ผู้เขียน หัวข้อ: Masanobu Fukuoka เกษตรกรผู้ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว  (อ่าน 11255 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ฟางเส้นนี้ดูบอบบางและไร้น้ำหนัก และคนส่วนมากก็ไม่อาจรู้ว่าแท้จริงแล้วมันมีน้ำหนักมากขนาดไหน หากผู้คนรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของฟางนี้ การปฏิวัติของมนุษยชาติก็จะเกิดขึ้น เป็นการปฏิวัติที่ทรงพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ และโลกทั้งโลกเลยทีเดียว"

- มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" สำนวนแปล รสนา โตสิตระกูล





ในบรรดาอาชีพทั้งหมด คงไม่มีอาชีพใดที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของประชากรมนุษย์ซึ่งนับวันก็ยิ่งล้นโลกขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกคนอื่นดูแคลนหรือเย้ยหยันเท่ากับอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยทุนน้อยผู้ต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงมากมายที่ควบคุมไม่ได้ และไม่มีเงินพอที่จะซื้อวิธีป้องกันความเสี่ยงเหมือนกับบริษัทอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศในโลกได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ตามรอย "เกษตรกระแสหลัก" ของประเทศโลกตะวันตก ซึ่งวิธีนี้แปลว่าเกษตรกรต้องละทิ้งวิธีการเพาะปลูกแบบโบราณโดยใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่นปุ๋ยหมักและมูลสัตว์ หันมาใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตแทน ปัจจุบัน ผลเสียจากวิธีการเพาะปลูกที่เน้นการ "เอาชนะธรรมชาติ" ดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในแทบทุกประเทศ การใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลให้ฮิวมัสในดิน (humus หมายถึงซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังทับถมกันปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ เหมาะแก่การเพาะปลูก) ถูกทำลายหมดไปภายในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี คุณภาพดินเสื่อมลง ส่งผลให้พืชพันธุ์อ่อนแอและผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรยิ่งต้องพึ่งสารเคมีและเครื่องจักรมากกว่าเดิม

ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ปัญหาก็ยิ่งปรากฏให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า แนวทางของเกษตรกรรมกระแสหลัก ซึ่งคิดขึ้นมาช่วยให้คนใช้แรงงานในการเพาะปลูกน้อยลง กลับกลายเป็นตัวบ่อนทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินลงอย่างช้าๆ จนส่งผลให้เกษตรกรยิ่งถลำลึกลงในปลักแห่งความยากจนมากกว่าเดิม จากต้นทุนและภาระหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง

เมื่อปัญหาต้นทุนสูงและดินเสื่อมเกิดในพื้นที่ซึ่งไม่มีระบบการชลประทานที่ดีพอและทั่วถึง จนเกษตรกรต้องพึ่งดินฟ้าอากาศซึ่งมีความปรวนแปรและกำลังแย่ลงเรื่อยๆ จากปัญหาโลกร้อน ตลอดจนการกดราคาของผู้รับซื้อผลผลิตที่มีอำนาจในการต่อรองสูง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเกษตรกรรายย่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะชาวนา จึงมีภาระหนี้สินรุงรังและแทบไม่มีเงินเก็บเลย โดยผลการสำรวจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2545 พบว่าการปลูกข้าวนาปีต้องใช้ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 1,700 บาทต่อไร่ แต่ได้กำไรเพียง 23 บาทต่อไร่ หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุนเพียงร้อยละ 1.35 เท่านั้น

ยังไม่นับอันตรายด้านสุขภาพที่ตามมาจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทั้งต่อเกษตรกรต้นทางและต่อผู้บริโภคปลายทาง

เกษตรกรส่วนใหญ่อาจยังมองไม่เห็นอันตรายของเกษตรกระแสหลัก หรือไม่ก็มองเห็นแต่คิดว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น แต่เกษตรกรจำนวนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีเกษตรกรรมแบบ "อยู่ร่วม" แทนที่จะ "เอาชนะ" ธรรมชาติ โดยหันหลังให้กับเกษตรกระแสหลัก อาศัยกระบวนการอันซับซ้อนเกื้อกูลกันของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าใจอย่างถ่องแท้ แทนที่สารเคมีทุกชนิด ไม่เพียงแต่จะเป็นทางเลือกที่ "เป็นไปได้" เท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ "ดีกว่า" เกษตรกระแสหลักอีกด้วย ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและฐานะความเป็นอยู่ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังเรียกร้องผลิตภัณฑ์เกษตรที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติล้วนๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

เราอาจเรียกเกษตรกรรมที่อยู่ภายใต้แนวคิดกว้างๆ นี้ ซึ่งมีรูปแบบและชื่อเรียกหลากหลาย ตั้งแต่ เกษตรผสมผสาน เกษตรยั่งยืน ไร่นาสวนผสม วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรถาวร ตลอดจนแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือเกษตรพอเพียง และเกษตร "ทฤษฎีใหม่" รวมกันว่า "เกษตรก้าวหน้า"

หนึ่งใน "เกษตรกรก้าวหน้า" ผู้มีอิทธิพลมหาศาลคือเกษตรกรอดีตนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka) เขาได้เล็งเห็นปัญหาของเกษตรกระแสหลักตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 ค้นคว้าทดลองจนพบทางออก เชื่อมั่นว่าแก่นสารของทางออกนั้นมีความเป็นสากลที่นำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก และเรียบเรียงทางออกนั้นออกมาเป็นหนังสือชื่อ "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" (The One-Straw Revolution) ในปี 1975 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณรสนา โตสิตระกูล และวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ปี 1987

ก่อนที่เราจะซาบซึ้งกับแนวคิดของฟูกูโอกะได้ และก่อนที่จะเข้าใจได้ว่าแนวคิดนั้นเป็นมากกว่า "ทฤษฏีการเกษตร" หากเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจกับวิธีการของเกษตรกระแสหลักนั้นเสียก่อน ซึ่งในประเด็นนี้ คุณเดชา ศิริภัทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญและ "โรงเรียนชาวนา" จ.สุพรรณบุรี ผู้ประมวลและสังเคราะห์แนวทาง "เกษตรยั่งยืน" ออกมาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ เขียนอธิบายที่มาและปัญหาของเกษตรกระแสหลักไว้อย่างน่าสนใจในคำนิยมฉบับภาษาไทยของ "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" ดังต่อไปนี้:

"…ในด้านการเกษตรนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดที่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติก็คือ "การปฏิวัติเขียว" (The Green Revolution) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ...โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยีการผลิต เช่น การผสมพันธุ์พืชสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง การใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตลอดจนสุขภาพอนามัยและระบบนิเวศวิทยาของโลก

จุดเด่นของการปฏิวัติเขียวอยู่ที่การนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เละเทคโนโลยี มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอย่างได้ผลชััดเจนดังเช่นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพันธุ์ข้าว "มหัศจรรย์" ต่าง ๆ เป็นต้น แต่จุดอ่อนของมันก็คือละเลยต่อผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง

โดยอาศัยเงื่อนไขต่างๆ เช่น ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ในที่สุด ระบบการเกษตรในแนวทาง "การปฏิวัติเขียว" ก็กลายเป็นนโยบายหลักของแทบทุกประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรต่างถูกชักจูงให้ยอมรับระบบการเกษตรดังกล่่าวด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งผ่านระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนนานาชนิด จนกระทั่งกลายเป็นกระแสหลักของระบบการเกษตรในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป ระบบการเกษตรปัจจุบันตั้งอยู่บนหลักการใหญ่ๆ เพียง 2 ประการคือ ความมักง่ายและความรุนแรง

"ความมักง่าย" แสดงออกโดยการมองทุกสิ่งอย่างแยกส่วน เช่น มองเห็นดินเป็นเพียงพื้นที่สำหรับพืชอาศัยยืนต้นและเป็นแหล่งธาตุอาหารเท่านั้น เมื่อดินขาดความอุดมสมบูรณ์ก็เพียงแต่ใส่ธาตุอาหารลงไปโดยตรงในรูปของปุ๋ยเคมี ซึ่งในที่สุดก็พัฒนามาจนไม่ต้องปลูกพืชบนดินก็ได้ กล่าวคือ ปลูกบนกกรวดทรายที่มีสารละลายของธาตุอาหารหล่อเลี้ยงอยู่แทน (Hydroponic)

ส่วน "ความรุนแรง" จะเห็นได้จากการแก้ปัญหาศัตรูพืช เช่น โรครา แมลง วัชพืชหรือสัตว์อื่นๆ เช่นหนูนา โดยการฆ่าหรือทำลายโดยตรงด้วยสารเคมีพิษชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดเชื้อรา ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช หรือยาเบื่อหนูก็ตาม

ระบบการเกษตรปัจจุบันพยายามแยกตัวออกจากธรรมชาติ โดยใช้วิธีการควบคุมและบังคับธรรมชาติไปในทิศทางที่มนุษย์ต้องการ เพียงเพื่อสนอง "ความต้องการเทียม" ของคนกลุ่มน้อยที่มีกำลังซื้อ ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชเมืองร้อนในประเทศเขตหนาว หรือปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศเขตร้อน รวมทั้งการบังคับให้ต้นไม้ออกผลนอกฤดูกาล เป็นต้น

รูปธรรมอันเป็นผลจากระบบการเกษตรดังกล่าวที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกิจการกลุ่มบรรษัทผลิตสารเคมีและเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตร การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย หนี้สินต่างประเทศของประเทศเกษตรกรรม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคผลผลิตจากระบบการเกษตรนี้

และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีกก็พบว่าแท้จริงแล้ว ระบบการเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้กลับมิได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นดังที่กล่าวอ้างกันมาแต่ต้น หากแต่เป็นระบบที่ด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการผลิตอาหารให้ได้พลังงาน 1 แคลอรี่นั้น จะต้องใช้พลังงานในการผลิตถึง 7 แคลอรี่ ในขณะที่ระบบการเกษตรดั้งเดิมนั้นใช้พลังงานการผลิตเพียง 1 แคลอรี่ แต่ผลิตอาหารได้พลังงานถึง 50 แคลอรี่ ดังนั้น ระบบการเกษตรในปัจจุบันจึงใช้ทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและไม่อาจหมุนเวียนกลับมาใช้้ใหม่ได้อีก เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเของเสียซึ่งเป็นพิษต่อดิน น้ำ อากาศ ตลอดจนปนเปื้อนมากับอาหารที่ผลิตได้ เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย"

……

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



จากความตื่นรู้ สู่เกษตรกรรมแบบ "ไม่กระทำ"

เส้นทางสู่เกษตรธรรมชาติของฟูกูโอกะ เริ่มต้นเมื่อเขามีอายุเพียง 25 ปี ในแผนกวิจัยพืชของกรมศุลกากรแห่งเมืองโยโกฮาม่า งานแรกของเขาหลังจากจบปริญญาสาขาจุลชีววิทยา (microbiology) โดยสาขาที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือ พยาธิสภาพของพืช งานหลักของฟูกูโอกะในฐานะนักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บ คือการตรวจสอบหาแหล่งที่เป็นพาหะของโรคพืชจากพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่จะนำเข้าและส่งออก แต่หลังจากที่เริ่มงานนี้ได้ไม่นาน วันหนึ่งระหว่างที่ฟูกูโอกะกำลังชื่นชมกับภาพความงดงามของธรรมชาติยามเช้า เขาก็ฉุกคิดได้ว่า "ธรรมชาติที่แท้" นั้น สลับซับซ้อนและลึกซึ้งจนมนุษย์ไม่มีวันเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยการศึกษาธรรมชาติทีละส่วนได้ ในภาษาของฟูกูโอกะ – "ผมแลเห็นได้ว่าบัญญัติ (concepts) ทั้งหลายแหล่ที่ผมเคยยึดถือ ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับความมีอยู่ โดยตัวมันเอง ล้วนเป็นโครงอันว่างเปล่า"

ถ้ามนุษย์ไม่มีวันเข้าถึง "ธรรมชาติที่แท้" ได้โดยสมบูรณ์ ก็หมายความว่ามนุษย์ไม่มีทางพยากรณ์ผลกระทบที่เกิดจากการปรับเปลี่ยน ทำลาย หรือควบคุมกระบวนการในธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ ฟูกูโอกะจึงมองว่า บทบาทของเกษตรกรที่ควรจะเป็นคือ "ผู้สังเกต" ระเบียบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติในพื้นที่เพาะปลูก และทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่ใช่ "ผู้แทรกแซง" ระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านั้น เราไม่มีทางที่จะมีความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ภายในชั่วข้ามคืน และความรู้นี้ก็หาไม่ได้จากหนังสือ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของระบบนิเวศน์ เพื่อให้ธรรมชาติสามารถปรับตัวเข้ากับการเพาะปลูกของมนุษย์

ซึ่งเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงข้ามกับเกษตรกระแสหลักอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

วันรุ่งขึ้น ฟูกูโอกะยื่นใบลาออกจากที่ทำงาน เดินทางกลับบ้านนาของพ่อที่ชนบท ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เป็นเกษตรกรเต็มเวลานับจากนั้นเป็นต้นมา โดยใช้แนวทางที่สอดคล้องกับความเชื่อของเขา นั่นคือ แทนที่จะพยายามตอบคำถามตามแบบฉบับเกษตรกระแสหลักว่า "ลองใช้สารเคมี X / เทคโนโลยี X / เทคนิค X" ดีหรือไม่ ฟูกูโอกะกลับพยายามตอบคำถามว่า "ลองไม่ใช้สารเคมี X ได้ไหม? ลองไม่ใช้เทคนิค X ได้ไหม?" ถ้าคำตอบคือ "ได้" ฟูกูโอกะก็จะเลิกใช้ประดิษฐกรรมของมนุษย์ชิ้นนั้น ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการ แต่ทั้งนี้ วิธีการของฟูกูโอกะไม่ได้เป็นการเพาะปลูกแบบปล่อยไปตามยถากรรม หรือไม่ทำอะไรเลย เพียงแต่เป็นการงดเว้นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทุกชนิด และไม่พึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก

ความคิดพื้นฐานปรากฏแก่เขาในวันหนึ่ง ขณะที่เขาเดินผ่านทุ่งนารกร้างแห่งหนึ่งที่ดินไม่เคยถูกไถพรวนมาเป็นเวลาหลายปี ที่นั่นเขาแลเห็นต้นข้าวที่แข็งแรงแทงยอดออกมาท่ามกลางกอหญ้าของวัชพืช จากนั้นเป็นต้นมา เขาเลิกกักน้ำไว้ในนาเพื่อที่จะปลูกข้าว เขาเลิกหว่านเมล็ดข้าวในฤดูใบไม้ผลิ แต่เปลี่ยนมาหว่านเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วงแทน และหว่านเมล็ดลงไปบนท้องนาโดยตรงซึ่งเมล็ดเหล่านั้นจะตกลงไปบนผืนดินโดยธรรมชาติ แทนที่จะไถพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช เขาเรียนรู้ที่จะควบคุมมันโดยการใช้พืชคลุมดินจำพวกถั่ว เช่นไวท์โคลเวอร์ และฟางข้าว เมื่อเขาแลเห็นว่าสภาพเช่นนั้นมีแนวโน้มที่เป็นประโยชน์ต่อพืชผลของเขา ฟูกูโอกะจะเข้าไปแทรกแซงพืชผลรวมทั้งชุมชนของสัตว์ในไร่นาของเขาน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ - "ปฎิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" สำนวนแปล รสนา โตสิตระกูล

ทักษะและวินัยด้านวิทยาศาสตร์การทดลองที่เขาร่ำเรียนและฝึกปรือจนชำนาญ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ฟูกูโอกะสามารถค้นพบหลักการเกษตรธรรมชาติที่เขาขนานนามว่า "เกษตรกรรมไม่กระทำ" ผ่านการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน เพราะถ้าปราศจากขั้นตอนการทดลอง เก็บข้อมูล และประเมินผลแบบนักวิทยาศาสตร์แล้ว ฟูกูโอกะก็คงไม่สามารถประมวลผลการทดลองของเขาออกมาเป็น "ชุดหลักการ" ได้ เพราะเกษตรกรรมมีปัจจัยเกี่ยวข้องนับร้อยนับพันรายการที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง

หลักการ "เกษตรกรรมไม่กระทำ" ของฟูกูโอกะ หรือที่เราอาจเรียกให้ทันสมัยว่า minimalist farming มี 4 ข้อ ซึ่งเขาอธิบายใน "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" ดังต่อไปนี้:

"หลักการประการแรก ไม่มีการไถพรวนดิน เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่เกษตรกรเชื่อว่าการไถเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปลูกพืช อย่างไรก็ตาม การไม่ไถพรวนดินคือพื้นฐานของเกษตรกรรมธรรมชาติ พื้นดินมีการไถพรวนตามธรรมชาติด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว โดยการแทรกซอนของรากพืช และการกระทำของพวกจุลินทรีย์ทั้งหลาย สัตว์เล็กๆ และไส้เดือน

หลักการประการที่ 2 ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก คนเรามักจะเข้าไปวุ่นวายกับธรรมชาติ และเขาก็ไม่สามารถแก้ไขผลเสียที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร วิธีการเพาะปลูกที่เลินเล่อสะเพร่าทำให้สูญเสียหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไป และดินก็จะจืดลงทุกปี แต่ถ้าปล่อยดินอยู่ในสภาพของมันเองดินจะสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามวงจรชีวิตของพืชและสัตว์อย่างมีระเบียบ

หลักการประการที่ 3 ไม่มีการกำจัดวัชพืชไม่ว่าโดยการถางหรือใช้ยาปราบวัชพืช วัชพืชมีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและช่วยให้เกิดความสมดุลในสิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา ตามหลักการพื้นฐาน วัชพืชเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม แต่ไม่ต้องกำจัด การใช้ฟางคลุม และปลูกพืชคลุมดินจำพวกถั่วปนไปกับพืชผล ตลอดจนการปล่อยน้ำเข้านาเป็นครั้งคราว เป็นวิธีควบคุมวัชพืชได้อย่างดีในนาของผม

หลักการประการที่ 4 ไม่มีการใช้สารเคมี เมื่อพืชอ่อนแอลงเพราะผลจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อันได้แก่การไถพลิกดิน การใช้ปุ๋ยเป็นต้น ความไร้สมดุลของโรคพืช และแมลงก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ในการเกษตรธรรมชาตินั้นหากปล่อยไว้ตามลำพังจะอยู่ในสภาพสมดุล แมลงที่เป็นอันตรายและโรคพืชมักมีอยู่เสมอ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในธรรมชาติจนถึงระดับที่ต้องใช้สารเคมีที่มีพิษเหล่านั้นเลย วิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสม ก็คือการปลูกพืชที่แข็งแรงในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์"

เกษตรธรรมชาติของฟูกูโอกะให้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ลาร์รี่ คอร์น (Larry Corn) ผู้แปล "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" เป็นภาษาอังกฤษ เปรียบเทียบเกษตรธรรมชาติกับเกษตรแนวอื่นไว้ในบทนำของหนังสือว่า: "การเพาะปลูกทั้ง 3 วิธี (ธรรมชาติ พื้นบ้าน และใช้สารเคมี) ให้ผลผลิตที่ไม่แตกต่างกัน แต่จะให้ผลแตกต่างต่อดินที่ทำการเพาะปลูกอย่างเห็นได้ชัด ดินในที่นาของฟูกูโอกะดีขึ้นในแต่ละฤดูกาล ตลอดระยะ 25 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เขาเลิกไถพรวนดิน ที่นาของเขาดีขึ้นทั้งในแง่ความอุดมสมบูรณ์ โครงสร้างของดิน และความสามารถในการกักเก็บน้ำ สำหรับวิธีเพาะปลูกแบบพื้นบ้านนั้น สภาพของดินที่ผ่านการเพาะปลูกเป็นเวลาหลายปีจะคงสภาพเดิม ชาวนาจะได้ผลผลิตตามสัดส่วนของปุ๋ยหมักกับมูลสัตว์ที่เขาใส่ในนา แต่ดินในที่นาที่ใช้สารเคมีจะไร้ชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติจะถูกผลาญไปในระยะเวลาอันสั้น"

เกษตรธรรมชาติของฟูกูโอกะ "...ทำให้ข้าวเจ้าและพืชผลที่ให้ผลผลิตสูงสามารถเติบโตงอกงามในพื้นที่ที่เกษตรกรไม่เคยคิดฝันว่าจะปลูกได้ ที่ดินลาดชันและที่ดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์สามารถนำมาใช้เพาะปลูกได้ โดยปราศจากอันตรายจากการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เกษตรกรรมธรรมชาติสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพดินที่ถูกทำลายจากวิธีการเพาะปลูกอันโง่เขลา และจากสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

…….

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



เปลี่ยนทะเลทรายเป็นสีเขียวด้วยเกษตรธรรมชาติ


เมื่อฟูกูโอกะได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาในปี 1979 และเห็นทะเลทรายในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาคิดว่าแนวทางเกษตรธรรมชาติน่าจะช่วยทำให้ทะเลทรายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้ เขาเดินทางไปพูดคุยกับชุมชนเกษตรกรหลายแห่ง และผลจากคำแนะนำของฟูกูโอกะก็คือ ทะเลทรายสามารถกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกเขียวชอุ่มได้จริงๆ ความสำเร็จครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ฟูกูโอกะออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเปลี่ยนทะเลทรายที่อื่นๆ ให้เป็นสีเขียว ตั้งแต่จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ กรีซ กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และกลุ่มประเทศแอฟริกา รวมทั้งโซมาเลียและเอธิโอเปีย สองประเทศในกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก ทุกแห่งที่เขาไปให้คำแนะนำประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม

แม้ว่าความสำเร็จของเกษตรธรรมชาติต้องใช้เวลานานหลายปี ไม่มีทางเกิดได้ใน "ชั่วพริบตา" เมื่อเทียบกับเกษตรกระแสหลัก ความสำเร็จนั้นเกิดแน่ๆ อย่างแน่นอนและส่งผลยั่งยืนถึงชั่วลูกชั่วหลาน

เคล็ดลับที่สำคัญประการหนึ่งของแนวทางเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการเปลี่ยนทะเลทรายเป็นสีเขียวด้วย คือการที่ฟูกูโอกะคิดค้นวิธีใส่เมล็ดพืชผสมน้ำเข้าไปในก้อนดิน แล้วปั้นจนแน่นให้เป็นก้อนกลมๆ และตากแห้ง 3-4 วัน ก่อนจะหว่านก้อนเมล็ดนั้นลงไปในดิน เพราะเขาสังเกตเห็นว่าเมล็ดพืชที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มนั้นมักตกเป็นเหยื่อของนก ก้อนดินห่อเมล็ดอุ้มน้ำนี้ช่วยป้องกันให้เมล็ดไม่ถูกนกกิน ไม่แห้งเร็ว และสันฐานกลมก็ช่วยไม่ให้แตกง่ายอีกด้วย

ก้อนดินห่อเมล็ดของฟูกูโอกะเหมาะกับการเพาะปลูกในทะเลทรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องใช้การรดน้ำหรือปุ๋ยใดๆ แถมยังมีราคาถูกแสนถูก ทำให้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในทุกประเทศที่ฟูกูโอกะเดินทางไปสาธิตเกษตรธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบันฟูกูโอกะ ในวัย 94 ปีที่ดูแข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ จะ "เกษียณ" ตัวเองจากชีวิตเกษตรกร ใช้ชีวิตเรียบง่ายในบ้านพักของเขา ขบวนการเปลี่ยนทะเลทรายเป็นสีเขียวที่เขาริเริ่ม ก็ยังดำเนินต่อไปในหลายประเทศทั่วโลก

……

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ปัญหาและความเข้าใจผิดของวิทยาศาสตร์แบบแยกส่วน


นอกเหนือจากการค้นคว้าวิจัยเรื่องเกษตรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ฟูกูโอกะยังเป็นนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเขาเริ่มจากการตระหนักรู้ถึงสัจธรรมของธรรมชาติ ก่อนที่จะพยายามแปรสัจธรรมนั้นออกมาเป็นวิธีปฏิบัติที่มี "ความเป็นสากล" สูง (อย่างน้อยก็สำหรับพื้นที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ที่ยังไม่สายเกินเยียวยาด้วยเกษตรธรรมชาติ) ไม่ใช่เริ่มจากวิธีปฏิบัติแล้วค่อยพัฒนาปรัชญาให้สอดคล้องกัน

ฟูกูโอกะใช้พื้นที่พอสมควรใน "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" ในการครุ่นคิดว่าเหตุใดประโยชน์ของเกษตรธรรมชาติจึงไม่แพร่หลายออกไปหรือได้รับความนิยมในวงกว้าง เขาคิดว่าสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือ วิธีคิดแบบ "แยกส่วน" มากขึ้นเรื่อยๆ ของโลกปัจจุบัน ฟูกูโอกะอธิบายตัวอย่างหนึ่งของปัญหาวิธีคิดแบบนี้ดังต่อไปนี้:

"...โลกเราในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นโลกของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเกินไป จนผู้อื่นไม่อาจจะจับสาระของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในฐานะแห่งความเป็นองค์รวมอันสมบูรณ์ของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านป้องกันโรคแมลงศัตรูพืชผู้หนึ่งจากศูนย์ทดลองการเกษตรที่จังหวัดโคชิได้มาที่นาและถามผมว่า ทำไมจึงมีเพลี้ยจักจั่นข้าว (rice leaf hopper) น้อยมากในนาของผม ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเลย จากการสังเกตสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนาข้าว เขาพบว่าความสมดุลระหว่างแมลงชนิดต่างๆ และศัตรูตามธรรมชาติของแมลงเหล่านั้น รวมทั้งอัตราการขยายตัวของแมงมุม และอื่นๆ ทำให้เพลี้ยจักจั่นข้าวในนาของผมมีน้อยกว่าที่พบในแปลงทดลองของศูนย์ ทั้งๆ ที่แปลงทดลองดังกล่าว ได้ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงพิษร้ายแรงสารพัดชนิดอย่างนับครั้งไม่ถ้วนด้วยซ้ำ

ศาสตราจารย์ผู้นั้นรู้สึกประหลาดใจที่พบว่า ในขณะที่แมลงศัตรูพืชมีน้อย แต่ศัตรูตามธรรมชาติของแมลงกลับมีอยู่มากมายในนาข้าวของผม ยิ่งกว่าทีมีอยู่ในแปลงทดลองที่ได้พ่นยาปราบศัตรูพืชไว้ ในที่สุดเขาก็เข้าใจได้ว่าสภาพเช่นนี้คงอยู่ได้ด้วยความสมดุลตามธรรมชาติที่เกิดจากชุมชนแมลงทีมีอยู่หลากหลายในที่นา เขาได้คำตอบว่า หากวิธีการของผมมีการนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางแล้ว ปัญหาความเสียหายของพืชผลที่เกิดจากเพลี้ยทั้งหลายก็จะสามารถแก้ไขได้ จากนั้นเขาก็รีบกลับขึ้นรถและกลับไปที่โคชิทันที

แต่ถ้าคุณถามว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน และผู้เชี่ยวชาญด้านพืชผลของศูนย์ทดลองนั้นเคยมาที่ไร่นาของผมหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่เลย พวกเขาไม่เคยมา และหากว่าคุณจะพยายามเสนอแนะในที่ประชุมว่าวิธีการเช่นนี้ หรือน่าจะเรียกว่าวิธีที่ปราศจากวิธีการ สมควรจะนำไปทดลองปฏิบัติในระดับกว้างแล้วละก็ ผมเดาได้เลยว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของศูนย์ทดลองจะกล่าวว่า "เสียใจครับ มันเร็วเกินไปที่จะทำเช่นนั้น ก่อนอื่นเราต้องทำวิจัยเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ให้รอบด้านที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ก่อนที่จะมาถึงการอนุมัติขั้นสุดท้าย และมันต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่จะได้ข้อสรุปออกมา" …"

นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมองแบบแยกส่วนของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่เข้าใจองค์รวม ฟูกูโอกะยังอธิบายถึงความหลงผิดของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าสารเคมีและเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังช่วย "พัฒนา" เกษตรกรรม ทั้งๆ ที่ส่วนมากเป็นการ "แก้ปัญหา" ที่มนุษย์เป็นคนสร้าง:

"...การเข้าไปแทรกแซงของมนุษย์ก่อให้เกิดสิ่งที่ผิดพลาดขึ้น และถ้าความเสียหายดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไข จนผลร้ายนั้นสะสมมากเข้า คนเราก็จะต้องทุ่มเทความพยายามทั้งมวลเพื่อเข้าไปแก้ไขมัน หากการแก้ไขลุล่วงไปด้วยดี พวกเขาก็จะคิดว่าวิธีการเหล่านี้เป็นความสำเร็จอันงดงาม คนเรามักทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็เหมือนกับคนโง่ที่ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านแล้วทำกระเบื้องบนหลังคาแตก พอฝนตกลงมา เพดานก็เริ่มเปื่อยและปล่อยน้ำฝนรั่วลงมา เขาก็จะรีบปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา จากนั้นก็ดีอกดีใจที่เขาได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาที่วิเศษมหัศจรรย์

เหตุผลที่เทคนิคใหม่ ๆ ของมนุษย์ดูจะมีความจำเป็น ก็เพราะว่าธรรมชาติได้สูญเสียความสมดุลไปมากแล้วจากเทคนิคทั้งหลายก่อนหน้านั้น จนทำให้ต้องพึ่งพิงและขึ้นอยู่กับเทคนิคพวกนั้น

เหตุผลข้อนี้ไม่เพียงแต่ใช้ได้กับเกษตรกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงแง่มุมอื่น ๆ ของสังคมมนุษย์ด้วย แพทย์และยากลายเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อคนเราก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เจ็บป่วยขึ้นมา การศึกษาในระบบโรงเรียนไม่มีคุณค่าที่แท้จริงแต่กลายเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อคนเราสร้างเงื่อนไขให้คนต้องเป็นผู้ "มีการศึกษา" ขึ้นมา"

เกษตรกรไทยฟังสองเรื่องนี้แล้วคงรู้สึกคุ้นหูมากทีเดียว

……

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



เกษตรธรรมชาติในฐานะเกษตรเพื่อการค้า


เนื่องจากฟูกูโอกะเชื่อว่า "เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์" เขาจึงไม่เคยตั้งใจจะพัฒนาเกษตรธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถใช้วิธีนี้ทดแทนเกษตรเชิงเดี่ยว (ซึ่งโดยมากหมายถึงการเพาะปลูกเพื่อส่งออกเป็นหลัก) ได้ อย่างไรก็ตาม ความกังวลของผู้บริโภคเรื่องอันตรายจากสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูก ประกอบกับการโหมประชาสัมพันธ์เรื่องพืช GMO อย่างต่อเนื่องโดยสื่อมวลชนและองค์กรสุขภาพระหว่างประเทศ ตลอดจนวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง และเติบโตในอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดทั่วโลกกว่า 800,000 ล้านบาท โดยลำพังตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกามีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดโลก

ความต้องการอาหารที่สะอาดและปลอดสารพิษของผู้บริโภคที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นในราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะสูงกว่าอาหารปกติประมาณร้อยละ 28 เกษตรกรไทยก็เริ่มมีการส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์บ้างแล้ว เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน สมุนไพร และรัฐบาลเองก็มีโครงการเกษตรอินทรีย์นำร่องอย่างต่อเนื่อง เช่น ในจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2548 มีการนำพืชหลัก 3 ชนิด คือ ผัก (คะน้า ข้าวโพดหอม ฟักทอง ฯลฯ) เห็ด และข้าว มาปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ สามารถขายข้าวอินทรีย์ได้ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท สูงกว่าราคาข้าวหอมมะลิเกรดดีซึ่งอยู่ที่ 18 บาท/กก. เกือบสองเท่า

นอกจากนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกซึ่งทำหน้าที่เป็น "ตัวกลาง" ให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาได้ขายผลิตภัณฑ์เกษตรโดยตรงต่อผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว ในราคาที่ "เป็นธรรม" เช่น Fairtrade Label ก็เป็นกำลังสำคัญในการขยายตลาดและโฆษณาประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ กองทุนข้าวสุรินทร์ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า "Rice Fund Surin" ซึ่งมีสมาชิก 588 ครัวเรือน เป็นผู้ผลิตไทยรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ Fairtrade Label ปัจจุบันส่งข้าวเกษตรอินทรีย์ออกไปขายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่ายี่สิบปีที่แล้ว นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปซื้อโรงสีสำหรับชุมชน สอนเทคนิคการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ให้กับเพื่อนชาวนา มีเงินพอส่งลูกหลานวัยเรียนไปโรงเรียน และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคภายในชุมชน

แนวคิดเกษตรธรรมชาติของฟูกูโอกะ เป็นแนวคิดค่อนข้าง "สุดขั้ว" ในแง่ที่ไม่พึ่งพาปัจจัยนอกธรรมชาติใดๆ เลย ไม่เว้นแม้แต่แรงงานมนุษย์และสัตว์ ทำให้ใช้ได้จริงเฉพาะในพื้นที่ที่ธรรมชาติยังค่อนข้างบริสุทธิ์อยู่ เหมือนกับไร่นาของเขา แปลว่าหลักการหลัก 4 ข้อของเกษตรธรรมชาติไม่สามารถนำมาใช้ตรงๆ กับประเทศอื่นได้ โดยเฉพาะประเทศที่คุณภาพดินและความหลากหลายทางชีวภาพได้ถูก "ทำลาย" อย่างย่อยยับจนต้องใช้เวลารื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก่อนที่จะใช้แนวทางเกษตรธรรมชาติได้จริง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ปัญหาดินเสื่อมและความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลายอาจทำให้เกษตรกรไทยใช้วิถีของฟูกูโอกะไม่ได้ทั้งหมด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรไทยควรทำเกษตรกระแสหลักต่อไปเรื่อยๆ เพราะผลเสียของเกษตรกระแสหลักนั้นชัดเจน และเห็นชัดว่าไม่ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยของไทยมีฐานะดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำยังกลับจนลงและเป็นหนี้มากกว่าเดิม เพราะโครงสร้างการผูกขาดในตลาดยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันสูงในตลาดโลก และผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย จีน และเวียดนาม

ณ สิ้นปี 2548 ประเทศไทยมีเกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือน (22.2 ล้านคน) ในจำนวนนี้ทำเกษตรในเนื้อที่ของตนเองร้อยละ 74 (มีโฉนดร้อยละ 60.7) ที่เหลือทำเกษตรในเนื้อที่ที่ไม่ใช่ของตนเอง หรือทั้งของตัวเองและของคนอื่น ยังไม่นับลูกจ้างเกษตรและลูกจ้างในชนบทอีก 2.7 ล้านครัวเรือน เกษตรกรกว่าร้อยละ 53 ทำนา ส่วนใหญ่คือร้อยละ 60 ทำฟาร์มขนาดเล็ก มีที่ดินไม่ถึง 20 ไร่ต่อครัวเรือน

แม้ว่าประเทศไทยจะยังรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 28-30 อินเดียและเวียดนาม (ส่วนแบ่งร้อยละ 16 และ 14 ตามลำดับ) ผลผลิตต่อไร่ของไทย ที่ประมาณ474 กิโลกรัมต่อไร่ในปี 2548 ก็ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญทุกประเทศ และต่ำกว่าผลผลิตต่อไร่ของเวียดนาม ญี่ปุ่น และจีน เกือบสองเท่าหรือสูงกว่า

นอกเหนือจากการปลูกพืชผิดประเภทและการใช้สารเคมีที่ทำให้ดินเสื่อมลง อีกสาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีต่ำมากคือ พื้นที่ร้อยละ 76 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของไทย อยู่นอกเขตชลประทาน

ชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานีผู้หนึ่งเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ชาวบ้านแถวนี้ขาดแคลนแหล่งน้ำชลประทานเพราะอยู่ในที่สูง ต้องรอฝนตกอย่างเดียว หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ่ายค่าน้ำรายเดือนให้กับเอกชนเจ้าของคลองชลประทาน เพราะกรมชลประทานไม่เคยมาสร้างคลองให้ ชาวบ้านหลายคนไม่มีเงินเก็บพอจ่ายค่าน้ำ 30 บาทต่อเดือน แถมเวลานี้ค่าน้ำมันแพงกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้ค่าขนส่งข้าวไปขายให้โรงสีพุ่งสูงขึ้น โรงสีเองก็รู้ดีว่าถ้าชาวนาต้องขนข้าวกลับไปโดยไม่ได้ขาย จะเสียค่าขนส่งสูงมากจนไม่คุ้มเที่ยว เลยกดราคารับซื้อ ชาวนารู้ทั้งรู้ว่าถ้าขายราคานี้จะขาดทุน แต่ถ้าไม่ขาย ขนข้าวกลับไปก็จะขาดทุนมากกว่า ก็เลยต้องจำใจขายในราคานั้น

"คิดซะว่าผีถึงป่าช้าแล้ว" ลุงชาวนาแค่นเสียงพูด

......

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 24, 2010, 10:29:55 am โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



เกษตรธรรมชาติคือความหวังของมนุษยชาติ


เกษตรกรรมไม่มี "สูตรสำเร็จ" ที่ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ทุกครัวเรือน เกษตรกรทุกคนควรหมั่นสังเกตและขยันทดลองเหมือนฟูกูโอกะ นำบางส่วนจากแนวคิดเกษตรธรรมชาติหรือรูปแบบอื่นของเกษตรก้าวหน้ามาประยุกต์หรือผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดภาระ แต่ควรพยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนทัศนคติเดิมๆ ที่ส่วนหนึ่งต้องโทษรัฐบาลในฐานะผู้ปลูกฝัง

ปัจจุบัน เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากและแทบไม่ได้กำไร ทั้งความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ การถูกนายทุนโรงสีกดราคา ภาระหนี้สิน ต้นทุนค่าสารเคมี ค่าขนส่ง ยังไม่นับผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่า แนวทางเกษตรก้าวหน้าสามารถปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้และปลอดหนี้สินอย่างถาวร ดูจากพ่อคำเดื่อง ภาษี ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธ์ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และปราชญ์ชาวบ้านอีกมากมาย

ในระดับเกษตรเพื่อการค้า การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และความสำเร็จที่ผ่านมาของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ก็ชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยวก็ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ได้

รัฐควรส่งเสริมเกษตรก้าวหน้าในฐานะ "ทางเลือก" หนึ่งที่เป็นไปได้ และใช้ได้จริง เลิกยึดติดกับความเชื่อผิดๆ ว่าจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรใช้วิถีเกษตรกระแสหลักเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมา บทเรียนราคาแพงได้สอนเราแล้วว่า การทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้เกษตรกรจนลง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และสุขภาพของคนในสังคมทรุดโทรมลงเรื่อยๆ

รัฐควรอธิบายให้เกษตรกรที่ยังไม่เชื่อมั่นในแนวคิดเกษตรอินทรีย์ (เพราะมองว่าการใช้ปุ๋ยเคมีให้ผลผลิตมากกว่า) เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์อาจให้ผลผลิตต่ำกว่าจริง แต่ก็ขายได้ราคาดีกว่า ทำให้กำไรตกถึงมือเกษตรกรมากกว่า ทำได้อย่างยั่งยืนกว่า และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

รัฐควรออกมาตรการให้เงินสนับสนุนค่าครองชีพและรายได้ที่หายไป ต่อเกษตรกรที่แสดงความจำนงว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูหรือพักฟื้นหน้าดินที่ถูกทำลาย ก่อนที่จะเปลี่ยนวิถีการเกษตรมาเป็นเกษตรก้าวหน้าได้

นอกจากนั้น รัฐก็ควรเริ่มใช้กรมธรรม์ประกันภัยแล้ง (rainfall insurance) แทนที่จะรับประกันราคาพืชผลหรือรับซื้อเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาด หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการปลูกพืชผิดประเภทเพื่อขอรับค่าประกันราคา (ปัญหา moral hazard) มีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำเพราะดัชนีน้ำฝนเป็นข้อมูลที่โปร่งใสและไร้การบิดเบือน (objective) และมีตลาดรองรับ ผ่านบริษัทรับประกันภัยต่อ (reinsurer) รายใหญ่ๆ ระดับโลก

……

มรดกที่มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ มอบให้แก่โลก นอกเหนือจากบทพิสูจน์อันยิ่งใหญ่ถึงพลังแห่งการอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ อาจเป็นปรัชญาชีวิตซึ่งเสนอทางออกให้กับวิกฤตของมนุษย์ ในหนังสืออันยอดเยี่ยมที่เป็นมากกว่า "บันทึก" ของเกษตรกรคนหนึ่ง ดังที่สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง สรุปความไว้อย่างดีเยี่ยมในคำนำของฉบับภาษาไทย ดังต่อไปนี้:

"ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เป็นเรื่องของชาวนาผู้หนึ่งซึ่งได้ผ่านการปฏิวัติทางทัศนคติอย่างถึงรากฐาน เป็นการปฏิวัติอันเนื่องจากฟางข้าว ซึ่งได้แสดงให้เขาประจักษ์ว่า ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่าสารเคมีและประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์ทั้งปวง การค้นพบดังกล่าวมิเพียงแต่จะมีความหมายต่อเกษตรกรรม ซึ่งกำลังมาถึงจุดอุดตัน มันเป็นผลจากการปฏิวัติเขียวที่เห็นเทคโนโลยีเป็นคำตอบเท่านั้น หากยังมีความหมายต่ออารยธรรมมนุษย์อย่างสำคัญ ในยุคสมัยที่มนุษย์ทั้งมวลกำลังประสบกับความอับจนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ชนิดที่อาจมีผลทำลายมนุษยชาติให้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปนั้น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะได้บอกให้เรารู้ว่า ฟางข้าวนั้นสามารถปฏิวัติยุคสมัยให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ การปฏิวัติดังกล่าวก็คือการปฏิวัติทางทัศนคติ ที่มีความตระหนักและสำนึกในคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ซึ่งดูเผินๆ แล้วเหมือนว่าไร้ค่า ดังที่เราทั่วไปมักมองเช่นนั้นกับฟางข้าวในท้องทุ่ง

นี่แหละคือการปฏิวัติที่แท้จริงที่ยุคสมัยของเรากำลังต้องการอย่างยิ่งยวด.



คาราบาว - ลุงฟาง


http://www.onopen.com/2007/02/1538
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 11, 2013, 04:47:32 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
 :13: ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~