ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญญา ๓ ... ปัญญาสัมมาทิฏฐิ :: หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ  (อ่าน 3455 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ เลดี้เบื๊อก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 165
  • พลังกัลยาณมิตร 119
    • ดูรายละเอียด
ปัญญา ๓
[/b][/size]
   
   พระพุทธเจ้าได้วางหลักปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเอาไว้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าปัญญาความเห็นชอบเริ่มต้นถูกแล้ว การรักษาศีล การทำสมาธิก็จะเกิดความเห็นชอบต่อเนื่องกันไปทั้งหมด จะตัดขาดจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดให้หมดไปจากใจทันที ส่วนการศึกษาจะเขียนสลับกันไปมาอย่างไรก็ได้ ในภาคปฏิบัติแล้วจะต้องเริ่มจากปัญญาความเห็นชอบตามแนวทางเดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เช่น ปัญญา ๓ ก็ต้องเริ่มจากสุตตมยปัญญา คือปัญญาภาคการศึกษาในหลักปริยัติ จินตามยปัญญา คือปัญญาในหมวดวิจัยวิจารณ์ วิเคราะห์ในหมวดธรรมนั้นๆ ว่าปริยัติหมวดไหนมีความหมายเป็นอย่างไร และจะนำมาปฏิบัติได้อย่างไร
   
   จินตามยปัญญาคือปัญญาในระดับขั้นตีความในปริยัติ ถ้าตีความในหมวดปริยัติถูกก็จะเกิดความเข้าใจถูกและเกิดความเห็นถูก ดำริถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติถูก ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็จะถูกไปตามกันทั้งหมด ถ้าตีความในหมวดปริยัติผิด ก็จะเกิดความเข้าใจผิด และจะเกิดความเห็นผิดความดำริผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติผิด ผลที่เกิดขึ้นก็จะออกมาในทางที่ผิด ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับผลที่ผิดๆ ต่อไป ฉะนั้นจินตามยปัญญา จึงเป็นเข็มทิศชี้ทาง หรือเป็นตัวกำหนดทิศทางในการปฏิบัติ จะปฏิบัติผิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ หรือปฏิบัติถูก ก็ขึ้นอยู่กับจินตามยปัญญาตัวนี้ จินตามยปัญญาเป็นปัญญาที่วิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ในหมวดธรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในหมวดธรรมนั้นได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นจินตามยปัญญาจึงเป็นหลักตีความในปริยัติ หรือเป็นตัวช่วยในปริยัติให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจน
   
   ถ้าจินตามยปัญญาตีความในหลักปริยัติไม่เกิดความกระจ่างชัดเจน จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้นทางของการปฏิบัติก็คือจุดนี้ จะออกไปเป็นสัมมาปฏิบัติก็เริ่มต้นจากจุดนี้ทั้งหมด ฉะนั้นผู้ปฏิบัติภาวนาต้องตั้งหลักไว้ให้ดี ที่เราสวดกันอยู่เสมอว่า สุปฏิปันโน คือการปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโนคือการปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเญยธรรมทั้งหลาย สามีจิปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมอันชอบยิ่ง ถ้าไม่มั่นใจในอุบายการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าอุบายนี้ผิดหรือถูก ถ้ามีความสงสัยลังเล ไม่มีความมั่นใจในอุบายการปฏิบัตินั้น อย่าพึ่งตัดสินใจในการปฏิบัตินั้นเลย เหมือนออกรถ  ถ้าไม่มั่นใจในเส้นทางที่จะไปก็ต้องจอดรถดูแผนที่นั้นให้ดี จนเกิดความมั่นใจในเส้นทางดีแล้วจึงออกรถลงสู่ถนน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น ถ้าปฏิบัติแบบโมเมเรื่อยเปื่อย ไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ เมื่อแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองไม่ได้ก็จะเข้าหาหลวงพ่อหลวงตา นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติผิดได้ถูกได้  ถ้าหลวงพ่อหลวงตายังมีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิดอยู่ เราก็จะได้รับอุบายในการปฏิบัติที่ผิดๆ นั้นต่อไป ถ้าหลวงพ่อหลวงตามีอุบายในการปฏิบัติที่ถูก ก็ถือว่าเรามีความโชคดีไป จะได้รับข้อมูลในอุบายที่ถูกต้อง และปฏิบัติให้ตรงต่อมรรคผลนิพพานได้อย่างแน่นอน
   
   ฉะนั้น สุตตมยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปริยัติ จินตามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ภาวนามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิเวธ  การปฏิบัติต้องจับคู่ให้ถูก ถ้าจับคู่ไม่ถูก การปฏิบัติก็จะเกิดความสับสนลังเล จับต้นชนปลาย เรียกว่าปฏิบัติภาวนาผิดสูตรนั้นเอง เหมือนทำอาหารหวานคาว ถ้าทำผิดสูตรแล้วจะรับประทานไม่ได้เลย เดี๋ยวจับเอาอาหารคาวไปผสมกับอาหารหวาน เดี๋ยวจับเอาอาหารหวานไปผสมกับอาหารคาว รสชาติที่ออกมา ผู้ผสมอาหารเองก็รับประทานไม่ได้ ว่าอาหารสูตรไหนกันแน่ นี้ฉันใด ผู้ภาวนาปฏิบัติ ถ้าตั้งหลักผิดสูตรเมื่อไร การปฏิบัติก็จะไขว้เขวเป๋ไปเป๋มาเดี๋ยวก็หลุดออกจากสัมมาปฏิบัติไปเสีย หรือหลุดเข้าไปสู่ทางตัน ช่องแคบ ถอยหลังก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ได้ นั้นคือมีความติดใจหลงใหลอยู่ในความสงบ เพลิดเพลินอยู่ในฌานนั้นเอง สุตตมยปัญญา เป็นปัญญาภาคการศึกษาในปริยัติ คือหมวดธรรม หมวดวินัย หมวดอภิธรรมให้เข้าใจ หรือจะมีความเข้าใจเฉพาะข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่ง พอที่จะนำมาปฏิบัติได้และปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
   
   จินตามยปัญญา คือการตีความในปริยัติ การวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ และการเลือกเฟ้นธรรมในหมวดปริยัตินั้น เพื่อเอามาเป็นอุบายในการปฏิบัติ การปฏิบัติดี การปฏิบัติตรง การปฏิบัติเพื่อรู้จริงเห็นจริงในเญยธรรม การปฏิบัติชอบยิ่งก็เริ่มจากจุดนี้ จินตามยปัญญาเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ถ้าเลือกเฟ้นหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเองแล้ว ความก้าวหน้าความราบรื่นก็จะไหลเข้าไปสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน จากนั้นก็จะรวมตัวเข้าเป็นภาวนามยปัญญาอันเป็นคู่กันกับปฏิเวธ ดังนี้
   
   ภาวนามยปัญญา ที่เป็นคู่กับปฏิเวธนี้ เป็นหลักนิยตธรรม เป็นปัญญาที่จะตัดสินชี้ขาดจากปุถุชนจะก้าวขึ้นสู่อริยชนก็อยู่ในจุดนี้ ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามี ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็อยู่ในจุดนี้ทั้งหมด ใครจะได้บรรลุธรรมในระดับใด นั้นจะขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละท่าน ผู้สร้างบารมีมาไม่มากนัก ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันไป หรือผู้สร้างบารมีมากขึ้นไปกว่านี้ ก็จะได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีเป็นพระอนาคามีไป ถ้าผู้สร้างบารมีมามากบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสอาสวะยุติการเวียนว่ายเกิดตายในภพทั้งสามนี้ทันที ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ในวิมุตินิพพานตลอดไป ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพียงสมมติพูดกัน กาย เวทนา จิต ธรรม ก็สักว่าไปตามสมมติด้วยกิริยา ตัวอกิริยานั้นได้ปฏิเสธในอัตตาตัวตนและปฏิเสธในสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปแล้ว ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติเมื่อได้บรรลธรรมในขั้นใดระดับใด ผู้นั้นจะเป็นปัจจัตตังรู้ได้เฉพาะตัว ไม่จำเป็นจะไปถามใครๆ และไม่จำเป็นที่จะไปรับคำพยากรณ์จากใครๆ ทั้งสิ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอะไร ใครจะนินทาสรรเสริญอย่างไรก็ให้เป็นไปตามภาษาของโลก จะหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกนินทาว่าร้าย และได้รับความยกย่องสรรเสริญอยู่นั้นเอง
   
   ภาวนามยปัญญานี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เป็นฐานรองรับไว้ดีแล้ว จึงเกิดเป็นภาวนามยปัญญา หรือเรียกว่าวิปัสสนาญาณ ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อประหารลบล้างกิเลสตัณหาโดย เฉพาะ เมื่อวิปัสสนาญาณที่มีความแก่กล้าเต็มที่ พร้อมทั้งบารมีที่สมบูรณ์ ก็จะประหารกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ทั้งหยาบละเอียดให้หมดไปในอาสวักขยญาณได้ใน ชั่วระยะพริบตาเดียวเท่านั้น ฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่เป็นของจริง เมื่อเกิดขึ้นกับใคร จะเป็นนักบวชหรือฆราวาส จะเกิดกับผู้หญิงผู้ชาย ในฐานะอะไร ไม่สำคัญ เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้วกับใครจะไม่มีการเสื่อมสลายไป จะทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจโดยถ่ายเดียว
   
   ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เองที่ผู้ปฏิบัติมีความต้องการอยากให้เกิดขึ้น ผู้สอนในวิธีทำสมาธิเพื่อให้จิตมีความสงบ มีความต้องการให้ปัญญาเกิดเพื่อจะได้ละอาสวะกิเลสให้หมดไปสิ้นไปจากใจ ก็คือ ปัญญาตัวนี้นี่เอง ดังบาลีว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหพฺพลาโหติมหานิสงฺสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิวิมุจฺจติ เสยฺย ทิทํ กามาสวา อวิชฺชาสวา ภวาสวา เมื่อจิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญาขึ้น เมื่อปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละกิเลสทั้งหลายไปได้คือ กามกิเลสทั้งหลาย อวิชชาความไม่รู้จริง ละภพน้อยใหญ่ให้หมดไปจากใจได้ ปัญญาอย่างนี้นี่เองที่ผู้ทำสมาธิต้องการให้เกิดขึ้น ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้เกิดขึ้นจริง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ละอาสวะกิเลสตัณหาได้จริง แต่ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้ไม่ได้เกิดจากสมาธิโดยตรง ปัญญานี้จะเกิดต่อเนื่องมาจากปัญญาในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ปัญญาในการดำริ พิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญา เกิดขึ้นต่อเนื่องในจินตามยปัญญาที่เรียกว่าปัญญาในวิปัสสนา เมื่อปัญญาในวิปัสสนามีความแก่กล้าแล้ว ก็จะเกิดปัญญาวิปัสสนาญาณขึ้น แล้วละอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ส่วนการทำสมาธิให้จิตมีความสงบดีแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้นนั้นไม่จริง เพราะสมาธิเป็นเพียงองค์ประกอบ เสริมปัญญาให้มีกำลังใจได้พิจารณาด้วยปัญญาต่อไปเท่านั้น
   
   การทำสมาธิเป็นเพียงอุบายพักใจให้มีพลัง เมื่อจิตมีพลังจากการทำสมาธิแล้ว เอาพลังที่เกิดจากสมาธินี้ไปเสริมปัญญาที่ฝึกไว้ดีแล้ว ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในสัจธรรม เหมือนถ่านไฟฉายถึงจะมีกำลังไฟอัดแน่นเต็มก้อนอยู่ก็ตาม ถ้าไม่มีสายไฟเชื่อมโยงต่อกับหลอดไฟ หรือหลอดไฟขาดไปเสีย หรือหลอดไฟก็ไม่มีและสายไฟก็ไม่มีเชื่อมโยงต่อกัน จะให้เกิดความสว่างขึ้นเฉพาะถ่านไฟนั้นไม่ได้เลย ผู้ที่ไม่เคยฝึกปัญญามาก่อน หรือไม่มีปัญญาพิจารณาในธรรมมาก่อน กำลังใจที่เกิดขึ้นจากสมาธิจะเอาไปเสริมอะไร ก็เป็นเพียงความสุขใจหดตัวอยู่ในความสงบ หดตัวอยู่ในรูปฌานอรูปฌานเท่านั้นเอง ต้องอ่านประวัติของพระพุทธเจ้าดูบ้าง เมื่อครั้งพระองค์ได้ไปทำสมาธิอยู่กับดาบสทั้งสอง พระองค์ยิ่งมีความสงบในสมาธิเป็นอย่างมาก และมีความชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติทุกรูปแบบ
   
   ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดจากสมาธิแก่พระองค์บ้าง หรือดาบสทั้งสองก็มีความชำนาญในการทำสมาธิ มีความชำนาญในฌานเป็นอย่างมาก ถึงขนาดนั้นปัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ดาบสนั้นเลย ฉะนั้นสมาธิจึงไม่ทำให้เกิดปัญญาแต่อย่างใด เป็นเพียงทำสมาธิเพื่อเอาไปเสริมปัญญาที่มีอยู่เท่านั้น ฐานของปัญญาก็มีอีกฐานหนึ่งที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ฐานของสมาธิก็มีอีกฐานหนึ่ง เรียกว่าสมถกรรมฐาน แต่ละฐานก็ต้องมีอุบายสร้างมาคนละอย่าง แล้วนำมาร่วมกันในการปฏิบัติธรรม เรียกว่าปัญญาเป็นกำลังหนุนสมาธิ สมาธิมีกำลังหนุนปัญญาหรือเรียกว่า ปัญญาอยู่ที่ไหน สมาธิอยู่ในที่นั้น  สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็อยู่ในที่นั้น แต่เป็นสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น จึงเป็นคู่ทำงานร่วมกันกับปัญญาได้ ส่วนสมาธิความสงบจะหมดสิทธิ์ในการใช้ปัญญาทันที