ผู้เขียน หัวข้อ: เนื่องในสติปัฏฐาน จาก ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ (เขมานันทะ)  (อ่าน 1004 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


เนื่องในสติปัฏฐาน

เขมานันทะ

สติปัฏฐาน ๔ ที่เริ่มด้วยบทที่ว่า “เห็นกายในกาย” นี้ ตามความเข้าใจของผมคือเห็นกายที่กายนั่นเอง ไม่ใช่เห็นกายในความคิด ไม่ใช่ภาพสะท้อนในความคิด แต่เป็นการเห็นแบบสัมผัส ความหมายส่วนลึกของสติก็คือมีการเห็น ไม่ใช่การคิดเอา ตรงนี้สำคัญ เป็นการแยกแยะว่า วิธีที่เราพูดกันว่ารู้บ้าง เห็นบ้าง คิดบ้าง พิจารณาบ้างนั้น มีหลากหลายมุม แต่ละมุมอาจสร้างปัญหาซ้อนขึ้นมา เช่น การคิดซ้อนคิด อะไรเหล่านี้

สำหรับหลวงพ่อเทียน ท่านพูดคำว่า “รู้” รู้นี้ยังไม่เห็น ตอนรู้ยังอยู่ภายใต้อำนาจของความคิด แม้ความรู้ตัวก็ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของความคิด อันนี้สำคัญ เมื่อเห็นนั้นเห็นโดยอาการ เมื่อรู้นั้นรู้โดยความคิด ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิด ฉะนั้นการปฏิบัติที่รู้ตัวนี้จึงมีปัญหาอยู่ในตัวมันเอง เมื่อเราไม่รู้ตัว คือก่อนนี้เราลืมตัวไปเรื่อยๆ ตามสบาย ตามที่กิเลสชักนำ แต่พอรู้ตัวขึ้นมาก็เกิดปัญหาในตัวมันเอง เพราะเป็นการรู้ภายใต้ความคิด ดังนั้นพอเริ่มรู้ตัวก็เริ่มสร้างปัญหาให้ตัวมันเอง แต่เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การสิ้นปัญหา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เห็นกายในกาย” และอธิบายขยายความว่า เมื่อเธอเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าก็รู้ นี้เราทำความรู้จักง่ายๆ จะนั่งจะลุกในอิริยาบททั้งสี่ก็มีอาการรู้ตัว เหยียดออกคู้เข้านี้ พระที่เรียนกรรมฐานจะเข้าใจดี แต่ประโยคถัดมาคือ “แต่ว่าเธอนั้นถือเอากาย สักแต่ว่าเป็นที่ตั้งของการรู้ เธอนั้นไม่ยินดียินร้ายในโลกทั้งผอง” มีเนื้อความเป็นท่อนๆ อย่างนี้ เนื้อความสามท่อนนี้โดยอรรถนั้นเล็งไปที่การกระทำอย่างเดียวที่เบ็ดเสร็จด้วยองค์คุณเหล่านี้ แต่เมื่ออธิบายตามหลัก เมื่อเคลื่อนมือก็รู้ คู้เข้าก็รู้ ก้มก็รู้ เงยก็รู้ นี่ท่อนหนึ่ง ยังมีองค์คุณอีกด้านหนึ่งคือความรู้สึก แต่ว่าเธอนั้นถือเอากายสักแต่ว่าเป็นที่ตั้งแห่งการรู้ แล้วไม่ยินดียินร้ายต่อโลกทั้งผอง (กามโลก รูปโลก และอรูปโลก)

ทีนี้ย้อนมาดูผู้รู้ท่านหนึ่งคือหลวงพ่อเทียน ท่านบอกให้รู้สึกขณะที่พลิกมือ เคลื่อนมือให้รู้ คู้เข้าให้รู้ แล้วยังไปสู่อิริยาบถย่อย กะพริบตาให้รู้ ก้มหน้าเงยหน้าให้รู้ กลืนน้ำลายให้รู้ พูดให้รู้ เงียบให้รู้ นี่เป็นอิริยาบถย่อยๆ ซอยเข้าไปอีก แม้แต่ความคิดก็เป็นอิริยาบถ เป็นอิริยาบถภายใน เป็นการเคลื่อนไหวภายใน ให้จับอาการเหล่านี้ แต่เนื้อหาก็คือให้รู้ แต่อย่ารู้อะไรตรงนี้ นั่นสอดรับกับเนื้อหาของสติปัฏฐาน ๔ หมายความว่ารู้ แต่เธอนั้นไม่ยินดียินร้ายต่อโลกทั้งผอง คือไม่เอาอะไรจากการรู้เลย ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสู่ภพชาติใดๆ ฉะนั้นกลายเป็นการรู้เฉยๆ ถ้าไปเพ่งเอา คือยกแขนให้รู้ นี้ก็จะติดทันที ไม่ได้ถือเอาร่างกายเป็นเพียงฐานที่ตั้งของการปฏิบัติ แล้วไม่ยินดียินร้าย ความไม่ยินดีไม่ยินร้ายนี้เป็นตัวปลดปล่อย มันจะนำไปสู่สภาพไร้นิมิต สิ้นนิมิต คือรู้ แต่อย่าให้รู้อะไร อย่าให้ซ้อนความคิด ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจตรงนี้ ก็จะเข้าใจทั้งหมดในสติปัฏฐาน ๔

ทีนี้ทำไมถึงต้องเป็นกายานุปัสสนาก่อน ที่จริงจับจิตตานุปัสสนาก็ได้ แต่ว่าถ้าคนยังไม่เห็นความคิด ก็จะพัวพันอยู่กับความคิดตลอด เป็นความคิดของจิต เป็นอาการทางจิต ซึ่งซับซ้อนจนผู้ใส่ใจเกิดความคิดดูหมิ่นดูแคลนต่อการภาวนาเช่นนี้ เช่นการพลิกมือ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความคิด คนที่ยึดติดในความคิดจะเกิดหมิ่นแคลน เพราะอันนี้ไม่เกี่ยวกับความคิดที่เขาอยากจะคิด ดังนั้นกายานุปัสสนาจึงเป็นอุบายเพราะชีวิตปรากฏอยู่ที่ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ ตัวร่างกายเป็นสิ่งใหญ่ที่สุด เห็นได้ง่ายที่สุด ดังนี้เมื่อเริ่มฝึกเจริญสติที่กาย จึงใช้ธรรมชาติของอิริยาบถ ซึ่งพิเศษกว่าสัตว์ประเภทอื่นใด

มนุษย์มีรูปทรงที่กลมกลืนสูง ธรรมชาติได้ทำให้มนุษย์บรรลุความสมบูรณ์ทางด้านอิริยาบถ การฝึกสติบนการเคลื่อนไหวของอิริยาบถทั้งสี่จึงเป็นบาทฐานแรก คือฝึกสติอยู่บนฐานของการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ไม่ใช่อิริยาบถที่นิ่งซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหว

ตามธรรมชาตินั้นมนุษย์นั่งนิ่งไม่ได้ แม้ข้างนอกจะนิ่ง แต่ข้างในเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งหัวใจ ความคิด การนั่งนิ่งเป็นการสวนทางกับธรรมชาติ จริงอยู่มันอาจเสริมสร้างสมรรถนะทางจิตหรือพลังทางจิตได้โดยตั้งเจตนาไว้ แต่มันสวนทางกับธรรมชาติ พลังอันนั้นเป็นพลังที่ผิดธรรมชาติ ต่อให้เหาะได้ก็เป็นการผิดธรรมชาติ ถ้าเข้าใจผิดต่อตัวเองที่สัมพันธ์กับธรรมชาติเพื่อจะควบคุมธรรมชาติ ก็จะแสวงหาพลัง มุ่งเข้าสู่การสะกดตัวเองตามความเชื่อ พยายามให้มันนิ่งลึก ต้านธรรมชาติเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มพลังเท่านั้น แต่ผลกระทบหลังจากนั้นมันอาจตายได้ เพราะว่ามันทำงานหนักแล้วก็น่าเหนื่อย ผลลัพธ์สุดท้ายของผู้ที่แสวงหาพลังเหล่านี้ อาจเสี่ยงต่อการวิกลจริต เจ็บป่วย หรือเสื่อมทราม

ฉะนั้น ทัศนะที่ว่ามนุษย์ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติจึงจะปลอดภัย แม้ในช่วงต้นจะลุ่มๆ ดอนๆ แต่ในบั้นปลายก็จะนำมนุษย์ไปสู่ความกลมกลืนกับธรรมชาติ ถึงคราวอยู่ก็อยู่ ถึงคราวเจ็บป่วยก็ป่วย ถึงคราวตายก็ตาย นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก สตินั้นเป็นธรรมชาติในตัวมนุษย์คือนึกคิดรู้ตัวได้ แต่ถ้าความรู้ตัวนี้ตั้งฐานบนความนิ่งสนิทแล้วแสวงหาพลัง การได้มาซึ่งพลังต้องแลกกับการสูญเสียอะไรบางอย่างที่สำคัญกว่า การรู้ตัวบนฐานของการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่ความกลมกลืนกับธรรมชาติ ย่อมจะอยู่รอดปลอดภัยนับแต่วินาทีที่มันเริ่มเดินทาง

จากการสังเกตคนที่ปฏิบัติสองแนวทางซึ่งเป็นเรื่องสติเหมือนกัน สติที่ตั้งอยู่บนฐานของการนิ่งนั้น พอนิ่งขึ้นมาจะก่อเกิดพลัง แล้วใช้พลังนี้ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ในทางทฤษฎีนั้นน่าจะเป็นไปได้ แต่โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ มันทำให้เราไม่เห็นกระแสความคิด ยังไม่รู้จักอารมณ์ ถูกความคิดครอบงำมาแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มกระทำกรรมทุกชนิด การปฏิบัติธรรมถือเป็นกรรมอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน คือกรรมไม่ดำไม่ขาว

สติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องของการคิดเอา แต่อาศัยความคิดและความรู้ตัวทันท่วงทีต่อการเกิดการคิดหรือการเคลื่อนไหวของอินทรีย์ต่างๆ ไม่ต้องรู้หนังสือสักตัวเดียวก็ได้ ไม่ต้องรู้เลยก็ได้ สัมผัสได้ทางจิต ความรู้สึกตัวนี้แหละไม่จำเป็นต้องมานั่งนึกว่ามันเป็นอนัตตาได้อย่างไรไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จุดนี้ได้โยงมาสู่สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ว่า เมื่อจิตสงบแล้วให้พิจารณาว่ามันไม่เพียงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะมันเป็นอยู่แล้ว เป็นกฎธรรมชาติที่เป็นเองอยู่แล้ว ตรงนี้มาถึงทางแยกที่สำคัญ คือ พิจารณาด้วยความคิด

ทีนี้การพิจารณาที่ลุ่มลึกขึ้นไปคือ นอกเหนือความคิด ความจำเป็นในการพิจารณาหรือท่าทีในการพิจารณาก็เปลี่ยนไป เป็นการเห็นอาการ เมื่อพูดถึงการเห็น การคิดนั้นมันคิดได้ คิดเห็นกับเห็นคิดนั้นต่างกัน เวลาที่เราฟังคำบรรยาย เราคิดเห็นได้ พอคิดก็เห็นเป็นตุเป็นตะ แต่เนื่องจากความคิดเรียกว่า “คิดเห็น” แต่เห็นความคิดนั้นต่างกัน อันนี้ชัดเจน ถ้าคิดเห็นนี้ก็ยังไม่สิ้นสงสัย แต่เห็นคิดนี้ ความสงสัยในกรณีนั้นๆ หักแหลกแล้ว เปรียบดังนั่งร้านที่เราต่อสลับซับซ้อนได้หักแหลกแล้วเกิดการยุบตัว เหมือนเวลาเราอ่านตำรา เราตกอยู่ภายใต้ความคิด เมื่อเราอ่านพุทธประวัตินั้นเต็มไปด้วยข้อคิดเห็นหลายประเด็นทีเดียว พอหักแหลกก็เหมือนกับการชำระสะสาง

พอเห็นอาการทางจิต ตามปกติจิตนั้นซุกซน ชอบคิดอะไรแผลงๆ มีความเคลือบแคลงสงสัย ความสงสัยก็สะท้อนมาจากจิตใจที่ยังลังเล จิตลังเลเพราะว่ายังอยู่ในความคิด พอเห็นความคิด ความลังเลก็หายไป ความสงสัยก็พังเป็นชิ้นๆ รวมไปถึงเรื่องผีสาง เรื่องที่ไม่ได้สัมผัส เราสงสัยอยู่ว่าที่เขาเล่ากันมามันเป็นความเชื่อ พอเห็นความคิดชีวิตก็เปลี่ยนไป เชื่อในสิ่งที่ได้สัมผัส ลืมสิ่งที่นอกเหนือสัมผัสละลิ่วออกไป นี้เป็นบทบาทของการเจริญสติ

ที่จริงเมื่อพูดถึงกายานุปัสสนา มันกินสามอันที่เหลือเบ็ดเสร็จเพราะว่าสติตัวเดียวตั้งอยู่บนฐานอะไร ถ้าเป็นฐานกายที่เคลื่อนไหว สติก็เริ่มปรากฎต่อเนื่องกันขึ้นบนฐานอันนั้น เมื่อเราพูดถึงสติปัฏฐาน ๔ ก็ไม่ได้หมายความว่ามีสติสี่ชนิด มีสติอันเดียวที่ถูกเคี่ยวกรำบนฐานทั้งสี่จนเข็มข้นเป็นสมาธิและปัญญาโดยลำดับ มันเชื่อมโยงตามกระบวนการธรรมชาติ ซึ่งเรามารู้ที่กายก่อน เพราะกายเป็นสิ่งหยาบ เคลื่อนไหวง่าย

ดังนั้นคำแนะนำของหลวงพ่อเทียนที่ว่าให้สร้างจังหวะนี้ จึงเป็นอุบายที่จะไปรู้เห็นจิตใจ ที่จริงธรรมชาติของอิริยาบถนี้เป็นจังหวะอยู่แล้ว เช่น เมื่อเราจะลุกขึ้นยืนนี่นะ ก็มีจังหวะมีขั้นตอนของมัน เช่น ก้าวขาลุกขึ้น ยันกายขึ้น คือจังหวะนี้มีอยู่ แต่เนื่องจากจังหวะนั้น เราทำจนเคยชิน จนกระทั่งเราลืมตัว

ที่แนะนำให้สร้างจังหวะนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจังหวะจะไปฝืนความเคยชินของเรา เราไม่เคยทำจังหวะ เช่นเวลาที่เราปรบมือ จิตสำนึกเราไม่ได้อยู่ที่นี้ อยู่ที่เรื่องตื่นเต้นเร้าใจ เต้นรำหลายจังหวะแต่สติเราไม่ได้อยู่ที่นั่น ถ้าสติอยู่ที่นั่นก็ใช้ได้อยู่ ฉะนั้นการสร้างจังหวะจึงฝืนๆ มันเป็นสิ่งที่แปลก เรามาทำสิ่งที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นสิ่งแปลกที่ง่าย มันทำจิตให้ตื่น เช่นในการเดินถอยหลังนี้ จิตจะตื่นทันที เมื่อเราง่วงๆ บอกให้เดินถอยหลัง จิตก็จะตื่น นั่นเป็นสิ่งแปลกไปจากอิริยาบถเคยชิน ตรงนี้เป็นอุบายสำคัญ อุบายนี้ได้รับการเพิ่มเติมจากกายานุปัสสนานั่นเอง แต่ว่าเป็นอุบายที่สอดรับกับการลงตัว มันลงตัวพอดี

ในพระธรรมบท พระพุทธเจ้าให้พระจูฬปันถกะเอามือลูบฝ้าขี้ริ้วเป็นการสร้างจังหวะ เป็นการแก้อารมณ์อันเนื่องแต่พระจูฬปันถกะดิ่งในสมาธิเกินไป การลูบฝ้าเป็นการถอนจากสมาธิมาสู่สติ ได้ส่วนกับองค์ธรรมอื่น ผลจากการสร้างจังหวะก็คือ จิตตื่นขึ้นกว่าระดับเดิม ระดับเดิมมันเคยชิน มันจะเข้มขึ้นด้วย ตรงที่มันเคลียวติดกับจังหวะ เพราะจิตเป็นผู้ดูอยู่ พอพลิกมือจิตก็เริ่มตื่นตัว เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ไปจากชีวิตประจำวัน นอกจากตื่นตัวแล้ว มันเข้มขึ้นเพราะเคลียวติดกับจังหวะ พอถึงจุดหนึ่งก็ปลดปล่อยทีหนึ่ง

คำว่า “จังหวะ” คือให้เป็นท่อน พอหยุด จิตก็จะหยุดด้วยตรงนี้แหละเป็นเคล็ด ถ้าจะถือว่าเป็นเคล็ดวิชาก็ใช่ ถ้ายกมือมั่วโดยไม่มีการหยุดเป็นจังหวะ จิตก็ตื่น แต่มันไม่เข้มขึ้น พอพลิกจิตมันรู้ พอหยุด ตอนนี้แหละสำคัญ พอมือหยุด จิตหยุด ก็เหมือนกับทั้งโลกหยุดหมด มันกลับเข้าที่ตรงนี้เอง ที่ว่าทุกครั้งที่หยุด กระตุ้นไปที่หัวใจ มันจะวูบ อาการวูบเป็นอาการที่ไม่มีความหมายใดๆ เป็นอาการล้วนๆ ของมัน ตรงนี้สำคัญ พออันนี้เป็นขึ้นมาแล้วมันก็ตายสลับกันอยู่อย่างนี้แหละ มันรับลูกกันเองอย่างต่อเนื่อง แต่มีจุดหยุดทุกครั้งที่หยุดนี่เองมันจะวูบ พอวูบก็เริ่มเข้มขึ้น เข้มขึ้นนี่เป็นเนื้อหาของการเคลื่อนไหว

ใหม่ๆ เราจะเจอปัญหาในเรื่องของการเพ่ง ลูกศิษย์หลวงพ่ออาจหวังดีต่อผู้คนมาก ประกอบกับอุปนิสัยที่จริงจัง จึงแนะนำให้เอาเป็นเอาตายเลย นี่กลายเป็นการเจริญสติแบบเพ่งเล็ง แล้วมันจะเข้าไปสู่ความสงบนิ่งและพิสดาร ฉะนั้นการสร้างสติบนฐานของการเคลื่อนไหวที่ท่านเตือนเสมอว่าอย่านั่งนิ่ง ให้พลิกมือเล่น คือให้มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้แต่การคลึงนิ้วมือเล็กๆ น้อยๆ นี้ ก็มีอานิสงส์เหมือนกับเชือกเส้นเล็กๆ ฟั่นเข้าด้วยกันสามารถล่ามช้างตัวโตๆ ได้ ทำให้จิตไม่มีที่ตั้งที่อิง จิตพอได้ที่อิงมันก็เกิดอีก พอรู้อะไรเข้ามันก็ก่อรูปของความคิดขึ้น ให้มันรู้อะไรไม่ได้ ให้มันรู้สึกตัว เมื่อรู้ตัวบนฐานที่เปลี่ยนแปลง พอรู้สึกแล้วมันจะทิ้งเอง ครั้นนานเข้าแล้วเราก็จะรู้ว่าจิตเริ่มเปลี่ยนท่าที คือรู้อะไรไม่ได้นาน ไม่ติดยึดนั่นเอง พอมันคิดๆ เดี๋ยวมันทิ้งเอง นี่เริ่มอุปนิสัยใหม่แล้ว ล่วงภาวะเดิม พบกับความเปลี่ยนแปลงตามวิถีธรรมชาติอย่างน่าแปลกใจ

สำหรับหมวดที่ว่า “เห็นเวทนาในเวทนา” คือเห็นเวทนาในตัวเวทนานั้นเอง ไม่ใช่ความคิดเกี่ยวกับเวทนา

มีพระอรหันต์รูปหนึ่งได้ตอบคำถามนักบวชนอกพระพุทธศาสนาว่า เวทนามีสามเท่านั้น เกินนี้ไม่มี เมื่อกลับมา พระพุทธเจ้าตำหนิว่าท่านเป็นผู้รู้ แต่ไม่กว้างพอ เพราะบางครั้งก็กล่าวว่าเวทนาเป็นหนึ่ง คือเวทนาทั้งหลายเป็นทุกข์ เวทนา ๓ คือมีสุข มีทุกข์ มีอทุกขมสุข (ไม่สุขไม่ทุกข์ คือเฉยๆ) เวทนา ๕ เติมโสมนัสและโทมนัสเข้าไปด้วยเป็นเวทนาเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ตอบมัดตัวอย่างนี้ เขาจะติได้ว่าสาวกพระโคดมรู้น้อยนิดเดียว
ความรู้สึกสดๆ นี้คือเวทนาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ อาจารย์รุ่นหลังเรียกว่า อุเบกขาเวทนา คนละตัวกับอุเบกขาในฌาน ๔ ซึ่งเป็นอุเบกขาแห่งจิต มีใจความว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปแล้วแต่ปางก่อน (ฌาน๓) มีแต่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ด้วยอำนาจของอุเบกขาเป็นภาวะสมดุลของมันซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเวทนา ทีนี้เมื่อหลวงพ่อแนะให้จับความรู้สึกตัวสดๆ (สวสํเวทนา – ความรู้สึกที่ตัว) ก็จะนำไปสู่ตัวนี้ซึ่งไม่ใช่ตัวเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ความรู้สึกตัวสดๆ จะเดินทาง ในการเคลื่อนไหวด้วยการสร้างจังหวะนั้นจะมีความรู้สึกตัวติดอยู่ในนี้ด้วย ถ้านั่งนิ่งมันจะจม จะไม่ปรากฏอะไรเลย การที่จับความรู้สึกสดๆ ได้ ก็เนื่องจากการสร้างจังหวะ มันสัมพันธ์กันในลักษณะอย่างนี้ เมื่อสร้างจังหวะมากๆ เข้า ความรู้สึกตัวจะเข้มข้นขึ้น ต่อเนื่องกันขึ้น ในที่สุดความรู้สึกตัวทั้งตัวจะปรากฏขึ้นทั้งข้างนอกข้างใน

คนทั่วไปมีความรู้สึกตัวอยู่ แต่ที่รู้สึกไม่ได้ก็ด้วยอำนาจครอบงำของความคิด ความคิดเป็นเหมือนลำธารไหลหลาก ดังนั้นหินในท้องน้ำถึงมีอยู่ก็ไม่ปรากฏ คนทั่วไปคิดอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น พลังแรงของความคิดนั้น คนทั่วไปจะไม่รู้ ที่บอกว่าไม่เห็นคิดอะไรเลย เพราะไม่รู้จักความคิดนั้นเอง

ตราบใดที่เรายังต้องการความสงบอยู่ มันก็เป็นอุปสรรคถ่วงรั้งการรู้เห็นธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ตัวความสงบที่ปราศจากปัญญา คือสงบอยู่ภายใต้โมหะ เหมือนหินทับหญ้าจนงอกงามไม่ได้ การภาวนาในพุทธศาสนาก็เพื่อรู้เห็นตามที่เป็นจริง เราจะเอาความหลอกลวงหรือสภาพพิสดารมาเป็นหลักไม่ได้ เช่น ร่างรู้สึกลอย มันพิสดารแล้วก็ไม่จริง เราต้องมองจากรากฐานความเป็นจริง อะไรที่ผิดจากความจริงอย่าเอา ปฏิบัติอย่างง่ายๆ เพื่อให้พ้นอุปสรรค เพื่อให้มีอุปสรรน้อยที่สุด ไม่จำเป็นต้องรู้บาลีสำหรับนักภาวนา ต่อภายหลังค่อยเรียนเอาได้ เมื่อจับความรู้สึกตัวได้แล้ว ปล่อยให้ธรรมชาติพาไปสู่ที่สุดของธรรมชาติเอง อย่าพยายามสร้างอุปสรรคขึ้น

เราจะกลับไปที่นั่น คือธาตุฐานของความเป็นมนุษย์ โดยไม่ต่อรองว่าเราอยู่ในยุคสมัยใด ปลายทศวรรษที่ ๒๐ (ของพุทธศตวรรษ) นี้ ทิศทางของอารยธรรมเฉออกไปจากความจริงมาก การปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับการปฏิวัติเงียบ มันเข้าไปรู้เห็นสมมติ-ปรมัตถ์ เป็นความรู้สึกจริงแท้ขึ้นมาตามธรรมชาติ พอพบความรู้สึกจริงแท้ก็เหมือนกับการปฏิวัติตัวเอง เป็นการปฏิวัติความรู้สึก จากที่เคยโกรธเป็นไม่โกรธ เคยโลภหลงกลับไม่มีสิ่งเหล่านั้น เราจะพบว่าการปฏิวัติเงียบเป็นพลังเงียบเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงๆ เมื่อพลิกความรู้สึกที่ถูกครอบงำด้วยความคิด จนกระทั่งความรู้สึกตัวอีกด้านหนึ่งพลิกหงายขึ้นมาเหมือนอีกด้านของพระจันทร์ดวงเดิม

แท้ที่จริงธาตุฐานของมนุษย์นั้นเป็นธาตุฐานเดียวกับโลกและจักรวาล ดิน น้ำ ลม ไฟ กระบวนการธาตุอันเดียวกัน จิตที่ตื่นและรู้ตัวเป็นอันเดียวกันที่จะรู้จักความงาม ความสัมพันธ์ ความกลมกลืน ความงามของโลก ความจริงด้านปรมัตถ์ มันไม่ง่ายนักที่จะปรากฏขึ้นสู่การรับรู้ ถ้าความรู้สึกตัวไม่พอก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวโดยแท้ พอเราภาวนาจนมันซึมซาบเข้าไปก็เกิดการหยั่งรู้ ถ้าเก็บสายความรู้สึกตัว ทุกสิ่งรู้ได้ด้วยความรู้สึกตัว สัมผัสด้วยความรู้สึก เช่น ดินนั้นคืออะไรที่หนักๆ แค่นๆ แข็งๆ อาหารของมันนั่นแหละคือดิน น้ำคือสิ่งที่ไหลซึมซาบเอิบอาบ ลมคือสิ่งที่พัดผัน มิใช่เป็นภาพของความคิด อย่างนี้เรียกว่า “หยั่งรู้” เกิดการหยั่งรู้คือสัมผัสแก่นธาตุ ไม่ใช่ความคิดนึก

ทีนี้เลื่อนมาสู่จิต จิตนั้นมีอาการต่างๆ ซึ่งสัมผัสได้ด้วยจิตที่สติถูกบูรณาการแล้ว จิตมีอาการอย่างไร สติก็ทันท่วงทีอย่างนั้น เมื่อจิตแปรรูปปรับเปลี่ยนธาตุต่างๆ เคลื่อนไหวคิด จิตมีอาการอย่างไรก็รู้เห็นโดยอาการนั้นๆ ตามธรรมดาจิตไม่มีรูปร่างสีสัน มีแต่อาการ

ทีนี้เลื่อนมาสู่ธรรมานุปัสสนา เมื่อหยั่งรู้สัมผัสได้ คือสัมผัสอันนั้นเป็นอันนั้น เป็นจิตเป็นใจ เพราะว่าตัวมันเองไม่มีอะไรที่เป็นตัวมันเองเลย มันเข้าถึงไหนก็เป็นอันนั้น สัมผัสอาการแล้วอาการเหล่านั้นชะลอลง ดับลง เราศึกษาอันนี้จนเข้าถึงอาการสุดท้าย คืออาการดับที่เรียกว่า นิโรธ นี่เป็นการสัมผัสอาการทั้งนั้นเลย พอเห็นเรื่องไหนก็ดับเรื่องนั้น หมวดที่เรียกว่า อายตนะ ก็คือเห็นฐานของการเกิด ไม่ใช่เห็นผลของการเกิด เห็นฐานที่มันกระทบกัน ตรงนี้ก็สำคัญ

โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจเป็นบทหนึ่งในเรื่องธรรมมานุปัสสนา เราพบว่านี่ไมใช่ความคิดเชิงทฤษฎี พระพุทธเจ้าตรัสห้ามสับหัวข้อ ทุกข์เหตุให้เกิดทุกข์ ทางดับสนิทแห่งทุกข์ หนทางปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เมื่อพิเคราะห์โดยหลักของเหตุผล เหตุส่งผล โดยหลักของวิชาการก็น่าจะสับหัวข้อใหม่ คือเหตุของทุกข์ต้องมาก่อน ทุกข์จึงเกิด มรรคคือเหตุที่ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์คือนิโรธ โดยหลักวิชาการนั้นเหตุส่งผล พระพุทธเจ้าตรัสว่า สับไม่ได้ เพราะนี่เป็นประสบการณ์ของการหยั่งรู้โดยตรง อริยสัจเป็นประสบการณ์ของการหยั่งรู้ ไม่ใช่ประสบการณ์ของการขบคิด ถ้าเป็นการขบคิด เราต้องคิดถึงเหตุก่อน อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล เหตุแห่งทุกข์คือมนุษย์มีตัณหา ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นทุกข์ นั่นเป็นประสบการณ์แห่งการหยั่งรู้อันเนื่องจากเจริญสติปัฏฐานมาตามลำดับ

เราย้อนกลับไปสำรวจความรู้สึกล้วนๆ อีกแล้ว จากความรู้สึกล้วนๆ ที่มันแปรเป็นความทุกข์ นี่เองที่เกิดการหยั่งรู้ความทุกข์ เพราะว่ามันไม่ใช่ความคิด มันไม่ได้เดินหน้าด้วยความคิดว่าอันนี้เหตุอันนี้ผลในเชิงวิชาการ ความรู้สึกตัวนี้มันนำทางไปเหมือนกับการไปท่องเที่ยวมีพาหะตัวหนึ่งที่นำทางไป คือความรู้สึกตัวล้วนๆ นี้ ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไรก็จะยิ่งสัมผัสทุกข์ได้ก่อนเท่านั้น ก่อนที่จะมานั่งนึกคิดว่ามีเหตุมีทุกข์ด้วยซ้ำไป มันสัมผัสอาการทุกข์ก่อน สภาวะของตัวทุกข์เหมือนเด็กๆ เอามือจับไฟก็รู้ได้ทันทีว่าร้อน เขาไม่มีความคิดล่วงหน้าหรอก แต่รู้ตัวก่อนว่าร้อน ก่อนที่จะรู้ว่าถ้าจับแล้วร้อน อันนี้ไม่มีประสบการณ์เลย สำคัญมาก เพราะความรู้สึกตัวล้วนๆ นั้นเหมือนเด็กทารก ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไรก็ยิ่งรู้ตัวสภาวะนี้อย่างทันทีเท่านั้น ก่อนที่ความคิดจะเข้าไปแทรกว่าอันนี้เป็นเหตุ อันนี้เป็นผล ดังนั้นจึงเรียกว่า “การหยั่งรู้” ไม่ใช่ความคิดนึกเชิงเหตุผล

เราจะพบว่า การเจริญสติปัฏฐานที่ตั้งต้นตั้งแต่การสร้างจังหวะต่อความรู้สึกตัวบนฐานของการเคลื่อนไหว จนกระทั่งมันรวบรวมความรู้สึกตัวล้วนๆ ขึ้นมาได้น่ะ ความรู้สึกอันนั้นมันหนักและทึบอยู่ ยังไม่เบา ยังไม่คลี่คลาย แต่จะค่อยๆ คลี่คลายไปตามวันของการภาวนา การปฏิบัตินั้นทำอย่างเดียว ไม่มีการยกจิต ไม่มีการพิจารณา แต่รู้ตัวเคลื่อนไหวอย่างเดียวเท่านั้น มันเดินทางของมันเอง เพราะการรู้สึกตัวนั้นออกนอกความคิด ถ้ารู้อะไรก็รู้ด้วยการหยั่งรู้ ไม่ได้รู้ด้วยความคิดเจาะจง ทีแรกความคิดนำหน้าคนทั่วไป นักคิดนักวิชาการรู้จักอะไรด้วยการคิด ผลรวมของการรู้จักนี้เป็นความหมาย เป็นสัญลักษณ์ เมื่อเร้าความรู้สึกจนออกหน้าความคิดแล้วก็จะพบกับการเปลี่ยนแปลงต่างเก่าล่วงภาวะเดิม แต่ความคิดนั้นไม่ได้สูญหาย เราไม่ได้ทำลายอินทรียประสาท ดังนั้นความคิดนี้จึงทำความรู้จักทีหลัง สัมผัสด้วยใจด้วยความรู้สึก ความรู้สึกกับใจนี้เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกล้วนๆ เป็นอันเดียวกับใจโดยไม่มีขอบเขต

การหยั่งรู้คือการสัมผัสด้วยจิตใจ ผู้ที่ออกนอกความคิดแล้วเริ่มเรียนรู้โดยการหยั่งรู้ มีชีวิตอยู่ด้วยการใช้ความรู้สึกล้วนๆ เพื่อหยั่งรู้สรรพสิ่ง ไม่ได้มุ่งที่จะสะสมข้อมูลอะไรอีก ความคิดแยกแยะนั้นทำงานย้อนหลัง วิเคราะห์ทีหลัง มันรู้สึกจากการสัมผัสเท่านั้นว่ามีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีความคิดเข้าแทรกนั้นไม่ใช่ แต่พอสัมผัสแล้วค่อยๆ รู้จักทีหลัง เวลาล่วงเลยไประยะหนึ่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น อันนี้เรียกว่า “การหยั่งรู้” ซึ่งปรากฎขึ้นหลังจากรู้จักจิตโดยความเป็นจิต รู้จักจิตที่จิตซึ่งไม่มีภาพลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น อาการของการรู้จักตรงนั้น เดี๋ยวนั้นและฉับพลัน ถ้าไม่ฉับพลัน ความคิดก็แทรกเข้าไปแล้วในวิธีการอันนี้อะไรที่รู้ล่วงหน้ามันไม่จริงทั้งสิ้น

คำสอนของหลวงพ่อเทียนมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ต่อมนุษย์ นำเสนอการปฏิบัติที่ไร้อุปสรรค หมายความว่าไม่ต้องละงาน ไม่ต้องโกนหัวออกบวช แค่เร้าความรู้สึกตัวให้ตื่นขึ้นแล้วก็จะทำลายอุปสรรคต่างๆ เอง คำแนะนำของพระพุทธเจ้าในสติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นความจริงแท้ สะท้อนถึงแหล่งเกิดญาณทัศนะ นั่นเป็นคำตอบว่า รู้แจ้งได้อย่างไร ปลุกชีวิตจิตใจขึ้นให้สว่างไสวได้อย่างไร คำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการเปิดเผยจากใครคนหนึ่งซึ่งไม่รู้หนังสือ ความคิดไม่อาจเปิดเผยความจริงที่อยู่นอกอำนาจของมันได้ พอเราคิดโดยที่ไม่รู้สึกตัว มันก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิด แต่พอเรารู้ตัว ความคิดก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา หมายความว่า เราใช้มันได้ ควบคุมมันได้ เอาชนะมันได้

ฉะนั้นยุทธวิธีในการดำรงอยู่ ให้ใช้ความรู้สึกตัวเป็นตัวนำ แทนที่จะเอาความคิดนำ พอเราคิด เราไม่อาจหลุดพ้นจากอดีตจากแนวโน้มเอียงเก่าๆ ได้ พอเราเข้าใจความคิด เราก็เป็นเหมือนขี้ฝุ่น แล้วแต่ลมจะพัดไปทางไหน สิ่งที่จะนำให้เราเป็นอิสระจากความคิดนี่ เราต้องเข้าใจตรงนี้ว่าเราจะเอาชนะความคิดให้ได้ เพื่อจะควบคุมดูแลแล้วใช้งานมัน ถ้าเราเอาชนะความคิดได้ ทุกครั้งที่มันทำกิจ ทุกครั้งที่มันแปรสภาพ เราจะรู้เห็นอาการนั้นๆ นี่เป็นการเข้าสู่ต้นแบบของตัวเอง กลับไปสู่ความรู้สึกตัว.

จากหนังสือ ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ
เขมานันทะ (หลวงพ่อเทียนที่ข้าพเจ้ารู้จัก)
สนใจปฏิบัติธรรม ติดต่อ

สำนักสงฆ์ถ้ำเขาพระ กระบี่
http://thamkhowpra.blogspot.com/p/blog-page_6784.html

วัดแพร่แสงเทียน แพร่
http://www.buddhayanando.com/category/งานอบรม/

วัดสนามใน
http://www.watsanamnai.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=4

วัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ
http://www.pasukato.org/practice_sukato.html

จาก http://totalawake.com/blog/?p=74

http://totalawake.com/blog/?cat=14&paged=4
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...