ผู้เขียน หัวข้อ: 'ในหลวง' ในความทรงจำ ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ที่มาของเพลง 'หุบกะพง'  (อ่าน 1165 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
<a href="https://www.youtube.com/v/o8o2S_BszIA" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/o8o2S_BszIA</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/CYD-ZoE7I5I" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/CYD-ZoE7I5I</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/rRJQwOK1Rpw" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/rRJQwOK1Rpw</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/9mDn_YW2DxY" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/9mDn_YW2DxY</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/3_SDtAlN1Ic" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/3_SDtAlN1Ic</a>

'ในหลวง' ในความทรงจำ ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ที่มาของเพลง 'หุบกะพง'

“ไข่ มาลีฮวนน่า” สุดภูมิใจ มีรายชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ที่หุบกะพง ที่มีโฉนดที่ดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    เป็นศิลปินเพื่อชีวิตระดับตำนานของเมืองไทย สำหรับ “ไข่ มาลีฮวนน่า”หรือ อ.คฑาวุธ ทองไทย แต่อีกหนึ่งสถานะของ อ.ไข่ คือการเป็นพสกนิกรที่ใช้ชีวิตอยู่หุบกะพง จ.เพชรบุรี ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงทำให้ทะเลทรายอันแล้งแค้นที่หุบกะพงกลับมีชีวิตขึ้นมา จนเป็นที่มาของเพลง “หุบกะพง”

    โดย ไข่ มาลีฮวนน่า เปิดใจทุกถ้อยคำกับ“บันเทิง คม ชัด ลึก” ถึงพระบารมีอันหาที่สุดไม่ได้ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย และมนุษยชาติ

    “ก่อนอื่นต้องบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่คนของตัวเองเรียกประเทศว่าบ้าน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่เรียกพระมหากษัตริย์ของตัวเองว่าพ่อ นั่นบ่งบอกให้รู้ถึงความผูกพันของบ้านเรา ซึ่งเป็นบ้านขนาดใหญ่ที่เรียกว่าประเทศไทย เหตุที่เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพ่อ เรียกประเทศว่าบ้าน เพราะพ่อของเราทรงทำให้ลูกมากมายมหาศาลเหลือเกินตลอด 70 ปีของพ่อ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นโครงการแรกของพระองค์ท่าน ตอนที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นต้นแบบให้แก่โครงการพระราชดำริที่ตามมาอีีก 3-4 พันโครงการ ซึ่งมีค่าและมีประโยชน์มากมายเหลือเกิน ต่อลูกหลานไทย”

    พระองค์ท่านสอนให้รู้ถึงธรรมชาติ ธรรมชาติประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ท่านมาซ่อมเสริม ซ่อมบำรุง ดินไม่ดี ท่านก็บำรุงดิน น้ำไม่มี ท่านก็ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่เรียกลม เรียกฝนได้ ด้วยการทำฝนหลวงฝนเทียม น้ำไม่ดี ท่านก็ทำกังหันชัยพัฒนา หุบกะพงยิ่งใหญ่มาก อย่างที่เราเรียนมาตอนเด็กๆ ว่า พื้นที่นี้เป็นทะเลทรายของประเทศไทย เพราะอยู่ในพื้นที่ดินเป็นทราย ห่างจากถนนหลวงมาแค่ 7-8 กิโลเมตรเอง แต่กลับแห้งแล้งมาก พระองค์ท่านเสด็จฯ มาเมื่อปี 2507 เข้ามาที่นี่ แล้วก็เอาองค์ความรู้จากอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่แห้งแล้ง ที่ทำโครงการปลูกต้นไม้ได้ มีน้ำได้จนสำเร็จ เข้ามาร่วม



    พระองค์ท่านเอาอาชีพเข้ามา พระองค์ท่านนำสหกรณ์เข้ามาให้ชาวบ้านได้ถือหุ้น มีต้นป่านศรนารายณ์ ที่ปลูกในพื้นที่ดินปนทรายได้ มีหญ้าแฝก มีอ่างเก็บน้ำหุบกะพง ที่เป็นเขื่อน เป็นแอ่งน้ำแห่งแรก เพราะฉะนั้นโครงการหุบกะพงจึงเป็นโครงการที่สำคัญที่เป็นต้นแบบครั้งแรก ที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา 

    พระองค์ท่านเก่งทุกอย่างไม่ใช่แค่เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ แม้แต่เรื่องวิจิตรศิลป์ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ อีกทั้งกีฬา ทุกประเภทเลย พระองค์ท่านทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เป็นแบบอย่างที่ดีที่งามให้แก่ลูกหลานไทย ให้ได้เห็นให้ประจักษ์” นักร้องชื่อดังกล่าว

    จากนั้น “ไข่ มาลีฮวนน่า” เล่าถึงความภูมิใจในฐานะเป็นคนในหุบกะพง เพราะมีโฉนด มีรายชื่อ มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ที่หุบกะพง แล้วหุบกะพงมีโฉลดที่ดินที่มีชื่่อของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คนถึงเรียกหุบกะพงว่า เป็นแผ่นดินของพระราชา ในหลวงทรงทำทุกอย่างให้ลูกหลานไทยต่อเนื่องมา

    “เพลง “หุบกะพง” เป็นเพลงที่ผมร้อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงทำให้หมู่บ้านเล็กๆ ที่แห้งแล้งอย่างหุบกะพง ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นเพลงที่ผมภาคภูมิใจที่สุดในชีิวิตของการเป็นศิลปิน เพราะได้เผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ผมรัก เคารพและเทิดทูน

    หุบกะพงในเพลง บอกถึงเรื่องราวในตำบลเล็กๆ ในตำบลเล็กๆ นี้ก็เหมือนตำบลต่างๆ ทั่วเมืองไทย ที่ต่างมีความหลากหลายเรื่องของภูมิประเทศและภูมิอากาศ ที่พระองค์ท่านไปปรับปรุง ทางนราธิวาส สุคิริน พระองค์ท่านก็ไปทำโรงงานพลังไฟฟ้า ทางอีสานเป็นยังไง ทางเหนือเป็นยังไง พระองค์ท่านก็ไปปรับปรุง พระองค์ท่านในความทรงจำของผม คือมีกล้องสะพาย และทรงถือแผนที่ แล้วก็ออกเดินบุกลุยน้ำ ลุยป่า ลุยภู ลุยดอย เหงื่อพระเสโทของพระองค์ท่านรดลงดินตลอดเวลา พระองค์ท่านเหยียบแผ่นดินไทยเรียกได้ว่าทุกตารางนิ้ว พระองค์เป็นนักแผนที่ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย โครงการต่างๆ ของพระองค์ท่านมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติมาก เป็นที่ยอมรับของผู้นำชาวโลกตลอดมา



    เศรษฐกิจพอเพียงในยุคที่คนไทยอยากจะเป็นแบบตะวันตก พระองค์ท่านบอกไม่ต้องเป็นหรอก เป็นอย่างเรานี่แหละ พระองค์ทรงรู้ว่า ถ้าเราเป็นแบบนั้น เราจะสูญเสีย และในที่สุดก็ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกน้อมนำไปใช้ได้จริง คำว่าพอเพียง เริ่มจากตัวเราก่อน สิ่งที่พระองค์ท่านทำทั้งหมดแค่ลูกหลานไทยน้อมนำเข้ามาใช้ชีวิตของตัวเอง จากหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัว แล้วไปใช้ต่อยังหน่วยใหญ่ๆ ระดับมหภาค เกษตรทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางรอดของมนุษยชาติ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นแค่หมู่บ้านเล็กๆ อย่างหุบกะพง สามารถขยายไปได้ถึงโลกทั้งใบเลย สิ่งที่พระองค์ท่านทำ มีประโยชน์มาก

    พวกเราโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดในยุคสมัยของมหาราชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะมี ไม่ทรงใช้อาวุธไปฆ่า ไปประหัตประหารใคร แต่ท่านทำสงครามกับความยากจน ซึ่งความยากจนนี้ ไม่ได้มีเฉพาะที่หุบกะพง ไม่ได้มีเฉพาะในตำบลทางเหนือและทางอีสาน หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตะวันออกตะวันตก แต่มีทุกหมู่บ้านของโลกใบนี้ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่มีความพอเพียงในเรื่องกิเลส ต้องกลับมาพอเพียงด้วยตัวเองก่อน นี่คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน"  นักร้องเพื่อชีวิตชื่อดังเผย

    ไข่ มาลีฮวนน่า เปิดเผยอีกว่าในหลวงทรงทำสิ่งดีๆ มากมายให้แก่ลูกหลานไทยของพระองค์ท่าน ให้น้อมนำและตามรอยของในหลวง

    “พระองค์ท่านทำงานหนักมาก พระองค์ท่านมีห้องทดลองอยู่ที่สวนจิตรลดา ทดลองทุกอย่างซ้ำๆ จนสำเร็จ และเอาสิ่งที่พระองค์ทรงทดลองออกมาให้ลูกหลานไทยได้ใช้ประโยชน์กัน พระองค์ท่านทรงใช้ชีวิตสามัญที่สุด ธรรมดาที่สุด ทรงไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์หรือมงกุฎทอง แต่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ออกจากพระราชวัง ที่ของพระองค์ท่านคือที่ที่ประชาชนอยู่ อย่างที่มีคนเล่าว่า ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน พระองค์ท่านก็บอกว่า ถ้าประชาชนไม่ทิ้งพระองค์ท่าน พระองค์ก็ทรงจะอยู่กับพวกเรา เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมนี่แหละ ยืนยันมาแล้วว่า ที่สุด พวกเราโชคดีแล้ว คนไทยคือคนที่โชคดีที่สุดแล้ว ที่ได้เป็นข้ารองพระบาทของพระองค์ท่าน" อ.ไข่เผย

    นักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังกล่าวปิดท้ายถึงความรู้สึกที่ได้ทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ตั้งแต่คืนวันที่ 13 ตุลาคม จนถึงตอนนี้ ต้องสะกดความรู้สึกเศร้าเสียใจที่มันแน่นอยู่ในอกไว้ เหมือนสปริงใหญ่ๆ เหมือนกับเขื่อน เขาไม่อยากที่จะให้เขื่อนความเสียใจแตกออกมา เป็นความเสียใจที่สุดๆ ในชีวิตของเขา โดยไม่มีคำพูดที่จะบรรยายความรู้สึกนี้เลย ต้องพยายามสะกดกั้น

    “สิ่งที่ต้องทำ คือการเดินรอยตามที่พระองค์ท่านทรงสอนทุกๆ อย่างเอามาใช้ในชีวิตจริงให้ได้ การรู้จักหน้าที่ เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ความเพียร การอดออม ทุกอย่างที่พระองค์ท่านทรงสอน เอามาใช้ในชีวิตของตัวผมเอง พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับอานนท์ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา อานนท์อย่าเสียใจไปเลย เรายังอยู่ในน้ำ ในใบไม้ ในอากาศในลม เฉกเช่นเดียวกัน แค่เราน้อมนำคำสอนของพ่อมาใช้สักอย่างเดียว แค่นั้นความรู้สึกเราก็จะรู้สึกว่าท่านยังอยู่กับเรา ไม่ไปไหน” อ.ไข่ กล่าวปิดท้าย





จาก http://www.komchadluek.com/news/ent/247195
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

ออกจากวังไกลกังวลในฉลองพระองค์สบายๆโดยไม่มีผู้ติดตาม

“หุบกะพง” ชีวิตแตกต่างจากวันบุกเบิกราวฟ้ากับดิน ผลิตตั้งแต่ไวน์ถึงไข่เค็ม! จากบ้านไม้ไผ่กลายเป็นตึก!!

  “หุบกะพง” ที่เราๆได้ยินชื่อนี้กันมากว่า ๕๐ ปีแล้ว เป็นโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ ที่ทรงช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยากแสนเข็ญ จนมีโอกาสเงยหน้าอ้าปาก ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมากใน จนเป็นโครงการตัวอย่างที่เกษตรกรทั่วประเทศมาดูกันไม่ขาดสาย และราษฎรที่เข้าบุกเบิกโดยปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่อยู่อาศัย กลายมาอยู่ตึกกันเป็นแถว
      
       ที่มาของโครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรในท้องที่ใกล้เคียง ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักในอำเภอชะอำกลุ่มหนึ่ง จำนวน ๘๓ ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพ จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืมไปลงทุนเป็นจำนวนเงิน ๓ แสนบาท
      
       แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดนำเงินที่กู้ยืมไปถวายคืนแม้แต่รายเดียว ความได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่า เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เช่าที่ของกรมประชาสงเคราะห์เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน ๒ ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรเหล่านั้น ซึ่งได้ข้อสรุปที่บริเวณหุบกะพง ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ด้วยเหตุผลว่า ที่ดินบริเวณนี้เป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่การทำมาหากินไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลวขาดแคลนน้ำ และเมื่อรัฐบาลอิสราเอลซึ่งมีประสบการณ์ด้านปลูกพืชบนพื้นทราย ได้ทราบพระราชประสงค์ จึงขออาสาร่วมโครงการด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
      
       โครงการนี้จึงได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี ใช้ชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)” คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และกระทรวงเกษตร ร่วมมือกันเป็นเจ้าของเรื่อง
      
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริให้กันพื้นที่จำนวน ๑๒,๐๗๙ ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เพื่อพัฒนาจัดทำระบบน้ำแล้วจัดสรรให้ราษฎรผู้เดือดร้อนจากไม่มีที่ทำกิน เข้าอยู่อาศัยและทำกินต่อไป
      
       หลังจากนั้นหลายหน่วยงานได้ร่วมกันเข้าดำเนินการ จัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และสำรวจแหล่งเก็บกักน้ำและดิน ตลอดจนสำรวจแหล่งน้ำใต้ดิน มีการขุดเจาะพบน้ำบาดาล แต่มีปริมาณน้อย จากการสำรวจปรากฏว่าดินส่วนใหญ่มีคุณภาพเลวประมาณ ๖,๕๐๐ ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นดินเลวปนดีพอที่จะทำกสิกรรมได้บ้าง
      
       เมื่อได้มีการพัฒนาที่ดินและจัดระบบชลประทานในพื้นที่ ๕๐๐ ไร่แล้ว ได้ตั้งเป็นศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร อพยพเกษตรกรเพียง ๒ ครอบครัวมาก่อน ครอบครัวหนึ่งเป็นเกษตรกรสวนผักชะอำซึ่งได้ขอพระบรมราชานุเคราะห์เป็นรายแรก กับอีกครอบครัวหนึ่งเป็นเกษตรกรเดิมที่อาศัยทำกินในเขตโครงการมาก่อน โดยจัดที่ดินให้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ ให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน ๗ ไร่ อีก ๑๘ ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ มีหน่วยงานราชการเป็นผู้วางแผนการปลูก และกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติให้เกษตรกร ๒ ครอบครัวกู้ยืมเงินเป็นทุน ครอบครัวละ ๑๐,๐๐๐ บาทโดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้เพื่อหาข้อมูลทางด้านต่างๆ เช่น ในด้านรายได้ รายจ่าย ความเหมาะสมของการใช้แรงงานในครัวเรือนกับขนาดของพื้นที่ที่จัดให้ ตลอดจนการจัดบริการในด้านสินเชื่อและการตลาด รวมทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ปัญหาด้านสังคมของเกษตรกร สำหรับใช้ในการประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพื่ออพยพครอบครัวของเกษตรกรที่เหลือเข้ามาอยู่ต่อไป
      
       เมื่อครบรอบปีการผลิต เกษตรกรทั้ง ๒ ครอบครัว สามารถใช้หนี้คืนกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้ และยังมีเงินเหลือเป็นทุนสำรองสำหรับประกอบอาชีพในปีต่อไปอีก
      
       เมื่อได้รับข้อมูลจากครอบครัวเกษตรกรตัวอย่างทั้ง ๒ ครอบครัวแล้ว ในปี ๒๕๑๑ จึงอพยพครอบครัวเกษตรกรที่เหลืออีก ๘๒ ครอบครัว และเกษตรกรที่ทำกินอยู่เดิมอีก ๔๖ ครอบครัว เข้าอาศัยในพื้นที่ที่จัดสรรให้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ โดยโครงการได้ให้กู้ยืมเงินครอบครัวละ ๖,๐๐๐ บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านเรือน ๑,๕๐๐ บาท ส่วนที่เหลืออีก ๔,๕๐๐ บาทเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุการเกษตร และค่าใช้จ่ายในครอบครัว ในปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๖
      
       การอพยพครอบครัวเกษตรกรเหล่านี้ ได้จัดให้สร้างที่อยู่อาศัยรวมเป็นหมู่บ้าน โดยมีทางราชการคอยช่วยเหลือแนะนำการบริหารงานหมู่บ้าน ขณะเดียวกันให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับวิธีการของสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงให้เข้าชื่อกันขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์ กับได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน ๓ ฉบับ รวมพื้นที่ ๑๒,๐๗๙ ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา ให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ
      
       ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ณ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ว่า
      
       “...ส่วนที่สำคัญก็ขอย้ำและถ้าทุกคนทำ การเปรียบเทียบสหกรณ์กับร่างกายของตัว แต่ละคน มีคนมีความต้องการ มีความจำเป็นที่จะทำให้ส่วนต่างๆของร่างกายของตัวช่วยกันทำ เห็นได้ขัด รู้ได้ดีว่า ถ้าส่วนใดของร่างกายเดือดร้อน ทั้งร่างก็เดือดร้อน ถ้าขาไม่ดีเดินไปไหนไม่ได้ งานก็ทำไม่ได้ แม้แขนจะแข็งแรงก็ทำยาก ฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนในสหกรณ์พยายาม ถ้าสงสัยเมื่อใดก็ดูที่ร่างกายของตัว ให้ทุกคนพยายามทำหน้าที่ของตัวให้ปรองดองกัน....ก็คือตัวมีความคิดอย่างหนึ่ง ก็บอกความคิดของตัวและยอมฟังความคิดของอีกคนหนึ่ง ถ้าไม่สามารถที่จะปรองดองกันระหว่างสองคน ก็หาอีกคนมาให้ฟังข้อคิดของแต่ละคน และอธิบายกันว่าทำไมมีความคิดอย่างนั้น ถ้าขัดกันจริงๆก็ต้องหาทางที่จะปรองดองจนได้ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งจะชนะ หรือคนหนึ่งจะแพ้ ต่างคนต่างชนะถ้าปรองดองกัน ถ้าไม่ปรองดองกัน ต่างคนต่างจะแพ้ ความแพ้ชนะนี้ ถ้าจะเอาแต่ชนะ มันก็ต้องมีแพ้ แต่ถ้าเราปรองดองกัน มีแต่ชนะไม่มีแพ้ ถ้าเราทะเลาะกันมีแต่แพ้.....ก็ขอให้ทุกคน เมื่อมีปัญหาอะไร กลับมาดูร่างกายของตัวว่า ต้องปรองดองอย่างไรสำหรับให้แข็งแรง ให้มีความสุข แล้วนึกถึงสหกรณ์ว่าจะต้องปรองดองกัน ช่วยกันสร้าง ทำให้สหกรณ์แข็งแรงมีความก้าวหน้า เมื่อสหกรณ์ก้าวหน้าแข็งแรง แต่ละคนที่เป็นสมาชิกก็มีความสุข มีความภูมิใจได้ว่าสร้างตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนจงอย่าลืมและระลึกอยู่เสมอ คิดอยู่เสมอ ในความสำคัญของการมีความสามัคคี มีความขยันหมั่นเพียร มีความปรองดองกันดี”
      
       ต่อมาในปี ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยมเยียนสมาชิกในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง สมเด็จพระราชินี ทรงเห็นว่าในพื้นที่หุบกะพง มีต้นป่านศรนารายณ์ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก หากได้รับการส่งเสริมฝึกอบรมให้ราษฎรมีความรู้ด้านจักสานป่านแล้ว จะทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง จึงทรงแนะนำให้แม่บ้านนำเส้นใยป่านศรนารายณ์มาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆออกสู่ตลาด โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้ว ทำในรูปแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน
      
       สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง มีกลุ่มสตรีในสังกัด ๖ กลุ่ม คือ
       ๑. กลุ่มสตรีสหกรณ์สาขาศิลปาชีพป่านศรนารายณ์
       ๒. กลุ่มสตรีสหกรณ์สาขาแปรรูปน้ำผลไม้
       ๓. กลุ่มหุบกะพงไวน์ไทย
       ๔. กลุ่มสตรีสหกรณ์สาขาทำขนม
       ๕. กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน
       ๖. กลุ่มเยาวชนสหกรณ์พัฒนา (หุบกะพงไข่เค็ม)
      
       ผลิตผลของสมาชิกสหกรณ์หุบกะพง จึงมีตั้งแต่ไวน์จนถึงไข่เค็ม
      
       ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทกับเหล่าสมาชิกสหกรณ์ว่า
      
       “...อย่างที่เคยบอกเอาไว้เมื่อประมาณสิบปี สิบห้าปีมาแล้วว่า เริ่มต้นอย่างไร บ้านเป็นไม้ไผ่ พื้นเป็นดินธรรมดา ต่อไปเราจะมีบ้านเป็นไม้กระดาน เราจะมีพื้นเป็นซีเมนต์ เป็นคอนกรีต แล้วต่อไปเราก็คงมีบ้านเป็นตึกได้อย่างดี เรื่องบ้านเป็นไม้ไผ่ หรือเป็นตึก หรือว่าเป็นอิฐนั้น เป็นสิ่งภายนอก แต่เป็นสิ่งแสดงให้เราเห็นว่าเรามีความเจริญขึ้น และความเจริญนี้สร้างด้วยความตั้งใจ สร้างด้วยความขยัน สร้างด้วยความสามัคคีของเหล่าสมาชิก สร้างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความสุจริตใจ...”
      
       ในวันนี้ โครงการพระราชประสงค์หุบกะพงเริ่มมาครบ ๕๐ ปีแล้ว ขับรถวนเข้าไปดู แม้แต่ตามซอย ก็หาบ้านไม้ไผ่ไม่พบแล้ว หลายหลังก็เป็นตึกในระดับโอ่อ่า ทั้งโครงการเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ ไม่มีแผ่นดินกันดารแห้งแล้งจนต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลมาช่วย แต่ชุ่มชื่นไปด้วยน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ชีวิตของเกษตรกรที่นี่ แตกต่างจากวันที่เริ่มมาบุกเบิกราวฟ้ากับดิน
      
       คุณฉวีวรรณ ดวงวิเชียร ลูกจ้างประจำคนหนึ่งของศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เล่าความหลังให้ฟังว่า ได้เข้ามาอยู่ในโครงการหุบกะพงกับครอบครัวตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ ยุคแรกของหุบกะพงปลูกหน่อไม้ฝรั่งกันมาก และปลูกได้คุณภาพดี จึงมีครัวการบินไทยเป็นตลาดรองรับ นักท่องเที่ยวก็เข้ามาซื้อผลิตผลของโครงการกันมาก ไม่กี่ปีก็ปลูกบ้านใหม่เป็นตึกกันเป็นแถว
      
       ในระยะแรกๆ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรโครงการบ่อย ส่วนมากมากับพระราชินีเพียง ๒ พระองค์ ไม่มีตำรวจทหารติดตาม พอเจ้าหน้าที่ของโครงการทราบว่าทั้งสองพระองค์เสด็จมาก็วิ่งกันพล่าน สักครู่จึงมีตำรวจทหารองครักษ์ติดตามมา
      
       ในปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงจัดทำ “ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง” ขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการเกษตรและสหกรณ์ เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจได้ศึกษา และนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
      
       นิทรรศการในศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ได้จำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง ๖ แห่งทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาไว้ รวมทั้งการแสดงนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ ความมหัศจรรย์ของหญ้าแฝก กังหันชัยพัฒนา โครงการหลวง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการฝนหลวง ซึ่งนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูนแอนิเมชั่น ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจถึงขั้นตอนทำฝนหลวงอย่างง่ายๆ ใช้เวลาประมาณ ๕๐ นาที
      
       ด้านการพัฒนางานสหกรณ์ ได้นำเสนอถึงวิวัฒนาการสหกรณ์ไทยที่มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นระดับ และด้วยน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้สหกรณ์ของไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาขยายเป็นวงกว้างไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
      
       นอกจากนี้ ในหมู่บ้านของสมาชิกชาวหุบกะพง ยังมีศูนย์เรียนรู้จากแปลงสาธิตของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการเลือกเป็นเกษตรกรตัวอย่างในอาชีพเกษตรกรรมแขนงนั้นๆ ๖ ศูนย์เรียนรู้ โดยเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจะเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการของตัวโดยตรง คือ
      
       ศูนย์เรียนรู้การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ของ นายตี๋ คล่องแคล่ว
       ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคขุน ของ นายออด พรมรักษา
       ศูนย์เรียนรู้ปลูกผักปลอดภัย ของ นายสด นิจก
       ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคนม ของ นายดำเนิน เทียนชัย
       ศูนย์เรียนรู้ป่านศรนารายณ์ ของ กลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์
       ศูนย์เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ของ นางปิ่นรัตน์ ตันหยง
      
       ศูนย์เรียนรู้เหล่านี้ จึงเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาความรู้จากของจริง และจากผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านอุปสรรคทั้งหลายใยอาชีพเกษตรแขนงนั้นๆมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างได้อย่างดีแก่ผู้จะนำไปเป็นอาชีพหรือเป็นงานอดิเรก ไม่ต้องไปเสียเวลาเดินวกวนไปสู่ความสำเร็จ
      
       เพราะเกษตรกรตัวอย่างเหล่านี้ เป็นผู้อยู่ตึกจากอาชีพเกษตรกรในหุบกะพงทั้งนั้น




เสด็จเยี่ยมไต่ถามทุกข์สุขของชาวหุบกะพงเสมอๆ


หนังสือพิมพ์ยุคนั้นติดตามข่าวหุบกะพงตลอด


ไวน์หุบกะพงจากผลิตผลในโครงการ


ที่ระลึกในวันเสด็จเปิดสหกรณ์ฯ


ที่หุบกะพงมีราคาจนต้องประกาศเตือนว่าขายไม่ได้

จาก http://astv.mobi/A5rIx1T
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...