วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-
วัดชนะสงคราม เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่าวัดกลางนา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. 2329 และสงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. 2330
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง
วัดชนะสงครามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงเริ่มดำเนินการก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลที่เฉลียงพระอุโบสถด้านหลังตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ดำเนินการ แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการก่อสร้าง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานใน พ.ศ. 2470
ปูชนียวัตถุ
1. พระประธานในพระอุโบสถ หรือ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร ประดิษฐานบนฐานสูง 1.30 เมตรมีพระอัครสาวกซ้ายขวานั่งประนมมือ 2 องค์ เป็นพระปูนปั้นเช่นกัน
2. พระพุทธรูปปูนปั้นและปางมารวิชัยเช่นเดียวกับพระปฏิมาจำนวน 25 องค์ ประดิษฐานรอบฐานชุกชี
3. เจดีย์ทรงจอมแห 2 องค์ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถและเจดีย์ทรงกลม 2 องค์อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ
ถาวรวัตถุ
1. พระอุโบสถ กว้าง 13 วา 2 ศอก ยาว 20 วา 2 ศอก สูงประมาณ 10 วา
2. ธรรมมาสน์ลายทอง สังเค็ด งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. ธรรมมาสน์กับหนังสือปาฎิโมกข์สมุดไทยพร้อมตู้ 1 ชุด สังเค็ดงานพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
4. เทียนสลักพร้อมตู้ลายทอง 1 ชุด สังเค็ดงานพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชนาลัย
พระปริตรามัญ
โบราณประเพณีเก่าแก่ของไทยประการหนึ่ง ที่มีความสำคัญ และมีความหมายยิ่ง ต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง หากแต่ไม่ค่อยได้มีผู้ใดรู้จักเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นพิธีที่ปฏิบัติกัน เฉพาะในหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง และเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเฉพาะส่วนพระองค์เท่านั้น พิธีนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อพระราชกิจวัตรประจำวัน เนื่องจากเป็นพิธีที่สวดเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ทูลเกล้า ฯ ถวาย ส่วนหนึ่งสำหรับจัดเป็นน้ำสรงพระพักตร์ และน้ำโสรจสรง อีกส่วนหนึ่ง เพื่อประพรมพระที่นั่งองค์สำคัญ ในเขตพระราชฐานชั้นใน นอกจากนี้ พิธีดังกล่าว ยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ จะนิมนต์เฉพาะพระสงฆ์มอญเข้ามาสวดบทสวดพระปริตรมอญเท่านั้น ความสำคัญของพิธีสวดพระปริตรรามัญ เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ ในพระบรมมหาราชวังนั้น ปรากฏตามพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
"ในพระราชนิเวศน์เวียงวัง ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตามแบบแผนบุรพประเพณีสืบมา พระสงฆ์รามัญ ได้สวดพระปริตรตามแบบอย่างข้างรามัญ ถวายน้ำพระพุทธมนต์และน้ำสรงพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นน้ำสำหรับสรงพระพักตร์ ประพรมเป็นทักษิณาวัฏรอบขอบ ในจังหวัดพระราชมหามณเฑียรนี้ทุกวัน เป็นการพระราชพิธีมีสำหรับบรมราชตระกูลสืบมาแต่โบราณ พระสงฆ์อื่น ๆ แม้นมีฐานันดรยศปรากฏด้วยเกียรติคุณ คือ เรียนรู้พระคัมภีร์ที่เป็นพระราชาคณะเปรียญ หรือที่เป็นอาจารย์บอกภาวนาวิธี หรือพระสงฆ์ที่รู้ประกอบวิทยามนต์ดล เป็นที่นับถือของคนเป็นอันมากก็ดี ก็ไม่มีราชบัญญัติ ที่จะได้รับวาระผลัดเปลี่ยนมาสวดพระปริตรถวายน้ำพระพุทธมนต์เลย เหตุอันนี้ได้ทรงพระราชดำริว่า ชะรอยจะมีเหตุวิเศษอย่างหนึ่งแต่โบราณรัชกาล เป็นมหัศจรรย์อยู่อย่างไรแน่แท้ เพราะว่าปกติธรรมดาคนชาวภาษาใด ประเทศใด ก็ย่อมนับถือพระสงฆ์และแพทย์หมอต่าง ๆ ตามประเทศ ตามภาษาของตัว ในการสวดและการบุญต่าง ๆ แลการปริตรรักษาตนรักษาไข้ แต่การซึ่งมีนิยมเฉพาะให้พระสงฆ์รามัญพวกเดียว ประจำสวดปริตรอย่างรามัญ ในพระราชวังนี้ จะมีความยืนยันมา ในพระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุการต่อมาเป็นแน่นอนก็ไม่มี ”
อนึ่ง เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมราตรี ณ ตำบลใดเป็นทางไกล คือเสด็จไปการสงคราม หรือแทรกโพนช้างในแผ่นดินก่อน ๆ พระสงฆ์รามัญสวดพระปริตรนี้ ก็ต้องตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยทุกครั้ง เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เสด็จไปประทับอยู่กรุงลพบุรี 8 เดือน ในฤดูแล้งทุกปี ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์รามัญวัดตองปุให้ตามเสด็จขึ้นไปตั้งอารามชื่อวัดตองปุ อยู่สวดพระปริตรถวายพระพุทธมนต์ทุกวัน อารามนั้นก็มีปรากฏจนทุกวันนี้ แลน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรนี้ ย่อมเป็นที่เห็นว่ามีอำนาจป้องกันอุปัทวันตรายต่าง ๆ ได้จริง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ดำรงสิริ รัตนราไชยสวริยาธิปัตย์ เถลิงถวัลยราช ณ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยานี้ ก็ได้ทรงถือน้ำพระพุทธมนต์ประปริตรที่พระสงฆ์รามัญสวดถวายนั้น เป็นน้ำสรงพระพักตร์และน้ำสรงมาทุกพระองค์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นิพนธ์อธิบายเพิ่มเติม ถึงราชประเพณีดังกล่าวในหนังสือ "ตำนานพระปริต" โดยแสดงให้เห็นว่า แม้ปกติจะมีการแต่งตั้งตำแหน่งพระครูปริตไทย 4 รูป และพระครูปริตมอญ 4 รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในงานพระราชพิธีโดยทั่วไปแล้วนั้น แต่สำหรับพิธีสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวังนั้นมีเฉพาะพระครูปริตมอญเท่านั้นเข้ามาสวดทุกวัน ดังความว่า
"แต่การสวดพระปริตทำน้ำพระพุทธมนตร์ ถือเป็นการสำคัญในราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย 4 รูป พระครูพระปริตมอญ 4 รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป 1 มอญรูป 1 กับพระครูพระปริต 8 รูปนั้นสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติพระครูพระปริตมอญต้องเข้ามาสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ที่หอศาสตราคม ทุกวัน น้ำมนตร์พระปริตนั้น ส่วนหนึ่งแบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งในบาตร 2 ใบให้สังฆการีถือตามพระครูพระปริต 2 รูป เข้าไปเดินประพรมด้วยกำหญ้าคาที่ในพระราชวังเวลาบ่าย 14 นาฬิกา ทุกวันเป็นนิตย์มาแต่โบราณ ”
เมื่อมีการสวดพระปริตรเป็นพิธีหลวง จึงได้ทรงแต่งตั้งพระครูพระปริตรประจำพระราชวัง สำหรับการสวดพระปริตร และสวดพระพุทธมนต์สำหรับทำน้ำมนต์ และสำหรับเสกทรายโดยเฉพาะ โดยมีพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 4 รูป ซึ่งแต่เดิมจำพรรษาอยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่ในคณะรามัญนิกาย เช่น วัดบวรมงคล วัดราชคฤห์ วัดชนะสงคราม เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลง เป็นพระสงฆ์มอญจากวัดชนะสงครามเพียงอารามเดียว ทั้งนี้สาเหตุอาจเนื่องมาจากการจัดเวรหมุนเวียนพระแต่ละแห่งเกิดความไม่ สะดวก หรือเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพระที่สวดพระปริตรรามัญหลบภัยสงครามไปอยู่ตามวัดในต่างจังหวัด จะเหลืออยู่ก็แต่ที่วัดชนะสงคราม จึงได้สวดวัดเดียวนับแต่นั้นมา
ตำแหน่งพระครูปริตรรามัญทั้ง 4 รูป ได้แก่
1. พระครูราชสังวร
2. พระครูสุนทรวิลาส
3. พระครูราชปริต
4. พระครูสิทธิเตชะ
ตำแหน่ง พระครูปริตรามัญทั้งหมดนี้ ปัจจุบันประจำอยู่ที่วัดชนะสงคราม รับหน้าที่เข้าไปสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ ในพระบรมมหาราชวังที่หอศาสตราคมเรื่อยมา จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2489 ปรากฏว่า พระสงฆ์ที่สามารถสวดพระปริตรามัญได้นั้น มีน้อยรูปลง ไม่พอจะผลัดเปลี่ยนกัน พระครูราชสังวร (พิศ อายุวฑฺฒโก) ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในครั้งนั้น จึงได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนา ขอลดวันสวดลงมา เหลือสวดเฉพาะวันธรรมสวนะเท่านั้น พิธีเริ่มแต่เวลา 13 นาฬิกา พระสงฆ์ 4 รูปพร้อมด้วยพระครูปริตรผู้เป็นประธาน 1 รูป สวดพระปริตรอย่างภาษารามัญที่หอศาสตราคม เมื่อเสร็จราว 14 นาฬิกา มีเจ้าหน้าที่ถือบาตรน้ำมนต์นำพระ 2 รูป ไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบหมู่พระมหามณเฑียรเป็นเสร็จพิธี ในการสวดพระปริตรามัญที่หอศาสตราคม ในชั้นเดิม มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันระหว่างพระครูปริตทั้ง 4 รูป ในการไปสวดแต่ละวันโดยแบ่งกันรับผิดชอบตามวัน-เวลา ดังนี้
1. พระครูราชสังวร รับผิดชอบวันธรรมสวนะขึ้น 8 ค่ำ
2. พระครูสุนทรวิลาส รับผิดชอบรวันธรรมสวนะขึ้น 15 ค่ำ
3. พระครูราชปริต รับผิดชอบวันธรรมสวนะแรม 8 ค่ำ
4. พระครูสิทธิเตชะ รับผิดชอบวันธรรมสวนะแรม 15 ค่ำ
โดยที่พระครูปริตทั้ง 4 รูป จะทำหน้าที่เป็นประธานในการสวดแต่ละครั้ง ซึ่งจะมีพระมอญอีก 4 รูปมาสวดร่วมด้วย รวมเป็นสวด 5 รูปในแต่ละวัน
ปัจจุบัน พระสงฆ์มอญมีจำนวนลดน้อยลงโดยลำดับ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทย สืบเนื่องจากสาเหตุหลายประการ แม้แต่ในวัดชนะสงคราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่พระสงฆ์มอญ มีบทบาทโดยตรงกับราชประเพณีสำคัญดังกล่าว ก็กำลังประสบสภาพการณ์เช่นเดียวกัน [1]
ลำดับเจ้าอาวาส
1. พระมหาสุเมธาจารย์ พ.ศ. 2325-2363
2. พระสุเมธาจารย์ 2363-2383
3. หม่อมเจ้าพระสีลวราลังการ (ม.จ.สอน) พ.ศ. 2383-2410
4. พระสุเมธาจารย์ (ศรี ป.ธ.5) พ.ศ. 2410-2455
5. พระประสิทธิศีลคุณ (พุธ) พ.ศ. 2455-2456
6. พระครูภาวนาพิจารณ์ (ลืม) รักษาการ พ.ศ. 2457-2459
7. พระพิศาลสมณกิจ (ริด ป.ธ.๖) พ.ศ. 2459 (๑ เดือน ภายหลังโดนถอด)
8. พระสุเมธมุนี (ลับ สงฺกิจโจ ป.ธ.3) พ.ศ. 2460-2485
9. พระธรรมทัศนาธร (ทองสุก สุทัสโส ป.ธ.
พ.ศ. 2492-2508
10. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร ป.ธ.9) พ.ศ. 2509-11 มีนาคม พ.ศ. 2554(ถึงแก่มรณภาพ)
ปัจจุบัน กำลังมีการสรรหาเจ้าอาวาสองค์ใหม่อยู่
การศึกษาพระปริยัติธรรม
วัดชนะสงครามเป็นวัดที่ประสบความสำเร็จสูงมากในการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรมได้ปีละจำนวนมาก แม้แต่สามเณรผู้สอบได้เปรียญ 9 ประโยคและได้รับพระราชทานอุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์ก็มีมากกว่าวัดอื่นๆ หลายวัด วัดชนะสงครามยังคงให้ ความสำคัญแก่การศึกษาปริยัติธรรมโดยเฉพาะสายภาษาบาลีอย่างคงเส้นคงวา มีชาวพุทธผู้ชำนาญภาษาบาลีจำนวนมาก เคยศึกษาที่วัดชนะสงคราม มาก่อน
แหล่งข้อมูลอื่น
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร (ทำเนียบวัดไทย)
ภาพถ่ายทางอากาศของ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย หรือ กูเกิลแมปส์
แผนที่ จาก มัลติแมป หรือ โกลบอลไกด์
ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′38″N 100°29′44″E / 13.760431°N 100.495597°E
ประวัติวัดมอญ
พิธีสวดพระปริตรรามัญ
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3.