ผู้เขียน หัวข้อ: ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมาได้อย่างไร(จบ)ศาสนา คือความรัก ความเมตตา และการให้อภัย  (อ่าน 1052 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมาได้อย่างไร
(จบ) ศาสนา คือความรัก ความเมตตา และการให้อภัย

พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการพูดกันในหมู่ชาวพุทธบางกลุ่มว่า หากมีพระถูกฆ่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ตอบโต้ด้วยการเผามัสยิด ๑ หลังต่อพระ ๑ รูป ในเรื่องนี้ท่านอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชโช ได้ให้ข้อเตือนใจที่ดีมากว่า “การที่เราจะมาชวนกันไปเผามัสยิดนี่ ผิดศีล ๕ นะ  คนผิดศีล ๕ จะรักษาศาสนาพุทธได้หรือ กระทั่งศีลยังทำลายเลย” พูดอีกอย่างคือ ถ้าศีล ๕ ยังรักษาไม่ได้ จะรักษาพระพุทธศาสนาได้อย่างไร

ถ้าเราจะรักษาศาสนา รักษาความดี รักษาความถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม  ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องด้วย นั่นคือใช้สันติวิธี ถ้าเราต้องการรักษาความสงบสุข หรือต้องการให้ความสงบสุขกลับคืนมา  เราต้องใช้วิธีที่สันติ ถ้าเราต้องการให้ศีลธรรมกลับมา เราต้องใช้วิธีการที่ถูกศีลถูกธรรม นั่นคือ สันติวิธี นี่คือวิธีการที่สอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ  พึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี พึงเอาชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงเอาชนะคนพูดพล่อยด้วยคำสัตย์”

ยิ่งฝ่ายก่อการร้ายใช้ความรุนแรง เราก็ยิ่งต้องใช้สันติวิธี ยิ่งเขาใช้ความมดเท็จ เราก็ยิ่งต้องใช้สัจจะ

เมื่อสี่ปีที่แล้วมีการก่อการร้ายที่ประเทศนอรเวย์ มีคนตายเกือบ ๘๐ คน มือปืนมีคนเดียว เป็นชาวนอรเวย์ เป็นฝ่ายขวาหัวรุนแรง ไม่ใช่มุสลิม เด็กถูกฆ่าตายเกลื่อนเลย แต่ปรากฏว่าเขาถูกจับขึ้นศาล ไม่ได้ถูกยิงทิ้ง  นายกรัฐมนตรีนอรเวย์กล่าวว่า ชายหัวรุนแรงคนนี้ ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย เปิดรับคนต่างศาสนา หรือผู้ลี้ภัย 

เพื่อที่จะตอบโต้กับวิธีการดังกล่าวนายกรัฐมนตรีนอรเวย์บอกว่า “เราจะรับมือกับการโจมตีครั้งนี้ด้วยประชาธิปไตยที่มากกว่าเดิม เปิดกว้างกว่าเดิม และมีมนุษยธรรมยิ่งกว่าเดิม” ยิ่งเขามีความคิดคับแคบ มีความคิดที่ไร้มนุษยธรรมมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องเอาความใจกว้างสู้กับเขา เอามนุษยธรรมสู้กับเขา

อันนี้สอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเขามาด้วยความโกรธ ต้องเอาความไม่โกรธสู้กับเขา  ถ้าเขามาด้วยความเท็จต้องเอาสัจจะสู้กับเขา ถ้าเขามาด้วยความชั่ว ต้องเอาความดีสู้กับเขา  นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมเราควรใช้สันติวิธี และถ้าเป็นไปได้ เราต้องพร้อมที่จะให้อภัย ให้ความรักแม้กระทั่งคนที่เห็นต่างจากเรา แม้กระทั่งคนที่ทำร้ายเราด้วยซ้ำ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีจิตคิดร้ายแม้ในโจรพวกนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา” พระองค์ยังตรัสอีกว่า เมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ควรสำเหนียกว่า “จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้น”

นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐมาก พระองค์เตือนเราว่า พึงมีเมตตา อย่าโกรธเกลียดแม้กระทั่งผู้ที่ทำร้ายเรา นี่เป็นจุดยืนของชาวพุทธ แม้จะทำได้ยาก แต่นี้คือวิธีที่จะเอาชนะความรุนแรง เอาชนะความโกรธ ความเกลียดได้

คานธีกล่าวไว้น่าสนใจมาก “มันเป็นการง่ายที่จะมีไมตรีกับเพื่อนของเรา  แต่การมีไมตรีกับคนที่เป็นศัตรูกับเรา คือหัวใจของศาสนาที่แท้จริง  หากเป็นอื่นไปจากนี้ก็เป็นแค่การทำธุรกิจเท่านั้น"

ในทางธุรกิจนั้น ใครดีกับเรา เราก็ดีตอบ แต่ศาสนาที่แท้จริง ไม่ได้สอนให้ทำดีกับคนที่ดีกับเราเท่านั้น แม้กระทั่งคนที่เป็นศัตรูกับเรา เราก็ควรดีด้วย แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ  เพราะแม้แต่การบรรลุนิพพานซึ่งยากกว่านี้เยอะ ชาวพุทธเราก็ยังเอาพระนิพพานเป็นเป้าหมายของชีวิตได้ ทำไมเราจะทำดีกับคนที่คิดร้ายกับเราไม่ได้

อาตมาคิดว่า ในยุคที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียด การพยายามรักษาใจของเรา ไม่ให้ความโกรธความเกลียดเข้ามาครอบงำ ด้วยการมีสติ ด้วยการมีใจกว้าง รู้เท่าทันความยึดติดถือมั่นในความคิดของเรา พยายามพัฒนาจิตให้มีเมตตาแม้กระทั่งกับคนที่คิดเห็นต่างจากเรา หรือคนที่คิดร้ายเรา รวมทั้งพยายามใช้สันติวิธีเท่าที่เราจะทำได้  เหล่านี้เป็นวิธีการที่ทรงพลังมากในการนำศีลธรรมกลับมาในสังคม ช่วยทำให้ความโกรธ ความเกลียดมลายหายไป หรือลดน้อยถอยลง นี้เป็นวิธีการที่จะช่วยให้สันติสุขกลับคืนมาในสังคม  และในขณะที่สังคมยังไม่สงบสุข อย่างน้อยสันติสุขก็กลับมาสู่ใจของเรา
       
ปุจฉา  :  ถ้าเราต้องอยู่ในสถานการณ์บทบาทสมมุติ ในการฝึกอบรมสันติวิธี ซึ่งมีการลบหลู่และล่วงเกิน ถ้าทุกคนที่ถูกทดสอบมีสติ ไม่ไปทำร้ายผู้ที่เข้ามาลบหลู่ แต่ถ้าบุคคลที่เข้ามาในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นการทดสอบ  แล้วบุคคลนั้นตั้งใจที่จะลบหลู่ และต้องการแสดงออกอย่างนั้นจริงๆ เราควรจะมีขีดจำกัดแค่ไหน และเราจะรักษาสถานการณ์เช่นนั้นไว้ได้อย่างไร เราจะหยุดเขาได้อย่างไร และถ้าเขาไม่ฟังจะทำอย่างไร ถ้าเขาทำต่อไปมากขึ้นๆ เราจะปฏิบัติอย่างไรได้ต่อจากนั้น

วิสัชนา : เรื่องนี้ ท่านอาจารย์พรหมวังโส ท่านเคยเล่าไว้ในหนังสือ ‘ชวนม่วนชื่น’ เล่ม ๒  มีฝรั่งมาถามท่านว่า "ถ้าหากมีคนเอาพระไตรปิฎกมาฉีกแล้วทิ้งลงส้วมท่านจะทำอย่างไร"  ท่านตอบโดยไม่ลังเลว่า "อย่างแรกที่อาตมาจะทำก็คือเรียกช่างประปามา"

อาตมาว่านี้เป็นคำตอบที่สมเหตุสมผลมาก เพราะถ้ามีคนเอาพระไตรปิฎกทิ้งลงส้วม ท่อก็ตันแน่  ต้องไปเรียกช่างประปามา 

ท่านให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะมีคนทำลายพระพุทธรูป เผาวัด หรือฆ่าพระ ก็ไม่สามารถทำลายพุทธศาสนา  ท่านยังบอกอีกว่า การฉีกพระไตรปิฎกทิ้งลงส้วม ไม่ร้ายเท่ากับการทิ้งเมตตาและการให้อภัยลงส้วม  อันหลังนั้นท่านยอมไม่ได้

ศาสนา คือความรัก ความเมตตา การให้อภัย แม้มีวัดเยอะ มีคัมภีร์มากมาย มีคนบวชเป็นเรือนแสน แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม ไม่มีความรัก ไม่มีความเมตตา ไม่มีการให้อภัย ไม่มีการเคารพผู้อื่น มีแต่ความรุนแรง  เมื่อนั้นก็เท่ากับว่าศาสนาถูกทิ้งลงส้วมไปแล้ว

ที่ท่านพูดน่าคิดมาก อาจจะแรงในความรู้สึกของใครหลายคน แต่อาตมาอยากให้คิดต่อว่า เขาฉีกพระไตรปิฎกลงส้วม เพราะอะไร เขาต้องการยั่วยุให้เราโกรธ เราก็ต้องรู้ทันเขา และไม่ยอมที่จะเข้าไปในเกมเขา การที่เราไม่โกรธก็เท่ากับว่า เราชนะเขาแล้ว ใช่ไหม เพราะถ้าเราโกรธ เราก็แพ้เขา  อย่างไรก็ตามอาตมาว่า ในกรณีนี้เราต้องทำมากกว่านี้ คือต้องทั้ง ‘ทำจิต’ และ ‘ทำกิจ’ 

ทำจิตคือไม่โกรธ ไม่เกลียดเขา ทำกิจก็คือ ต้องคุย ต้องเจรจากับเขาว่า เขาทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ต้องการอะไร  ที่สำคัญคือไม่ใช้ความรุนแรงกับเขา 

มีเหตุการณ์หนึ่ง น่าประทับใจมาก ในเกาหลีเมื่อประมาณสองสามร้อยปีก่อน มีกองทัพบุกเข้ายึดเมืองๆ หนึ่งซึ่งเป็นเมืองพุทธ  กองทัพนี้นับถือลัทธิขงจื๊อและเป็นปฏิปักษ์กับพุทธศาสนา ไม่ว่าไปถึงไหนก็เผาทำลายวัดและฆ่าพระ  ดังนั้นเมื่อพระในเมืองนี้รู้ว่าเมืองถูกยึดแล้วจึงพากันแตกตื่นทิ้งวัด  มีเจ้าอาวาสคนเดียวที่ไม่หนี

เมื่อแม่ทัพมาถึง เห็นเจ้าอาวาสยืนอยู่ในวัด ไม่มีทีท่าหวาดกลัว ก็ชักดาบแล้วพูดขึ้นว่า “ท่านรู้ไหมว่า ท่านกำลังยืนอยู่หน้าคนที่สามารถฟันท่านให้ขาดสองท่อนได้โดยไม่กะพริบตา"

เจ้าอาวาสหาได้หวั่นไหวไม่  กลับตอบว่า
“ท่านรู้ไหมว่า ท่านกำลังยืนอยู่หน้าคนที่พร้อมถูกฟันขาดสองท่อนโดยไม่กะพริบตา”
แม่ทัพได้ยินเจ้าอาวาสพูดเช่นนั้น ก็ยอมแพ้  แพ้ใจเจ้าอาวาส เพราะรู้ว่ากำลังเจอคนที่กล้ากว่าเขา ใจถึงกว่าเขา

อาตมาคิดว่า สิ่งที่เจ้าอาวาสทำนั้นสะท้อนถึงหัวใจของพุทธศาสนาเลยทีเดียว นั่นคือไม่โกรธเกลียดคนที่คิดจะทำร้ายตน ยอมให้เขาทำร้ายดีกว่าที่จะโกรธเกลียดเขาหรือตอบโต้เขาด้วยความรุนแรง

มีพระธิเบตองค์หนึ่ง ชื่อลาเซ ริมโปเช เมื่อจีนเข้าไปยึดธิเบตเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ท่านไม่ได้หนี  เนื่องจากท่านเป็นพระผู้ใหญ่ เมื่อไม่ยอมทำตามพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถูกทรมาน ท่านถูกขังถูกทรมานนานนับสิบปี จนกระทั่งท่านได้รับอิสรภาพ ก็ลี้ภัยมาอยู่อินเดีย ตอนนั้นท่านชรามากแล้ว มีนักข่าวไปถามท่านว่า  ตอนที่ถูกคุมขังในธิเบตนั้นท่านกลัวอะไรมากที่สุด

แทนที่ท่านจะพูดถึงการทรมานของทหารจีน  ท่านกลับตอบว่า ท่านกลัวว่าจะโกรธคนที่ทำร้ายท่าน

ทำไมท่านจึงพูดเช่นนั้น  คงเพราะท่านเห็นว่าหากท่านโกรธเขา ท่านก็อาจจะทำร้ายเขาซึ่งเป็นการผิดศีล เป็นบาป  แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลเดียว  อีกเหตุผลหนึ่งที่อาตมาเข้าใจก็คือ  เมื่อท่านถูกทหารจีนทรมาน ตราบใดที่จิตใจท่านเป็นปกติ ไม่โกรธเกลียดเขา  ท่านก็แค่ทุกข์กาย ใจไม่ทุกข์ด้วย  แต่ทันทีที่ท่านโกรธเกลียดเขา  ท่านจะไม่ทุกข์กายเท่านั้น แต่ทุกข์ใจด้วย  ซึ่งอย่างหลังนั้นเลวร้ายกว่าความทุกข์กายมาก

ทำนองเดียวกับคนป่วย ป่วยกายนั้นไม่เท่าไร แต่ป่วยใจนั้นหนักมาก พระพุทธเจ้าสอนว่า ป่วยกาย แต่อย่าให้ป่วยใจ ท่านลาเซก็คงเห็นอย่างนี้เหมือนกันว่า ปวดกาย ไม่เท่ากับปวดใจ การถูกทำร้ายหรือถูกทรมานไม่ถือว่าเลวร้าย เมื่อเทียบกับตอนที่ถูกความโกรธครอบงำ เพราะถ้าเมื่อไรที่โกรธ นั่นแปลว่าแย่แล้ว แย่เพราะว่า จิตย่อมคิดร้าย ซึ่งเป็นบาป ขณะเดียวกัน เมื่อจิตโกรธ ก็เป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ

สรุปก็คือ เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างที่คุณถามมา เราควรทำทั้งสองอย่างร่วมกัน คือทำกิจและทำจิต การทำกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ คือต้องเจรจา ต้องพูด ต้องคุย ต้องใช้สันติวิธียับยั้งการกระทำที่มิชอบของเขา  ในขณะเดียวกันไม่ว่าผลของการเจรจา พูดคุย หรือสันติวิธีจะออกมาเช่นไร เราก็ต้องทำจิตด้วย คือไม่โกรธเกลียดเขา เพราะว่า ศาสนาที่แท้ อย่างที่ท่านอาจารย์พรหมวังโสพูด อยู่ที่ความเมตตากรุณา ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งของ ถึงแม้เรารักษาสิ่งของไว้ได้ เช่น รักษาพระพุทธรูปหรือคัมภีร์ไว้ได้ แต่ถ้าเราทำร้ายเขา ฆ่าเขา ก็เท่ากับว่าศาสนาหายไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็หายไปจากใจของเรา

จาก http://www.visalo.org/article/KomChadLuek590131.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...