ผู้เขียน หัวข้อ: ตื่นรู้ที่ภูหลง : ล่องกระแสธรรม  (อ่าน 1575 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ล่องกระแสธรรม

   ให้เรามารู้จักการประคองชีวิตและรักษาจิตใจบนทางสายกลาง  ทางสายกลางนี้เราเคยเรียนมาแล้วว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง  เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฐิไปจนถึงสัมมาสมาธิ  อันนี้เป็นทางสายกลางในแง่วิถีชีวิต  ในระดับจิตใจก็เช่นกัน การบำเพ็ญทางจิตจะได้ผลก็ต้องรู้จักประคองจิตให้อยู่บนทางสายกลางด้วย  เริ่มตั้งแต่การรักษาความเพียรให้อยู่แต่พอดี  ถ้ามีความเพียรมากไปโดยเฉพาะความเพียรที่เกิดจากความอยากได้อยากจะมีหรืออยากเป็น  ก็จะทำให้การปฏิบัตินั้นพลาดจากทางสายกลางได้ 

   การรักษาความเพียรอย่างพอดีนั้นเรามักพูดว่าเป็นทางสายกลาง  อันนี้พูดแบบไม่เคร่งครัด หรือพูดแบบชาวบ้าน  แต่ความจริงแล้วเรามีคำหนึ่งที่ใช้เรียกการมีความเพียรอย่างพอดี นั่นคือ วิริยสมตา  คำนี้ไม่ได้ตรงกับคำว่า ทางสายกลาง   แต่คนทั่วไปถือว่า ถ้ามีความเพียรอย่างพอดี ก็เรียกว่าเป็นทางสายกลาง   อย่างไรก็ตาม ความเพียรอย่างพอดีก็จำเป็นสำหรับการปฏิบัติของเราด้วย  ถ้าหากว่าเรามีความเพียรแต่พอดีไม่ย่อหย่อนเกินไปและไม่โหมทำเกินไป  ก็เป็นโอกาสให้เราเกิดความรู้ตัวได้มากขึ้น

 อย่างที่บอกไว้แล้วว่าถ้าทำด้วยความตั้งใจมาก  เวลาทำไปก็เครียดไป  ทำไปก็ทุกข์ไป  เพราะใจไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ  ใจของเรามันเก่งในเรื่องการคิดฟุ้งซ่านมาเป็นสิบ ๆ ปี  จะให้มันเป็นไปตามใจเราคือ สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน  ย่อมเป็นไปได้ยาก  ถ้าทำด้วยความอยาก ผลก็เกิดขึ้นได้ยาก    อาจจะถอยหลังหรือมีความทุกข์มากกว่าตอนที่ไม่ได้ปฏิบัติด้วยซ้ำ  แต่ถ้าย่อหย่อนเกินไปมันก็ไม่เกิดผลเช่นเดียวกัน

ทีนี้ทางสายกลางหมายถึงอะไร    ทางสายกลางในการเจริญสติก็คือการรักษาใจให้เป็นปกติ  ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ว่าน่าพึงพอใจหรือไม่น่าพึงพอใจก็ตาม  ประสบกับสุขเวทนาก็ไม่เพลิดเพลินยินดี  ประสบกับทุกขเวทนาก็ไม่ขุ่นข้องหมองใจ  อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการรักษาใจให้อยู่บนทางสายกลาง  ไม่เอียงไปทางสุดโต่งสองข้าง
ทางสุดโต่งอันแรกก็คือความเพลิดเพลินในกามหรืออารมณ์ที่น่ายินดี ซึ่งไม่ได้หมายความแค่การเที่ยวกลางคืน หรือหมกมุ่นอบายมุขเท่านั้น  แม้การหวนนึกไปถึงอดีตที่น่าประทับใจ แล้วเคลิบเคลิ้มยินดี  หรือมีลมเย็น ๆ มากระทบ ก็เพลินในสุขเวทนาที่เกิดขึ้น   นี่ถือว่าเป็นการเพลิดเพลินในกามได้เหมือนกัน

ทางสุดโต่งอีกอันหนึ่งคือการไปข้องแวะหมกมุ่นอยู่ในความทุกข์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการทรมานตน การทรมานตนไม่ได้หมายความถึงการนอนบนหนาม  เอาหัวฝังอยู่ในดินหรือการอดอาหารจนผอมแห้งเท่านั้น  แต่ยังรวมไปถึงการการหมกมุ่นจ่อมจมอยู่กับความทุกข์    หมกใจให้อยู่ในอารมณ์ที่เศร้าหมอง  ปล่อยให้ความโกรธเกลียดเผาลนจิตใจ    อารมณ์เหล่านี้มันมีรสชาตินะ  พอเราจมเข้าไปในอารมณ์เหล่านี้แล้วใจไม่อยากจะออกมา  หมุนวนอยู่ในความทุกข์  นั่งก็คิด นอนก็คิด อาบน้ำก็คิด  กินข้าวก็คิด  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าคิดไปก็ทุกข์แต่ไม่อยากสลัดมันไปเพราะมันมีรสชาติ  อันนี้ก็เรียกว่าการทรมานตนอีกแบบหนึ่ง

   ทางสายกลางคือการที่เราไม่เข้าไปข้องแวะ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา  ไม่คลอเคลียอยู่กับอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินยินดี  หรือจมติดอยู่ในอารมณ์ที่ชวนหดหู่เศร้าหมอง   การรักษาจิตให้เป็นปกติไม่ยินดียินร้าย  ไม่ฟูแฟบไปตามอารมณ์ที่มากระทบ  นี้แหละคือทางสายกลางที่ละเอียดลงไปในระดับจิตใจ

         ถ้าเราไม่มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ  ก็จะเวียนเข้าไปในทางสุดโต่งอยู่เสมอ  อย่าไปนึกว่าทางสุดโต่งเป็นเรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่เรา เป็นเรื่องของคนที่เที่ยวเตร่เมาหัวราน้ำ   หรือเป็นเรื่องของฤาษีชีไพรที่ทรมานตน  อันนั้นไม่ใช่   เราก็อาจจะข้องแวะกับทางสุดโต่งได้ตลอดเวลา หากไม่มีสติรักษาใจ

สติรักษาใจให้เป็นปกติได้เพราะช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์ที่มากระทบ  ทำให้ไม่ถูกมันครอบงำ และดังนั้นจึงทำให้จิตตั้งอยู่ในความปกติ และดิ่งสู่ความสงบ    อย่างที่ได้เคยพูดไว้แล้วว่าจิตของเรานั้นมีศูนย์ดิ่งอยู่ที่ความสงบ  แต่มันลงไปถึงความสงบลงไปไม่ได้เพราะว่ามีอวิชชาอุปาทานเข้าไปเหนี่ยวรั้งเอาไว้  เหมือนกับสาหร่ายหรือรากไม้ที่ยึดก้อนหินก้อนกรวดไม่ให้จมดิ่งลงสู่พื้นน้ำ  ถ้าเรามีสติรู้ทันสิ่งที่มากระทบและอารมณ์ที่เกิดขึ้น  นิวรณ์ต่าง ๆ ที่คอยเหนี่ยวรั้งจิตเอาไว้ไม่ให้เป็นสมาธิ ก็จะมีน้อยลง ๆ    ในที่สุดความสงบก็เกิดขึ้น เป็นความสงบที่ไม่ต้องปิดหูปิดตาหรือว่าขังตัวเองอยู่ในป่า  เป็นความสงบที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คน 

คนทั่วไปมักเข้าใจว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้ต้องปลีกตัวไปอยู่ในที่เงียบ ๆ  หรือเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ต้องรับรู้อะไรเลย  อันนี้ก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะความสงบที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจ  ในสมัยพุทธกาลเคยมีพราหมณ์คนหนึ่งสอนผู้คนว่า  อย่าดูรูปทางตา อย่าฟังเสียงทางหู อย่ารับรสทางลิ้น ฯลฯ   พระพุทธเจ้าจึงท้วงติงว่าการทำอย่างนั้น  ก็ไม่ต่างจากคนตาบอด หูหนวก   เราสามารถที่จะรับรู้ เปิดหูเปิดตาและเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกอย่างถูกต้อง  และทำหน้าที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันโดยที่ใจยังสงบอยู่ได้นั่นเป็นเพราะเรามีสติ  สามารถสลัดความคิดฟุ้งซ่านออกไป  โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปห้ามจิตไม่ให้คิด หรือไปกดความคิดเอาไว้     เพียงแต่เรารู้ทันสิ่งที่มากระทบ

             คราวนี้เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่านั่นไม่ใช่เป็นจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติในพุทธศาสนา  ความสงบนั้นเป็นเพียงแค่รางวัลหรือผลพลอยได้ขั้นต้นของการปฏิบัติ  แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการเห็นแจ้งในสัจธรรมหรือความจริง จนจิตหลุดพ้นจากความยึดติดทั้งปวง   จิตที่สงบมีประโยชน์ตรงนี้เพราะช่วยให้เราเห็นความจริงได้ชัดเจนขึ้น  จิตที่สงบจากนิวรณ์ทำให้เราได้เห็นความจริงเกี่ยวกับตัวเราชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะตัวตนที่เราหลงปรุงแต่งและยึดมั่นถือมั่นว่ามีจริง

 พระพุทธเจ้าเปรียบใจของเราเหมือนกับผิวน้ำ  ถ้าผิวน้ำเรียบเราก็สามารถส่องมองดูหน้าของตัวเองได้อย่างชัดเจน  แต่ถ้าจิตมีนิวรณ์ก็เหมือนกับผิวน้ำที่ไม่เรียบ ทำให้ไม่สามารถที่จะส่องดูหน้าของตัวเอง  อย่างเช่นจิตที่มีกามราคะท่านก็เปรียบเหมือนกับน้ำที่มีสีขมิ้นและสีต่าง ๆ มาปะปน ทำให้เห็นไม่ชัดเจน   จิตที่มีปฏิฆะหรือความขุ่นข้องเปรียบเหมือนกับน้ำซึ่งเดือดเป็นไอ   จิตที่มีถีนมิทธะเปรียบเหมือนน้ำซึ่งมีสาหร่ายและจอกแหนเต็มไปหมด  จิตที่มีวิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัยก็เปรียบเหมือนกับน้ำซึ่งขุ่นมัวแถมยังไปตั้งอยู่ในที่มืดด้วย  จิตที่มีอุทธัจจกุกกุจจะหรือความฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน  เปรียบเหมือนกับน้ำซึ่งถูกลมพัดกระเพื่อมเป็นระลอกคลื่น 

   นิวรณ์จึงไม่เพียงเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความสงบเท่านั้น  แต่ยังเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เราเห็นตัวเองตามที่เป็นจริงได้  แต่ถ้าจิตสงบแล้วเราจะเริ่มเห็นตัวเองตามที่เป็นจริง  ที่จริงถ้าเรารู้จักมอง  ตัวนิวรณ์เองก็เป็นอุปกรณ์อย่างดีให้เรารู้จักตัวเองได้ชัดเจนด้วยเหมือนกัน  อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองตัวเองอย่างไร ถ้าเรามีสติเฝ้าดูจิตอยู่บ่อย ๆ  ก็จะเห็นอาการขึ้นอาการลงของจิต  เห็นความแปรผันของความรู้สึกนึกคิด  แต่ก่อนไม่ค่อยเห็นความคิด   เลยไม่รู้จักความคิด เพราะว่าถูกความคิดครอบงำหรือไม่ก็แล่นไปตามความคิด  ถูกความคิดลากลู่ถูกังไป  เวลาโกรธใครก็คิดแต่จะด่าเขาหรือทำร้ายเขา  ก็เลยมองไม่เห็นความโกรธ   เวลาง่วงก็ซึมไปตามความง่วง  ไม่ได้เห็นความง่วง เลยไม่เห็นจิตของตัวเองอย่างชัดเจน 

 แต่ถ้าเรามีสติเฝ้าดูจิตอยู่เป็นนิจ ก็จะเห็นลักษณะอาการและธรรมชาติของจิต  เห็นอาการขึ้นลงแปรปรวนไปตามสิ่งเร้า  เราก็จะเห็นชัดเจนว่าจิตนี้ไม่เที่ยง  พอเห็นความไม่เที่ยงได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ  เราก็เริ่มตระหนักว่าไม่สามารถที่จะยึดมั่นถือมั่น

ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นได้  บางครั้งเรามีความคิดที่รู้สึกว่าหลักแหลมมาก  ยอดเยี่ยมจริง ๆ เราจึงเอาเป็นเอาตายกับความคิดนั้น  ใครจะมาแย้งใครจะมาขัดเราไม่ยอม ต้องถกเถียงอย่างเอาเป็นเอาตาย   บางทีก็ถึงกับทะเลาะวิวาทกับใครต่อใครเพราะว่าเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรา  แต่แล้วผ่านไปวันสองวันเราอาจรู้สึกว่าความคิดนี้ชักจะไม่เข้าท่าเสียแล้ว   ที่เคยเป็นบ้าเป็นหลังยึดมั่นสำคัญหมายกับมัน ก็เลยคลาย ๆ ไป ได้คิดว่าเราไม่น่าไปเอาเป็นเอาตายกับมันเลย

 มันเหมือนกับเด็กที่ก่อปราสาททรายอยู่บนชายหาด  เวลาเด็กก่อปราสาทใครจะมายุ่งมาแตะไม่ได้เลย   เขาต้องการก่อให้สวยที่สุด  เพื่อนจะมาเติมแต่งก็ไม่ยอม  บางทีถึงกับทะเลาะกัน  เพราะหวงว่านี่ปราสาทของฉัน ใครจะมายุ่งไม่ได้   แต่พอตกเย็นแม่มาเรียกให้กลับบ้านจะพาไปเที่ยว    พอรู้ว่ามีของดีกว่ารออยู่ เด็กก็รีบวิ่งกลับบ้าน  แต่ก่อนจะกลับบ้านเขาอดไม่ได้ที่จะกระทืบปราสาททรายนั้นให้พังไปเสีย  ทั้ง ๆ ที่ตอนกลางวันอุตส่าห์ทะนุถนอมหวงแหนไม่ให้ใครมายุ่ง แต่ตกค่ำก็เหยียบย่ำทำลายมันเสียโดยไม่นึกเสียดายเลย 
ความคิดของเราก็อาจเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ทีแรกก็รู้สึกว่ามันช่างวิเศษเหลือเกิน  เป็นบ้าเป็นหลังกับมัน  แต่สุดท้ายเราก็เปลี่ยนใจ เห็นว่ามันไม่เข้าท่าเสียแล้ว ถึงตรงนี้แหละเราจะเริ่มรู้สึกว่าความคิดความรู้สึกเหล่านี้  มันไม่น่ายึดมั่นถือมั่น จะเอาเป็นเอาตายกับมันไม่ได้เลย  เราจะเห็นอย่างนี้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ  จนกระทั่งในที่สุดก็จะพบว่า ว่ามันเป็นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้  เห็นกระทั่งว่ามันไม่ใช่ตัวตนของเรา    แต่ก่อนไม่เห็นเพราะว่าไม่เคยดู  ไม่เคยมอง  เพราะว่าถูกครอบด้วยอารมณ์ความคิดเหล่านั้น  มันก็เหมือนกับเราอยู่ในศาลาหลังนี้ เราไม่เห็นหรอกว่าศาลามันสูงใหญ่อย่างไร  จนกว่าจะออกไปนอกเราจึงเห็นศาลานี้ชัดเจน   ต้องออกมาข้างนอกจึงจะเห็นได้ชัดขึ้น 

 ดังนั้นการปล่อยจิตให้เข้าไปในความคิด ทำให้เราไม่เห็นความคิด ทำให้ไม่เห็นจิตใจได้ชัดเจน   แต่พอเราออกมา  ไม่เข้าไปติดอยู่ในความคิด  เพราะว่าจิตมีสติเป็นฐาน ก็จะเห็นความคิด  เห็นอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น   การที่เราไม่ติดเข้าอยู่ในวังวนแห่งความรู้สึกนึกคิด โดยตัวมันเองก็ทำให้จิตเกิดความสงบแล้ว   ทีนี้เมื่อเห็นอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดปัญญาเห็นชัดในความจริงของจิตใจ 

 การเห็นจิตหรือเห็นตัวเองตามที่เป็นจริงจะทำให้เราเกิดปัญญา  เห็นความไม่เที่ยงของจิต  เห็นความแปรปรวนของความรู้สึกนึกคิด  เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่น่ายึดมั่นสำคัญหมาย  การที่จะยึดว่าเป็นเราเป็นของเราก็ค่อย ๆ จางคลายไป  เราเห็นอาการเหล่านี้ว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในจิตของเรา  และเรายังเห็นด้วยว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่ากิเลสหรืออกุศลจิต  มันก็ไม่ได้ยั่งยืนอะไร  มาแล้วก็ไป  แต่ที่มันดูเหมือนตั้งอยู่นานราวกับเที่ยง   ก็เพราะว่าใจของเรานั่นเองที่ไปประคองรักษามันเอาไว้  ไปให้อาหารหรือเพิ่มเชื้อให้กับมัน  ด้วยการหลงเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น มันก็เลยอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี

 แต่พอวางระยะจากอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้   มีสติเป็นผู้เฝ้าดู จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มาแล้วก็ไป  ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันไม่ยั่งยืน  ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นไม่มีวันที่จะอยู่ค้ำฟ้าไปได้  และมันก็ไม่ได้อยู่ตลอดเวลาด้วย เพราะมันไม่ได้เป็นธรรมชาติหรือเนื้อแท้ของจิต  เราก็จะเห็นชัดว่า ที่จริงมันเป็นเพียงสิ่งที่จรเข้ามา อาศัยจิตของเราเป็นที่เกิด  โดยมีเหตุปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้เกิดขึ้น  เหมือนกับเปลวไฟที่อาศัยไม้เป็นที่เกิด  เมื่อเอาไม้มาขัดถูกันก็เกิดเปลวไฟขึ้น  เปลวไฟมันไม่ได้อยู่ในเนื้อไม้  มันไม่ได้เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของไม้  แต่ว่ามันอาศัยไม้เป็นที่เกิด  เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม  มันก็เกิดขึ้น  ความโกรธ ความทุกข์ ความเศร้า ความเกลียด ความอยาก  ก็เหมือนกัน  มันไม่ใช่สิ่งที่สถิตอยู่ในจิต  หรือเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของจิต  มันเพียงแต่อาศัยจิตเป็นที่เกิด  และเมื่อเหตุปัจจัยหมดมันก็ดับไป  กิเลสเหล่านี้หรือความทุกข์เหล่านี้มันเป็นเพียงสิ่งที่จรเข้ามา   

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า   จิตของเราเป็นประภัสสรแต่ที่เศร้าหมองไปก็เพราะกิเลสจรเข้ามา  เหมือนกับดวงอาทิตย์ซึ่งสว่างอยู่เสมอ แต่ที่มืดไปก็เพราะว่ามีเมฆมาบัง  บางทีเงาของโลกหรือเงาของดวงจันทร์นั่นแหละที่ไปบังเอาไว้  การเห็นธรรมชาติของจิตอย่างที่กล่าวมา เราเรียกว่าปัญญา   ปัญญาคือความรู้แจ้งในธรรมชาติของจิตใจ   นี้คือจุดหมายสำคัญที่สุดของการปฏิบัติ   ส่วนความสงบเป็นผลพลอยได้ หรือเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดปัญญา

 คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามาทำสมาธิเพื่อความสงบ   แต่ว่าพอสงบแล้วชีวิตจิตใจไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่เพราะว่าปัญญาไม่เกิด ยังยึดมั่นถือมั่นในตัวตน  มีทุกข์มากระทบก็ปลดเปลื้องไม่ได้    แต่ถ้าเราหมั่นดูจิตจนกระทั่งเห็นธรรมชาติของมัน ปัญญาก็จะเกิดขึ้น  ความยึดมั่นถือมั่นก็จะน้อยลง  เราจะปล่อยวางได้มากขึ้น  เป็นเพียงแค่ผู้ดู  ไม่ไปยึดเอาอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ มาเป็นเรา  มาเป็นของเรา  แต่ก่อนไม่มีสติก็เลยเผลอไปยึดว่ามันต้องเที่ยง หรือไปยึดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา เลยไปเอาเป็นเอาตายกับมัน  แต่ถ้ามีปัญญา เราจะปล่อยวางได้มากขึ้นเรื่อย ๆ    เป็นการปล่อยที่ไม่ได้เกิดจากสติเท่านั้น หากยังเป็นผลจากปัญญาด้วย 

 ที่จริงถ้ามีปัญญาเสียแล้ว    ก็ไม่ทันจะยึดถือเสียด้วยซ้ำ  แต่ก่อนเคยอุ้มหินโดยไม่รู้ตัว  พอรู้ตัวและรู้ว่าหินมันหนักก็เลยปล่อย  เหมือนกับคนแบกโอ่งน้ำเวลาหนีไฟ ที่จริงน่าจะแบกของที่เบากว่านั้นและมีค่ากว่านั้น แต่เพราะตกใจเลยแบกโอ่ง  ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าหนักด้วยซ้ำ  ครั้นหายตกใจ ความรู้ตัวมาแทนที่ ก็เลยวางโอ่งทันที  เพราะรู้สึกว่าหนัก  แต่ว่าถ้าเรามีปัญญาเสียแต่แรกแล้ว  เราจะไม่เข้าไปแตะโอ่งเลยด้วยซ้ำ  เพราะรู้อยู่ว่าแบกไปก็หนักเปล่า ๆ  และรู้ว่ายังว่ามีสิ่งอื่นที่น่าขนหนีไฟมากกว่า   

ปัญญาช่วยทำให้เกิดความปลอดโปร่งในจิตใจ ไม่หลงติดกับสิ่งเย้ายวน  นี้คือ  ความสุขที่เรียกว่าปวิเวกสุข  คือความสุขเพราะสงัดจากกาม เป็นสุขเพราะใจปลอดโปร่งจากสิ่งเย้ายวน  มันไม่ใช่ว่ารอบตัวไม่มีสิ่งเย้ายวน  สิ่งเย้ายวนถึงจะมี แต่ทำอะไรจิตใจไม่ได้  เพราะมีปัญญาเห็นโทษของสิ่งเหล่านั้นว่าถ้ายึดไปแล้วจะเป็นทุกข์  ก็เลยไม่ยึดเอาไว้   เรียกว่ารู้ทันในสิ่งเหล่านั้น

   หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น  คนเป็นอันมากเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์  วันหนึ่งมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่ามีโกรธไหม  หลวงปู่ตอบสั้น ๆ ว่า “มีแต่ไม่เอา”   ที่ท่านบอกว่า “ไม่เอา” นี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ  หลวงปู่ไม่เอาเพราะท่านมีปัญญาแลเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่น่าเอา  และเอาไม่ได้   ที่จริงไม่ใช่แค่ความโกรธที่ไม่น่าเอา  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันก็ไม่น่าเอาเหมือนกัน  แม้กระทั่งสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี  เพราะว่าไปยึดมันเมื่อไหร่  ก็เตรียมตัวทุกข์ได้เลย  เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่เที่ยง 

 หลวงพ่อชาเปรียบว่าทุกข์คือหัวงู  สุขคือหางงู  ไปจับหางงูถ้าปล่อยไม่ทันงูมันก็กัดเอา  สุขก็เหมือนกันถ้าไปยึดมันเอาไว้ก็เตรียมทุกข์ได้เลยเพราะว่ามันก็ต้องแปรผันไป  เมื่อมีคนสรรเสริญแล้วเราเกิดยินดีขึ้นมา  ก็เตรียมใจทุกข์ได้เลยเพราะว่าไม่นานสรรเสริญนั้นก็จะหายไป  มิหนำอาจจะกลายเป็นคำนินทาต่อว่าด้วยซ้ำ  เพราะว่าสรรเสริญกับนินทามันคู่กัน  มีได้มีเสียมันคู่กัน  จะมีสิ่งหนึ่งโดยไม่มีอีกสิ่งหนึ่งเป็นไปไม่ได้ นี้เป็นธรรมชาติธรรมดา

 ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติธรรมดาเมื่อไหร่เราก็จะวางใจเป็นปกติได้   แม้ว่ามันจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม  เมื่อมีทรัพย์  เราก็รู้ว่าสักวันมันย่อมหมดไป  เมื่อมีสุขเราก็ไม่เผลอไปเพลิดเพลิน  เพราะเรารู้ว่าไม่นานสุขนั้นก็ผันแปรไป  เพราะว่าในสุขก็มีทุกข์แฝงอยู่  ทุกข์นั้นจะแสดงตัวเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น   อาหารอร่อย  วันแรกที่ได้กินก็รู้สึกอร่อย  แต่พอวันที่สอง วันที่สาม ความอร่อยก็เริ่มลดลง  ยิ่งถ้ากินทุกวันทุกมื้อ  ไม่นานความอร่อยก็แปรเป็นความเบื่อและจากความเบื่อก็กลายเป็นความเอียน  อาหารที่อร่อยกลายเป็นอาหารที่น่าเอียนไปในที่สุด  จะเรียกว่าในความอร่อยมีความไม่อร่อยแฝงอยู่ก็ได้

ความจริงรสชาติของอาหารก็ยังเหมือนเดิม  สูตรก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง   แต่ใจของเราต่างหากที่เป็นตัวการ       ความอร่อยกลายเป็นความเอียนเพราะใจของเรานั่นแหละ  เมื่อเจอรสชาติที่ซ้ำซาก   สุขเวทนาก็ค่อย  ๆ เลือนหาย  ทุกขเวทนามาแทนที่   ความสุขเป็นสิ่งไม่เที่ยงก็เพราะเหตุนี้   

สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้ชัดถ้าเรามีสติหมั่นดูใจอยู่บ่อย ๆ เมื่อเห็นแล้วเราจะไม่เผลอ  จะระวังไม่ไปยึดหรือยินดียินร้ายกับสิ่งต่าง ๆ  ไม่ว่าน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ  เมื่อได้ก็ไม่เพลิดเพลิน  เมื่อเสียก็ไม่ทุกข์ระทม  เพราะเรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ว่ามันมาแล้วก็ไป  มีแล้วก็หมด   ได้มาก็ต้องเสียไป เป็นธรรมดา

 ที่พูดมานี้เป็นสัจธรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเท่านั้น หากยังเกิดกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วย  เมื่อเราชอบพอรักใคร่กับใครสักคน  เราก็ระลึกไว้อยู่เสมอว่า  สักวันหนึ่งก็ต้องมีการพลัดพรากสูญเสีย  เราเตรียมใจพร้อมตลอดเวลา  เราจะไม่เผลอไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเขาจะอยู่กับเราไปตลอด  เพราะเรารู้ว่าความจากกันเป็นเรื่องธรรมดา  เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากกันจริง ๆ ก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจมากเพราะเราก็รู้ว่าเป็นธรรมดาของชีวิต  ธรรมดาของโลกเป็นเช่นนั้นเอง  เราไม่เผลอไปยึดว่าเขาจะต้องอยู่กับเราหรือเป็นของเราไปตลอด  เมื่อไม่เผลอไปยึดตั้งแต่แรกแล้ว  พอความผันผวนพลัดพรากเกิดขึ้นก็ไม่ทุกข์

   มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกว่า  มีครอบครัวหนึ่งเป็นชาวนาแต่ว่าเป็นผู้ที่รู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิต  ทุกวันพ่อ ลูกชาย และลูกสาวจะออกไปไถนาแต่เช้า  ส่วนแม่กับลูกสะใภ้จะอยู่ทำอาหารที่บ้าน  สาย ๆ ลูกสาวจะมาเอาอาหารจากบ้านไปให้คนที่กำลังทำนา  วันหนึ่งลูกชายถูกงูกัดถึงแก่ความตาย  พ่อรู้ก็วางร่างลูกชายไว้ที่คันนา แล้วไถนาต่อไปโดยไม่ได้แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด  แล้วสั่งลูกสาวไปบอกแม่ว่าวันนี้เอาอาหารมาพอกินแค่สองคนเท่านั้น  ปกติต้องเตรียมสำหรับสามคน  เมื่อลูกสาวไปที่บ้านก็บอกแม่ตามนั้น   แม่ก็รู้ทันทีว่าลูกชายตายแล้ว

เมื่อแม่รู้เช่นนั้นก็ไม่ได้ว่าอะไร  ชวนลูกสะใภ้ซึ่งเป็นเมียของผู้ตาย รวมทั้งคนใช้ให้ไปด้วยกัน  เพื่อทำพิธีเผาศพ  ระหว่างที่เผาศพนั้น  ทั้งห้าไม่ได้มีอาการเศร้าโศกเสียใจเลย   พระอินทร์บนสวรรค์เห็นก็แปลกใจ  ลงมายังมนุษยโลกและปลอมตัวเป็นพราหมณ์แก่เดินผ่านบริเวณนั้น   แล้วถามว่า “พวกท่านเผาศพใคร? ”

 พ่อก็บอกว่าคนที่ตายนั้นเป็นลูกชาย  พราหมณ์ก็แปลกใจว่า ถามว่าทำไมถึงไม่มีใครเสียใจเลย  พ่อก็เลยบอกว่า “ บุตรของข้าพเจ้าละทิ้งร่างกายเหมือนกับงูที่ลอกคราบ เมื่อร่างกายใช้การไม่ได้จึงตายไป เขาถูกเผาก็ไม่รู้ว่าหมู่ญาติร้องไห้คร่ำครวญ  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่โศกเศร้าถึงเขา ” 

 คนเป็นแม่ก็บอกว่า  “ บุตรของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าไม่ได้เชิญมา แต่เขาก็มา  ถึงคราวจะไป ข้าพเจ้าไม่ได้อนุญาต แต่เขาก็ไป เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น  จะคร่ำครวญไปทำไม  เขาถูกเผาก็ไม่รู้ว่าหมู่ญาติร้องไห้คร่ำครวญ  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกเสียใจถึงเขา ”

น้องสาวก็บอกว่า “ถ้าข้าพเจ้าร้องไห้ ร่างกายก็ผ่ายผอม จะมีประโยชน์อะไร  พี่ชายของข้าพเจ้าถูกเผา ก็ไม่รู้ว่าหมู่ญาติร้องคร่ำครวญ  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา ” 

ภรรยาก็บอกว่า “คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว เปรียบเหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์  สามีของข้าพเจ้าถูกเผา ก็ไม่รู้ว่าหมู่ญาติร้องไห้คร่ำครวญ  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา”

ส่วนคนใช้ก็บอกเหมือนกันว่า “คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว ย่อมไร้ประโยชน์ เปรียบเสมือนหม้อน้ำที่แตกแล้วก็ไม่สามารถที่จะประสานให้สนิทได้ดังเดิม นายของข้าพเจ้าถูกเผาก็ไม่รู้ว่าหมู่ญาติร้องไห้คร่ำครวญ  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา”

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า  เมื่อเราเข้าใจสัจธรรมความจริงของชีวิต  เราก็สามารถยอมรับความความพลัดพรากของชีวิตอันเป็นสัจธรรมของโลก  สามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสงบสุข  นี่ไม่ได้หมายความว่า  ไม่ได้มีความผูกพันอะไรต่อกัน  แต่เป็นความผูกพันที่ยอมรับในความเป็นจริงของชีวิต 

   การมีปัญญาประจักษ์แจ้งในสัจธรรมของชีวิต ช่วยให้จิตของเราเกิดความสงบได้อย่างแท้จริง  ความทุกข์ไม่สามารถแผ้วพานได้ เพราะความทุกข์ก็เกิดขึ้นจากความยึดติด  เมื่อยึดติดแล้วพอมันพลัดพรากสูญหายไปก็เป็นทุกข์  ความยึดติดอยากให้เขาอยู่กับเราไปตลอด  หรือความยึดติดถือมั่นว่าสิ่งนี้คือเราเป็นของเรา  จะต้องเป็นไปตามใจเรา  เมื่อไม่มีความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้ว  ความผันผวนปรวนแปรของสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะทำอะไรเราได้

  สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ความผันผวนปรวนแปรหรือความสูญเสีย  แต่ได้แก่การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นของเราเองว่าทุกอย่างจะต้องอยู่คงที่ไม่มีการพลัดพรากสูญเสีย   ปัญหาอยู่ที่ใจของเราเอง ไม่ได้อยู่ที่สิ่งอื่น  เหมือนกับเราเดินไปเตะหินหรือไปโดนหนามทิ่มแทง  เราจะไปโทษหินหรือหนามไม่ได้เพราะมันอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว  เราต่างหากที่เดินไปเตะ เป็นความผิดของเราเองที่ซุ่มซ่าม   ธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  คือมีเกิดก็มีดับ  มีมาแล้วก็ไป  มีสรรเสริญก็มีนินทา  เมื่อมีก็หมดได้  นี่เป็นธรรมดา ถ้าเราจะทุกข์ก็เป็นความผิดของเราเอง

การดำเนินชีวิตในโลกนี้เหมือนกับการล่องแพในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก  เราจะทวนกระแสน้ำก็ไม่ได้  จะลอยไปตามกระแสน้ำอย่างเดียวก็อาจชนหินหรือเกาะแก่ง สิ่งที่ควรทำก็คือว่ารู้จักล่องน้ำโดยระมัดระวังคัดท้ายแพไม่ให้ไปชนหินหรือเกาะแก่ง   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักธรรมชาติของกระแสน้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักคัดท้ายแพด้วย  ถ้าทำเช่นนั้นได้กระแสน้ำก็จะเป็นประโยชน์ สามารถพาเราไปถึงที่หมายได้

จุดหมายในการเดินทางของคนเรานั้นอาจจะไม่เหมือนกัน  แม้จะล่องน้ำสายเดียวกัน แต่บางคนมีจุดหมายสั้น ๆ  บางคนมีจุดหมายที่ยาวไกล   บางคนขอแค่ความมั่งมีศรีสุข บางคนอยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ   แต่บางคนก็ปรารถนาให้เข้าถึงพระนิพพาน  จะไปไกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตาม ล้วนต้องอาศัยสติ เพราะสติเป็นเหมือนหางเสือ  คนที่อยากจะนอนหลับฝันดีไม่มีทุกข์ก็ต้องใช้สติ  จะอยู่ในโลกนี้อย่างปลอดภัยไม่ประสบอุบัติเหตุก็ต้องอาศัยสติ  จะทำมาหากินให้มั่งคั่งร่ำรวยก็ต้องอาศัยสติ  เพราะถ้าไม่มีสติก็อาจหลงเข้าไปในอบายมุขจนหมดเนื้อหมดตัวได้  คนที่หวังยิ่งกว่านั้น  คือหวังให้เข้าถึงพระนิพพานก็ต้องอาศัยสติ  เพราะสติสามารถบันดาลปัญญาให้เกิดขึ้นแก่จิตใจ จนสามารถพ้นทุกข์ได้   

ดังนั้นการฝึกสติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการมีชีวิตที่ดีงาม  ขอให้เราระดมความเพียรเพื่อปลูกสติให้เจริญงอกงามโดยเฉพาะในทางจิตใจ โดยเริ่มจากความสงบแล้วก้าวไปสู่ความสว่าง จนจิตเข้าถึงความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง
 
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ตื่นรู้ที่ภูหลง : ล่องกระแสธรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 10:06:16 pm »
:13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~