๒.๑
หลักการ ๔ ประการสำหรับเกษตรกรรมธรรมชาติ
ค่อย ๆ เดินอย่างระมัดระวังเข้าไปในท้องนา แมลงปอและผีเสื้อบินฮือขึ้นมาเมื่อมีเสียงแกรกกรากดังขึ้น ผึ้งจะโฉบไปมาจากดอกไม้ดอกหนึ่งไปอีกดอกหนึ่ง ลองแหวกใบไม้ออก คุณจะมองเห็นแมลงต่าง ๆ แมงมุม กบ กิ้งก่าและสัตว์เล็ก ๆอีกมากมายที่เบียดเสียดกันอยู่ในร่มเงาของต้นข้าว ตัวตุ่นและไส้เดือนจะขุดโพรงอยู่ในดิน
นี่เป็นนาข้าวที่มีความสมดุลในระบบนิเวศน์ ชุมชนของแมลงและพืชช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพเอาไว้ ไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไรถ้าจะเกิดมีโรคพืชระบาดในบริเวณนี้ แต่พืชผลในที่นาแห่งนี้กลับไม่ไดรับความกระทบกระเทือน
ตอนนี้ลองมองดูที่นาของเพื่อนบ้านดูสักหน่อย วัชพืชถูกกำจัดออกไปหมดโดยยาปราบวัชพืช และการไถพรวน สัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินและแมลงถูกกำจัดหมดไปด้วยยาพิษ อินทรีย์วัตถุ และจุลินทรีย์ในดินถูกทำลายจนเกลี้ยงเพราะปุ๋ยเคมี ในฤดูร้อนคุณจะเห็นเกษตรกรเหล่านี้ทำงานอยู่ในทุ่งนา ใส่หน้ากากป้องกันยาฆ่าแมลง และสวมถุงมือยางถึงข้อศอก ทุ่งนาข้าวเหล่านี้ซึ่งทำการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่องมามากกว่า ๑,๕๐๐ ปี ปัจจุบันถูกวิธีทางการเกษตรแบบใหม่ทำลายจนเสียหาย ซึ่งเกิดขึ้นภายในคนชั่วรุ่นเดียว
หลักการ ๔ ประการ
หลักการประการแรก ไม่มีการไถพรวนดิน เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่เกษตรกรเชื่อว่าการไถเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปลูกพืช อย่างไรก็ตาม การไม่ไถพรวนดินคือพื้นฐานของเกษตรกรรมธรรมชาติ พื้นดินมีการไถพรวนตามธรรมชาติด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว โดยการแทรกซอนของรากพืช และการกระทำของพวกจุลินทรีย์ทั้งหลาย สัตว์เล็ก ๆ และไส้เดือน
หลักการประการที่ ๒ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี หรือ ทำปุ๋ยหมัก* คนเรามักจะเข้าไปวุ่นวายกับธรรมชาติ และเขาก็ไม่สามารถแก้ไขผลเสียที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร วิธีการเพาะปลูกที่เลินเล่อสะเพร่าทำให้สูญเสียหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไป และดินก็จะจืดลงทุกปี แต่ถ้าปล่อยดินอยู่ในสภาพของมันเองดินจะสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามวงจรชีวิตของพืชและสัตว์อย่างมีระเบียบ
หลักการประการที่ ๓ ไม่มีการกำจัดวัชพืชไม่ว่าโดยการถางหรือใช้ยาปราบวัชพืช วัชพืชมีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและช่วยให้เกิดความสมดุลในสิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา ตามหลักการพื้นฐาน วัชพืชเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม แต่ไม่ต้องกำจัด การใช้ฟางคลุม และปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่วปนไปกับพืชผล ตลอดจนการปล่อยน้ำเข้านาเป็นครั้งคราว เป็นวิธีควบคุมวัชพืชได้อย่างดีในนาของผม
หลักการประการที่ ๔ ไม่มีการใช้สารเคมี** เมื่อพืชอ่อนแอลงเพราะผลจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อันได้แก่การไถพลิกดิน การใช้ปุ๋ยเป็นต้น ความไร้สมดุลของโรคพืช และแมลงก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการเกษตร ธรรมชาตินั้นหากปล่อยไว้ตามลำพังจะอยู่ในสภาพสมดุล แมลงที่เป็นอันตรายและโรคพืชมักมีอยู่เสมอ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในธรรมชาติจนถึงระดับที่ต้องใช้สารเคมีที่มีพิษเหล่านั้นเลย วิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสม ก็คือการปลูกพืชที่แข็งแรงในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์
การไถพรวนดิน
เมื่อดินถูกไถพรวน สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเกินกว่าที่เราจะจดจำได้ ผลสะท้อนกลับที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวทำให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในฝันร้ายมาหลายชั่วรุ่น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อดินถูกไถ วัชพืชที่ทนทานมากเป็นหญ้าตีนกา และผักกาดส้มจะงอกงามยิ่งกว่าพืชที่เราปลูกเสียอีก เมื่อวัชพืชเหล่านี้งอกคลุมพื้นที่ เกษตรกรก็จะต้องเผชิญกับงานอันเหลือรับ คือต้องคอยถอนวัชพืชเหล่านี้ทุก ๆ ปี บ่อยครั้งที่เดียวที่ที่ดินเหล่านี้จะถูกปล่อยทิ้งไปเลย
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีวิธีที่เหมาะสมเพียงวิธีเดียวก็คือ หยุดการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้นเสีย เกษตรกรต้องรับผิดชอบในการแก้ไขความเสียหายที่เขาก่อขึ้นด้วย การไถพรวนดินเป็นสิ่งที่ควรงดเว้น ถ้านำวิธีการอันอ่อนโยนเช่นการใช้ฟางโปรยคลุมพื้นที่ และการปลูกพืชคลุมดินมาปฏิบัติแทนการใช้สารเคมีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นตลอดจนเครื่องจักรในการทำลายล้างแล้วละก็ สภาพแวดล้อมก็จะค่อย ๆ ฟื้นกลับสู่สภาพสมดุลตามธรรมชาติของมัน และแม้แต่วัชพืชที่ก่อความยุ่งยากให้ก็สามารถอยู่ในอำนาจของเราได้
ปุ๋ย
จากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผมถามวา "ถ้าที่นาถูกปล่อยไว้ตามสภาพของมันเอง ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง" พวกเขามักจะหยุดไปชั่วครู่ แล้วก็ตอบในทำนองนี้ว่า "เออ คือว่า...มันจะลดน้อยลง แต่ถ้าข้าวปลูกอยู่ในนาแปลงเดิมมาเป็นเวลานานโดยไม่มีการใส่ปุ๋ย ผลผลิตของข้าวจะคงตัวในปริมาณ ๙ บูเชล (๒๓๘.๖ กิโลกรัม) ต่อพื้นที่ ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะคงสภาพคือไม่เพิ่มขึ้นและไม่ลดลง"
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้หมายถึงที่นาที่ใช้วิธีไถพรวน และปล่อยน้ำท่วมขัง ถ้าธรรมชาติถูกปล่อยไว้ตามสภาพของมัน ความอุดมสมบูรณ์จะเพิ่มขึ้น อินทรีย์สารจากการทับถมของพืชและสัตว์จะสลายตัวบนผิวดินจากการทำปฏิกิริยาของบักเตรีและเชื้อรา และน้ำฝนจะทำให้ธาตุอาหารเหล่านี้แทรกซึมลงไปยังเนื้อดินเบื้องล่าง กลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ไส้เดือนและสัตว์เล็ก ๆอื่น ๆ อีกมากมาย รากพืชจะแทรกซอนลงไปยังใต้ดิน และนำธาตุอาหารนั้นกลับมาสู่ผิวดินอีกครั้งหนึ่ง
หากคุณต้องการแลเห็นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของพื้นพิภพ ลองหาโอกาสเข้าไปเดินเล่นในป่าเขา และดูต้นไม้ยักษ์ที่เติบโตโดยปราศจากปุ๋ยและการไถพรวน ในป่า ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างที่มันเป็นนั้น อยู่พ้นขอบเขตแห่งจินตนาการ
ป่าธรรมชาติเช่นไม้สนแดงญี่ปุ่น และป่าต้นซีดาร์ถ้าถูกตัดโค่นลง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วอายุคนดินก็จะเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลง และถูกชะล้างพังทลายได้อย่างง่ายดาย ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าลองปลูกป่าสนและป่าไม้ซีดาร์พร้อมกับพืชคลุมดินจำพวกถั่ว เช่นโคลเวอร์ และอัลฟัลฟ่าลงบนภูเขาที่แห้งแล้งเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ที่ดินกลายเป็นสีแดง ปุ๋ยพืชสด*** จะช่วยบำรุงดินและทำให้ดินร่วนซุย วัชพืชและไม้พุ่มจะเกิดภายใต้ไม้ใหญ่ และวงจรชีวิตใหม่อันอุดมสมบูรณ์ก็จะเริ่มต้นขึ้น ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์หนา ๔ นิ้ว เกิดขึ้นได้ในชั่วเวลาไม่ถึง ๑๐ ปี
แม้การปลูกพืชผลทางการเกษตร ก็ฟังมารถที่จะงดไม่ใช้ปุ๋ยหมักด้วยเหมือนกัน เพราะเพียงปุ๋ยตามธรรมชาติที่ได้จากการปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่ว และการใช้ฟางตลอดจนแกลบโปรยคลุมดินก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว การใส่ปุ๋ยมูลสัตว์เพื่อช่วยให้ฟางเปื่อยและสลายตัวดีขึ้น ผมจะใช้วิธีปล่อยให้เป็ดเข้าไปถ่ายในนาข้าว ถ้าเอาลูกเป็ดเข้าไปเลี้ยงในนาข้าวขณะที่ข้าวกล้ายังอ่อนอยู่ ลูกเป็ดก็จะโตไปพร้อมกับต้นข้าวด้วย เป็ดเพียง ๑๐ ตัวก็เพียงพอที่จะให้ปุ๋ยสำหรับพื้นที่ขนาด ๑/๔ เอเคอร์ (๐.๖ ไร่) และยังช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้ด้วย
ผมทำเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งมีการสร้างทางหลวงขึ้น จึงทำให้เป็ดไม่สามารถข้ามถนนกลับเข้าไปในเล้าของมันได้ ปัจจุบันผมใช้ขี้ไก่ช่วยทำให้ฟางเปื่อยและสลายตัว ในบางท้องที่เป็ดหรือสัตว์กินหญ้าขนาดเล็กอื่น ๆยังคงใช้การได้อยู่
การใส่ปุ๋ยมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ มีอยู่ปีหนึ่ง หลังจากที่การ ปักดำเสร็จสิ้นลง ผมได้ขอเช่าที่นาที่ปักดำเสร็จแล้วใหม่ ๆ ๑ ๑/๔ เอเคอร์ (๓.๑ ไร่) เป็นเวลา ๑ ปี ผมปล่อยน้ำในนาออกจนหมด และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ให้แค่ปุ๋ยจากขี้ไก่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่นา ๔ แปลงเป็นไปอย่างปกติ ยกเว้นแปลงที่ ๕ ไม่ว่าผมจะทำอย่างไรต้นข้าวก็กลับขึ้นอย่างหนาแน่นมากเกินไป จนเกิดโรคใบไหม้ (blast disease) เมื่อผมถามเจ้าของนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาจึงบอกว่า เขาได้ใช้ที่นาแปลงนี้เป็นที่กองขี้ไก่ตลอดฤดูหนาวที่ผ่านมา
การใช้ฟาง ปุ๋ยตามธรรมชาติจากพืชคลุมดิน และปุ๋ยมูลสัตว์เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณสูงโดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเคมีอีกเลย เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่ผมได้นั่งสังเกตดูวิธีการของธรรมชาติในการไถพรวนและบำรุงดิน และในการเฝ้าดูนี้ ผมก็ได้เก็บเกี่ยวพืชผลทั้งผักส้ม ข้าว และธัญพืชฤดูหนาวอย่างมากมาย เป็นของกำนัลจากความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของพื้นพิภพ
การจัดการกับวัชพืช
นี้คือประเด็นหลักบางประการที่ควรจดจำไว้เพื่อจัดการกับวัชพืช
ทันทีที่เลิกการไถพรวนดิน จำนวนวัชพืชจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ประเภทของวัชพืชในที่ดินแปลงนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
เมื่อเมล็ดพันธุ์ถูกหว่านลงในนาขณะที่พืชที่ปลูกก่อนหน้านั้นเริ่มจะสุก เมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงไปใหม่จะเริ่มงอกขึ้นก่อนพวกวัชพืช วัชพืชฤดูหนาวจะงอกหลังจากเกี่ยวข้าวแล้วเท่านั้น แต่ระหว่างนั้นธัญพืชฤดูหนาวได้งอกขึ้นมาก่อนแล้ว วัชพืชฤดูร้อนจะงอกทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์แล้ว แต่ข้าวเจ้าก็ได้เจริญเติบโตขึ้นแล้วในตอนนั้น การกำหนดระยะเวลาในการหว่านเช่นนี้ ทำให้ไม่มีช่วงว่างระหว่างพืชผลที่ปลูกตามมา จึงทำให้พืชผลอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าบรรดาวัชพืช
ถ้าทุ่งนาทุกตารางนิ้วถูกกลุ่มด้วยฟางข้าวทันทีหลังการเก็บเกี่ยว วัชพืชจะหยุดการเจริญเติบโต พืชจำพวกถั่วที่หว่านพร้อม ๆ กับเมล็ดธัญพืชเพื่อให้เป็นพืชคลุมดินนั้น มีส่วนในการช่วยควบคุมวัชพืชด้วย
วิธีการโดยทั่วไปในการจัดการกับวัชพืชก็คือการไถพรวนดิน แต่เมื่อคุณไถพรวนดิน เมล็ดที่อยู่ลึกในดินซึ่งไม่มีโอกาสงอกอยู่แล้วก็จะถูกพรวนให้ขึ้นมาอยู่ที่ผิวดิน และเป็นโอกาสให้มันได้งอกขึ้นมา ยิ่งกว่านั้นการไถพรวนดินก็เป็นวิธีที่ทำให้วัชพืชที่งอกไวโตเร็วทั้งหลายแพร่ขยายตัวยิ่งขึ้น ดังนั้น คุณอาจพูดได้ว่าเกษตรกรที่พยายามควบคุมการเติบโตของวัชพืชโดยการไถพรวนดินนั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความโชคร้ายด้วยตัวเขาเอง
การควบคุมแมลง
ยังมีคนไม่น้อยที่คิดว่าถ้าไม่ใช้สารเคมี ไม้ผล และพืชผลของเขาจะเหี่ยวเฉาตายไปต่อหน้าต่อตาอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริง คือ การใช้สารเคมีเหล่านี้ต่างหากที่กลายเป็นการทำให้สถานการณ์อันไม่มีมูลความจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นจริงขึ้นมาโดยที่ผู้ใช้ใม่มีเจตนา
เมื่อไม่นานมานี้ ไม้สนแดงญี่ปุ่นต้องประสบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดจากการระบาดของโรคด้วงงวงเจาะเปลือกสน (pine bark weevils) ปัจจุบันพนักงานป่าไม้ต้องใช้เฮลิคอปเตอรขึ้นไปฉีดยาพ่นบนอากาศ เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดจากการระบาดนี้ ผมไม่ปฏิเสธว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในระยะสั้น แต่ผมรู้ว่ามันจะต้องมีวิธีอื่นอีก
จากงานวิจัยล่าสุดกล่าวว่าโรคใบแห้งที่มีด้วงงวงเป็นพาหะ (Weevil blights) ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นจากไส้เดือนฝอย (nematode) เป็นสื่อ ไส้เดือนฝอยแพร่พันธุ์ภายในลำต้น ทำให้ท่อน้ำเลี้ยงเกิดการอุดตัน ทำให้ไม้สนเหี่ยวเฉาลงและตายไปในที่สุดสาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ่มชัด
ไส้เดือนฝอยได้อาหารจากเชื้อราในลำต้นของต้นไม้ เหตุใดเชื้อราจึงขยายตัวอย่างมากมายในลำต้นของต้นไม้ได้ เชื้อราได้ขยายตัวหลังจากมีไส้เดือนฝอยเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าไส้เดือนฝอยเกิดขึ้นเพราะมีเชื้อราเกิดขึ้นก่อนกันแน่ คำถามนั้นสรุปลงที่ว่าอะไรเกิดก่อน เชื้อราหรือไส้เดือนฝอย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีสัตว์เล็ก ๆ พวกจุลชีพอีกประเภทหนึ่ง ที่มักจะมาพร้อมกับเชื้อรา และยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นพิษต่อเชื้อรา ผลที่เกิดขึ้นกระทบต่อเนื่องกันทุกทิศทาง แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่อาจกล่าวได้ด้วยความแน่นอน ก็คือ ไม้สนจะเหี่ยวเฉาลงเป็นจำนวนที่มากจนผิดปกติ
ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัดของโรคใบแห้งของสน (pine blight) ทั้งไม่มีใครรู้ผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการหายจากโรค ถ้าเราเข้าไปยุ่งกับสถานการณเช่นนี้โดยที่ยังรู้ไม่ชัดเจน ก็เท่ากับได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหายนะที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมไว้ในอนาคต ผมไม่อาจรู้สึกยินดีกับการที่ความเสียหายที่เกิดจากด้วงเจาะนั้นลดลงอย่างฉับพลันเพราะผลจากการฉีดพ่นสารเคมีทางอากาศ การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นวิธีการที่ไม่สมควรที่สุดในการจัดการกับปัญหาเช่นนี้ วิธีนี้จะนำไปสู่ปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต
หลักการ ๔ ประการของเกษตรกรรมธรรมชาติ (ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมัก ไม่กำจัดวัชพืชโดยการไถกลบหรือใช้ยาปราบวัชพืช และไม่ใช้สารเคมี เป็นการเดินตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ และจะเป็นวิธีบำรุงธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผมได้คลำทางมาโดยอาศัยแนวคิดนี้เป็นตัวนำ และนี่คือหัวใจของวิธีการในการปลูกพืชผัก ธัญพืช และส้มของผม
--------------------------------------------------------------------------------
* ฟูกูโอกะเตรียมปุ๋ยโดยการปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่ว และใช้ฟางข้าวคลุมพื้นที่ จากนั้นก็ใส่ขี้เป็ดขี้ไก่ลงไปเล็กน้อย
** ฟูกูโอกะปลูกธัญพืชโดยปราศจากการใช้สารเคมีไม่ว่าชนิดใด แต่สำหรับไม้ผลบางครั้งเขาจะใช้น้ำมันขี้โล้เพื่อควบคุมเพลี้ยหอยชนิดต่าง ๆ (Insect scale) และไม่มีการใช้ยาที่มีพิษตกค้าง หรือออกฤทธิ์กว้าง และไม่มีตารางการใช้ยาฆ่าแมลง
*** พืชคลุมดิน เช่น โคลเวอร์ เว็ทซ์ และอัลฟัลฟ่าจะเป็นตัวปรับสภาพดินและทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์