Crash Cushion อุปกรณ์กันกระแทก เซฟชีวิตผู้ขับขี่
-http://hilight.kapook.com/view/75278-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้
ทางแยกตัววายบนทางด่วน หรือทางยกระดับ กลายเป็นจุดเสี่ยงอันตรายไปเสียแล้ว เมื่อระยะหลังมานี้ มีข่าวคนขับรถตกลงไปยังข้างล่างปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ทำให้ทางกรุงเทพมหานครตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เพื่อลดแรงปะทะ หรือที่เรียกว่า Crash Cushion บนทางแยกตัววายตามทางยกระดับต่าง ๆ เพื่อรองรับแรงปะทะ และช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
หลายคนอาจจะสงสัยว่า Crash Cushion ผลิตมาจากอะไร แล้วเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้มีประสิทธิภาพมากขนาดไหน วันนี้ กระปุกดอทคอม นำข้อมูลมาบอกกัน เพื่อความอุ่นใจของผู้ขับขี่
Crash Cushion หรือ Impact Attenuator เป็นอุปกรณ์ดูดซับแรงปะทะ หรือหมอนกันกระแทก มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 2.5 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร ดู ๆ ไปก็คล้ายกับแท่งแบริเออร์ริมทาง แต่มีความแข็งแรงมาก เพราะผลิตมาจากพลาสติกคุณภาพสูง "โพลีคาร์บอเนต" และมีตัวโครงสร้างเป็นโลหะ จึงรองรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี
ตัวของ Crash Cushion นั้น ถูกออกแบบมาเป็นชุดเหมือนนำชิ้นส่วนมาต่อกัน และให้นำมาต่อกับแท่งปูนที่เป็นกันชนเดิม หากส่วนไหนถูกชนเสียหายก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะส่วนนั้น แล้วสามารถใช้งานต่อได้ทันที โดยใน 1 ชุด จะมีทั้งตัว Crash Cushion, ป้ายเตือนบนหัวเกาะให้ลดความเร็วที่กะพริบได้โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนด้านหน้าก่อนจะถึงตัว Crash Cushion จะมีแท่งพลาสติกล้มลุกสะท้อนแสงติดตั้งไว้เป็นด่านหน้า เพื่อลดแรงกระแทกของรถที่พุ่งชนเข้ามา และบังคับให้รถที่เสียหลักกลับสู่ทิศทางที่ถูกต้อง
เชื่อว่า หลายคนคงจะเคยเห็น Crash Cushion ตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว และอาจจะสงสัยว่า มันสามารถรับแรงกระแทกได้แค่ไหน เบาใจได้เลย เพราะจากการทดสอบในต่างประเทศ พบว่า Crash Cushion สามารถรองรับแรงปะทะของรถยนต์ที่มีน้ำหนัก 1.5 ตัน ได้ที่ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยทีเดียว ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากพอดู และ Crash Cushion ตัวนี้ ก็เป็นอุปกรณ์ที่หลาย ๆ ประเทศ ติดตั้งไว้ใช้งานเพื่อความปลอดภัยมานานแล้ว ขณะที่ในประเทศไทยถือเป็นของใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มใช้กันไม่นานนัก
ทั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานคร เตรียมจะติดตั้ง Crash Cushion ให้ครบ 18 จุดเสี่ยงอันตราย ทั้งบริเวณหัวเกาะ ทางร่วม ทางขึ้น-ทางลงสะพาน โดยตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ คาดว่า เจ้าอุปกรณ์ช่วยตัวนี้จะสามารถลดความรุนแรง ลดโอกาสสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=137830&catid=176&Itemid=524-
-http://morning-news.bectero.com/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C-1461.html-
.