ผู้เขียน หัวข้อ: การสนทนาแบบโบห์ม : หนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร?  (อ่าน 4727 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ในฐานะของคนที่ศึกษามาทางนิเทศศาสตร์ รู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์คนนี้ได้เสนอสิ่งที่ท้าทายต่อแนวคิดและวิธีปฏิบัติทางนิเทศศาสตร์ที่เราเรียนเราสอนกันอยู่มาก

การสนทนาแบบโบห์ม ๑ : เกริ่นนำ

หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือชื่อ สุนทรียสนทนา ของ วิศิษฐ์ วังวัญญู กับหนังสือ วิธีการสนทนาแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์และการเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง ที่โสฬส ศิริไสย์ เรียบเรียงขึ้นมาจาก หนังสือ On Dialogue ของ David Bohm แล้วก็ได้มีโอกาสได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดยโบห์มจริงที่หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เมื่ออ่านจบแล้ว ในฐานะของคนที่ศึกษามาทางนิเทศศาสตร์ รู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์คนนี้ได้เสนอสิ่งที่ท้าทายต่อแนวคิดและวิธีปฏิบัติทางนิเทศศาสตร์ที่เราเรียนเราสอนกันอยู่มาก เช่น การสนทนากันโดยไม่ต้องตั้งวัตถุประสงค์ ไม่ต้องมีผู้นำ ไม่ต้องมีข้อสรุป ฯลฯ ผมจึงสืบค้นในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาว่าเดวิด โบห์ม ผู้นี้เป็นใคร มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร และอะไรทำให้เขาเสนอเช่นนั้น
 
สิ่งที่พบก็มีแต่เรื่องน่าทึ่ง!!! คำตอบที่ได้คือ สิ่งที่โบห์มเสนอทั้งหมดมีพื้นฐานอยู่บนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบองค์รวมของเขานั่นเอง
 
ผมต้องการนำสิ่งที่ผมได้พบจากการค้นคว้ามาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ด้วยเป็นตอนๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเรื่องที่อยากบันทึก
 
เกริ่นนำเข้าสู่เรื่อง
 
นับแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 นี้ มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่สนใจปัญหาของมนุษยชาติ เสนอแนวคิดแนวปฏิบัติต่อการแก้ปัญหาสังคมแบบองค์รวม ที่ไม่ได้มองมนุษย์และสรรพสิ่งแบบแยกส่วน แยกจิตออกจากวัตถุ แยกสิ่งที่ศึกษาออกจากผู้ศึกษา อันเป็นที่มาของวิธีคิดแบบกลไกที่ติดขัดตรงไหนก็แก้เฉพาะตรงนั้น เช่นที่แพทย์รักษาไข้แต่ไม่ได้รักษาคน หนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่บุกเบิกวิธีคิดแบบองค์รวม คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผลงานในช่วงท้ายๆ ของชีวิตไอน์สไตน์เป็นเรื่องของการใคร่ครวญในเรื่องสันติภาพของโลกและความหมายของชีวิต เช่นที่ปรากฏในหนังสือ The World As I See It (1949), Out of My Later Years (1950) และ The Meaning of Reality (1965)
 
ในปี 1975 ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ได้เขียนหนังสือชื่อ เต๋าแห่งฟิสิกส์ (The Tao of Physics: An Exploration of the Parallels Between Modern Physics and Eastern Mysticism) หนังสือแนวปรัชญาที่ผสมผสานความรู้ของฟิสิกส์สมัยใหม่กับศาสนาตะวันออกเล่มนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งในอเมริกาและยุโรป หนังสือเล่มนี้ถูกสำนักพิมพ์ถึง 14 แห่งปฏิเสธที่จะพิมพ์ก่อนที่จะพิมพ์ออกมาครั้งแรก หลังจากที่พิมพ์ครั้งแรกออกมาแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกถึง 43 ครั้งและได้รับแปลออกเป็นภาษาต่างๆ ถึง 23 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย หลังจากนั้นคาปราได้มีผลงานเสนอแนวคิดในทำนองเดียวกันตามมาอีกหลายเล่ม เช่น The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture (1982) เล่มนี้มีการแปลออกเป็นภาษาไทยในชื่อ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ Uncommon Wisdom (1988) แปลเป็นไทยแล้วเช่นกันโดยวิศิษฐ์ วังวิญญู The Web of Life  (1997) และ The Hidden Connections: A Science for Sustainable Living (2004) สิ่งที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดของสิ่งที่คาปรานำเสนอทั้งหมดคือกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ที่ตรงข้ามกับกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ยุคเก่า ที่มองสรรพสิ่งแบบแยกส่วน 
 
David Bohm เป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งที่เสนอผลงานทางสังคมศาสตร์ภายใต้กระบวนทัศน์แบบองค์รวมเช่นเดียวกับคาปรา แต่มีจุดเน้นที่การสื่อสารของมนุษย์ โบห์มเชื่อว่า การสื่อสารที่มีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวมนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษยชาติตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ไปจนถึงปัญหาในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
 
โบห์มเขียนหนังสือแนวนี้หลายเล่ม แต่เล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ On Dialogue ผมวิเคราะห์ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับดีมากเนื่องจากไม่ได้เป็นหนังสือที่เสนอ “แนวคิด” ในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ได้เสนอ “วิธีปฏิบัติ” เลย นั่นคือวิธีปฏิบัติการสื่อสารเพื่อความสมานฉันท์ของมนุษยชาติ ที่ต่อมาเรียกกันว่า Bohm’s Dialogue หรือเรียกสั้นๆ ว่า Dialogue
 
มีผู้นำแนวคิดและวิธีการสนทนาแบบที่โบห์มเสนอนี้ไปพัฒนาและประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารเพื่อพัฒนาองค์กร การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การสื่อสารระหว่างบุคคล รวมทั้งการสื่อสารกับตัวเองของแต่ละบุคคล (intracommunication) ผมเชื่อว่าผลงานของโบห์มเล่มนี้จะมีส่วนทำให้วงการนิเทศศาสตร์ต้องหันมาพิจารณาทบทวนแนวคิดและแนวปฏิบัติด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสื่อสารกลุ่ม (group communication) เช่น แนวคิดนิเทศศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่า การสื่อสารกลุ่มที่มีประสิทธิผลเกิดจากการมีจุดประสงค์ มีวาระ มีผู้ดำเนินการที่ชัดเจน สุดท้ายต้องมีการตัดสินใจหรือมติที่ทุกคนจะนำไปปฏิบัติ โดยมีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุน (งานวิจัยที่มีพื้นฐานบนกระบวนทัศน์แบบใด?) ในขณะที่โบห์มเสนอให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
 
การพิจารณาทบทวนเรื่องนี้โดยมองแต่ประเด็นเฉพาะด้านวิธีการหรือเทคนิคเพียงอย่างเดียว อาจทำให้นักนิเทศศาสตร์ไม่เข้าใจสิ่งที่โบห์มเสนอได้ เพราะแนวคิดและแนวปฏิบัติทางการสื่อสารแบบที่โบห์มเสนอมีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม
 
คำว่ากระบวนทัศน์ในที่นี้ ดร.เสรี พงศ์พิศ ให้ความหมายไว้ในหนังสือ ร้อยคำที่ควรรู้ ว่าหมายถึง วิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง บางคนเรียก ทัศนะแม่บท
 
ผมขอเรียกแนวคิดและวิธีการสื่อสารที่โบห์มเสนอในบันทึกนี้ว่า การสนทนาแบบโบห์ม แม้ว่าจะมีผู้เรียกแนวคิดและวิธีการนี้ในภาษาไทยหลายชื่อแล้วก็ตาม เช่น สุนทรียสนทนา, สานสนทนา, วาทพิจารณ์ ฯลฯ
 
ในตอนต่อไป ผมจะเล่าว่าโบห์มเป็นใคร? แล้วต่อด้วยหนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร? แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มเป็นอย่างไร? และสุดท้ายเป็นการสำรวจการประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์ม
 
http://gotoknow.org/blog/inspiring/171776
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ผมตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตในครอบครัวที่มีศรัทธาประสาทะในศาสนาเก่าแก่ของโลกนี้จะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของโบห์มบ้างไม่มากก็น้อย

การสนทนาแบบโบห์ม ๒ : โบห์มคือใคร?


David Joseph Bohm (1917 - 1992) เป็นนักฟิสิกส์และนักปรัชญาชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เกิดที่รัฐเพนซิลเวเนีย บิดาของโบห์มเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ช่วยพระในศาสนายิว (rabbi) ในโบสถ์ท้องถิ่นด้วย ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตในครอบครัวที่มีศรัทธาประสาทะในศาสนาเก่าแก่ของโลกนี้จะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของโบห์มบ้างไม่มากก็น้อย

โบห์มจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และได้เป็นผู้ช่วยศาตราจารย์ทำงานร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (1879-1955) ที่มหาวิทยาลัยปรินส์ตัน รัฐนิวเจอร์ซี  โบห์มเป็นผู้อธิบายทฤษฎีควันตัม (Quantum Theory) ให้แก่ไอน์สไตน์และเป็นคนแรกที่แต่งตำราทฤษฎีควันตัม   คำอธิบายทางทฤษฎีเกี่ยวกับปรากฏการณ์อิเล็กตรอนของโบห์มชิ้นหนึ่งมีชื่อเรียกในวงการฟิสิกส์ว่า Bohm Diffusion

โบห์มเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นโครงการสร้างระเบิดปรมาณูไปทิ้งที่ฮิโรชิมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกขัดขวางจากเอฟบีไอเนื่องจากโบห์มเคยมีประวัติเป็นสมาชิกของแนวร่วมยุวชนคอมมิวนิสต์ (Young Communist League) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  โบห์มถูกเอฟบีไอจับกุมเพราะเขาไม่ยอมไปให้ปากคำใดๆ ตามหมายเรียก แม้ไอน์สไตน์และเพื่อนที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันพยายามช่วยเหลือโบห์มให้ได้กลับมาเป็นอาจารย์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุดโบห์มต้องออกจากอเมริกาไปเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่บราซิล อิสราเอล และอังกฤษ โบห์มได้เป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่อังกฤษ

โบห์มมีบทบาทสำคัญต่อการนำความรู้ด้านฟิสิกส์ไปพัฒนาความรู้ด้านจิตวิทยาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง (Neuropsychology) โดยเขาได้ร่วมกับ Karl Pribram นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสร้างทฤษฎีจิตวิทยาที่ต่อมาเรียกว่า Pribram’s theory ทฤษฎีนี้ใช้ Holonomic Model อธิบายการทำงานของสมองว่าคล้ายกับโฮโลแกรมที่อาศัยหลักการคณิตศาสตร์ควันตัมและรูปแบบของคลื่นสมองมนุษย์ที่สามารถรวมตัวกันคล้ายเลนส์รวมแสง

ในปี 1959 Saral Bohm ภรรยาของโบห์ม แนะนำให้โบห์มอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของกฤษณมูรติ (Jiddu Krishanamurati) นักปรัชญาและศาสนาชาวอินเดีย ที่เธอยืมมาจากห้องสมุด โบห์มพบว่าทฤษฎีควันตัมฟิสิกส์เข้ากับแนวคิดทางปรัชญาของกฤษณมูรติมาก โดยเฉพาะในเรื่องความเป็น “องค์รวม” ของสรรพสิ่ง ซึ่งต่อมาโบห์มกับกฤษณมูรติได้รู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยน ร่วมเขียนหนังสือ และไปมาหาสู่กันเป็นระยะเวลาถึง 25 ปี โบห์มยังได้มีโอกาสสนทนากับดาไลลามะหลายครั้ง

โบห์มเขียนบทความและหนังสือที่มีเนื้อหาเชิงบูรณาการแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาหลายเล่ม เช่น Wholeness and the Implicate Order (1980), The Ending of Time (1985 แต่งร่วมกับกฤษณมูรติ), Science, Order and Creativity (1987), Unfolding Meaning (1987), Dialogue – A Proposal (1991 เขียนร่วมกับ Donald Factor และ Peter Garret), Thought as a System (พิมพ์ปี 1994 หลังโบห์มเสียชีวิต) และเล่มสุดท้ายที่บูรณาการแนวคิดจากเล่มก่อนและวิธีการสนทนาที่โบห์มเสนอ คือ On Dialogue (1996) หนังสือของโบห์มแทบทุกเล่มได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา


http://gotoknow.org/blog/inspiring/171777
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



เซงเกบอกว่า แม้บางคนจะหาว่าโบห์มเป็นนักอุดมคติโรแมนติก แต่จากประสบการณ์ของเขา เขาเชื่อว่าโบห์มคือผู้อยู่กับความจริงแท้แน่นอน (an extreme realist)


การสนทนาแบบโบห์ม ๓ : หนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร?

โบห์มเริ่มคิดว่าปัญหาของมนุษยชาติจะแก้ไขได้ด้วยการสื่อสารในแบบที่ต่อมาเขาเรียกว่า Dialogue มาตั้งแต่ปี 1983 (Bohm, Factor and Garrett, 1991) แต่หนังสือ On Dialogue ของเขาเพิ่งได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นทางการครั้งแรกในปี 1996 หลังจากโบห์มเสียชีวิตแล้ว 4 ปี โดยสำนักพิมพ์ Routledge มี Lee Nichol เป็นบรรณาธิการและเขียนคำนำ

 

ก่อนหน้านั้น ในปี 1991 ได้มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่โบห์มร่วมเขียนกับ Donald Factor และ Peter Garrett ชื่อ Dialogue – A proposal เอกสารชิ้นนั้นอธิบายว่าทำไมเขาและคณะเลือกที่จะใช้คำ Dialogue เรียกแนวคิดและวิธีการสื่อสารที่พวกเขานำเสนอ, ทำไมจึงต้องมี Dialogue, จุดมุ่งหมายและความหมายของ Dialogue คืออะไร (ไม่ใช่ในความหมายที่ใช้กันทั่วไป), อะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่ Dialogue, จะเริ่มต้น Dialogue อย่างไร, และการใช้ Dialogue ในองค์กร เอกสารนี้มีความยาวน้อยกว่าหนังสือ On Dialogue มาก แต่สามารถให้แนวคิดและวิธีการเบื้องต้นได้ (ดูฉบับเต็มของเอกสารนี้ได้ใน http://www.david-bohm.net/dialogue/dialogue_proposal.html)

 

หนังสือ On Dialogue ได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา ฉบับที่พิมพ์ซ้ำเป็นภาษาอังกฤษในปี 2004 โดยสำนักพิมพ์ Routledge (เล่มที่ผมได้อ่านจากหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มี Peter M. Senge จาก Society for Organizational Learning แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเสทส์ (Massachusetts Institute of Technology - MIT) เป็นผู้เขียนคำนิยม  เซงเกมีชื่อเสียงในด้านการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ในคำนิยมนั้น เซงเกบอกว่า องค์กรจำนวนมากนำการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้กันในการประชุมและการปฏิบัติงานประจำวัน หลายแห่งนำวิธีการง่ายๆ อย่าง “Check-ins” และ “Check-outs” (การสอบถามความรู้สึกนึกคิดของกันและกันก่อนและหลังการประชุม) ไปใช้ เซงเกยกตัวอย่างบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผู้บริหารระดับสูงได้นำการประชุมแบบวาระน้อย (agenda-less) ไปใช้ในการประชุมประจำเดือนมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเพื่อสร้างภาวะการนำร่วม (collective leadership) ขึ้นในองค์กร

 

เซงเกกล่าวตอนหนึ่งในคำนิยมหนังสือเล่มนี้ว่า โบห์มรู้ว่าในโลกที่มนุษย์ต้องขึ้นต่อกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ (a world of growing interdependence) นี้ หากเราไม่สื่อสารแบบ  Dialogue ความขัดแย้งก็จะเพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เซงเกบอกว่า แม้บางคนจะหาว่าโบห์มเป็นนักอุดมคติโรแมนติก แต่จากประสบการณ์ของเขา เขาเชื่อว่าโบห์มคือผู้อยู่กับความจริงแท้แน่นอน (an extreme realist)

 

หนังสือเล่มนี้ส่วนที่เป็นเนื้อหาจริงๆ ที่โบห์มเขียนมี 109 หน้า ไม่รวมคำนิยม คำนำ สารบัญ บรรณานุกรม ดัชนีคำ และอื่นๆ  เนื้อหาแบ่งออกเป็น  7 บท ดังนี้


1.On Communication   

2.On Dialogue   

3.The Nature of Collective Thought   

4.The Problem and the Paradox 

5.The Observer and the Observed 

6.Suspension, the Body, and Proprioception

7.Participatory Thought and the Unlimited

 

เนื้อหาสาระที่นำเสนอแนวปฏิบัติการสนทนาแบบโบห์มคือบทที่ 2 On Dialogue ส่วนบทอื่นๆ ที่ตามมาเป็นหลักการและแนวคิดในเชิงปรัญชาที่สำคัญๆ ที่อยู่เบื้องหลังแนวปฏิบัติที่เขาเสนอ ซึ่งหลักการและแนวคิดต่างๆ เหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือที่โบห์มเขียนเล่มก่อนๆ ด้วย


http://gotoknow.org/blog/inspiring/171781
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


กฤษณมูรติกล่าวไว้ว่าในขณะที่เราสังเกตโลกภายนอกนั้นแท้จริงแล้วเราเห็นโลกผ่านการคิดภายในตัวเรา (the observer is the observed)

การสนทนาแบบโบห์ม ๔ : แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มมีอะไรบ้าง?

การสนทนาแบบโบห์ม คือ การสื่อสารกันระหว่างมนุษย์รูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจกันอย่างแท้จริง เป็นการสื่อสารที่สร้างสรรค์
 
ในทัศนะของโบห์ม การสื่อสารส่วนใหญ่ที่เราทำกันอยู่โดยทั่วไปเป็นการสื่อสารที่ไม่ลึกซึ้งพอที่จะทำให้คนเข้าใจกันอย่างแท้จริง เนื่องจากมีอคติแฝงอยู่ด้วยโดยไม่รู้ตัว เป็นการสื่อสารที่เอาความคิดของตนเป็นใหญ่ เพื่อครอบงำกัน เอาชนะคะคานกัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่พัฒนาแทนที่จะทำให้คนเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้นกลับแยกคนออกจากกัน
 
ในหนังสือ On Dialogue โบห์มเริ่มต้นบทแรกด้วยการชวนให้เราคิดถึงคำว่า communication รากศัพท์คือ commun หมายถึง การทำให้เป็นธรรมดา ซึ่งในความหมายของการสื่อสารก็คือ การทำให้เข้าใจความหมายร่วมกัน ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้เราแต่ละคนไม่อาจสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้หมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เราคิด เรารู้สึก ด้วยเหตุนี้ ในการสื่อสาร แต่ละคนจึงต้องเปิดใจ ต้องใช้ใจฟังด้วย ไม่ใช่หูอย่างเดียว  ฟัง ให้ได้ยินความคิดรวมทั้งความรู้สึกของคนอื่น และของตัวเราเองไปพร้อมกัน  ฟังให้ได้ยินทั้งความต่างความเหมือน โดยไม่ให้มีอุปสรรคขัดขวาง ซึ่งจะทำได้ก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น(อคติ)ของตัวเองลง โบห์มบอกว่า การฟังอย่างอิสระจะทำให้เราเข้าถึง ความหมาย ที่แท้จริงในการสื่อสารได้
 
โบห์มเห็นว่าวิกฤติการณ์ต่างๆ ของมนุษยชาติมีต้นเหตุมาจากความคิดของมนุษย์เราเอง ในการสื่อสารกันเรามักไม่ให้ความสนใจมากต่อความคิด (thought) ในฐานะกระบวนการ (process) แต่ไปให้ความสนใจกับเนื้อหา (content) โบห์มเรียกร้องให้เราให้ความสนใจต่อความคิดในฐานะของกระบวนการ
 
การสื่อสารแบบสนทนา (Dialogue) ที่โบห์มเสนอนั้น เขาให้ความหมายต่างจากที่มีการใช้กันอยู่ทั่วไป คำ dia ที่มาจากภาษากรีกนั้น นอกจากหมายถึง สอง (two) แล้ว ยังหมายถึง ผ่านตลอด (through) ด้วย เมื่อนำมารวมกับคำว่า logue ซึ่งมาจากคำว่า logos ที่หมายถึง คำ (the word) หรือ ความหมาย (meaning) คำว่า dialogos หรือ Dialogue ของเขาจึงหมายถึง กระแสแห่งความหมาย (stream of meaning) ที่ไหลผ่านตลอดตัวเราและทุกคนที่ร่วมวงสนทนา อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ ที่อาจไม่เหมือนกับที่แต่ละคนเข้าใจเมื่อเริ่มสนทนากันเลยก็ได้ เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมสนทนาร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น และความหมายที่ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นนี้เป็นเสมือนกาวใจที่เชื่อมยึดผู้คนและสังคมเข้าด้วยกัน
 
การสนทนาแบบโบห์มจึงต่างจากการพูดจากันแบบที่มีการตั้งประเด็น มีข้อโต้แย้ง มีการแสดงเหตุผลเพื่อลบล้างเหตุผลของอีกฝ่าย ซึ่งการทำเช่นนั้นมักจะเกิดผลลัพธ์แบบแพ้-ชนะ (win-lose) ในการสนทนาแบบโบห์มจะมีแต่ชนะ-ชนะ (win-win) กันทุกฝ่าย โบห์มบอกว่า การสนทนาแบบที่เขาเสนอนั้น “...ไม่มีใครพยายามจะชนะ ทุกคนชนะหากใครคนใดคนหนึ่งชนะ...”
 
ในทัศนะของโบห์ม วิกฤติการณ์ต่างๆ เป็นผลของ การคิด ของมนุษย์ เรามัวแต่ไปแก้ที่ตัวปัญหาซึ่งเป็นปลายเหตุ และเป็นการแก้ชั่วคราวเท่านั้น  การแก้อย่างถาวรต้องทำที่ต้นเหตุคือการคิด เราต้องสามารถรู้เท่าทันความคิดตัวเอง หากทำได้ก็เท่ากับเป็นการสกัดต้นเหตุแห่งปัญหาได้
 
โบห์มเห็นว่าความคิดของแต่ละคนนั้น แท้จริงแล้วหาใช่ความคิดของใครคนใดคนหนึ่งไม่ แต่เป็นความคิดที่เป็นมรดกตกทอดกันมาของมนุษยชาติ และจากสิ่งแวดล้อมทั้งครอบครัว โรงเรียน สังคม สื่อต่างๆ รวมๆ กัน ในทัศนะของโบห์ม สมองมนุษย์จึงเปรียบได้กับคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นมาจากแหล่งรวมของความรู้เดียวกัน มนุษย์เราสร้างความรู้ขึ้นมาจากประสบการณ์การปฏิบัติ ความรู้จากการปฏิบัตินั้นได้เข้าไปสะสมเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในคนๆ นั้น (tacit knowledge) บางครั้งก็ยากจะบอกความรู้นั้นออกมาเป็นคำพูดได้ง่ายๆ โบห์มยกตัวอย่างคนถีบจักรยานได้ แต่บอกไม่ได้ว่าทำไมมันไม่ล้ม
 
โบห์มเห็นว่าคนเรามีทั้ง การคิด (thinking) และ ความคิด (thought) แต่ทั้งสองอย่างนั้นต่างกัน การคิดเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา ณ ปัจจุบัน ซึ่งอาจมีความรู้สึกรวมอยู่ด้วย แต่ความคิดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการคิด มันเกิดขึ้นในสมองแล้วก็ทิ้งร่อยรอยบางอย่างไว้ ร่องรอยนั่นเองคือตัวความคิด ซึ่งเป็นตัวทำให้เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาอย่างอัตโนมัติ  ความคิดจึงเป็นการตอบสนองต่อความจำของเรา ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วจากการคิด
 
โบห์มอาศัยงานวิจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมาอธิบายเรื่องการคิด  สมองมนุษย์มีวิวัฒนาการมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น การคิดของมนุษย์เกิดขึ้นที่สมองส่วนหน้าด้านนอกสุด ส่วนที่เป็นศูนย์กลางของอารมณ์อยู่ลึกลงไปอีก แล้วก็ไปเชื่อมโยงกับระบบประสาท วิวัฒนาการของสมองที่ทำให้มนุษย์เราสามารถจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าได้อย่างแจ่มชัดเป็นตัวสร้างปัญหาให้เรา เพราะในกระบวนการสร้างมโนภาพนี้มีการ ปรุงแต่ง เกิดขึ้นจากการที่แต่ละคนนำฐานคติ (assumption) ของตัวเองเข้าไปผสมกับมโนภาพนั้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราแต่ละคนเห็นโลกหรือคนอื่นบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง มีคนจำนวนน้อยที่สนใจและสามารถสังเกตเห็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในตัวเองนี้ (การเจริญสติ???)  แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักและไม่ได้สังเกต ทั้งที่กระบวนการนี้ทำงานอยู่ในตัวเรา ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งในวิธีการสื่อสารของเรา ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เราได้เห็นว่าความจริงที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น โบห์มบอกว่า การเห็นกระบวนการทำงานของการคิดของเราจึงเปรียบเหมือนการเห็นความลับของนักมายากล ที่เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป
 
กุญแจสำคัญอยู่ที่การที่ทุกคนได้เห็นความลับนี้ด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น นั่นคือโลกจะถูกสร้างขึ้นโดยการเห็นกระบวนการคิด ปล่อยวางอคติทั้งปวง แล้วมาเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์ร่วมกัน
 
โบห์มไม่ได้บอกว่า Dialogue เป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหาของมนุษยชาติ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
 
วิธีการสนทนาแบบโบห์มแม้จะไม่มีกฎตายตัว (no firm rule) ว่าจะ ต้อง ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะหัวใจของการสนทนาแบบนี้คือการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมสนทนาแบบโบห์มจะต้องฝึกตัวเองให้มีอุปนิสัยต่อไปนี้
 
  • ไม่ด่วนสรุป (suspending of judgment) การชะลอการตัดสินคำพูดและความคิดของผู้อื่นทำให้ใจเราเปิด เราจะ ได้ยิน และเข้าใจทัศนะของทุกคนได้ดีขึ้น เป็นการได้ยินในแบบใหม่ที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เราจะได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริง  โบห์มบอกว่า “...ในกลุ่มสนทนา เราจะไม่ตัดสินว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นเราจะไม่เป็นอิสระ  เราต้องมีที่ว่างที่ไม่ผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งกับข้อสรุป กับข้อที่ว่าต้องพูดและไม่พูดอะไร มันเปิดและเป็นอิสระ...” นอกจากนี้ การไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ยังช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจกันในกลุ่มสนทนา

  • ฟังลึก (deep listening) ในการสนทนาแบบโบห์มเราฟังทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ ไม่โจมตีความคิดที่ไม่เห็นด้วย นั่นคือ ฟังโดยไม่ต้องไปให้คุณค่าว่าดีหรือเลว น่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ แต่ละคน ฟัง เพื่อให้ ได้ยิน ทั้ง ความหมาย (meaning) ที่แท้จริงที่แต่ละคนสื่อ และทั้ง ความหมาย ที่คลี่ (unfold) ออกมาจากสนทนาของกลุ่ม

  • ค้นหาข้อสมมุติฐานของตน (Identifying Assumption) เราเห็นโลกตามข้อสมมุติฐานของเราและเราก็แสดงออกต่อคนอื่นตามสมมุติฐานนั้น โดยที่เราเองไม่เห็นข้อสมมุติฐานที่อยู่ในตัวเรา การเรียนรู้ที่จะค้นให้พบข้อสมมุติฐานของตัวเอง  ซึ่งทำได้โดยการฝึกสังเกตความคิด ไล่ให้ทันความคิดของตัวเอง “...เราสามารถชะลอกระบวนการคิดให้ช้าลงเพื่อให้สามารถสังเกตความคิดขณะที่กำลังเกิดขึ้น...” (การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ???) การเห็นข้อสมมุติฐานของตัวเองจะทำให้เราสามารถมองโลกแตกต่างออกไป และจะทำให้เราเคารพคนอื่น ยอมรับคนอื่น แม้กระทั่งคนที่คิดต่างจากเรา มองเห็นว่าทุกคนที่แตกต่างกันนั้นล้วนสามารถมีส่วนในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ได้

  • ติดตามตรวจตราและไตร่ตรอง (Inquiry and Reflection) เมื่อเราไม่เข้าใจในความหมายที่คนอื่นพูด เราสอบถามเพื่อหาคำตอบอย่างบริสุทธิ์ใจที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการค้นหาและเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งต่างจากการตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ที่จะทำให้ผู้ร่วมสนทนารู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อขุดความคิดความเห็นที่ใหม่ๆ ที่อยู่ลึกลงไปขึ้นมา เป็นคำถามที่ช่วยให้ทุกคนในกลุ่มได้ไตร่ตรองและพัฒนาความเข้าใจร่วมกันไปด้วย


    การจัดสถานที่ในการสนทนาแบบโบห์ม ผู้เข้าร่วมสนทนาอาจนั่งเป็นวงเห็นหน้ากัน การนั่งล้อมเป็นวงทำให้เกิดบรรยากาศที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนถอดหัวโขนออก ไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะ ไม่ใช้โต๊ะเลยยิ่งดีเพื่อไม่ให้มีสิ่งสะกัดกั้นกระแสความคิดที่ไหลวนในกลุ่ม ไม่ต้องมีประธานการประชุมหรือผู้นำการสนทนา ไม่ต้องมีวาระ แต่ในช่วงแรกๆ โบห์มบอกว่า อาจมีผู้อำนวยกระบวนการ (facilitator) ที่คอยสะท้อนภาพการสนทนาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในวงสนทนา ผู้อำนวยกระบวนการสนทนาอาจเป็นใครคนใดคนหนึ่งในวงสนทนานั้นก็ได้ แต่เมื่อทุกคนฝึกฝนจนชำนาญแล้วก็ไม่ต้องมีผู้อำนวยกระบวนการอีก
     
    จำนวนของผู้เข้าร่วมสนทนา โบห์มบอกว่าจริงๆ แล้วสามารถทำได้ตั้งแต่คนเดียวขึ้นไปคือสนทนากับตัวเอง (One can even have a Dialogue with oneself) หรือจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้  อย่างไรก็ตามโบห์มแนะนำว่ากลุ่มขนาด 20 - 40 คน กำลังดี หากมีผู้เข้าร่วมมากกว่านั้นก็จะยากขึ้น แต่หากสามารถจัดการได้ก็ทำได้ โดยอาจจัดเป็นสองวงซ้อนกันเพื่อให้ได้ยินเสียงและเห็นหน้ากัน  ข้อดีของการมีคนมากพอก็คือกลุ่มจะควบคุมกันเอง หากกลุ่มเล็กเกินไป เช่น น้อยกว่า 20 คน จะขาดความหลากหลาย ไม่พอที่จะเป็นตัวแทนความคิดความเห็นของคนในสังคมได้ โบห์มเห็นว่ากลุ่มคนขนาด 20 – 40 คนสามารถเป็นตัวแทนของความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมของสังคมใหญ่ได้ เป็นการย่อส่วนของวัฒนธรรม (microculture)
     
    ความถี่ของการสนทนา อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้งหรือทุกสองสัปดาห์ การพบกลุ่มสนทนาเป็นระยะเช่นนี้ควรทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องอย่างน้อยสักปีหรือสองปีหรือนานกว่านั้น แล้วจะเกิดผลการทำ Dialogue ตามที่โบห์มบอก (การค้นพบความหมายใหม่ร่วมกัน) แต่ละครั้งจะใช้เวลาเท่าใดก็ตกลงกันเอง แต่หากได้สัก 1 – 2 ชั่วโมงก็ดี เพราะเป็นเวลาที่นานพอจะทำให้เกิดภาวะกระแสไหลเวียนของความคิดภายในกลุ่ม
     
    การเริ่มต้นการสนทนาโดยไม่มีวาระ ไม่มีประธานนำการประชุมอาจสร้างความกังวลให้ผู้เข้าร่วม และเมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ จะเกิดความรู้สึกคับข้องใจ แต่โบห์มยืนยันจากประสบการณ์ของเขาและคณะที่ทดลองวิธีการสนทนาแบบนี้มานานปีว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมงทุกคนจะเริ่มพูดได้อย่างอิสระ การมีใครสักคนทำหน้าที่ผู้ดำเนินการสนทนา (facilitator) อาจจำเป็นในระยะแรกๆ คนนี้คอยเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวงสนทนาแล้วสะท้อนภาพนั้นเป็นระยะๆ คือ คอยบอกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในวงสนทนา แต่เมื่อฝึกไประยะหนึ่ง เมื่อทุกคนคุ้นเคยแล้ว ความต้องการผู้อำนวยการสนทนาจะเริ่มน้อยลงน้อยลง
     
    โบห์มแนะนำว่า เมื่อเริ่มการสนทนากันในครั้งแรกๆ ยังไม่ควรนำปัญหาส่วนตัวของใครมาพูดกัน เมื่อผ่านไปหลายๆ ครั้งจนทุกคนเริ่มรู้จักและวางใจกันแล้ว หากจะมีคนพูดปัญหาส่วนตัวขึ้นมาบ้างก็ไม่เป็นไร แต่อย่าบ่อยจะดีกว่าเพราะโดยหลักๆ แล้วจะเป็นการสนทนากันในประเด็นวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเรื่องส่วนตัวก็อาจเข้ามาบ้างเพราะปัญหาส่วนตัวกับวัฒนธรรมก็ผสมผสานกันอยู่  ข้อที่พึงเข้าใจกันก่อนข้อคือกลุ่มสนทนานี้ไม่ใช่กลุ่มบำบัดปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่หากปัญหาใครจะคลี่คลายไปเองจากการเข้าร่วมกลุ่มก็ถือเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่จุดมุ่งหมาย  Patric de Mare เพื่อนของโบห์มคนหนึ่งที่เป็นนักจิตบำบัด และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของโบห์มในด้านวิธีการสนทนา (ในขณะที่กฤษณมูรติมีอิทธิพลด้านแนวคิดเชิงปรัชญา) เรียกการสนทนาแบบโบห์มว่าการบำบัดสังคม (socio-therapy) ไม่ใช่การบำบัดบุคคล (individual therapy) กลุ่มสนทนาเป็นตัวแทนของสังคมใหญ่ที่ถูกย่อส่วนลงเป็นโลกใบเล็ก หรือ จุลโลก (microcosm) หากกลุ่มหรือใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มได้รับการรักษาตัวเองให้หาย ก็จะเป็นการเริ่มต้นของการรักษาที่ใหญ่ขึ้นเอง
     
    สิ่งสำคัญยิ่งยวดเลยก็คือ การสนทนานี้จะต้องไม่มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้วเราจะไม่เกิดความรู้สึกอิสระ การสนทนาจะต้องทำให้บรรยากาศ “เปิด” และ “ว่าง” จริงๆ อย่างที่กฤษณมูรติบอกว่า ต้องไม่เป็น ชาล้นถ้วย (The cup has to be empty to hold something)
     
    โบห์มเล่าในหนังสือ On Dialogue ว่า นานมาแล้วเคยมีนักโบราณคดีเข้าไปอยู่กับชนเผ่าดั้งเดิมของอเมริกาเหนือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปชนเผ่าที่หากินด้วยการล่าสัตว์จะอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 20 – 40 คน สมาชิกทั้งหมดจะมาประชุมแบบล้อมวงคุยกันอยู่เรื่อยๆ โดยจะคุย คุย และคุย (talk talk and talk)โดยไม่มีวัตถุประสงค์อะไร  ไม่มีการตัดสินใจอะไร ไม่มีผู้นำการประชุม ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ อาจจะมีผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์มาก นั่งฟังอยู่ด้วย ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่อยากพูด การพูดกันดำเนินไปแล้วก็เลิกราแยกย้ายกันไปเองเมื่อถึงเวลาของมัน แต่หลังจากนั้นดูเหมือนทุกคนจะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เพราะเขาเข้าใจกันและกันดีมาก จากนั้นเขาอาจจะจับเป็นกลุ่มๆ ที่เล็กลงเพื่อไปทำบางสิ่งบางอย่าง หรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
     
    การสนทนาแบบโบห์มใช่ว่าจะต้องไม่มีจุดประสงค์ใดโดยเด็ดขาดเสียทีเดียว โบห์มบอกว่าเราอาจจะตั้งจุดประสงค์บางอย่างที่เราอยากสืบค้นร่วมกัน แต่ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์อันสมบูรณ์ที่ต้องยึดถืออย่างจริงจังอยู่ดี ไม่มีการบังคับให้ทุกคนต้องยึดติดกับวัตถุประสงค์นั้น วัตถุประสงค์ของการสนทนาแบบนี้ก็คือการสื่อสารให้ประสานสนิทเข้าด้วยกันจนเป็นเป็นเนื้อเดียว (to communicate coherently in truth) หากเราตั้งจุดประสงค์อย่างที่ในสังคมทั่วไปตั้งกัน ไม่ว่าเพื่องานหรือเพื่อความบันเทิง จุดประสงค์นั้นก็จะกลายเป็นข้อจำกัดของการสนทนาแบบโบห์มไป
     
    ข้อจำกัด ในการนำการสนทนาแบบโบห์มไปใช้ก็มี เช่น หากจะนำไปใช้ในครอบครัว ก็อาจมีข้อจำกัดตรงที่ครอบครัวโดยทั่วไปมักมีโครงสร้างแบบอำนาจ และโครงสร้างแบบอำนาจและการบังคับตามลำดับชั้นโดยหลักการแล้วก็ไม่มีพื้นที่ให้กับการสนทนา การสนทนาแบบโบห์มดำเนินไปไม่ได้ในที่ที่ไม่มีอิสระ อย่างไรก็ตามครอบครัวใดจะนำหลักการของการสนทนาแบบนี้ไปใช้อย่างจำกัดก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ แล้วให้สมาชิกทุกคนยอมรับในหลักการของการ “เปิดใจ” เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างอิสระ
     
    ในองค์กรทั่วไปซึ่งมีโครงสร้างอำนาจและการบังคับบัญชาตามลำดับชั้นก็สามารถนำหลักการสนทนาแบบโบห์มไปใช้เพื่อวัตถุเฉพาะบางอย่างได้ เช่น ใช้เพื่อทำให้สมาชิกขององค์กรเข้าใจกันว่าความเข้าใจของแต่ละคนต่างกันอย่างไร การสนทนาแบบโบห์มโดยหลักการแล้วไม่ต้องการไปเปลี่ยนความคิดของผู้ร่วมสนทนา เมื่อสนทนากันแล้วใครจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะไปคิดเอาเอง ไปตัดสินใจเอาเอง ความสำคัญอยู่ที่การให้แต่ละคนได้ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่ในใจของตน ของคนอื่น ของกลุ่ม ไม่ต้องสรุป ไม่ต้องตัดสินในขณะสนทนา  การรีบด่วนสรุปหรือรีบตัดสินจะเป็นการปิดกั้นความคิดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
     
    การสนทนาแบบโบห์มยังเป็นเครื่องมือสำหรับให้แต่ละบุคคลได้สื่อสารกับตัวเอง โดยผ่านการสังเกตความคิดและกระบวนการคิดของตัวเอง อย่างที่กฤษณมูรติกล่าวไว้ว่า ในขณะที่เราสังเกตโลกภายนอกนั้นแท้จริงแล้วเราเห็นโลกผ่านการคิดภายในตัวเรา (the observer is the observed)

    http://gotoknow.org/blog/inspiring/171782
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งบอกว่าเมื่อนำการฟังอย่างลึกไปใช้ในครอบครัวทำให้เข้าใจสามีมากขึ้น ทั้งยังสามารถ “ก้าวข้าม” ความคุ้นชินเดิมที่ไม่กล้าแสดงออก กลายเป็นคนที่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นในวงสนทนาได้อย่างสวยงาม เป็นคำพูด “ตะกุกตะกักที่ไพเราะ” และ “ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมาก”

การสนทนาแบบโบห์ม ๕ : ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างไร?

มีผู้ที่เห็นด้วยกับโบห์มและนำแนวทางการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์และพัฒนาต่อในหลายบริบท บริบทที่การสนทนาแบบโบห์มได้รับการนำไปใช้มากที่สุดเท่าที่ผมสำรวจข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต คือการพัฒนาภาวะผู้นำและองค์กรในภาคธุรกิจ นอกจากนั้นก็มีบ้างในการการศึกษา การพัฒนาครอบครัวและชีวิตส่วนบุคคล 
 
การพัฒนาและประยุกต์การสนทนาแบบโบห์ม ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากการค้นคว้าจากเอกสารที่มีผู้กล่าวถึง สรุป เขียนอธิบาย หรือวิจารณ์ไว้เท่าที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต ผมยังไม่ได้อ่านงานเขียนที่เป็นต้นฉบับจริงๆ ของผู้พัฒนาและประยุกต์เหล่านั้นโดยละเอียด เนื่องจากยังไม่สามารถหาต้นฉบับได้
 
คนที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากและโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในการนำการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้ คือ William Isaacs  เมื่อครั้งที่เซงเก ก่อตั้ง Society for Organizational Learning ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเสทส์ ในปี 1997 นั้น ไอแซคส์เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งด้วย ต่อมาในปี 1999 ไอแซคส์ทำวิจัยเชิงปฏิบัติการวิธีการสนทนาแบบโบห์มและได้เขียนหนังสือชื่อ The Art of Thinking Together: A Pioneering Approach to Communicating in Business and Life ที่ต่อมาได้กลายเป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญสำหรับผู้ที่นำการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้  ต่อมาไอแซคส์ได้ก่อตั้งและเป็นประธานของ Dailogos Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทั้งในด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติการสนทนาแบบโบห์ม การพัฒนาภาวะผู้นำ และการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้  องค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งใช้บริการของสถาบันนี้ เช่น NASA, World Bank, British Petroleum, Motorola และ Lockheed
 
ไอแซคส์ได้สร้างแบบจำลองการสนทนา 4 ระยะ (Four-stage Evolutionary-model of a Dialogue) ขึ้นจากแนวคิดของโบห์ม ดังนี้

          ระยะแรก Shared Monologues ผู้ร่วมสนทนาสร้างความคุ้นเคยในการพูดคุยกับคนอื่นๆ ในขั้นนี้ ผู้เข้าสนทนายังไว้ตัว เกรงใจกัน ยังไม่มีใครแสดงอะไรที่นอกเหนือความคาดหวังของกลุ่ม ซึ่งวิศิษฐ์ วังวิญญู เรียกว่า สภาวะแห่งความสุภาพ

          ระยะที่สอง Skillful Discussion ผู้ร่วมสนทนาเรียนรู้ทักษะต่างๆ ของการสนทนา เป็นช่วงที่สมาชิกในวงสนทนากล้าแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตนออกมา ความแตกต่างของความคิดเริ่มเผยตัวออกมา (คำว่า dis หมายถึงการทำให้แตกออก)

          ระยะที่สาม Reflective Dialogue ผู้ร่วมสนทนาเริ่มตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยกัน เป็นภาวะที่ทุกคนอยากรู้อยากเห็น ในขั้นนี้ความคิดความเห็นของทุกคนจะสะท้อนกลับไปกลับมาภายในกลุ่ม

          ระยะที่สี่ Generative Dialogue เกิดภาวะการไหลเลื่อนของความคิดภายในวงสนทนาซึ่งเป็นภาวะพิเศษที่ทุกคนสร้างสรรค์ร่วมกัน (a special “creative” dialogue) ในขั้นนี้แต่ละคนจะรู้สึกว่าความคิดของตนคือความคิดของกลุ่ม และความคิดของกลุ่มเป็นความคิดของตน เกิดความคิดที่เป็นหนึ่งเดียวจากการคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน เป็นภาวะแห่งความสุขยิ่งของการสนทนา
 
นอกจากเซงเกและไอแซคส์แล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำและองค์กรอีกหลายคนที่ได้นำแนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้ เช่น Margaret Wheatley  วีตเลย์แต่งหนังสือหลายเล่ม เช่น Leadership and the New Science: Discovering Order in a Chaotic World (1999) เล่มนี้มีผู้แปลเป็นภาษาไทย ผมเพิ่งซื้อมา ยังไม่ได้อ่าน, Turning to One Another: Simple Conversations to Restore Hope to the Future (2002) เล่มนี้ก็แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ หันหน้าเข้าหากัน ผมเพิ่งซื้อมาเช่นกันแต่ยังไม่ได้อ่าน และ Finding Our Way: Leadership for an Uncertain Time (2005) วีตเลย์กับไอแซคส์ได้มีโอกาสร่วมงานกันด้วย
 
จากการสืบค้นในอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการใช้วิธีการ Dialogue ที่คล้ายกับ Bohm Dialogue แต่ผมยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ใช้ Dialogue เหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อโบห์มหรือได้รับอิทธิพลจากโบห์ม หรือไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น Victor Frankl (1905-1997) จิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิวที่รอดชีวิตจากคุกของนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และได้อพยพมาอเมริกา  Frankl ใช้วิธีจิตบำบัดที่เขาเรียกว่า Logotherapy วิธีการนี้มาจากประสบการณ์ของเขาระหว่างถูกขังอยู่ในคุก เขาสังเกตพบว่าการเสียชีวิตของเพื่อนนักโทษจำนวนมากเกิดจากความสิ้นหวังในชีวิต งานของ Frankl ที่มีชื่อเสียงมากคือ Man’s Search for Meaning (1984) เล่มมีแปลเป็นไทยแล้ว การรักษาแบบ Logotherapy ใช้วิธีให้ผู้ป่วยสนทนากันเพื่อค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ (คำว่า logo หมายถึงความหมาย)
 
Maurice Friedman ศาสตราจารย์ด้านศาสนา ปรัชญา และภาษา เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่า dialogue คือเคล็ดลับของการเชื่อมโยงคนเข้าหากัน (the secret of the bond between person and person) Friedman ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมหลายคนเช่น Carl Jung (1875-1961), Abraham Maslow (1908-1970), Martin Buber (1878-1965) รวมทั้ง Frankl ที่กล่าวถึงไปแล้ว งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ Friedman คือ Religion and Psychology: A Dialogical Approach (1992)
 
Parker Palmer เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้การสนทนาที่คล้ายกับโบห์มมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชีวิตด้านใน(จิตวิญญาณ)ของบุคคล (personal spiritual development)  พาล์มเมอร์เรียกวิธีการของเขาว่า วงจรแห่งความไว้วางใจ (circles of trust) พาล์มเมอร์เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น A Hidden Wholeness: The Journey Toward an Undivided Life (2004), Let Your Life Speak: Listening for the Voice of Vocation (2000), The Active Life: A Spirituality of Work, Creativity and Caring (1990), The Courage to Teach: Exploring the Inner Landscape of a Teacher's Life (1998), To Know As We Are Known: Education as a Spiritual Journey (1983, 1993)
 
ส่วนในประเทศไทยมีการนำแนวคิดและวิธีการของการสนทนาแบบโบห์มมาประยุกต์ใช้ในองค์กรมาหลายปีแล้ว นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ศัลยแพทย์แห่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  เขียนเล่าในนิตยสารหมอชาวบ้านฉบับเดือนพฤษภาคม 2548 ว่า วิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นผู้นำการสนทนาแบบโบห์มมาใช้เป็นคนแรกในประเทศไทยในช่วงปี 2543 โดยก่อนหน้านั้น นพ.ประสาน ต่างใจ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน
 
นพ.วิธาน เขียนเล่าว่า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มียอดขายปีละประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทได้สนใจและใช้ “สุนทรียสนทนา” ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับสูงโดยมีวิศิษฐ์ วังวิญญูเป็นผู้ดำเนินกระบวนการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจและเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานในองค์กรจริง  ชมรมทันตบุคลากรเชียงรายก็ได้ใช้การสนทนาแบบโบห์มในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ พบว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้เข้าร่วม เช่น ทันตแพทย์ชายคนหนึ่งพบว่าตัวเองมีอารมณ์ด้านลบเกิดขึ้นถึงสามสิบกว่าครั้งในหนึ่งวัน แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมจนจับได้ว่าอารมณ์ลบต่างๆ น้อยลงไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงานที่ทำให้ผู้ร่วมงานมีความสุขมากขึ้น ซึ่งส่งผลกลับมาทำให้เขารู้สึกรักองค์กรมากขึ้นและอยากทำงานให้องค์กรมากขึ้น  ทันฑแพทย์หญิงคนหนึ่งบอกว่ามีความ “เข้าใจฝ่ายตรงข้าม” มากขึ้นจากการที่ตนเองทำ “บายพาสอารมณ์” ได้ ทันฑแพทย์ชายอีกคนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนจากคนที่ค่อนข้างปลีกตัวมาสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานมากขึ้น เช่น เริ่มมากินอาหารด้วยกัน ขี่จักรยานและร่วมกิจกรรมอื่นๆ ทันฑแพทย์อีกท่านหนึ่งบอกว่าสามารถ “ทะลุ” ความคิดเรื่องงานสำคัญที่กำลังติดขัดอยู่ได้อย่างประหลาด ทันฑแพทย์อีกคนหนึ่งบอกว่าได้เข้าใจเรื่องการลดการใช้อำนาจ รู้สึกเห็นด้วยว่าเมื่อลดการใช้อำนาจลงกลับสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นจริง เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งบอกว่าเมื่อนำการฟังอย่างลึกไปใช้ในครอบครัวทำให้เข้าใจสามีมากขึ้น ทั้งยังสามารถ “ก้าวข้าม” ความคุ้นชินเดิมที่ไม่กล้าแสดงออก กลายเป็นคนที่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นในวงสนทนาได้อย่างสวยงาม เป็นคำพูด “ตะกุกตะกักที่ไพเราะ” และ “ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมาก” ทำงานเปลี่ยนแปลงไป
 
ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดให้มี Dialogue ในทุกหน่วยงานในสังกัดเดือนละ 2 ครั้ง และมีการทำ Dialogue ผสมผสานในงานประจำวัน  พยาบาลที่เข้าร่วมการสนทนาแบบโบห์มคนหนึ่งบอกว่า “รู้สึกแปลกใจที่มีคนฟังเราด้วย จากที่แต่ก่อนไม่มีโอกาสพูด” ผู้ช่วยพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า “การทำ Dialogue ทำให้ได้รู้ว่าคนอื่นก็มีวิธีการทำงานที่ดี แม้กระทั่งคนงานก็เสนอความคิดเห็นที่ดีๆ” อีกคนหนึ่งบอกว่า “ทำ Dialogue ช่วงแรกเครียดมาก ไม่มีใครกล้าพูดอะไร ต้องมีการกระตุ้นบรรยากาศการคุยหลายครั้ง แต่สุดท้ายเราก็ได้ฟังสิ่งที่อยู่ในใจลูกจ้างประจำ ได้รับความคิดเห็น มุมมองที่น่าสนใจของบุคคลแต่ละระดับ” อีกคนหนึ่งบอกว่า “การทำ Dialogue ดีเพราะได้พูดในสิ่งที่ตนเองอยากจะพูดโดยไม่มีผู้ใดขัดแย้ง”
 
ในการทำการสนทนาแบบโบห์มกับผู้ป่วยและญาติ พยาบาลคนหนึ่งเล่าว่า “เขานอนไม่ค่อยหลับเพราะไม่เคยชินกับการเข้านอนโดยไม่ล็อกประตู เขาขออนุญาตปิดล็อกก่อนเข้านอน ถ้าเป็นเมื่อก่อนผู้ป่วยรายนี้คงได้รับการชี้แจงด้วยสารพัดเหตุผลว่าไม่ได้ แต่คราวนี้ดิฉันกลับแปลกใจในคำตอบที่ได้ยิน เขาได้รับอนุญาตให้ปิดล็อกลูกบิดประตูได้ แต่จะต้องไม่ใส่กลอนประตู และมีข้อตกลงว่า ถ้าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าตรวจเยี่ยม จะไขกุญแจเข้าไปเยี่ยม โดยถ้าเป็นช่วงดึกจะเสียงดังเล็กน้อย เขายอมรับได้หรือไม่ เขายอมรับได้...” (ดูรายละเอียดได้ใน http://gotoknow.org/file/kmi_public/dialoguechula_KM4.pdf)
 
หนังสือคู่มือกระบวนกร: ศาสตร์และศิลป์แห่งการหันหน้าเข้าหากัน เขียนโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู, วิธาน ฐานะวุฑฒ์ และณัฐฬส วังวิญญู ทำให้ผมได้เข้าใจว่า สถาบันขวัญเมือง เชียงราย ได้ดำเนินกิจกรรมการปฏิบัติและการฝึกอบรมผู้ดำเนินกระบวนการสนทนาแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง เรียกผู้ดำเนินกระบวนการนี้ว่า กระบวนกร และได้มีการจัดงานมหกรรมกระบวนกรมาแล้ว  5 ครั้ง
 
การนำการสนทนาแบบโบห์มมาประยุกต์ใช้ในต่างประเทศปรากฏให้เห็นมากกว่าประเทศไทย  ข้อมูลจาก Selected Website on Dialogue ทำให้เราได้ทราบว่าที่สหรัฐอเมริกา มีการรวมกันเป็นเครือข่ายเรียกว่า National Coalition for Dialogue & Deliberation (NCDD) ปัจจุบันมีสมาชิกบุคคล 790 คนและกลุ่ม 34 กลุ่ม นอกจากนั้นยังมีหนังสือ บทความ รายงาน บทสัมภาษณ์ และข้อเขียนต่างๆ เกี่ยวกับการสนทนาแบบโบห์ม และ Dialogue แบบอื่นๆ เป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบการพิมพ์และในเว็บไซต์ต่างๆ   ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการรวมตัวกันของผู้ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างเป็นทางการ  และยังมีหนังสือ บทความ และรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะปรากฏในรูปของบันทึกหรือรายงานสั้นในกระดานเสวนา (webboard) ของหน่วยงานที่ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์ม และในเว็บบล็อก gotoknow.org
 
http://gotoknow.org/blog/inspiring/171784
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ฟังเสียงภายในของตัวเองไปด้วยขณะฟังคนอื่น

การสนทนาแบบโบห์ม ๖ : สรุป

การสนทนาแบบโบห์ม คือ การสื่อสารแบบใหม่แบบหนึ่ง(หรือเปล่า???)ที่เดวิด โบห์ม เสนอ การสื่อสารแบบนี้มุ่งให้ทุกคนได้เรียนรู้ ค้นหา และพบความหมายบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน ผู้เข้าร่วมในการสนทนาช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ด้วยกัน โดยการ “ถอดหมวก” อันได้แก่สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมออก เพื่อให้ทุกคนมีอิสระอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมจะฟังอย่างลึก ฟังอย่างไตร่ตรอง ฟังเสียงภายในของตัวเองไปด้วยขณะฟังคนอื่น ฟังโดยไม่ด่วนสรุป ไม่ด่วนตัดสิน ตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่โจมตีกัน อันจะนำไปสู่การค้นพบความคิดใหม่ที่เป็นของผู้ร่วมสนทนาทุกคน โบห์มเชื่อว่า หากการสื่อสารเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปในสังคม ปัญหาและวิกฤติการณ์ต่างๆ ของมนุษยชาติ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร ชุมชน ประเทศชาติ และโลกก็จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน


---- จบครับ ---

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...