เรื่องภาวนา๕๖. ศีล ก็เกิดแต่จิต สมาธิ ก็เกิดแต่จิต ปัญญา ก็เกิดแต่จิต
บุญก็เกิดแต่จิต บาปก็เกิดแต่จิต จิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
๕๗.การที่บุคคลจะทำจิตให้บริสุทธิ์ได้
จะต้องคลายความยึดถือในตัวตน ในรูปนามและในอารมณ์ทั้งหลาย
ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ ๖ ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ ให้เป็น ๑ อยู่เสมอ
อย่าให้กลายเป็นเลข ๒-๓-๔-๕ ฯลฯไปได้
๕๘. อารมณ์ภายนอกต่าง ๆ ที่เราเก็บมายึดถือไว้
ก็เปรียบเหมือนเราเอาหาบของหนัก ๆ มาวางไว้บนบ่า
ถ้าเราปลดปล่อยเสียได้ ก็เท่ากับเราวางหาบนั้นลง
๕๙. จิตที่ได้อบรมอยู่เสมอ ย่อมจะสูงขึ้นแก่ขึ้นทุกที ๆ เป็นลำดับ
เหมือนผลไม้ที่แก่จัด เมื่อสุกงอมแล้ว ก็ย่อมจะหล่นจากขั้วของมันในที่สุด
๖๐.หน้าที่ของเราในการทำสมาธิมีอยู่ ๔ อย่างคือ
๑. รู้ลมเข้าออก
๒. รู้จักปรับปรุงลมหายใจ
๓. รู้จักเลือกว่าลมอย่างไหนสบายไม่สบาย
๔. ใช้ลมที่สบายสังหารเวทนาที่เกิดขึ้น
๖๑. นึก “พุทธ” ลมเข้าไป เอา “โธ” ไว้ลมออกมา
พวกท่านภาวนา “อานาปาน์” คือ ความตาย
๖๒. “พุทโธ” และ “ธัมโม” “สังโฆ” แหละตัวเรา
วันหนึ่งถึงอันเดียวอย่าไปเที่ยวคิดมีสาม
๖๓. การยกจิตออกไปรับสัญญาอารมณ์ภายนอก
นั่นมิใช่เป็นวิธีที่ถูกของการทำสมาธิ
๖๔. ถ้าจิตดีกายไม่ดีก็ใช้การไม่ได้ กายดีจิตไม่ดีก็ไม่ได้ผลอีก
ต้องให้ดีพร้อมกันเป็นสามัคคีธาตุ
๖๕. สติเป็นชีวิตของใจ ลมเป็นชีวิตของกาย
ถ้าลมหายใจของเรานี้อ่อนลง สติก็จะอ่อนตามด้วย
๖๖.ลมภายนอกกับลมภายในนั้นต่างกัน
ลมภายนอกนั้นแต่งไม่ได้ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ
ลมภายในนั้นแต่งได้ ปรับปรุงแก้ไขได้
๖๗.ลมเป็นพี่ชายใหญ่ เพราะลมช่วยไฟ ไฟช่วยน้ำ น้ำช่วยดิน
มันสงเคราะห์กันเป็นสามัคคีธาตุ ดังนี้
๖๘.สติเป็นตัวเหตุ เป็นตัวอุปการี
ที่อนุเคราะห์ส่งเสริมให้สมาธิของเราเจริญขึ้น
สตินี้ท่านเรียกว่า มาติกากุสลา แปลว่า แม่ของบุญกุศล
๖๙. สติคือ เชือก จิต เหมือนลูกโค ลมเป็นหลัก
ต้องเอาสติผูกจิต ไว้กับลม จิตจึงจะไม่หนีไปได้
๗๐.ถ้าจิตใจเราตั้งตรงเป็นหลักอยู่กับที่
มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอแล้ว
นิวรณ์และกิเลสทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้
๗๑. ร่างกาย เป็นผู้ไม่รับทุกข์รับสุขอะไรกับเราด้วยเลย ตัวจิตผู้เดียวเป็นผู้รับ
๗๒. กายสุข ระงับเวทนา ใจสุข ระงับนิวรณ์
๗๓.กายเป็นของสูญเปื่อยเน่า จิตเป็นของไม่สูญ ไม่ตาย
๗๔.จิตที่ดับจากกาย ย่อมหายไปเหมือนกับไฟที่ดับจากเทียน
ไม่มีรูปร่างลักษณะ ให้ตาเนื้อของเราแลเห็นได้
แต่ไฟนั้นก็มิได้สูญหายไปจากโลก
๗๕. ดวงจิตนั้นต้องเลี้ยงมันด้วยบุญกุศล
ต้องให้บริโภคบุญมาก ๆ มันจึงจะอ้วนพี ถ้าบุญน้อยมันก็ผอม
๗๖. เราควรรู้ว่า ร่างกายนั้นเขาวางเรา และหนีเราไปทุกวัน ๆ
แต่เราสิไม่เคยหนีเขา ไม่ยอมวางเขาเลยสักที
๗๗. พระพุทธเจ้าทรงชนะมาร ก็ด้วยสัจจบารมีของพระองค์ คือ ความจริง
เมื่อเราตั้งใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี
จิตของเราจะต้องตั้งมั่นให้จริงลงไปในสิ่งนั้นไม่ถอยหลัง
๗๘.เมื่อเรามากำหนดนึกอยู่ในลมหายใจ
ด้วยความมีสติสัมปชัญญะเช่นนี้
ก็จะเป็นพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ และสังฆานุสสติ
นอกจากนี้ยังเป็นกายคตาสติ อานาปานสติ และมรณานุสสติอีกด้วย
๗๙. การที่เรามานั่งภาวนากันอยู่นี้
เปรียบเหมือนกับเรามาขัดสีข้าวเปลือกในยุ้งของเราให้เป็นข้าวสาร
๘๐. ถ้าเราปรารถนาจะได้ความสุขอันเป็นยอดของมหาสมบัติทั้งปวง
ก็ต้องกระทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศล คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้พร้อมบริบูรณ์
๘๑. บุคคลผู้ใดหมั่นเจริญเมตตาภาวนา อยู่เป็นนิจ ก็จะได้รับผลคือความสุข