เรื่องย่อในพระธรรมบท (อัปปมาทวรรค)เรื่องพระนางสามาวดีพระศาสดา เมื่ออาศัยกรุงโกสัมพี ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ทรงปรารภความวอดวายคือมรณะ ของหญิง 500 มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน และของญาติ 500 ของพระนางมาคันทิยานั้น ซึ่งมีนางมาคันทิยาเป็นประธาน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ เป็นต้น
พระนางสามาวดีมีหญิงข้าราชบริพารจำนวน 500 คน และพระนางมีหญิงรับใช้นางหนึ่งชื่อ ขุชชุตตรา นางขุชชุตตราต้องไปซื้อดอกไม้มาถวายพระนางสามาวดีจากนายสุมนมาลาการทุกวัน ครั้งหนึ่งนางขุชชุตตรามีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดาที่บ้านของนายสุมนมาลาการจนนางได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน นางขุชชุตตรา
ได้นำความในพระธรรมเทศนาของพระศาสดานั้นกลับไปแสดงให้พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารฟัง ทำให้พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารทั้งหมดได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันไปด้วย จากวันนั้นมานางขุชชุตตราก็เลยไม่ต้องทำงานที่ต้องใช้แรงกายใดๆ แต่ได้รับหน้าที่เป็นมารดาและเป็นอาจารย์ของนางสามาวดี เมื่อนางขุชชุตตราไปฟังธรรมเทศนาจากพระศาดาแล้วก็กลับมาแสดงให้นางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารทั้งหลายฟัง เมื่อกาลเวลาผ่าไปนานเข้านางขุชชุตตราก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก
พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ไปเฝ้าและไปถวายบังคมพระพระศาสดา แต่ก็มีความหวั่นเกรงว่าพระราชาจะไม่ทรงพอพระทัย จึงได้ใช้วิธีเจาะรูกำแพงพระราชวังเอาไว้แอบมองและถวายความเคารพพระศาสดาทุกวัน เมื่อพระองค์เสด็จไปที่บ้านของเศรษฐี 3 คน คือ โฆสกเศรษฐี กุกกุตเศรษฐี และปาวาริยศรษฐี
ในขณะนั้น พระเจ้าอุเทนมีมเหสีเอกอีกองค์หนึ่งพระนามว่าพระนางมาคันทิยา พระนางมาคันทิยานี้เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อมาคันทิยะ วันหนึ่งพราหมณ์ผู้นี้พบพระศาสดาแล้วมีความคิดว่าพระองค์เป็นบุคคลเหมาะที่จะแต่งงานกับธิดาโฉมงามของตน จึงรีบวิ่งกลับไปพาภรรยาและธิดาของตนมาแล้วออกปากยกธิดาของตนให้แต่งงานกับพระศาสดา แต่พระศาสดาทรงปฏิเสธข้อเสนอของพราหมณ์นั้นโดยตรัสว่า “
ขนาดที่เราตถาคตได้เห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา สามธิดาของมาร เราตถาคตยังไม่มีความรู้สึกต้องการทางกามารมณ์เลย เพราะว่าเป็นร่างกายที่เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งตถาคตไม่ต้องการสัมผัสถูกต้องแม้แต่ด้วยเท้า”
เมื่อได้ยินพระดำรัสของพระศาสดานี้ พราหมณ์มาคันทิยะและนางพราหมณีก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ทั้งสองคนจึงได้มอบหมายให้นางมาคันทิยาอยู่ในความดูแลของลุงของนาง แล้วทั้งสองออกบวชและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด พระศาสดาทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าพราหมณ์มาคันทิยะและนางพราหมณีจะได้บรรลุเป็นพระอนาคามีในวันนั้น พระองค์จึงได้ตรัสตอบพราหมณ์มาคันทิยะด้วยพระดำรัสข้างต้น
แต่ทว่าคำตอบของพระศาสดาได้สร้างความรู้สึกขมขื่นและเจ็บปวดรวดร้าวใจให้แก่นางมาคันทิยามาก และนางได้สาบานว่าจะต้องหาทางแก้แค้นเมื่อโอกาสอำนวยต่อมาลุงของนางมาคันทิยาได้นำนางมาคันทิยามาถวายตัวแก่พระเจ้าอุเทน และนางได้ตำแหน่งเป็นมเหสีเอกองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน พระนางมาคันทิยาทรงทราบว่าพระศาสดาเสด็จมาที่กรุงโกสัมพีและทรงทราบด้วยว่าพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารเจาะรูกำแพงพระราชวังไว้มองดูและไว้ถวายบังคมพระศาสดา ดังนั้นพระนางจึงวางแผนแก้แค้นพระศาสดาและแผนทำร้ายพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารที่มีความศรัทธาในพระศาสดา พระนางมาคันทิยาได้กราบทูลฟ้องพระเจ้าอุเทนว่า พระนางสามาวดีและและหญิงข้าราชบริพารเจาะรูกำแพงพระราชวัง
เอาไว้สำหรับติดต่อกับภายนอก และไม่มีความภักดีต่อพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุทานได้เสด็จไปทอดพระเนตรรูกำแพงและเมื่อพระนางสามาวดีได้กราบทูลว่าเจาะไว้สำหรับมองและถวายความเคารพแด่พระศาสดาพระเจ้าอุเทนจึงไม่ทรงพิโรธ
แต่พระนางมาคันทิยาก็ยังคงพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อทำให้พระเจ้าอุเทนมีความเชื่อว่าพระนางสามาวดีไม่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์และกำลังวางแผนจะปลงพระชนม์พระองค์ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อพระนางมาคันทิยาทรงทราบว่าพระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปหาพระนางสามาวดีภายในวันสองวันนี้และพระเจ้าอุเทนจะทรงถือพิณไปด้วย พระนางมาคันทิยาจึงลอบนำงูตัวหนึ่งไปใส่ไว้ในพิณนั้นแล้วเอาช่อดอกไม้อุดรูของพิณเอาไว้ พระนางมาคันทิยาได้ตามเสด็จพระเจ้าอุเทนไปยังที่ประทับของพระนางสามาวดี หลังจากที่พระนางทำทีคัดค้านไม่อยากให้พระองค์เสด็จไปเพราะพระนางสังหรณ์ใจว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยกับพระองค์ เมื่อเดินทางไปถึงที่ประทับของพระนางสามาวดีแล้ว พระนางมาคันทิยาก็เอาช่อดอกไม้ที่ใช้อุดรูพิณนั้นออก งูก็ได้เลื้อยออกมาขดอยู่บนเตียงนอน
เมื่อพระเจ้าอุเทนทอดพระเนตรเห็นงูก็ทรงเชื่อคำของพระนางมาคันทิยาว่าพระนางสามาวดีกำลังวางแผนปลงพระชนม์พระองค์ ทรงพิโรธมากรับสั่งให้จับพระนางสามาวดีไปยืนอยู่ที่หลักประหารและให้จับหญิงข้าราชบริพารทั้งหมดไปยืนอยู่ข้างหลัง จากนั้นพระองค์ทรงโก่งคันศรและสอดลูกศรที่กำซาบยาพิษแล้วยิงไปที่พระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพาร
ขณะนั้นพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริหารมิได้มีความพยาบาทอาฆาตพระเจ้าอุเทนแต่ได้แผ่เมตตาจิตให้แก่พระองค์ เพราะอานุภาพของเมตตาจิตนั้นมีอันทำให้ลูกศรที่ยิงออกไปวิ่งกลับเข้าหาตัวของพระเจ้าอุเทน ซึ่งปกติแล้วฝีมือยิงศรของพระเจ้าอุเทนป็นเลิศมากสามารถยิงทะลุศิลาได้อย่างสบายๆ พอถึงตอนนี้พระเจ้าอุเทนเริ่ม
ตระหนักว่า ว่าพระนางสามาวดี
เป็นผู้บริสุทธิ์และได้ทรงอนุญาตให้พระนางสามาวดีกับหญิงข้าราชบริพารไปนิมนต์พระศาสดาและภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตและแสดงธรรมเทศนาในพระราชวังได้
พระนางมาคันทิยาเมื่อรู้ว่าแผนการต่างๆของพระนางไม่บรรลุวัตถุประสงค์จึงได้วางแผนการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขั้นสุดท้าย โดยพระนางได้ส่งข่าวไปแจ้งแก่ลุงของพระนางให้มาที่พระราชวังของพระนางสามาวดีแล้วให้จัดการใช้ไฟเผาพระราชวังพร้อมหญิงทุกคนที่อยู่ในนั้น ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้พระราชวังที่ประทับอยู่นั้น พระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิงข้าราชบริพารจำนวน 500 นางมิได้ตื่นตระหนกตกใจและยังคงนั่งสมาธิเป็นปกติ ทำให้บางนางได้บรรลุพระสกทาคามิผล ขณะบางนางได้บรรลุพระอนาคามิผลก่อนที่จะถูกไฟครอกเสียชีวิตทุกคน
เมื่อข่าวไฟไหม้พระราชวังกระจายไปทั่ว พระเจ้าอุเทนได้เสด็จมาทอดพระเนตรยังที่เกิดเหตุ แต่ก็สายไปเสียแล้วพระองค์จึงไม่ทรงสามารถช่วยเหลืออะไรได้ พระองค์ทรงสงสัยว่างานลอบวางเพลิงในครั้งนี้เป็นฝีมือของพระนางมาคันทิยาแน่ๆ แต่พระองค์มิได้แสดงว่าพระองค์สงสัยพระนาง ทว่าได้ตรัสว่า “เมื่อพระนางมาคันทิยายังมีชีวิตอยู่เรามีแต่หวั่นเกรงและเฝ้าคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะถูกพระนางทำร้าย พอถึงตอนนี้แล้วจิตใจของเรามีความสงบ ใครนะที่ลอบวางเพลิงในครั้งนี้ ? คนที่ทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องเป็นคนที่รักเรามากแน่” เมื่อพระนางมาคันทิยาได้ยินดำรัสของพระเจ้าอุเทนเช่นนี้ก็หลงกลรีบยอมรับว่าพระนางเป็นผู้อยู่เบื้องหลังลอบส่งข่าวให้ลุงมาลอบวางเพลิงในครั้งนี้ เมื่อพระเจ้าอุเทนสดับก็ทรงทำทีว่าแสดงความยินดีที่พระนางกระทำเช่นนี้และตรัสว่าจะพระราชทานรางวัลอันยิ่งใหญ่ให้แก่พระนางและเครือญาติของพระนางทุกคน ดังนั้นพระนางมาคันทิยาจึงได้ส่งข่าวไปแจ้งให้ญาติๆทุกคนของพระนางเดินทางมาที่พระราชวัง แต่พอญาติทุกคนเดินทางมาถึง ทุกคนรวมทั้งพระนางมาคันทิยาก็ได้ถูกจับกุมตัวนำไปเผาที่หน้าพระลานหลวงตามพระราชโองการของพระเจ้าอุเทนเมื่อพระศาสดาทรงทราบข่าวของสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แล้ว พระองค์ได้ตรัสว่า
ผู้ที่ไม่ประมาทคือผู้ที่ไม่ตาย ส่วนผู้ที่ประมาทคือผู้ที่เสมือนตายแล้ว แม้ว่าจะยังคงมีชีวิตอยู่ก็ตามจากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท
พระคาถาที่ 21 พระคาถาที่ 22 และพระคาถาที่ 23 ว่า
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ
ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ
เย ปมตฺตา ยถา มตาฯ
(อ่านว่า)
อับปะมาโท อะมะตัง ปะทัง
ปะมาโท มัดจุโน ปะทัง
อับปะมัดตา นะ มียันติ
เย ปะมัดตา ยะถา มะตา.
(แปลว่า)
ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
ความประมา ทเป็นทางตาย
ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย
ผู้ประมาทเหมือนกับผู้ตายแล้ว.
เอตํ วิเสสโต ญตฺวา
อปฺปมาทมฺหิ ปณฑิตา
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ
อริยานํ โคจเร รตาฯ
(อ่านว่า)
เอตัง วิเสสะโต ยัตตะวา
อับปะมาทัมหิ ปันดิตา
อับปะมาเทนะ ปะโมทันติ
อะริยานัง โคจะเร ระตา.
(แปลว่า)
บัณฑิตรู้ข้อแตกต่างระหว่าง
ความประมาทกับความไม่ประมาทนี้แล้ว
ยินดีในความไม่ประมาท
อันเป็นทางของพระอริยะ.
เต ฌายิโน สาตฺติกา
นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพพานํ
โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํฯ
(อ่านว่า)
เต ชายิโน สาดติกา
นิดจัง ทันหะปะรักกะมา
ผุดสันติ ทีรา นิบพานัง
โยคักเขมัง อะนุดตะรัง.
(แปลว่า)
ผู้ฉลาด เจริญฌาน
มีความบากบั่นอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
ย่อมบรรลุพระนิพพาน
ที่ปลอดพ้นจากเครื่องร้อยรัด และที่ล้ำเลิศ.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.