ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมบันเทิง : Sing Street ปัญหาชีวิต แก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์  (อ่าน 1419 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ธรรมบันเทิง : Sing Street ปัญหาชีวิต แก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์

 Sing Street กำกับโดย “จอห์น คานีย์” ผู้เคยมีผลงานเรื่อง Begin Again ซึ่ง “ธรรมบันเทิง” เคยนำเสนอข้อคิดดีๆจากภาพยนตร์มาแล้ว และผลงานล่าสุดของผู้กำกับชาวไอริชคนนี้ ยังคงมีแง่คิดน่ามาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้อีกเช่นเคย
       
       เรื่องราวของ Sing Street เกิดขึ้นในกรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ ราว 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ “คอร์เนอร์” เด็กหนุ่มวัย 15 ปี นั่งเล่นกีตาร์อยู่ในห้องนอน โดยมีเสียงทะเลาะของพ่อแม่แว่วเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเริ่มจะคุ้นหูแล้ว
       
       แต่หลังจากนั้น คอร์เนอร์ก็ได้รับข่าวร้ายว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวที่ฝืดเคือง เขาซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กต้องย้ายไปโรงเรียนใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเดิม เขามีพี่ชายชื่อ “เบรนแดน” และพี่สาวชื่อ “แอน”
       
       เหตุที่เป็นข่าวร้ายสำหรับเด็กหนุ่ม เพราะมันไม่ใช่แค่การย้ายโรงเรียนธรรมดา แต่มันเป็นโรงเรียนชายล้วนที่มาตรฐานต่ำ ราวกับเป็นแหล่งรวมตัวแสบทั่วกรุงดับลิน เพียงแค่วันแรกที่ก้าวสู่รั้วโรงเรียน คอร์เนอร์เห็นทั้งเด็กสูบบุหรี่ ชกต่อยกัน โยนสิ่งสกปรกใส่เด็กหน้าใหม่อย่างเขา แถมบรรยากาศในห้องเรียน ก็แทบไม่มีใครใส่ใจเรียน เท่านั้นยังไม่พอ ครูใหญ่ยังเข้มงวดมาก และค่อนข้างใช้อำนาจกับเด็ก
       
       แต่ยังดีที่เมื่อกลับมาบ้าน เขาพอมีบรรยากาศดีๆอยู่บ้าง เมื่อได้นั่งดูโทรทัศน์รายการโปรดกับ “เบรนแดน” พี่ชายที่สนิทสนมกัน เพื่ออัพเดตวงการเพลงทันสมัยจากฝั่งอเมริกา โดยมี “แอน” พี่สาวคนรอง พูดขัดจังหวะอยู่ใกล้ๆ แม้ว่าเธอจะสนใจดนตรีเช่นกัน
       
       แล้ววันหนึ่งเรื่องแย่ๆก็เกิดขึ้นที่โรงเรียน เมื่อ “แบรี่” เด็กเหลือขอ อันธพาลหัวโจกประจำโรงเรียน แย่งช็อกโกแลตจากมือของเด็กหนุ่มน้องใหม่ แถมยังตะบันหน้าเพื่อนใหม่ด้วยความหมั่นไส้ ทำเอาคอร์เนอร์ตาเขียวไปข้าง
       
       เหตุการณ์นั้นอยู่ในสายตาของเด็กชายร่วมรุ่นตัวเล็กชื่อ “ดาเรน” ที่สงสารเห็นใจเด็กใหม่ ดาเรนเป็นเด็กแก่เรียนที่ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง จึงผูกมิตรเป็นคู่หูกับคอร์เนอร์ และในเย็นวันเดียวกัน ระหว่างที่ทั้งคู่ยืนคุยกัน คอร์เนอร์ก็เห็นสาวสวยรายหนึ่ง ในมาดเท่ด้วยเสื้อผ้าแฟชั่นฉูดฉาด แต่งหน้าแต่งตาเข้มคม ดาเรนบอกว่าเธอชื่อ “ราฟีน่า” เป็นสาววัยรุ่นในบ้านเด็กกำพร้าตรงข้ามโรงเรียน รับจ้างทำงานเป็นนางแบบ โดยไม่มีเด็กผู้ชายคนไหนกล้าเข้าไปคุย คอร์เนอร์รู้สึกสนใจขึ้นมาทันทีตั้งแต่แรกเห็น จึงไปขอเบอร์โทรศัพท์ พร้อมหลุดปากบอกว่า กำลังหานางเอกมาเล่นมิวสิควิดีโอของวงตัวเองอยู่
       
       ภารกิจจีบสาวข้ามรุ่นจึงเกิดขึ้น คอร์เนอร์กลับมาปรึกษาดาเรน ว่าจะหาคนที่เล่นดนตรีมาฟอร์มวง เพื่อจะได้เชิญสาวที่แอบปิ๊งมาร่วมงานถ่ายทำมิวสิควิดีโอ ซึ่งก็โชคดีที่เพื่อนตัวเล็กรู้จักคนหลากหลาย อย่างเช่นหนุ่มแว่น ชื่อ “เอมอน” ซึ่งถือเป็นอัจฉริยะทางดนตรี เพราะเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกประเภท ขณะที่คอร์เนอร์ได้แค่แต่งเนื้อร้อง เล่นกีตาร์ และร้องนำ
       
       นอกจากนี้ยังมีสมาชิกอีกราย เป็นเพื่อนผิวสีคนเดียวในโรงเรียน ซึ่งเป็นแผนของดาเรนที่อยากเปิดกว้างด้านความแตกต่างโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ รวมทั้งสมาชิกอีก 2 คน ที่พอเล่นดนตรีได้ มารวมตัวกันจนครบ ภายใต้ชื่อ Sing Street


       
       เพลงแรกที่คอร์เนอร์แต่ง และทดลองอัดเสียงลงในเทปคาสเซ็ท แล้วนำกลับมาให้พี่ชายผู้เชี่ยวชาญดนตรีฟัง คำตอบของเบรนแดน คือ มันห่วยมาก ก่อนจะหยิบแผ่นเสียงเพลงของวงดนตรีเจ๋งๆ ให้น้องชายฟังเพื่อกระตุ้นไอเดียใหม่ๆ
       
       ผลงานเพลงถัดมาจึงค่อยเข้าที่เข้าทาง คอร์เนอร์ได้แรงบันดาลใจจากความชอบราฟีน่ามาแต่งเนื้อหา เติมทำนองดนตรีเด็ดๆโดยฝีมือของเอมอน จนกระทั่งการถ่ายทำมิวสิควิดีโอของวงดนตรีสมัครเล่น ก็เกิดขึ้นได้จริง แม้จะทุลักทุเลไปบ้าง แต่ก็นับเป็นก้าวแรกที่น่าพอใจสำหรับทุกคน
       
       เมื่อมีเพลงแรก ก็มีเพลงที่สองและสามตามมาเรื่อยๆ คอร์เนอร์รู้สึกว่า ดนตรีทำให้ชีวิตเขามีจุดหมายมากขึ้น แต่วันหนึ่งก็เกิดเรื่องแย่ๆในโรงเรียน เมื่อคอร์เนอร์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวงร็อคในยุคนั้น ได้ย้อมผมสีทองตามแฟชั่น และแต่งหน้าสไตล์นักดนตรีไปโรงเรียน ทำให้ไม่สบอารมณ์ของครูใหญ่ และใช้กำลังบังคับให้เขาล้างเครื่องสำอางออก หลังเหตุการณ์นั้น คอร์เนอร์ก็ไม่ได้แต่งหน้าไปโรงเรียนอีก
       
       แต่เขายังไม่หยุดแต่งเพลง และถ่ายทำมิวสิควิดีโอใหม่ๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับราฟีน่า จนกลายเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีชื่อเสียงของโรงเรียน ชนิดที่อันธพาลคู่กรณีไม่กล้ามายุ่งด้วย
       
       ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคอร์เนอร์กับราฟีน่าพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้ววันหนึ่งหญิงสาวก็หายตัวไป ไม่มาเล่นมิวสิควิดีโอตามที่นัดไว้ ที่จริงคอร์เนอร์ก็พอรู้มาบ้าง ว่าสาวที่เขาหมายปองนั้น มีหนุ่มอีกคนที่รักๆเลิกๆกันอยู่ หนุ่มคนนั้น ให้ความหวังเธอว่า จะพาไปลอนดอน เพื่อหาทางเข้าสู่วงการเดินแบบ อันเป็นความฝันที่เธอตั้งเป้าไว้ในชีวิต
       
       แต่สุดท้าย ราฟีน่าก็กลับมาดับลินอย่างหมดอาลัยในชีวิต พร้อมเรียนรู้ว่ามันกลายเป็นฝันลมๆแล้งๆ ที่หนุ่มคนนั้นหลอกเธอ
       
       ส่วนคอร์เนอร์นั้นดูเหมือนอกหัก แถมยังมีเรื่องวิกฤตที่สุด คือ แม่ของเขาแอบมีสัมพันธ์กับเจ้านาย และชีวิตคู่ของพ่อแม่ก็ใกล้ถึงจุดจบ พี่ชายถึงกับสติแตก ทำลายข้าวของ เพื่อระบายอารมณ์กับเรื่องที่เกิดขึ้น
       
       ถึงจะมีเรื่องแย่ๆแค่ไหน แต่คอร์เนอร์ก็ไม่มีเวลาเสียใจฟูมฟาย เขากลับนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งความรัก ความผิดหวัง หรือความหวังใดๆก็ตาม มาเขียนเป็นบทเพลงใหม่ๆ ที่จะนำไปเล่นเปิดตัววง Sing Street อย่างเป็นทางการในคอนเสิร์ตใหญ่ของโรงเรียน ขณะเดียวกัน ยังอัดเพลงเหล่านั้นลงแผ่นเสียง ด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง
       
       ก่อนถึงวันสำคัญ คอร์เนอร์พร้อมดาเรนเพื่อนซี้ ไปตามแบรี่จอมเกเรที่มีร่างกายแข็งแรง เพื่อชวนมาร่วมวง ในตำแหน่งช่วยยกอุปกรณ์ดนตรี ช่วยป้องกันคนที่จะมาก่อกวนระหว่างการเล่นคอนเสิร์ต ในที่สุดแบรี่ก็ตอบตกลง
       
       แล้วในค่ำคืนของคอนเสิร์ต วง Sing Street ก็สร้างความประทับใจ และได้รับการต้อนรับอย่างดี เมื่อคอนเสิร์ตจบลง คอร์เนอร์ชวนราฟีน่ากลับบ้าน เพื่อขอความช่วยเหลือจากเบรนแดน ให้ช่วยขับรถไปส่งที่ท่าเรือ (ครอบครัวของคอร์เนอร์ มีเรือสปีดลำเล็กๆ ของคุณปู่ ที่เขาขับไปเที่ยวอยู่บ่อยๆ) เพื่อลงเรือ พร้อมกับแผ่นเสียงบทเพลงของวง Sing Street ที่จะนำไปเสนอค่ายเพลงที่ลอนดอน พร้อมชวนราฟีน่านำผลงานมิวสิควิดีโอที่เคยถ่ายด้วยกัน ไปเสนอค่ายนางแบบ แล้วเรือลำน้อยก็แล่นฝ่าคลื่นลมออกสู่น่านน้ำใหญ่ เพื่อไปตามความฝันของเด็กหนุ่ม
       
       ภาพยนตร์จบลงตรงนี้ พร้อมฝากข้อคิดดีๆไว้มากมาย โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่องอย่างคอร์เนอร์นั้น นับเป็นต้นแบบที่วัยรุ่นทุกคนควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เพราะตลอดเรื่องนี้เด็กหนุ่มได้รับผลกระทบทางใจมาก โดนครูทำร้ายร่างกาย ผิดหวังในความรัก โดนเพื่อนข่มเหง และครอบครัวแตกแยก
       
       แต่สิ่งที่เขาเลือกทำ คือ การสร้างสรรค์สิ่งดีจากความสามารถของตน ไม่มีช่วงใดที่เขาแสดงออกหรือแสดงพฤติกรรมที่เป็นผลร้ายกับผู้อื่น ซึ่งคล้ายกับสามารถควบคุม “กิเลส” ต่างๆในจิตได้เป็นอย่างดี
       
      กิเลสทางพุทธศาสนานั้น มีมากมายถึง 10 ประเภท ซึ่งหากเปรียบกรณีของตัวเอกในภาพยนตร์ เขาสามารถคุมอารมณ์กดกิเลสร้ายไว้ได้ อันได้แก่ โทสะ : ความโมโห ความไม่พอใจ (ไม่เคยตอบโต้เพื่อนที่มารังแก) อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน (เจอเรื่องแย่ๆมา ก็ไม่หมดหวัง เสียใจ) ถีนะ : ความหดหู่ (เปลี่ยนเรื่องเศร้าๆในชีวิต มาเป็นบทเพลง)
       
       อยากบอกว่า แม้ในวันที่เราประสบปัญหาแย่ๆเพียงใด สุดท้ายแล้วหากรู้จักควบคุมกิเลสตัวร้ายในใจตนได้ แล้วค่อยๆ หาทางออกด้วยสติปัญญา ย่อมให้ผลดีแก่ชีวิตเสมอ
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)

จาก http://astv.mobi/AIhdP7h

<a href="https://www.youtube.com/v/5eg-rQ8Cg24" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/5eg-rQ8Cg24</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...