ธรรมะเรื่อง กรรม (ใจทำ ใจรู้)พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร การ เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ เป็นสิ่งที่คนเราและสัตว์ทั้งหลายไม่ปรารถนา เพราะเป็นเรื่องทุกข์ทรมาน ต้องการให้หาย ต้องการความสุขความสบาย ฉะนั้นจึงมีวิธีการบริหารรักษา จะให้หายด้วยวิธีใด เช่น หมอคนรักษา หมอผีรักษา หมอเทวดารักษา หมออินทร์รักษา หมอพรหมรักษา ต้องทดลองรักษาดูว่าเขารักษาด้วยวิธีนั้นจะบรรเท่โรคได้ไหมจะหายได้ไหน ถ้ายังไม่หายก็เปลี่ยนวิธีใหม่จนกว่าจะถูกต้อง โรคภัยไข้เจ็บหายไปได้ เพราะการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่หมอทำกันอยู่ ก็มีทั้งหายได้และไม่หาย อย่างกินยาฉีดยาหายได้ก็มีไม่หายตายก็มี วิธีจับเส้นหายก็มี คนป่วยเป็นไข้เหมือนกันหมอใช้ยาอย่างเดียวกันรักษาคนหนึ่งหายได้ แต่คนหนึ่งตายเสีย จะว่ายังไง ตาม
หลักธรรมทางพุทธศาสนาท่าน เรียกว่า กรรมกมฺมวิปากาอาพาธ ความเจ็บ เกิดแต่วิบากของกรรม คือกรรมของคนๆ นั้นที่ทำไว้แล้วในอดีต เป็นกรรมแรงกล้า ถึง
อุปัจเฉทกกรรม กรรมตัดรอนชีวิตจบลงแค่นั้นอยู่ต่อไปไม่ได้ จะช่วยจะรักษาพยาบาลด้วยวิธีใดๆ ม่ได้ผลเลย ตายอย่างเดียวเท่านั้น
พูดถึงเรื่องกรรมแล้ว คนเรามีกันทุกคน เพราะกิเลสกรรมวิบากเป็นสังสารจักรทำให้ใจต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังขาร สังขารนี้แหละเป็นกรรม
แยกออกเป็นบุญ เป็นบาป ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป สังขารนี้มี กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุเป็นปัจจัยอุดหนุน
กามภพ รูปภพ อรูปภพ จึงต้องมีไม่รู้จบ
เมื่อใจยังไม่สิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ทีนี้เรื่องของใจนี้แหละ เมื่อหลงอวิชชาความไม่รู้จักกรรมมีอยู่อาจทำกรรมชั่วเสียมากมายเป็นเอนกอนันต์ ทั้งๆ ที่ใจทำอยู่แต่ใจไม่รู้ ตัณหาใจทำอยู่แต่ใจไม่รู้ว่าตัณหาความอยากเป็นบาปอย่างไร ตัณหาเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดอย่างไรใจไม่รู้ เพราะหลง อวิชชาครอบงำใจ
ใจทำแล้วทำอีก ทำจนชิน ทำจนเคย ทำจนคล่อง เป็นกามตัณหา เป็นภวตัณหา เป็นวิภวตัณหา
เมื่อตัณหามีแล้วก็เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นพระพุทธเจ้าท่านสอน
ให้ละตัณหา ใจละไม่ได้เพราะ
อุปาทานรวบรัดเอาไว้แล้วละไม่ออก มันแน่นหนาเสียเหลือเกิน อะไรๆ
ก็ของเราทั้งนั้น ใจเรา ตัวเรา กายเรา เวทนาเรา สัญญาเรา สังขารเรา วิญญาณเรา ของเราทั้งนั้นจะไปละยังไง
นี้ แหละกิเลสกรรม ยึดทั้งกรรมดี ยึดทั้งกรรมชั่ว
วิบากผล สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ไม่รู้เป็นกรรมอะไรบ้าง เพียงแต่กรรมปาณาติบาต คือการฆ่าสัตว์ก็มากมายก่ายกอง เคยฆ่าอะไรบ้าง ฆ่าคนไหม ฆ่าหมูไหม ฆ่าวัวไหม ฆ่าควายไหม ฆ่าเป็นไหม ฆ่าไก่ไหม ฆ่านกฆ่าหนู ฆ่าปูฆ่าปลา ฆ่ากบฆ่าเขียด ฆ่าอึ่ง ฆ่าแมลง ฆ่าปลวก ฆ่ามด ฆ่าลิ้น ฆ่ายุง เพียงแต่การฆ่าสัตว์ก็มากมาย ทำให้เราเป็นทุกข์ทรมานจนถึงตาย เอาต้ม เอาแกง เอาลาบ เอาปิ้ง เอาทอด เอาตีทุบหัว บีบหัว ปาดคอ หักเขี้ยว หักขา เอากิน เอาขาย เอาให้คน เอาให้สัตว์
เวลาทำกรรมชั่ว ปาณาติบาต หาได้นึกไม่ว่า ทำทุกข์ให้แก่ท่าน ทุกข์นั้นจะถึงเรา
กรรมที่เราเบียดเบียนเขา กรรมนั้นจะย้อนมาเบียดเบียนเรา กรรมที่เราฆ่าเขา กรรมนั้นจะมาฆ่าเรา เพราะเรามีกรรมเป็นของๆ ตน เราทำกรรมชั่วเราก็ได้ชั่ว ได้ของไม่ดี ได้ความทุกข์ยากลำบาก เหมือนเราทำให้แก่เขานั้นแหละ
จะไปโทษใคร โทษที่กิเลสที่เราทำ โทษกรรมที่เราสร้างนี้แหละยัง กรรมอย่างอื่นๆ อีกเช่น การลักทรัพย์ การเสพกาม การพูดปด การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล การดื่มสุรา การค้าขายมิจฉาวณิชชา การกินข้าวแลง การดูการฟังฟ้อนรำ ขับร้องเครื่องขับประโคมดนตรี การดีดสีตีเป่า การประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาต่างๆ
เพื่อหลอกลวงใจตัวเองและใจคนอื่นให้ลุ่มหลงมัวเมาอยากได้ ยินดีในการนอนเสื่อยัดด้วยนุ่นและสำลี การยินดีในเงินและทอง ทำลายศีลธรรม
ทำลายกรรมอันเป็นบุญกุศลนี่แหละ เรื่อง
กิเลสอกุศลกรรมนี้ ทำเสียมากมายก่ายกองเสียแล้ว
มอง ไปอดีตดูซิการ
ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์์ดิรัจฉานบ้าง เป็นอินทร์เป็นพรหมบ้าง กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกมันก็ยังไม่รู้
โทษของกิเลสของกรรม ทั้งๆทีใจอยู่ในกายนี้ ก็ยังดูกายดูใจไม่ออกเลยว่า อะไรเป็นมโนกรรม กรรมที่ทำทางใจ อะไรเป็นวจีกรรม กรรมที่ทำทางวาจา อะไรเป็นกายกรรม กรรมที่ทำทางกาย อะไรเป็นกุศลกรรม อะไรเป็นอกุศลกรรม ยังดูกรรมที่ทำทางกาย วาจา ใจไม่ออก
บอกสอนใจตัวเองให้ละกรรมชั่วก็ไม่ได้
บอกสอนใจตัวเองให้ทำกรรมดีก็ไม่ได้ บอกสอนใจตัวเอง
ให้ทำเอามรรคผลนิพานก็ไม่ได้ มองใจตัวเองเท่านี้แหละ มืดมนไปด้วยอวิชชาไม่รู้ ไม่รู้ว่าใจทำอวิชชาอย่างไร ไม่รู้ว่าใจทำตัณหาอย่างไร ไม่รู้ว่าใจทำความโกรธพยาบาทอาฆาตจองเวรอย่างไร ไม่รู้ว่าใจยึดเอาอะไร ยึดถือรูปถือนาม
ยึดถือกรรมแล้วมันได้อะไร ใจยึดถือแล้วมันเป็นทุกข์เดือดร้อนใจไหม เมื่อใจเดือดร้อนเป็นทุกข์
แล้วทำไมใจไม่ละ ใจไม่ปล่อยวาง กรรมกรรมนี้แหละ กรรมของใจแท้ๆ จึงควรจะปรับปรุงแก้ไขใจ ใจทำความหลงความไม่รู้
ความมืดมนอนธการได้ ใจก็ต้องทำความรู้จริงรู้แจ้ง ความมีจริง ความเป็นจริง
เหตุของกิเลสที่ใจทำกรรมที่ใจสร้าง วิบากผลที่ใจเสวย ใจทำความหลงได้ใจทำความรู้แจ้งไม่ได้หรือ ใจไม่รู้ทุกข์ ใจไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ใจไม่รู้ความดับทุกข์ ใจไม่รู้
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ใจจะทำให้รู้ ศีล สมาธิ ปัญญา
อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ไม่ได้หรือได้มันอยู่ที่กรรม คือ การกระทำของใจนี้แหละ