้ พระพุทธเจ้าที่จะหยิบยื่นอุบายธรรมให้ตรงกับนิสัยบารมีเราก็ไม่มี ขณะนี้มีเพียงพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่มีญาณหยั่งรู้นิสัยบารมีให้แก่ใครๆ ได้ว่าท่านนั้นสร้างบารมีมาอย่างไร เพราะญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น
   
   ฉะนั้นในยุคนี้ถึงจะมีครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้นำเอาหมวดธรรมมาอบรมสั่งสอนแก่เราอยู่ก็ตาม ก็ยากที่จะตรงกับนิสัยบารมีของเรา จึงมีทางเลือกเดียวคือ ผู้ปฏิบัติต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาลให้เข้าใจ ท่านเหล่านั้นก็เป็นปุถุชนมาก่อน ท่านปฏิบัติอย่างไร จึงได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้า ตามประวัติเดิมพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาล ทุกท่านจะต้องเริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าพระอริยเจ้าในระดับไหนจะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน ฉะนั้นพวกเราก็ควรเอามาเป็นเยี่ยงอย่างในการปฏิบัติธรรม ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบรอบรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การปฏิบัติในวิธีอย่างอื่นก็จะเป็นทางตัน จะก้าวต่อไปอีกไม่ได้เลย ในชาตินี้จะต้องปิดฉากแห่งมรรคผลลงทันที
   
   ถึงจะมีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ก็ตาม ถ้ามีความเห็นผิดก็จะปฏิบัติผิด บุญกุศลบารมีก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เหมือนกับดอกบัวพร้อมที่จะพ้นจากน้ำเบ่งบานอยู่ก็ตาม ถ้าหากดอกบัวนั้นถูกกอผักตบชวาประกบเอาไว้ หรือถูกสิ่งอื่นใดมาขัดขวางปิดบังทับถม โอกาสที่ดอกบัวจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำเพื่อรับแสงแดดได้เบ่งบานก็หมดสิทธิ์ทันที นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติถึงจะมีการสร้างบารมีมาดีแล้วก็ตาม ถ้ามีความเห็นผิดก็จะเกิดเป็นมิจฉาปฏิบัติตามมา ถึงจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ ฝึกสติให้เกิดความระลึกได้อย่างมั่นคงอยู่ก็ตาม ก็ไม่สามารถทำลายตัวมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดนี้ไปได้เลย หรือจะทำสมาธิ จิตจะมีความสงบละเอียดถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌาน มีความตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ มีความสงบมากติดต่อกันเป็นเวลายาวนานก็ตาม ก็ไม่สามารถเอามาทำลายตัวมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดให้หมดไปจากใจได้ เท่านี้ยังไม่พอ การมีความเพียรมาก สติระลึกได้ดี สมาธิที่มีความสงบแนบแน่นทั้งหมดนั้น ก็จะมารวมพลังให้แก่มิจฉาทิฏฐิ เกิดความเห็นผิดมากขึ้นก็เป็นได้ เหมือนกับดาบสทั้งสองเคยเป็นครูสอนให้แก่พระพุทธเจ้าของเราในสมัยนั้น ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าไม่กี่วัน ดาบสทั้งสองก็ได้มรณะไปเสีย พระพุทธเจ้ายังดำริว่า ถ้าดาบสทั้งสองได้ฟังการแสดงธรรมจากเรา ดาบสทั้งสองก็จะได้บรรลุธรรมแน่นอน นี้ฉันใด บารมีถึงจะมีมากน้อยอยู่ก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแนวแห่งมรรคผลนิพพาน ในชาตินี้ก็พลาดโอกาสไป แต่บารมีนั้นยังไม่หายไปไหน ยังมีอยู่ที่ใจตามเดิม ในโอกาสชาติหน้า ถ้าได้ครูผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องก็มีโอกาสได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ ถ้าได้ครูสอนผิดและปฏิบัติผิด ก็จะพลาดโอกาสจากพระอริยเจ้าต่อไปอีกยาวนานทีเดียว
   
   ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมเพื่อรื้อถอนอาสวะกิเลสให้หมดไปจากใจ มิใช่ว่าจะเอาความโง่เขลาปัญญาทรามเข้าไปแก้ไข จะเป็นไปได้เฉพาะผู้ที่มีความฉลาดรอบรู้ทางสติปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นจริงเท่านั้น เมื่อความเห็นชอบเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้ว มรรคข้ออื่นๆ ก็จะเกิดความชอบธรรมไปทั้งหมด พระอริยเจ้าทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาและพระอริยเจ้าทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ก็ดี หรือพระอริยเจ้าทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในศาสนาของพระพุทธองค์ต่อๆ ไปก็ดี การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอริยเจ้านั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การละอาสวะกิเลสให้หมดไปจากใจก็จะเป็นหลักในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงเหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามีก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็เหมือนกัน เฉพาะพระอรหันต์ในขั้นสุกขวิปัสสโก ในขั้นเตวิชโช ในขั้นฉฬภิญโญ ในขั้นปฏิสัมภิทัปปัตโต ก็มีความบริสุทธิ์สิ้นอาสวะเหมือนกัน ผู้สิ้นอาสวะได้หมดจดไม่มีเหลือ จึงนับว่าผู้มีความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ นั้นเรียกว่านิพพาน ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ ความบริสุทธิ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า และความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ก็ให้ชื่อว่าความบริสุทธิ์เหมือนกัน นิพพานคือการดับอันสนิทแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้หมดเชื้อที่จะก่อภพก่อชาติเกิดตายอีกต่อไป


8
ในทางธรรมต่างก็จะเห็นด้วยใจ สำนึกด้วยใจในธรรมะที่มีผู้รู้นำมาแบ่งปันค่ะ

 :25: แว๊กกๆๆ...ถ้าใจมืดบอดอยู่ก็ยังเห็นไม่ได้จิคะ
เมื่อไม่เห็นจึงไม่อาจสำนึกด้วยใจในธรรมะนั้น

แม้พระธรรมมาปรากฏอยู่ต่อหน้าก็ยังลังเลสงสัย

ยิ่งได้อ่านมามาก ฟังมามาก และจดจำได้มากเพียงไร
กลับยิ่งหลงตนมากขึ้นตามไปด้วย ซะงั้น อ่า...

ผู้ถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่จึงไม่สามารถน้อมนำธรรมะมาใช้ดับความหลงของตนได้

พอถูกกระทบก็หวั่นไหวไปกับโลกธรรม
ไหลไปกับความดีใจบ้าง เสียใจบ้าง อยู่อย่างนั้น

หากยุติธรรมกับตนเองก็จะมองอาการของจิตด้วยความเป็นกลางได้
เมื่อหวั่นไหวก็รู้ว่าหวั่นไหวเพราะยังไม่มั่นคงในพระธรรมสัมมาทิฏฐิ
ยอมรับแล้วทำต่อไป การปฏิบัตก็จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

หลวงปู่ดูลย์สอนว่า "เห็นกิเลสตัวไหนออกมาก็ละตัวนั้น"

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้อง "เห็นกิเลสของตน" ให้ได้เสียก่อนน๊าคะ ~

 :13: อนุโมทนาสาธุธรรมค่ะ ^^

9
   อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชอบใจ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์พิเศษที่ทุกคนมีความต้องการเป็นอย่างมาก ทุกคนพากันแสวงหาเพื่อให้ได้มาตามใจชอบ เป็นอารมณ์ที่ทำให้ใจเกิดความร่าเริงสนุกสนานเบิกบานใจ ไม่มีความเครียดอึดอัดใจ มีแต่ความโล่งโปร่งสุขใจสบายใจ เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดรอยยิ้มภายในใจอยู่ตลอดเวลา หารู้ไม่ว่าเป็นอารมณ์ที่อาบด้วยยาพิษ ดังคำว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกเศร้าเสียใจ ความทุกข์ใจ ความตรอมใจ ความอาลัยอาวรณ์นอนไม่หลับ กินไม่ได้ย่อมเกิดจากอารมณ์ประเภทนี้ ถึงจะมีความสุขอย่างมหันต์ แต่ก็จะเกิดความทุกข์อย่างอนันต์เป็นผลตอบแทนได้เช่นกัน
   
   ฉะนั้นความใฝ่ฝัน ความต้องการของคนเราในโลกนี้ มีจุดหมายในอารมณ์ที่สุขกายสุขใจ เหมือนกัน หารู้ไม่ว่านี้คืออารมณ์เรียกน้ำตา ถ้ามีความรักมาก ก็มีความสุขมาก แต่อย่าลืมว่านี้คืออารมณ์แห่งความสุข ที่จะให้เกิดความทุกข์มากเช่นกัน ความสุขเกิดจากอะไร ความทุกข์ก็เกิดจากความสุขนั้นๆ ตามปกติของใจจะคิดฟุ้งไปหาอารมณ์ที่จะให้เกิดความสุข นั้นคืออารมณ์ของสมมติและสังขาร
   
   คำว่าสังขารคือ การปรุงแต่ง ก็เพื่อให้ถูกใจตัวเอง เหมือนการปรุงอาหารจะทำให้เกิดรสชาติออกมาอย่างไร ก็ปรุงเอาเอง จะแต่งลักษณะสีสันลวดลายให้เกิดความสวยงามอย่างไรก็แต่งเอง จะให้เกิดความสุขใจสบายใจอย่างไรก็ทำเองทั้งหมด นี้ฉันใด อารมณ์ใดที่จะปรุงแต่งเพื่อให้เกิดความสุขใจสบายใจ ก็ส่งใจฟุ้งไปในอารมณ์นั้นๆ เพื่อให้เกิดความรัก ให้เกิดความยินดีพอใจในสิ่งนั้นๆ เรียกว่ายั่วยุใจให้เกิดอารมณ์นั้นเอง
   
   สังขารการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีมูลเหตุก็ปรุงแต่งไม่ได้ เหมือนปากกามีในมือ ถ้าไม่มีกระดาษมารองรับให้เขียน ก็จะไม่เป็นตัวหนังสือให้อ่านได้ นี้ฉันใด การปรุงแต่ง ถ้าไม่มีสมมติมาเป็นตัวรองรับ ก็ปรุงแต่งอะไรไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นจึงสร้างสมมติขึ้นมาเป็นตัวรองรับเพื่อจะใช้ความคิดปรุงแต่งได้ เหมือนกับอาหารหวานอาหารคาว พ่อครัวแม่ครัวจะปรุงอาหารประเภทไหนก็ขึ้นอยู่กับเครื่องปรุงที่มี จะปรุงรสจัด รสจืดหวานมากหวานน้อยอย่างไร ต้องปรุงให้ถูกใจตัวเอง นี้ฉันใด สมมติในเรื่องใดขึ้นมาก็ปรุงแต่งไปตามสมมตินั้นๆ ไปให้ถูกกับวัยของตัวเอง ถ้าวัยเด็กก็คิดฟุ้งไปตามวัยเด็ก ถ้าวัยหนุ่มสาวก็คิดฟุ้งไปตามวัยหนุ่มสาว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะคิดปรุงไปตามใจชอบให้กลมกลืนไปตามความอยากของตน ชอบในสิ่งใด จะคิดฟุ้งไปได้ทั้งวันทั้งคืน ถ้าวัยที่มีครอบครัวก็จะคิดปรุงฟุ้งไปในการสร้างฐานะเพื่อให้มีความร่ำรวย ถ้าวัยแก่ ก็จะคิดปรุงไปในการรักษาดูแลไม่ฟุ่มเฟือยในการจับจ่ายใช้สอย เห็นลูกหลานใช้จ่ายมากไปหรือไม่เก็บรักษา ก็จะคิดฟุ้งไปบ่นไปจุกจิกจู้จี้ คิดห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ว่า เขาจะอยู่กันอย่างไร ใจก็จะคิดฟุ้งไปในเรื่องความเป็นห่วงในสิ่งนั้นๆ อีกมากมาย
   
   ฉะนั้น ความรุนแรงที่ฟุ้งไป จะอยู่ในวัยที่มีราคะตัณหา ราคะตัณหานี้เองจะเป็นพลังส่งพลังหนุนให้เกิดความฟุ้งไปจนลืมตัว จึงเรียกว่าตัณหาหน้ามืด ก็หมายถึงใจมืดบอดนั้นเอง จึงไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เมื่อใจถูกราคะตัณหาครอบคลุมอยู่ก็จะเกิดความรัก ความกระสันดิ้นรนให้เป็นไปตามใจชอบ ไม่มีหิริความละอายใจ ไม่กลัวบาปอกุศลใดๆ ไม่มีสติปัญญาแก้ปัญหาให้แก่ใจจึงฟุ้งไปอยู่ตลอดเวลา
   
   ฉะนั้นการฟุ้งไปในสมมติสังขารนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ในผู้ปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญาที่ดี ก็จะปล่อยใจให้คิดไปตามราคะตัณหานี้อย่างไม่มีขอบเขต ยังหลงต่อไปว่าตัวเองมีความสุขอยู่กับราคะตัณหานี้ดีอยู่แล้ว มีแต่ความเพลิดเพลินร่าเริงอยู่กับความฟุ้งปรุงแต่งในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหน้าตาเฉย ไม่คิดว่าจะเกิดทุกข์ โทษภัยให้แก่ตัวเองแต่อย่างใด มีแต่ความชอบใจใฝ่ฝันอยู่ในการฟุ้งปรุงแต่งกับสมมติอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าเบื่อหน่ายรำคาญใจแต่อย่างใด
   
   ฉะนั้น ผู้ภาวนาปฏิบัติต้องมีสติปัญญาระวังใจอย่าให้อารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นที่ใจได้ ถ้าเกิดขึ้นมาก็ต้องใช้สติปัญญาสอนใจอยู่เสมอ ให้ได้รู้เห็นทุกข์โทษภัยในความหลงใหลในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ใจมีความเศร้าหมองขุ่นมัว ต้องแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าปล่อยไว้นานจะเกิดเป็นอารมณ์สะสมทับถมใจมากขึ้น เหมือนกระจกที่ใสสะอาด ถ้าปล่อยให้ฝุ่นละอองเกาะติดอยู่บ่อยๆ ย่อมทำให้กระจกมืดมัวไปได้ จะมองไม่เห็นหน้าตัวเอง หรือเหมือนกับผ้าที่ถูกคราบสกปรก ก็ให้รีบซักฟอกเช็ดถูให้หมดไป นี้ฉันใด ใจเมื่อมีอารมณ์ที่สกปรกก็เริ่มใช้สติปัญญามาชำระสะสาง อย่าให้อารมณ์ที่สกปรกนี้ติดค้างอยู่ภายในใจได้ ให้มีความระวังสำรวมรักษา อย่าให้อารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นที่ใจอีก จึงนับได้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติที่ดีมีความฉลาดรอบรู้ในการรักษาใจและฉลาดรอบรู้ในอุบายวิธีแก้ปัญหาให้หมดจากใจไปได้
   
   ฉะนั้นการภาวนาปฏิบัติ ต้องศึกษาหลักการและวิธีการให้เข้าใจ ตีความในปริยัติให้ถูกกับความหมายให้เข้าใจในคำว่า สมถะ ให้เข้าใจในคำว่า วิปัสสนา เพราะแต่ละอุบายนั้นมีความแตกต่างกัน
   
   คำว่าสมถะ ก็คือการทำสมาธิเพื่อให้ใจมีความตั้งมั่นและมีความสงบ คำว่าวิปัสสนา ก็หมายถึงปัญญาที่พิจารณาให้เป็นไปตามความเป็นจริงในหมวดธรรมนั้นๆ แต่ละอุบายมีความหมายที่แตกต่างกันอยู่ก็ตาม เมื่อนำมาปฏิบัติจะเป็นอุบายเชื่อมโยงต่อกันได้เป็นอย่างดี จึงเป็นแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะทำสมาธิเพื่อให้ใจมีความสงบตามแบบฉบับของหมู่ดาบสฤๅษีดังที่เห็นกันในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การเจริญวิปัสสนาแต่ไม่ให้ความสนใจ ไม่ยอมฝึกความคิด ไม่ยอมฝึกปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง อย่างมากก็เพียงไปศึกษาในหลักปริยัติ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักปริยัติไปเท่านั้น จะเข้าใจว่าได้เจริญในวิปัสสนาแล้วในลักษณะอย่างนี้หาใช่ไม่ นี้เป็นเพียงใช้ปัญญาพิจารณาไปตามสัญญาในหมวดปริยัติเท่านั้น ยังไม่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างสมบูรณ์
   
   การเจริญวิปัสสนาหมายถึง ใช้ความสามารถสติปัญญาของตัวเองเป็นหลัก ไม่จำเป็นจะให้ถูกตามประโยคข้อความในปริยัติไปเสียทั้งหมด มิใช่ว่าจะยกเอาปริยัติมาพิจารณาให้ถูกต้องทุกประโยคทุกข้อความไป ประโยคข้อความนั้นเป็นปัญญาของนักปราชญ์ท่านเขียนไว้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น ส่วนประโยคข้อความของปัญญาเรา ถึงจะใช้สำนวนข้อคิดที่แตกต่างกันกับปริยัติไปบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หลักที่สำคัญนั้นคือ ความหมายให้ถูกต้องตรงกันกับหลักปริยัตินั้นๆ เพราะปฏิภาณโวหารในการใช้อุบายในการพิจารณาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการฝึกวิปัสสนาหรือฝึกปัญญา อย่าเอาตามตำราและอย่าทิ้งตำราแล้วกัน

http://agaligohome.com/index.php?topic=4827.new#new

10
ความคิดฟุ้ง
   
   การเกิดความคิดฟุ้งนั้นมีสองลักษณะ ๑. ฟุ้งซ่าน ๒. ฟุ้งไปตามสังขารการปรุงแต่งในสมมติ ฟุ้ง ๒ ลักษณะนี้ต่างกัน ดังจะอธิบายพอเป็นสังเขปดังนี้
   
   ๑. ลักษณะจิตฟุ้งซ่าน เป็นความคิดที่เลื่อนลอย เป็นความคิดกระจายไปในหลายๆ เรื่อง แต่ละเรื่องเมื่อคิดไป จะเกิดความสับสนจับต้นชนปลาย ไม่หนักแน่น ไม่มีความมั่นใจว่าความคิดนั้นผิดหรือถูก ไม่สามารถตัดสินใจได้ เป็นความคิดที่โลเลสะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อย เป็นความคิดที่ทำให้เกิดความลังเลไม่แน่ใจ จึงเกิดความสงสัยในความคิดของตัวเองแบบหาข้อยุติสรุปลงไม่ได้ เพราะมีหลายเรื่องที่นำมาคิดช่วงเดียวกัน จึงเป็นความคิดในเรื่องนั้นบ้าง คิดในเรื่องนี้บ้าง จะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจไม่ลงตัว จึงเกิดความรำคาญ และเกิดความหงุดหงิดขึ้นที่ใจ เกิดความฉุนเฉียวโกรธง่าย ไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร จะทำงานอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถึงจะทำไปผลของงานก็จะออกมาไม่ดี
   
   ลักษณะความฟุ้งซ่านนี้จะมีอารมณ์ที่ไม่ชอบใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งตกค้างอยู่ ที่ยังแก้ไขไม่ได้เป็นต้นเหตุ ในเมื่อนึกคำบริกรรมทำสมาธิไป ก็จะมีอารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้น สติคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็จะเกิดความฟุ้งไปในอารมณ์นั้นๆ ในลักษณะอย่างนี้มิใช่ว่าจะเกิดในช่วงทำสมาธิเท่านั้น อยู่ตามปกติธรรมดาอารมณ์ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน หรือพิจารณาในหมวดธรรมะอะไรอยู่ ถ้ามีอารมณ์ประเภทนี้แทรกเข้ามา ถ้าสติปัญญาไม่ดี ไม่มีความฉลาดในอุบายที่จะนำมาแก้ไข ก็จะกลายเป็นความฟุ้งซ่านไปได้
   
   ๒. จิตฟุ้งไปตามสังขาร คำว่าสังขารก็คือ สังขารจิตที่คิดไปตามอารมณ์ที่เรารัก เรียกว่า อิฏฐารมณ์ อารมณ์นี้จะมีอยู่กับทุกๆ คน มีทั้งอารมณ์เก่าและอารมณ์ใหม่ อารมณ์เก่าหมายถึง อารมณ์ที่สะสมมาในอดีตติดอยู่กับใจจนกลายเป็นนิสัยเจ้าอารมณ์ อารมณ์ใหม่หมายถึง การสัมผัสจากอายตนะ คือ ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสในสิ่งที่อ่อนแข็ง
   
   การสัมผัสในอายตนะนี้เอง จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดอารมณ์ขึ้นที่ใจ เมื่ออารมณ์มีในใจ จึงเกิดความชอบใจและไม่ชอบใจเกิดขึ้น อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจึงเกิดความเกลียดชัง ไม่ชอบใจในอารมณ์นั้นๆ จึงเกิดความทุกข์ใจไม่สบายใจขึ้น จึงเกิดการปรุงแต่ง คิดหาวิธีที่จะเอาชนะในการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กับคนที่เราเกลียดชังนี้ให้ได้ แม้เสียงที่ไม่ชอบใจจากคำพูดของใคร ก็เกิดอารมณ์แห่งความทุกข์ใจไม่สบายใจ จึงคิดหาวิธีที่จะแก้ไขเอาชนะให้ได้เช่นกัน
   
   ฉะนั้นอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ใครๆ ย่อมเกิดมีด้วยกันทั้งนั้น ใครจะเกิดมีอารมณ์ประเภทไหนนั้นขึ้นอยู่กับการสัมผัสอารมณ์นี้มีสามลักษณะ
   
   ๑.     อารมณ์ที่มีความชอบใจ
   
   ๒.    อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
   
   ๓.    อารมณ์เฉยๆ
   
   อารมณ์เฉยนี้จะไม่ก่อให้เกิดการฟุ้งไปเป็นสังขาร จะเป็นอารมณ์เงียบอยู่ตามปกติ ไม่มีกิริยาในการแสดงออกในทางความคิดปรุงแต่งอะไร ไม่สนใจในสิ่งที่มาสัมผัสนั้นๆ
   
   ส่วนอารมณ์ที่ชอบใจ และอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ทั้งสองนี้จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นที่ใจ จึงได้เกิดความฟุ้งไปตามอารมณ์นั้นจนลืมตัว อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจึงคิดไปในทางอิจฉาตาร้อน คิดฟุ้งปรุงแต่งไปในทางอิจฉา ริษยา เบียดเบียนเพื่อเอาชนะคนอื่นด้วยความโกรธแค้น คิดฟุ้งไปในวิธีการทำ การพูดให้แก่คนอื่นได้รับความเสียหาย เพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่คนอื่น เพื่อทำลายลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขแก่คนอื่นให้ลดน้อยลงหรือให้หมดไป
   
   ความคิดฟุ้งไปในลักษณะนี้เป็นความคิดของบุคคลที่ไม่มีคุณธรรมประจำใจ เป็นความคิดของอันธพาลสันดานชั่ว เป็นความคิดของผู้เห็นแก่ตัวที่มีอัตตาสูง เป็นความคิดที่จะทำให้เกิดความแตกแยกสามัคคี ไม่มีเมตตาธรรม ไม่มีกรุณาธรรม ไม่มีมุทิตาธรรม และไม่มีอุเบกขาธรรมประจำใจ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยการทำการพูดนี้มากมาย ไม่มีหิริความละอายใจ ไม่มีสติปัญญาความสำนึกตัวได้เลย ว่าการทำการพูดอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างไร หาได้คิดไม่ มีแต่คิดไปฟุ้งไปเพื่อทำลายคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือผู้ชอบคิดฟุ้งไปในลักษณะการกล่าวขวัญนินทาว่าร้ายแก่คนอื่นก็เช่นกัน จึงเรียกว่าคนนิสัยเสียสันดานชั่วลืมตัวเอง ถ้าไม่ชอบใจกับคนใดคนหนึ่งด้วยวิธีใด ใจก็จะผูกโกรธเอาไว้แล้วคิดหาวิธีที่จะทำลายคนนั้นให้ได้ นี้การฟุ้งไปในอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มูลเหตุที่จะให้เกิดอารมณ์ในลักษณะนี้มีอยู่มาก และจะทำให้เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดฝังใจได้อย่างสนิททีเดียว

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 ... 16