บทวิจารณ์หนังออสการ์ 127 Hours - 5 วันเฉียดตาย กับความหมายของการมีชีวิต
รายละเอียด :
หลังประกาศศักดาด้วยการคว้าออสการ์จาก
Slumdog Millionaire เมื่อปี 2009 แถมหนังยังทำเงินทั่วโลกไปกว่า $377 ล้านดอลล่าร์ (โดยใช้ทุนสร้างไปเพียง $15 ล้านดอลล่าร์) ความจริงแล้ว ถ้าหาก
แดนนี่ บอยล์ อยากจะทำหนังเรื่องถัดไปด้วยทุนสร้างสักร้อยล้านเหรียญล่ะก็ สตูดิโอยักษ์ใหญ่ทั้งหลายคงแห่กันมาแย่งเซ็นเช็คให้กันเป็นทิวแถวแน่ๆ!
แต่ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษคนนี้ ก็ไม่ได้หลงระเริงไปกับ ชื่อเสียง ลาภยศ ที่ได้มาเหล่านั้น
บอยล์ ยังซื่อสัตย์กับตัวเอง เพราะรู้ดีว่า ผู้กำกับอย่างเขานั้น ถนัดทำหนังทุนต่ำ ที่มีสเกลไม่ใหญ่ มากกว่า (
The Beach ที่แสดงนำโดย
ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ้ ซึ่งใช้งบไป $50 ล้านดอลล่าร์ คือหนังที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดแล้วของ
แดนนี่ บอยล์)
และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้
บอยล์ กลับมาพร้อมกับ
หนังทุนต่ำ คุณภาพสูง อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนักวิจารณ์ทุกสำนักทั่วโลกการันตีว่า
ยอดเยี่ยม ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงหนังเรื่อง
127 Hours 127 Hours เล่าเรื่องของ
แอรอน รอลสตัน วิศวกรหนุ่มผู้รักการผจญภัยเป็นชีวิตจิตใจ แต่วันหนึ่งเกิดดวงแตกสุดขีด เมื่อเขาเดินทางแบบฉายเดี่ยวไปปีนหุบเขาที่มีชื่อว่า บลู จอห์น และเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ขึ้น เมื่อเขาพลัดร่วงลงมาไปซอกเขาพร้อมกับก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งหล่นมาทับแขนขวาของเขา ทำให้ต้องติดแหง็กอยู่ในนั้นคนเดียวกว่า 5 วัน (ซึ่งก็คือ
127 ชั่วโมง ตามชื่อเรื่อง) จนสุดท้ายเขาต้องตัดสินใจตัดแขนตัวเองทิ้งด้วยเครื่องมือที่พอจะหาได้ในเป้ เท่านั้นยังไม่พอ
อารอน ยังต้องตะเกียกตะกายปีนขึ้นจากซอกเขามรณะที่ว่าด้วยแขนข้างเดียว แถมยังต้องเดินเท้าอีกถึง 8 ไมล์ ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือในท้ายที่สุด
รู้เรื่องย่อกันแบบคร่าวๆ แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่า ก็ไม่เห็นจะมีอะไรพิเศษตรงไหน? เพราะ
127 Hours ก็คงเป็น หนังเฉียดตาย ซึ่งสร้างจากเรื่องจริง ที่คนดูจะเห็นว่า เขาไปติดแหง็กอยู่ในซอกเขาได้ยังไง? แล้วรอดออกมาได้ยังไง? ซึ่งใช่ครับ หนังเล่าถึงรายละเอียดในส่วนนั้น แต่นั่นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม ไม่ใช่เนื้อหาสาระ หรือ แก่น ของเรื่องที่หนังต้องการจะบอก
เพราะแท้ที่จริงแล้ว
แก่น ของเรื่องที่หนังต้องการจะบอกกับคนดูก็คือ...
มนุษย์ จะมีความสมบูรณ์ และเข้าใจความหมายของชีวิตมากกว่าเดิม หลังจากก้าวพ้นวิกฤตอะไรบางอย่างมาได้
อย่างน้อยๆ หลังผ่านเหตุการณ์เฉียดตายครั้งนี้มา
แอรอน จะทิ้งข้อความบอกไว้ทุกครั้งว่าเขาไปไหน ซึ่งก่อนหน้านี้เขาไม่เคยบอกใครเลย...
จะว่าไป
แอรอน รอลสตัน ใน
127 Hours มีส่วนคล้ายกับ
ชัค โนแลนด์ (ที่แสดงโดย
ทอม แฮงค์ส) ในหนังเรื่อง
Cast Away อยู่เหมือนกัน เพียงเปลี่ยนจากติดอยู่ในซอกแคบๆ ของหุบเขา มาเป็นติดเกาะ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว สำหรับผม ติดเกาะ ดูจะสบายกว่าเป็นไหนๆ เพราะในขณะที่
แอรอน ถูกหินทับมือ เคลื่อนไหวไม่ได้ น้ำกับอาหาร ก็หร่อยหรอลงเรื่อยๆ (จนสุดท้ายต้องดื่มฉี่ตัวเองแทนน้ำ!) แถมวันๆ ได้แต่คุยกับตัวเองผ่านกล้องวีดีโอ แต่
ชัค ยังสามารถเดินเล่นทั่วเกาะ มีอาหารทะเลให้กิน แถมยังมี
วิลสัน (ลูกวอลเล่ย์) คอยเป็นเพื่อนปรับทุกข์อีกต่างหาก
ในขณะที่
Cast Away อาจจะทำให้คนดูคิดว่า ถ้าติดเกาะเราจะเอาชีวิตรอดยังไง? แต่
127 Hours ดึงผู้ชมเข้าไปในสถานการณ์ที่
คับขัน บีบคั้น และ กดดัน กว่าหลายเท่า กับทางออกทางเดียวนั่นก็คือ
ต้องตัดแขนตัวเองทิ้งซะ! ซึ่งหากมองกันในภาพรวมแล้ว
Cast Away อาจจะเป็นหนังที่มีสเกลใหญ่กว่า ดูสนุก และให้ความบันเทิงมากกว่า แต่ส่วนตัวแล้วกลับคิดว่า
127 Hours สามารถนำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างสมจริง (ส่วนนึงอาจเป็นเพราะหนังสร้างมาจากเรื่องจริง) ดูแล้ว รู้สึกสะเทือนใจ มีอารมณ์ร่วมมากกว่าเป็นไหนๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า
Cast Away เป็นหนังไม่ดีนะครับ
Cast Away เป็นหนังอีกเรื่องที่ผมเองชอบมากๆ เพียงแต่จะบอกว่า ผมรู้สึกอิน และเอาใจช่วย
แอรอน ใน
127 Hours มากกว่าเท่านั้นเอง
หนังคงจะไม่ทรงพลังขนาดนี้ หากไม่ได้การแสดงระดับสุดยอดของ
เจมส์ ฟรานโก้ ผู้มารับบทเป็น
แอรอน รอลสตัน เรียกว่า คนเดียวเอาคนดูอยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบ แบบ
วัน แมน โชว์ รวมถึงการกำกับของ
แดนนี่ บอยล์ ที่สามารถเล่าเรื่องราวออกมาได้อย่าง
สนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ บีบคั้น หวาดเสียว สยดสยอง โดยเฉพาะฉากที่
แอรอน ลงมือเฉือนเส้นเอ็นตัวเอง เชื่อว่าเหลือเกินว่าหลายคนคงจะถึงขนาดปิดตาไม่กล้าดูฉากนี้
บวกกับมุมกล้อง เทคนิคการตัดต่อ วิธีการเล่าเรื่อง และสไตล์ภาพ (ซึ่งหลายๆ ช็อตน่าจะทำให้แฟนพันธุ์แท้
แดนนี่ บอยล์ นึกไปถึงหนังสร้างชื่อของเขาอย่าง
Trainspotting) อ่อ...อีกอย่างที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ เพลงประกอบที่ยังคงเจ๋งสุดๆ เหมือนทุกเรื่องที่ผ่านมา
ด้วยวิธีการทำหนังชั้นเซียนของ
แดนนี่ บอยล์ ที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้น ทำให้เรื่องราวใน
127 Hours ถูกเล่าออกมาได้อย่างไหลลื่น แม่นยำ ถูกจังหวะจะโคน เพราะอย่างที่กล่าวเอาไว้ตอนต้นแล้วว่า นอกจากจะได้ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ 5 วันเฉียดตายของพระเอกในเรื่องแล้ว หนังยังนำเอาความคิดในหัวของ
แอรอน มาตัดสลับให้เห็นด้วยว่า ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต เขาคิดอะไรอยู่?
ซึ่งภาพในมโนสำนึกของ
แอรอน นี่แหละ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อีกครั้งว่า ในยามคับขัน จวนตัว โดยเฉพาะเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คิดว่าจะเป็นวาระสุดท้าย สัญชาตญาณมนุษย์มักจะนึกถึง พ่อ แม่ คนที่เรารัก และหวนคิดไปถึงข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยทำไว้ (อย่างพระเอกในเรื่องรู้สึกเสียใจที่ไม่ไปงานแต่งน้องสาว รู้สึกผิดที่ไม่ชอบรับโทรศัพท์เวลาที่แม่โทรมาหา นึกถึงเรื่องแย่ๆ ที่เคยทำไว้กับหญิงสาวอันเป็นที่รัก เป็นต้น)
นอกจากนั้น เหตุการณ์เฉียดตายของ
แอรอน ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่ผู้ชมทั้งหลายอีกด้วยว่า อย่าตกอยู่ในความประมาทเด็ดขาด! เพราะเพียงแค่เสี้ยววินาที ชีวิตคุณอาจพบกับความพลิกผันครั้งใหญ่ได้...
แต่ถ้าเกิดว่า วันนึงคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ชีวิตต้องเจอกับอภิมรสุม หรือวันมหาวิปโยค ที่หนักอึ้งแสนสาหัสขนาดไหน โปรดจงตั้งมั่น แก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างมีสติ ทำสุดกำลัง เต็มความสามารถ ท้อได้ แต่อย่าถอย
เพราะเชื่อเหลือเกินว่า
อุปสรรค หรือ
ปัญหา ที่หลายคนต้องประสบนั้น คงจะไม่ได้หนักหนาเกินไปกว่าเหตุการณ์ที่ลูกผู้ชายชื่อ
แอรอน รอลสตัน ต้องฝ่าฟัน และเอาชนะมัน มาได้ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
และถึงแม้จะออกมาจากหุบเขา บลู จอห์น ด้วยการเสียแขนไปข้างหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาได้กลับออกมาคือ
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่น่ายกย่องมากๆ!!! โดย ทอม แฮนเซ่น