หลวงตามหาบัวละสังขารแล้ว
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ละสังขารแล้วเมื่อเวลา 3.41น.วันที่ 30 ม.ค. หลังอาพาธด้วยอาการปอดติดเชื้อ สิริรวมอายุ 98 ปี
เมื่อเวลา 4.30น. คณะศิษย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี แจ้งว่า หลวงตามหาบัว ได้ละสังขารแล้ว เมื่อเวลา 3.41 น. ของวันที่ 30 ม.ค. หลังอาพาธต่อเนื่องด้วยอาการปอดติดเชื้อ สิริรวมอายุ 98 ปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมา หลวงตามหาบัว ได้เดินทางเข้ารับการรักษาอาการอาพาธยังโรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ตามคำนิมนต์ของคณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ที่ได้ให้การรักษามาก่อนหน้านี้ และได้เดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่วัดป่าบ้านตาดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.
คอลัมน์คาบใบลานผ่านลานพระในหนังสือ พิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 มี.ค.2552 ได้เคยตีพิมพ์ประวัติหลวงตามหาบัวเอาไว้จึงขอนำมาเสนออีกครั้งดังนี้
"ไร้รอยขยับปีกของนกในนภากาศ" หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โดย.....ภัทระ คำพิทักษ์
ณ พ.ศ.นี้ คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จักนาม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เพราะพระป่ารูปนี้เคลื่อนทัพพระกรรมฐานออกมาบิณฑบาตกู้ชาติ คราวประเทศประสบหายนะเมื่อปี พ.ศ. 2540
การเคลื่อนแถวพระกรรมฐานออกจากป่ามาสู่เมืองในเวลานั้น ยังผลให้เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ
1.ไม่เพียงยกบ้านเมืองขึ้นจาก หายนะ การบิณฑบาตความเสียสละครั้งนั้นท่านยังเปิดโลกทัศน์ใหม่ของความสัมพันธ์ ระหว่างธรรมกับโลก วัดกับบ้านเมืองขึ้นด้วย
สิ่งที่คนทั่วไปเห็นตกลงในบาตรของท่านคือ เงินทองนับหมื่นล้านบาทนั้นว่าน่าอัศจรรย์แล้ว แต่สิ่งที่ตกสู่บาตรอย่างแท้จริงนั้นอัศจรรย์ยิ่งกว่า เพราะท่านบิณฑบาตเอาปัญญา เอาความถูกต้อง เอาความเสียสละและความสามัคคีของคนในชาติออกมา ในที่สุดประเทศไทยซึ่งกำลังตกลงสู่หุบเหวแห่งหายนะจึงถูกยกขึ้นอีกครั้ง หนึ่ง
หากสิ่งที่กล่าวไปนั้นเป็นนามธรรม แต่ถ้าพินิจข้อเท็จจริงทางประวัติ ศาสตร์ที่ว่า การที่หลวงตามหาบัว ขัดขวางมิให้มีการรวมบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ทำให้ ทิศทางของการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง และการที่ผู้คนทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมบุญ ปลดสร้อยคอ สร้อยมือ ตุ้มหู แหวน ฯลฯ สละเป็นทานกับท่านนั้นได้กลายเป็นต้นธารของสำนึกอันสำคัญที่ทำให้การขาย พันธบัตรกู้ชาติ 3 แสนล้านบาท หมดเกลี้ยงภายใน 2 วันครึ่ง ทำให้ประเทศปลดภาระหนี้อันมหาศาลออกจากบ่าได้ในที่สุด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แม้แต่ผู้บริหารบ้านเมืองยังตื่นตะลึงนั้น เป็นดอกผลของการที่พระภิกษุชราอายุร่วม 80 ปี ต้องหอบสังขารไปทั่วประเทศ การปลุกผู้คนมิให้งอมืองอเท้า แต่ให้ลุกขึ้นออกมาช่วยกันกู้บ้านกู้เมือง
มิเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นรูปธรรมของ โลกทัศน์ใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับโลก วัดกับบ้านเมือง จะเรียกว่ากระไร?
2.ในทางธรรมนั้นท่านได้ทำให้คนในสังคมอีกจำนวนมากที่ห่างไกลวัดได้รู้จักพระกรรมฐาน
3.การเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ท่านคือ ผู้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา พระอรหันต์มีจริง พระ นิพพานมีจริง ในขณะที่ทุนนิยมและเทคโนโลยีกำลังลากถูผู้คนให้ไป หมกมุ่นอยู่กับการบริโภคอย่างสุดขั้ว แม้แต่พุทธศาสนาบางส่วนก็หนีไม่พ้นจากพลังเช่นว่านั้น ไม่เพียงแต่ได้สร้างผลสะท้านสะเทือนต่อความคิดความเชื่อความศรัทธาของผู้คน จำนวนมาก หากแต่ยังทำให้พุทธศาสนายืนหยัดเผชิญความผันผวนและเปลี่ยนแปลงของโลกได้ อย่างองอาจ
"บัว" ดอกนี้กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ปี พ.ศ. 2457 เป็นบุตรคนที่สองในจำนวน 16 คน ในสกุล "โลหิตดี" ครอบครัวชาวนา จ.มหาสารคาม ซึ่งอพยพมาลงหลักปักฐานที่บ้านตาด จ.อุดรธานี ตั้งแต่ครั้งสถานที่แห่งนั้นยังเป็นป่าดงดิบ
ในชีวิตนี้ท่านเกิดสองหน หนแรกกำเนิดจาก นายทองดี และนางแพง โลหิตดี ครั้งที่สองเกิดภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นพระอุปัชาย์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ปี พ.ศ. 2477
การเกิดหนแรกเติบโตขึ้นมาด้วยบังใบของพ่อแม่ ก่อนก่อกำเนิดอีกหนแล้วหยั่งรากลึกแผ่ร่มเงาออกไปอย่างไพศาล โดยการนำทางของพระภิกษุ 2 รูป รูปแรกคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. ผู้เป็นครูทางปริยัติ และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บุรพาจารย์ของพระกรรมฐานร่วมสมัยเป็นครูทางปฏิบัติ
เดิมนั้นท่านมิได้ตั้งใจบวช แต่พ่อแม่เพียรรบเร้า หนักเข้าเมื่อพ่อแม่ ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจ คาวงข้าว เพราะลูกไม่ตอบสนองความปรารถนาดี ท่านจึงตัดสินใจ บวชเรียนเมื่ออายุได้ 21 ปี
ด้วยพื้นนิสัยเป็นคนทำอะไรทำจริง ลองได้ตั้งมั่นแล้วไม่เลิก เดินหน้าแล้วไม่ถอยหลัง แม้แต่พาควายไปไถนาท่านยังไถตั้งแต่เช้ายันเย็น เปลี่ยนควายถึง 4 ผลัด พอบวชแล้วก็เรียนจริง ปฏิบัติจริง และได้ผลจริง
ก่อนที่มหา 3 ประโยคผู้ฝักใฝ่การปฏิบัติ บวชเรียนมาแล้ว 7 ปี กำลังเผชิญความผันผวนของการเจริญขึ้นและเสื่อมลงของสมาธิ ก่อนจะมาพบหลวงปู่มั่นที่บ้านโคก ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร ในเดือนพ.ค. ปี พ.ศ. 2485 หลวงปู่มั่นผู้มีอนาคตังสญาณได้กล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านหลีกเร้นคณะไปวิเวกอยู่แถวภาคเหนือแล้วว่า "ในอนาคตกาลอีกไม่นาน จะมีพระหนุ่มรูปหนึ่งเข้ามาหาเราเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ เธอจะทำประโยชน์ใหญ่ให้กับประเทศชาติและพระศาสนา"
การอยู่ร่วมกับหลวงปู่มั่นเป็นเวลานานถึง 8 ปี นั้นได้เปลี่ยนชีวิตของท่านโดยสิ้นเชิง เพียงแค่ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นในครั้งแรก ก็มิลังเลสงสัยแล้วว่า มรรค ผล นิพพาน มีจริงหรือไม่
ไม่เพียงแค่คลายสงสัย หากแต่ยังตั้งมั่นด้วยว่า "อยากเป็นพระอรหันต์"
แม้จะมีความปริยัติเป็นเปรียญ 3 ประโยค แต่ท่านก็สำนึกว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าพระอาจารย์มั่นแล้ว ตนเองเป็นเพียงแค่ท่อนซุงท่อนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ท่อนซุงท่อนนี้ก็ได้พัฒนาตนเองกระทั่งได้รับมอบหมายให้เป็นพ่อบ้านใหญ่ ของสำนักพระอาจารย์มั่นที่หนองผือ และท้ายสุดก่อนหลวงปู่มั่นดับขันธ์ยังได้กล่าวกับเหล่าศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ หนองผือว่า "สิ้นเราแล้ว ท่านจะพึ่งใคร ให้พึ่งมหาบัว"
พระอาจารย์มั่นได้มรณภาพเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ปี พ.ศ. 2492 วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร หลังจากนั้นในเวลา 23.00 น. ของคืนเดือนดับ แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันจันทร์ที่ 15 พ.ค. ปี พ.ศ. 2493 หลวงตามหาบัวก็บรรลุธรรม ณ วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
6 เดือนในช่วงนั้นเป็นช่วงคับขันทางจิตของหลวงตามหาบัว ท่านเล่าว่า ตั้งแต่วันเดือน 3 ข้างแรมแล้วที่ถาม ตนเองว่า "เอ จิตนี่ทำไมอัศจรรย์ นักหนานะ"
ท่านว่า ขณะนั้นจิตมันสว่างไสวมาก แต่พอถามตนเองเช่นว่าแล้ว ขณะจิตหนึ่งผุดขึ้นมาอย่างไม่คาดฝันว่า "ถ้ามีจุดต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแล คือ ตัวภพ...เพียงเท่านี้เราเลยงงเป็นไก่ตาแตกไปเลย..."
ท่านติดปัญหานี้อยู่ 3 เดือน ก่อนจะจบลงที่ทางจงกรมหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์
ท่านว่า "จุดสว่างมันเห็นเป็นดวงอยู่ในจิต สว่างจ้าอยู่ภายในจิตนี้ พูดง่ายๆ เหมือนตะเกียงเจ้าพายุ มันสว่างจากไส้ตะเกียง นั่นตัวไส้มันละคือ ที่จุดที่สว่าง มันก็เห็นอยู่แล้ว นี้ก็เป็นอย่างนั้น มันสว่างจ้าอยู่กับจิต จุดแห่งความสว่างมันก็เห็นได้อย่างขัดๆ แต่มันไม่จี้เข้าตรงนี้สิ กลับไปลูบคลำประสาโง่...ความจริงคำว่า จุดก็หมายถึงจุดผู้รู้นั้นเอง ถ้าเราเข้าใจปัญหานี้ตรงตามความจริงที่ผุดบอกขึ้นมา มันก็ดับกันได้ในขณะนั้นแหละ แต่นี้มันกลับไปงงเสียแทนที่จะเข้าใจ เพราะเราไม่เคยรู้เคยเห็น ถ้ามีจุดก็จุดผู้รู้ ถ้ามีต่อมก็มีต่อมผู้รู้ อยู่สถานใดก็ที่จิตดวงรู้ รู้นั้นแล คือ ตัวภพ อุบายที่ผุดขึ้นภายในจิตนั้นก็บอกชัดๆ ไม่ผิดอะไรเลย แต่เรามันงงไปเอง..."
ท่านว่า เมื่อความเศร้าหมอง ผ่องใส ความสุข ความทุกข์ รวมลงในอนัตตา เมื่อเฉยด้วยมหาสติมหาปัญญา วางเฉยโดยไม่ใช่เผลอ อะไรผางขึ้นมาไม่ว่า อัตตา อนัตตา มันก็ปัดพรึบคว่ำลง
"ที่ว่าจุดต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ นี่คือตัวนี้ก็มารวมกันแล้ว เศร้าหมอง ผ่องใสอะไร ลงในอนัตตาอันเดียว ผางนี้ขาดสะบั้นไปหมดเลย นี่เวลามันลบนะ มันลบหมดเลย ผางขึ้นมานี่เหมือนฟ้าถล่ม กระเทือนทั่วแดนโลกธาตุ อวิชชาตัวเดียวนี่คว่ำลงจากจิต กระเทือนทั่วโลกธาตุ...จากนั้นมีตั้งแต่ความอัศจรรย์ เรียกว่า กายนี้ไหวเลยเทียวนะ มันเป็นอะไรไม่รู้แหละ เป็นพร้อมกันหมดเลยเวลานั้น ฟ้าดินถล่ม แดนโลกธาตุดับพรึบลงหมดเลย จากนั้นก็ย้ำทีเดียวว่า เหอ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ รู้อย่างนี้ละเหรอ..."
หลวงตามหาบัว ระบุว่า "ความผ่องใสคือ อวิชชา" ถ้าพลิกเทศนากัณฑ์ "เรียงอริยภูมิ" ซึ่งท่านเทศน์ไว้เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ปี พ.ศ. 2507 ก็จะพบคำอธิบายว่า อวิชชาทั่วๆ ไป ได้แก่ ธรรมชาติที่รวมความลวงทั้งภายนอกและภายในอันเป็นตัวกิเลสไว้ด้วยกัน เปรียบเสมือนต้นไม้ทั้งต้น เมื่อใช้ความเพียรตัดต้นโค่นรากมันแล้ว ก็จะเหลืออวิชชาจริงๆ เมื่อมันรวมที่จิตแห่งเดียว เป็นจุดตัวจริงของอวิชชาแล้ว ถึงมันจะไม่มีสมุนเหมือนเรืองอำนาจ แต่มันก็เก็บรวมสิ่งประหลาดซ่อนไว้ในตัวหลายอย่าง
สิ่งที่พอเทียบเคียงพอนำจะมาอธิบายได้ แต่ของจริงนั้นเทียบเป็นสมมติไม่ได้ทั้งหมดก็คือ สิ่งที่แทรกซึมอยู่ 4 ประการ
ความผ่องใสดวงเด่น ประหนึ่งเป็นสิ่งสำเร็จรูปโดยสมบูรณ์แล้ว หนึ่ง
เป็นความสุขเพราะอำนาจความผ่องใสครองตัวอยู่ ซึ่งเป็นความสุขที่แปลกประหลาด ราวกับเป็นความสุขที่หลุดพ้นจากแดนสมมติ หนึ่ง
เป็นความองอาจภายในตัวเอง ประหนึ่งจะไม่มีสิ่งอาจเอื้อมเข้าไปเกี่ยวข้องได้ หนึ่ง
ความติดใจและสงวนธรรมชาตินั้นประหนึ่งทองคำธรรมชาติ หนึ่ง
ต่อเมื่อได้ผ่านอุปสรรคทั้งหมด นี้ไปแล้ว จึงจะทราบความผิดถูก ของตน
หากสรรเสริญกันแบบโลกๆ ว่า พระอาจารย์มั่น เป็นสดมภ์หลักของพระกรรมฐานในยุคกึ่งพุทธกาล ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ผู้ที่รับไม้สืบต่อแนวปฏิบัติ ปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์มาเป็นสดมภ์หลักของพระกรรมฐานในยุคปัจจุบันได้ อย่างเต็มภาคภูมิคือ หลวงตามหาบัว
คนส่วนใหญ่อาจจะเพิ่งประจักษ์ถึงบทบาทของหลวงตามหาบัวเอาเมื่อหลังปี พ.ศ. 2540 แต่ผู้ที่รู้ก่อนใครว่าภิกษุรูปนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อวงพระกรรมฐานและบ้าน เมืองคือ พระอาจารย์มั่น
แม้ท่านจะบอกเพียงว่า "สิ้นเราแล้ว ท่านจะพึ่งใคร ให้พึ่งมหาบัว" แต่ถ้าไล่ตามลงไปในรายละเอียดของหลายปีให้หลังต่อมาจะพบว่า เฉพาะบทบาทต่อวงพระกรรมฐานนั้น ท่านมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้พระกรรมฐานหลายรูปซึ่งตกอยู่ในภาวะโค้ง สุดท้ายของการปฏิบัติทางจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานจำนวนมาก ไม่ว่า หลวงปู่บัว สิริปุณโณ หลวงปู่คำดี ประภาโส พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร หลวงปู่หล้า เขมปัตโต หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม หลวงปู่ลี กุสลธโร พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต ฯลฯ รวมทั้งแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ แม่ชีอรหันต์แห่งบ้านห้วยทราย
แม้แต่หลวงปู่คำดีซึ่งมีอาวุโสพรรษากว่าท่าน และเป็นศิษย์สำนักพระอาจารย์มั่นมาก่อน ก็ยังยอมรับว่าหลวงตาเป็นพระอาจารย์ของท่าน
เหตุเพราะในช่วงคับขันนั้น จู่ๆ หลวงตาก็ไปปรากฏตัวที่ถ้ำผาปู่ จ.เลย ท่านปิดประตูห้องว่ากันอยู่หลายชั่วโมงใหญ่ จากนั้นหลวงตามหาบัวแยกมาพำนักอยู่กุฏิข้างๆ หลวงตาคำดีท่านว่า เมื่อพิจารณาไปตามการชี้แนะของหลวงตามหาบัวแล้ว "คานแห่ง อวิชชามันขาดสะบั้นลง" ท่านปีติซาบซึ้ง และก้มลงกราบหลวงตามหาบัวในกุฏิตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ปฐมศิษย์แห่งหลวงปู่มั่นรุ่นแรกๆ ก็ระบุว่า ถ้าอยากจะเห็นว่า สำนักพระอาจารย์มั่นในครั้งอดีตเป็นอย่างไร ก็ให้ไปดูที่บ้านตาด
"บัว" ดอกนี้ไม่ได้บานเฉพาะองค์ท่านเอง หากแต่ยังได้เพาะบ่มศิษย์ชั้นเพชรน้ำเอกขึ้นในวงกรรมฐานจำนวนมาก สามารถแยกได้ 4 รุ่น
รุ่นแรกคือ ยุคที่ปักหลักอยู่ที่บ้านห้วยทราย เรียกว่า ยุคห้วยทราย ซึ่งกินระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. 2494-2498 ประกอบด้วย 1.พระอาจารย์สิงห์ทอง วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร 2.หลวงปู่บัว วัดป่าหนองแซง จ.อุดรธานี 3.หลวงปู่หล้า วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร 4.หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากง จ.ร้อยเอ็ด 5.พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม 6.หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ วัดป่านาคูณ จ.อุดรธานี 7.หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี 8.หลวงปู่ลี วัดถ้ำภูผาแดง จ.อุดรธานี 9.หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู 10.หลวงปู่คำตัน วัดป่าศรีสำราญ จ.หนองคาย
ยุดที่สองคือ ยุคบ้านตาดยุคแรก กินระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2499-2510 ประกอบด้วย 1.พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม วัดเขาน้อยสามผาน จ.จันทบุรี 2.อาจารย์แสวง โอภาโส วัดเขาน้อยสามผาน จ.จันทบุรี 3.พระอาจารย์บุญกู้ อนุวัฑโฒ วัดป่าบ้านตาด 4.พระอาจารย์เชอรี่ อภิเจโต วัดป่าบ้านตาด
ยุคสามคือ ระหว่างปี พ.ศ. 2511-2528 ซึ่งก็มีศิษย์เด่นๆ ร่วม 20 องค์ อาทิ พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสัสโก วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี พระอาจารย์สุชาติ สุชาโต วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี พระอาจารย์บุญทัน ฐิตสีโล วัดเขาเจริญธรรม จ.เพชรบูรณ์ พระอาจารย์ณรงค์ อาจาโร วัดป่ากกสะทอน จ.อุดรธานี พระอาจารย์วันชัย วัดป่าภูสังโฆ จ.อุดรธานี
ยุคปัจจุบันคือหลังปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคเปิดรั้ววัดบ้านตาดมีผู้เข้าออกจำนวนมาก
วันนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จักนาม หลวงตามหาบัว ประวัติคำสอนของท่านมีอยู่ทั่วไป ทั้งที่เป็นเอกสาร สิ่งพิมพ์ ในอินเทอร์เน็ต หรือกระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุ แต่น้อยคนนัก จะเงี่ยหูฟัง แถมยังตั้งข้อกังขาโดยยังไม่ทันลงมือศึกษาปฏิบัติ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิติเตียนท่าน แต่ถึงที่สุดแล้วถ้อยคำเหล่านั้นก็เป็นเพียงคำวิจารณ์ที่มีต่อรอยขยับปีกของ นกในนภากาศ
สำหรับผู้ที่พ้นไปแล้วนั้น ท่านประกาศชัดว่า "เรามีชีวิตอยู่นี้ เราทำด้วยเมตตา สงสารต่อโลก เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะหลังจากนี้แล้ว เราตายแล้ว เราจะไม่มาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล"
โพสต์ทูเดย์ กทม.-ภูมิภาค : หลวงตามหาบัวละสังขารแล้ว
http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%A1.-%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%8C/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99/72128/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7.